เครื่องดนตรีไทย

Socail Like & Share

“เครื่องสายเป็นชื่อวงดนตรีประเภทหนึ่ง    ซึ่งบรรดาเครื่องดนตรีต่างๆ
ที่ผสมอยู่ในวงนั้น มีเครื่องดนตรีที่มีสายเป็นประธาน เครื่องดนตรีที่เป็นประธานนี้จะเป็นเครื่องมีสายที่สีเป็นเสียงหรือดีดเป็นเสียงก็ได้”ระนาด

โดยเฉพาะเครื่องสายไทย มีขนาดวงและลักษณะของการผสมเครื่องดนตรีแตกต่างกันไปได้หลายอย่าง และเรียกชื่อวงไปตามขนาดและสิ่งที่ผสมนั้นๆ เช่น เครื่องสายไทยวงเล็ก (เครื่องเดี่ยว) เครื่องสายไทยเครื่องคู่และเครื่องสายปี่ชวาเป็นต้น

เครื่องสายไทยวงเล็ก เป็นวงเครื่องสายที่มีเครื่องดนตรีที่ผสมเพียงอย่างละหนึ่งชิ้น จึงมักจะเรียกกันอีกอย่างหนึ่งว่า เครื่องสายไทยเครื่องเดียว เครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวงเครื่องสายวงเล็กนี้ นับว่าเป็นสิ่งสำคัญ และถือว่าเป็นหลักของวงเครื่องสายไทยที่จะขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสียมิได้  เพราะแต่ละสิ่งล้วนดำเนินทำนองและมีหน้าที่ต่างๆ กัน เมื่อผสมเป็น วงขึ้นแล้ว เสียงและหน้าที่ของเครื่องดนตรีแต่ละอย่างก็จะประสมประสานกันเป็นอันดี เครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวงเครื่องสายไทยวงเล็ก ซึ่งถือเป็นหลักนี้คือ

๑. ซอด้วง เป็นเครื่องสีที่มีระดับสูงและมีกระแสเสียงดัง มีหน้าที่ดำเนิน ทำนองเพลง เป็นผู้นำวงและเป็นหลักในการดำเนินทำนอง

๒. ซออู้ เป็นเครื่องสีที่มีระดับเสียงทุ้ม มีหน้าที่หยอกล้อยั่วเย้า กระตุ้นเตือนให้เกิดความครึกครื้น สนุกสนานในจำพวกดำเนินทำนองเพลง

๓. จะเข้ เป็นเครื่องดีดดำเนินทำนองโดยเก็บสอดแทรกไปกับทำนองเพลง

๔. ขลุ่ย เป็นเครื่องดนตรีจำพวกเป่า โดยเฉพาะที่ผสมอยู่ในวงเครื่องสายวงเล็กนี้ ใช้ขลุ่ยขนาดกลางเรียกว่า “ขลุ่ยเพียงออ” ดำเนินทำนองโดยใช้เสียงโหยหวนบ้าง เก็บบ้างตามโอกาส

๔. โทนและรำมะนา สิ่งทั้งสองนี้เป็นเครื่องตีที่ขึงหนังหน้าเดียว และทั้งสองอย่างจะต้องตีให้สอดสลับรับกันสนิทสนม เสมือนดังเป็นของสิ่งเดียวกัน มีหนำที่ควบคุมจังหวะหน้าทับ และกระตุ้นเตือนให้บังเกิดความสนุกสนานในทางประกอบจังหวะ

๖. ฉิ่ง เป็นเครื่องให้จังหวะในการเล่นดนตรีชนิดหนึ่ง ฉิ่งทำโดยโลหะมีสองฝา (เรียกว่าคู่) มีหน้าที่ควบคุมจังหวะย่อยให้การบรรเลงดำเนินจังหวะไปโดยสม่ำเสมอ หรือช้าเร็วตามความเหมาะสม
เครื่องสายไทยเครื่องคู่ คำว่าเครื่องคู่ย่อมบอกอยู่ชัดเจนแล้วว่า เป็นอย่างละสอง แต่สำหรับเรื่องของการผสมวงดนตรี จะต้องพิจารณาใคร่ครวญถึงเสียงของสิ่งที่จะผสมกันนั้น ว่าจะบังเกิดความไพเราะหรือไม่ ซึ่งเป็นหลักสำคัญของดนตรี เพราะฉะนั้น วงเครื่องสายไทยคู่ จึงเพิ่มขึ้นเป็นสองแต่เพียงบางอย่าง คือ

๑. ซอด้วง สองคัน แต่ทำหน้าที่ผู้นำวงเพียงคันเดียว อีกคันหนึ่งเป็นเพียงผู้ช่วย

๒. ซออู้ สองคัน ถ้าสีเหมือนกันได้ ก็ให้ดำเนินทำนองอย่างเดียวกัน แต่ ถ้าสีเหมือนกันไม่ได้ก็ให้คันหนึ่งหยอกล้อห่างๆ อีกคันหนึ่งหยอกล้ออย่างถี่ หรือจะผลัดกัน เป็นบางวรรคบางตอนก็ได้

๓. จะเข้ สองตัว ดำเนินทำนองแบบเดียวกัน

๔. ขลุ่ย สองเลา เลาหนึ่งเป็นขลุ่ยเพียงอออย่างในวงเล็ก ส่วนเลาที่เพิ่มขึ้น เป็นขลุ่ยที่มีขนาดเล็กกว่าขลุ่ยเพียงออ และมีเสียงสูงกว่าขลุ่ยเพียงออสามเสียง เรียกว่าขลุ่ยหลิบ มีหน้าที่ดำเนินทำนองหลบหลีกปลีกทางออกไป ซึ่งเป็นการยั่วเย้าไปในกระบวนเสียงสูง

๔. โทนและรำมะนา เหมือนดังในวงเครื่องสายไทยวงเล็ก ไม่เพิ่มเติม

๖. ฉิ่ง เหมือนดังในวงเครื่องสายไทยวงเล็กไม่เพิ่มเติม

ทั้งหมดนี้เป็นคำอธิบายเรื่องเครื่องสายไทยบางตอนของอาจารย์มนตรี ตราโมท ผู้เคยดำรงตำแหน่งศิลปินพิเศษ กองการสังคีต กรมศิลปากร

ท่านจะเห็นว่า ฉิ่งเป็นเครื่องดนตรีชิ้นสำคัญที่วงดนตรีไทยของเราจะขาดเสียมิได้ โดยเฉพาะในวงเครื่องสายไทย ฉิ่งนั้นคงจะมีประกอบวงดนตรีนานมาแล้ว เคยเห็นรูปปั้นนักดนตรีในสมัยทวาราวดี ซึ่งขุดค้นพบที่บ้านคูบัว มีนักดนตรีอยู่หมู่หนึ่ง ซึ่งถือดนตรีต่างชนิดกัน
มีคนหนึ่งดูเหมือนจะถือฉิ่งอยู่ด้วย นอกจากนี้ในเรื่องเครื่องดนตรีในภาษาบาลีว่าดนตรีนั้นมีเครื่องประกอบอยู่ ๕ อย่าง คือ

๑. อาตตะ กลองยาวหน้าเดียว
๒. วิตตะ ตะโพน
๓. อาตตวิตตะ โทนหรือรำมะนา
๔. ฆนะ ฉาบ ฉิ่ง หรือ ฆ้อง
๕. สุสิระ ปี่ แตร หรือ ขลุ่ย

ดนตรีเป็นของคู่กับมนุษยชาติ ที่ชอบสนุกสนานร้องรำทำเพลงในเมื่อมีเวลาว่าง หรือเวลาพักผ่อน คนที่ชอบดนตรีว่ากันว่า เป็นคนที่มีนิสัยอ่อนโยนไม่หยาบคาย ดังในพระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ว่า “ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดคดอัปลักษณ์” แต่คนที่ชอบดนตรี เฮไหนฮานั่น ไม่รู้จักกาลเทศะ ก็เป็นคนพิกลอาจจะถึงพิการได้เหมือนกัน เพราะการสนุกสนานโดยไม่เลือกเวลาและสถานที่นับเป็นอบายมุข เป็นหนทางแห่งความหายนะ หรือความฉิบหายชนิดหนึ่ง

มีสุภาษิตเกี่ยวกับการร้องรำทำเพลงอยู่บทหนึ่งว่า รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง ซึ่งหมายความว่า คนที่จะรำได้นั้นต้องมีดนตรีประกอบด้วย เพื่อให้จังหวะ แต่คนที่รำไม่ดี ไม่ได้โทษตัวเอง กลับไปโทษคนเป่าปี่และคนตีกลองว่าตีไม่ดีไม่ได้จังหวะเป็นเหตุให้ตนรำไม่ได้ ก็เหมือนคนบางคนที่ทำอะไรไม่ดีแล้ว ไม่ได้ค้นหาว่าตนเองบกพร่องอย่างไรกลับไป โทษคนอื่นหรือสิ่งอื่นว่าไม่ดี เป็นเหตุให้ตนชั่วหรือประสบความหายนะนั่นเอง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี