การแต่งกายสมัยรัชกาลที่7-ปัจจุบัน

Socail Like & Share

รัชกาลที่ ๗-ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๔๖๘-ปัจจุบัน)
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ การแต่งกายคล้ายชาวตะวันตกมากขึ้น ซิ่นที่นุ่งยาวเปลี่ยนเป็นผ้าถุงสำเร็จ กล่าวคือ เย็บผ้าถุงให้พอดีกับเอวโดยไม่ต้องคาดเข็มขัด สวมเสื้อหลวมไม่เข้ารูป ตัวยาว แขนสั้นหรือไม่มีแขน ตกแต่งด้วยโบและระบายเหมือนของฝรั่ง เลิกสะพายแพรปัก ใส่สายสร้อยและต่างหูยาวแบบต่างๆ สวมกำไล ส่วนผมปล่อยยาวแต่ไม่ประบ่า และเริ่มนิยมตัดเป็นลอน ทั้งนี้ เพราะคนไทยในช่วงนี้ได้มีโอกาสไปศึกษายังต่างประเทศมากขึ้น จึงนำเอาอารยธรรมการแต่งกายเข้ามาด้วย ประกอบกับภาพยนตร์ฝรั่งโดยเฉพาะภาพยนตร์อเมริกัน กำลังเฟื่องฟูมากในสมัยต้นรัชกาลที่ ๗ และได้เจริญขึ้นมาเป็นลำดับ จนการแต่งกายสมัยร.7สามารถมีอิทธิพลในด้านนำแฟชั่นมาสู่ประชาชนคนไทยด้วยการที่สตรีหันมานุ่งกระโปรงกันบ้างประปราย แต่นุ่งกันในเฉพาะบางพวก บางกลุ่มเท่านั้น เช่น ในวงสังคมชั้นสูง พวกข้าราชการหรือผู้ที่ชอบแต่งตามแฟชั่น “ในราวปี พ.ศ. ๒๔๗๔ สตรีไทยได้ปฏิวัติเครื่องแต่งกายให้ทัดเทียมกับชาวยุโรปอีก คือ จากถุงสำเร็จซึ่งปฏิวัติมาจากผ้าซิ่น ก็ได้เปลี่ยนเป็นกระโปรง ๔ ตะเข็บ ๖ ตะเข็บ มีผู้เล่ากันว่าข้าราชการหญิงในกรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบตัดใช้กันก่อนคนอื่นๆ แล้วหลังจากนั้นเครื่องแต่งกายของสตรีไทย ก็ได้วิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงมาโดยลำดับ”

ส่วนการแต่งกายของชายที่เป็นข้าราชการ ตลอดจนคนในสังคมชั้นสูงโดยทั่วๆ ไปยังนิยมนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน สวมถุงเท้า รองเท้า สวมหมวกสักหลาดมีปีกหรือหมวกกะโล่ ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายปกติสำหรับไปในงานพิธีหรืองานราชการโดยทั่วไป เมื่อเดินทางไปต่างประเทศ จึงจะใส่เสื้อคอแบะ ผูกเนคไท นุ่งกางเกงแบบชาวตะวันตก ส่วนราษฎรทั่วไปยังคงนุ่งโจงกระเบน หรือสวมกางเกงแพร สวมเสื้อธรรมดา และไม่นิยมสวมรองเท้าอยู่ต่อไปตามเดิม

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้มีการเปลี่ยนแปลงประเพณีวัฒนธรรมบางอย่างให้สอดคล้องกับการปกครองระบอบใหม่และให้เหมาะสมกับกาลสมัย ทั้งยังไม่เป็นที่ดูถูกดูหมิ่นจากชาวต่างประเทศที่เข้ามาติดต่อในประเทศไทยอีกด้วย

ในด้านการแต่งกาย รัฐบาลเห็นว่าการนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตนอันเป็นเครื่องแต่งกายตามปกติหรือในงานพิธีของข้าราชการและสุภาพบุรุษโดยทั่วไปนั้นล้าสมัย จึงประกาศให้นุ่งกางเกงขายาวแทน แต่ยังไม่เป็นการบังคับทีเดียว ยังผ่อนผันให้นุ่งผ้าม่วงได้บ้าง จนปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ได้ตราพระราชบัญญัติการแต่งกายข้าราชการพลเรือน โดยให้เลิกนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน โดยเด็ดขาดกำหนดเครื่องแบบการแต่งกายข้าราชการให้เป็นไปตามแบบสากล ราษฎรทั่วไป เมื่อเห็นข้าราชการนุ่งกางเกงขายาวแทนผ้าม่วงก็ทำตามอย่างกันขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งนิยมแต่งแบบสากลกันมาจนปัจจุบัน

ในระยะนี้เริ่มไม่นิยมสวมหมวก จนกระทั่งถูกบังคับให้สวม ในสมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูล¬สงคราม เมื่อรัฐบาลชุดนี้หมดอำนาจ การบังคับให้สวมหมวกก็ล้มเลิกไปโดยปริยาย

การแต่งกายได้พัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคของรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๗) ได้มุ่งส่งเสริมวัฒนธรรมอย่างขนานใหญ่ เป็นจุดของการสร้างชาติในด้านต่างๆ ได้มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยมากมายหลายอย่าง โดยพยายามให้วัฒนธรรมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติ มีการออกพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกาและประกาศต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการแต่งกายของชาวไทยหลายฉบับ ตลอดจนคำแนะนำในด้านการแต่งกาย รวมทั้งการประกาศห้ามผู้แต่งกายไม่สมควรปรากฏตัวในที่สาธารณะ ดังเช่น ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยรัฐนิยมฉบับที่ ๑๐ เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทย ความว่า “ชนชาติไทยไม่พึงปรากฏตัวในที่ชุมนุมชนหรือสาธารณสถาน ในเขตเทศบาลโดยไม่แต่งกายให้เรียบร้อย เช่น นุ่งแต่กางเกงชั้นใน หรือไม่สวมเสื้อ หรือนุ่งผ้าลอยชาย เป็นต้น การแต่งกายที่ถือว่าเรียบร้อยนั้น ควรแต่งเครื่องแบบตามสิทธิหรือโอกาส หรือ แต่งกายตามแบบสากลนิยม หรือแต่งตามประเพณีนิยมในทำนองสุภาพ” พระราชกฤษฎีกา กำหนดวัฒนธรรมซึ่งประชาชนชาวไทยจักต้องปฏิบัติตาม พุทธศักราช ๒๔๘๕ และพระราชกฤษฎีกา กำหนดวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช ๒๔๘๕ ความว่า

“ชาวไทยจักต้องรักษาเกียรติของประเทศชาติในที่สาธารณสถาน หรือที่ปรากฏแก่สาธารณชน ภายในเขตเทศบาล ห้ามมิให้แต่งกายในทำนองที่จะทำให้เกียรติของประเทศชาติเสื่อมเสียไป เช่น นุ่งผ้าหยักรั้ง นุ่งแต่กางเกงใน นุ่งกางเกงชนิดสำหรับใส่นอน นุ่งผ้าขาวม้าหรือไม่สวมเสื้อ หรือสตรีสวมแต่เสื้อชั้นใน หรือมีแต่ผ้าคาดอก เป็นต้น แต่การแต่งกายตามความนิยม อันสุภาพ ณ สถานที่ตากอากาศ สถานที่อาบนํ้า หรือเพื่อเล่นกีฬา หรือตามความจำเป็น ในการประกอบการงานนั้นให้แต่งได้ตามควรแก่เวลาและสถานที่”

แม้ว่าจะมีการนุ่งกระโปรงกันบ้างประปราย แต่ส่วนมากก็ยังนิยมนุ่งโจงกระเบนกันอยู่ รัฐบาลจึงได้วิงวอนให้สตรีไทยเปลี่ยนแปลงการแต่งกายให้สมกับเป็นอารยประเทศโดยให้สตรีไทยทุกคนไว้ผมยาวตามประเพณีนิยมสมัยโบราณหรือตามสมัยนิยมในขณะนั้น เลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน และเลิกใช้ผ้าคาดอก หรือเปลือยกายท่อนบน ให้เปลี่ยนมาใช้ผ้าถุงอย่างสมัยโบราณหรือสมัยนิยมขณะนั้นและใส่เสื้อแทน  ต่อมาได้ขอร้องให้สตรีไทยสวมหมวก นุ่งกระโปรงและสวมรองเท้า

การแต่งกายแบบสากลเป็นที่นิยมในหมู่ข้าราชการอยู่แล้ว การนุ่งผ้าม่วงกำลังเสื่อมความนิยม เพราะยุ่งยากสิ้นเปลืองและไม่สะดวก แต่ข้าราชการและประชาชนโดยทั่วไปยังคงนิยมนุ่งกางเกงแพรดอกสีต่างๆ ออกนอกบ้านอยู่ จึงได้ประกาศชี้แจงให้คำนึงถึงเกียรติของชาติ ไม่แต่งกายตามสบาย และชักชวนให้เลิกนุ่งกางเกงแพรโดยอ้างว่าเป็นวัฒนธรรมของจีนอีกด้วย

รัฐบาลได้พยายามชี้ให้ประชาชนเห็นว่า การแต่งกายที่สุภาพเรียบร้อยจะมีส่วนช่วยรัฐบาล ในการส่งเสริมวัฒนธรรมและสร้างชาติ “ด้วยการแต่งกายเป็นระเบียบเรียบร้อยและสุภาพนั้น ย่อมเป็นการเชิดชูวัฒนธรรมและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างชาติให้วัฒนาถาวร ฉะนั้นจึงควรที่ประชากรไทยผู้รักชาติจะร่วมใจกันส่งเสริมและปฏิบัติตามรัฐนิยมและประกาศของทางราชการ โดยเคร่งครัด” ทั้งยังได้กำหนดเครื่องแต่งกายเพื่อเป็นแนวทางให้ประชาชนปฏิบัติตามนี้โดยแบ่งเป็น ๓ ประเภท

๑. เครื่องแต่งกายธรรมดา ได้แก่ เครื่องแต่งกาย ซึ่งตามปกติใช้ในที่ชุมนุมชน หรือสาธารณสถาน
๒. เครื่องแต่งกายตามโอกาส ได้แก่ เครื่องแต่งกายซึ่งใช้ในการกีฬาหรือสังคมตามควรแก่กาลเทศะ
๓. เครื่องแต่งกายทำงาน
ก. ทำงานทั่วไป ได้แก่ เครื่องแต่งกายซึ่งใช้เพื่อประกอบงานการอาชีพตามปกติ
ข. ทำงานเฉพาะ ได้แก่เครื่องแต่งกายซึ่งใช้เพื่อประกอบงานอาชีพบางชนิด โดยให้มีลักษณะเหมาะสมแก่สถานที่และการงานนั้นๆ ทั้งนี้ รวมถึงเครื่องแบบซึ่งทางราชการหรือองค์การอาชีพนั้นๆ ได้กำหนดไว้

นอกจากนี้ยังได้กำหนดลักษณะหมวกของสตรีไทยว่า ควรเป็นหมวกที่อาจทำด้วยฟาง ผ้า แพร ลักหลาด ใบลานหรือไม้สานก็ได้ และไม่ควรใช้หมวกที่ทำด้วยวัตถุแวววาวในเวลาเช้า หรือกลางวัน สีของหมวกควรกลมกลืมกับสีของเสื้อผ้า ลักษณะของหมวกต้องไม่มีลักษณะเป็น หมวกชายหาด หมวกใส่นอน หมวกผู้ชายหรือสายรัดคางอย่างเด็กๆ ส่วนกระเป๋าถือของสตรีนั้น ควรให้เข้าชุดกับเสื้อผ้า หรือรองเท้า หรือหมวก หรือเข็มขัด เป็นต้น ไม่ควรให้ใช้วัตถุแวววาวหรือมีสีเงินสีทอง ยกเว้นในงานราตรีสโมสร งานพระราชพิธี เป็นต้น

สรุปแล้วในสมัยนี้เครื่องแต่งกายของชายควรประกอบด้วย หมวก เสื้อชั้นนอกคอเปิดหรือคอปิด ถ้าเป็นคอเปิดต้องใส่เสื้อชั้นในคอปก มีผ้าผูกคอเงื่อนกลาสีหรือเงื่อนหูกระต่าย กางเกงขายาวแบบสากล สวมรองเท้า ถุงเท้า ส่วนผู้หญิงควรสวมหมวก สวมรองเท้า ถุงเท้า (จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้) ใส่เสื้อ นุ่งผ้าถุงหรือกระโปรงซึ่งอาจจะเป็นชิ้นเดียวกันหรือ ๒ ชิ้นแยกจากกันก็ได้ แต่ในระยะแรก ยังคงนิยมนุ่งผ้าถุงกันอยู่เป็นส่วนมาก ต่อมาเมื่อรัฐบาลได้ขอร้องให้นุ่งกระโปรง ประกอบกับอิทธิพลจากตะวันตกในหลายๆ ด้านที่นำแฟชั่นต่างๆ เข้ามาทำให้สตรีไทยหันไปนิยมการนุ่งกระโปรงตามอย่างสากลกันมากขึ้นดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน

เรื่องการสวมหมวกและนุ่งกระโปรงภายหลังเป็นเรื่องบังคับผู้ใดฝ่าฝืนต้องถูกปรับ ในช่วงนั้นสตรีชาวบ้านทั่วไปเริ่มหันมานุ่งผ้าถุงหรือกระโปรงกันอย่างแพร่หลายและสวมหมวกกันทั่วทั้งเมือง จากนวนิยายเรื่องสี่แผ่นดินได้สะท้อนให้เห็นสภาพสังคมและความรู้สึกของประชาชนในยุครัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ครั้งนั้นว่า วันหนึ่งพ่อเพิ่มมาเยี่ยมแล้วปรารภขึ้นว่า…..

“อะไรก็ช่างเถิด ฉันกลุ้มใจเรื่องวัฒนธรรมนี้เท่านั้น ดูถ้าจะไปกันใหญ่แล้ว…..”
“แปลว่าอะไร?” พลอยซัก…….
“เอ คำนี้ฉันก็จน ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไรเหมือนกัน ได้ยินแต่เขาบอกว่า ถ้าเรามีไอ้วัฒนธรรมนี่แล้ว เราจึงจะเป็นมหาอำนาจเทียมบ่าเทียมไหล่กับมหามิตรของเราได้”
“แล้วเราจะมีได้อย่างไร วัฒนธรรมอะไรนี่น่ะ”
“ต้องใส่หมวก” พ่อเพิ่มตอบหน้าตาเฉย….
“เมื่อใส่หมวกแล้วก็ต้องใส่เกือกด้วย คอยดูไปเถิดสนุกละ…….”
“ฉันได้ยินเขาว่าๆ ต่อไปใครไม่ใส่หมวกก็ออกจากบ้านไม่ได้ทีเดียว…..”
“เขาบอกโปลิศจับ” พ่อเพิ่มตอบห้วนๆ

อีกตอนหนึ่ง
“วันหนึ่งพลอยนั่งอยู่ชั้นล่างของตึกในตอนสาย เห็นช้อยเดินเข้าบ้านมา แต่งตัวถูกต้องตามวัฒนธรรมคือใส่หมวกนุ่งผ้าถุง….พลอยเห็นช้อยเดินตรงเข้ามาที่ตึกก็ดีใจ พอจะออกปากร้องทัก….ช้อยก็กระทำการบางอย่างที่ทำให้พลอยต้องร้อง “ว้าย” ขึ้นลั่นด้วยความตกใจ เพราะนึกว่าช้อยเสียสติไปแล้วแน่ๆ สิ่งมหัศจรรย์ที่ช้อยกำลังทำอยู่ก็คือ….ถอดหมวกวางลงบนห่อของ แล้วช้อยก็เริ่มปลดผ้าถุงออกจากตัวอย่างหน้าเฉยที่สุด…..พลอยตกใจแทบสิ้นสติ ตัวเย็นวาบไปทั้งตัว และ
พอร้องอุทานออกมาดังๆ แล้ว พลอยก็จ้องมองไปทางช้อยอีก ทันใดนั้นพลอยก็เริ่มหัวเราะ แล้วก็ต้องหัวเราะอีกจนนํ้าตาไหลด้วยความขบขันตัวเองและขบขันช้อย เพราะปรากฏภายในผ้าถุงที่ช้อยนุ่งมา เพื่อรักษา “วัฒนธรรม” ระหว่างเดินทางนั้น ปรากฏว่าช้อยได้นุ่งผ้าลายโจงกระเบนอย่างที่เคยนุ่งมาแต่ก่อนอีกผืนหนึ่งไว้อย่างเรียบร้อย”

จากข้อเขียนของนายวิชาภรณ์ แสงมณี ในมรดกอักษรสยามได้บรรยายเกี่ยวกับเรื่องหมวก และกระโปรงว่า

“สมัยหนึ่งอยู่ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลประกาศให้คนไทยทั้งชาย-หญิงสวมหมวก ว่าเป็นเครื่องหมายของผู้ที่เจริญแล้ว แต่คราวนั้นการสวมหมวกแทนที่จะเป็นเครื่องหมายของความเจริญกลายเป็นเครื่องทรมานคนเฒ่าคนแก่ไม่ว่าในเมืองหรือชนบทไป เพราะว่าพวกข้าราชการ ทำการเกินกว่าสั่งหรือจัดการนอกคำสั่งไป ขนาดที่ใครไม่สวมหมวกไปติดต่อราชการไม่เอาทีเดียว ร้อนจนถึงบางคนเวลาไปติดต่ออำเภอไม่มีหมวกจะสวม เอาขันนํ้าหรือกะละมังทำเป็นหมวกก็มี”

“ก่อนสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ผู้หญิงไทยส่วนใหญ่นุ่งผ้าโจงกระเบนรัฐบาลสมัยนั้นได้ประกาศชักซวนให้พวกผู้หญิงเลิกนุ่งผ้าโจงกระเบน หันมานุ่งผ้าถุงหรือนุ่งกระโปรงกัน    ทีนี้เมื่อขอร้องกันไม่ได้ก็เกิดมีการบังคับกัน    ใครไม่นุ่งกระโปรงไปติดต่อกับทางราชการ เช่น อำเภอก็ไม่มีทำอะไรให้ พวกผู้หญิงบ้านนอกก็ต้องจำใจนุ่งกระโปรง แต่ท่านทราบไหมว่าภายในกระโปรงนั้นมีอะไร    ไม่อะไรหรอกนอกจากผ้าโจงกระเบนอีกชั้นหนึ่งเท่านั้นเอง ผมเองเคยถามพวกน้าๆ ว่าทำไมถึงไม่ค่อยชอบนุ่งผ้าถุงหรือกระโปรง ท่านตอบ ก็อยากนุ่งเหมือนกัน แต่พอนุ่งเข้าแล้วรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้นุ่ง เพราะมันเย็นๆ อย่างไรบอกไม่ถูก

แสดงให้เห็นถึงสภาพความเคยชินของคนไทยบางคนที่ยังยอมรับวัฒนธรรมใหม่ๆ ได้ยาก ยกเว้นพวกผู้หญิงที่วิ่งตามแฟชั่นหรือสมัยนิยม ซึ่งยินยอมรับสิ่งใหม่ๆ อย่างเต็มที่ นอกจากนี้รัฐบาล ยังจัดตั้งสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ ซึ่งมีสาขาต่างๆ ดังเช่นสำนักวัฒนธรรมฝ่ายหญิง ซึ่งมีหน้าที่อย่างหนึ่งอย่างใดด้านพิจารณาเครื่องแต่งกายในโอกาสต่างๆ วางระเบียบการแต่งกายของสตรีแบบเต็มยศ ครึ่งยศ กำหนดการแต่งกายผู้ประกอบอาชีพบางจำพวก เช่น คนขายอาหาร พนักงานเดินโต๊ะอาหาร (พนักงานเสริฟ) ช่างตัดผม หญิงดัดผม เป็นต้น

รัฐบาลได้กำหนดความหมายของเครื่องแบบแต่งกายแบบต่างๆ ไว้ด้วยดังนี้

เครื่องแบบเต็มยศ หมายถึง เครื่องแต่งกายที่ใช้ในโอกาสที่เป็นงานพระราชพิธี รัฐพิธี หรืองานสโมสรสันนิบาตใดๆ ซึ่งมีหมายกำหนดการ คำสั่ง ระเบียบแบบแผนให้แต่งเครื่องแบบเต็มยศ ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สวมสายสะพาย ตามหมายกำหนดเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องแบบครึ่งยศ หมายถึงเครื่องแต่งกายซึ่งต้องใช้ในโอกาสที่เป็นงานพระราชพิธี รัฐพิธี หรืองานสโมสรสันนิบาตใดๆ ซึ่งมีหมายกำหนดการคำสั่งหรือเป็นระเบียบแบบแผน ให้แต่งเครื่องแบบครึ่งยศ ประดับเหรียญตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไม่ต้องสวมสายสะพาย (ผู้ที่ไม่มีสายสะพายต้องติดเหรียญตราด้วยเช่นเดียวกับเครื่องแบบเต็มยศ)
เครื่องแบบปกติ หมายถึงเครื่องแต่งกายซึ่งต้องใช้ในโอกาสที่เป็นงานพระราชพิธี รัฐพิธี หรืองานสโมสรสันนิบาตใดๆ ซึ่งมีหมายกำหนดการ คำสั่ง ระเบียบแบบแผน หรือคำชักชวน ให้แต่งเครื่องแบบปกติ (ติดแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์)

เครื่องราตรีสโมสร หมายถึงเครื่องแต่งกายต้องใช้สำหรับงานพระราชพิธี หรืองานสโมสรสันนิบาตใดๆ ซึ่งต้องมีหมายประกาศ คำสั่ง ระเบียบแบบแผน หรือคำชักชวนให้แต่งเครื่องราตรีสโมสร (ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ขนาดย่อ)

เครื่องแต่งกายไว้ทุกข์ หมายถึงเครื่องแต่งกายต้องใช้สำหรับงานพระราชพิธี รัฐพิธี หรืองานที่มีหมายกำหนดการ คำสั่งระเบียบแบบแผน หรือคำชักชวนให้แต่งกายไว้ทุกข์
เครื่องแต่งกายธรรมดา หมายถึงเครื่องแต่งกายประจำวัน ซึ่งใช้สำหรับไปในที่ชุมนุมชน หรือสาธารณสถานในโอกาสที่ไม่ใช่งานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี

เครื่องแต่งกายแบบไทย โดยเฉพาะสตรี หมายถึงการนุ่งผ้าซิ่น และสวมเสื้อ ซึ่งอาจใช้วัตถุอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
๑. วัตถุที่มีกำเนิดหรือทำขึ้นในประเทศไทย
๒. วัตถุที่มีลวดลายอย่างไทย หรือประดิษฐ์ให้มีลักษณะอย่างไทย

เครื่องแต่งกายแบบสากล สำหรับสตรี หมายถึงการสวมเสื้อ กระโปรง จะเป็นชิ้นเดียวกัน หรือมากกว่านั้นก็ได้ สำหรับชายแต่งกายตามแบบสากลนิยม

เครื่องแต่งกายของสตรีสำหรับงานพระราชพิธี งานรัฐพิธีหรืองานพิธีอื่นๆ

เครื่องแต่งกายเต็มยศ สำหรับงานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี แต่งกายแบบไทย นุ่งซิ่นยกยาวถึงข้อเท้า เสื้อที่เหมาะสมกับผ้านุ่ง (ถ้าเป็นเวลาเช้าหรือกลางวัน ไม่ควรใช้แบบที่เปิดคอกว้างนัก ถ้าเป็นเวลาบ่ายหรือกลางคืนจะเปิดกว้างหน่อยก็ได้ ไม่ควรสวมเสื้อไม่มีไหล่หรือแขนเล็กจนเกินไป) สวมถุงเท้ายาว รองเท้าส้นสูง (สีทอง สีเงิน ตาด ต่วน แพร หรือหนังกลับ ขลิบทอง ขลิบเงินก็ได้) กระเป๋าถือ ขนาดย่อมที่เข้ากับเครื่องแต่งกาย (สีทอง เงิน หรือสิ่งแวววาว เช่น ทำด้วยลูกปัด หรือดิ้นก็ได้) ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ผู้ที่ได้รับพระราชทานสายสะพาย ต้องสวมสายสะพายตามหมายกำหนดการ สตรีที่เป็นข้าราชการ แต่งเครื่องแบบตามที่ทางราชการกำหนดไว้

เครื่องแต่งกายครึ่งยศ สำหรับงานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี มีลักษณะเหมือนเครื่องเต็มยศ แต่ไม่สวมสายสะพาย

เครื่องแต่งกายปกติ สำหรับงานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี ก็มีลักษณะเหมือนเครื่องเต็มยศ แต่ไม่ใช้วัตถุที่เป็นเงินทองแวววาวมากเหมือนเครื่องเต็มยศ และไม่ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์

เครื่องแต่งกายราตรีสโมสร สำหรับงานพระราชพิธี หรือรัฐพิธี ให้แต่งอนุโลมตามแบบเครื่องเต็มยศ หรือครึ่งยศ หรือสากลนิยม ซึ่งอาจจะเปิดไหล่ก็ได้

เครื่องแต่งกายไว้ทุกข์ให้แต่งสีดำล้วน อนุโลมตามแบบเครื่องเต็มยศ ครึ่งยศ หรือปกติแต่ ไม่ใช้วัตถุแวววาวหรือเงินทองเลย ไม่ประดับอาภรณ์ทุกชนิดมากเกินควร เฉพาะอย่างยิ่งอาภรณ์ที่เป็นสี (เดิมทุกข์หนักในฐานะญาติสนิทใช้สีขาว ผู้อื่นใช้สีสุภาพ คนธรรมดาเพิ่งมาเปลี่ยนเป็นสีดำกันในรัชกาลที่ ๗)

เครื่องแต่งกายธรรมดาของสตรี
เครื่องแต่งกายสำหรับเวลาเช้าและกลางวัน จะแต่งแบบไทยหรือสากลก็ได้

แบบไทย
นุ่งผ้าซิ่นยาวประมาณครึ่งน่อง เสื้อแบบกลางวันที่เหมาะสมกับผ้านุ่ง ถ้าเป็นงานที่มีบัตรเชิญ ควรสวมถุงเท้า รองเท้ามีส้นที่ไม่ใช่ทอง เงิน หรือแพร กระเป๋าถือที่เข้ากับเครื่องแต่งกาย

แบบสากล
อนุโลมตามแบบไทย แต่ใช้กระโปรงสั้นยาวตามสมัยนิยม ไม่ควรใช้ต่วนหรือแพรที่บางเกินไป

เครื่องแต่งกายสำหรับเวลาบ่าย จะแต่งแบบไทยหรือสากลก็ได้

แบบไทย
นุ่งผ้าซิ่นยาวประมาณครึ่งน่อง เสื้อแบบเวลาบ่าย ถ้าเป็นงานที่มีบัตรเชิญควรสวมถุงเท้า รองเท้ามีส้น กระเป๋าถือขนาดย่อมที่เข้ากับเครื่องแต่งกาย

แบบสากล
อนุโลมตามแบบไทย แต่ใช้กระโปรงสั้นยาวตามสมัยนิยม และจะใช้แพรหนาหรือบางได้ทุกชนิด

เครื่องแต่งกายสำหรับเวลากลางคืน แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

แบบราตรีสโมสร
กระโปรงยาวจรดพื้น ตกแต่งสวยงามตามใจชอบ เสื้อจะเปิดคอ เปิดหลัง มีแขนหรือไม่มีแขนก็ได้ ใช้แพรงามๆ หรือวัตถุที่เป็นมันแวววาวได้ทุกชนิด รองเท้าแบบราตรี กระเป๋าถือแบบราตรี

แบบราตรีธรรมดา
กระโปรงยาวจรดพื้นหรือสามส่วนตามสมัยนิยม ควรเลือกวัตถุและแบบเสื้อราตรีพองาม รองเท้าแบบราตรี กระเป๋าถือแบบราตรี

แบบไทย
อนุโลมตามแบบเครื่องแต่งกายเต็มยศหรือครึ่งยศ และควรใช้รองเท้าแบบราตรีโดยเฉพาะ สำหรับงานรับรองก่อนอาหารคํ่า จะแต่งแบบเวลาบ่าย หรือราตรีธรรมดาก็ได้

เครื่องแต่งกายไปในงานรับรองก่อนอาหารคํ่า หรือที่เรียกว่าคอกเทล (cocktail คือ เครื่องดื่มที่ผสมจากสุราชนิดต่างๆ แล้วเขย่าในหม้อนํ้าแข็ง) จะแต่งแบบเวลาบ่าย หรือแบบราตรีธรรมดาก็ได้

เครื่องแต่งกายเจ้าสาว อนุโลมตามแบบเครื่องแต่งกายเต็มยศ

เครื่องแต่งกายไปในงานศพ ให้แต่งดำล้วน อนุโลมตามแบบเครื่องแต่งกายเวลากลางวัน แต่ไม่ประดับอาภรณ์ทุกชนิดมากเกินควร โดยเฉพาะอาภรณ์ที่เป็นสีไม่ควรประดับเลย

เครื่องแต่งกายของชายในบางโอกาส
ในพิธีมงคลสมรส หรือพิธีอื่นๆ ควรแต่งกายแบบสากล ใช้เนกไท หรือโบไท หูกระต่าย (necktie, bow-tie) สีสุภาพ กลัดดุมเสื้อให้เรียบร้อย อย่าใช้กระเป๋ากางเกงมากนัก

ในการร่วมประชุมหรือติดต่อ ควรแต่งกายสากลเสมอ ไม่ควรใช้ผ้าเช็ดหน้ามากนัก จะเป็นที่รังเกียจ และดูอ่อนแอเกินไป
งานราตรีสโมสร ควรแต่งแบบชุดราตรีหรือชุด “แบล็คไท” ตามหมายกำหนดการ

งานศพหรืองานไว้ทุกข์ อาจแต่งเครื่องแบบและใช้ผ้าสักหลาด หรือผ้าโปร่งสีดำขนาด กว้าง ๗-๑๐ เซนติเมตร พันแขนเสื้อซ้ายเบื้องบน หรือแต่งกายสุภาพตามรัฐนิยม เสื้อขาว กางเกง ขายาวขาว (ถ้าเป็นเสื้อคอแบะให้ใช้เสื้อเชิ้ตขาว ผูกผ้าผูกคอสีดำเงื่อนกลาสี) รองเท้าหนังสีดำ ถุงเท้าดำ ใช้ผ้าสักหลาดหรือผ้าโปร่งสีดำ (แขนทุกข์) ติดแขนเสื้อด้านซ้ายเบื้องบน

เครื่องแบบเต็มยศ ข้าราชการพลเรือน นุ่งกางเกงดำ รองเท้าดำ เสื้อขาว ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ สวมสายสะพายตามหมายกำหนดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่งตามระเบียบของส่วนราชการและองค์การนั้นๆ กำหนด

เครื่องแบบครึ่งยศ ข้าราชการพลเรือน นุ่งกางเกงดำ รองเท้าดำ เสื้อขาว ประดับเหรียญตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ไม่ต้องสวมสายสะพาย (ผู้ที่ไม่มีสายสะพายต้องติดเหรียญตราด้วยเช่นเดียวกับเครื่องแบบเต็มยศ) ข้าราชการทหาร ตำรวจ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่งตามระเบียบของส่วนราชการและองค์การนั้นๆ

เครื่องแบบปกติ ข้าราชการพลเรือน นุ่งกางเกงขาว รองเท้าดำ เสื้อขาว ติดแถบเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ตำรวจ ทหาร พนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่งตามระเบียบของส่วนราชการนั้นๆ

จะเห็นได้ว่า รัฐบาลในสมัยนี้ได้พยายามจะปฏิวัติในด้านการแต่งกายและขนบธรรมเนียมประเพณีและด้านอื่นๆ อีกมากเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ให้ต่างชาติมองว่าไทยเป็นประเทศอารยะทัดเทียมกับนานาประเทศ และเป็นผลให้คนไทยแต่งกายตามสากลนิยมกันทั่วไป ดังที่เห็นได้ในปัจจุบัน สตรีไทยวิ่งตามแฟชั่นกันอย่างรวดเร็วโดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพของเมืองไทย ทั้งนี้เป็นไปโดยไม่มีการขอร้องหรือบังคับแต่อย่างใด ในบางครั้งถึงกับต้อง ขอร้องให้เลิกตามแฟชั่นที่ส่อให้เกิดอาชญากรรมด้วยซ้ำไป

เครื่องแต่งกายสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
โดยทั่วไปนิยมแต่งกายแบบสากลกันแทบทั้งสิ้น แต่ยังมีสิ่งซึ่งแสดงออกแบบไทยเหลืออยู่บ้าง เช่น การนุ่งซิ่น นุ่งผ้าถุง โดยเฉพาะการนุ่งโจงกระเบนของคนสูงอายุหรือคนในชนบท ยังพบเห็นอยู่บ้างในสังคมปัจจุบัน สตรีสูงอายุบางคนยังคงนุ่งผ้าโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก และห่มผ้าสไบอยู่อีกเหมือนกัน

การแต่งกายแบบไทยของสตรีได้วิวัฒนาการขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ตามพระราชนิยมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทำให้เกิดความงามสง่า เหมาะแก่กาลสมัยเป็นอันมาก และได้ชื่อว่า เป็นแบบฉบับของเครื่องแต่งกายที่เป็นเอกลักษณ์ของไทยที่รู้จักกันทั่วโลก ในนามชุดไทยพระราชนิยม ซึ่งมีแบบต่างๆ ดังนี้

๑. ไทยเรือนต้น ใช้ผ้าฝ้ายหรือผ้าไหมมีลายริ้วตามขวางหรือตามยาว หรือใช้ผ้าเกลี้ยงมีเชิง ซิ่นยาวจรดข้อเท้า ป้ายหน้า เสื้อใช้ผ้าสีตามริ้วซิ่นหรือเชิงซิ่น จะตัดกับซิ่น หรือสีเดียวกันก็ได้ เสื้อคนละท่อนกับซิ่น แขนสามส่วน กว้างพอสบาย ผ่าอกดุม ๕ เม็ด คอกลมตื้นไม่มีขอบตั้งที่คอ เครื่องประดับตามสมควร ใช้ในโอกาสปกติ (เป็นชุดไทยแบบลำลอง) และต้องการความสบาย เช่น งานกฐิน เที่ยวเรือ งานทำบุญวันสำคัญทางศาสนา ข้อสำคัญต้องเลือกผ้าที่ใช้ตัดให้เหมาะกับเวลา และสถานที่
๒. ไทยจิตรลดา ใช้ผ้าไหมเกลี้ยงมีเชิง หรือผ้าทอยกดอกทั้งตัวก็ได้ ตัดเป็นซิ่นยาว ป้ายหน้า เสื้อคนละท่อนกับซิ่น คอกลมมีขอบตั้งน้อยๆ ผ่าอก แขนยาว ใช้ในโอกาสพิเศษ เช่น งานพระราชพิธีต่างๆ หรืองานที่ผู้ชายแต่งเต็มยศ เช่น รับประมุขของประเทศที่มาเยือนเป็นทางการที่สนามบินดอนเมือง ไม่ต้องประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ แต่เนื้อผ้าควรงดงามให้มากน้อยเหมาะสมกับโอกาสที่แต่ง
๓. ไทยอมรินทร์ แบบเหมือนไทยจิตรลดา ต่างกันที่ใช้ชุดไทยอมรินทร์ผ้าและเครื่องประดับหรูหรากว่าไทยจิตรลดา เพราะเป็นชุดพิธีตอนคํ่า ใช้ผ้ายกไหมที่มีทองแกมหรือยกทองทั้งตัว เสื้อคนละท่อนกับซิ่น ไม่มีเข็มขัด ผู้มีอายุจะใช้คอกลมกว้างๆ ไม่มีขอบตั้ง แขนสามส่วนก็ได้ เพราะความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้าและเครื่องประดับที่จะใช้ให้เหมาะสมกับงานเลี้ยงรับรอง รับเสด็จ ไปดูละครตอนคํ่า และเฉพาะในงานพระราชพิธีสวนสนาม ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ หรือใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศหรือครึ่งยศ เช่น ในงานพระราชพิธี หรืองานสโมสรสันนิบาต
๔. ไทยบรมพิมาน คือชุดไทยพิธีตอนคํ่า ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทองมีเชิง หรือยกทองทั้งตัวก็ได้ ตัดติดกันกับตัวเสื้อ ซิ่นจีบหน้ามีชายพก ยาวจรดข้อเท้า ใช้เข็มขัดไทยคาด เสื้อคอกลม ปกตั้ง ผ่าด้านหลังหรือด้านหน้าก็ได้ แขนยาว ใช้เครื่องประดับงดงามพอสมควร เหมาะสำหรับงานพิธี เต็มยศและครึ่งยศ เช่น งานอุทยานสโมสร งานพระราชทานเลี้ยงอาหารอย่างเป็นทางการ หรือเป็นชุดเจ้าสาว
๕. ไทยจักรี หรือชุดไทยสไบ นุ่งผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัว ยกจีบข้างหน้า มีชายพก ใช้เข็มขัดไทยคาด ท่อนบนเป็นสไบ จะเย็บติดกับซิ่นเป็นท่อนเดียวกันหรือจะมีสไบห่มต่างหากก็ได้ เปิดบ่าข้างหนึ่ง ชายสไบคลุมไหล่ ทิ้งชายด้านหลังยาวตามที่เห็นสมควร (ความสวยงามอยู่ที่เนื้อผ้า การเย็บ และรูปทรงของผู้สวม) ใช้เครื่องประดับให้งดงามตามโอกาสในเวลากลางคืน ชุดนี้ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศสำหรับอากาศที่ไม่เย็น
๖. ไทยจักรพรรดิ ใช้ซิ่นไหมหรือยกทอง จีบหน้ามีชายพก เอวจีบ ใช้เข็มขัดไทย ห่มแพรจีบ แบบไทย สีตัดกับผ้านุ่งเป็นชั้นที่หนึ่งก่อน แล้วจึงใช้สไบปักอย่างสตรีบรรดาศักดิ์สมัยโบราณห่มทับแพร จีบอีกชั้นหนึ่ง (มีสร้อยตัวด้วย) ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายแบบเต็มยศ เช่นเดียวกับชุดไทยจักรี
๗. ไทยดุสิต ใช้ผ้ายกไหมหรือยกทอง จีบหน้า มีชายพก จีบเอว ใช้เข็มขัด เช่นเดียวกับไทยจักรพรรดิ ต่างกันที่ตัวเสื้อ คือใช้เสื้อคอกว้าง (คอด้านหน้า และหลัง คว้านตํ่าเล็กน้อย) ไม่มีแขน เป็นเสื้อผ่าหลัง และปักเป็นลวดลายด้วยไข่มุก ลูกปัดหรือเลื่อม ใช้ในงานพระราชพิธีที่กำหนดให้ แต่งกายเต็มยศ บางท่านเรียกการแต่งกายชุดนี้ว่า ชุดไทยสุโขทัย
๘. ไทยศิวาลัย ใช้ซิ่นไหมหรือยกทอง มีชายพก ตัวเสื้อใช้ผ้าสีทองเหมือนสีเนื้อ แขนยาว คอกลม มีขอบตั้ง ผ่าหลัง เย็บติดกับผ้าซิ่น คล้ายแบบไทยบรมพิมาน แต่ห่มผ้าปักลายไทยแบบ ไทยจักรพรรดิ โดยไม่ต้องมีแพรจีบรองพื้นก่อน ใช้ในโอกาสพิเศษที่กำหนดให้แต่งกายเต็มยศ
๙. ไทยประยุกต์ เป็นชุดที่ดัดแปลงมาจากชุดไทยจักรี นิยมใส่กันมาก ใช้ผ้ายกมีเชิงหรือยกทั้งตัว ซิ่นจีบหน้านาง มีชายพก คาดเข็มขัดไทย ท่อนบนเป็นเสื้อคอกลม คอกว้าง หรือคอแหลม ไม่มีแขนเหมือนกับเสื้อราตรีปกติ ตัวเสื้อนิยมปักเลื่อม ลูกปัด ตกแต่งให้สวยงามตามใจชอบ ใช้ในงานราตรีสโมสรหรือสำหรับเจ้าสาวสวมตอนเลี้ยงกลางคืนก็ได้

ส่วนเครื่องแต่งกายชายนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่าได้ยึดถือแนวการแต่งกายของชาวตะวันตก ซึ่งในบางโอกาสเครื่องแต่งกายสากลบางแบบไม่เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศและสภาพแวดล้อมของประเทศไทย สำหรับสตรีไทยมีชุดไทยพระราชนิยม ซึ่งได้ยึดถือเป็นแบบเสื้อชุดไทยอยู่แล้ว ส่วนแบบเสื้อของชายไทยที่เป็นชุดไทยยังไม่มี จึงได้มีการคิดค้นแบบเสื้อของชายไทยขึ้น เรียกว่า ชุดพระราชทาน ผู้ที่แต่งเป็นคนแรก คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ (ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม) ลักษณะเป็นเสื้อคอตั้งเหมือนเสื้อราชปะแตน ไม่มีปก ตัวเสื้อเข้ารูปเล็กน้อย ผ่าอกตลอด มีสาบกว้างประมาณ ๓.๕ ซม. ติดกระดุม ๕ เม็ด ขลิบรอบคอ สาบอก ขอบแขน และปากกระเป๋า มีกระเป๋าอยู่ด้านใน ๒ ใบ (ด้านล่าง) กระเป๋าบนจะมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีให้เป็นกระเป๋าเจาะข้างซ้าย ๑ กระเป๋า ชายเสื้ออาจผ่ากันตึง เส้นรอยตัดต่อมีหรือไม่มีก็ได้ ถ้ามีให้เดินจักรทับตะเข็บ แบบเสื้อจะเป็นแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ แต่ใช้ในโอกาสต่างกัน กล่าวคือ ชุดพระราชทานแขนสั้น เสื้อใช้สีเรียบจาง หรือมีลวดลายสุภาพ ใช้ในโอกาสธรรมดาทั่วไป ปฏิบัติงาน หรือในพิธีการกลางวัน และอาจใช้สีเข้มในงานพิธีการเวลากลางคืน ส่วนชุดแขนยาว เสื้อใช้สีเรียบจางหรือ มีลวดลายสุภาพ ใช้ในพิธีการเวลากลางวัน และอาจใช้สีเข้มในพิธีการเวลากลางคืนก็ได้ ถ้ามีผ้าคาดเอวด้วย ควรผูกเงื่อนแน่นทางซ้ายมือของผู้สวมใส่และใช้ในพิธีที่สำคัญมากๆ ถ้าไปในงานศพจะใช้เสื้อสีขาวแขนสั้นหรือแขนยาวก็ได้ กางเกงสีดำ หรือจะเป็นสีขาวทั้งชุด หรือสีดำทั้งชุดก็ได้

เสื้อชุดพระราชทานนี้ใช้ควบคู่กับกางเกงแบบสากลนิยม สีสุภาพหรือสีเดียวกันกับเสื้อ โดยให้ใช้แทนชุดสากลนิยม หรือเสริมเพิ่มเติมจากชุดสากลนิยมได้ทุกโอกาส แต่มิใช่เป็นการทดแทนชุดสากลนิยมโดยสิ้นเชิง

เสื้อชุดไทยพระราชทานนี้กำลังเป็นที่นิยมในวงการแฟชั่นชายอยู่ขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ ทหาร ตำรวจ หรือประชาชนทั่วไป เนื่องจากเหมาะสม ประหยัด และสวยงาม เป็นผลพลอยได้ต่อบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่ผลิตผ้าไทยและเป็นการสนับสนุนสินค้าพื้นเมืองอีกด้วย เพราะส่วนใหญ่ชุดพระราชทานตัดด้วยผ้าพื้นเมืองซึ่งมีทั้งผ้าฝ้าย ไหม แต่อย่างไรก็ตาม ความก้าวหน้าทางวิทยาการ ได้เข้าไปถึงโดยพ่อค้านำเส้นใยสังเคราะห์ให้ชาวพื้นบ้านทอ ซึ่งมีลักษณะคล้ายผ้าฝ้ายและผ้าไหม แต่ไม่ยับ สีไม่ตก เช่น ผ้าเกาะยอ ลาวโซ่ง เป็นต้น อีกประการหนึ่งทางโรงงานทอผ้าได้ประดิษฐ์ผ้าเลียนแบบผ้าพื้นเมือง ซึ่งมีทั้งผ้าทอและผ้าพิมพ์ ผ้าเหล่านี้จะมีราคาถูกกว่าผ้าที่ทอด้วยมือ

การแต่งกายตั้งแต่ต้นรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน ไม่สามารถระบุให้ชัดเจนได้ว่ามีมาตรฐานอย่างใด เพราะได้มีวิวัฒนาการผสมผสานระหว่างของเก่ากับของใหม่เข้าด้วยกันมาโดยตลอด ส่วนในปัจจุบัน คนรุ่นใหม่ก็รับเอาสิ่งใหม่ๆ มาใช้ คนรุ่นเก่าหรือผู้มีอายุยังคงแต่งและใช้แบบเดิม ซึ่งมีอยู่เป็นส่วนน้อย เช่น การนุ่งโจงกระเบน ปัจจุบันไม่นิยมนุ่งกันแล้วก็ยังมีหลงเหลืออยู่บ้างตามชนบท อาจเป็นเพราะนุ่งซิ่น นุ่งกระโปรงไม่ถนัด จึงคงนุ่งโจงกระเบนไปทำบุญที่วัด ไปงานแต่งงาน งานศพ เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายจะเริ่มจากในราชสำนักก่อนแล้วจึงแพร่หลายมาสู่ราษฎรทั่วไป เป็นการเปลี่ยนอย่างที่เรียกว่า ค่อยเป็นค่อยไป จะสังเกตเห็นว่า คนชั้นสูงจะเป็นผู้นำในการแต่งกายมาทุกยุคทุกสมัย ในสมัยก่อน ราษฎรทั่วไปตั้งแต่เด็ก สาว และผู้ใหญ่ นิยมนุ่งโจงกระเบนด้วย ผ้าลาย ซึ่งผ้าลายใหม่ๆ นั้นแข็งมาก เวลาเดินเสียดสีที่ขาทำให้เป็นแผล ผู้สูงอายุมักไม่ยอมนุ่งผ้าที่ใช้นุ่ง อีกอย่างหนึ่งเป็นผ้าพื้นทอในเมืองไทย เช่น ผ้าพื้นอ่างศิลา (ชลบุรี) สาวๆ ไม่ค่อยนิยมนุ่งผ้าพื้น มักนุ่งแต่สตรีที่มีอายุมากๆ หรือคนแก่ ยังมีผ้าที่ใช้นุ่งกันอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “ผ้าถุง” มักเป็นผ้าพื้นซึ่งมีนุ่งมานานแล้ว แต่ไม่นิยมนุ่งประจำอย่างนุ่งโจงกระเบน โดยมากใช้นุ่งทำงานบ้าน ทำสวน นุ่งอาบนํ้า เป็นต้น ส่วนท่อนบนของร่างกายมักนิยมใช้ผ้าแถบคาดอก คนแก่หรือสาวๆ ที่มีลูกเพียงคนสองคน ก็มักจะเปลือยอก ปฏิบัติกันอย่างนี้เรื่อยมา จะมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในคนบางกลุ่มเท่านั้น จนมาถึง รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นโยบายสร้างชาติในทางวัฒนธรรม ได้กำหนดประเพณีนิยมต่างๆ ที่เรียกว่า รัฐนิยม รัฐบาลในสมัยนั้นได้ประกาศชักชวนเป็นครั้งเป็นคราวตามโอกาสอันควร มีทั้งหมด ๑๒ ฉบับ โดยเฉพาะรัฐนิยมฉบับที่ ๑๐ ที่ว่าด้วยการแต่งกายของประชาชนชาวไทย ประกาศเมื่อ วันที่ ๑๕ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๔ รวมทั้งพระราชบัญญัติ และประกาศต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องการแต่งกาย ทำให้รูปแบบการแต่งกายของไทยหันไปนิยมแบบตะวันตกมากขึ้น จนกระทั่งยึดถือการแต่งกายแบบนี้กันหมดและเปลี่ยนแปลงไปตามแฟชั่นของตะวันตกที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนกันเข้ามา แต่ก็ยังเห็นร่องรอยของคนรุ่นเก่าอยู่บ้าง เช่น ยังพบเห็นคนชราตามชนบทนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก ทำงานอยู่ก็มี

คนสมัยก่อนมีเสื้อผ้าไม่กี่ชุด ไม่ตัดกันบ่อยๆ เหมือนสมัยนี้ จะสวมเสื้อผ้าใหม่ไปประกวดประชันกันต่อเมื่อถึงเทศกาลต่างๆ เช่น ตรุษ สารท สงกรานต์ ฯลฯ นิยมนุ่งห่มตามสีประจำวัน และต้องย้อมเป็นสีต่างๆ ตามต้องการล่วงหน้าหลายวัน สิ่งที่ใช้ย้อมโดยมากเป็นพันธุ์ไม้ มีลูกพุด (สีจำปา) ลูกคำ (สีแสด) ขมิ้นชัน (สีเหลือง) ก้านดอกกรรณิกา (สีแดง) ใบยอ (สีเขียว) และใบแค (สีเขียวอ่อน) เมื่อผ้าที่ย้อมแห้งแล้ว นำมาบรรจุในหีบปัดหรือขวดโหลขนาดใหญ่หรือภาชนะที่เหมาะสม อบด้วยควันเทียน กำยาน เครื่องหอม และดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม ได้แก่ ดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกสารภี ดอกลำเจียก เป็นต้น

สมัยก่อนจะรู้กันดีว่าวันไหนควรใช้สีอะไร เพราะถือเป็นประเพณีสืบมา ดังปรากฏในหนังสือสวัสดิรักษา ของสุนทรภู่ กำหนดสีประจำวันไว้ ดังนี้

อนึ่งภูษาผ้าทรงณรงค์รบ        ให้มีครบเครื่องเสร็จทั้งเจ็ดสี
วันอาทิตย์สิทธิโชคโฉลกดี        เอาเครื่องสีแดงทรงเป็นมงคล
เครื่องวันจันทร์นั้นควรสีนวลขาว    จะยืนยาวชันษาสถาผล
อังคารม่วงช่วงงามสีครามปน    เป็นมงคลขัตติยาเข้าราวี
เครื่องวันพุธสุดดีด้วยสีแสด        กับเหลือบแปดปนประดับสลับสี
วันพฤหัสจัดเครื่องเขียวเหลืองดี    วันศุกร์สีเมฆหมอกออกสงคราม
วันเสาร์ทรงดำจึงลํ้าเลิศ        แสนประเสริฐเสี้ยนศึกจะนึกขาม
หนึ่งพาชีขี่ขับประดับงาม        ให้ต้องตามสีสันจึงกันภัยฯ

สตรีนิยมนุ่งห่มสีตัดกัน ไม่ใช่นุ่งห่มสีเดียวกันเป็นชุด ดังในเรื่องสี่แผ่นดิน ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่า “นี่สำหรับวันจันทร์ นุ่งเหลืองอ่อนห่มนํ้าเงินอ่อน หรือจะห่มบานเย็นก็ได้ แต่ถ้าวันจันทร์ จะนุ่งสีนี้ นํ้าเงินนกพิราบต้องห่มจำปาแดง แล้วแม่ก็หยิบผ้าห่มสีดอกจำปาแก่ๆ ออกวางทับบนผ้า ลายสีนํ้าเงินเหลือบที่วางไว้

แม่อธิบายต่อ วันอังคาร นุ่งสีปูนหรือม่วงเม็ดมะปรางแล้วห่มโศก หรือถ้านุ่งโศกหรือเขียวอ่อน ต้องห่มม่วงอ่อน วันพุธ นุ่งสีถั่วก็ได้ สีเหล็กก็ได้แล้วห่มจำปา วันพฤหัส นุ่งเขียวใบไม้ ห่มแดงเลือดนก หรือนุ่งแสดห่มเขียวอ่อน วันศุกร์ นุ่งนํ้าเงินแก่ห่มเหลือง วันเสาร์ นุ่งเม็ดมะปรางห่มโศก หรือนุ่งผ้าลายพื้นม่วงก็ห่มโศกเหมือนกัน นี่ผืนนี้แหละผ้าลายพื้นม่วงหายากจะตายไป กุลีหนึ่งก็มีผืนเดียว เวลาไว้ทุกข์ก็นุ่งผ้าลายพื้นม่วงนี่เหมือนกัน แต่ต้องห่มสีนวล วันอาทิตย์ จะแต่งเหมือนวันพฤหัสก็ได้ คือนุ่ง เขียวห่มแดง หรือไม่ยังงั้นก็นุ่งผ้าลายพื้นสีลิ้นจี่หรือสีเลือดหมูแล้วห่มโศก จำไว้นะพลอยอย่าไปแต่งตัวเร่อร่าเป็นคนบ้านนอก เดี๋ยวเขาจะหาว่าแม่เป็นชาววังแล้วไม่สอน” ที่กล่าวนี้ส่วนมากเป็นพวกในวังที่ใช้สีตัดกัน แต่มีบางคนก็ใช้สีเดียวกันทั้งชุด “….คนข้างนอกเวลานี้เขาก็แปลก นึกจะนุ่งสีอะไร ห่มสีอะไรเขาก็เอาแต่ใจเขา บางทีก็แต่งเป็นชุดผ้านุ่งผ้าห่มสีเดียวกันไม่ตัดสีเหมือนอย่างพวกเราในนี้ อย่างลูกสาวใหญ่ของเจ้าคุณอิฉันที่บ้าน เขาแต่งตัวตามแต่จะเห็นงาม” ต่อมาได้เปลี่ยนสีประจำวันใหม่เป็นดังนี้

วันอาทิตย์        ใช้สีแดงตามเดิม
วันจันทร์          ของเดิมสีนวลขาว        เปลี่ยนเป็นสีเหลือง
วันอังคาร         ของเดิมสีม่วงคราม       เปลี่ยนเป็นสีชมพู
วันพุธ              ของเดิมสีแสดเหลือบ   เปลี่ยนเป็นสีเขียว
วันพฤหัสบดี    ของเดิมสีเขียวเหลือง    เปลี่ยนเป็นสีแสด
วันศุกร์           ของเดิมสีเมฆหมอก       เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน
วันเสาร์          ของเดิมสีดำ                 เปลี่ยนเป็นสีม่วง

ทั้งชายและสตรีพากันเปลี่ยนสีตามวันใหม่ จนหลัง พ.ศ. ๒๔๗๕ ผู้ชายนิยมแต่งแบบสากล สตรียังคงแต่งสีตามวันอยู่ แต่ไม่เคร่งครัดเหมือนเก่า และคงจะเลือนไปเรื่อยๆ จนในที่สุดไม่นิยมแต่งสีตามวัน คงแต่งตามสะดวก ดังที่เห็นในปัจจุบัน

การแต่งตัวของชายและสตรีสมัยก่อน มีการจับเขม่า ใส่นํ้ามันกันไร แต่ก่อนเด็กผู้ชาย ผู้หญิง นิยมไว้จุก ชายผมที่ไว้จุกนั้นทำเป็นวงกลมรอบกระหม่อม ต่อจากชายผมที่เป็นวงกลม เขาโกนผม ออกหมด รอยวงกลมรอบจุกนั้นเรียกว่า ไรจุก การ “แต่งไร” คือรักษารอยไรในระหว่างผมที่ตั้งขึ้น ข้างบนกับผมที่หวีลาดลงมาทางต้นคอให้สะอาด ไม่ให้ผมข้างบนตกลงมาข้างล่าง ไม่ให้ข้างล่างขึ้นไปยุ่งกับข้างบน รอยไรของแต่ละคนกว้างบ้างแคบบ้างไม่เท่ากัน มีขนเม่นหรือไม้ใช้สอยผมที่ขึ้นอยู่ตามหน้า ผมหรือลูกผมเล็กๆ รอยที่ถอนผมแล้วเรียกว่า “ไรผม”

“จับเขม่า” คือเอาเขม่าผสมกับนํ้ามันตานีให้เป็นสีดำ แล้วทาผมหรือย้อมผมให้ดำ สมัยก่อนอาบนํ้าแล้วจะต้องทาขมิ้น ทากันมาตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ เวลาอาบเอาขมิ้นผงมาละลายในขันพอเปียกชุ่ม เละๆ (ไม่ใช่ละลายให้เป็นนํ้า) แล้วถูตัวเป็นการถูขี้ไคลไปในตัวด้วย ถูจนขมิ้นแห้งติดตัวเป็นคราบ เสร็จแล้วรดนํ้าล้างคราบขมิ้นออกจนหมด ความนิยมที่ใช้ขมิ้นทา เพราะเป็นยารักษาผิวที่เป็นผื่นคัน และคงจะต้องการให้ผิวมีสีเหลืองงามด้วย ดังกลอนในบทละครเรื่องสังข์ทองว่า “ขัดสีฉวีวรรณผ่องผุด ดังทองชมพูนุทเนื้อเก้า” อีกตอนหนึ่งในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนนางพิมแต่งตัวไปฟังเทศน์มหาชาติ ที่วัดป่าเลไลยก์ ว่า

“อาบน้ำผลัดผ้าด้วยฉับพลัน
จึงเอาขมิ้นมารินทา        ลูบทั่วกายาขมีขมัน
ทาแป้งแต่งไรใส่น้ำมัน        ผัดหน้าเฉิดฉันดังนวลแตง”

การแต่งกายของคนไทยได้วิวัฒนาการตามสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ สังคม ตลอดจนการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับประเทศต่างๆ เช่นในสมัยอยุธยาตอนปลายซึ่งเป็นช่วงเกิดศึกสงครามบ่อยๆ ผู้หญิงมักตัดผมสั้น ลวงตาพม่าให้เห็นว่าเป็นผู้ชาย เพื่อสะดวกในการลี้ภัย เสื้อผ้าอาภรณ์ตัดทอนลงมิให้รุ่มร่ามเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้าย เป็นการแต่งกายที่เปลี่ยนสภาพตามภาวะแวดล้อมทางสังคม ในสมัยบ้านเมืองสงบก็เริ่มสนใจความสวยงาม มีเครื่องประดับมากขึ้น ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมตะวันตก การแต่งกายดัดแปลงไปทางยุโรป เช่นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เกิดชุดราชปะแตน (Raj Pattern) ซึ่งเลียนแบบเสื้อสากลของยุโรปแต่ดัดแปลง ให้เป็นของไทย เป็นเสื้อคอปิด เสื้อขาหมูแฮมของสตรีที่นิยมมากในสมัยนี้ ก็ยังคงรักษาเค้าเดิมอยู่ เช่น มีสะพายแพรเป็นต้น เริ่มใช้เสื้อผ้า เครื่องสำอาง เครื่องประดับแบบตะวันตก และได้วิวัฒนาการ ตามสภาพแวดล้อมดังกล่าว ในที่สุดจึงหันมานิยมแต่งกายแบบสากลตามอย่างตะวันตกเลยทีเดียว ปัจจุบันการแต่งกายนิยมแต่งตามยุโรปอเมริกา ทรงผมก็มีหลายรูปทรง มีทั้งผมซอย ตัด ดัดสั้นและไว้ยาว ตลอดจนการแต่งผมเป็นรูปทรงต่างๆ เกล้ามวย ถักเปีย ฯลฯ แล้วแต่สมัยนิยมจะเป็นไปในรูปใด

กรุงเทพฯ เป็นแหล่งเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกไปสู่ส่วนต่างๆ ของประเทศ เนื่องจากเป็นศูนย์รวมของวัฒนธรรมทุกด้าน แฟชั่นต่างๆ จึงแพร่หลายสู่จังหวัดต่างๆ อย่างรวดเร็ว เพราะความเจริญทางวิทยาการและเทคโนโลยี บุคคลที่เป็นผู้นำแฟชั่นมักได้แก่พวกนางแบบ นักร้อง นักแสดง ผิดกับสมัยก่อนที่แฟชั่นแพร่หลายออกมาจากราชสำนัก ในภาวะปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจบีบรัด ค่าใช้จ่ายในการครองชีพสูง สังคมเป็นแบบสังคมเมือง ทุกคนต้องรีบเร่งทำมาหากินเพื่อดำรงชีวิต จึงเกิดเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพื่อคนที่ชอบความสะดวกสบายรวดเร็วซึ่งมีตั้งแต่ราคาไม่แพงเกินไป จนกระทั่งแพงลิบลิ่ว สมัยก่อนมีเสื้อผ้ากันไม่กี่ชุดและมักนิยมนุ่งสีตามวัน ปัจจุบันมีกันหลายๆ ชุด ต่างๆ กัน การเลือกแบบเสื้อมักดูจากนิตยสารต่าง ๆ การแสดงแฟชั่นในโอกาสต่างๆ สาวๆ พรํ่า พูดกันถึงเรื่องจะตัดแบบไหน ทรงไหน ผิดกับสมัยก่อนจะพูดเมื่อจวนจะถึงเทศกาลต่างๆ เท่านั้น นอกจากนี้ก็ไม่นิยมนุ่งสีตามวันเช่นกาลก่อน ใครจะนุ่งสีอะไร วันไหนก็ได้ตามใจชอบ

แฟชั่นในสมัยรัตนโกสินทร์นี้ เมื่อเริ่มติดต่อกับนานาประเทศโดยเฉพาะประเทศแถบตะวันตก ได้รับอิทธิพลจากแฟชั่นยุโรป อเมริกาที่เข้ามาในรูปแบบต่างๆ เช่น การที่คนไทยเดินทางไปต่างประเทศได้รู้เห็นมาด้วยตนเอง ภาพยนตร์ ดนตรี หนังสือแสดงแบบเสื้อและการแสดงของนางแบบ เป็นต้น ล้วนมีส่วนช่วยในการนำแฟชั่นมาสู่เมืองไทยโดยเฉพาะในหมู่สตรีไทยในระยะเริ่มแรกของอิทธิพลดังกล่าว ไทยเริ่มมีชุดราชปะแตน เสื้อแขนหมูแฮมของสตรี กางเกงขายาวแบบสากล กระโปรงสตรีซึ่งภายหลังดัดแปลงให้ดูงามขึ้น มีอยู่สมัยหนึ่งนุ่งกระโปรงยาวที่เรียกว่า นิวลุก (New Look) ต่อมาเกิดเสื้อ กระโปรงเป็นชุดสีต่างๆ จนกระทั่งแยกเป็นชุดอยู่กับบ้าน ชุดออกนอกบ้าน ชุดนอน ชุดอาบนํ้า ชุดเดินทางท่องเที่ยว ชุดเข้าสังคม ชุดวิวาห์ ชุดราตรี ชุดหมี ชุดฮอทแพ้นท์ (Hot pant) ชุดมินิ เหนือเข่า ชุดไมโครสเกิ๊ต ชุดมีดี้ครึ่งน่อง ชุดแม็กซี่ยาวกรอมเท้า ซึ่งเป็นความนิยมในระยะเวลาหนึ่งๆ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป ในรอบ ๒๐๐ ปีของกรุงรัตนโกสินทร์นี้ จะสังเกตเห็นได้ว่า แฟชั่นการแต่งกายมักจะวนเวียนเปลี่ยนไปมา ไม่เพียงแต่จะเป็นเสื้อผ้าเท่านั้น แม้ทรงผม เครื่องประดับ รองเท้า กระเป๋าถือ หรือแฟชั่นที่นิยมในระยะหนึ่งและเสื่อมความนิยมไปแล้ว ก็อาจกลับมานิยมกันอีกในระยะต่อมา บางครั้งอาจไม่เหมือนของเก่ามากนักแต่ยังคงลักษณะหรือเค้าเดิมให้เห็นเช่นสุภาพสตรีเคยนิยมการนุ่ง กระโปรงสั้นๆ เหนือเข่ามากๆ ต่อมาก็ยาวลงๆ จนถึงครึ่งน่อง ในที่สุดก็ยาวกรอมเท้าและกลับหดสั้นขึ้นอีก ใน พ.ศ. ๒๕๒๕นี้ ความนิยมกระโปรงสั้นเริ่มขึ้นอีกซึ่งไม่แน่นักว่าจะสั้นจนถึงขนาดมินิไมโครอีกหรือไม่ ทรงผมในปัจจุบันนี้นิยมการดัดผม ซึ่งคล้ายกับสมัยก่อนที่นิยมการดัดผมอยู่สมัยหนึ่ง เช่น ผมทรงแอฟโร (Afro) ในช่วงปี ๒๕๒๓ คล้ายกับผมสมัยรุ่นคุณแม่ยังสาว (ประมาณ พ.ศ. ๒๔๙๐) รองเท้าส้นสูงแหลมเล็กซึ่งเคยนิยมอยู่สมัยหนึ่ง ปัจจุบันก็นิยมรองเท้าส้นสูงแหลมเล็ก แต่ไม่เล็กมาก เหมือนสมัยก่อน เป็นต้น

ส่วนทรงผมในยุครัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปีนี้ ได้เปลี่ยนแปลงจากผมปีก ผมทัด มาไว้ยาว อิทธิพลด้านต่างๆ ก่อให้เกิดผมทรงต่างๆ เช่น ผมบ๊อบ ชิงเกิ้ล ผมดัดเป็นลอน หรือดัดหยิกทั้งหัว เปลี่ยนเรื่อยมาจนเป็นผมทรงเต่าทอง ทรงทวิคกี้ รากไทร แอฟโร (Afro) เป็นต้น วัยรุ่นเป็นผู้ที่รับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและทันใจ เช่น วงดนตรีคณะสี่เต่าทอง มีอิทธิพลต่อทรงผม สามารถทำให้วัยรุ่นเลียนแบบจากการนิยมผมดัด มาเป็นการไว้ผมซอยทรงต่างๆ และไม่นิยมดัด จนในที่สุดความนิยม ผมดัดได้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง ประมาณปี ๒๕๒๒-๒๕๒๓ เป็นต้นมา แต่ในขณะที่วัยรุ่นนิยมผมทรงต่างๆ ตามแฟชั่น สุภาพสตรีที่พ้นวัยรุ่นแล้วนิยมทรงผมที่ตกแต่งเป็นรูปทรงต่างๆ ที่คิดว่าเหมาะสมกับวัยของตน อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีทรงผมแบบต่างๆ เข้ามาเป็นระยะๆ แต่โดยทั่วไปจะพบเห็นว่า ทรงผมมีหลายรูปแบบแล้วแต่ความพอใจของแต่ละคนจะนิยมชมชอบผมทรงใด

การแต่งกายของแต่ละคนผิดแผกแตกต่างกันตามรสนิยม การรู้จักแต่งให้เหมาะสมกับเวลา สถานที่ โอกาสและการงานนั้น นับว่าเป็นการแต่งกายดี ถูกต้องตามกาลสมัย ซึ่งถือเป็นเรื่องของประเพณีนิยม อาจมีระเบียบแบบแผนวางไว้ตามโอกาสต่างๆ กัน

แบบการแต่งกายของคนไทยในปัจจุบัน พอจะแบ่งออกได้ดังนี้
๑. แต่งกายเวลาปกติ ได้แก่การแต่งกายลำลอง  จึงเป็นการแต่งตัวตามสบายไม่พิถีพิถันมากนัก เช่น การแต่งตัวเมื่ออยู่กับบ้าน ไปเที่ยว ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการแต่งกายไปทำงาน แต่ควรจะแต่ง ให้สุภาพทั้งแบบและสีของเสื้อผ้า

การแต่งกายในเวลาปกติของสุภาพบุรุษในยุคปัจจุบันนี้ (รัชกาลที่ ๙)
ชุดสากล ใช้เฉพาะบุคคลบางจำพวก ส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจ ผู้จัดการบริษัท ห้างร้าน ธนาคาร และข้าราชการระดับสูง หรือข้าราชการบางประเภท เช่น ผู้พิพากษา อัยการ เป็นต้น นอกจากจะใช้ชุดสากลในการแต่งกายมาทำงานแล้วชุดสากลยังใช้ในงานพิธีต่างๆ อีกด้วยการแต่งกาย มาทำงานของสุภาพบุรุษที่นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ส่วนใหญ่จะเป็นเสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือแขนยาว สวมกางเกงสากลซึ่งจะเปลี่ยนรูปทรงตามสมัยนิยม ผูกเนกไท (ไม่ผูกก็ได้)

ชุดพระราชทาน เป็นชุดที่ตัดจากผ้าพื้นเมือง จึงเป็นการสนับสนุนสินค้าพื้นเมือง ปัจจุบัน (พ.ศ. ๒๕๒๓-๒๕๒๕) นิยมสวมชุดพระราชทานมากขึ้น จะพบเห็นทั่วไปตามสถานที่ทำงาน ในงานพิธีต่างๆ เป็นต้น

ในยุคนี้พวกสุภาพบุรุษยังนิยมแต่งกายชุดที่เรียกว่า “ซาฟารี” อยู่ระยะหนึ่งด้วย ส่วนสุภาพสตรีนั้นการแต่งกายไปทำงานไม่ควรหรูหราหรือมีสีฉูดฉาดบาดตาจนแลดูไม่เหมาะสมที่จะใช้เป็นชุดทำงาน
๒. การแต่งกายแบบราชการ การแต่งกายแบบนี้มักมีเครื่องแบบกำหนดขึ้นเป็นพิเศษให้ แต่งเหมือนๆ กัน เฉพาะหมู่คณะหนึ่งๆ ได้แก่ เครื่องแบบทหาร ตำรวจ ข้าราชการพลเรือน เครื่องแต่งกายของข้าราชการนี้เป็นไปตามแบบที่กำหนดให้ รวมทั้งเครื่องหมายชั้น ยศ ตำแหน่ง สังกัด ตลอดจนเครื่องหมายอื่นๆ ด้วย

นอกจากนี้ยังมีบางกลุ่มบางพวกแต่งกายเหมือนๆ กันในเฉพาะพวกของตน นอกเหนือไปจากที่กล่าวข้างต้น ได้แก่ บุรุษไปรษณีย์ นางพยาบาล หน่วยงานของเอกชน รัฐวิสาหกิจ บริษัท ห้างร้าน หรือแม้แต่ภัตตาคาร เป็นต้น
๓. การแต่งกายในงานพิธีต่างๆ เช่น งานมงคลสมรส งานทำบุญ งานศพ งานเลี้ยงพบปะสังสรรค์ ฯลฯ การแต่งกายแบบนี้ต้องระมัดระวังให้ถูกต้องตามประเพณีนิยมและสุภาพเรียบร้อย ควรพิจารณาดูโอกาสและสถานที่เช่น งานศพ สุภาพสตรีควรนุ่งดำ รองเท้า กระเป๋าสีดำ เครื่องอาภรณ์ ไม่ควรประดับมากเช่นงานอื่นๆ โดยเฉพาะที่มีสีสันควรงด แบบเสื้อควรเรียบง่าย คอไม่ลึก หรือใช้ผ้าบางจนเกินไป ถ้าเป็นผ้าเนื้อบาง เสื้อข้างในควรใช้สีดำ ไม่ควรใช้สีอื่นจะทำให้ไม่สวยงาม และไม่สุภาพ งานศพเป็นงานเศร้าโศกไม่ควรแสดงอาการรื่นเริงในงานนี้
ส่วนงานมงคลอื่นๆ ควรให้เกียรติเจ้าภาพ พิจารณาจากโอกาสและสถานที่ว่าเป็นที่บ้าน หรือที่อื่นๆ งานชนิดเป็นแบบกันเองหรือพิธีการจะทำให้แต่งตัวไต้ถูกต้องตามกาลเทศะไม่เด่นหรือด้อยจนเกินงามไป
๔. การแต่งกายเล่นกีฬา การกีฬานับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสมาคม นอกจากจะเป็นการบำรุงร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง มีพลานามัยดีแล้ว การกีฬายังเป็นการเชื่อมความสามัคคีและ สอนให้มีนํ้าใจนักกีฬา รู้จักแพ้ รู้จักชนะ และรู้จักให้อภัย

เครื่องแต่งกายเล่นกีฬานั้นมีระเบียบอยู่ในระหว่างนักกีฬาด้วยกัน กีฬาบางชนิดจะมีเครื่องแต่งกายกำหนดเฉพาะสำหรับประเภทนั้นๆ ด้วย เช่น
ว่ายน้ำ จะมีชุดอาบนํ้าโดยเฉพาะทั้งหญิงและชาย ผู้ชายเป็นกางเกงยืด ขาสั้น ส่วนผู้หญิง ชุดอาบนํ้าติดกัน และแบบคนละท่อน

กอล์ฟ นิยมนุ่งกางเกงขายาวหรือขาสั้นแค่หัวเข่า ที่นิยมจะเป็นลายตาสี่เหลี่ยม ที่เรียกว่าตา สก๊อต หรือตาหมากรุก เสื้อเชิ้ตคอปก หรือเสื้อยืดมีคอปก ถุงเท้ายาว รองเท้ายางพื้นหนา ใส่หมวกแก๊ป

เทนนิส มักนิยมใช้กางเกงขาสั้น เสื้อเชิ้ตแขนสั้นหรือเสื้อยืดมีคอปก ผู้หญิงอาจนุ่งกระโปรงสั้น (แต่มีกางเกงขาสั้นอยู่ข้างใน) สีของเครื่องแต่งกายนิยมใช้สีขาวล้วน ไม่นิยมใช้สีอื่น

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะแต่งกายในลักษณะใด โอกาสใด ถ้าแต่งได้ถูกต้องตามกาลเทศะแล้วจัดได้ว่าเป็นผู้รู้จักแต่งกาย ดังนั้นการแต่งกายที่เหมาะสมถูกต้อง หรือแต่งกายดีไม่ได้หมายความว่า ต้องสวมใส่เสื้อผ้าอาภรณ์ราคาแพงๆ แต่ขึ้นอยู่กับการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะ การแต่งกายนับเป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งที่แสดงออกถึงวัฒนธรรมของแต่ละบุคคล อาจบ่งบอกถึงนิสัยใจคอ ผู้แต่งกายไม่สุภาพจัดว่าเป็นผู้ไร้จรรยามารยาท ฉะนั้นการแต่งกายจึงควรคำนึงถึงหลักดังต่อไปนี้
๑. ความสะอาด เป็นสิ่งสำคัญที่สุดของการแต่งกายซึ่งหมายรวมถึงเครื่องแต่งกายตลอดจนร่างกายของผู้แต่งด้วย ความสะอาดเป็นรากฐานของความงาม ฉะนั้นถ้าผู้แต่งกายสะอาดทั้งร่างกาย และเสื้อผ้าอาภรณ์ที่สวมใส่ก็เท่ากับว่า ผู้นั้นงาม ดังนั้นถ้าผู้ใดผมเฝ้ารุงรังไม่หวีให้เรียบร้อย เล็บมือ เล็บเท้าสกปรก ตามตัวมีคราบเหงื่อไคล ไม่เพียงกรณีใดกรณีหนึ่งสามารถทำให้ผู้พบเห็นไม่เจริญตา เจริญใจไปด้วย แม้ว่าจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าราคาแพงหรือแบบสวยงามทันสมัยกลับส่อให้เห็นถึงความมักง่าย ไม่เอาใจใส่แม้กระทั่งตนเอง ตลอดจนไม่มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ฉะนั้นจึงควรรักษาความสะอาด เสื้อผ้าอาภรณ์ ถุงน่องรองเท้า ตลอดจนตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ จึงจะได้ชื่อว่าแต่งตัวงาม
๒. ความเรียบร้อย เป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะส่งเสริมในเรื่องของการแต่งกายนอกเหนือไปจากเรื่องของความสะอาด กล่าวคือ ไม่ควรปล่อยให้เสื้อผ้าตะเข็บปริ ชายรุ่ย กระดุมหลุด รองเท้าชำรุด เป็นต้น

การใส่เสื้อผ้าบางๆ ควรมีเสื้อในสีรับกันกับเสื้อนอก ไม่ควรใช้สีตัดกันจะทำให้ดูไม่สุภาพ ข้อควรระวังคือ ไม่ควรให้กระโปรงชั้นในยาวออกมานอกกระโปรงชั้นนอก

รองเท้า กระเป๋าถือ ควรได้รับการเอาใจใส่เช่นเดียวกัน และควรรับกับเสื้อผ้าและอยู่ในสภาพดีไม่ชำรุดทรุดโทรม
๓. ความเหมาะสม ความเหมาะสมของการแต่งกายนี้หมายความว่า ควรแต่งให้เหมาะแก่เวลา สถานที่ โอกาส ตลอดจนพิจารณาตัวผู้แต่งเองว่ามีรูปร่างเช่นใด อยู่ในวัยใด เลือกแบบสี ลวดลาย และชนิดของผ้าให้เหมาะสมกับตัวเอง และสิ่งแวดล้อม

การเลือกแบบการแต่งกายควรแต่งให้กะทัดรัดสมกับรูปร่างและเหมาะกับวัยไม่จำเป็นต้องแต่งกายตามนางแบบหรือดาราภาพยนตร์ หรือเพื่อนฝูง บุคคลอื่นที่เห็นว่าแต่งตัวสวยงามถูกใจ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับรูปร่างมากกว่า การตัดเสื้อผ้าแบบเรียบๆ จะใช้ได้นาน ไม่ล้าสมัยง่าย แบบที่โลดโผนมากเกินไปอาจนิยมในสมัยหนึ่ง ต่อมาเมื่อหมดความนิยมจะทำให้ดูไม่เหมาะสมในอีกสมัยหนึ่ง

สีของเครื่องแต่งกาย ไม่ควรให้ฉูดฉาดบาดตาเกินไป ควรเหมาะกับสีของผิว คนผิวคลํ้าไม่ควรใส่สีตัดกับผิวมากนัก คนผิวขาวมักได้เปรียบในเรื่องนี้เพราะสามารถใส่ได้ทุกสี อย่างไรก็ตาม การเลือกสีควรให้เหมาะสมกับวัย เช่น วัยกลางคนไม่ควรสวมสีฉูดฉาดหรือสดใสเกินไป

ชนิดของผ้า ควรให้เหมาะกับสภาพอากาศ และควรเลือกผ้าที่ทนทานสีไม่ตก การแต่งกายนอกจากจะคำนึงถึงหลักดังกล่าวข้างต้นแล้ว ยังควรคำนึงถึงการประหยัดด้วย เช่น เสื้อชุดเดียวอาจดัดแปลงเป็นหลายอย่างได้ด้วยการเปลี่ยนเครื่องประดับ ใช้ผ้าผูกคอ ติดดอกไม้ เป็นต้น

เสื้อผ้าควรเรียบง่าย ไม่ล้าสมัยง่าย สามารถตกแต่งดัดแปลงให้ดูแปลกตา ซึ่งจะได้เปรียบกว่าเสื้อผ้าที่ทันสมัยและมีหลายชุดแต่สวมไม่เหมาะสมเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยปัจจุบัน ผ้ามีราคาแพง ค่าตัดเย็บสูง เป็นภาวะบีบรัดทางเศรษฐกิจ การประหยัดจึงเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติอย่างยิ่ง

ที่มา:กรมศิลปากร