มหาตมะคานธีกับอานุภาพของรัสกิน (Ruskin)

Socail Like & Share

คานธี
กิจการต่างๆ ที่ท่านคานธีเริ่มกระทำขึ้นดังนี้ได้ดำเนินไปด้วยดี แต่การที่จะทำการติดต่อระหว่างชาวอินเดียกับชาวยุโรปในภาคอาฟริกาใต้นั้น ท่านได้เห็นเป็นความจำเป็นที่ชาวอินเดียควรจะมีหนังสือพิมพ์สักฉบับหนึ่งเป็นปากเสียงของตน อาศัยเหตุนี้ในปลาย ค.ศ.๑๙๐๓ ท่านจึงได้ออกหนังสือพิมพ์ประจำวัน ชื่อว่า Indian Opinion ฉบับหนึ่ง มีข่าวสารและความเห็นลงทั้ง ๔ ภาษา คือ อังกฤษ คุชราต ฮินดี และ ตามิล แต่ในที่สุดเพราะเหตุการณ์ต่างๆ บังคับ จึงได้ตัดส่วนฮินดีและตามิลเสีย คงไว้แต่ภาษาอังกฤษกับคุชราต ๒ ภาค

มาตอนปลาย ค.ศ.๑๙๐๓ ปรากฎว่า รายจ่ายของหนังสือพิมพ์ มีจำนวนเงินสูงกว่ารายได้ ฉะนั้นท่านจึงเดินทางจากทรานสวาลไปสู่เดอร์บัน เมื่องที่ตั้งสำนักงานหนังสือพิมพ์เพื่อจะสืบสวนดูว่า เหตุไฉนการเงินของหนังสือพิมพ์จึงไม่เจริญเท่าที่ควรเป็น

ในการเดินทางคราวนี้ ท่านได้นำหนังสือของรัสกินเล่มหนึ่งชื่อว่า Unto This Last ติดตัวไปด้วย เพื่อแก้ความเบื่อหน่ายและเหงาหงอยในการเดินทาง หนังสือเล่มนี้ได้แนะนำความคิดให้แก่ท่านหลายประการ กล่าวคือ สถานะและเหตุการณ์แวดล้อมของเมือง บังคับให้เราต้องใช้จ่ายมากกว่าความจำเป็น ซึ่งเสียไปเปล่าๆ โดยมิได้บังเกิดผลแต่ประการใด มิหนำซ้ำยังเป็นเหตุกีดขวางความเจริญทางใจ ไม่ให้ความคิดเห็นของตนปรากฎออกมาได้เอง เปลี่ยนชีวิตมนุษย์ให้ดำเนินอยู่ตามกฎตายตัวดังเครื่องจักร บังคับให้บุคคลถือพรรคถือพวก เกิดแตกร้าวขึ้นระหว่างกันเอง

อาศัยแนวความคิดของรัสกินเป็นแว่น ท่านได้เล็งเห็นฐานวิวาทระหว่างชาวอินเดียกับชาววอังกฤษ ว่าเนื่องมาแต่สถานการณ์บังคับ มนุษย์เป็นผู้มีใจรักโดยนิสัยความเกลียดชังต่อกันและกันที่แซกแซงเข้ามาอยู่ในใจนั้น มิใช่เป็นนิสัยที่แท้ของมนุษย์ เหตุการณ์แห่งอารยะธรรมที่จงใจบุคคลให้อพยพเข้ามาอยู่ในเมือง เหตุการณ์ดังว่านี้แหละได้เปลี่ยนแปลงมนุษย์ผู้มีใจรักใคร่กัน ให้เป็นผู้มีใจเกลียดชังต่อกันและกัน

ฉะนั้นถ้าเราต้องการตัดความเกลียดชัง เราจำต้องเลิกชีวิตในเมือง หรือชีวิตตามหลักการของเมือง แล้วสำนักอาศัยอยู่ในชนบท คือเป็นชนบทที่มีส่วนความดีของเมืองแต่ไม่มีส่วนร้าย มีความสะดวกในทางความเจริญดังมีอยู่ในเมือง แต่ไม่มีเหตุการณ์ใดๆ ที่จะก่อให้ความปองร้ายเกิดขึ้นระหว่างหมู่ชน

ครั้นคิดดังนี้แล้ว ท่านคานธีก็ได้ล่งมือดำเนินตามรูปความคิดเช่นว่านี้ให้ปรากฎเป็นประจักษ์ผล ดังมีชัดอยู่ในภูมิลำเนาพีนิกส์

พีนิกส์เป็นนิคมใหญ่แห่งหนึ่ง ห่างไปจากเมืองเดอร์บันประมาณ ๑๒ ไมล์ เป็นที่ทำไร่อ้อย ณ ที่นั้น ท่านได้ซื้อที่ดินประมาณ ๒๕๐ ไร่ (๑๐๐ เอเกอร) ห่างไปจากสถานีรถไฟประมาณ ๒ ไมล์ ท่านได้ย้ายที่ทำการหนังสือพิมพ์พร้อมกับโรงพิมพ์ไปตั้งที่นิคมนี้ แล้วได้เชื้อเชิญทั้งชาวอินเดียและยุโรปให้มาตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่นั้น โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ
๑. ต้องดูแลจัดการควบคุมกิจการของหนังสือพิมพ์โรงพิมพ์และที่ดิน
๒. ต้องปฏิญาณตนว่า จะไม่ดำเนินชีวิตอย่างฟุ่มเฟือย รับเงินเดือนๆ ละไม่มากกว่า ๓ ปอนด์
๓. กำไรจากหนังสือพิมพ์ ฯลฯ หากมีบ้าง จะแบ่งรับเท่าๆ กัน
๔. ให้ที่ดินแก่ท่านคานธีเป็นส่วนตัว ๕ ไร่ ณ ที่ท่านจะทำการเพาะปลูก และอุทิศชีวิตเพื่อสาธารณะประโยชน์

มีทั้งชาวอินเดียและอังกฤษ พากันไปสำนักอาศัยนิคมพีนิกส์ และหนังสือพิมพ์ Indian Opinion  ก็ได้เป็นปากเสียงของคณะนี้ ในการต่อมาเงื่อนไขดังกล่าวแล้วก็มีการดัดแปลงไปบ้าง เพื่อให้สมกาลสมัย ส่วนหลักการยังคงอยู่ดังเดิม ในที่สุดคณะนิคมพีนิกส์ ค่อยๆ ขยายวงการของตน รับหน้าที่ส่งเสริมการวิทยาทานสำหรับเด็กคนจนทั่วอาฟริกาใต้ มีจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งแสนห้าหมื่นคน

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี