พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๙

เป็นตรางา ลักษณะรูปไข่ กว้าง ๕ เซนติเมตร สูง ๖.๗ เซนติเมตร รูปพระที่นั่งอัฏทิศ  ประกอบด้วยวงจักร กลางวงจักรมีอักขระเป็น อุ หรือเลข ๙ รอบ ๆ มีรัศมี แปลความหมายว่า ทรงมีพระบรมเดชานุภาพในแผ่นดิน  โดยที่วันบรมราชาภิเษกตามโบราณราชประเพณีได้เสด็จประทับพระที่นั่งอัฏทิศ  ราชบัณฑิตเป็นผู้ถวายน้ำอภิเษก ๘ ทิศ และทิศกลางอีก ๑ ทิศ  แต่ในรัชกาลนี้เปลี่ยนจากราชบัณฑิตเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรถวายน้ำอภิเษกเพื่อความเป็นเจ้าเป็นใหญ่ในแผ่นดินคือพระมหากษัตริย์  นับเป็นครั้งแรกในระบอบประชาธิปไตยที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ถวายน้ำอภิเษกในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อวันบรมราชาภิเษก  สำหรับใช้กำกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน  เช่น ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์  ใช้ประทับเป็นสัญลักษณ์ในเหรียญราชอิสริยาภรณ์บรมราชาภิเษก แต่มีพระปรมาภิไธยย่อ ภปร.อยู่กลาง ใช้ประทับในเหรียญราชอิสริยาภรณ์รัชดาภิเษก และได้ประทับในเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาครบ ๓ รอบ ชนิดราคา ๑ บาท เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๘

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๘

เป็นตรางา  ลักษณะกลม  ศูนย์กลางกว้าง ๗ เซนติเมตร  รูปพระโพธิสัตว์ประทับบนบัลลังก์ดอกบัว ห้อยพระบาทขวาเหยียบบัวบาน  หมายถึงแผ่นดิน  พระหัตถ์ซ้ายถือดอกบัวตูม และมีเรือนแก้วด้านหลังแทนรัศมี  มีแท่นรองรับ ตั้งฉัตรบริวาร ๒ ข้าง เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า อานันทมหิดล  ซึ่งแปลความหมายว่า เป็นที่ยินดีของแผ่นดิน เพราะพระองค์ได้เถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยโดยความยกย่องยินดีของเอนกนิกรชาวไทย  ประหนึ่งพระโพธิสัตว์เสด็จมาประทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ทวยราษฎร์ทั้งมวล

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน  เช่น ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๗

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๗

เป็นตรางา ลักษณะกลมรี  กว้าง ๕.๔ เซนติเมตร ยาว ๖.๗ เซนติเมตร รูปราวพาดพระแสงศร ๓ องค์ คือ พระแสงศรพรหมาสตร์  พระแสงศรอัคนีวาต พระแสงศรประลัยวาต  เบื้องบนมีรูปพระแสงจักรและพระแสงตรีศูลอยู่ภายใต้พระมหาพิชัยมงกุฏ มีบังแทรกตั้งอยู่ ๒ ข้าง กับมีลายกนกแทรกอยู่ระหว่างพื้น  พระแสงศร 3 องค์นี้เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า ประชาธิปกศักดิเดชน์  ซึ่งมาจากความหมายของศัพท์วรรคสุดท้ายที่ว่าเดชน์ แปลว่า ลูกศร

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน เช่น ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาสนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์ เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๖

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชกาลที่ ๖

เป็นตรางา  ลักษณะกลมรี  กว้าง ๕.๕ เซนติเมตร  ยาว ๖.๘ เซนติเมตร รูปวชิราวุธมีรัศมี  ประดิษฐานบนพานทองสองชั้น  ตั้งอยู่เหนือตั่ง  มีฉัตรบริวาร ๒ ข้าง  เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า วชิราวุธ  ซึ่งหมายความถึงศัตราวุธของพระอินทร์

พระราชลัญจกรนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์  ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน  และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเครื่องหมายราชอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์  กับใช้พระราชลัญจกรนี้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเครื่องอิสริยาภรณ์รัตนวราภรณ์  ตราวชิรมาลา  เหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์  นอกจากนี้โปรดเกล้าฯ ให้ใช้ปักเป็นธงเครื่องหมายประจำกองเสือป่า  ปักผ้าทิพย์หน้ามุขเด็จพลับพลาที่ประทับในงานพระราชพิธีต่าง ๆ  และเชิญประดิษฐานที่หน้าบันโรงเรียนวชิราวุธ เป็นต้น

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชการที่ ๕

พระราชลัญจกรประจำพระองค์รัชการที่ ๕

เป็นตรางา  ลักษณะกลมรี  ขนาดกว้าง ๕.๕ เซนติเมตร  ยาว ๖.๘ เซนติเมตร รูปพระเกี้ยวยอดมีรัศมี  ประดิษฐานบนพานทองสองชั้น  เป็นสัญลักษณ์ของพระปรมาภิไธยว่า จุฬาลงกรณ์ ซึ่งแปลความหมายว่า เป็นศิราภรณ์ชนิดหนึ่งอย่างมงกุฎ  เคียงด้วยฉัตรบริวาร ๒ ข้าง  ที่ริมขอบทั้ง ๒ ขาง  มีพานทองสองชั้นวางพระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรข้างหนึ่ง  วางสมุดตำราข้างหนึ่ง  พระแว่นสุริยกานต์หรือเพชรและสมุดไทยนั้นเป็นการเจริญรอยจำลองจากพระราชลัญจกรของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งทรงเป็นพระบรมชนกนาถ

พระราชลัญจกรนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นสำหรับใช้ประทับกำกับประปรมาภิไธยในต้นเอกสารสำคัญส่วนพระองค์  ซึ่งไม่เกี่ยวด้วยราชการแผ่นดิน  เช่น  ใช้ประทับกำกับพระปรมาภิไธยในประกาศนียบัตรเหรียญรัตนาภรณ์ของพระองค์  ใช้ประทับในเงินพดด้วงและเหรียญกษาปณ์ซึ่งใช้ซื้อขาย ชำระหนี้  ใช้เป็นตราหน้าหมวกทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า  และเชิญประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถพระอารามหลวงที่ได้ทรงสร้างและทรงปฏิสังขรณ์ เช่น วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม หน้าบันพระที่นั่งทรงผนวช วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น