มหาตมะคานธีประธานสภาคองเกรส

Socail Like & Share

คานธี
เมื่ออดอาหารผ่านพ้นไปแล้วโดยมีผลสมความประสงค์ เวลาแห่งการประชุมสภาคองเกรส ประจำปี ค.ศ.๑๙๒๔ ก็มาถึง ตราบเท่าวันนี้ท่านยังมิได้รับตำแหน่งเป็นประธานแห่งสภา ทั้งนี้มิใช่เพราะเหตุที่ประชาชนมิได้ขอร้องให้ท่านเป็นประธาน หากท่านยังไม่ยอมรับตำแหน่งอันมีเกียรตินั้น ทั้งได้ปฏิเสธทุกคราวที่ประชาชนขอร้องให้ท่านเป็นประธาน ความจริงท่านดำรงอยู่ในตำแหน่งประธานหรือไม่ก็ตามที กิจการของคองเกรสย่อมดำเนินไปภายใต้ความควบคุมของท่านเสมอ อย่างไรก็ดี มาในคราวนี้ประชาชนไม่ยอมให้ท่านคัดค้านความปรารถนาของคนทั่วประเทศที่อยากเห็นท่านดำรงอยู่ในฐานะเป็นประมุขแห่งคองเกรส ท่านเห็นความจำนงของประเทศเป็นเอกฉันท์จึงยอมรับตำแหน่งเป็นประธานสภาคองเกรสได้นัดประชุมกันที่เมืองเวลคาม สุนทรพจน์ที่ท่านได้แสดงในฐานะเป็นประธานแห่งคองเกรสและประมุขแห่งชาติ มีข้อสังเกตอยู่หลายข้อ ซึ่งบ่งถึงความคิดเห็นของท่านในอันที่เกี่ยวแก่อนาคตแห่งชาติ และนโยบายที่ประเทศพึงดำเนิน

ในที่นี้ ควรจะกล่าวไว้ด้วยว่า สมัยที่ท่านคานธีได้รับเลือกเป็นประธานแห่งคองเกรส ประเทศตกอยู่ในข่ายอันตรายอย่างมากมาย ทั้งนี้ก็เพราะเหตุว่านโยบายการไม่ร่วมมือโดยอาศัยหลักอหิงสา จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ดำเนินต้องไม่คิด หรือประทุษร้ายต่อฝ่ายปราบปราม หรือรัฐบาล ซึ่งถ้าจะกล่าวตามหลักแห่งจิตวิทยา เป็นการลำบากสำหรับมหาชนที่จะดำเนินได้ เพราะว่านิสัยของคนธรรมดามีอยู่ว่าถูกตีเมื่อใดต้องตีตอบเมื่อนั้น การยกโทษให้แก่ผู้ตี ย่อมเป็นการเหลือวิสัยสำหรับคนธรรมดา มหาชนประกอบขึ้นด้วยคนธรรมดาในการปราบปรามหลักการไม่ร่วมมือ ซึ่งมหาชนมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วยนั้น รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายอย่างไร้มนุษยธรรมดังที่ท่านคานธีได้กล่าวไว้ ฉะนั้นจึงนับว่าเป็นของธรรมดาที่มหาชนอาจพลาดพลั้ง จากหลักอหิงสา ตีตอบเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลบ้างก็เป็นได้ เหตุการณ์ชนิดนี้ได้เกิดขึ้นหลายราย แต่รายที่ร้ายที่สุด เกิดขึ้นที่เมืองเจารีโจรา ณ ที่นั้นพวกมหาชนพากันไปเผาสถานีตำรวจ และตีพวกพลตำรวจจนถึงตายหลายคน

อาศัยเหตุการณ์อันผิดหลักอหิงสาเช่นนี้ ท่านจึงมีความเห็นว่า ประเทศยังไม่เตรียมพร้อมพอที่จะดำเนินตามหลักอหิงสาได้ ฉะนั้นท่านจึงตกลงใจอย่างเด็ดขาดว่า ก่อนแต่จะประกาศนโยบายการขัดขืนกฎหมาย ควรจะยังประเทศให้เตรียมรับ และยึดมั่นอยู่ในหลักอหิงสาเสียก่อนโอกาสแสดงความคิดเห็นเช่นนั้น ให้คณะคองเกรสรับพิจารณาก็ได้มาถึง โดยที่ท่านได้รับเลือกเป็นประมุขแห่งคองเกรสในสุนทรพจน์ของท่านคราวนี้ ท่านได้ยุติลงด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ว่า

“ในฐานะที่ฉันเป็นสมาชิกแห่งคองเกรส และปรารถนาที่จะให้คองเกรสตั้งอยู่ด้วยความเป็นเอกฉันท์ ฉันจึงขอแนะนำให้งดหลักการไม่ร่วมมือไว้ชั่วคราวเพราะฉันเห็นว่า ชาติยังเตรียมพร้อมไม่พอ แต่ส่วนตัวฉันตราบใดที่รัฐบาลยังดำเนินหลักการดังที่ดำเนินอยู่ ณ บัดนี้ ฉันจะไม่ยอมร่วมมือด้วยเลย สำหรับฉันการไม่ร่วมมือ มิใช่จะเป็นเพียงนโยบายแต่อย่างเดียว แต่นับว่าเป็นกรณียกิจของตนที่อาศัยศรัทธาเป็นแดนเกิด การไม่ร่วมมือและการขัดขืนกฎหมาย เป็นเสมือนอย่างละกิ่งสองกิ่งแห่งต้นไม้ต้นเดียวกันคือสัจจาเคราะห์ สัจจาเคราะห์เป็นเสมือนอย่างต้นกัลปพฤกษของฉัน สัจจาเคราะห์คือการแสวงหาความจริงและความจริงคือพระเจ้า อหิงสาคือแสงที่จะเปิดเผยความจริงให้แก่ฉัน อิสรภาพเป็นส่วนหนึ่งแห่งความจริง สัจจาเคราะห์ได้บรรลุผลสำเร็จมาแล้วในอาฟริกาใต้ จัมปารันและที่อื่นๆ อีกหลายแห่ง สัจจาเคราะห์ต้องต่างจากความคิดร้าย หรือความเกลียดชังทุกประการ ฉะนั้นจึงไม่เกลียดชาวอังกฤษ และเกลียดไม่ลงด้วย แต่ฉันไม่ยอมที่จะแบกแอกของเขา ในการทำลายหลักการและระเบียบการของอังกฤษ ฉันจะต่อสู้จนตัวตาย แต่ฉันจะต่อสู้ตามหลักอหิงสา ฉันมีความไว้วางใจในสมรรถภาพของอินเดียว่า อินเดียสามารถจะต่อสู้กับรัฐบาลอังกฤษตามหลักอหิงสาได้ การทดลองนี้ได้ปรากฎเป็นผลมาแล้ว คราวนี้ก็ได้ผล แต่ไม่ถึงขนาดเท่าที่ได้หวังหรือคาดหมายไว้ กระนั้นก็ดีฉันยังไม่หมดหวังเลย ตรงกันข้าม ฉันเชื่อว่าอินเดียต้องบรรลุถึงผลสำเร็จ โดยอาศัยทางสัจจาเคราะห์นี้เอง การงดชั่วคราวนี้ก็เป็นเพียงการทดลองประการหนึ่ง ถ้าเราสามารถดำเนินตามหลักวิธีการที่แนได้วางแบบแผนไว้แล้วคงจะไม่ต้องดำเนินหลักการไม่ร่วมมือเลย แต่ทว่าวิธีการนั้นไม่เป็นผลสำเร็จ ก็ต้องเริ่มดำเนินหลักการไม่ร่วมมือใหม่อีก ฉันได้กล่าวมาแล้วหลายครั้งหลายหนว่า สัจจาเคราะห์ไม่ผิดคาดและสัจจาเคราะห์แต่อย่างเดียว พอที่จะสถาปนาความจริงได้ ขอให้พวกเราทั้งหลายจงเป็นผู้ตั้งมั่นอยู่ในสัจจาเคราะห์อย่างแท้จริง ความพยายามเช่นว่านี้ไม่ต้องอาศัยคุณสมบัติชนิดที่แม้คนเลวที่สุดก็หาไม่ได้ เพราะว่าสัจจาเคราะห์เป็นคุณสมบัติแห่งวิญญาณภายใน สัจจาเคราะห์มีอยู่ในใจของเราทุกคน อิสรภาพเป็นสิทธิแต่กำเนิดของเราฉันใด สัจจาเคราะห์ก็ฉันนั้น คือเป็นสิทธิแต่กำเนิด ขอให้พวกเราทั้งหลายจงรู้ถึงข้อนี้”

เมื่อการประชุมคองเกรสเสร็จสิ้นลงแล้ว ท่านก็ลงมือดำเนินการทันที อาทิเช่น เที่ยวสั่งสอนประชาชนทั่วอาณาจักรอินเดียให้ตั้งมั่นอยู่ในหลักอหิงสา เลิกการทะเลาะวิวาทระหว่างกันและกัน สมานความสามัคคีให้ตัดสินคดีกันเองโดยไม่ต้องพึ่งศาล เลิกใช้สินค้าต่างประเทศโดยเฉพาะผ้าอังกฤษนุ่งห่มผ้าที่ทอขึ้นในอินเดีย เลิกรับของมึนเมา และให้เตรียมตัวเพื่อขัดขืนกฎหมายถ้าจำเป็นในอนาคต ดังนี้เป็นต้น ภายใต้การนำของท่านคานธี ทั่วประเทศได้ตื่นตัวขึ้นเพื่อกำจัดความบกพร่องที่แล้วๆ มาเสียและผดุงความดีของตนให้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อว่าหากในอนาคตเกิดปะทะกันขึ้นระหว่างอังกฤษกับอินเดีย อินเดียจะต้องเป็นฝ่ายชนะ เพราะอาศัยความดีและความชอบธรรมเป็นกรณีนั่นเอง

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี