บทเห่กล่อมของสุนทรภู่

Socail Like & Share

จับระบำมีความยาว ๓๗ บท มีเนื้อหากล่าวถึงเทวดานางฟ้าที่ออกมาจับระบำอย่างสนุกสนานในฤดูฝน นางเมขลาก็เช่นเดียวกัน ได้ชูแก้วร่ายรำไปมา รามสูรอยากได้แก้ว ก็แกว่งขวานไล่จับนางเมขลา ทำให้เหล่าเทวดาและนางฟ้าพากันตกใจหนีไป เหลือแต่นางเมขลาเท่านั้น

บทเห่กล่อมพระบรรทมเรื่องนี้ขึ้นต้นว่า

เห่เอยเห่สวรรค์        เมื่อวสันต์ฤดูฝน
นักขัตฤกษ์เบิกบน    ให้มืดมนเมฆา
เทวาวลาหก        ให้ฝนตกลงมา
ฝูงเทพเทวา        กับนางฟ้าฟ้อนรำ
เล่นฝนตีโทนทับ        ร่องรับจับระบำ
เป็นคู่เคียงเรียงรำ    ระทวยทำท่วงที
เทพไทไขว่คว้า        นางฟ้าฟ้อนหนี
เรียงล่อรอรี่        รำตีวงเวียน
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่จับระบำ” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๔๗)

ในเรื่องนี้กล่าวถึงท่าร่ายรำต่างๆ ด้วย คือ

คลอเคล้าเพราพริ้ง    รำเป็นสิงห์เล่นหาง
หงส์ร่อนกรกาง        ทำนองกวางเดินดง
รำท่าม้าคลี        ไล่หนีตีวง
กินนรินบินลง        เอี้ยวองค์อ่อนเอียง
มังกรช้อนฟอง        ประคองคลอเคียง
ยิ้มพรายชะม้ายเมียง    รอเรียงเคียงนาง
รำนารายณ์กรายศร    มังกรกินหาง
ท่าพระรามตามกวาง    ทำนองนางมโนรา
กรีดเล็บเทพประนม    รำเป็นพรหมสี่หน้า
เมียงชะม้ายชายตา    ไขว่คว้านารี
ฯลฯ
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่จับระบำ” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๔๗)

บทเห่กล่อมพระบรรทมเรื่องนี้จบตอนรามสูรขว้างขวานเพื่อแย่งชิงดวงแก้วจากนางเม่ขลา เป็นการอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติเรื่องฟ้าร้องในฤดูฝน ดังนี้

ยักษ์โถมโจมโจน        นางก็โยนวิเชียร
หลีกลัดฉวัดเฉวียน    ล่อเวียนวงวน
เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงขวาน    ก้องสะท้านสากล
ไล่นางกลางฝน            มืดมนในเมฆา
นวลนางนั้นช่างล่อ        รั้งรอร่อนรา
เวียนระไวไปมา            ในจักรราศี เอย
(พ.ณ ประมวญมารค “เห่จับระบำประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๔๙-๔๕๐)

กากีมีความยาวเพียง ๒๒ บท มีเนื้อหากล่าวถึงพระยาครุฑพานางกากีไปวิมานฉิมพลี ระหว่างทางได้พานางไปชมสวรรค์

สุนทรภู่ขึ้นต้นบทเห่กล่อมเรื่องนี้ว่า

เห่เอยเห่กล่าว    ถึงเรื่องราวสกุณา
ครุฑราชปักษา    อุ้มกากีบิน
ล่องลมชมทวีป    ในกลางกลีบเมฆิน
ข้ามคิรีสีขรินทร์    มุจลินท์ชโลธร
ชี้ชมพนมแนว    นั่นเขาแก้วยุคนธร
สัตภัณฑ์สีทันดร        แลสลอนล้วนเต่าปลา
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องกากี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๐)

เรื่องนี้จบลงด้วยคำบรรยายว่า

พระบอกนางทางพา    ลอยฟ้าสุราลัย
เที่ยวชมเล่นให้เย็นใจ    แล้วกลับไปวิมาน เอย
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องกากี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๒)

พระอภัยมณีมีความยาว ๑๓๑ บท มากกว่าบทเห่กล่อมเรื่องอื่นๆ มีเนื้อความที่นำมาจากกลอนนิทานเรื่องพระอภัยมณี แต่ตัดมาเป็นตอนๆ รวม ๘ ตอน คือ
๑. ศรีสุวรรณรำพึงถึงนางเกษรา มีความยาว ๑๙ บท
๒. นางสุวรรณมาลีบวชชี มีความยาว ๑๓ บท
๓. สินสมุทรชมธรรมชาติกับนางอรุณรัศมี มีความยาว ๑๗ บท
๔. อรุณรัศมีถามนางสุวรรณมาลีเรื่องจะสึกจากชี มีความยาว ๙ บท
๕. นางละเวงชมธรรมชาติ มีความยาว ๒๙ บท
๖. พระอภัยมณีรำพึงใคร่จะได้เชยชมนางละเวง มีความยาว ๑๙ บท
๗. นางละเวงแสร้งประชวร มีความยาว ๑๒ บท
๘. นางสุลาลีวันขับถวายนางละเวง มีความยาว ๑๓ บท

1. ศรีสุวรรณรำพึงถึงนางเกษรา ศรีสุวรรณคิดถึงเกษรา และคิดว่าจะพานางลงเรือไปท่องทะเล

สุนทรภู่ขึ้นต้นตอนนี้ว่า

เห่เอยเห่ละห้อย        พราหมณ์น้อยศรีสุวรรณ
แรมสํานักตำหนักจันทน์    พระสุริยันสนธยา
ให้อาดูรพูนเทวศ        ถึงแก้วเกษรา
ได้เห็นพักตรลักขณา    ยังติดตาทุกนาที
………………………………………………….
อนาถหนาวเศร้าสร้อย        ให้ละห้อยโหยหวน
นึกเห็นเมื่อเล่นสวน        เลิศล้วนลักขณา
………………………………………………….
โอฐสะอาดดังชาดจิ้ม        เมื่อยามยิ้มดังเลขา
เมื่อเนตรน้องมาต้องตา    ดังสายฟ้ามาฟาดทรวง
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๒-๔๕๓)

ตอนศรีสุวรรณคิดเรื่องจะพานางเกษราท่องทะเล สุนทรภู่บรรยายสัตว์ทะเลว่า

มีต่างต่างกลางทะเล        ทั้งจระเข้เหรา
ฝูงกระโห้ทั้งโลมา        เคลื่อนคลาอยู่ตามกัน
กุ้งกั้งแลมังกร            สลับสลอนหลายพรรณ
นาคราชผาดผัน            ปลาอำพันตะเพียนทอง
วาฬใหญ่ขึ้นไล่คู่            ผุดฟู่พ่นฟอง
เงือกงูดูคะนอง            ลอยล่องชโลธร
กริวกราวก็เต้าตาม        ฉลากฉลามสลับสลอน
คลาเคล้าสำเภาจร        ในสาครรายเรียง
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๓)

ในตอนที่ ๑ นี้ จบด้วยคำบรรยายว่า

นิ่งนึกจนดึกดื่น        ถอนสะอื้นอาลัย
เคลิ้มระงับหลับไป    อยู่ในห้องไสยา เอย
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๔)

๒. นางสุวรรณมาลีบวชชี สุวรรณมาลีบวชชีที่เขารุ้งอยู่กับสินสมุทรและอรุณรัศมี หมั่นบำเพ็ญภาวนาและรักษาศีล

สุนทรภู่ขึ้นต้นตอนนี้ว่า

เห่เอยเห่กล่าว        ถึงพระดาวบศนี
องค์สุวรรณมาลี        บวชด้วยมีศรัทธา
กับสินสมุทรสุดสวาท    อรุณราชนัดดา
อยู่เขารุ้งปลายทุ่งนา    ออกนั่งหน้ากุฎี
แบ่งส่วนกุศลผลบุญ    ให้องค์อรุณรัศมี
สาวสุรางค์นางชี        แต่ล้วนมีศรัทธา
(พ.ณ ประมวญมารค,“เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๔)

ในตอนนี้มีบทชมธรรมชาติบริเวณกุฎิที่เขารุ้ง ดังนี้

ชนีน้อยห้อยโหย        วิเวกโหวยวิงวอน
จังจอกออกหอน        นกนอนรังเรียง
เริงร้องซ้องแซ่        คลอแคลกรีดเสียง
น่าดูเป็นคู่เคียง        แอ่นเอี้ยงแอบอิง
แม่นกกกกอด        ลูกพลอดวอนวิง
แจ้วแจ้วแก้วกะลิง    จับที่กิ่งไทรทอง
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๔)

ตอนนี้จบลงด้วยคำบรรยายภาพนางสุวรรณมาลีว่า

นิ่งระงับหลับตา        อุตส่าห์รักษาอารมณ์
ถึงหอมระรื่นไม่ชื่นชม    ตามเพศพรหมจรรย์ เอย
(พ.ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๔)

๓. สินสมุทรชมธรรมชาติกับนางอรุณรัศมี สินสมุทรนั่งอยู่ที่ระเบียงกับนางอรุณรัศมี และชมธรรมชาติด้วยกัน ด้วยความที่เป็นเด็ก ทำให้อยากเล่นสนุก ร้องขับสักวาด้วยความหลงลืมว่า กำลังบวชกันอยู่ เมื่อรู้สึกตัวก็บำเพ็ญภาวนาต่อไป ต่อมาอรุณรัศมีหลับ สินสมุทรชมความงามของนาง แล้วหลับตาม

สุนทรภู่เริ่มเรื่องในตอนนี้ว่า
เห่เอยพระราชบุตร    สินสมุทรมุนี
กับอรุณรัศมี    นั่งอยู่ที่น่าชาลา
แย้มสรวลชวนกัน    นั่งฉันน้ำชา
พูดเล่นเจรจา        กับน้องยานารี
(พ.ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๕)

สินสมุทรและอรุณรัศมีร้องสักวาระหว่างบำเพ็ญภาวนา ดังนี้

เย็นชื่นดื่นดึก        ลืมรำลึกภาวนา
ชวนพระน้องร้องสักรวา    จนหลงว่าขึ้นดังดัง
โอ้ว่าเจ้าการะเกด    ขี่ม้าเทศจะไปท้ายวัง
น้องห้ามไว้ก็ไม่ฟัง    จะแทงฝรั่งลังกา
รู้สึกตัวกลัวกรรม        ชักประคำภาวนา
เดือนส่องต้องศีลา    ดังจินดาดวงดาว
(พ.ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๕)

สินสมุทรชมความงามของอรุณรัศมีขณะหลับว่า

นวลหน้าเหมือนการะเกด    ดังดวงเนตรของเชษฐา

ถึงนางสวรรค์ชั้นฟ้า        ไม่โสภาเทียมนวล
ชายใดแม้นได้นุช        จะรักสุดแสนสงวน
ยิ้มเยื้อนเหมือนจะชวน    ให้รัญจวนใจชาย
(พ.ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๖)

ตอนนี้จบลงด้วยคำบรรยายว่าสินสมุทรได้หลับไป ดังนี้

ลมว่าวหนาวขึ้น        หอมระรื่นหฤทัย
งีบระงับหลับใหล    ในที่ไสยา เอย
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๖)

๔. อรุณรัศมีถามนางสุวรรณมาลีเรื่องจะสึกจากชี สินสมุทรและอรุณรัศมีได้บวชตามสุวรรณมาลี อรุณรัศมีถามสุวรรณมาลีว่าจะสึกตามคำนิมนต์ของพระอภัยมณีหรือไม่ สุวรรณมาลีไม่ตอบเพราะตั้งใจบำเพ็ญภาวนา ฝ่ายอรุณรัศมีคิดถึงวัง อยากจะกลับไปอยู่ในวังเดิม

สุนทรภู่ขึ้นต้นเรื่องตอนนี้ว่า

เห่เอยหน่อกษัตริย์        นางอรุณรัศมี
บวชเล่นเล่นก็เป็นชี        กับฤาษีพี่ยา
แอบชะอ้อนนอนเพลา        ว่าพระเจ้าป้าจ๋า
พรหมจรรย์จรรยา        เขาแปลว่าอันใด
พระเจ้าลุงพรุ่งนี้            จะมานิมนต์ไป
หลวงป้าไม่ว่าไร            หรือจะไปตามคำ
(พ.ณ ประมวญมารค,“เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๗)

ตอนนี้จบลงด้วยคำบรรยายว่า

ครั้นเย็นย่ำน้ำค้าง    พร้อยพร่างพฤกษา
ลมเชยรำเพยพา        ชื่นวิญญาเย็น เอย
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๗)

๔. นางละเวงชมธรรมชาติ นางละเวงขี่ม้าหนีพระอภัยเข้าไปในป่า นางชมธรรมชาติ แล้วพักแรมที่เขาอังกาศ

สุนทรภู่ขึ้นต้นตอนนี้ว่า

เห่เอยเห่กล่าว        ถึงลูกสาวเจ้าลังกา
โฉมละเวงวัณฬา        ทรงอาชามากลางไพร
เลี้ยวหลงวงเดิน        พนมเนินพนาลัย
แลเหลียวเปลี่ยวใจ    วิเวกในดงดาล
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๗)

ตอนนางละเวงชมธรรมชาติในป่า มีคำบรรยายว่า

เป็นโกรกกรวยห้วยธาร    หุบละหานเหวหิน
ฝูงปักษาเที่ยวหากิน        บ้างโผบินร่อนเรียง
แจ้วแจ้วแก้วพลอด        ฉอดฉอดฉ่ำเสียง
กระลุมภูเป็นคู่เคียง        เค้าโมงเมียงมองแล
……………………………………………………………..
ทั้งรวยรินอินจันทน์    กะลำพันกฤษณา
เพลินพระทัยไคลคลา    จนสุริยาเย็นรอนรอน
(พ. ณ ประมวลมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๕๘-๔๕๙)
ตอนนี้จบลงด้วยคำบรรยายภาพนางละเวงที่หลับบนแผ่นหินใต้ต้นไทรว่า

ค่อยเอนองค์ลงบนอาสน์    พระเศียรพาดแผ่นผา
ให้หิวโหยโรยรา            นิ่งนิทราตรอมใจ
เสียงจังหรีดกรีดกริ่ง        หริ่งหริ่งเรไร
เคลิ้มระงับหลับไป        ใต้ต้นไทรทอง เอย
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๖๐)
๖. พระอภัยมณีรำพึงใคร่จะได้เชยชมนางละเวง พระอภัยมณีนั่งท้ายรถนางละเวงขณะเดินทางกลับวัง พระอภัยมณีรำพึงถึงนางละเวง ใคร่จะได้เชยชมนาง แต่ติดขัดที่นางปิดประตูและสลักกลอนไว้

สุนทรภู่เริ่มต้นตอนนี้ว่า

เห่เอยเห่บท            เดินรถในราตรี
พระอภัยมณี            นั่งที่ท้ายรถทรง
บุษบกกระจกกระจ่าง        เห็นรางรางรูปทรง
คลุมประทมห่มองค์        เห็นแต่วงพักตรา
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๖๐)

พระอภัยมณีรำพึงถึงนางละเวงที่กำลังแสร้งประชวรอยู่ว่า

พี่อุตส่าห์มาด้วย        ก็มิได้ช่วยรักษา
หรือน้องแก้วแววตา    สวรรคาลัยไป
ไม่ขออยู่จะสู้ม้วย    จะตายด้วยแม่ดวงใจ
กอดพระกรถอนฤทัย    วิเวกในดงดอน
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๖๑)

ตอนนี้จบเรื่องด้วยคำบรรยายว่า

ไฉนดีเจ้าพี่เอ๋ย            จะได้เชยให้ชื่นใจ
อุตส่าห์ตามทรามวัย        มาจนใกล้กัลยา
เพราะฝาติดอยู่นิดเดียว    ให้เสียวเสียวเสน่หา
เขม้นมองที่ช่องฝา        จะใคร่เห็นหน้าพระน้อง เอย
พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๖๑)

๗. นางละเวงแสร้งประชวร นางละเวงแสร้งทำเป็นประชวร เห็นพระอภัยมณีมาเดินเวียนวนรอบรถทรงก็สงสาร ต่อมานางสั่งให้สุลาลีวันขับลำถวาย

สุนทรภู่ขึ้นต้นตอนนี้ว่า

เห่เอยเห่เพลง        โฉมลเวงวัณฬา
ทำหลับใหลไสยา    จนล่วงมากลางดง
แลเห็นองค์พระอภัย    เที่ยวเลียบไต่รถทรง
ทำความเพียรเวียนวง    คิดก็สงสารเธอ
ช่างซื่อสุดบุรุษใด    ไม่มีใครจะเสมอ
ช่างง่วงเหงาเฝ้าละเมอ    ช่างไม่เก้อแก่ใจ
เห็นประจักษ์ว่ารักจริง        สู้ทอดทิ้งทัพชัย
มิตอบถ้อยจะน้อยใจ        ครั้นพูดไปจะเป็นทาง
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๖๒)

และจบลงตอนนางละเวงรับสั่งให้สุลาลีวันขับถวายว่า

เจ้าประดิษฐ์คิดขับ    ให้เพราะจับจิตใจ
จะได้ระงับหลับใหล    ให้ส่างในทรวง เอย
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๖๓)

๘. นางสุลาลีวันขับถวายนางละเวง นางสุลาลีวันขับถวายตามรับสั่งของนางละเวง มีเนื้อความเกี่ยวกับผู้ชายครํ่าครวญถึงความรักที่มีต่อผู้หญิง เป็นนัยเปรียบเทียบถึงความรักที่พระอภัยมณีมีต่อนางละเวง ได้แต่วนเวียนอยู่รอบรถทรงของนาง

สุนทรภู่เริ่มเรื่องในตอนนี้ว่า

เห่เอยธิดา            โฉมสุลาลีวัน
รับสั่งบังคมคัล        ขึ้นนั่งบนชั้นเกรินทอง
แกล้งประดิษฐ์คิดคำ    ขับลำนำทำนอง
โอ้ยามค่ำย้ำฆ้อง    ให้มัวหมองในวิญญา
จะแลชมพนมพนัส    ไม่ถนัดนัยนา
ช่างมืดมิดทุกทิศา    มืดทั้งฟ้าดินดง
โอ้ว่าพระศศิธร        ช่างลอยร่อนรถทรง
แจ่มกระจ่างสว่างวง    ส่องที่ตรงแกลทอง
เห็นพักตราหล้าโลก    จะส่างโศกเศร้าหมอง
โหยหวนนวลละออง    มณฑาทองที่ต้องใจ
ภุมรินบินค้อยค้อย    มาเชยสร้อยสุมาลัย
มืดมนก็จนใจ        เที่ยวเลียบไต่ตอมดวง
(พ. ณ ประมวญมารค,“เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๖๓)

ตอนนี้จบลงด้วยคำบรรยายว่า

หนาวลมจะห่มผ้า    หนาวน้ำฟ้าจะผิงไฟ
หนาวทรวงนะดวงใจ    เศร้าฤทัยระทวยทรง
ถึงเสื้อสวมนวมหุ้ม    ไม่เหมือนอุ้มแอบองค์
หอมดอกไม้ที่ในดง    ไม่เหมือนทรงสุคนธา
แป้งสดรสรื่น        ไม่หอมชื่นในนาสา
เห็นอื่นอื่นไม่ชื่นตา    เหมือนได้เห็นหน้าพระน้อง เอย
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องพระอภัยมณี” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๖๔)

โคบุตร มีความยาวเพียง ๖ บท เป็นบทเห่กล่อมเรื่องสั้นที่สุดในบรรดา ๔ เรื่อง มีเนื้อหากล่าวถึงโคบุตรส่งสารรักไปให้นางอำพันมาลา แล้วให้นกขุนทองนำสารไป

สุนทรภู่แต่งเรื่องตอนนี้ว่า

เห่เอยเห่ถวาย        ถึงเรื่องนิยายแต่ปางหลัง
ให้พระองค์ทรงฟัง    เมื่อแรกตั้งโลกา
มีพระมิ่งมงกุฎ        ชื่อโคบุตรสุริยา
ได้ข่าวพระธิดา        ตรึกตราตรอมใจ
องค์อำพันขวัญเนตร    เนานิเวสน์วังใน
แม้นรู้ที่จะไป        มอบไมตรีนาง
นิ่งนึกตรึกเกรง        จะทรงเพลงยาวพลาง
พอเป็นคำนำทาง    ให้สว่างวิญญา
เขียนสารใส่ตอง        ให้ขุนทองปักษา
ซ้ำสั่งสกุณา        ให้พาสารตรารีบไป
ให้เจ้าสาวสวรรค์    องค์อำพันพิสมัย
ฤาลูกน้อยกลอยใจ    นอนอยู่ในวัง เอย
(พ. ณ ประมวญมารค, “เห่เรื่องโคบุตร” ประวัติคำกลอนสุนทรภู่, หน้า ๔๖๔)

บทเห่กล่อมพระบรรทมทั้ง ๔ เรื่องนี้ใช้เป็นบทเห่กล่อมพระเจ้าลูกเธอในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวในสมัยรัชกาลที่ ๔ ทั้ง ๔ เรื่องนี้ไม่ทราบแน่ชัดว่าสุนทรภู่แต่งเรื่องใดก่อนเรื่องใดหลัง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรง สันนิษฐานว่าน่าจะมีเรื่องหนึ่งที่สุนทรภู่แต่งขึ้นถวายพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ เมื่อทรงมีพระธิดาในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องใด ฉันท์ ขำวิไล ก็มีความเห็นเช่นนี้ และยังกล่าวว่าบทเห่กล่อมพระบรรทมที่เหลืออีก ๓ เรื่อง สุนทรภู่คงแต่งถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ยังไม่ได้ทรงรับบวรราชาภิเษก

ผู้เขียนคิดว่าคำสันนิษฐานเรื่องสมัยที่แต่งบทเห่กล่อมเหล่านี้ยังขาดหลักฐานที่แน่ชัด ทราบแต่เพียงว่าบทเห่กล่อมทั้ง ๔ เรื่องนี้ใช้เป็นบทเห่กล่อมพระเจ้าลูกเธอ พระเจ้าลูกยาเธอ และเจ้านาย ทั่วทั้งพระราชวัง ตลอดสมัยรัชกาลที่ ๔ จึงได้จัดไว้เป็นผลงานในสมัยนี้ เพราะเข้าใจว่าน่าจะมีบางเรื่องที่แต่งในสมัยรัชกาลที่ ๔ ในคราวที่บทเห่กล่อมพระบรรทมเป็นที่นิยมแพร่หลายมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้

บทเห่กล่อมทั้ง ๔ เรื่องนี้ เรื่องพระอภัยมณีมีความยาวมากที่สุด เรื่องโคบุตรสั้นที่สุด ถ้านำทั้ง ๔ เรื่องมารวบรวมไว้ด้วยกัน จะได้ความยาวประมาณ ๑ เล่มสมุดไทย น่าสังเกตว่าบทเห่กล่อมเหล่านี้จะขึ้นต้นเรื่องด้วยคำว่า เห่เอย หรือเห่เอยเห่-จบด้วยคำว่า เอย และมักจะจบด้วยเนื้อหาที่มีตัวละครนอนหลับ คำประพันธ์ที่คล้ายกาพย์ยานี แต่จำนวนคำผิดเพี้ยนไปจากกาพย์ยานี คือในวรรคที่ ๒ และวรรคที่ ๔ นิยมใช้คำเพียง ๕ คำเท่านั้น (กาพย์ยานีต้องใช้ ๖ คำ)

ที่มา:สมชาย  พุ่มสอาด