วิปัสสนากรรมฐาน

Socail Like & Share

พระโยคาวจรที่ได้ฌานถึงปัญจมฌานแล้วจะเจริญวิปัสสนาให้เกิดญาณขึ้นนั้น ต้องเจริญสติปัฏฐาน ตั้งสติกำหนดนามรูป (ปรมัตถ์) เช่น ยกเอาองค์ฌานในฌานที่ วิปัสสนากรรมฐาน๕ มาเป็นอารมณ์กรรมฐาน จึงเกิดญานขึ้นตามลำดับ ดังนี้
๑. สัมมสนญาณ – ญาณพิจารณาเห็นรูปนาม ขันธ์ ๕ เป็นอนิจจัง- สภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ เป็นอนัตตา – บังคับบัญชาไม่ได้
๒. อุทยัพพยญาณ – ญาณรู้เห็นรูปนามเกิดขึ้นแล้วเสื่อมไป
๓. ภังคญาณ – ญาณรู้เห็นรูปนามดับไป
๔. ภยญาณ – ญาณรู้เห็นรูปนามเป็นภัย
๕. อาทีนวญาณ – ญาณรู้เห็นรูปนามว่ามีโทษ
๖. นิพพิทาญาณ – ญาณรู้เบื่อหน่ายในรูปนาม
๗. บุญจิตุกัมยตาญาณ – ญาณอยากรู้อยากจะออกหนีจากรูปนาม
๘. ปฏิสังขาญาณ – พิจารณาถึงอุบายที่จะพ้นจากรูปนาม
๙. สังขารุเปกขาญาณ – ญาณรู้วางเฉยในรูปนาม
๑๐. อนุโลมญาณ – ญาณรู้เห็นรูปนามสอดคล้องตามญาณเบื้องต้น

ทั้ง ๑๐ ญาณนี้ เป็นวิปัสสนาญาณ

เมื่อพระโยคาวจรได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนเกิดวิปัสนาญาณบรรลุโคตรภุญาณแล้ว ต่อจากนั้นก็ถึงวิโมกข์-ความหลุดพ้นจากโลกีย์ข้ามขึ้นสู่ขั้น โลกุตตระ อันได้แก่อริยมรรคญาณ และวิโมกข์ทั้ง ๓ นี้ จัดเป็นสมุจเฉทวิมุติ คือตัดกิเลสได้เด็ดขาด ที่ได้ชื่อเป็น ๓ อย่างนั้น ก็ด้วยอาศัยวิโมกขมุข คือปากทางเข้าสู่วิโมกข์ หรือประตูเข้าสู่อริยมรรคญาณ ๓ ประการ อันได้แก่

๑. อนัตตานุปัสสนา พิจารณาเห็นนามรูปเป็นอนันตา ชัดกว่าลักษณะ อื่นๆ ความหลุดพ้นโดยวิธีนี้เรียกว่า สุญญตวิโมกข์
๒. อนิจจานุปัสสนา พิจารณาเห็นนามรูปเป็นอนิจจัง ชัดกว่าลักษณะ อื่นๆ ความหลุดพ้นโดยวิธีนี้เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์
๓. ทุกขานุปัสสนา พิจารณาเห็นนามรูปเป็นทุกขัง ชัดกว่าลักษณะอื่นๆ ความหลุดพ้นโดยวิธีนี้เรียกว่า อัปปณิหิตวิโมกข์

วิสุทธิ ๗ กับญาณ ๑๖
ปาติโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล และปัจจยสันนิสสิตศีล ปาริสุทธิศีล ๔ นี้ เป็นวิสุทธิที่ ๑ คือสีลวิสุทธิ, อุปจารสมาธิ และ อัปปนาสมาธิ สมาธิทั้ง ๒ อย่างนี้เป็นวิสุทธิที่ ๒ คือ จิตตวิสุทธิ, การกำหนดพิจารณาเห็นสังขารเป็นเพียงนามรูป พร้อมทั้งกำหนดรู้ลักษณะ รส ปัจจุปัฏฐาน และปทัฏฐานของนามรูปนี้เป็นวิสุทธิที่ ๓ คือ ทิฏฐิวิสุทธิ และเป็นนามรูปปริจเฉทญาณ, การกำหนดพิจารณาเห็นปัจจัยแห่งนามรูปนี้เป็นวิสุทธิที่ ๔ คือ กังขาวิตรณวิสุทธิและเป็นปัจจัยปริคคหญาณ, เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมกำหนดพิจารณาเห็นสังขารธรรมคือนามรูปอันเป็นไปในภูมิที่ ๓ พร้อมทั้งเหตุปัจจัยโดยพิจารณาญาณไตรลักษณ์ คือความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา กับทั้งพิจารณาญาณความ เกิดขึ้นและความเสื่อมไปแห่งนามรูป และพิจารณาเห็นลักษณะแห่งมรรค และสิ่งมิใช่มรรค ด้วยกำหนดเห็นวิปัสสนูปกิเลส ๑๐ มีโอภาส (แสงสว่าง) เป็นต้นว่า เป็นศัตรูหรือเป็นอุปสรรคแห่งมรรค นี้เป็นวิสุทธิที่ ๕ คือ มัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ และเป็นสัมมสนญาณ (และตรุณอุทัยพพยญาณ), เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมสลัด ศัตรูคือนิวรณ์ ๕ ออกจากจิตใจได้แล้ว เจริญวิปัสสนาต่อไปตามลำดับวิปัสสนาญาณ ทั้ง ๙ คือ (พลว) อุทยัพพยญาณ ภังคญาณ ภรญาณ อาทีนวญาณ นิพพิพาญาณ มุญจิตุกัมยตาญาณ ปฏิสังขาญาณ สังขารุเปกขาญาณ และอนุโลมญาณ นี้เป็น (วิปัสสนาญาณ ๙) และเป็นวิสุทธิที่ ๖ คือ ปฏิปทาญาณทัสสนวิสุทธิ เมื่อวิปัสสนาญาณแก่กล้า โลกุตรอัปปนาจิต (มัคคจิต) จักเกิดขึ้นนั้น กาลจักเป็นดังนี้ สังขารุเปกขาญาณ จะพิจารณาเห็นนามรูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดแจ้ง แล้วก็จะหยั่งลงสู่ภวังค์ ต่อแต่นั้น มโนทวาราวัชชนะก็จะเกิดขึ้น กำหนดนามรูปเป็นอารมณ์ โดยเห็นเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต่อจากนั้นอนุโลมญาณก็จะเกิดขึ้น ๓ ขณะ คือขณะที่ ๑ เรียกบริกรรม ขณะที่ ๒ เรียก อุปจาร และขณะที่ ๓ เรียก อนุโลม ต่อแต่นั้น โคตรภูญาณก็เกิดขึ้น ๑ ขณะ หน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ สามารถครอบงำโดยปุถุชน ก้าวข้ามโคตรปุถุชนไป ย่างก้าวขึ้นสู่โคตรแห่งพระอริยะ ต่อแต่นั้น โลกุตรมรรค คือมรรคญาณ ก็จะเกิดขึ้น กำหนดรู้ทุกขสัจจะ ละสมุทัยสัจจะ และทำให้แจ้งซึ่งนิโรธสัจจะ คือเห็นพระนิพพานได้แจ่มแจ้ง ถัดจากนั้น ผลจิตหรือผลญาณก็จะเกิดขึ้น ๒-๓ ขณะ แล้วหยั่งลงสู่ภวังค์ ต่อแต่นั้น ก็จะเกิดปัจจเวกขณญาณ พิจารณาทบทวนดูมรรค ผล นิพพานที่ได้บรรลุแล้ว กับทั้งพิจารณาทบทวนดูกิเลสที่ละได้แล้วและที่ยังเหลืออยู่ ญาณทั้ง ๓ ข้อสุดท้าย อันได้แก่ มรรคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณนี้ เป็นวิสุทธิที่ ๗ คือญาณทัสสนวิสุทธิ

อนึ่ง ถึงทราบว่าวุฏฐานคามินีวิปัสสนา คือวิปัสสนาที่เป็นตัวพาไปสู่ อริยมรรคนั้น ได้แก่วิปัสสนาญาณ ๓ ประการ คือ สังขารุเปกขาญาณอย่างเก่าที่สุด ๑ อนุโลมญาณ ๑ โคตรภูญาณ ๑ ผู้จะได้บรรลุอริยมรรคญาณ จะต้องผ่านญาณทั้ง ๓ นี้ กล่าวคือ

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีปัญญินทรีย์แก่กล้า ได้บรรลุวิปัสสนาญาณแล้ว เมื่อวุฏฐานคามินีวิปัสสนากำลังเป็นไปก้าวหน้าอยู่ ย่อมจะเห็นนามรูปเป็นอนัตตาชัดแจ้ง แล้วจะก้าวเข้าสู่มรรคญาณทันที นี้ชื่อว่า สุญญตวิโมกข์

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีสัทธินทรีย์แก่กล้า ได้บรรลุวิปัสสนาญาณแล้ว เมื่อวุฏฐานคามินีวิปัสสนากำลังเป็นไปก้าวหน้าอยู่ ย่อมจะเห็นนามรูป เป็นอนิจจังชัดแจ้ง แล้วจะก้าวเข้าสู่มรรคญาณทันที นี้ชื่อว่าอนิมิตตวิโมกข์

ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่มีสมาธินทรีย์แก่กล้า ได้บรรลุวิปัสสนา ญาณแล้ว เมื่อวุฏฐานคามินีวิปัสสนากำลังเป็นไปก้าวหน้าอยู่ ย่อมจะเห็นนามรูป เป็นทุกขังชัดแจ้ง แล้วจะก้าวเข้าสู่มรรคญาณทันที นี้ชื่อว่า อัปปณิหิตวิโมกข์

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ อริยมรรค จึงมีชื่อได้ ๓ อย่าง คือ ชื่อสุญญตวิโมกข์ เป็นต้น ด้วยการพิจารณาเห็นอารมณ์คือนามรูปเป็นอนัตตาเป็นต้น จึงสามารถบรรลุได้ แม้อริยผลก็มีชื่อได้ ๓ อย่าง คือชื่อว่า สุญญตวิโมกข์เป็นต้น เช่นเดียวกัน ด้วยเป็นสิ่งที่เกิดจากอริยมรรคนั้น แม้ผลสมาบัติก็เรียกชื่อได้ ๓ อย่าง มีชื่อว่า สุญญตวิโมกข์เป็นต้น

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน