พรหมลิขิต กรรมลิขิต

บางคนเข้าใจว่า คนจะดีจะเลวแล้วแต่ชะตาชีวิตที่พระพรหมลิขิต คือ เขียนไว้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ทุกคนก็ต้องเป็นคนดี มีสติปัญญาดี มีรูปดี มีอะไรๆ ดีทุกอย่าง จะไม่ดีบ้าง ชั่วบ้าง จนบ้าง มั่งมีบ้าง รูปงามบ้าง ขี้เหร่จนดูไม่ได้บ้าง เป็นอัมพาตบ้าง เป็นมะเร็งทนทุกข์ทรมานบ้าง อย่างที่เห็นและเป็นกันอยู่ ทั้งนี้เพราะอะไร ก็เพราะพระพรหมนั้น ตามที่พูดๆ กันว่า ท่านมีเมตตา กรุณา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น เป็นเอกลักษณะของท่าน เมื่อท่านเป็นผู้สามารถลิขิตเองได้จริงๆ ทุกคนก็ต้องไม่ดีบ้าง เลวบ้าง อย่างที่เป็นอยู่นี้ เพราะผิดเอกลักษณะของท่าน คนที่มีเมตตากรุณานั้น มีแต่อยากให้ผู้อื่นเป็นสุข ก็เมื่อไม่ใช่พระพรหมลิขิตแล้ว ใครเล่าจะลิขิต ผู้ลิขิตนั้นในพระพุทธศาสนาแสดงว่ามนุษย์เองเป็นผู้ลิขิตด้วยการกระทำของมนุษย์เอง จึงเรียกว่า กรรมลิขิต

ข้อนี้พระองค์ได้ตรัสไว้ ความไทยว่า กรรม คือการกระทำ ย่อมจำแนกสัตว์(หมายรวมทั้งคนทั้งสัตว์) ให้ดีบ้าง เลวบ้าง เป็นต้น ดังที่กล่าวไว้ในเรื่องกรรม(ดูเรื่องกรรม)

มตินี้ใครจะเชื่อหรือไม่ก็แล้วแต่ เพราะเป็นสิทธิของแต่ละคนที่จะมีมติหรือเชื่อ พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยทรงบังคับใครให้เชื่อพระองค์

มีผู้หนึ่งทูลพระพุทธองค์ว่า น่าจะประทับนั่งบนอาสน์ที่มีค่า พระพุทธองค์ตรัสว่า พระองค์ประทับนั่งบนทิพยอาสน์บ้าง บนพรหมอาสน์บ้าง บนอริยอาสน์บ้าง(ซึ่งวิเศษกว่าอาสน์ที่ท่านผู้นั้นกล่าว) และทรงอธิบายว่า เมื่อพระพุทธองค์ประทับบนอาสน์ใด บำเพ็ญฌาน ๔ อาสน์นั้นก็เป็นทิพยอาสน์ ประทับบนอาสน์ใด บำเพ็ญพรหมวิหาร อาสน์นั้นก็เป็นพรหมอาสน์ ประทับบนอาสน์ใด พิจารณากิเลสที่ทรงละได้แล้ว อาสน์นั้นก็เป็นอริยอาสน์

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

เสรีภาพในการนับถือศาสนา

ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า ใครจะนับถือพระพุทธศาสนาหรือไม่ก็แล้วแต่เขา ไม่มีการบังคับ ไม่มีการใช้นรกเข้าขู่ หรือใช้สวรรค์เข้าล่อ การขึ้นสวรรค์ ลงนรก เป็นเรื่องเนื่องจากการกระทำของคนนั้นๆ คนที่นับถือพระพุทธศาสนาแต่ทำชั่ว เช่น ฆ่าเขา ลักเขา แม้ทำเพื่อพระพุทธศาสนาก็ถือว่าเป็นความชั่ว เพราะเมื่อทำชั่วก็ต้องเป็นความชั่ว เมื่อทำดีก็ต้องเป็นความดี ไม่ว่าผู้ทำจะนับถือพระพุทธศาสนาหรือศาสนาใดๆ แม้แต่ทางกฎหมายก็ยังไม่ยอมในเมื่อมีการฆ่าคนเพื่อศาสนา และเมื่อมีคนด่าว่าพระพุทธเจ้าบ้าง สรรเสริญบ้าง พระพุทธองค์กลับทรงสอนพุทธบริษัทว่า อย่าไปยินร้ายโกรธเขา หรือดีใจ ควรวางใจเป็นกลางๆ

เมื่อมีคนสำคัญ เช่น สีหเสนาบดี กับอุบาลีคฤหบดี ซึ่งนับถือศาสนาอื่นมาก่อน แล้วกลับมานับถือพระรัตนตรัย พระองค์กลับทรงท้วงเขาถึง ๓ ครั้ง ให้เขาคิดดูให้ดีก่อน ก่อนที่จะเปลี่ยนศาสนา เลิกจากศาสนาเดิมมานับถือพระรัตนตรัย

การทำความดี-การบำเพ็ญประโยชน์
ในพระพุทธศาสนาสนอให้คนทำความดี เพื่อความดีของตนเองบ้าง ของผู้อื่นบ้าง ดูพฤติกรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นตัวอย่าง หรือเป็นข้ออ้างอิง คือ พระพุทธองค์เสด็จจาริกไปสอนผู้อื่นเพื่อความดีของเขา โดยมิได้หวังอะไรเป็นเครื่องตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เพราะทรงพอแล้ว และไม่มีกิเลสอันเป็นเหตุให้หวังผลตอบแทนอย่างนั้น พระองค์ทรงสอนคนที่เลวให้เป็นคนดี สอนคนที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งๆ ขึ้น การทำดีอย่างนี้เป็นการทำเพื่อความดีของผู้อื่นทั้งนั้น เป็นการบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่น โดยมิได้หวังการตอบแทนใดๆ ดังนั้นการบำเพ็ญประโยชน์ของพระองค์จึงมีลักษณะบริสุทธิ์ที่สุด มีแต่ให้ ไม่มีหวังผลตอบแทนเป็นส่วนพระองค์เลย

ผู้สร้างชาติภพ
ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า กิเลส(กรรม วิบาก คือผลของกรรม) เป็นผู้สร้างชาติภพ เช่น ในบาลีธรรมบท ขุททกนิกาย พระพุทธองค์ตรัสไว้ ความไทยว่า เมื่อยังไม่ประสบความรู้จริง(ญาณ) เราแสวงหากิเลสตัณหา ซึ่งเป็นผู้สร้างบ้านเรือน คือ ชาติ ภาพ ได้ท่องเที่ยวไปสู่สังสารวัฏ มีอันต้องเกิดแล้วเกิดอีกครั้งแล้วครั้งเล่า

แม้ในที่อื่นอีกเป็นอันมาก เป็นต้นว่า ในมหานิทานสูตร และในมหาวรรค ทีฆนิกาย ก็ได้กล่าวถึงเรื่องหฏิจจสมุปบาท(คือเรื่องผลนั้นๆ อาศัยเหตุนั้นๆ เกิดมี เช่น ความแก่ ความตาย มีเพราะชาติ คือความเกิด ชาติมีเพราะภพ ภพมีเพราะความยึดถือ ดังนี้เป็นต้น)

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าไม่ใช่เทพไม่ใช่มนุษย์

พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์มิใช่เทพ มิใช่คนธรรพ์ มิใช่ยักษ์ มิใช่มนุษย์ ข้อนี้มีหลักฐานจากบาลีในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยโดยย่อว่า

ที่ระหว่างเมืองอุกกัฏฐะกับเมืองเสตัพยะ โทณพราหมณ์ได้พบพระพุทธเจ้า แต่ไม่รู้จัก เห็นพระพุทธองค์มีลักษณะ คือ มีรอยพระบาทอันน่าอัศจรรย์ จึงทูลถามว่า เป็นเทพหรือ เป็นคนธรรพ์หรือ เป็นยักหรือเป็นมนุษย์หรือ พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ไม่ใช่ๆ ทุกคำถาม

พราหมณ์จึงทูลถามว่า แล้วเป็นอะไร พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า เพราะละอาสวะเหล่าใดไม่ได้ เราจึงต้องเกิดเป็นเทวดา ต้องเกิดเป็นคนธรรพ์ ต้องเกิดเป็นยักษ์ ต้องเกิดเป็นมนุษย์ ดังนี้ อาสวะเหล่านั้น เราละได้ขาดแล้ว ดอกบัวเกิดในน้ำ ขึ้นพ้นน้ำ น้ำไม่ติดมาฉันใด เราเกิดในโลก โลกไม่ติดเรา เราไม่ติดโลกฉันนั้น จงรู้ว่าเราเป็นพุทธะเถิด

ข้อนี้แสดงว่า ทางพระพุทธศาสนาถือว่า เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ก็เรียกว่าเป็นเทวดา เป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ เป็นต้น แล้วแต่จะเกิดเป็นอะไร พอละกิเลส ไร้กิเลสแล้ว ก็พ้นจากความเป็นเทวดา เป็นต้น

ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า เทพเจ้านั้น คือ ผู้เป็นตัวอย่างของผู้ได้รับผลของการกระทำดี(กุศลกรรม) อย่างสูง มิใช่เป็นเทพเจ้าผู้สร้างสิ่งทุกๆ อย่าง ทั้งมีมากองค์ และยังแบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ อุปปัตติเทพ สมมติเทพ และวิสุทธิเทพ

อุปปัติเทพ คือ เทพเจ้าในสวรรค์ หรือวิมานนั้นๆ เป็นพวกอทิสสมานกาย คือ ไม่เห็นตัว(ด้วยตาธรรมดา)

สมมติเทพ คือ พระมหากษัตริย์หรือคนชั้นสูง

วิสุทธิเทพ คือ ผู้ไร้กิเลส เป็นเทพที่วิเศษที่สุด สูงกว่าเทพชนิดอื่น ข้อนี้แสดงว่า ในพระพุทธศาสนานี้ถือว่า

๑. คนมีโอกาสเป็นเทพเจ้าได้ทั้งเป็น โดยมิต้องรอให้ตายก่อนแล้วจึงไปเกิดเป็น

๒. เทพเจ้าบนสวรรค์ มิใช่จะวิเศษเสมอไป ยังสู้คนบางประเภท คือ ผู้ไร้กิเลสไม่ได้

๓. ศาสนานี้ ถือความดีเป็นสำคัญ

ความกลัว
เรื่องความกลัวนี้มีมาก แต่พระพุทธองค์ทรงสอนให้กลัวเกรงตัวเอง เพราะเมื่อกลัวเกรงตัวเองแล้ว คนอื่นสิ่งอื่นก็ไม่มีปัญหา หรือมีก็น้อย และการที่ทรงสอนเรื่องความละอายตนเอง(หิริ) เกรงกลัวตนเอง(โอตตัปปะ) ย่อมเป็นการแสดงว่า การอายตนเอง การเกรงกลัวตัวเองสำคัญกว่าการอายและเกรงกลัวคนอื่น สิ่งอื่น การเกรงเขาว่านั้น เมื่อเขาไม่รู้ไม่เห็น คนก็ทำชั่วได้ แต่ถ้าเกรงตัวเองแล้ว คนอื่นจะเห็น ไม่เห็น ตนเองก็ไม่ทำชั่ว เพราะเกรงตัวเอง

ตนเอง-ใจ
เรื่องเกี่ยวกับตนและใจนี้ เพียงในธรรมบท ขุททกนิกายเท่านั้น ก็ได้มีกล่าวไว้เป็นอันมาก ความไทยเป็นต้นว่า

๑. ตนเป็นที่พึ่งของตน
๒. สอนคนอื่นอย่างไร ต้องทำตนอย่างนั้น
๓. ก่อนจะสอนผู้อื่น ตนต้องทำตัวให้ดีก่อน
๔. พึงเตือนตนเอง พึงพิจารณาตนเอง
๕. ผู้ใดมีปัญญาทราม อาศัยมิจฉาทิฏฐิ คัดค้านคำสอนของพระอริยเจ้าผู้เป็นอรหันต์ผู้เป็นอยู่โดยธรรม ทิฏฐิของเขาย่อมให้ผลฆ่าตนเอง ดุจขุยไผ่ฆ่าต้นไผ่

เกี่ยวกับการรับผิดชอบในการกระทำของตนเองนั้น มีพระบาลีในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า เขาทำชั่วด้วยตนเอง เขาก็เศร้าหมองเอง เขามิได้ทำความชั่วเอง เขาก็บริสุทธิ์(จากความชั่ว)เอง ความบริสุทธิ์หรือไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นจะทำให้เขาบริสุทธิ์ไม่ได้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

สาเหตุที่ทำให้อายุยืนหรือสั้น, เรื่องฤกษ์ยาม

วิธีทำให้อายุยืน อายุสั้น
คนทั่วไปมักต้องการให้มีอายุยืนกันทั้งนั้น ไม่มีใครที่ต้องการให้ตัวเองมีอายุสั้น สาเหตุที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืน ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้มีดังนี้

เหตุทำให้อายุสั้น คือ
๑. สร้างความทุกข์กาย-ใจ แก่ตนเอง
๒. ไม่รู้จักพอในการหาความสุข
๓. กินของย่อยยากและแสลงต่อสุขภาพ
๔. เสียความประพฤติ ชอบฆ่าสัตว์ เป็นต้น
๕. ชอบเที่ยวไปในที่ไม่ควร

ถ้าทำเช่นนี้อายุก็จะสั้นแน่นอน และพระองค์ทรงแสดงเหตุที่ทำให้อายุยืนคือ
๑. ทำความสงบกาย-ใจ แก่ตน
๒. รู้จักประมาณในการหาความสุข
๓. กินของย่อยง่ายมีประโยชน์
๔. มีความประพฤติดี มีศีล ไม่ชอบการฆ่าสัตว์ เป็นต้น
๕. มีเพื่อนดีคอยแนะนำตักเตือน

ถ้าปฏิบัติได้ดังนี้ก็จะทำให้มีอายุยืนขึ้น แต่ถ้าเป็นเรื่องของกรรมเก่าก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เรื่องฤกษ์ยาม
ในพระพุทธศาสนาแสดงถึงเรื่องถือฤกษ์ยามว่า เมื่อทำดีแล้วเมื่อไร ก็เป็นความดีเมื่อนั้น เป็นฤกษ์ดี เป็นมงคล เป็นขณะดีเมื่อนั้น เมื่อทำชั่วเมื่อไร ก็เป็นความชั่วเมื่อนั้น เป็นฤกษ์เลว เป็นขณะเลว เมื่อนั้น

และแสดงว่า ประโยชน์ย่อมผ่านเลยคนโง่ ผู้มัวถือฤกษ์ถือยาม ประโยชน์เป็นตัวฤกษ์ของประโยชน์ ดาวทั้งหลายจะทำอะไรได้

แม้ในคุณสมบัติของพุทธศาสนิกชน ๕ ประการ ข้อ ๓ ก็กล่าวไว้ว่า ไม่ถือมงคล ถือฤกษ์ ถือยาม ตื่นข่าว

ฤกษ์ดีทางพระพุทธศาสนา ก็คือ ตามความสะดวก หรือตามเวลาสะดวก หรืออยู่ที่เวลาแห่งการทำความดี ฤกษ์เลวอยู่ที่เวลาแห่งการทำชั่ว จริงอยู่ พระพุทธเจ้าทรงยอมให้พระสาวกเรียนดาราศาสตร์ ก็มิใช่เพื่อดูฤกษ์ดูยาม แต่เพื่อประโยชน์แก่การดูปักขคณนา ให้รู้วันพระวันอุโบสถ และเพื่อประโยชน์แก่การสวดปาฏิโมกข์กับทำสังฆกรรมบางอย่าง

ดังนั้น จึงสรุปว่า ในพระพุทธศาสนากำหนดเอาการทำดี ทำชั่วเป็นสำคัญ ไม่ถือฤกษ์ ในฤกษ์ดี ถ้าทำชั่วทางกายก็เป็นกายทุจริต เป็นฤกษ์ชั่วไป ในฤกษ์เลวถ้าทำดีทางวาจาก็เป็นวจีสุจริต เป็นฤกษ์ดีไป อย่างนี้ เป็นต้น

เรื่องนี้ใครจะนิยมอย่างไรก็แล้วแต่ความสะดวกใจ ถ้าไม่เกิดเสียหายแล้ว ก็ให้เป็นเรื่องเสรีทางความเชื่อ

พระพุทธเจ้าไม่ทรงวิวาท และไม่ทรงสอนให้วิวาทกับใคร เพราะกาม และทิฏฐิความเห็น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

หลักตัดสินคำสั่งสอนของพระพุทธศาสนา

พระพุทธเจ้าทรงทราบดีว่าต่อไปภายหน้าจะต้องมีผู้นำคำสั่งสอนภายนอกเติมเข้ามาในสัตถุศาสน์ของพระองค์แน่ ดังนั้น เพื่อให้มีเครื่องตัดสินว่าคำสอนนั้นๆ เป็นคำสอนของพระองค์ หรือเป็นคำสอนที่พระพุทธศาสนาควรยอมรับว่า ใช้ได้ หรือถูกต้องเข้ากันได้หรือไม่ พระพุทธองค์ทรงวางหลักสำหรับตัดสินไว้เป็นหลักทั่วไปก็มี เป็นหลักตัดสินเฉพาะพระวินัยก็มี เป็นหลักตัดสินสำหรับโลกุตรธรรมก็มีดังนี้

ในเภสัชชขันธกะมหาวรรคแห่งวินัย ทรงแสดงข้ออ้างอิงสำหรับเป็นหลักตัดสินทางวินัย ๔ ประการ เพื่อเป็นเครื่องวินิจฉัยว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เช่น

สิ่งใดมิได้ทรงห้ามว่าไม่ควร แต่เข้ากับของที่ควรขัดกับของที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร๑ สิ่งใดมิได้ทรงห้ามว่าไม่ควร แต่เข้ากับสิ่งที่ไม่ควร ขัดกับของที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร๑ สิ่งใดมิได้ทรงอนุญาตว่าควร แต่เข้ากับของที่ควรขัดกับของที่ไม่ควร สิ่งนั้นควร๑ สิ่งใดมิได้ทรงอนุญาตว่าควร เข้ากับของที่ไม่ควร ขัดกับของที่ควร สิ่งนั้นไม่ควร๑ เช่น ฝิ่นเป็นของเสพติด ทำลายสุขภาพ มิได้ทรงห้ามว่าไม่ควร เพราะครั้งพุทธกาลไม่มี แต่เข้ากับของที่ไม่ควร คือ สุรา ขัดกับของที่ควร ฝิ่น จึงไม่ควรกับบรรพชิต เป็นต้น

ในมหาวรรค ทีฆนิกาย ทรงแสดงหลักการตัดสินธรรมวินัยทั่วไป ความไทยโดยย่อว่า

ถ้ามีผู้อ้างว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์ อย่าพึงรับหรือปฏิเสธก่อน พึงเทียบเคียง สอบสวนตามธรรมวินัย ถ้าไม่ลงกัน พึงเข้าใจว่า นั่นมิใช่สัตถุศาสน์ ถ้าลงกันทั้งธรรมทั้งวินัย พึงเข้าใจว่า นั่นเป็นสัตถุศาสน์

ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย กับใน จุลวรรค ทรงแสดงหลักตัดสินสำหรับโลกุตรธรรม ความไทยโดยย่อดังนี้

ธรรมเหล่าใดเป็นไปเพื่อราคะ เพื่อประกอบทุกข์ เพื่อสะสมกิเลส เพื่อความมักใหญ่ เพื่อความไม่รู้จักพอ เพื่อความคลุกคลีด้วยหมู่ เพื่อความเกียจคร้าน เพื่อความเลี้ยงยาก ธรรมเหล่านี้ พึงรู้ว่า ไม่ใช่ธรรม ไม่ใช่วินัย ไม่ใช่สัตถุศาสน์

ธรรมที่เป็นไปโดยนัยตรงกันข้าม พึงรู้ว่า เป็นธรรม เป็นวินัย เป็นสัตถุศาสน์

ความเชื่อ
ตามปกติแล้วคนทุกคนย่อมมีความเชื่อ(ศรัทธา) ศาสนาสำคัญบางศาสนาถือว่า ความเชื่อเป็นพื้นฐานสำคัญของศาสนานั้น โดยให้เชื่อก่อนแล้วรู้เอง ดังนั้น จึงต้องบังคับให้เชื่อ แต่ในพระพุทธศาสนาสอนให้รู้ก่อนแล้วจึงเชื่อ และจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ไม่บังคับ ทั้งกับสอนไม่ให้เชื่อ ดังนี้คือ

๑. อย่าเชื่อโดยฟังตามๆ กันมา
๒. อย่าเชื่อโดยเชื่อสืบๆ กันมา
๓. อย่าเชื่อโดยเขาเล่าว่า
๔. อย่าเชื่อโดยอ้างตำรา
๕. อย่าเชื่อโดยตรึกเอาเอง
๖. อย่าเชื่อโดยคาดคะเนเอา
๗. อย่าเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการของเรื่องนั้นๆ
๘. อย่าเชื่อโดยเห็นว่าตรงกับความเห็นของตน
๙. อย่าเชื่อโดยเห็นว่าควรเชื่อได้
๑๐. อย่าเชื่อโดยเห็นว่าผู้พูดเป็นสมณะ หรือเป็นครูของตน

เรื่องนี้อยู่ในกาลามสูตร
พระพุทธเจ้าทรงสอนไม่ให้เชื่อในอาการดังกล่าว แต่พระองค์ทรงสอนให้เชื่อความจริง(ตัวเองก็ยังเชื่อไม่ได้) ด้วยให้รู้ก่อนจึงเชื่อ ดังนั้น ในที่ใดที่ทรงสอนเรื่องความเชื่อ ในที่นั้นต้องมีสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาหาความจริงด้วยทุกแห่ง เช่น ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย สัตตกนิบาต อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย เป็นต้น

สิ่งที่ควรทำเมื่อมีคนติหรือชมพระพุทธเจ้า
เรื่องนี้พระองค์ทรงแสดงว่า พุทธบริษัทอย่าโกรธ อย่าตื่นเต้นดีใจ เมื่อใครเขาติเตียนหรือชมเชยพระพุทธองค์

จิต-ใจ
ร่างกายของเรานี้ประกอบไปด้วย กายกับจิต หรือใจ ก่อนอื่นควรทำความเข้าใจในคำว่า จิต ใจ มโน มนัส วิญญาณก่อน

มีคำบาลีว่า “จิตฺตํ มโน มนสํ วิญฺญาณํ หทยํ มนํ นามาเนตานิ โวหารปเถ วตฺตนฺติ หายโต” แปลว่า ชื่อว่า จิต มนะ มนัส วิญญาณ หทัย เหล่านี้ ย่อมเป็นไปตามสำนวนโวหารสำหรับเรียกโดยมาก และในมหาวรรคขุททกนิกายก็แสดงว่า จิต มโน วิญญาณ เป็นต้นเป็นอย่างเดียวกันดังนี้ จิตฺตํ มโน มานสํ หทยํ ปณฺพรํ มนายตนํ มนินฺทฺริยํ วิญฺญาณํ วิญฺญาณกฺขนฺโธ มโนวิญฺญาณธาตุ เป็นต้น แปลว่า คำว่าจิต มนะ มนัส หทัย บัณฑร มนายตนะ มนินทรีย วิญญาณ วิญญาณักขันธ มโนวิญญาณธาตุ เป็นไวพจน์(เป็นชื่อเรียก) ของมนะ(ใจ) หมายความว่า เป็นอย่างเดียวกัน แต่ที่ต่างกันนั้นเพราะเรียกให้ต่างกันไปตามอาการและหน้าที่ ซึ่งแล้วแต่จะพิจารณา (แต่ไม่ควรมาขัดใจกันเพราะทิฏฐิความเห็นในเรื่องนี้ เพราะคนพ้นทุกข์ได้มิใช่เพราะมาเถียงกันว่า จิตกับวิญญาณนั้น เป็นอย่างเดียวกันหรือต่างกัน มีแต่ยิ่งเถียงกันยิ่งเกิดทุกข์)

ก็สิ่งหนึ่งเรียกว่า จิต เพราะทำหน้าที่สะสมและคิด เรียกว่า วิญญาณ เพราะทำหน้าที่รู้ เรียกว่า มโน มนัส มนะ เพราะทำหน้าที่นึกคิด และเรียกว่าหทัย คือ หัวใจ คำว่า ใจ เป็นคำไทยแท้ คำว่าจิต-มโนวิญญาณธาตุนั้นเป็นคำบาลี ที่เรานำมาใช้เป็นคำไทย เมื่อเรานับถือพระพุทธศาสนา ถ้าเป็นคำไทยแท้ดั้งเดิมแล้ว ก็ใจคำเดียว ใจทำหน้าที่อย่างไหน เช่น คิด นึก รู้ สะสม อะไรก็เรียกกันไปตามภาทางศาสนาก็แล้วกัน เพื่อตัดปัญหา ในที่นี้ขอใช้คำไทยว่า ใจ แทนจิต เป็นต้น

เรื่องใจเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง ดังมีพุทธพจน์ปรากฏในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า อะไรๆ ก็มีใจเป็นสำคัญ ขึ้นอยู่กับใจ ใจมักดิ้นรน กวัดแกว่ง รักษายาก ห้ามยาก ไปได้ไกล การข่มใจได้ ย่อมให้สำเร็จประโยชน์ ใจที่คุ้มครองรักษาได้ ย่อมนำความสุขมาให้ ดังนี้เป็นต้น

พูดถึงความดีความร้าย ใจของเรานี้ ย่อมนำความดีความร้ายมาให้เรายิ่งกว่าผู้ดีผู้ร้ายเสียอีก ในข้อนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในธรรมบท ขุททกนิกาย ความไทยว่า โจรเห็นโจร คู่เวรเห็นคู่เวร ย่อมทำความร้ายให้แก่กันเป็นอันมาก แต่ใจที่ตั้งไว้ผิด(คือความคิดเลว หรือเห็นผิดเป็นชอบ) ย่อมทำความร้ายแก่คนยิ่งกว่านั้น และว่าใจที่ตั้งไว้ถูกต้อง ย่อมทำความดีให้ ยิ่งกว่าพ่อแม่ญาติ และคนอื่นทำให้เสียอีก

พูดถึงความหลุดจากกิเลส ใจเป็นผู้หลุดพ้น ไม่ใช่กาย ดังความไทยในตอนสุดท้ายของอนัตตลักขณสูตรในมหาขันธกมหาวรรคว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสพระธรรมเทศนาจบ ใจของพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ก็หลุดพ้นจากอาสวกิเลส และมีในธรรมบท ขุททกนิกาย อีกความไทยว่า เมื่อใจเศร้าหมอง ย่อมหวังไปทุคติ เมื่อใจผ่องแผ้ว ย่อมหวังไปสุคติ ดังนี้เป็นต้น

พระพุทธเจ้าตรัสเรื่องใจนี้ไว้มากอย่างยิ่ง ทำให้ความสำคัญของใจมีมากยิ่งขึ้น รวมความว่า คนจะดีจะชั่วจะไปสุคติ ไปทุคติ ถึงความดับกิเลส คือนิพพาน ก็อยู่ที่ใจเป็นตัวการสำคัญ ดังนั้น จึงต้องระวังใจ ควบคุมไว้ฝึกเอาไว้ ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งนัก

(ถ้าจะถามว่า เหตุใดในบาลีจึงกล่าวว่า จิตหลุดพ้นจากกิเลส ไม่กล่าวว่า วิญญาณหลุดพ้น ข้อนี้ขอชี้แจงว่าก็เพราะจิตทำหน้าที่สะสม เก็บรับกิเลส วิญญาณมีหน้าที่รู้ สิ่งที่พ้นจากกิเลส จึงต้องใช้คำว่า จิต และอย่าลืมว่าจิตนั้นเป็นสังขาร เมื่อเป็นสังขารก็ต้องไม่เที่ยงอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ แม้เป็นนิพพานจิต พระนิพพานมิใช่จิต จิตก็ไม่ใช่พระนิพพาน ดังนั้น จิตก็คงเป็นสังขารอยู่นั่นเอง)

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

สาเหตุที่ผู้หญิงเป็นใหญ่ได้ยาก

เรื่องหญิงเป็นเรื่องใหญ่ พระพุทธเจ้าได้ตรัสเรื่องผู้หญิงไว้หลายเรื่อง จะนำมากล่าวบางเรื่องเท่านั้น เช่น ตรัสว่า หญิงเป็นใหญ่ยาก เพราะ

๑. เจ้าอารมณ์ เก็บอารมณ์ไว้ไม่อยู่
๒. มักริษยา เย่อหยิ่ง
๓. มักเห็นแก่ตัวมากกว่าส่วนรวม
๔. มีความเฉลียวฉลาดจำกัด ดังนั้นจึงเป็นใหญ่ยาก

สิ่งที่หญิงต้องการ
พระพุทธเจ้าทรงแสดงสิ่งที่หญิงต้องการไว้คือ
๑. เกิดในสกุลที่ดี มีฐานะดี มีรูปสวย
๒. ได้แต่งงานในวัยอันสมควร
๓. เป็นเมียคนเดียวของผัว
๔. ขอให้มีลูก
๕. ขอให้มีอำนาจเหนือผัว และทุกคนในบ้าน

แม้เรื่องนี้ จะเป็นเรื่องที่หญิงต้องการมาเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีมาแล้ว แต่บางคนก็ยังต้องการอยู่ในยุคปัจจุบัน

กำลังหญิง
กำลังหญิงในพระพุทธศาสนามีหลายอย่าง เช่น
๑. กำลังตะวัน
๒. กำลังเดือน
๓. กำลังสมณะ
๔. หญิงมีกำลังยิ่งกว่านั้น

ผัวกลัวเมีย
มีมาช้านานแล้วเกี่ยวกับเรื่องผู้ชายเกรงเมีย แม้แต่ในสมัยพุทธกาลก็มี ผู้ชายที่ต้องเกรงเมียและถูกเมียข่ม พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า เพราะเมียมี
๑. กำลัง คือ รูปสมบัติ
๒. กำลัง คือ โภคสมบัติ วิชาสมบัติ
๓. กำลัง คือ ญาติ
๔. กำลัง คือ บุตร
๕. กำลัง คือ ความประพฤติดีกว่าผัว ปฏิบัติผัวดี

และเพราะผัว
๑. ยากจน
๒. เจ็บไข้ ทุพพลภาพ
๓. แก่
๔. ติดของเสพติด
๕. โง่กว่าเมีย
๖. เฉื่อยชา เลอะเลือน
๗. คล้อยตามเมียทุกอย่าง
๘. ไม่ทำมาหากิน

เหตุนี้มักทำให้หญิงเบื่อผัว และมักนอกใจ หรือเลิกร้างกันไป

เมียกลัวผัว
พระองค์ทรงแสดงว่า ชายที่เมียไม่สามารถข่มได้นั้น เพราะเขามีกำลัง คือ ความเป็นใหญ่ ความเป็นอิสระแก่ตัว คือ ต้องเป็นผู้ชายจริงๆ ไม่ยอมอำนาจเมีย ในชาดกขุททกนิกาย ก็กล่าวไว้ แปลความได้ว่า
๑. ชายแม้เป็นนักปราชญ์ มหาชนนับถือ ถ้ากลัวเมียแล้วย่อมสิ้นคุณค่า ไร้สง่าราศี ดุจพระจันทร์ในวันจันทรุปราคา

๒. ชายกลัวเมีย ย่อมถูกติเตียนทั้งในโลกนี้ และโลกหน้า ย่อมไปสู่ทุคติ

ผู้ชายกลัวเมีย มักไปช่างพูดนอกบ้าน แต่ในบ้านไม่ค่อยพูด มีใจขุ่นมัว มีปมด้อย เมื่อตายขณะมีใจขุ่นมัวจึงไปทุคติ

เมีย ๗ จำพวก
ในสมัยพุทธกาลมีเมียหลายประเภท ทรงแสดงไว้ดังนี้
๑. เมีย ดุจเป็นเพชฌฆาต
๒. เมีย ดุจเป็นโจร
๓. เมีย ดุจเป็นนาย
๔. เมีย ดุจเป็นแม่
๕. เมีย ดุจเป็นน้อง
๖. เมีย ดุจเป็นเพื่อน
๗. เมีย ดุจเป็นบ่าว

เมียที่นำความเดือดร้อนมาให้ผัว คือ
๑. ชอบไปเที่ยวตามสถานที่เริงรมย์
๒. ชอบไปเที่ยวตามสวนสาธารณะ
๓. ชอบไปเที่ยวตามท่าเรือ หรือชายทะเล
๔. ชอบไปค้างคืนที่บ้านญาติของตน
๕. ชอบไปค้างบ้านคนอื่น
๖. ชอบแต่งตัวมาก
๗. ติดของเสพติด
๘. ชอบเยี่ยมหน้าต่าง
๙. ชอบยืนที่ประตูบ้านและมองคน

เมียอย่างนี้ มักมีเรื่องทะเลาะกับผัว มักนอกใจ และมักต้องเลิกร้างกัน

เหตุที่หญิงอยู่กับผัวยืดยาว
ในพระพุทธศาสนาได้แสดงว่า ผัวเมียที่อยู่ด้วยกันยืดยาวจนตายจากกันนั้น เพราะเหตุว่าทั้งสองฝ่าย
๑. มีวัยพอกัน
๒. ปรองดองกัน
๓. มีความประพฤติพอกัน
๔. มีความพอใจในสิ่งต่างๆ พอกัน
๕. ไม่เป็นหมัน
๖. มีความประพฤติดี มีสกุล
๗. ปฏิบัติหน้าที่ในกันและกันดี

เหตุที่ผัวเมียตายแล้วได้พบกันอีกในชาติหน้า
ผัวเมียที่รักกันมากและปรารถนาจะได้พบกันอีกในชาติหน้า พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า
๑. ต้องมีศรัทธาในความดีพอกัน
๒. มีความประพฤติดีพอกัน
๓. มีความเสียสละพอกัน
๔. มีสติปัญญาพอกัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ย่อมมีหวังได้พบกันอีกในชาติหน้า

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ฆราวาสธรรมและบรรพชิตธรรม

คนไทยมีอยู่ ๒ ประเภท คือ เป็นนักบวชกับเป็นฆราวาส ชีวิตของฆราวาสที่จะดำเนินไปโดยปกติ นอกจากจะอาศัยกฎหมายของบ้านเมืองแล้ว ยังจำเป็นต้องอาศัยหลักปฏิบัติอื่นๆ ด้วย เพื่อให้มีการตั้งตัวและมีฐานะที่ดี เพื่อการปฏิบัติต่อกันในสังคมนั้นๆ เพื่อการปฏิบัติของผู้ที่มีหน้าที่พิเศษที่เกี่ยวกับความสุขของประชาชน เช่น ข้าราชการ หรือผู้ที่มีอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้า เป็นต้น พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงหลักปฏิบัติเพื่อสิ่งนั้นๆ ไว้แล้ว และยังมีหลักที่เป็นกลางๆ สำหรับฆราวาสปฏิบัติ เพื่อความอยู่เย็นเป็นสุขและความสงบ เช่น

๑. มีสัจจะต่อกัน ไม่ตระบัดสัจจะ

๒. รู้จักข่มใจ ข่มอารมณ์

๓. อดทนต่อความลำบากตรากตรำ การถูกนินทาว่าร้าย และความเจ็บป่วย

๔. เสียสละของๆ ตนแก่คนอื่น ให้คนอื่นได้รับความสุขจากสิ่งของๆ ตนบ้าง

และ
๑. เป็นคนเรียบร้อย
๒. มีหลักปฏิบัติประจำใจ
๓. ไม่ประมาทในชีวิต ในวัย ในความไม่มีโรค เป็นต้น
๔. ฉลาด
๕. ถ่อมตน ไม่เบ่ง
๖. ไม่ตระหนี่
๗. สงบเสงี่ยม มีรสนิยมดี
๘. พูดดี สุภาพ

และมี
๑. การสงเคราะห์เพื่อนและคนอื่น
๒. ให้สิ่งที่ควรให้ แก่ผู้ที่ควรให้
๓. รู้จักจัด รู้จักทำสิ่งที่ควรทำ ไม่ทำสิ่งที่ไม่ควรทำ
๔. ช่วยบุคคลที่ควรช่วย สงเคราะห์คนที่ควรสงเคราะห์

นอกจากนี้ยังมีหลักอื่นๆ อีก เช่น หลักการสงเคราะห์ คือ สังคหวัตถุ ที่ควรนำมาปฏิบัติอีกด้วย

ถ้าฆราวาสปฏิบัติต่อกันอย่างนี้ ก็จะทำให้เกิดความสุข ไม่มีการทำร้าย ทำลาย ลัก คดโกง ประพฤติผิดในทางชู้สาว มีการช่วยเหลือกัน เป็นต้น สามารถแก้ปัญหาทางสังคมได้เป็นอย่างดี

บรรพชิตธรรม
ภิกษุต้องปฏิบัติตามวินัย และ
๑. สำรวมระวังมือ เท้า วาจาของตน
๒. พอใจในธรรม
๓. มีใจมั่นคง อดทน
๔. ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะจนเกินไป
๕. รู้จักพอ

และเว้น
๑. การก้มหน้าหากิน(เป็นหมอดู)
๒. การแหงนหน้าหากิน(เป็นหมอดูฤกษ์ยาม)
๓. การส่วนหน้าหากิน(เป็นนักธุรกิจติดต่อผู้คน)
๔. การเอียงหน้าหากิน(เป็นหมอดูลักษณะ)

การปฏิบัติหน้าที่ด้านปริยัติและปฏิบัติจะบกพร่อง ถ้าบรรพชิตยุ่งเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ แต่ภิกษุแบบนี้ชาวบ้านบางคนก็ชอบ เพราะถือว่าเป็นที่พึ่งได้
แต่ควรทำดังนี้

๑. เล่าเรียน(ปฏิบัติคันถธุระ หรือเรียนปริยัติธรรม)
๒. แสดงธรรมสอนประชาชน ตามความรู้ความสามารถ
๓. บอกธรรม สอนธรรม ตามความรู้ความสามารถ
๔. สาธยายธรรมวินัย
๕. ปฏิบัติพระสัทธรรม(ปฏิบัติวิปัสสนาธุระ หรือปฏิบัติธรรม)

และต้อง
๑. เล่าเรียน
๒. ว่าง่าย อดทน
๓. เป็นพหูสูต
๔. ไม่มักมาก รู้จักข่มใจ ไม่ย่อหย่อนทางพระวินัย มีความเพียร เป็นต้น
๕. สามัคคีกัน

บรรพชิตไม่ควรลืมตัว ควรพิจารณาบ่อยๆ ว่า
๑. บัดนี้เรามีเพศต่างจากคฤหัสถ์แล้ว อาการกิริยาใดๆ ของสมณะ เราต้องทำอาการกิริยานั้นๆ

๒. ความเลี้ยงชีพของเราเนื่องด้วยผู้อื่น เราควรเป็นคนเลี้ยงง่าย

๓. สิ่งที่ควรทำอย่างอื่นที่เราจะต้องทำให้ดีขึ้นไปกว่านี้ยังมีอยู่อีก ไม่ใช่เพียงเท่านี้

๔. เราติเตียนตัวเองโดยศีล(คือความประพฤติเรียบร้อย) ได้หรือไม่

๕. ผู้รู้ใคร่ครวญแล้ว ติเตียนเราโดยศีลได้หรือไม่

๖. เราจักต้องจากของรักของชอบไปทั้งนั้น

๗. เรามีกรรมเป็นของตน เราทำดีจักได้ดีทำชั่วจักได้ชั่ว

๘. วันคืนล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่

๙. เรายินดี พอใจในที่เงียบสงัดหรือไม่

๑๐. คุณวิเศษอะไรของเรามีอยู่บ้างหรือไม่

ส่วนภิกษุผู้เป็นนักวิปัสสนาธุระ ต้องปฏิบัติตัวดังนี้

๑. มีธุรกิจน้อย ไม่เป็นนักสังคม เลี้ยงง่าย มักน้อย
๒. กินน้อย ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง ไม่เป็นทาสของความอร่อยลิ้น
๓. ไม่นอนมาก
๔. เป็นพหูสูต
๕. หมั่นประกอบความเพียรทางจิต

เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลใจเกินขอบเขตจนเป็นผลเสียต่อการปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติทางจิตจึงต้องปฏิบัติเช่นนี้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

ทางเจริญของชีวิต

ผู้ที่ต้องเดือดร้อนภายหลัง
พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุที่ทำให้บุคคลต้องเดือดร้อนในภายหลังไว้เป็นอันมาก เช่น อบายมุข ดังที่ได้กล่าวแล้ว และยังมีอีกมาก เป็นต้นว่า

๑. เมื่อเป็นเด็กไม่ทำสิ่งที่ควรทำ เช่น ไม่เล่าเรียน ไม่หาความรู้เพื่ออนาคต

๒. เกียจคร้านทำการงาน

๓. มีความคิดจม คือ ไม่คิดถึงอนาคต

๔. คิดสบายไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น

๕. ไม่หาทางให้เกิดปัญญา(จึงจมอยู่ในความโง่)

และ
๑. เมื่อเป็นหนุ่ม ไม่แสวงหาทรัพย์

๒. เมื่อเป็นเด็ก ไม่เล่าเรียนวิชาหาความรู้เพื่ออนาคต

๓. เป็นคนเจ้าเล่ห์ ชอบพูดยุยงให้มีเรื่องวุ่นวาย กินสินบน เหี้ยมโหด(แต่ดูภายนอกเป็นคนดี)

๔. ทุศีล ขาดขันติ ขาดเมตตา

๕. เจ้าชู้

๖. ตระหนี่ มีทรัพย์ก็ไม่ยอมให้แม้พอให้ได้

๗. อกตัญญู

๘. ดื้อดึงกับพ่อแม่ ดูหมิ่นพ่อแม่

๙. ไม่ยอมเข้าใกล้สมณะ

๑๐. ชอบทำทุจริต ไม่ยอมเข้าใกล้สัตบุรุษ

และมีเหตุแห่งความเดือดร้อนอีกมาก ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ เป็นต้นว่า

๑. มีความรู้น้อย ชอบทำชั่ว ไร้สิ่งที่มีคุณค่าในตัว
๒. ชอบคบคนเลว พอใจในธรรมที่เลว
๓. ชอบนอน ชอบคุย เกียจคร้าน เจ้าอารมณ์
๔. อกตัญญู
๕. ชอบหลอกลวง แม้แต่สมณะก็ไม่เว้น
๖. เห็นแก่ตัวจัด มีของกินของใช้ก็กินก็ใช้แต่ตัว
๗. เย่อหยิ่ง ดูหมิ่นญาติของตน
๘. เป็นนักเลงผู้หญิง -การพนัน -เหล้า (สิ่งเสพติด) –หัวไม้ ล้างผลาญทรัพย์ที่มีอยู่
๙. เจ้าชู้ ชอบคบหญิงเสเพล
๑๐. ชายแก่ได้เมียสาว(หญิงแก่ได้ผัวหนุ่ม)
๑๑. ตั้งหญิง-ชาย นักเลง สุรุ่ยสุร่าย ให้เป็นใหญ่ในการงาน
๑๒. เกิดในตระกูลสูง แต่ยากจน และคิดมักใหญ่ใฝ่สูง

เมื่อปฏิบัติอย่างนี้ย่อมประสบความเดือดร้อนในภายหลังแน่นอน

ชีวิตที่ไร้สาระ
ชีวิตของคนบางคนมีความหมายมาก แต่บางคนก็ไร้สาระ ชีวิตที่ไร้สาระที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้คือชีวิตที่

๑. ติดของเสพติด
๒. ไร้สมบัติ(ทั้งคุณสมบัติและทรัพย์สมบัติ)
๓. ไม่ทำการงาน
๔. ประมาทมัวเมา
๕. ไร้คุณค่า

อย่างนี้เป็นชีวิตที่ไร้สาระ ว่างเปล่า รกโลก น่าเสียดาย

ทางเจริญของชีวิต
คนทุกคนย่อมต้องการความเจริญก้าวหน้าในชีวิต พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงวิธีการที่ใช้ได้ทั่วไปหลายประการเพื่อความเจริญ เช่น

๑. จงเดินไปตามทางแห่งความดีที่เดินมาแล้ว อย่าถอยหลัง ถ้าเป็นทางชั่วจงกลับ อย่าเดินต่อไป

๒. จงอย่าทำลายฝ่ามืออันชุ่มด้วยเหงื่อ(คือ ความขยันช่วยตนเองและช่วยผู้อื่น)

๓. อย่าประทุษร้ายมิตร (ไม่ว่าจะในทางร่างกาย ความคิด ทรัพย์ หรือชีวิต)

๔. อย่าอยู่ในอำนาจหญิง

และทรงแสดงหลักปฏิบัติอันทำให้เกิดความไม่เสื่อมมีแต่ความเจริญในชีวิต คือ
๑. คบคนดี
๒. สนใจในคำแนะนำของคนดี
๓. ไตร่ตรองให้รู้ดีรู้ชั่วโดยแยบคาย
๔. ปฏิบัติตนตามควรแก่ความดีความชั่วนั้น

ทางเจริญอื่นๆ ยังมีอีกมากมาย เมื่อได้ดำเนินตามทางดังกล่าวแล้วย่อมได้ประสบความเจริญในชีวิตแน่นอน

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

คุณสมบัติของบุคคลประเภทต่างๆ

ในแต่ละประเทศย่อมมีประชาชนฝ่ายบริหารกับฝ่ายธรรมดา ธรรมสำหรับฝ่ายบริหาร นอกจากทศพิธราชธรรม จักรวรรดิวัตรธรรม พรหมวิหารธรรม และเว้นอคติแล้ว ยังมีธรรมอื่นๆ ที่ทางพระพุทธศาสนาได้แสดงไว้ดังนี้

คุณสมบัติของผู้นำ
ยังมีคุณสมบัติอื่นอีกมากที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้ สำหรับบุคคลที่จะเป็นผู้นำ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวแล้ว ซึ่งมีดังนี้

๑. เป็นผู้อดทนต่อความลำบากกายใจ ต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ เป็นต้น

๒. ตื่นตัวทันโลก เตรียมตัวไม่ประมาท

๓. ขยันทำงาน

๔. จำแนกเหตุการณ์ได้ถูกต้อง แบ่งงาน แบ่งบุคคลสำหรับงานได้เหมาะสม

๕. มีความกรุณา

๖. สอดส่อง ตรวจตรา ติดตามงาน

และ
๑. สามารถในการค้นหาปัญหา
๒. สามารถในการแก้ปัญหาต่างๆ

และ
๑. สงเคราะห์ประชาชน
๒. สร้างมิตรภาพกับผู้อื่น
๓. รู้จักพูด
๔. ใจกว้าง
๕. เป็นผู้นำเขา

และ
๑. องอาจ ฉลาด
๒. คงแก่เรียน
๓. เอาธุระหน้าที่ดี
๔. มีวัตร(หลักธรรม)ประจำใจ
๕. เป็นคนมีใจอันประเสริฐ
๖. เป็นสัตบุรุษ
๗. เป็นคนมีปัญญา ความคิดอ่านดี

ประเทศใดมีผู้นำอย่างนี้ ก็ย่อมมีความสุขความเจริญ มีความก้าวหน้าอย่างแน่นอน

คุณสมบัติของนักรบ
ลักษณะของนักรบที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ บางอย่างก็เหมาะกับข้าราชการอื่นๆ และบางอย่างก็เหมาะแต่เฉพาะนักรบ เป็นต้นว่า
๑. ขยัน
๒. กล้าหาญ
๓. รอบรู้

และ
๑. รอบรู้ในการตั้งกองทัพ
๒. สามารถให้อาวุธตกไปได้ไกล
๓. ยิ่งแม่น รู้เป้า
๔. ทำลายขุมกำลังได้

และ
๑. แกล้วกล้า
๒. เป็นนักสู้
๓. ไม่หวาดหวั่น
๔. ไม่สะดุ้งตกใจ
๕. ไม่ครั่นคร้ามพรั่นพรึง
๖. สู้ไม่ถอย

และ
๑. ฉลาดรอบรู้
๒. กล้าหาญ
๓. คงแก่เรียน
๔. ประพฤติดี

และ
๑. มีปัญญา ฉลาด
๒. มีวินัยดี แนะนำผู้อื่นดี
๓. แกล้วกล้า
๔. มีความรู้ดี
๕. ทรงธรรม

คุณสมบัติของข้าราชการ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงคุณสมบัติของข้าราชการทั่วไปไว้เป็นอันมาก เป็นต้นว่า
๑. ขยันทำงาน
๒. ไม่ประมาทในเหตุการณ์ต่างๆ
๓. รอบรู้ในเรื่องต่างๆ
๔. ปฏิบัติหน้าที่ได้เรียบร้อย

และ
๑. เป็นผู้นำที่ดีของประชาชน
๒. มีหลักพิเศษในการปฏิบัติงาน
๓. ได้รับการศึกษาดีแล้ว
๔. บำเพ็ญประโยชน์ตนและผู้อื่น
๕. มีใจมั่นคง เชื่อมั่นในตัว
๖. เป็นคนสุภาพ
๗. เตรียมตัวเสมอเพื่อรับเหตุการณ์นั้นๆ
๘. มีพฤติกรรมอันสะอาด ไม่ทำทุจริต
๙. ขยัน

และ
๑. ฟังเป็น พูดให้เขาฟังเป็น
๒. ขจัดอารมณ์ร้ายได้
๓. ทนทุกข์กาย ใจ ทนถูกว่า ทนต่อสิ่งเย้ายวนได้
๔. ปฏิบัติราชการได้คล่องแคล่ว รวดเร็ว

และ
๑. มีความประพฤติดี
๒. ไม่โลภ
๓. ทำตามคำสั่ง ไม่อวดดีกับผู้บังคับบัญชา
๔. บำเพ็ญประโยชน์ ทั้งต่อหน้าและลับหลังผู้บังคับบัญชา

และ
๑. นับถือผู้ที่เจริญด้วยวัยวุฒิและคุณวุฒิ
๒. เคารพผู้ใหญ่ในราชการ
๓. รู้จักประมาณตัว
๔. เข้ากับเขาได้

และ
๑. ฉลาดรอบรู้ มีปัญญา
๒. สมบูรณ์ด้วยความรู้
๓. ทำงานเก่ง
๔. รู้จักกาลอันควร หรือไม่ควรทำ
๕. รู้จักว่าสมัยนั้นๆ เป็นสมัยแห่งอะไร และควรทำอย่างไร

และ
๑. ไม่พูดมากเกินไป
๒. ไม่นิ่งหรือพูดน้อยเกินไป
๓. รู้จักประมาณในการพูด
๔. ไม่พูดด้วยอารมณ์
๕. ไม่พูดกระทบแดกดันผู้อื่น
๖. พูดจริง
๗. พูดดี น่าฟัง
๘. ไม่พูดยุยง
๙. ไม่พูดเพ้อเจ้อ

ผู้เป็นข้าราชการควรระวังการพูดดังกล่าว แล้วจะเกิดผลดีแก่ทุกฝ่าย

คุณสมบัติของทูต
พระพุทธเจ้าทรงแสดงคุณสมบัติของคนเป็นทูตไว้ดังนี้
๑. เป็นคนฟังเป็น
๒. พูดเป็น พูดให้เขาฟังเข้าใจเรื่องได้ดี
๓. คงแก่เรียน
๔. จำแม่น
๕. เข้าใจในเรื่องต่างๆ ได้ง่าย
๖. พูดเก่ง สามารถพูดชักจูงคนฟังให้เห็นตาม
๗. ฉลาด รอบรู้ในสิ่งที่มีคุณมีโทษต่อบ้านเมือง
๘. ไม่ก่อเรื่องทะเลาะวิวาทกับผู้อื่น เป็นคนสุภาพ

และ
๑. ขยันทำงาน
๒. ทำงานด้วยมีสติสัมปชัญญะเสมอ
๓. เป็นคนสุจริต
๔. ใคร่ครวญพิจารณารอบคอบแล้วจึงทำ
๕. เป็นคนเรียบร้อยระมัดระวังตัว
๖. เป็นคนประกอบด้วยธรรม
๗. เป็นคนไม่ประมาท เตรียมตัวรับสถานการณ์เสมอ

นี่คือส่วนหนึ่งของข้าราชการ เมื่อปฏิบัติตามที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ก็จะเจริญไปด้วยยศ ข้อปฏิบัติดังกล่าว ประชาชนทั่วไปก็ปฏิบัติได้ ผลที่ได้รับก็คือ ความยกย่อง และความเจริญก้าวหน้าเหมือนกัน

ส่วนผู้ที่มีอาชีพอื่นๆ เช่น ค้าขาย เกษตรกร เป็นต้น พระพุทธเจ้าก็ทรงแสดงธรรมไว้เช่นกัน เป็นต้นว่า

คุณสมบัติของพ่อค้าแม่ค้า
หากพ่อค้าแม่ค้าต้องการประสบความสำเร็จในอาชีพ ก็ต้องปฏิบัติดังนี้
๑. ตื่นแต่เช้า เอาใจใส่ดูแลกิจการงานของตน
๒. เวลากลางวัน เอื้อเฟื้อสนใจในกิจการงานของตน
๓. เวลาเย็น ต้องตรวจตรากิจการงานของตนในด้านการค้า การเงิน การทำงานของคนในร้าน การติดต่อ เป็นต้น

และต้อง
๑. มีตาดี คือ รู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดี อะไรขายดีไม่ดี รู้จักหลักการค้า และรู้จักค้าขาย

๒. เอาใจใส่ในการค้า ไม่ปล่อยปละละเลยหรือมอบให้คนอื่นค้าขาย ด้วยไว้ใจจนเกินไป

๓. มีนิสัยในการค้า

การค้าย่อมประสบความสำเร็จแน่นอน หากปฏิบัติได้เช่นนี้ แต่ไม่ควรนำสินค้าเหล่านี้มาขาย เช่น
๑. เครื่องทำลายชีวิต ทำร้ายร่างกาย
๒. คน
๓. สัตว์เป็นสำหรับให้เขาฆ่า
๔. น้ำเมา ของเสพติด
๕. ยาพิษ

โดยเฉพาะผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนไม่ควรขายสิ่งเหล่านี้ เนื่องจากเป็นเครื่องทำลายผู้อื่นและตนเอง บางท่านอาจคิดว่า ถ้าไม่ขายสัตว์เป็นให้เขานำไปฆ่า แล้วคนจะได้กินเนื้อสัตว์หรือ เป็นการตัดวิธีหากินหรือเปล่า เรื่องนี้ไม่ต้องวิตก เพราะยังมีของอื่นอีกมากที่จะขายได้ ไม่ใช่มีเฉพาะของ ๕ อย่างนี้เท่านั้น และคนทั่วไปก็ไม่ได้เป็นพุทธศาสนิกชนเสียทั้งหมด

คุณสมบัติของดนตรี
พระพุทธองค์ทรงแสดงคุณสมบัติของดนตรีที่ดีไว้ดังนี้

๑. ไพเราะ
๒. เร้าอารมณ์
๓. ให้เพลิดเพลิน
๔. ดื่มด่ำ
๕. ให้เกิดความสบายใจ

พระพุทธองค์ทรงทราบแม้กระทั่งเรื่องของดนตรี

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา

มารยาทในสังคม

การอยู่ในสังคมต้องมีมารยาทสำหรับประพฤติ เช่น มารยาทเกี่ยวกับการกินอยู่ เกี่ยวกับสุขภาพอนามัย เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดังนี้

มารยาททั่วไป เช่น
ไม่แอบฟังความ
ต้องนุ่งห่มให้เรียบร้อย
ไม่เดินกระโหย่งเท้าเข้าไปในบ้านเขา

มารยาทในการกินอาหาร เช่น
ไม่ทำคำอาหารให้ใหญ่นัก
เมื่ออาหารยังไม่ถึงปาก ไม่อ้าปากไว้ท่า
กำลังกิน ไม่ใช้นิ้วล้วงเข้าไปในปาก
เมื่ออาหารอยู่ในปาก ไม่พูด
ไม่โยนอาหารเข้าปาก
ไม่กินอาหารทำให้กระพุ้งแก้มตุ่ย
ไม่กินพลาง สะบัดมือ(ช้อน) ไปพลาง
ไม่กินอาหารให้หก
ไม่แลบลิ้นกินอาหาร
ไม่กินให้มีเสียง
ไม่กินเลียมือ(เลียช้อน)
ไม่กินเลียปาก
ไม่ใช้มือเปื้อนจับภาชนะน้ำ

ลงมือกินพร้อมกัน อิ่มพร้อมกัน ผู้อิ่มก่อนต้องรอผู้อิ่มทีหลัง แล้วลุกขึ้นพร้อมกัน

ระวังไม่ให้น้ำบ้วนปาก และน้ำล้างมือกระเซ็นไปถูกผู้อื่น

มารยาทของอาคันตุกะ(แขก) ผู้ไปหาเขา หรือไปพักบ้านเขา พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้เหมือนกันพร้อมด้วยมารยาทของเจ้าของบ้าน ดังนี้

มารยาทของอาคันตุกะ มีดังนี้
๑. มีความเคารพในเจ้าของบ้าน ให้ความสำคัญแก่บ้าน เช่น ถอดรองเท้าเมื่อเข้าบ้าน เป็นต้น

๒. มีความเกรงใจเจ้าของบ้าน เช่น เห็นเจ้าของบ้านมีธุระก็รอ และเมื่อเสร็จธุระแล้วอย่าอยู่นาน เป็นต้น

๓. แสดงอาการสุภาพ เช่น อย่าขึ้นบ้านเขาทั้งมีเท้าเปื้อน เป็นต้น

๔. แสดงอาการเข้ากันได้กับเจ้าของบ้าน

๕. ถ้าจะพักอยู่กับเขา ต้องทำตนให้ถูกธรรมเนียมของบ้านนั้น เป็นต้น

มารยาทของเจ้าของบ้าน มีดังนี้
๑. เป็นผู้เห็นความสำคัญในการทำปฏิสันถารอาคันตุกะ
๒. แสดงความนับถือ หรือให้ความสำคัญแก่อาคันตุกะ
๓. ทำการต้อนรับโดยธรรม หรือสมภาวะของอาคันตุกะ
๔. ถ้าอาคันตุกะจะพักด้วย ก็เอาใจใส่เอื้อเฟื้อให้ที่พัก เป็นต้น

มารยาทในการใช้ห้องส้วม มีดังนี้
๑. การถ่ายหนัก ถ่ายเบา การใช้ห้องน้ำ ให้เป็นไปตามลำดับผู้มาก่อน มาหลัง(ข้อนี้แสดงว่าการเป็นไปตามลำดับของผู้มาก่อนมาหลัง คือ การเข้าคิวนั้น ในพระพุทธศาสนามีมานานแล้ว)

๒. ให้รักษากิริยา เช่น เห็นประตูปิด ต้องเคาะ หรือให้เสียงก่อนเปิดเข้าไป จะเข้าหรือจะออกต้องนุ่งผ้าให้เรียบร้อย อย่าถ่ายและชำระให้มีเสียงดัง

๓. รู้จักรักษาเครื่องนุ่งห่ม

๔. รักษาตัว อย่าเบ่งแรง อย่าใช้ของแข็งชำระ ต้องชำระด้วยน้ำ
๕. อย่าทำกิจอื่นในขณะถ่าย เช่น อย่าเคี้ยวไม้ชำระฟัน

๖. อย่าทำสกปรก

๗. ช่วยกันรักษาความสะอาด อย่าเกี่ยงกัน

เกี่ยวกับความสะอาดในที่อยู่อาศัย พระองค์ทรงแสดงไว้ดังนี้

สุขวิทยา เช่น
ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายรดต้นไม้
ไม่ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายลงน้ำ
ไม่ไว้เล็บมือยาว
ไม่ไว้ขนจมูกยาว(จนออกมานอกจมูก)
ไม่เปลือยกายในที่แจ้ง และในเวลาอันไม่ควร
ใช้ไม้ชำระฟัน(คือแปรงสีฟันในสมัยนี้)
น้ำที่ดื่มต้องกรองเสียก่อน
เมื่อถ่ายอุจจาระแล้ว ให้ชำระด้วยน้ำ (ทำให้สะอาดไม่เป็นริดสีดวง)

ไม่สีกายในที่ไม่ควร เช่น ฝาเรือน เป็นต้น หรือด้วยของที่ไม่ควร เช่น เกลียวเชือก เป็นต้น และไม่ให้ใช้หลังสีกัน(ใช้ผ้าได้)

ไม่อยู่โดยปราศจากไตรจีวรแม้คืนหนึ่ง(เป็นการระวังมิให้จีวรหาย หรือสับเปลี่ยนกับใคร เพราอาจทำให้ติดโรคจากผู้อื่นได้)

ไม่กินอาหารร่วมภาชนะเดียวกัน(อย่างพระฉันในบาตร บาตรของใครก็ของผู้นั้น ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงบัดนี้ หรือฉันแยกเป็นสำรับๆ สำหรับพระแต่ละรูป หรือถ้าฉันเป็นวงก็ต้องใช้ช้อนกลาง เป็นการป้องกันการติดต่อเชื้อโรคจากผู้อื่น ข้อนี้ขอให้เปรียบกับการกินของชาวตะวันตก)

เรื่องที่ใช้ไม้ชำระฟันหรือถูฟันนี้ พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงประโยชน์ไว้อีก คือ
๑. ทำให้ฟันสะอาด
๒. ทำให้ปากไม่เหม็น
๓. ทำให้เส้นประสาทรับรสหมดจดดี
๔. ทำให้เสมหะไม่หุ้มอาหาร
๕. ทำให้กินอาหารมีรส

การรักษาที่อยู่และสิ่งของ ข้อนี้ทรงแสดงไว้ดังนี้

เอาของใช้ตั้งไว้ในที่แจ้งแล้วต้องเก็บ เช่น เตียง เป็นต้น

อย่าทำสกปรก รักษาความสะอาด อย่าให้เปรอะเปื้อน

อย่าให้รกรุงรัง มีฝุ่นละอองมาก

ระวังไม่ให้ชำรุด รักษาเครื่องใช้ เช่น เตียง เก้าอี้ ที่อยู่ในที่นั้น น้ำดื่มน้ำชาตั้งไว้ให้พร้อม

เครื่องใช้จากที่หนึ่ง อย่านำไปใช้อีกที่หนึ่ง เว้นแต่เป็นการยืมไปใช้ชั่วคราว

อย่าเหยียบผ้าขาวที่เขาปูลาดไว้

พิจารณาก่อนแล้วจึงนั่งลงบนที่นั่ง

อย่าทิ้งของลงทางหน้าต่าง และทิ้งออกมานอกกำแพง

ไม่ล้างเท้า อย่าเหยียบเสนาสนะ

มีเท้าเปียกอย่าเหยียบเสนาสนะ

สวมรองเท้าอย่าเหยียบเสนาสนะ

ไม่พึงบ้วนน้ำลายลงบนพื้นที่ทาสี
เท้าเตียง เท้าเก้าอี้ ครูดพื้นที่ทาสี ให้พันเท้านั้นด้วยผ้า

อย่าพิงฝาที่ทาสี(รวมทั้งฝาผนัง กรอบประตู หน้าต่าง)

ผู้ควรพยาบาลคนไข้
พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงผู้ที่ควรเลือกให้เป็นผู้พยาบาลคนไข้ไว้ด้วย ดังนี้

๑. สามารถจัดยาให้ถูก

๒. รู้จักของควรให้กิน ไม่ควรให้กิน เช่น ของแสลง ให้คนไข้กินแต่ของที่กินได้ ไม่แสลง

๓. พยาบาลคนไข้ด้วยเมตตาจิต ไม่มุ่งอามิส

๔. ไม่รังเกียจที่จะนำอุจจาระ เป็นต้น ไปทิ้ง

๕. เป็นผู้สามารถในการพูดปลุกปลอบใจคนไข้ด้วยธรรมกถา

คนมีคุณธรรม ๕ ประการนี้ จึงควรให้พยาบาลคนไข้ ถ้าไม่มีคุณธรรมดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ควรให้รับหน้าที่เป็นผู้ดูแลคนไข้

คนไข้ที่พยาบาลยาก
ลักษณะของคนไข้ที่พยาบาลยากและง่าย พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ดังนี้

๑. ฝืนคำสั่งหมอ

๒. ไม่รู้จักความพอดีในสิ่งที่สบาย หรือชอบของแสลง

๓. ไม่ยอมกินยา

๔. ไม่บอกอาการเจ็บไข้ตามความจริงแก่หมอ หรือแก่คนพยาบาล

๕. ไม่อดทนต่อทุกขเวทนา

คนไข้มีลักษณะอย่างนี้ เป็นผู้พยาบาลยาก ไม่มีใครอยากพยาบาล ส่วนคนไข้ที่มีลักษณะตรงกันข้ามจากนี้ ย่อมเป็นคนไข้ที่พยาบาลง่าย

การรักษาต้นไม้
ปัญหาเกี่ยวกับการทำลายต้นไม้ในปัจจุบัน จึงมีการชักชวนกันให้ปลูกต้นไม้ รักษาต้นไม้ รักษาป่าไม้ ไม่ทำลายป่าไม้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องนี้ไว้ว่า

๑. ภิกษุอย่าพรากของเขียว คือ ต้นไม้ที่เกิดกับที่ให้พ้นจากที่

๒. ภิกษุอย่าถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ บ้วนน้ำลายรดต้นไม้

๓. เว้นการทำลายพืชและต้นไม้(การทำลายคือ ทำให้ย่อยยับ)

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา