พายุใหญ่ในชีวิตมหาตมะคานธี

Socail Like & Share

คานธี
เนื่องจากชาวอินเดียในอาฟริกาใต้ทั้งหลายร่วมือกันช่วยคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ อันว่าด้วยการเก็บภาษีกรรมกรชาวอินเดียอย่างแรงกล้า รัฐบาลอังกฤษจึงเล็งเห็นเป็นการจำเป็นยิ่งที่จะต้องเปิดการเจรจาขึ้นระหว่างรัฐบาลกับอินเดีย ส่วนตัวท่านคานธีเล่าก็เห็นว่าเจรจานั้นจะต้องกินเวลานาน จึงเป็นการจำเป็นแท้ที่ท่านจะต้องพักอยู่ในอาฟริกาใต้อีกนาน อาศัยเหตุนี้ ท่านจึงรีบกลับไปสู่อินเดียในปลายปี ค.ศ.๑๘๙๕ แล้วพาบุตรภรรยาไปอยู่ในอาฟริกาใต้

ในคราวนี้ Natal Indian Congress ได้ขอร้องต่อท่านว่า เมื่อท่านกลับสู่อินเดียแล้ว ขอให้ท่านเผยความเป็นอยู่ของชาวอินเดียในอาฟริกาใต้ ให้ชาวอินเดียในอินเดียทราบความจริงทั้งนี้เพื่อสะดวกแก่การเจรจา และเพื่อให้ชาวอินเดียในอินเดียเห็นอกเห็นใจ แล้วจะได้ช่วยกันสนับสนุนการคัดค้านร่างพระราชบัญญัติฉบับนั้น หรือเพื่อต่อสู้รัฐบาลในประการอื่นๆ ถ้าหากจะเกิดมีขึ้นไซร้

ฉะนั้นต่อมาเมื่อท่านคานธีกลับสู่อินเดียแล้ว ท่านจึงได้ลงมือเปิดเผยความเป็นอยู่ของชาวอินเดียในอาฟริกาใต้อย่างไม่รีรอ โดยอาศัยการแสดงปาฐกถา การประพันธ์และการนำข้อความต่างๆ ลงในหนังสือพิมพ์

การเผยข่าวนี้ ได้กลายเป็นเหตุการณ์กระทบกระเทือนถึงชาวผิวขาวในอาฟริกาใต้ และทั้งฝรั่งในอังกฤษเองด้วยถึงกับผู้ส่งข่าวของบริษัทรอยเตอร์ได้ส่งโทรเลขไปยังเนตาลว่า “เอกสารฉบับหนึ่ง พิมพ์ประกาศในอินเดียแถลงว่า ชาวอินเดียในเนตาลถูกปล้น ถูกหมิ่นประมาท และถูกเหยียดหยามเหมือนสัตว์ และดูเหมือนจะไม่มีลู่ทางที่จะแก้ไขให้กลับดีได้” หนังสือพิมพ์ Times of India เสนอความเห็นให้สอบสวนข้อกล่าวหาอันไม่มีมูลความจริงดังกล่าวนั้นให้ได้

ข่าวรอยเตอร์ดังกล่าวนี้ หาเป็นความจริงทั้งหมดไม่แต่ทว่าเป็นความจริงอยู่เฉพาะส่วน เพราะเอกสารเท่าที่ท่านคานธีจัดพิมพ์ขึ้นนั้น พูดถึงความเป็นอยู่ของชาวอินเดียในอาฟริกาใต้อย่างถี่ถ้วนครบครันจริงๆ จะได้บ่งถึงความโหดร้ายของฝรั่งแง่เดียวก็หาไม่

จะอย่างไรก็ดี คราวนี้ ท่านคานธีได้พักอยู่ในอินเดียประมาณ ๖ เดือน ตลอดเวลาที่ท่านพักอยู่นี้ท่านได้ใช้เวลาและทุนทรัพย์เฉลยข่าวของอาฟริกาใต้ ทั่วทุกหัวเมืองใหญ่ของอินเดีย ทั้งได้หาโอกาสพบปะปราศรัยหารือกับผู้นำผู้มีชื่อเสียงของอินเดียในสมัยนั้นด้วย

เมื่อสถานการณ์กำลังจะเป็นไปดังนั้น เผอิญท่านได้รับโทรเลขจากเดอร์บันว่า “สภาปาลิเมนต์จะมีการประชุมกันในเดือนมกราคม ขอให้ท่านรีบกลับไป”

ครั้นท่านได้รับโทรเลขแล้ว ก็ได้รีบจัดแจงเดินทางไปอาฟริกาใต้อีกครั้งหนึ่ง การไปคราวนี้ได้พาบุตร ๒ คน ภรรยาและหลานคนหนึ่งไปด้วย ในต้นเดือนธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ พร้อมด้วยบุตรภรรยาและหลานชายได้โดยสารเรือเมล์กุรแลนท์ ในเที่ยวนี้มีเรือกาทรเดินทางไปด้วยลำหนึ่ง มีผู้โดยสารรวมทั้ง ๒ ลำ ประมาณ ๘๐๐ คน ในจำนวนนี้เป็นชาวอินเดียเป็นส่วนมาก

ก่อนที่เรือจะถึงท่า ท่านได้รับข่าวจากครันขามว่าพวกฝรั่งในอาฟริกาใต้ประชุมกันคิดจะหาทางทำร้ายท่านคานธีในการที่ท่านนำข่าวของอาฟริกาใต้ไปเปิดเผยในอินเดีย ฉะนั้นการไปอาฟริกาใต้คราวนี้ขอให้ระมัดระวังให้จงหนัก

ข่าวนี้จะทำให้คานธีเกิดความสะทกสะท้านกลัวแม้แต่น้อยก็หาไม่ ท่านนึกอยู่ในใจเสมอว่าฝ่ายใดอาศัยสัจธรรมเป็นทางดำเนิน ในที่สุดจะต้องได้รับชัยชนะ

วันที่ ๑๘ ธันวาคม ค.ศ. ๑๘๙๖ ข่าวได้แผ่กระจายไปทั่วอาฟริกาใต้ว่า คานธีกำลังนำนายช่าง กรรมกรฯ ที่สามารถเดินทางมายังอาฟริกาใต้ ทั้งนี้เพื่อจะขับไล่นายช่างและกรรมกรเก่าๆ เสีย การกระจายข่าวอกุศลอันปราศจากความจริงนี้ ได้เป็นเหตุให้เกิดความตื่นเต้นขึ้นในชนชาวฝรั่งทั่วทุกชั้น จึงได้เกิดมีการประชุมกันขึ้นในพวกผิวขาวกันเอง เพื่อหาทางประทุษร้ายท่านคานธี ในขณะที่ท่านลงจากเรือเมลย์ สถานะการค้าแห่งเดอร์บันได้ตึงเครียดจนถึงกับอธิบดีอัยการ มร. เอสโคมบ์ ไม่กล้าคัดค้านความเห็นของประชาชนชาวฝรั่ง มิหนำยังกลับเข้าสนับสนุนพวกนั้นอีกด้วย ฉะนั้น จึงออกคำสั่งให้กัปตันนำเรือลำที่ท่านมหาตมะคานธีและชาวอินเดียอื่นโดยสารมาไปเทียบที่ด่านป้องกันโรค และบรรดาผู้โดยสารทั้งหมด ตราบใดที่ยังไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐบาลยังขึ้นจากเรือไม่ได้

ความจริง การเดินทางมายังอาฟริกาใต้ของชาวอินเดียในเที่ยวเมล์นี้ มหาตมะคานธีไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย และทั้งท่านได้ยอมรับสารภาพด้วยว่า ท่านไม่รู้จักมักจี่กับคนเหล่านั้น นอกจาก ๒-๓ คนเท่านั้น

ระหว่างการเดินทางนี้ บรรดาผู้โดยสารเรือทั้งหมดต่างเพลิดเพลินค่าเวลาด้วยเกมสนุกๆ วันหนึ่งท่านกัปตันเรือได้เชิญผู้โดยสารเรือชั้น ๑ ทุกคน ไปรับอาหารร่วมกัน มหาตมะคานธีก็ได้รับเชิญไปด้วยเหมือนกัน หลังจากอาหาร หน้าที่แสดงสุนทรพจน์ตกเป็นหน้าที่ของท่านคานธีท่านแสดงเรื่องวัฒนธรรมตะวันตก ใจความสำคัญที่ท่านแสดงในวันนั้น คือ วัฒนธรรมตะวันตกมีหลักดำเนินคือการปองร้ายกัน แต่ทว่าวัฒนธรรมตะวันออก ดำเนินไปตามหลักความไม่ปองร้ายคืออหิงสาเสมอ เมื่อท่านกัปตันได้สดับข้อความนั้นก็อดยิ้มไม่ได้ เพราะค่าที่ล่วงรู้ถึงเงาอันตรายที่กำลังคอยท่าท่านคานธีอยู่ฝั่งอาฟริกาใต้ จึงยิ้มพลางพูดพลางว่า “ชาวฝรั่งในที่นี้ไม่ได้พากันมาทำร้ายท่าน ถ้าหากว่าเขาสามารถจะทำร้ายท่านจริงๆ แล้วไซร้ ท่านจะดำเนินไปตามหลักไม่ปองร้ายได้อย่างไรหรือ

ท่านคานธีตอบทันควันว่า “ฉันหวังว่า พระเจ้าคงจะทรงกระทำใจของฉันให้บริสุทธิ์หมดจด ถึงกับฉันสามารถยกโทษเขา และทั้งไม่ปองร้ายเขาด้วย ฉันสงสารพวกเขา เพราะพวกเขาอ่อนความรู้และความกะด้างมาก แต่ฉันรู้อย่างแน่นอนว่า ใจของเขาจะต้องรับรองโดยมิต้องสงสัยว่า การกระทำของฉันเป็นการกระทำที่ถูกต้องเพราะเหตุนี้แหละฉันจึงไม่โกรธเขาฉะนี้”

อย่างไรก็ดี ในที่สุดเมื่อเรือไปถึงอาฟริกาใต้แล้ว รัฐบาลได้สั่งให้กักเรือไว้ที่ด่านป้องกันโรค โดยไม่มีเวลากำหนดว่าจะเข้าเทียบท่าเรือได้เมื่อไร

เมื่อเรือถูกกักอยู่ที่ด่านป้องกันโรคนั้นหลายวัน โดยรัฐบาลก็ไม่มีคำสั่งอย่างไร และชี้แจงเหตุผลให้ชัดแจ้งว่าเพราะเหตุไร ดังนั้นเจ้าของเรือชาวอินเดียจึงเห็นว่าจำเป็นจะต้องฟ้องรัฐบาล และเรียกค่าเสียหายชดเชย แจ้งให้รัฐบาลทราบวัตถุประสงค์ของตน ในที่สุดเมื่อรัฐบาลได้รับคำขู่จากเจ้าของเรือดังนั้น ก็จำใจต้องสั่งให้ปล่อยเรือจากด่านป้องกันโรคโดยเร็ว

พวกฝรั่งบ้าเลือดนับจำนวนพันๆ คอยอยู่ที่ท่าเรือเพื่อฉวยโอกาสทำร้ายท่านคานธี ในขณะที่ท่านขึ้นบก ฝ่ายผู้กำกับการตำรวจเกรงไปว่า ท่านคานธีจะมีอันตราย จึงรีบลงไปในเรือห้ามท่านคานธีไม่ให้ขึ้นบกก่อนเวลาค่ำ แต่ท่านผู้มีชีวิตปราศจากความหวาดกลัวสิ่งทั้งปวงไม่ยอมปฏิบัติตามคำแนะนำโดยความหวังดีนั้น โดยอ้างเหตุว่า ตัวท่านเองไม่ได้กระทำความผิดคิดร้ายใครแม้แต่ประการใดไว้ ในขณะนั้นมีทนายความชาวฝรั่งที่ท่านคานธีไว้อกไว้ใจในความยุติธรรม และเกียรติยศแห่งผิวผู้หนึ่ง ลงไปต้อนรับท่านคานธีในเรือ ฉะนั้นท่านจึงได้ตกลงใจขึ้นบกโดยเร็ว

แต่อนิจจา ความไว้วางใจของท่านกลับเป็นสิ่งผิดหวังทั้งหมด ท่านยังมิทันก้าวเท้าขึ้นเหยียบดินเลย พวกฝรั่งที่คอยอยู่ด้วยความกระหายเลือด ได้พากันวิ่งกรูเข้าไปทุบตีท่านจนเกือบสิ้นชีวิตลงในขณะนั้น เผอิญภรรยาของท่านผู้กำกับการตำรวจเห็นฝูงคนกำลังดังเกรียวกราวเอ็ดอึงอยู่ จึงเข้าไปดูเห็นท่านคานธีก็จำได้ จึงวิ่งเข้าไปช่วยเหลือเอาร่มบังศีรษะของท่านคานธีไว้ไม่ให้เป็นอันตราย อาศัยความช่วยเหลือของท่านสุภาพสตรีผู้มีใจกรุณานี้ ท่านจึงสามารถลงจากเรือและไปอาศัยอยู่ในบ้านชาวอินเดียผู้หนึ่งได้ พวกฝรั่งผู้มีใจเปี่ยมไปด้วยเลือดอาฆาตก็มิได้รอช้า พากันแห่ไปบ้านนั้นโดยเร็ว และได้แต่งเพลงร้องปลุกใจพวกเพื่อนด้วยกันขึ้นบทหนึ่ง

ว่า “มาด้วยกัน พวกเราเอ๋ย มาด้วยกัน จับคานธีไปแขวนคอ ที่ต้นมะขามโน้น” และทั้งได้พูดขู่ว่าจะเผาบ้านและห้างร้านของชาวอินเดีย ผู้ให้คานธีพำนักอาศัยนั้นเสียสิ้น

คำขู่นี้ทำให้ท่านคานธีกลัวไปว่า พวกฝรั่งเหล่านั้นจะเผาบ้านและห้างร้านของเพื่อนเสียจริงๆ จึงได้ปลอมตัวเป็นพลตำรวจ ในเครื่องแบบที่ผู้กำกับการตำรวจจัดหามาให้แล้วหลบหนีไปให้พ้นจากห้วงอันตรายนั้นได้

เมื่อท่านหลบหนีพ้นจากอันตรายไปได้แล้ว ผู้กำกับการตำรวจจึงบอกแก่พวกฝรั่งว่า คานธีได้ไปเสียนายแล้ว ถ้าไม่เชื่อก็ขอให้พวกเขาเข้าตรวจค้นดูในบ้านนั้น พวกเขาพากันเข้าไปตรวจค้นดูจนทั่ว เมื่อไม่พบตัวคานธีจริงๆ ก็ค่อยๆ แยกกระจายกันกลับไปที่อยู่ของตนสิ้น

ข่าวการทำร้ายร่างกายคานธีครั้งนี้ ได้เกิดเป็นโกลาหลดังกระฉ่อนข้ามมหาสมุทรไปถึงเกาะอังกฤษด้วย มร.เซมเบอรเลน ส่งโทรเลขให้ทางการตำรวจและทางบ้านเมืองจับตัวผู้ร้ายให้ได้ทั้งหมด และจงให้ความยุติธรรมแก่คานธี มร. เอสโคมบ์ จึงได้เรียกท่านคานธีมาแนะนำให้ฟ้องร้องต่อศาลแต่ท่านได้แสดงความจำนงใจออกมาให้ฟังว่า การฟ้องร้องฝูงชนนั้นผิดกับหลักการของท่าน เพราะว่าฝูงชนเป็นผู้เขลาเบาปัญญาไร้ความรู้ การมุทลุดุดันดังได้กระทำมาแล้วนั้น เกิดขึ้นเพราะต่างคนต่างเข้าใจผิดกันทั้งนั้น อันที่จริงการเรื่องนี้ย่อมเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเป็นผู้แก้ความเข้าใจของมหาชน แต่รัฐบาลหาได้กระทำดังนั้นไม่ เพราะฉะนั้นผลแห่งความอาฆาตท่านได้รับจากมหาชน แต่เพราะความผิดของรัฐบาลต่างหาก ท่านจึงไม่ปรารถนาที่จะดำเนินการฟ้องร้องผู้ไม่มีความผิดนั้น

ต่อมาพวกฝรั่งผู้มีใจหยาบช้าเหล่านั้น เมื่อรู้สึกสำนึกผิดได้ ก็ได้ขออภัยโทษทางหนังสือพิมพ์ เรื่องราวจึงเป็นอันสงบเงียบลงเพียงแค่นั้น

ต่อมาอีกหลายปี สมัยเมื่อเกียรติคุณของท่านคานธีแผ่กระจายไปทั่วอาณาจักรอังกฤษแล้ว มร. เอส โคมบ์ ได้ไปหาท่าน และพูดขออภัยโทษในคราวที่ตนได้เคยพลั้งพลาดไปโดยหันเหเข้ากับมหาชนผู้ผิด เนื่องจากในเวลานั้นยังไม่รู้จักคานธีดี

ถัดจากเวลาสนทนาปราศรัยกันนั้น อีกครึ่งชั่วโมง มร. เอสโคมบ์ ลาจากท่านคานธีกลับไปบ้าน เผอิญเดินไปได้กึ่งทาง เกิดโรคหัวใจหยุดขึ้น จึงล้มตายอยู่กลางทางนั้นเอง

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี