ความปรารถนาของฆราวาส

Socail Like & Share

ฆราวาสมีความต้องการดังนี้
๑. ขอสมบัติจงมีแก่เราโดยชอบธรรม
๒. ขอยศจงมีแก่เรา และแก่พวกพ้องโดยชอบธรรม
๓. ขอเราจงมีอายุยืน
๔. เมื่อสิ้นชีพไปแล้วขอให้ไปสุคติ

พระพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุให้ความต้องการนี้สำเร็จ เช่น
ความต้องการข้อที่ ๑ ให้กระทำเหตุ คือเหตุให้พ้นความจน มีขยันเป็นข้อแรก

ความต้องการข้อที่ ๒ ให้ทำเหตุคือ ขยันเรียน ขยันทำงาน ขยันหาทรัพย์ในทางสุจริต๑ มีสติสัมปชัญญะความสำนึกผิดถูก๑ มีการงานที่เป็นสุจริต๑ พิจารณาใคร่ครวญแล้วจึงทำ๑ ไม่ประมาทในวัยในชีวิต เป็นต้น มีความเตรียมตัวเพื่อเหตุการณ์นั้นๆ อยู่เสมอ๑ ประพฤติกุศลธรรม๑

ความต้องการข้อที่ ๓ ให้ทำเหตุคือ วิธีทำให้อายุยืน ด้วยทำความสงบกายใจแก่ตน เป็นต้น

ความต้องการข้อที่ ๔ ทรงให้ทำเหตุคือ เดินไปตามทางแห่งสุคติ มีสมบูรณ์ด้วยศีล เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีความปรารถนาเกี่ยวกับครอบครัว คือ มีผัว-เมียและลูกที่ดี มีเพื่อนดี ความปรารถนาเกี่ยวกับครอบครัว ทรงให้ทำตามหน้าที่ของผัว-เมีย ของพ่อแม่กับลูก และเรื่องกรรม เกี่ยวกับเพื่อนให้ดูคนที่จะคบเป็นเพื่อน

สังคม
สังคมมีปัญหาอยู่อย่างหนึ่งคือ ทำอย่างไรจึงจะไม่เป็นสังคมพิการ แต่เป็นสังคมที่มีความมั่นคง เจริญก้าวหน้า เกาะตัวกันอยู่ สมาชิกในสังคมนั้นๆ มีความร่วมมือ มีความสามัคคีกัน พูดกันรู้เรื่อง รับผิดชอบร่วมกัน ในเรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงวิธีการไว้หลายประการด้วยกัน เช่น

สังคหวัตถุ เรื่องช่วยเหลือกัน พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดังนี้

๑. ทาน คือ ให้ความรู้ ให้ทรัพย์ เพื่อช่วยให้เขาช่วยตัวเองได้ เป็นต้น

๒. ปิยวาจา คือ พูดดี เช่น พูดแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์ พูดให้เกิดกำลังใจ พูดให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ เป็นต้น

๓. อัตถจริยา คือ ช่วยเหลือผู้อื่นในกิจการต่างๆ ไม่นิ่งดูดาย ไม่หวังค่าจ้าง แต่ทำด้วยน้ำใจ

๔. สมานัตตตา คือ เป็นคนเสมอต้นเสมอปลาย ทำตัวให้เข้ากับเขาได้

เมื่อปฏิบัติวิธีการทั้ง ๔ นี้ได้ ก็ย่อมเกิดความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันในกลุ่มชนนั้นๆ แน่นอน และถ้าใครมีธรรมเหล่านี้ ผู้นั้นก็ย่อมเป็นที่รักของคนทั่วไป (บางท่านเรียกธรรมข้อนี้ว่า มนต์มหาเสน่ห์ เพราะทำให้ตนเข้าไปนั่งอยู่ในใจของผู้อื่นได้) วิธีการนี้จึงเป็นเครื่องแก้ปัญหาของสังคมที่พิการด้วย

นอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังทรงแสดงวิธีอื่นอีก เช่น
สาราณียธรรม เป็นหลักสำหรับให้คำนึงถึงกัน ให้เกิดสามัคคีกัน พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้อีก ๖ ประการคือ

๑. ๒. ๓. ช่วยผู้อื่นทางกาย วาจา ใจ ด้วยความปรารถนาดีทั้งต่อหน้าและลับหลัง

๔. แบ่งปันสิ่งของที่ได้มาโดยชอบธรรมแก่ผู้อื่น ให้ผู้อื่นได้รับประโยชน์จากทรัพย์สมบัติของตนบ้าง

๕. เป็นผู้มีความประพฤติดีเท่ากับคนอื่น ไม่เป็นที่รังเกียจทางความประพฤติสำหรับผู้อื่น

๖. มีความเห็นร่วมกับผู้อื่นในสังคมนั้น และไม่วิวาทกับใครเพราะมีความเห็นผิดกัน

เมื่อทำได้อย่างนี้ก็จะเป็นที่รักเคารพของผู้อื่น ไม่วิวาทกัน มีแต่สงเคราะห์อนุเคราะห์ มีแต่ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจกัน สังคมที่มีบุคคลเช่นนี้ก็จะมีแต่ความเจริญก้าวหน้าเป็นปึกแผ่นมั่นคง ไม่พิการ

และพระองค์ยังทรงแสดงธรรมอื่นๆ อีก อันเป็นไปเพื่อความมั่นคงของสังคม เป็นต้นว่า

อปริหานิยธรรม หลักสำหรับความเจริญไม่เสื่อมของบุคคลและสังคม ข้อนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ดังนี้

๑. หมั่นประชุมกันเสมอ
๒. พร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และพร้อมเพรียงช่วยทำกิจของส่วนรวม เหล่านี้เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีวิธีการอื่นอีกมากที่ทรงแสดงไว้ เป็นต้นว่า
๑. คิดถึงกัน
๒. ทำความรักความปรารถนาดีในกันและกัน
๓. มีความนับถือกัน
๔. ช่วยเหลือกัน
๕. ไม่วิวาทแก่งแย่งกัน
๖. มีความสามัคคี ร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน

คนในสังคมใดประกอบด้วยธรรมดังกล่าวนี้ สังคมนั้นก็ย่อมมีความเจริญมั่นคง ไม่พิการแน่นอน

วิธีการเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้กว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว ในปัจจุบันนี้ก็ยังใช้ได้อยู่ แม้ในอนาคตก็เช่นเดียวกัน ขอให้เทียบกับวิธีการในปัจจุบันที่มีผู้ตั้งขึ้นเพื่อให้สังคมไม่พิการ ส่วนเหตุที่ทำให้เกิดทะเลาะวิวาท ทำให้สังคมพิการ นับตั้งแต่สังคมย่อย คือ ภายในครอบครัว จนถึงสังคมใหญ่ คือบ้านเมืองนั้น คือปฏิบัติตามวิธีการตรงกันข้ามจากวิธีการดังกล่าวแล้ว หรือปฏิบัติดังนี้ คือ

๑. โกรธ ผูกใจเจ็บ
๒. ลบหลู่ ตีเสมอไม่นับถือ
๓. ริษยา ตระหนี่
๔. โอ้อวด เจ้าเล่ห์
๕. ปรารถนาเลว
๖. ถือทิฏฐิ

เมื่อสรุปแล้วเหตุที่ทำให้ทะเลาะวิวาทผิดใจกันก็คือ ความอยาก(ตัณหา) กับทิฏฐิ ดังที่ท่านมหากัจจายนะเถระ กล่าวไว้ในทุกนิบาต อังคุตตรนิกาย ความไทยว่า ฆราวาสทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุคือความอยาก บรรพชิตทะเลาะวิวาทกัน เพราะเหตุคือความเห็นไม่ตรงกัน(ทิฏฐิ) การทะเลาะกัน ผิดใจกัน ไม่ถูกกัน มีอยู่ที่ไหน ที่นั่นจะเกิดความปั่นป่วน เสียความมั่นคง ไม่เจริญก้าวหน้า

ความสำเร็จ
พูดถึงความสำเร็จในชีวิต ย่อมเป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไป เรื่องนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงวีที่จะให้ประสบความสำเร็จไว้หลายวิธี เป็นต้นว่า

อิทธิบาท
เหตุให้ถึงความสำเร็จสมประสงค์(ที่ไม่เหลือวิสัย) พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ ๔ ประการ คือ

๑. ฉันทะ คือ ความพอใจในสิ่งนั้นๆ ที่ตนจะต้องทำ
๒. วิริยะ คือ พากเพียรพยายามทำสิ่งที่พอใจนั้น
๓. จิตตะ คือ เอาใจใส่ในสิ่งที่ทำนั้น ไม่ทอดทิ้ง
๔. วิมังสา คือ หมั่นตริตรองพิจารณาค้นคว้าหาข้อมูลต่างๆ ในสิ่งที่ทำนั้น

เหตุ ๔ ประการนี้ เมื่อมีบริบูรณ์แล้ว ย่อมสามารถทำให้ผู้ทำถึงความสำเร็จได้ตามประสงค์ ในสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย นอกจากนี้ยังมีวิธีอื่นอีก เช่น การใช้ความเพียร ๔ ประการ ซึ่งมีอยู่ในจตุกกนิบาต อังคุตตรนิกาย คือ

๑. เพียรระวังความไม่ดีความเสียหายไม่ให้เกิด
๒. เพียรละความไม่ดีความเสียหายที่เกิดแล้ว
๓. เพียรให้สิ่งดีงามที่ยังไม่เกิดให้เกิดมีขึ้น
๔. เพียรให้สิ่งดีงามที่เกิดมีแล้วเจริญยิ่งๆ ขึ้น เหล่านี้เป็นต้น

ที่มา: จากหนังสือเรื่อง 1 ใน 84000 ของ สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนา