ลักษณะของเพื่อนที่ดีและคนดี

Socail Like & Share

เพื่อน
มีความสำคัญต่อชีวิตของคนทั่วไป คนจะดีหรือชั่ว โดยมากมักเป็นเพราะเพื่อน เช่น คนสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เที่ยวเสเพล ก็เพราะเพื่อนพูดชักจูงให้เห็นว่าเป็นของดี เป็นการหาประสบการณ์ เพื่อกำไรของชีวิต การแนะนำเพื่อนให้เสียคนอย่างนี้ ไม่มีพ่อแม่ที่ไหนแนะนำ พระพุทธเจ้าทรงทราบเรื่องความสำคัญของเพื่อนนี้ดี เมื่อพระอานนท์กราบทูลว่า เพื่อนเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิต พระพุทธองค์จึงตรัสว่าเพื่อนเป็นทั้งหมดของชีวิต ดังนั้น พระองค์ทรงแสดงพระสูตรว่าด้วยสิ่งที่เป็นมงคล(มงคลสูตร) ๓๘ ประการ จึงทรงแสดงเรื่องการคบเพื่อนไว้ก่อนธรรมอื่นในพระสูตรนั้น และพระองค์ทรงแสดงเรื่องเพื่อนที่ดี เพื่อนเลว พร้อมทั้งวิธีดูคนว่าจะเป็นเพื่อนชนิดไหนไว้เป็นอันมาก เช่น

เพื่อนเทียมมีลักษณะดังนี้
๑. ปอกลอกหลอกลวง
๒. ดีแต่พูด
๓. คอยประจบ
๔. ชักชวนในทางเสียหาย

คนปอกลอกมีลักษณะดังนี้
๑. คิดเอาแต่ได้จากเพื่อนข้างเดียว
๒. เสียให้เพื่อนน้อย คิดเอาจากเพื่อนมาก
๓. เมื่อมีภัยมาถึงตัว จึงรับทำธุระของเพื่อน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ทำ
๔. คบเพื่อนเพราะเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว

คนดีแต่พูดมีลักษณะดังนี้
๑. นำเอาเรื่องที่ล่วงแล้วมาพูด
๒. อ้างเอาของที่ยังไม่มีมาพูด
๓. ให้เพื่อนด้วยของที่ไร้ประโยชน์ หรือที่ให้โทษ เช่น ให้เหล้าดื่ม ให้เงินเที่ยวเสเพล เป็นต้น
๔. พึ่งไม่ได้

คนประจบมีลักษณะดังนี้
๑. จะทำดีก็คล้อยตาม
๒. จะทำชั่วก็คล้อยตาม ไม่ห้ามปราม
๓. ต่อหน้าสรรเสริญ
๔. ลับหลังนินทา

คนชักชวนในทางเสียคนมีลักษณะดังนี้
๑. ชักชวนดื่มน้ำเมา เสพของเสพติด
๒. ชักชวนเที่ยวกลางคืน
๓. ชักชวนให้มัวเมาในการเล่นที่ไร้ประโยชน์
๔. ชักชวนให้เล่นการพนัน

เนื่องจากเพื่อนมีความสำคัญต่อชีวิต พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงเพื่อนที่ดีไว้ให้พิจารณาด้วยดังนี้

เพื่อนแท้ พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ ๔ ประเภทดังนี้
๑. ให้อุปการะ
๒. ร่วมสุขร่วมทุกข์
๓. แนะนำสิ่งที่เป็นคุณประโยชน์
๔. มีความรัก

ลักษณะของเพื่อนมีอุปการะ มีดังนี้
๑. ป้องกันเพื่อนไม่ให้เกิดอันตราย
๒. ป้องกันทรัพย์สมบัติของเพื่อนไม่ให้มีอันตราย
๓. เมื่อมีภัย เป็นที่พึ่งอาศัยได้
๔. เมื่อเพื่อนมีธุระ ย่อมช่วยเหลือเป็นอย่างดีด้วยทรัพย์ ด้วยกำลัง ด้วยความคิด

ลักษณะของเพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข มีดังนี้
๑. เป็นคนเปิดเผย ไม่มีความลับกับเพื่อน
๒. ปกปิดความลับของเพื่อน
๓. ไม่ทิ้งในยามที่เพื่อนถึงความวิบัติ
๔. แม้ชีวิตก็อาจสละแทนได้

ลักษณะของเพื่อนแนะนำสิ่งที่มีประโยชน์ มีความปรารถนาดีต่อเพื่อน เป็นดังนี้
๑. ห้ามไม่ให้เพื่อนทำความชั่ว
๒. แนะนำชักจูงให้เพื่อนทำความดี
๓. ให้เพื่อนได้พบเห็นและฟังสิ่งที่ยังไม่เคยพบเห็น และไม่เคยฟัง
๔. แนะนำทางแห่งความสุขให้

ลักษณะของเพื่อนที่มีความรักเพื่อน เป็นดังนี้
๑. ทุกข์ก็ทุกข์ด้วย
๒. สุขก็สุขด้วย
๓. คัดค้านคนที่พูดติเตียนเพื่อน
๔. รับรองคนที่พูดสรรเสริญเพื่อน

พระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีดูคนที่จะคบเป็นเพื่อนว่าจะเป็นเพื่อนดีเลวไว้ให้พิจารณาอย่างนี้ และเพื่อไว้ดูคนอื่นและตัวเองด้วย นอกจากนี้พระองค์ยังทรงแสดงเรื่องลักษณะเพื่อนดีเลวไว้ในที่อื่นอีกเป็นอันมาก เช่น ในชาดกขุททกนิกาย เป็นต้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา