วรรณคดีกรุงศรีอยุธยาตอนต้น

Socail Like & Share

ลิลิตพระลอ
(พ.ศ.๑๘๙๓-๒๑๙๙)
ลิลิตโองการแช่งน้ำ
สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (อู่ทอง) ได้ตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี และเสวยราชสมบัติ เมื่อ พ.ศ. ๑๘๙๓

เพื่อให้ข้าราชบริพารทั้งหลาย ได้ถวายความจงรักภักดี โดยได้จัดพิธี “ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา” เป็นการสาบานตนขึ้น พิธีอันนี้แม้ในสมัยรัตนโกสินทร์ก็ยังกระทำกันอยู่ แต่ในปัจจุบันได้เลิกไปแล้ว เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ คือ หลังจากการเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
พระเจ้าอู่ทองประสูติเมื่อ พ.ศ. ๑๘๕๗    เป็นพระราชโอรสของพระเจ้า
ศิริชัยเชียงแสน ส่วนพระราชมารดาเป็นพระราชธิดาของท้าวไตรตรึง
พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับธิดาของท้าวอู่ทอง ครองเมืองสุพรรณบุรี ต่อมาได้เสวยราชสมบัติ ครองเมืองสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. ๑๘๘๗ และได้ย้ายมาตั้งราชธานีใหม่ที่กรุงศรีอยุธยาที่หนองโสน เพราะเกิดโรค ระบาด ทำให้ราษฎรล้มตายเป็นอันมาก

วรรณคดีเรื่อง “ประกาศโองการแช่งน้ำ” จึงเกิดขึ้น

ลักษณะการแต่ง  แต่งเป็นลิลิตสลับโคลงห้า เดิมเขียนเป็นอักษรขอม แสดงว่าอักษรขอมยังมีอิทธิพลอยู่มาก แม้ในสมัยกรุงศรีอยุธยา

เนื้อเรื่อง เป็นไปตามลัทธิของพราหมณ์ผู้นับถือไสยศาสตร์ มีการกล่าวเชิญพระนารายณ์ พระอิศวร และพระพรหม กล่าวถึงไฟประลัยกัลป์ล้างโลก แล้วฝนตกลงมาดับ เกิดแผ่นดิน ภูเขา ไอดิน หอบขึ้นไปถึง สวรรค์ชั้นฟ้า เทวดาได้กลิ่นจึงลงมากิน แต่กลับขึ้นไม่ได้เกิดพระอาทิตย์ เดือนดาว เกิดกษัตริย์ และมีการสาปแช่งผู้ทุจริต ผู้ไม่จงรักภักดีต่อกษัตริย์ และให้พรแก่ผู้ภักดี
ตอนแช่งมีว่า
จงไปเป็นเปลวปล่อง         อย่าอาศัยแกน้ำจนตาย
นํ้าคลองกรอกเป็นพิษ         นอนเรือนคำรนคาจนตาย ฯ
คาบิดเป็นตาวงุ้ม        ลืมตาหงายสู่ฟ้าจนตาย
ฟ้ากระทุ่มทับลง            ก้มหน้าลงแผ่นดินจนตาย
จระเข้ริมเสือพัด            หมีแรดตวัดแสนงขยาย
หอกปืนฝายปักครอบ         ใครต้องจอบจงตาย
งูเขี้ยวพิษทั้งหลายลุ่มฟ้า ฯลฯ

ล้วนแล้วแต่ร้ายๆ ทั้งสิ้น

เมื่อผู้ที่ถือนํ้าพระพิพัฒน์สัตยาไปแล้ว และได้กล่าวคำออกมา ก็เกิดเกรงกลัวภัยจะมีแก่ตน จึงได้ผลในทางจิตวิทยาสำหรับคนในสมัยนั้น ที่ถือบุญบาปเป็นเรื่องสำคัญ

นักปราชญ์ที่ค้นคว้า ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่เป็นที่เข้าใจกันว่า พราหมณ์ผู้กระทำพิธีเป็นผู้แต่งขึ้น ตามพระราชโองการของพระเจ้าอู่ทองก็ได้ แต่คงแต่งในสมัยพระเจ้าอู่ทอง เพราะมีสำนวนคล้ายคลึงกับวรรณคดีที่แต่งในสมัยพระเจ้าอู่ทองหลายเล่ม

วรรณคดีเรื่องนี้ ไม่มีรสแห่งความเพลิดเพลิน มีแต่สิ่งทำให้เกิดความเกรงกลัว ต้องการความศักดิ์สิทธิ์ ความขลัง จึงบรรจุถ้อยคำสาปแช่งเอาไว้ และให้พรแก่ผู้ที่จงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

สำนวนภาษาใช้ก็ยาก เป็นศัพท์ที่เข้าใจยาก มีศัพท์เขมร บาลี สันสกฤต และศัพท์ไทยโบราณ ซึ่งโน้มนำไปในทางที่หวาดกลัว เช่น ตอนอัญเชิญผีสางเทวดาให้มาเป็นพยาน เป็นต้น

ลิลิตยวนพ่าย
ลิลิตยวนพ่ายนี้ แต่งขึ้นในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ
สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เป็นโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๒ (เจ้าสามพระยา) พระนามเดิม คือ “พระราเมศวร” ทรงประสูติเมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๔
พ”ศ. ๑๙๘๑ เมื่อได้เป็นอุปราชแล้ว ก็ได้ครองหัวเมืองฝ่ายเหนือ ที่เมืองพิษณุโลก และได้ครองราชสมบัติเมื่อ พ.ศ. ๑๙๙๑

ลิลิตยวนพ่ายนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับสงคราม ระหว่างไทยฝ่ายใต้ คือ อยุธยา กับไทยฝ่ายเหนือ คือ ลานนา เชียงใหม่ โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เสด็จยกกองทัพไปตีเมืองเชียงชื่น เมื่อ พ.ศ. ๒๐๑๗

ไม่ปรากฏนามผู้แต่ง แต่เข้าใจว่าแต่งในรัชสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

ลักษณะเป็นลิลิตดั้น ประกอบด้วยร่ายดั้น ๒ บท กับโคลงดั้นบาทกุญชร ผู้แต่งมีความมุ่งหมายที่จะเฉลิมพระเกียรติของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และพระยายุธิษฐิระ พระราชบิดา นอกจากนี้ก็เป็นความรู้ในทางประวัติศาสตร์ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และประวัติศาสตร์ทางเหนือ บรรยายถึงการปราบปรามผู้ไม่จงรักภักดีต่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ

เป็นวรรณคดีที่แต่งได้ยอดเยี่ยม ศัพท์ภาษาเก่า มีคำโบราณอยู่มาก การพรรณนาโวหาร และการเล่นคำ เล่นอักษรมาก ทำให้ไพเราะ ดังเช่น
ไตรตรัสไตรเทพเรื้อง        ไตรรัตน์
ไตรโลกยไตรไตรภพ        ท่ววแท้
ไตรไตรปิฎกตรัส            ไตรเภท
ไตรท่ววไตรพิธแปล้        ปล่งชาญ ฯ

นอกจากนี้ยังให้ความรู้ในด้านประวัติศาสตร์ ขนบธรรมเนียม และศาสนาในสมัยนั้นอีกด้วย

มหาชาติคำหลวง
มหาชาติ แปลว่าชาติยิ่งใหญ่ นับเป็นชาติหนึ่ง ในทศชาติ ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้สำเร็จพระโพธิญาณเป็นพระศาสดาเอกในโลก พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีถึง ๑๐ ประการ เรียกว่า  “ทศบารมี”
ทศบารมี ได้แก่
๑. ทาน        ๒. ศีล        ๓. เนกขัมม์
๔. ปัญญา     ๕. วิริยะ        ๖. ขันติ
๗. สัจจะ        ๔. อธิษฐาน     ๙. เมตตา
๑๐. อุเบกขา
มหาชาติ นับเป็นชาติหนึ่ง ในทศชาติ หรือสิบชาติ ได้แก่
๑. เตมีย์ชาดก        ๒. มหาชนกชาดก
๓. สุวรรณสามชาดก     ๔. เนมิราชชาดก
๕. มโหสถชาดก        ๖. ภูริทัตชาดก
๗. จันทกุมารชาดก     ๘. นารทชาดก
๙. วิฑูรชาดก        ๑๐. เวสสันดรชาดก
อันเป็นชาติสุดท้ายก่อนที่จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เนื้อเรื่องของมหาชาติ จึงเป็นเรื่องราวชาติที่ ๑๐ คือพระเวสสันดร

คำหลวง เป็นคำต่อท้าย แสดงว่าเป็นของพระมหากษัตริย์ หรือของเชื้อพระวงศ์จัดให้มีขึ้น หรือพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระธุระให้ผู้อื่นจัดขึ้นก็ได้ ต้องเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนาหรือตำนาน ใช้คำประพันธ์หลายชนิด ถูกต้องถือเป็นแบบฉบับได้

มหาชาติคำหลวงนี้ เป็นหนังสือคำหลวงเรื่องแรกของไทย ใช้ภาษาที่เก่ามาก ยากแก่การเข้าใจ และควรจะได้ศึกษา เป็นต้นว่า มำเลือง (เมลือง) แพสยันดร (เวสสันดร) โยพราช (ยุพราช) เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ให้ความรู้ในด้านกวี มี โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ควรแก่การศึกษา แต่มีภาษาบาลีมาก ดังเช่น

ปริ โภ เคหิ รกฺ เขหิ ป่านนนอาศรยสัตว์ ฤดีดัดตรัยอาหาร
วนนฺ ตํ รติวฒฺ นํ ใจจงกำหนดนาน หวานป่า ช่วยจำเรอญใจ
เวฑฺ ริยวฌฺณํ สนฺนิภํ มีนํ้าผผ่องแผ้ว ดุจดวงแก้วพิฑุรใส

ภักษ์พิศม์แม่มรณเจ้า ดีกว่าลูกเป็นข้า ขบบเสีย
ทอดตนตกเหวห้วย ม้วยแม่ม้วย เทอญม้วย อยู่ใย
กรรแสงสวมคอหิ้ว ตาย บ ทันลัดนิ้ว หนึ่งดี

มหาชาติคำหลวงนี้ แต่งเมื่อปี พ.ศ.๒๐๒๕ ในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ เดิมเป็นภาษามคธ คงจะมีการนำมาแปลเป็นไทย ตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงสุโขทัย แต่ต้นฉบับสูญหายไป ดังนั้น มหาชาติคำหลวงที่เก่าที่สุด ก็คือ ฉบับที่แต่งในสมัยของสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ นี้เอง แม้กระนั้นก็ยังไม่ครบ มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ขาดหายไปหกกัณฑ์ คือ กัณฑ์หิมพานต์ ทานกัณฑ์ จุลพน มัทรี สักบรรพ์ และ ฉกษัตริย์

ในสมัยรัชกาลที่ ๒ ประมาณ พ.ศ. ๒๓๕๗ ได้แต่งซ่อมขึ้นใหม่ให้สมบูรณ์ เป็น ๑๓ กัณฑ์ด้วยกัน สำหรับสวดในวันนักขัตฤกษ์ เช่น เทศกาลเข้าพรรษา เป็นต้น

พระเวสสันดร ๑๓ กัณฑ์ มีดังนี้
๑. กัณฑ์ทศพร เป็นเรื่องราวที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ แล้วเสด็จกลับสู่กรุงกบิลพัสดุ์ และพระอินทร์ประทานพร ๑๐ ประการให้แก่นางผุสดี
๒. กัณฑ์หิมพานต์ พระเวสสันดรประสูติ จนกระทั่งพระเวสสันดรประทานช้างปัจจัยนาเคนทร์ และเนรเทศพระเวสสันดร
๓. ทานกัณฑ์ เป็นเรื่องที่พระเวสสันดร ทรงบริจาคมหาทาน

๔. วนปเวสน์ เป็นเรื่องพระเวสสันดร กับพระนางมัทรี และสองกุมารเสด็จออกไปบำเพ็ญพรต ณ เขาวงกตพบพรานเจตบุตร
๕. กัณฑ์ชูชก กล่าวถึงชูชกเดินทางไปขอสองกุมาร
๖. จุลพน ชูชกลวงพรานเจตบุตรให้ชี้ทางไปสู่เขาวงกต
๗. มหาพน พระฤาษีอัจจุต ชี้ทางไปสู่เขาวงกต
๘. กุมาร ชูชกทูลขอสองกุมาร
๙. มัทรี พระนางมัทรีกลับจากป่า ทราบเรื่องสองกุมารแล้ว ทรงอนุโมทนา
๑๐. สักกบรรพ พระอินทร์ทรงแปลงพระองค์ เสด์จลงมาขอนางมัทรี แล้วฝากไว้กับพระเวสสันดร
๑๑. มหาราช พระเจ้ากรุงสญชัยทรงได้สองกุมาร จากชูชก
๑๒. ฉกษัตริย์ หกกษัตริย์ทรงพบกันที่เขาวงกด
๑๓. นครกัณฑ์ หกกษัตริย์เสด็จกลับสู่พระนคร แล้วพระเวสสันดรครองเมืองต่อไป

จะเห็นได้ว่า มหาชาติคำหลวง เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทั้งสิ้น และเกี่ยวกับชาติที่เกิดเป็นพระเวสสันดร มีลีลาการแต่งไพเราะ แม้จะมีศัพท์ที่ยากปะปนอยู่เป็นอันมาก ก็ควรแก่การศึกษายิ่งนัก

ลิลิตพระลอ
ลิลิตพระลอ เป็นวรรณคดียอดเยี่ยมเรื่องหนึ่งของไทย มีสำนวนไพเราะจับใจ และเป็นวรรณคดีที่นักกวีรุ่นหลังเอามาเลียนแบบ ถือเป็นแบบฉบับของการแต่ง นอกจากนี้ก็ยังให้คติเตือนใจ เช่นว่า
ใดใดในโลกล้วน         อนิจจัง
คงแต่บาปบุญยัง        เที่ยงแท้
คือเงาติดตนดัง        ตรึงแน่น อยู่นา
ตามแต่บาปบุญแล้    ก่อเกื้อรักษา

สำนวนไพเราะในการชมความงามของพระเอก ชมปราสาทราชวัง ชมเขาลำเนาไพร เช่น

รอยรูปอินทร์หยาดฟ้า     มาอ่าองค์ในหล้า
แหล่งให้คนชม        แลฤา

พระองค์กลมกล้องแกล้ง     เอวอ่อนอรอรรแถ้ง
ถ้วนแห่งเจ้ากูงาม        บารนี ฯ

โฉมผจญสามแผ่นแพ้         งามเลิศงามล้วนแล้
รูปต้องติดใจ            บารนี ฯ

ฤาขจรในแหล่งหล้า        ทุกทั่วคนเที่ยวค้า
เหล่าล้วนยลโฉม            ทานแล ฯ

เดือนจรัสโพยมแจ่มฟ้า     ผิ บ ได้เห็นหน้า
ลอราชไซร้ดูเดือน        ดุจแล ฯ

เป็นวรรณคดีที่เอาเรื่องพื้นเมืองมาผูกขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าเกิดที่เมืองแพร่ เมืองน่าน เชียงราย เป็นโศกนาฏกรรม

ชมความงามของพระเพื่อนพระแพง
โฉมสองเหมือนหยาดฟ้า         ลงดิน
งามเงื่อนอัปสรอินทร์            สู่หล้า
อย่าคิดอย่าครวญถวิล    ถึงยาก     แลนา
ชมชะแย้มทั่วหน้า            หน่อท้าวมีบุญ

บุญคุณของแม่และเมีย
ร้อยชู้ฤาเท่าเนื้อ            เมียตน
เมียแก่พันฤาดล            แม่ได้
ทรงครรภ์คลอดเป็นคน    ฤาง่าย เลยนา
เลี้ยงยากนักท้าวไธ้        ธิราชผู้มีคุณ

บทแม่สอนลูก ๗ ข้อ
๑. อย่าละตนคบเท็จ ริชอบเสร็จจึงทำ คิดทุกคำจึงออกปาก อย่าให้ยากแก่ใจไพร่ ไต่ความเมืองจงตรง ดำรงพิภพให้เย็น ดับเข็ญนอกเข็ญใน
๒. ส่องใจดูทุกกรม อย่าชมตามคำเท็จ  อย่าหาญเห็ดแผกธรรม
๓. ที่จะกันกันจงหมั้น ที่จะดั้นดั้นจงเป็นกล
๔. ส่องต้นหนคนใช้ เลือกหาใจอันสัตย์ ตัดไมตรีโดยยุกต์ ปลุกใจให้คนหาญ ผลาญศัตรูเพรียงเฟื่อง อาญาเรืองฤทธิ์ราษฎร เกื้อกันกาจไพรี กับกาลีอย่าให้ลุก
๕. อย่าชิงสุกก่อนห่าม อย่าล่ามม้าสองปาก อย่าลากผิดตามหลัง อย่าให้คนชังลักแช่ง แต่งตนให้คนรัก
๖. ชักชวนคนสู่ฟ้า เบื้องหน้าเทพยอยศ จงปรากฏชอบแล้ว อย่าได้แคล้วโลกรำพึง
๗. คำนึงอย่ารู้มลาย จงอย่าหายศพ่อ ต่อม้วยฟ้าหล้าสวรรค์ กัลป์ประจัญอย่ารู้ลาญ

ย้งมีโคลงที่ถือเป็นแบบฉบับ และใช้เป็นตัวอย่าง มาจนทุกวันนี้ ก็คือ
เสียงลือเลียงเล่าอ้าง         อันใด พี่เอย
เสียงย่อมยอยศไกล        ทั่วหล้า
สองเขือพี่หลับใหล        ลืมตื่น ฤาพี่
สองพี่คิดเองอ้า            อย่าได้ถามเผือ

ผู้แต่งไม่ทราบว่าเป็นใคร    จากความสุดท้ายว่า
“จบเสร็จมหาราชเจ้า นิพนธ์” และ “จบเสร็จมหาเยาวราชบรรจงW
บ้างก็ว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงแต่ง แล้วให้พระเยาวราช (เจ้าฟ้าอภัย) เขียน

บางท่านก็ว่า มหาราชน่าจะเป็นสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถก็ได้ ทั้งนี้เมื่อดูภาษาศัพท์ที่ใช้ เป็นภาษาที่ใช้อยู่ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ดังเช่น มหาชาติคำหลวง

กาพย์มหาชาติ
ความจริงกาพย์มหาชาตินี้ แต่งเป็นร่ายยาว มีภาษาบาลีปนเล็กน้อย กาพย์หมายถึงบทร้อยกรองโดยทั่วไป แต่สำหรับเทศน์ดูจะยาวเกินไป ไม่จบวันเดียว ทำให้นักกวีรุ่นหลังแต่งขึ้นใหม่ตามความประสงค์ของผู้ฟังเทศน์ ปรารถนาจะฟังให้จบภายในวันเดียว จะได้อานิสงส์มาก
พระเจ้าทรงธรรมทรงแต่งขึ้น พระเจ้าทรงธรรมเป็นโอรสของสมเด็จพระเอกาทศรถ    พระนามเดิมว่า “เจ้าฟ้าศรีศิลป์”

พระองค์เป็นผู้เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก    เมื่อทรงผนวช ได้เป็นที่พระพิมลธรรมอนันตปรีชา ต่อมาได้ทรงแย่งราชสมบัติจากเจ้าฟ้าศรีเสาวภาคย์ แล้วขึ้นครองราชย์สมบัติ ใน พ.ศ. ๒๑๖๓

ใน พ.ศ. ๒๑๖๖ พรานบุญได้พบรอยพระพุทธบาทอยู่เหนือยอดเขาสุวรรณบรรพรต  จึงรับสั่งให้สร้างมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทไว้ อยู่ในจังหวัดสระบุรี ปรากฏเป็นที่เคารพบูชาของพุทธศาสนิกชนมาจนทุกวันนี้

ในพ.ศ. ๒๑๗๐ ทรงนิพนธ์กาพย์มหาชาติขึ้น
เนื้อเรื่อง เป็นเรื่องพระเวสสันดร เช่นเดียวกับ มหาชาติคำหลวง หากการแต่งผิดกัน คือ เอาพระคาถาไว้ส่วนหนึ่ง แล้วแต่งเป็นร่ายยาว มีคำบาลีปนบ้าง ภาษาอ่านเข้าใจง่าย เช่น
“…….ว่าพ่อนี้มึสาวาท เป็นอัประมาทเหมือน ประมาท ไม่เกรงใจ ความเจ็บร้อนนี่กระไรให้พลุ่งพล่าน ดังเพลิงผลาญมาลามลน ให้กายสกลกำเริบร้อนรุมระอุองค์ จะเอาน้ำอันใดสรรสุคนธรสหอม พันกระออมจันท์ อบอาบ เอิบสกลซับซาบสรรพางค์ ให้ยะเยือกเย็นอย่าง
งั้นนะพ่อชาลี…….”
อ่านและฟังง่าย ซาบซึ้งใจ

ที่มา:โฆฑยากร