วรรณคดีไทยยุคสุโขทัย

Socail Like & Share

หลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
(พ.ศ. ๑๘๐๐-๑๙๒๐)
ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
เป็นวรรณคดีทางประวัติศาสตร์ ที่จารึกบนแผ่นศิลา เป็นคำไทยแท้เป็นส่วนมาก คำบาลีสันสกฤต และขอมเพียงเล็กน้อย
ถ้อยคำที่จารึกนั้น เป็นถ้อยคำพื้นเมืองง่ายๆ ทุกประโยคเป็นคำพูดมากกว่าคำเขียน    บางตอนก็มีคำที่มีน้ำหนักและจังหวะ ทำให้เกิดไพเราะ บางตอนก็มีสร้อย คำต่อท้ายสัมผัสเป็นคำกลอน มีความหมายง่ายๆ สละสลวย เช่น
“ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว”
“เพื่อนจูงวัวไปค้า  ขี่ม้าไปขาย”
“ไพร่ฟ้าหน้าใส”
เหล่านี้เป็นต้น

พ่อขุนรามคำแหงเป็นกษัตริย์องค์ที่ ๓ ในราชวงศ์สุโขทัย และเป็นโอรสองค์ที่ ๒ ของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระองค์ทรงเป็นนักรบ นักการเมืองที่ยอดเยี่ยม มีพระปรีชาสามารถในด้านอักษรศาสตร์และการปกครอง
การประดิษฐ์อักษรไทย และจารึกในหลักศิลานั้น ทำให้เขารู้ถึงความเป็นมาในสมัยสุโขทัยได้ดี ในศิลาจารึกนั้น น่าจะแบ่งออกเป็น ๓ ตอนคือ

ตอนที่ ๑ เป็นเรื่องพ่อขุนรามคำแหงเล่าประวัติของพระองค์ ตั้งแต่ประสูติ จนได้เสวยราชสมบัติ

ตอนที่ ๒ เล่าถึงเหตุการณ์และธรรมเนียมในเมืองสุโขทัย เรื่องสร้างพระแท่นมนังคศิลาเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ เรื่องสร้างพระมหาธาตุเมืองศรีสัชนาลัยขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๘ และประดิษฐ์ตัวอักษรไทยขึ้นใช้เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖

ตอนที่ ๓ เป็นคำสรรเสริญเยินยอพระเกียรติของพ่อขุนรามคำแหง และกล่าวถึงอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย ในสมัยของพระองค์

การประดิษฐ์อักษรไทย จารึกลงบนหลักศิลานั้น เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงวรรณคดีไทย ที่เป็นรูปอันงดงาม และมองเห็นวัฒนธรรมอันดีงามของคนไทย จนเป็นแบบอย่างของกษัตริย์องค์ต่อมา ได้จารึกหลักศิลา เล่าเหตุการณ์ต่างๆ ในสมัยสุโขทัยไว้หลายหลัก ซึ่งหอสมุดแห่งชาติได้จัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ เรียกว่า “ประชุมศิลาจารึกภาคที่ ๑ จารึกกรุงสุโขทัย”

ผู้ค้นพบ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในขณะที่ทรงผนวชอยู่ ได้เสด็จไปสุโขทัย และได้พบหลักศิลาจารึก เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ มีหลักศิลาจารึกของ พ่อขุนรามคำแหง ศิลาจารึกภาษาขอมของพระยาลิไท และพระแท่นมนังคศิลา และทรงโปรดให้นำมาไว้ในพระนคร
จากหลักศิลาจารึก นอกจากจะปรากฏว่าพระองค์ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้ ก็ยังได้ตรากฎหมายขึ้นใช้ ๔ บท คือ

กฎหมายว่าด้วยมรดก
คำจารึกภาคที่ ๑ หน้า ๘ บรรทัดที่ ๑๖ ว่า
“ไพร่ฟ้าหน้าใส ลูกเจ้าลูกขุน ผู้ใดแล้ล้มตาย หายกว่าเหย้าเรือนพ่อ เชื่อเรือค้า มันช้างลูกเมียเยียข้าว ไพร่ฟ้าข้าไทย ป่าหมาก ป่าพลู พ่อเชื่อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น”    .

กฎหมายว่าด้วยที่ดิน
คำจารึกภาคที่ ๑ หน้า ๙ บรรทัดที่ ๑๐ ว่า
“สร้างป่าหมาก ป่าพลู ทั่วเมืองทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลาย ในเมืองนี้ ป่ากลางก็หลาย ในเมืองนี้ หมาก ม่วงก็หลายในเมืองนี้ ใครสร้างได้ไว้แก่มัน”

วิธีพิจารณาความ
คำจารึกในศิลาภาคที่ ๑ หน้า ๙ บรรทัด ๒ ว่า
“ไพร่ฟ้า ลูกเจ้า ลูกขุน ผิและผิดแผกแสกว้างกัน สวนตูแท้แล้ว จึงแต่งความแก่ข้าด้วย ชื่อบ่เข้าผู้จัก มักผู้ซ่อม เห็นข้าวท่านบ่ใคร่ผิน เห็นสินท่านบ่ใคร่เดือด”

ลักษณะฎีกา
คำจารึกในศิลาภาค ๑ หน้า ๙ บรรทัด ๗ ว่า
“ในปากประตู มีกระดิ่งอันหนึ่ง แขวนไว้นั้น ไพร่ฟ้า หน้าปก กลางเมือง มีถ้อย มีความ เจ็บท้อง ข้องใจ มันจักกล่าวถึง เจ้าถึงขุน บ่ไร้ ไปสั่นกระดิ่งอันท่าน แขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมือง ได้ยินเรียก เมื่อถามสอบความแก่มัน ด้วยชื่อไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้ จึงชม

บัญญัติพระร่วง
พ่อขุนรามคำแหง ทรงกล่าวสุภาษิตไว้มาก แต่ฉบับที่รู้กันแพร่หลายมีอยู่ราว ๑๕๘ บท เรียกว่า “บัญญัติพระร่วง” หรือ “สุภาษิตพระร่วง” ขึ้นต้นว่า

ปางสมเด็จพระร่วงเจ้า     เฝ้าแผ่นภพสุโขทัย
มลักเห็นในอนาคต        จึงเผยพจน์ประภาส
เป็นอนุสาสนกถา        สอนคนานรชน

ตอนจบมีโครงบทหนึ่งว่า
บัณ     เจิดจำแนกแจ้ง    พิสดาร    ความเอย
ฑิต     ยุบนบรรหาร    เหตุไว้
พระ ปิ่นนัคราสถาน    อุดรสุข    ไทยนา
ร่วง  รามราชนี้ได้    กล่าวถ้อย คำสอน

ความมุ่งหมาย เพื่ออบรมสั่งสอนพลเมืองของพระองค์ในด้านศีลธรรม ถ้อยคำพื้นๆ ส่วนใหญ่เป็นภาษาไทย แต่มีบาลี และสันสกฤตปนมากกว่าในสมัยสุโขทัย มีคติเตือนใจคล้ายกับบัญญัติพระร่วงว่า
“เมื่อเสร็จหน้านา ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก”
มีความหมายว่า ผู้หญิงมีหน้าที่ทอผ้าสำหรับนุ่งห่ม เมื่อว่างงานคือเลิกทำนาแล้ว ส่วนผู้ชายตีเหล็ก เพื่อทำอาวุธ เซ่น มีด ดาบ สำหรับป้องกันตัว และใช้รบกับข้าศึก และทำเครื่องใช้อื่นๆ บัญญัติพระร่วงมีคติเตือน ใจดังนี้เช่น
ให้หาสินเมื่อใหญ่    อย่าใฝ่เอาทรัพย์ท่าน
อย่าริร่านแก่ความ    ประพฤติตามบุรพรยอบ
เอาแต่ชอบเสียผิด     อย่ากอบกิจเป็นพาล
อย่าอวดหาญแก่เพื่อน เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า
อย่าใฝ่สูงพ้นศักดิ์    ที่รักอย่าดูถูก
ปลูกไมตรีอย่ารู้ร้าง     สร้างกุศลอย่ารู้โรย

ด้วยสุภาษิตเตือนใจเหล่านี้เอง ทำให้ชาวสุโขทัย มีวัฒนธรรมสูง มีใจบุญสุนทรทาน หมั่นภาวนารักษาศีลอยู่เป็นเนืองนิจ

พ่อขุนรามคำแหง ก็ทรงปฏิบัติเป็นตัวอย่างดังเช่นในปี พ.ศ. ๑๘๓๕ ทรงปลูกต้นตาล ๑๔ ปี แล้วสร้างแท่นมนังคศิลา ตั้งไว้กลางดงตาล วันธรรมสาวนะพระสังฆราช และพระมหาเถระ ขึ้นนั่งบนพระแท่น
แสดงธรรมแก่อุบาสกและอุบาสิกา

ถ้ามิใช่วันที่พระสงฆ์มาแสดงธรรม พระองค์จะเสด็จประทับบนแท่น เพื่อให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทรงสั่งสอนประชาชนด้วย

สุภาษิตพระร่วง เป็นตัวอย่างอันดีสำหรับนักกวีรุ่นหลังใช้เลียนแบบ ไม่ว่าจะเป็นสมัยอยุธยา หรือสมัยรัตนโกสินทร์ ก็ได้ยึดเอาบทคำสอนนั้นมาดัดแปลง ซึ่งมีความหมายคล้ายคลึงกันเช่น “เข้าเถื่อนอย่าลืมพร้า”

นำมาดัดแปลงในมหาเวสสันดรชาดก ตอนนางมัทรีมาพบพระเวสสันดร ให้สองกุมารเป็นทานว่า

“เข้าเถื่อน เจ้าลืมพร้า ได้หน้าเจ้าลืมหลัง ไม่เหลียวกลับ” ดังนี้เป็นต้น

ไตรภูมิพระร่วง

ไตรภูมิพระร่วง เดิมเรียกว่า “ไตรภูมิกถา” หรือ “เตภูมิกถา”

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเปลี่ยนเสียใหม่เพื่อเฉลิมพระเกียรติ์ คู่กับสุภาษิตพระร่วง เรียกว่า “ไตรภูมิพระร่วง”

วรรณคดีเรื่องนี้ เป็นพระราชนิพนธ์ของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไท ทั้งนี้ โดยอาศัยบางแผนก เดิมข้างต้นและตอนท้ายเล่ม กล่าวไว้ชัดเจน แต่บอกปีศักราชไว้ไม่ตรงกับศักราชใดๆ ที่เคยใช้มา ซึ่งอาจจะ เป็นศักราชซึ่งทรงลบขึ้นใช้เอง เช่นที่กล่าวถึงในเรื่องพงศาวดารเหนือ ในจารึกของพระองค์ที่กล่าวขางต้น และกล่าวถึงเรืองนางนพมาศ บอกไว้ว่า “พญาลิไท ได้เสวยราชสมบัติในเมืองสัชนาลัยอยู่ได้ 6 เข้า จึงได้ไตรภูมิ”

เรื่องนี้อาจสันนิษฐานเป็นสองนัย นัยหนึ่งทรงนิพนธ์ เมื่อยังเป็นพระยุพราชครองเมืองศรีสัชนาลัยมาได้ ๖ ปีแล้ว    หรืออาจหมายถึงพระราชนิพนธ์ขึ้นเมื่อเสวยราชสมบัติได้ ๖ ปีก็ได้ จึงพอสันนิษฐานได้เพียงว่า หนังสือไตรภูมิพระร่วงนี้ พญาลิไท คือพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พระร่วงองค์ที่ ๕ ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัย ระหว่าง พ ศ. ๑๘๙๐ ถึง ๑๙๑๙ แต่ฉบับเดิมที่ได้มามิใช่ของเดิม แต่เป็นหนังสือที่พระมหาช่วย วัดปากน้ำ จังหวัดสมุทรปราการ ได้จานลงไว้ในใบลาน เมื่อ พ ศ. ๒๓๒๑ สมัยกรุงธนบุรี

ในการเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้ บอกไว้ว่า

“เอาออกมาแลแห่งแลน้อย และเอามาผสมกัน จึงสมมุติชื่อว่า ไตรภูมิกถาแล”

ได้อ้างคัมภีร์ต่างๆ ในพุทธศาสนา ที่ยกเอาข้อความมาราว ๓๐ คัมภีร์ และนอกจากนี้ยังได้บอกด้วยว่า ได้ฟังจากพระเถระ และราชบัณฑิตหลายท่าน จึงนับว่า เป็นวรรณคดีไทยเล่มแรก ที่แต่งขึ้นในลักษณะของการค้นคว้า

ลักษณะการแต่ง เป็นร้อยแก้ว ทำนอง เทศนาโวหาร

ความมุ่งหมาย ผู้ทรงนิพนธ์ มีความมุ่งหมายสาเหตุ ไว้ว่า
“จะใคร่เทศนาแก่พระมารดา…”

เนื้อเรื่อง
เนื้อเรื่องที่พรรณนาในหนังสือเล่มนี้ เป็นความรู้เรื่องโลกในสมัยโบราณตามแบบอินเดีย สัตว์ทั้งหลายที่เกิดในไตรภพนี้ (คือภพที่สาม) ย่อมจะพลัดพรากจากสิ่งของที่ตนรัก เริ่มจากการกล่าวนมัสการพระรัตนตรัย กล่าวถึงไตรภูมิ อันมี กามภูมิ รูปภูมิ อรูปภูมิ มนุสสภูมิ นรกภูมิ ทวีปสี่ ภาษาพจน์ โสฬส และภูมิต่างๆ รวมแล้ว ๓๑ ภูมิ

ความรู้ที่ได้จากวรรณคดีเรื่องนี้
๑. รู้เรื่องนรกสวรรค์ แบบความรู้ของคนสมัยโบราณ
๒. เป็นสำนวน ภาษายากแก่การ เข้าใจต้องศึกษา ค้นคว้า มีศัพท์ทางศาสนามาก ยังประโยชน์ในด้านการศึกษา
๓. เป็นวรรณคดีเล่มแรกที่เกิดจากการค้นคว้า
๔. อ่านแล้วทำให้คนกลัวบาป อยากทำแต่ความดี จะได้ไปเกิดในสวรรค์
๕. เป็นกุญแจดอกแรก ที่ไขประตูเข้าไป ชมความงามอุทยานแห่งวรรณคดีไทย ที่มีรสซาบซึ้ง มีคติเตือนใจ กลัวบาป เช่นเมื่อกล่าวถึงนรก

“ฝูงแร้งกาอันอยูในนรกนั้นใหญ่เท่าเกวียนทุกๆ ตัว ปากแร้งกา และตีนนั้น เฑียรย่อมเหล็กแดงลุกเป็นเปลวอยู่บ่มิได้เหือดสักคาบ แร้งแลกา หมาฝูงนั้นเฑียรย่อมจิก แหก หัวอก ขบตลอดคนทั้งหลายในนรกนั้นด้วยบาปกรรม ของเขานั่นแล”

เมื่อใครได้ฟังเทศน์ก็กลัวนรก จึงทำแต่ความดี

ศิลาจารึกวัดป่าม่วง
เป็นศิลาจารึกของพญาลิไท ทรงจารึกประมาณหลัง พ.ศ. ๑๘๘๘
ลักษณะเป็นร้อยแก้ว แต่มีบางตอนเป็นสัมผัส
เนื้อเรื่อง กล่าวถึงการสร้างป่ามะม่วง และพระราชกรณีย์กิจของพญาลิไท เทอดพระเกียรติของพญาลิไท และส่งเสริมพระพุทธศาสนา แสดงถึงการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในสมัยนั้น

การส่งเสริมศาสนา
คำจารึกวัดป่ามะม่วง (หลักที่ ๔)

ด้าน ๑ เรียนพระวินัย พระอภิธรรมโดยโลกาจาร มีพราหมณ์ แลดาบส เป็นต้น สมเด็จบพิตรทรงพระราชบัญญัติคัมภีร์เทพ ศาสตราคม ธรรมนิยาย มีไชยติศาสตร์ (ตำราโหร) เป็นต้น

ทรงพระปรีชาสามารถ
ด้าน ๒ (ตำรา) พรรษา มาส สุริยคราส จันทรคราส ทรงสรรพ พิจารณา
พระองค์ทรงพระปรีชา โอฬาริก ฝ่ายผาลคุณานุต (คือ วันสิ้นเดือน) และศักราชที่เดิม ทรงได้แก้ให้สั้นเบาถูกต้อง พระองค์ทรงพิจารณา

เทิดพระเกียรติ
คำจารึกวัดป่ามะม่วง

ด้าน ๓ บรรทัดที่ ๙ ว่า สมเด็จพระเจ้าธรรมราช ทรงพระนามว่าลิไท พระองค์ถึงแม้ว่าได้เสวยอมฤตรสอันประเสริฐสุขุมยิ่งนัก ซึ่งเป็นของเสวยควรแก่สมเด็จพระพุทธเจ้า พระอนุพุทธ พระปัจเจกพุทธ พระสวกพุทธทั้งหลาย เพราะปราศจากธาตุดิน อันไม่มีที่เปรียบดังเทวดากินทิพย์ พระองค์ได้ทรงสดับคำปราชญ์ แสดงถึงความอดทน อดกลั้นทั้งปวงต่อความเสื่อมแห่งพระศาสนาของพระมุนีเจ้า    มีลักษณะคล้าย ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง มีอักษรขอม และอักษรไทยคู่กันและเท่าๆ กัน แสดงว่ายังมีอิทธิพลของขอมอยู่มาก

ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์
เป็นวรรณคดีร้อยแก้ว ที่มีคุณค่าสูงในทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี จารีตประเพณีในสมัยนั้น ตลอดถึงศิลปการช่างของสตรีอีกด้วย

นางนพมาศหรือท้าวศรีจุฬาลักษณ์ เป็นผู้แต่งขึ้น การยกเอานางนพมาศเข้ามาเป็นนักปราชญ์ในยุคสุโขทัยนั้น ก็เพราะมีหนังสืออยู่เล่มหนึ่ง เรียกเป็น ๓ อย่างคือ เรวดีนพมาศบ้าง ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์บ้าง หรือนพมาศบ้าง

นางนพมาศเป็นบุตรพราหมณ์ มีนามว่า โชตรัตน์ เป็นปุโรหิตของสมเด็จพระร่วงเจ้า เป็นที่พระศรีมโหสถ

คำว่าพระร่วงเจ้านั้น    ตามประวัติศาสตร์ยังไม่ทราบว่าพระร่วงองค์ไหน จึงใช้คำสันนิษฐาน และวิจารณ์กันว่า ถ้าไม่มีตัวอยู่ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง ก็เป็นสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไท

เหตุผล ที่ว่าเกิดในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงนั้น ก็เพราะปรากฏตามตำนานว่า นางนพมาศเกิดเมื่อ ปีมะโรง ฉศก ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๑๘๔๗จุลศักราช ๖๖๖ ในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหง

แต่พงศาวดารเหนืออ้างว่า พระร่วงลบศักราช จะเป็นพระร่วงองค์ไหนแน่ก็อยู่ที่ความสันนิษฐานอีกเหมือนกัน

ความเห็นทางหนึ่งว่า การลบศักราชน่าจะไม่ลบ ในรัชกาลของพ่อขุนรามคำแหง เพราะยุคนั้นกำลังจัดการบ้านเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ การทำพิธีลบศักราช ต้องทำเมื่อบ้านเมืองมีสันติสุขแล้ว

ดังนั้นจากความเห็นดังกล่าว น่าจะลบในรัชสมัยของพญาลิไท ถ้าหากมีการลบศักราชในสมัยนั้นจริง นางนพมาศก็ต้องเกิดปีมะโรง ฉศก พ.ศ. ๑๙๐๗ ตรงกับ จุลศักราช ๗๒๖ ซึ่งตรงกับเรื่องราวที่กล่าวไว้

นางนพมาศเกิดเมื่อวันศุกร์ เดือน ๑๒ ขึ้น ๑๐ ค่ำ จุลศักราช ๖ (ลบแล้ว) ซึ่งเป็นรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ พญาลิไท

อย่างไรก็ดี ทั้งยุคพ่อขุนรามคำแหง และยุคพญาลิไท เป็นยุคอักษรศาสตร์กำลังเฟื่องทั้ง ๒ รัชกาล เป็นอันว่า นางนพมาสมีตัวอยู่ในสมัยสุโขทัยแน่ เพราะพงศาวดารเหนือ หรือหนังสือนางนพมาศเองก็กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆ ในยุคนั้น เป็นข้อที่น่าเชื่อถือ

แต่ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ฉบับที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ จะเป็นฉบับดั้งเดิมหรือไม่

นักปราชญ์ให้ความเห็นว่า ต้นฉบับเดิมได้สูญหายไปเสียแล้ว ฉบับที่มีอยู่ในบัดนี้ เป็นถ้อยคำและสำนวนโวหารรุ่นหลัง จึงมีถ้อยคำ และเรื่องราวแทรก
บางท่านก็กล่าวว่า แต่งขึ้นใหม่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงพระราชนิพนธ์แทรกไว้ เช่น ตอนกล่าวเปรียบเทียบกิริยาอาการของข้าราชการฝ่ายในเป็นเชิง บริภาษนิสัยหญิง เป็นโวหารที่ชมกันว่าดีมาก
เป็นอันเชื่อได้ว่า นางนพมาศมีในกรุงสุโขทัยจริง ตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ แม้คนชั้นหลังจะแต่งเติมจนผิดจากของเดิม แต่แก่นสารอันเนื้อแท้นั้นยังมีอยู่ ผู้อ่านอาจจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้ถึง ๒ สมัย คือสมัยสุโขทัย อันเป็นแก่นแท้ และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ อันเป็นพลความและสำนวนโวหาร

การเสียหายนั้นอาจเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะใช้จานลงใบลานกันเป็นพื้นการจานลงบนใบลาน ส่วนมากนิยมจานอักษรขอม มากกว่าอักษรไทย ทั้งนี้เพราะตัวขอมลากเส้นขยักสั้นๆ เป็นเหลี่ยมๆ ไม่มีเส้นตรงตามยาวของเนื้อลาน จึงจานได้ดีและสะดวก นอกจากนั้น ก็ใช้เขียนลงในสมุดที่เรียกว่า ‘‘สมุดไทย” ทำด้วยเปลือกข่อย สมุดข่อยและใบลานจึงใช้เป็นเครื่องมือเขียนตลอดมา

ที่รู้ว่านางนพมาศแต่งเพราะความว่า
ข้าน้อยนพมาศ อภิวาทบาทบงสุ์ ด้วยจงจิต
ยังนิพนธ์กลกลอนอ่อนความคิด อันชอบผิดขอจงโปรดซึ่งโทษกรณ์
เป็นบุญตัวได้ตามเสด็จประพาส นักขัตฤกษ์ประชาราษฎร์สโมสร
สว่างไสวไปทั่วทั้งนคร พิฆัมพรก็แจ่มแจ้งแสงจันทร์เอย.

คุณค่าของวรรณคดีเรื่องนี้ แม้จะมีเหตุผลหลายอย่าง หลายประการ ที่เข้าใจว่า มีนักปราชญ์รุ่นหลังๆ แต่งเติม แต่ก็ได้แต่งเติมให้มีอรรถรสดีขึ้น จึงควรจะได้พิจารณาเอาแต่เรื่องที่เป็นเนื้อหา จะได้รู้ประวัติของนานางนพมาศ ความเฉลียวฉลาดของนางนพมาศ จารีต ประเพณีชาวสุโขทัย และในพระราชวังสมัยนั้นว่ามีอะไรบ้าง เช่น พระราชพิธีจองเปรียง ลอยกระทง วิสาขบูชา และพิธี ๑๒ เดือน การตกแต่งประดับประดาโคมไฟ การจัดดอกไม้ เหล่านี้ก็ควรแก่การศึกษาทั้งสิ้น

ที่มา:โฆฑยากร