หลักปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา

Socail Like & Share

หลักปฏิบัติของคนในพระพุทธศาสนา สำหรับคนในครอบครัว ในสมาคม และในองค์การต่างๆ มีดังนี้

๑. ไฟในอย่านำออก(คือเรื่องไม่ดีภายในครอบครัว ในสมาคม หรือในองค์การ ไม่ควรนำไปพูดให้คนภายนอกรู้)

๒. ไฟนอกอย่านำเข้า(คือเรื่องไม่ดีงามภายนอก อย่านำมาสู่ครอบครัว สมาคม หรือองค์การ)

พระพุทธเจ้ามิได้แสดงแต่เฉพาะเหตุที่ทำให้ตั้งตัวได้เท่านั้น แต่ยังทรงแสดงเหตุแห่งความฉิบหาย ตั้งตัวไม่ได้ไว้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้หวังจะสร้างอนาคต หรือผู้ต้องการมีฐานะมั่นคงต้องละเว้น มีดังนี้

อบายมุข
ทางของความเสื่อมทรัพย์ เสื่อมเกียรติ เสื่อมการงาน เสื่อมชีวิต เสื่อมทางสังคม มีดังนี้

๑. เป็นนักเลงหญิง นักเลงเหล้า ติดของเสพติด เป็นนักเลงหัวไม้

๒. เป็นนักเที่ยวกลางคืน

๓. เป็นนักเที่ยวดูการเล่น เที่ยวสนุกจนเกินประมาณ

๔. เป็นนักเลงการพนัน

๕. คบคนชั่วเป็นเพื่อน

๖. เกียจคร้านในการเรียน ในการหาทรัพย์ ในการทำงาน

และพระพุทธองค์ทรงแสดงรายละเอียด เช่น คบคนชั่วเป็นเพื่อน ทำให้เกิดเรื่องเลวร้ายอย่างนั้นๆ รวมความว่า คบเพื่อนเลวเพียงอย่างเดียวก็ทำสิ่งไม่ดีอีก ๕ อย่างได้หมด

คนที่ประสบความเสื่อมในชีวิต เมื่อพิจารณาดูพฤติกรรมของเขาแล้ว ย่อมไม่พ้นไปจากอบายมุข โดยเฉพาะคบเพื่อนเลว นอกจากนี้ยังทรงแสดงไว้ในที่อื่นอีก เช่น ในอัฏฐกนิบาต อังคุตตรนิกาย เป็นต้น

ตระกูลที่เคยมั่งมีแต่กลับเสื่อม
ตระกูลที่เคยมั่งมีมาก่อน แต่ในภายหลังกลับเสื่อมลงนั้น พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นเพราะเหตุดังต่อไปนี้

๑. ไม่หาของหาย หายแล้วปล่อย ซื้อหาใหม่

๒. ไม่บูรณะของเก่า ที่พอบูรณะได้ ปล่อยทิ้ง แล้วซื้อหาใหม่

๓. ไม่รู้จักประมาณในการใช้จ่าย ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่ายอย่างไร้ความหมาย ใช้เงินใช้ของไม่เป็น

๔. ตั้งหญิง หรือชายเลวเป็นพ่อบ้านแม่บ้าน ตัวก็โง่กว่าเขา

ถ้าเป็นเช่นนี้จะมั่งมีเท่าไรก็ต้องหมด ตระกูลเก่าที่ยังรักษาฐานะไว้ได้ เพราะไม่ทำอย่างนี้

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา