การบ่อง(เจาะรูในร่างกาย)

Socail Like & Share

การเจาะรูในร่างกายหรือทางภาคอีสานเรียกว่า “บ่อง” นั้น มีมาด้วยกันหลายชาติหลายภาษา  เช่น ชาวอินเดีย  และชาวอาฟริกัน  อาจนิยมเจาะรูที่จมูกเพื่อสอดใส่เครื่องประดับ  แต่ชนเผ่าอ้ายลาวส่วนมากนิยมเจาะรูที่หู  โดยเฉพาะทางภาคอีสานมีการบ่องหูทั้งเพศหญิงเพศชาย  ตั้งแต่ยังเด็ก  เพศหญิงนิยมบ่องใบหูส่วนล่างสุดทั้งสองข้าง  เพื่อใส่ตุ้มหู หรือกระจอนหู (ต่างหู) ส่วนเพศชายนิยมบ่องใบหูเบื้องซ้ายข้างเดียวเท่านั้น เพื่อเสียบดอกไม้  ผู้ชายที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปในภาคอีสานปัจจุบันนี้ที่อยู่ตามชนบทมักจะมีการบ่องหูเบื้องซ้าย

การบ่องในร่างกายตามคำกลอน  ซึ่งฝ่ายหญิงจ่ายผะหญาว่า “แม้นบ่บ่อง บ่ให้จ่องขางเฮือน” คือการทำ “แป้นบ่อง”  การบ่องประเภทนี้สงสัยว่าจะเนื่องมาจากคตินิยมของพวกนับถือศิวลึงค์ โดยอิทธิพลทางอินเดียโบราณ

กรรมวิธีการบ่องคือต้อง “ถวยแถน”  ได้แก่การรูดหนังหุ้มปลายองคชาติของเพศชายแล้วดึงหนังบางย่น ๆ บริเวณใต้ของส่วนปลายให้ยืดออก  แล้วใช้ไม้ฝางแหลมแทงให้เป็นรู (ถ้าใช้โลหะจะอักเสบมาก)  แล้วใช้สโนติดไว้ในรูจนกว่าแผลจะหายสนิทจึงเอาออก เลยเกิดมีรูถาวรตลอดไป

ประโยชน์ที่ได้รับจากการนี้มีบางทานเล่าให้ฟังว่า  เพื่อให้ฝ่ายสามีได้มีโอกาสช่วยภรรยาของตนโดยใช้ขนบางประเภทร้อยเข้าไว้ในรูบ่อง  ในกรณีที่ภรรยาของตนไม่สามารถบรรลุจุดสุดยอดได้  ในเวลาร่วมประเวณีตามปกติธรรมดา  เปรียบเสมือนการฝังมุกสำหรับชายบางคนทางภาคกลาง  ผู้ที่ทำการบ่องแบบนี้มีอยู่ไม่มากนัก  แต่เป็นที่ทราบกันทั่วไปในหมู่บ้านใกล้เคียง

เมื่อเวลามีงานบุญพระเวส  หรืองานเทศน์มหาชาติประจำปีของแต่ละหมู่บ้าน เมื่อ ๕๐-๖๐ ปี ขึ้นไปนั้น เวลาก่อนพระอาทิตย์ขึ้นของวันงาน  มักจะมีการจัดขบวนแห่”ดอกนารี”  โดยจัดร้อยพวงมาลัยดอกไม้ขนาดใหญ่ยาวเป็นวา  แล้วเอาเส้นด้ายที่ร้อยพวงมาลัยด้านหนึ่งไปผูกไว้กับองคชาติของชายที่มีรูบ่องนั้น  จึงจัดให้มีคนช่วยถือพวงมาลัยเดินออกหน้า  บางครั้งก็ให้ชายผู้ที่ถูกผูกรูบ่องขึ้นเสลี่ยงคานหามไปในขบวน  พร้อมกับมีคนร้องแห่ไปรอบบ้านว่า “แห่ดอกนารี เด้อ ๆๆๆ”

ในพิธีงานบุญพระเวสหรืองานบุญบั้งไฟในสมัยเก่า  มักจะมีการทำ “ผาม” หรือ “ตูบ” คือประรำไว้สำหรับให้แขกรับเชิญจากหมู่บ้านต่าง ๆ  ได้พักนอนรอบวัด  ซึ่งชาวบ้านไกลก่อนจะเข้าวัด มักจะหาบริเวณเนินดินที่มีหนองน้ำจัดการเปลี่ยนเสื้อผ้าแต่งเนื้อแต่งตัวหรือเรียกว่า “เอ้” เสียก่อนบริเวณเหล่านั้นจึงมีชื่อว่า “โนนสาวเอ้”  เมื่อแขกรับเชิญจากต่างบ้านเขาตูบหรือผามแล้ว  บางครั้งก็อาจจะมีการเล่น “ผีขน” หรือ “ผีโขน” เหมือนกับรูปหุ่นหัวโตทางภาคกลาง  ผู้ร่วมแสดงบางคนก็ทำเป็นนุ่งผ้าด้วย “ดางแห” คือตาข่ายแหห่าง ๆ  บางคนก็อาจจะเอาการบ่องตนเองออกแสดง  บางคนสะพายข่องขาด เสื้อ (ฟูก) หรือหมอนขาด ทำให้ปุยนุ่นฟุ้งกระจายไป  บางพวกก็เอาโคลนทาหัวเหมือนคนโกนหัวโล้นเพื่อเข้าพิธีบวช  บางพวกเอาหมากอึ(ฟักทอง) ซึ่งนึ่งสุกแล้วสีเหลือง ๆ ทาตะโพกของตนเหมือนคน “ขี้แตก”  การละเล่นเหล่านี้มีเพียงปีละหน  จึงแสดงได้อย่างสุดเหวี่ยงมุ่งหวังแต่เสาะหาความสนุกสนานสำราญเบิกบานใจเป็นส่วนใหญ่

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *