สัตว์ในวรรณคดี:สัมพาที

สัมพาที

นกสัมพาทีเป็นนกที่กล้าหาญและเสียสละ

ดูตามรูปก็สวยงาม  มีขนพอเหมาะ ถ้าว่าตามตำนานก็ต้องมีขนสีแดง

แต่ตามเรื่องจริง ๆ แล้วนกสัมพาทีเคยขนหลุดหมดทั้งตัวมาแล้วครั้งหนึ่ง

เรื่องมีอยู่ว่าสัมพาทีมีนกน้องอยู่ตัวหนึ่งชื่อสดายุ  เมื่อครั้งยังอยู่ภูเขาอัศกรรณนั้น  สดายุยังไร้เดียงสา  วันหนึ่งเห็นพระอาทิตย์อุทัยนึกว่าเป็นผลไม้สุกลอยอยู่  ก็โผถลาเข้าหาจะจิกกิน  พระอาทิตย์โกรธหาว่าสดายุบังอาจ  ไม่รู้จักที่ต่ำสูง  ก็เปล่งแสงทวีความร้อนเข้าใส่สดายุ

นกสัมพาทีเห็นไม่ได้การ  ขืนปล่อยให้เป็นเช่นนั้นนกน้องคงต้องเป็นนกย่างแน่ ๆ สัมพาทีก็บินขึ้นไปกางปีกบังแสงอาทิตย์ให้น้อง

ความร้อนเลยทำให้ขนสัมพาทีร่วงหมด

เท่านั้นยังไม่สะใจ พระอาทิตย์สาปซ้ำว่าอย่าให้ขนงอกขึ้นมาอีกเลยให้ไปอยู่ถ้ำเหมติรัน  ถ้าวันใดทหารพระรามกลับจากนำแหวนไปถวายนางสีดามาพักที่ถ้ำนี้แล้ว  โห่ขึ้นสามลา  จึงให้ขนงอกขึ้นมาอีก

นกสัมพาที  จึงมีขนงามดังในภาพ ไม่งั้นก็กลายเป็นนกย่างไร้ขนไปแล้ว

เรื่อง – “สวรรยา”

ภาพ – ประสงค์  พวงดอกไม้

 

นาคปรก:คำอธิบายภาพจากปก

นาคปรก

ปกฉบับนี้เป็นภาพเขียนที่ผนังโบสถ์วัดสุวรรณาราม ธนบุรี เป็นภาพตามพุทธประวัติที่ว่าครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าเสด็จประทับเสวยวิมุติสุขอยู่ภายใต้ไม้มุจลินทร์ มีพญานาคมาขดตัวเป็นแท่นแล้วเลิกพังพานกันลมกันฝนถวาย  ในที่บางแห่งเช่นที่ผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เขียนเป็นรูปพญานาคขดล้อมรอบองค์พระพุทธเจ้า  จนมองเห็นเพียงพระอังสากับพระเศียรเท่านั้น  เรื่องของงูและพญานาคมีเรื่องพิสดารมาก  ถ้าสนใจอ่านเรื่องในเล่มนี้

ปล. สมพงษ์  ทิมแจ่มใส

ประวัติดวงตราเงินบาท

ประวัติดวงตราเงินบาท

สมัยกรุงรัตนโกสินทร์

ฟ. รุ่งอดิเรก

จำเดิมแต่ปี  พ.ศ. ๒๓๒๕  ซึ่งเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ทรงสถาปนากรุงเทพพระมหานคร เป็นราชธานีแห่งกรุงสยามมาจนกระทั่งถึงปรัตยุตบันนี้ นับเป็นเวลาได้ ๑๔๗ ปี ดวงตราเงินบาทก็ได้ถูกผลัดเปลี่ยนกันเรื่อยมาตามยุคตามกาลสมัยเป็นแผ่นดิน ๆ ตลอดมา  ในที่นี้ได้เก็บรวบรวมมากล่าวไว้แต่เพียง ๔ รัชกาลเท่านั้น  คือ  ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงรัชกาลที่ ๔  ซึ่งนับว่าเป็นยุคที่ค่อนข้างเก่าสำหรับสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้อยู่บ้าง  กับอีกประการหนึ่งเชื่อแน่ว่าคงมีบางท่านที่ได้พบเห็นดวงตราเงินบาทแต่ก่อน ๆ นี้ น้อยเต็มที

ในรัชกาลที่ ๑ มีการประดิษฐ์ดวงตราเงินบาทขึ้น ๒ คราว  คราวหนึ่งเริ่มให้ใช้แต่จุลศักราช ๑๑๔๔  ปีขาล จัตวาศก(พ.ศ.๒๓๒๕) เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๑ จนถึงจุลศักราช ๑๒๖๙ ปีมะแม นพศก(พ.ศ.๒๔๕๐) รวมเป็นเวลา ๑๒๖ ปี  ดวงตราชนิดนี้ มีชื่อว่า ตราพระแสงจักรี ดังในรูป


อีกคราวหนึ่งเริ่มใช้เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๗ ปีมะเส็ง สัปตศก(พ.ศ.๒๓๒๘) เป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลที่ ๑ จนถึงจุลศักราช ๑๒๖๙ ปีมะแม นพศก (พ.ศ. ๒๔๕๐) รวมเป็นเวลา ๑๒๓ ปี ดวงตราชนิดนี้มีชื่อว่า ตราบัวอุณาโลม ดังในรูป

ในรัชกาลที่ ๒ เริ่มใช้เมื่อจุลศักราช ๑๑๗๑ ปีมะเส็ง เอกศก(พ.ศ.๒๓๕๒) เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๒ จนถึงจุลศักราช ๑๒๖๙ ปีมะแม นพศก (พ.ศ.๒๔๕๐) รวมเป็นเวลา ๙๙ ปี ดวงตราชนิดนี้มีชื่อว่า ตราครุฑ ดังในรูป

ในรัชกาลที่ ๓ เริ่มใช้เมื่อจุลศักราช ๑๑๘๖ ปีวอก ฉศก (พ.ศ. ๒๓๖๗) เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๓ จนถึงจุลศักราช ๑๒๖๙ ปีมะแม นพศก (พ.ศ.๒๔๕๐) รวมเป็นเวลา ๘๔ ปี ดวงตราชนิดนี้มีชื่อว่า ตราปราสาท ดังในรูป

กับยังมีดวงตราเงินสลึงและเงินเฟื้อง ซึ่งทำขึ้นในรัชกาลที่ ๓ นี้อีกเรียกว่า ดวงตรารูปพรรณดอกไม้ ดังในรูป

ในรัชกาลที่ ๔ เริ่มใช้เมื่อจุลศักราช ๑๒๑๓ ปีกุน ตรีศก (พ.ศ.๒๓๙๔) เป็นปีที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๔ จนถึงจุลศักราช ๑๒๖๙ ปีมะแม นพศก (พ.ศ.๒๔๕๐) รวมเป็นเวลา ๕๗ ปี ดวงตราชนิดนี้มีชื่อว่า ตรามหาพิชัยมงกุฏ ดังในรูป

 

กับทั้งยังมีดวงตราเงินสลึงและเงินเฟื้อง ซึ่งทำขึ้นในรัชกาลที่ ๔ นี้อีกเรียกว่า ดวงตรารูปพรรณคนโฑ ดังในรูป

ประวัติความเป็นมาของคำว่า “ทักทอ”

ทักทอ

สัตว์ประหลาดที่เรียกกันว่า”ทักทอ” นั้นดูเผิน ๆ เหมือนกับคชสีห์

เพราะมีจมูกยาวและมีงาด้วย  ส่วนตัวนั้นเป็นสิงห์

“ทักทอ” เป็นภาษาอะไรก็ไม่ทราบ  บรรดาครูช่างเขียนแต่ก่อนก็จนปัญญาตอบไม่ได้

นักเรียนก็อ่านไม่ออก ทัก-ทอ หรือ ทักกะทอ  บางคนตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยได้ยิน  แต่คนเก่าเขาอ่านว่า ทักกะทอ

ทักทอ จะเขียนมาแต่เดิมอย่างไรไม่ทราบ  แต่ได้พบในเอกสารเรื่องตำราหน้าที่ตำรวจในสมัยกรุงศรีอยุธยาว่ามี เรือทักทวง

เรือทักทวง นี้มีผู้ให้ความเห็นว่า คือ เรือทักทอหรือทักกะทอนั่นเอง

เรือทักทอคู่กับเรือนรสิงห์  เป็นเรือขบวนสัตว์แสนยากร  เข้าขบวนแห่

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำว่า ทักทอ หรือ ตัวทักกะทอ ก็มีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาโน้นแล้ว

เรื่อง – “สวรรยา”

ภาพ –  ประสงค์  พวงดอกไม้

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙

เป็นตรางา ลักษณะรูปไข่ กว้าง ๕ เซนติเมตร สูง ๖.๗ เซนติเมตร รูปพระที่นั่งอัฏทิศ  ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น อุ หรือเลข ๙ รอบ ๆ มีรัศมี แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน  โดยที่วันบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีได้เสด็จประทับพระที่นั่งอัฏทิศ  ราชบัณฑิตเป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก ๘ ทิศ และทิศกลางอีก ๑ ทิศ  แต่ในรัชกาลนี้เปลี่ยนจากราชบัณฑิตเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถวายน้ำอภิเษกเพื่อความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในแผ่นดินคือพระมหากษัตริย์  นับเป็นครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตยที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถวายน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันบรมราชาภิเษก  สำหรับใช้กำกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน  เช่น ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์  ใช้ประทับเป็นสัญลักษณ์ในเหรียญราชอิสริยาภรณ์บรมราชาภิเษก แต่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.อยู่กลาง ใช้ประทับในเหรียญราชอิสริยาภรณ์รัชดาภิเษก และได้ประทับในเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ ชนิดราคา ๑ บาท เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๘

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๘

เป็นตรางา  ลักษณะกลม  ศูนย์กลางกว้าง ๗ เซนติเมตร  รูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหยียบบัวบาน  หมายถึงแผ่นดิน  พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม และมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี  มีแท่นรองรับ ตั้งฉัตรบริวาร ๒ ข้าง เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า อานันทมหิดล  ซึ่งแปลความหมายว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน เพราะพระองค์ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยโดยความยกย่องยินดีของเอนกนิกรชาวไทย  ประหนึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จมาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน  เช่น ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๗

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๗

เป็นตรางา ลักษณะกลมรี  กว้าง ๕.๔ เซนติเมตร ยาว ๖.๗ เซนติเมตร รูปราวพาดพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์  พระแสงศรอัคนีวาต พระแสงศรประลัยวาต  เบื้องบนมีรูปพระแสงจักรและพระแสงตรีศูลอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฏ มีบังแทรกตั้งอยู่ ๒ ข้าง กับมีลายกนกแทรกอยู่ระหว่างพื้น  พระแสงศร 3 องค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ประชาธิปกศักดิเดชน์  ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์วรรคสุดท้ายที่ว่าเดชน์ แปลว่า ลูกศร

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน เช่น ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาสนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๖

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๖

เป็นตรางา  ลักษณะกลมรี  กว้าง ๕.๕ เซนติเมตร  ยาว ๖.๘ เซนติเมตร รูปวชิราวุธมีรัศมี  ประดิษฐานบนพานทองสองชั้น  ตั้งอยู่เหนือตั่ง  มีฉัตรบริวาร ๒ ข้าง  เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า วชิราวุธ  ซึ่งหมายความถึงศัตราวุธของพระอินทร์

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์  ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเครื่องหมายราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์  กับใช้พระราชลัญจกรนี้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเครื่องอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์  ตราวชิรมาลา  เหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์  นอกจากนี้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ปักเป็นธงเครื่องหมายประจำกองเสือป่า  ปักผ้าทิพย์หน้ามุขเด็จพลับพลาที่ประทับในงานพระราชพิธีต่าง ๆ  และเชิญประดิษฐานที่หน้าบันโรงเรียนวชิราวุธ เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชการที่ ๕

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชการที่ ๕

เป็นตรางา  ลักษณะกลมรี  ขนาดกว้าง ๕.๕ เซนติเมตร  ยาว ๖.๘ เซนติเมตร รูปพระเกี้ยวยอดมีรัศมี  ประดิษฐานบนพานทองสองชั้น  เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า จุฬาลงกรณ์ ซึ่งแปลความหมายว่า เป็นศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ  เคียงด้วยฉัตรบริวาร ๒ ข้าง  ที่ริมขอบทั้ง ๒ ขาง  มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง  วางสมุดตำราข้างหนึ่ง  พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรและสมุดไทยนั้นเป็นการเจริญรอยจำลองจากพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งทรงเป็นพระบรมชนกนาถ

พระราชลัญจกรนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับประปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์  ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน  เช่น  ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์  ใช้ประทับในเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์ซึ่งใช้ซื้อขาย ชำระหนี้  ใช้เป็นตราหน้าหมวกทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า  และเชิญประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่ได้ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์ เช่น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หน้าบันพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๔

พระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์รัชกาลที่ ๔

เป็นตรางา  ลักษณะกลมรี รูปพระมหามงกุฏ  เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า มงกุฏ  ซึ่งเป็นศิราภรณ์สำคัญของพระมหากษัตริย์  อยู่ในเครื่องเบญจราชกกุธภัณฑ์  มีฉัตรบริวาร ๒ ข้าง  ที่ริมขอบทั้ง ๒ ข้าง  มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง วางสมุดตำราข้างหนึ่ง  พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรหมายถึงพระฉายาเมื่อทรงผนวชว่า วชิรญาณ  ส่วนสมุดตำราหมายถึงทรงศึกษาเชี่ยวชาญในทางอักษรศาสตร์และดาราศาสตร์

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญทั้งทางราชการและส่วนพระองค์  ใช้ประทับในเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์สำหรับซื้อขาย ชำระหนี้  ในรัชกาลนี้เริ่มเชิญพระราชลัญจกรสำหรับแผ่นดินและประจำพระองค์  สลักรูปปั้นนูนประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่ทรงสร้างหรือทรงปฏิสังขรณ์เป็นส่วนใหญ่  เช่น หน้าบันพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม  บานพระทวารประดับมุกพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถาน ในพระบรมมหาราชวัง เป็นต้