ชนิดวรรณคดี

Socail Like & Share

วรรณคดีไทยสมัยกรุงสุโขทัย(พ.ศ.๑๘๐๐-๑๙๒๐)
วรรณคดี หมายถึงข้อเขียนที่เขียนขึ้นทั้งร้อยแก้ว และร้อยกรอง

ร้อยแก้ว คือข้อความเรียงธรรมดา แต่ใช้ถ้อยคำที่สละสลวย ชัดแจ้ง ชัดเจน

ร้อยกรอง หมายถึง บทกวีนิพนธ์ทุกชนิดมีทั้ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน และร่าย มีกฎเกณฑ์ข้อบังคับ  สัมผัส คุรุ ลหุ คำเป็น คำตาย เอก โท ฯลฯ

ชนิดวรรณคดี
วรรณคดี แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ
๑. วรรณคดีบริสุทธิ์ คือ วรรณคดีที่อ่านแล้ว ทำให้เกิดความสะเทือนใจสะเทือนอารมณ์
๒. วรรณคดีประยุกต์ คือ วรรณคดีที่มุ่งให้ผู้อ่านได้รับความรู้    ไม่ว่าจะเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง บางเรื่องก็มีทั้งเนื้อหาที่เป็นวรรณคดีบริสุทธิ์ และวรรณคดีประยุกต์ เมื่ออ่านแล้วทำให้เกิดอารมณ์คล้อยตามเนื้อ หานั้น เราเรียกว่า “รสวรรณคดี”

รสวรรณคดี
รสวรรณคดี แบ่งออกเป็น ๔ ประเภท คือ
๑. เสาวรจนี ได้แก่ ลีลาที่อ่านแล้วทำให้เกิดเพลิดเพลินใจ ในความสวยงาม ในความวิจิตรพิสดาร ในความเข้มแข็งของไพร่พล

ตัวอย่างชมความงามของสัตว์ป่า
จากบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน
กองทัพยกออกนอกพิจิตร     ต้องเลียบชิดบึงบางที่ขวางหน้า
บางแห่งใหญ่โตมโหฬาร    เป็นที่ปลาอาศัยทั้งใหญ่น้อย
ดูจากหลังม้าเห็นคลาคล่ำ     บ้างโดดดำโผล่ผุดแล้วมุดถอย
ชะโดดุกอ้ายด้องขึ้นล่องลอย ฝูงปลาสร้อยเป็นหมู่ดูคลับคล้าย
เทโพเทพาทั้งปลาช่อน     เนื้ออ่อนนวลจันทร์พรรณสวาย
สลิดสลาดปลาตะเพียนเวียนกราย หลากหลายว่ายแหวกอยู่ในบึง
ฯลฯ

ชมความงามปราสาทราชวัง วัด
จากนิราศนรินทร์
เรืองเรืองไตรรัตน์พ้น     พันแสง
รินรสพระธรรมแสดง    ค่ำเช้า
เจดีย์ระดะแซง        เสียดยอด
ยลยิ่งแสนแก้วเก้า    แก่นหล้า หลากสวรรค์

โบสถ์ระเบียงมณฑปพื้น    ไพหาร
ธรรมมาสน์ศาลาลาน        พระแผ้ว
หอไตรระฆังขาน            ภาคค่ำ
ไขประทีปโคมแก้ว        กํ่าฟ้า เฟือนจันทร์
ฯลฯ

๒. นารีปราโมทย์ เป็นรสที่ทำให้ผู้อ่านเห็นบทบาทการเกี้ยวพาราสี แสดงบทรักบทสวาทของหนุ่มสาวในวรรณคดีเรื่องนั้น

ตัวอย่างการเกี้ยวพาราสี ในเรื่องมณีพิชัย
พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๒
ร่าย

ค่อยยกพระหัตถ์สัมผัสต้อง             ยิ้มพลางทางมองดูหน้า
เห็นคล้ายละม้ายเหมือนไม่เคลื่อนคลา     พระราชาสวมสอดกอดรัด

ครั้นเจ้าพราหมณ์ถามมาว่าอะไร     ก็ตกใจแก้เก้อว่ายุงกัด
ทำเหลียวหลังเหลียวหน้าคว้าพัด โบกปัดพัดวีไปมา
ฯ ๔ คำฯ

๓. พิโรทวาทัง ได้แก่บทบาทของตัวละครที่แสดงความโกรธ มีอารมณ์ขุ่นมัว

ตัวอย่างเรื่องรามเกียรติ์ ตอนศึกทรพี
พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๑
เมื่อนั้น                          พระอิศวรบรมนาถา
ได้ฟังมหิงส์อหังการ์        ผ่านฟ้ามีเทวโองการ
เหม่ เหม่ ดูดู๋ อ้ายทรพี     มาอวดอ้างฤทธีว่ากล้าหาญ
ตัวมึงหยาบใหญ่ ใจพาล   อ้ายชาติเดียรฉานบทลักษณ์
ฆ่าพ่อตายแล้วมิหนำ        จะซ้ำเอาคอมารอจักร
มึงจะสู้กูไม่ควรพักตร์        แม้นรักจะใคร่ราวี
เอ็งจงรีบไปยุทธยง        ด้วยพาลีลูกองค์โกสีย์
ให้มึงสิ้นชีพชีวี              ด้วยฤทธีพระยาวานร
แล้วจงไปเอากำเกิด        บังเกิดเป็นบุตรพระยาขร
ชื่อมังกรกรรฐ์ฤทธิรอน     ให้ตายด้วยศรพระจักรา ฯ

ฯลฯ

จากเรื่อง มัทนพาธาว่า
อุเหม่
มะ ทะ นาชะ เจ้าเล่ห์         ชิชะช่างจำนรรจา
ตะ ละ คำ อุวฺาทา        ฤกระบิดกระบวนความ
คนุถามก็เจ้าไซร้            บ มิ ตอบ ณ คำ ถาม
วนิดาพยายาม            กะละเล่น สำนวลหวล

๔. สัลลาปังคพิสัย
แสดงรสบทเศร้าโศกเสียใจ คร่ำครวญรำพัน ตัดพ้อต่อว่าต่างๆ นาๆ

ตัวอย่าง ในเรื่องคาวี
พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๒ ว่า
ร่าย
เมื่อนั้น                จันทรสุดาเห็นผัวตักษัย
กอดศพภัสดาโศกาลัย        ทรามวัยครวญครํ่ารำพัน
ฯ ๒ คำ ฯ

โอ้
โอ้ว่าพระทรงเดช            เกิดเหตุทั้งนี้เพราะเมียขวัญ
เชื่ออีเฒ่าเพศยาอาธรรม์    จนมันลอบทำให้จำตาย
ครั้งนี้มิชั่วก็เหมือนชั่ว        คิดแค้นใจตัวไม่รู้หาย
อดสูอยู่ใยให้ได้อาย        จะสู้ตาย ตามองค์ พระทรงธรรม์
ว่าพลางทางกราบกับตีนผัว ทอดตัวโศกาเพียงอาสัญ
สองกรข้อนทรวงรุมรัน        ทรงกรรแสงซบสลบไป
ฯ ๖ คำ ฯ โอด

บทตัดพ้อต่อว่า ในเรื่องไชยเชษฐ
พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๒
บัดนั้น                วิฬาร์กล่าวแกล้งแถลงไข
ที่การลักผักปลาไม่พอใจ     ขึ้นหลังคาของใครก็ไม่เป็น
ข้าดีแต่คอยดูรู้เท่าคน        ใครแต่งกลอย่างไรในจะเห็น
ยิ่งไม่บอกอีแมวแล้วซ่อนเร้น จะค้นค้นดูเล่นให้เห็นใจ
ตอบพลางวิ่งออกนอกชาลา ทำร้องว่าใครนั่นมาแต่ไหน
นี่อ่อหม่อมพ่อเจ้าท่อนไม้     มาธุระอะไรที่ในวัง
ข้า ดู ดู เมื่อแรกก็แปลกหน้า เห็นงดงามลงกว่าหนหลัง
อนิจจาวิ่งมาแต่ลำพัง        ละเมียไว้วังให้ว่างเชย
ฯ ๘ คำเจรจา

จากเรื่องสังข์ศิลป์ชัย
พระราชนิพนธ์ รัชกาลที่ ๒
เมื่อนั้น                    นางสุพรรณเยาวยอดพิสมัย
ประนมกรวอนถามสังศิลป์ชัย     เหตุไรพระพี่หนีน้องมา
เคืองเข็ญเป็นไฉนไม่บอกแจ้ง     ทำให้เที่ยวแสวงกรรแสงหา
ปิ้มบรรลัยในกลางพนาวา         แต่โศกาครวญครํ่ารํ่ารัก
แค้นด้วยศรีสันทร์มันเลียมและ     เฝ้าเกาะแกะเกี้ยวพานหาญหัก
เขาข่มเหงน้องยาหนักหนานัก     จะด่าสักเท่าไรไม่นำพา
มีแต่เจ็บช้ำระกำใจ            คิดว่าจะไม่ได้มาเห็นหน้า
เพราะพระพี่ไม่มีเมตตา        จึงแกล้งหนีน้องมาเสียทั้งนี้
ฯ ๘ คำ ฯ

ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง
เป็นที่รู้กันแล้วในทางประวัติศาสตร์ว่า คนไทยที่อยู่ถิ่นเดิมในประเทศจีน เคยใช้อักษรจีนในทางราชการ พวกที่อพยพมาอยู่ในแคว้นชานและประเทศพม่า ก็ใช้อักษรอย่างเดียวกับพม่า ส่วนที่ลงมาอยู่ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ก็เคยใช้อักษรขอม

ใน พ.ศ. ๑๘๒๖ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้ทรงประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นใช้เอง อิทธิพลของอักษรขอมจึงเลิกไป หรือเสื่อมไป

วิธีเขียนหนังสือ ที่พ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นนั้น เขียนสระอยู่ระดับเดียวกับพยัญชนะ ไม่เอาสระไว้บน หรือไว้ล่าง เหมือนแบบขอม

วิธีนี้ตรงกับวิธีเขียนตามแบบชาวยุโรป จึงเป็นที่น่าประหลาดใจว่า พระองค์ไม่เคยรู้จักหนังสือยุโรปเลย เหตุใดจึงมีความคิดตรงกันเช่นนั้น

ครั้นพ่อขุนรามคำแหงเสด็จสวรรคตแล้ว ไม่มีกษัตริย์องค์ใด เข้มแข็ง พอที่จะรักษาความสมบูรณ์แบบอักษรไทยครั้งนั้นเอาไว้ วิธีเขียนอย่างขอมก็กลับมาอีก วิธีเขียนเอาสระไว้บนบ้ง ไว้ล่างบ้าง จึงมีมาจนกระทั่ง ปัจจุบันนี้

ที่มา:โฆฑยากร