สมถกรรมฐาน

Socail Like & Share

การปฏิบัติกรรมฐานเพื่อจะให้สำเร็จฌานที่ ๑ เป็นต้นนั้น จะต้องกำหนดนิมิต ๓ อย่างเป็นอารมณ์ คือ บริกรรมนิมิต การทำกรรมฐานโดยกำหนดเอานิมิต คือเครื่องหมายหรือภาพจุดใดจุดหนึ่งเป็นอารมณ์ อุคคหนิมิต การทำสมถกรรมฐานกรรมฐานกำหนดนิมิตติดตาเป็นอารมณ์ ปฏิภาคนิมิต การทำกรรมฐานกำหนด นิมิตเทียบเคียงเป็นอารมณ์ และเจริญภาวนา ๓ อย่าง คือ บริกรรมภาวนา การภาวนาชั้นบริกรรม อุปจารภาวนา ภาวนาชั้นได้สมาธิจิตเกือบแน่วแน่ อัปปนาภาวนา ภาวนาชั้นได้สมาธิจิตแน่วแน่

ดังนั้นพระโยคาวจร (ผู้บำเพ็ญเพียร) เจริญภาวนาทำจิตให้เป็นสมาธิ จนถึงชั้นแน่วแน่ โดยการกำหนดนิมิตเป็นอารมณ์กรรมฐาน จนนิมิตนั้นติดตา นิมิตกรรมฐานปรากฏชัดเจนทุกส่วน เจริญภาวนาไปจนใกล้เกิดฌาน กล่าวคือ ได้บรรลุอุปจารภาวนาอันเป็นกามาพจรสมาธิ กำจัดนิวรณ์ทั้ง ๕ คือ ความพอใจ ในกามความพยาบาท ความง่วงเหงาหดหู่ท้อถอย ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ และความสงสัย โดยใช้องค์ฌาน ๕ กำจัด องค์ฌาน ๕ นั้น คือ วิตก ยกจิตขึ้นสู่นิมิตกรรมฐาน เพื่อกำจัดความหดหู่ท้อถอย วิจารณ์ พิจารณานิมิตกรรมฐาน เพื่อกำจัดความ สงสัย ปิติ อิ่มเอิบใจในนิมิตกรรมฐาน เพื่อกำจัดความพยาบาท สุข ความสบายใจ ในนิมิต เพื่อกำจัดความฟุ้งซ่าน เอกัคคตา จิตมีอารมณ์อย่างเดียวแน่วแน่ กำจัดความพอใจในกาม

พระโยคาวจรเจริญภาวนา ตั้งแต่ขั้นบริกรรมกำหนดนิมิตเป็นอารมณ์ จนถึงขั้นอัปปนา มิสมาธิจิตแน่วแน่ อันเป็นขั้นรูปาวจรสมาธิ ได้แก่ สำเร็จฌานมีฌานที่หนึ่ง เป็นต้น

เมื่อพระยาโยคาวจรจะทำฌานให้สูงขึ้นไปกว่าฌานที่หนึ่งนั้น จะต้องฝึกจิตให้คล่องแคล่วจนชำนาญ ซึ่งเรียกชื่อว่า วสี มี ๕ ประการ คือ อาวัชชนวสี ชำนาญในการกำหนดองค์ฌาน สมาปัชชนวสี ชำนาญในการเข้าฌาน วุฏฐานวสี ชำนาญในการออกจากฌาน อธิฏฐานวสี ชำนาญในการอธิษฐานการเข้าฌาน และปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณาฌาน

เมื่อได้ปฏิบัติสมถกรรมฐานตามหลักที่ถูกต้องแล้วจนได้บรรลุถึงฌานที่ หนึ่งแล้ว ฝึกวสีจนชำนาญในฌานที่หนึ่ง ถือฌานที่หนึ่งเป็นหลัก พยายามกระทำเพื่อบรรลุฌานข้างหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป ซึ่งเป็นฌานที่ประณีตสุขุมยิ่งขึ้นโดยลำดับ มีฌานที่สองเป็นต้น และในการเจริญสมถกรรมฐานนี้ มีอารมณ์ที่จะถึงกำหนดดังต่อไปนี้

รูปกรรมฐาน
กสิณ คืออารมณ์สำหรับเพ่ง มี ๑๐ อย่างคือ ปฐวีกสิณ อารมณ์คือดิน อาโปกสิณ อารมณ์คือน้ำ เตโชกสิณ อารมณ์คือไฟ วาโยกสิน อารมณ์คือลม นิลกสิณ อารมณ์คือสีเขียว ปีตกสิณ อารมณ์คือสีเหลือง โลหิตกสิณ อารมณ์คือสีแดง โอทาตกสิณ อารมณ์คือสีขาว อากาสกสิณ อารมณ์คืออากาศ อาโลกกสิณ อารมณ์คือแสงสว่าง

อสุภะ ๑๐ ประการคือ อุทธุมาตกอสุภะ ศพขึ้นพอง วีนิลกอสุภะ ศพที่ ขึ้นเขียว วิปุพพกอสุภะ ศพที่มีนํ้าเหลืองไหลออก วิจฉิททกอสุภะ ศพที่ขาดเป็นท่อนๆ วิกขายิตกอสุภะ ศพที่สุนัขป่ากัดกิน วิกขิตตกอสุภะ ศพที่เขาทิ้งไว้ หตวิกขิตตกอสุภะ ศพที่ถูกฟันแล้วทิ้งไว้ โลหิตกอสุภะ ศพที่มีเลือดไหลออก ปุฬุวกอสุภะ ศพที่มีหมู่หนอน อัฏฐิกอสุภะ ศพที่มีแต่กระดูก

อนุสสติ ๑๐ คือ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เทวดานุสสติ อุปสมานุสสติ มรณานุสสติ กายคตาสติ อาณาปานสติ

อัปปมัญญา ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

อาหาเรปฏิกูลสัญญา กำหนดอาหารที่กลืนเข้าไปให้เห็นว่าเป็นน่าเกลียด ๑ จตุธาตุววัตถาน กำหนดพิจารณาสังขารที่ประชุมกันเป็นร่างกายให้เห็นเป็นเพียงธาตุสี่ ๑ และอรูปกรรมฐาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ เพ่งอากาศเป็นอารมณ์ วิญญานัญจยตนะ เพ่งวิญญาณเป็นอารมณ์ อากิญจัญญายตนะ เพ่งความไม่มีเป็น อารมณ์ เนวสัญญานาสัญญายตนะ เพ่งสัญญาที่ละเอียดเป็นอารมณ์

ในกรรมฐานทั้ง ๔๐ นี้ ปฏิภาคนิมิตย่อมได้เฉพาะในกรรมฐาน ๒๒ คือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ กายคตาสติ ๑ อานาปานสติ ๑ ส่วนบริกรรมนิมิต และ อุคคหนิมิต ทั้งสองอย่างข้างต้นนั้น ย่อมได้ในกรรมฐานทั้ง ๔๐ คือได้ในกรรมฐาน ๒๒ และในกรรมฐานที่เหลืออีก ๑๘

กรรมฐานที่เหลือ ๑๘ อย่างนั้น คือ อนุสสติ ๘ ซึ่งได้แก่ พุทธานุสสติ ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ธัมมานุสสติ ระลึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ สังฆานุสสติ ระลึกถึงพระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สีลานุสสติ ระลึกถึงข้อปฏิบัติที่รักษาเป็นประจำ จาคานุสสติ ระลึกการบริจาคทานต่างๆ เทวดานุสสติ ระลึกถึงเทพยดาผู้รักษาภูมิสถานต่างๆ อุปสมานุสสติ ระลึกถึงความเข้าไปสงบแห่งจิตใจ และมรณานุสสติ ระลึกถึงความตายที่จะมาถึงอย่างแน่นอน ต้องรีบเร่งประกอบคุณงามความดีเข้าไว้ อัปปมัญญา ๔ คือ เมตตา ความรักใคร่ กรุณา ความสงสาร มุทิตา ความพลอยดีใจ และ อุเบกขา ความวางเฉย อาหาเรปฏิกูล สัญญา ๑ จตุธาตุววัตถาน ๑ และ อรูปกรรมฐาน ๔ คือ อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ และ เนวสัญญานาสัญญายตนะ

พระโยคาวจรเจริญสมถกรรมฐานนั้น ต้องกำหนดบัญญัติเป็นอารมณ์
ซึ่งมี ๒ อย่าง คือ ปัญญาปิยัตตาบัญญัติ (อัตถบัญญัติ) บัญญัติตามธรรมชาติ หรือตามที่ชาวโลกนิยมเรียกกัน เช่น ภูเขา แม่น้ำ รถ คน เป็นต้น ๑ และปัญญาปนโตบัญญัติ (สัททบัญญัติ) บัญญัติตามภาวะที่ปรากฏหรือตามเสียงที่ได้ยินมี ๖ อย่างคือ

๑.  วิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสิ่งที่มีสภาวะปรากฏอยู่ เช่น รูป เวทนา เป็นต้น
๒. อวิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสิ่งที่ไม่มีสภาวะปรากฏอยู่ เช่น ภูเขา ต้นไม้ เป็นต้น
๓. วิชชามาเนนอวิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสภาวะที่ไม่มีปรากฏอยู่กับสิ่งที่มีสภาวะปรากฏอยู่ เช่น เสียงคน เป็นต้น
๔. อวิชชามาเนนวิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสิ่งที่มีปรากฏอยู่ กับสิ่งที่ไม่มีสภาวะปรากฏอยู่ เช่น คนมีศรัทธา คนมีวิญญาณ เป็นต้น
๕. วิชชมาเนน่วิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสิ่งที่มีสภาวะปรากฏอยู่ทั้งสองอย่าง เช่น จักษุวิญญาณ เป็นต้น จึงรวมเป็นบัญญัติ ๗
๖. อวิชชมาเนนอวิชชมานบัญญัติ บัญญัติอาศัยสิ่งที่ไม่มีสภาวะปรากฏ อยู่ทั้งสองอย่างรวมกัน เช่น โอรส พระราชา เป็นต้น

อรูปกรรมฐาน
พระโยคาวจรที่จะเจริญภาวนาเพื่อให้ได้อรูปฌาน ต้องเพ่งกสิณ ๙ อันใดอันหนึ่งก่อน แล้วจึงเพ่งอากาศ ความว่างโดยบริกรรมว่า อนนฺโต อากาโส ๆ- อากาศไม่มีที่สุดๆ จนสำเร็จอรูปฌานที่ ๑ คือ อากาสานัญจายตนะ เพ่งอากาศ – ความว่างเป็นอารมณ์เดียวนิ่งแน่วแน่เฉยอยู่

เมื่อพระโยคาวจรจะเจริญภาวนาอรูปฌานที่ ๒ ต่อไปก็เพ่งเอาวิญญาณ คือ อากาสานัญจายตนะ จิตนั้นเป็นอารมณ์แล้วบริกรรมว่า วิญญาณํ อนนฺตํๆ- วิญญาณไม่มีที่สุดๆ จนกระทั่งสำเร็จอรูปฌานที่ ๒ คือ วิญญาณัญจายตนะ เพ่งวิญญาณเป็นอารมณ์อย่างเดียวนิ่งแน่วแน่เฉยอยู่

เมื่อพระโยคาวจรจะเจริญภาวนาอรูปฌานที่ ๓ ต่อไปก็เพ่งเอานัตถิภาวะ- ความไม่มีอะไรๆ โดยบริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิๆ นิดหนึ่งก็ไม่มี น้อยหนึ่งก็ไม่มี จนกระทั่งสำเร็จอรูปฌานที่ ๓ คือ อากิญจัญญายตนะ เพ่งความไม่มีอะไรเป็นอารมณ์อย่างเดียวนิ่งแน่วแน่เฉยอยู่

เมื่อพระโยคาวจรจะเจริญภาวนาเพื่อให้ได้อรูปฌานที่ ๔ ซึ่งเป็นอรูปฌานชั้นสูงสุดนั้น ก็เพ่งสัญญาของอากิญจัญญายตนะที่ละเอียดประณีต จะว่ามีก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีก็ไม่เชิงมาเป็นอารมณ์แล้วบริกรรมว่า เจตํ สนฺตํ เจตํ ปณีตํๆ นี้สงบ นี้ประณีต จนกระทั่งสำเร็จตบะเป็นอรูปฌานที่ ๔ คือเนวสัญญายตนะ เพ่งสัญญาอันสงบละเอียดประณีตอย่างเดียวนิ่งเฉยอยู่

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน