รูปร่างของระฆัง กระดิ่ง กระดึง

Socail Like & Share

ระฆังนั้นใครๆ ก็คงรู้จัก เพราะตามวัดวาอารามมักจะมีหอระฆังประจำอยู่เสมอ โดยเฉพาะตามโรงเรียนต่างๆ ก็มีระฆังไว้สำหรับตีให้สัญญาณเข้าเรียนหรือเลิกเรียนแต่เป็นระฆังขนาดเล็กกว่าตามวัดเท่านั้นเองระฆัง

ระฆังเบ็นเครื่องตีให้สัญญาณ โดยมากมักจะหล่อด้วยทองเหลือง พูดถึงรูปร่างระฆัง มีรูปเหมือนกระดึงที่แขวนไว้ตามชายคาโบสถ์วิหาร หรือมณฑป และข้างในกระดึงนี้แขวนใบโพธิ์ที่ทำด้วยทองเหลืองไว้เวลาลมพัดมาใบโพธิ์ก็กระทบกับกระดึงดังไพเราะเหมือนบรรเลงดนตรีทีเดียว อย่างที่พระมหานาค วัดท่าทราย พรรณนาไว้ในหนังสือบุณโณวาทคำฉันท์ ตอนชมมณฑปที่พระพุทธบาทสระบุรีว่า

ใบโพสุวรรณห้อย    รยาบย้อยบรุงรัง
ลมพัดกระดึงดัง        เสนาะศัพท์อลเวง

เสียงดุจสังคีต        อันดึงดีดประโคมเพลง
เพียงเทพบรรเลง        ร เรื่อยจับรบำถวาย”

นอกจากจะเหมือนกระดึงแล้ว ระฆังยังมีรูปอย่างดียวกับกระดิ่ง แต่กระดิ่งนั้นย่อมกว่าระฆัง สมัยก่อนนี้ โรงเรียนต่างใช้กระดิ่งเป็นสัญญาณเข้าเรียน กระดิ่งนั้นมีมือถือและข้างในมีลูกตุ้มแขวนอยู่ เมื่อสั่นให้สัญญาณก็จะดังเสียงรัวแต่สมัยนี้กระดิ่งดูเหมือนจะหายไปจากโรงเรียนเสียแล้ว เพราะบริเวณโรงเรียนกว้างขึ้น นักเรียนมากขึ้นเสียงกระดิ่งไม่พอที่จะให้นักเรียนได้ยินกันทั่ว จึงหันมาใช้ระฆังแทน ในถิ่นที่มีไฟฟ้าใช้ก็ใช้ออดให้สัญญาณเสียเลย

ดังได้กล่าวมาแล้วว่าระฆังนั้นใช้เป็นเครื่องตีให้สัญญาณ ก่อนที่เราจะมีระฆังใช้เป็นเครื่องบอกสัญญาณนั้น สมัยแรกเริ่มเดิมที เมื่อมนุษย์เรายังอยู่ตามถ้ำและป่าเขาลำเนาไพร เครื่องให้สัญญาณก็คงจะเป็นท่อนไม้ที่มีโพรงหรือแผ่นหิน เคยเห็นระฆังหินในที่แห่งหนึ่ง ใช้ตีดังพอสมควรทีเดียว เมื่อคนเรามีความเจริญมากขึ้น จึงรู้จักเอาโลหะมาหล่อเป็นรูประฆังและเป็นเรื่องที่แปลกประหลาดที่รูปแบบของระฆังนี้เป็นอย่างเดียวกันเกือบทั่วโลกและที่น่าอัศจรรย์ก็คือ ระฆังนั้นจะต้องมีหอสำหรับแขวน ทั้งนี้ก็เพื่อให้เสียงที่ตีให้สัญญาณได้ยินไปไกลๆ นั่นเอง ตามโบสถ์ในศาสนาคริสต์จะต้องสร้างหอระฆังไว้ติดกับตัวโบสถ์ ส่วนวัดทางพุทธศาสนานิยมสร้างหอระฆังไว้ต่างหากบางแห่งก็สร้างหอกลองไว้ด้วย การตีระฆังของโบสถ์คริสต์หรือที่เราเรียกว่าระฆังฝรั่งก็ผิดกับของทางพุทธ เพราะระฆังฝรั่งมีลูกตุ้มแขวนอยู่ข้างใน และมีเชือกผูกห้อยลงมาเวลาตีต้องกระตุกให้ระฆังแกว่งมากระทบลูกตุ้มดังหงั่งเหง่งๆ ถ้ากระตุกไม่เป็น ระฆังจะไม่ดังเป็นจังหวะ ส่วนระฆังทางวัดพุทธนั้นใช้ไม้ตี จากข้างนอกระฆัง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี