พัฒนาการแห่งอารยธรรมของนครศรีธรรมราช

Socail Like & Share

ภาคใต้ของประเทศไทยเริ่มจากจังหวัดชุมพรลงไปทางใต้จนจดเขตแดนประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นส่วนหนึ่งที่เรียกกันว่า “คอคอดกระ” (Kra ismuth) โดยตั้งอยู่ในระหว่างเส้นรุ้งที่ ๕ องศา ๓๐ ลิบดาเหนือขึ้นมาจนถึงเสนรุ้ง ที่ ๑๑ องศาเหนือ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นแผ่นดินแคบ เป็นคาบสมุทรทอดยาวลงทางใต้ มีที่ราบชายฝั่งทะเล
ทางด้านตะวันออกซึ่งหันหน้าไปสู่อ่าวไทย ทางด้านตะวันตกของภาคมีเทือกเขาตะนาวศรีซึ่งเป็นสายของเทือกเขาหิมาลัย ทอดยาวเป็นสันของคาบสมุทรเรื่อยลงไปจนถึงจังหวัดกระบี่ จากนั้นก็มีเทือกเขานครศรีธรรมราชและกาลาคีรีทอดยาวลง ไปต่อเขตแดนประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย นอกจากมีเทือกเขาเป็นสันดังกล่าวแล้ว ภาคใต้ยังมีภูมิประเทศที่ประกอบด้วย ลำน้ำสายต่างๆ ที่ไหลผ่านที่ราบลุ่มไปออกทะเลที่อ่าวไทย ทางตะวันออก และยังปรากฏว่าบริเวณปากแม่น้ำบางแห่งยังมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นอ่าว เหมาะแก่การจอดเรือได้เป็น อย่างดี เช่น อ่าวชุมพร อ่าวบ้านดอน อ่าวนครศรีธรรมราช และอ่าวสงขลา เป็นต้น ส่วนทางด้านตะวันตกของคาบสมุทร ซึ่งอยู่ใกล้เทือกเขามีที่ราบลุ่มน้อย ภูมิประเทศส่วนใหญ่ สูงๆ ต่ำๆ ชายฝั่งทะเลอันดามันเว้าๆ แหว่งๆ และสูงชัน แต่ขณะเดียวกันก็มีประโยชน์มาก เพราะมีแร่ธาตุต่างๆ จึงเป็นแหล่งที่ตั้งของชุมชนที่มุ่งในการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่มาแต่โบราณและความสำคัญของชายฝั่งตะวันตกอีกอย่างหนึ่ง คือ ติดกับคาบมหาสมุทรอินเดีย จึงเป็นแหล่งที่พักอาศัยของบรรดาพ่อค้าชาติต่างๆ ที่เดินเรือค้าขายอยู่ในภูมิภาคนี้มาแต่โบราณ
การค้าทางทะเลระหว่างภาคตะวันตก คือ ตะวันออกกลางและอินเดียกับจีนใต้แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ การค้าในมหาสมุทรอินเดียส่วยหนึ่ง และการค้าในทะเลจีนใต้ส่วนหนึ่ง บริเวณที่เชื่อมโยงการค้าทั้งสองส่วนนี้เขาด้วยกัน คือ คาบสมุทรไทยตลอดไปถึงช่องแคบมะละกา เพราะฉะนั้นคาบสมุทรไทยจึงสัมพันธ์กับความเจริญทางเศรษฐกิจการค้า ระหว่างสองน่านน้ำและเป็นเส้นทางผ่านที่จำเป็น จีนได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับบ้านเมืองแถบนี้ แสดงว่าได้มีการตั้งหลักแหล่งของชุมชนถาวรและมีพัฒนาการสืบเนื่องมานานแล้ว เอกสารจีนตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ ๘-๙ กล่าวว่าเส้นทางที่ติดต่อระหว่าง Ko-ying ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของสุมาตรานั้นผ่านเมืองสำคัญ คือ Tun-Sun อยู่บนคาบสมุทร ไทยตรงที่ซึ่ง “ตะวันออกพบตะวันตก” นักวิชาการไทยหลายท่านมีความเห็นว่าเมืองนี้ควรจะอยู่ระหว่างอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ผ่านตลอดนครศรีธรรมราชลงไป
จากหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบในภาคใต้ ปรากฏว่า ลักษณะภูมิศาสตร์โบราณคดีมีอิทธิพลต่อการตั้งหลักแหล่งมาตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์ แล้วได้วิวัฒนาการมาตามลำดับดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนในการตั้งหลักแหล่งชุมชนที่เป็นบ้านเป็นเมืองของประชาชนในภาคใต้มาตั้งแต่โบราณมาก กล่าวคือ บริเวณที่มีความเจริญสูงขึ้นเป็นสังคมเมืองอยู่ทางฝั่งตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ ส่วนทางฝ่ายตะวันตกประชาชนที่ตั้งหลักแหล่งมี ๒ พวกซึ่งมีวัฒนธรรมแตกต่างกัน คือ พวกแรกได้แก่คนพื้นเมืองที่มีความเป็นอยู่ล้าหลัง มีอาชีพประมง หรือล่าสัตว์ และทำไร่เลื่อนลอย อยู่กันเป็นชุมชนเล็ก ไม่สามารถขยายตัวเป็นเมืองใหญ่ได้ ส่วนพวกที่สองเจริญสูงกว่า แต่มักจะเป็นชาวต่างชาติ เช่น พ่อค้าหรือนักแสวงโชค ที่เข้ามาตั้งหลักแหล่งพักสินค้า หรือขุดแร่ธาตุเป็นสินค้า ชุมชนพวกหลังนี้อาจขยายตัวเป็นเมืองได้
จากการศึกษาทางโบราณคดีที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าได้ค้นพบชุมชนโบราณที่เก่าแก่ในคาบสมุทรไทยในช่วงต่อเนื่องของยุคสำริดกับยุกเริ่มแรกของการเข้าสู่สมัยประวัติศาสตร์ของประเทศไทยหลายแห่งด้วยกัน แหล่งโบราณคดีเหล่านั้นได้พัฒนาอารยธรรมสืบเนื่องกันต่อมาด้วยเวลาอันยาวนาน และมีจำนวนไม่น้อยที่ได้พัฒนามาตามลำดับจนปัจจุบันนี้ แหล่งโบราณคดีที่สำคัญและเป็นที่รู้จักกันดีมีอยู่มาก เช่น แหล่งโบราณคดีที่เขาสามแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร แหล่งโบราณคดีในเขตอำเภอท่าชนะ แหล่งโบราณคดีพมเรียง อำเภอไชยา แหล่งโบราณคดีเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แหล่งโบราณคดีในเขตอำ เภอสิชล อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แหล่งโบราณคดีสทิงพระ จังหวัดสงขลา แหล่งโบราณคดี ในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี แหล่งโบราณคดีเกาะคอเขา และอื่นๆ ในเขตอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และแหล่งโบราณคดีควนลูกปัด อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ เป็นต้น

นอกเหนือจากความเป็นมาหรือพัฒนาการอันยาวนาน ดังกล่าวมาแล้ว ดินแดนบนคาบสมุทรไทยยังมีชื่อเรียกในเอกสารโบราณต่างกันออกไปมามากหลายชื่อ โดยเฉพาะนครศรีธรรมราชอันเป็นศูนย์กลางของคาบสมุทรไทยในหลายช่วงสมัยนั้น มีชื่อปรากฏในเอกสารโบราณทั้งของไทยและของต่างชาติแทบทุกช่วงสมัยนับตั้งแต่เริ่มปรากฏเป็นครั้งแรก เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗ เป็นต้นมา และปรากฏหลายชื่อ เช่นเดียวกัน แต่ดูเหมือนว่าชื่อที่รู้จักกันดี คือ “ตามพร¬ลิงค์” “ลิกอร์” และ “นครศรีธรรมราช” และนักวิชาการสามารถที่จะชี้ให้เห็นความต่อเนื่องของเรื่องต่างๆ ของนครศรีธรรมราช ที่ปรากฏในเอกสารโบราณทั้งของไทยและต่างประเทศได้เป็นอย่างดี แม้ว่าเมืองนี้จะปรากฏชื่อในเอกสาร โบราณต่างๆ หลายชื่อก็ตาม กล่าวคือ สามารถเชื่อมโยงได้ว่า “ตม พลิงคม” (Tambalingam) ที่ปรากฏเป็นครั้งแรก ในคัมภีร์มหานิทเทศเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗-๘ นั้น คือ ชื่อ “ตามพรลิงค์” ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ และมีศูนย์กลางหรือเมืองหลวงตั้งอยู่ที่เมือง ลิกอร์ (Ligor) ที่ชาวยุโรปรู้จักในพุทธศตวรรษที่ ๒๐-๒๑ ทำให้เชื่อได้ว่า “ตามพรลิงค์” ได้ถือกำเนิดมาแล้วตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗-๘ เป็นอย่างน้อย และชื่อตามพรลิงค์นี้ได้ปรากฏตามเอกสารจีนว่า “ดันมาลิง” (Dan-ma-ling) หรือ “ตันเมลิว” (Tan-mei-liu) ส่วนพวกมลายูเรียกเมืองนครศรีธรรมราชว่า “อีกอ” หรือ “ลีกอร์” อันอาจจะเป็นเหตุให้ชาวยุโรปเรียกตาม แต่เพี้ยนไปเป็น “ลิกอร์” (Ligor) หรือ “ลูกอร์” (Lugor) ส่วนชาวพื้นเมืองเรียกชื่อเมืองของตนว่า “เมืองคอน” (หรือคอน คร นคร เมืองคร)
ในด้านศิลปวัฒนธรรมกล่าวได้ว่าในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔ ดินแดนต่างๆ บนแหลมมลายูตอนเหนือโดยเฉพาะนครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลแบบอย่างทางศิลปวัฒนธรรมจากอินเดียอย่างมากมาย อาจจะเรียกได้ว่าชาวอินเดียได้เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขาย และเผยแพร่อารยธรรม ฝังรากฐานมั่นคงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์ เจริญรุ่งเรืองสูงสุด จึงได้ค้นพบโบราณวัตถุสถานมากกว่าที่ใดในประเทศไทย แม้แต่ชื่อเมือง “ตามพรลิงค์” ก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า สืบเนื่องมาจากศาสนาพราหมณ์นั่นเอง และหลักฐานทางโบราณวัตถุในลัทธิไศวนิกาย (virasaivas) ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือแพร่หลายในอินเดียใต้ ก็พบเป็นจำนวนมากมายในเขตเมืองนครศรีธรรมราชรองรับอยู่แล้ว ดังนั้นจึงน่าเชื่อว่าการขยายตัวของชุมชนตามแหล่งที่เหมาะสมทางภูมิศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นเมืองทั้งชายฝั่งตะวันตกและตะวันออก ในระหว่างพุทธศตวรรษที่ ๑๑-๑๔ ได้อยู่ในบริเวณของตามพรลิงค์ เพราะ การเกิดเส้นทางเดินบกข้ามแหลมมลายู เป็นความจำเป็นในการติดต่อ คมนาคมภายในและเพื่อการควบคุมดูแลผลประโยชน์ทางการค้าหรือทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองโดยตรง
ตามหลักฐานที่แสดงมานี้ชี้ให้เห็นว่า “ตามพรลิงค์” หรือ “นครศรีธรรมราช” เป็นศูนย์กลางใหญ่ทั้งทางการค้า การเมือง การปกครอง และศิลปวัฒนธรรมบนแหลมมลายูตอนเหนือ ชุมชนหรือเมืองต่างๆ ที่เกิดขึ้นบนคาบสมุทรไทยทั้งฝ่ายตะวันตกและตะวันออก ย่อมจะมีความเกี่ยวพันกับเมืองตามพรลิงค์เสมอ ต่างกันแต่เพียงมากบ้างน้อยบ้าง เท่านั้น ซึ่งในยุคหลังที่เมืองตามพรลิงค์เจริญสูงสุด คืออย่างต่ำก็ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ เมืองตามพรลิงค์ ได้ปกครองเหนือแหลมมลายูตอนเหนือทั้งหมดอย่างแน่นอน และในต้นศตวรรษที่ ๑๙ เมืองนี้ก็ได้ปกครองทั้งแหลมมลายูในรูปของเมือง ๑๒ นักษัตร
ดังนั้น เมืองตามพรลิงค์จึงมีสภาพเป็น “อาณาจักร” หรือผู้เป็นใหญ่บนแหลมมลายูอย่างแท้จริง แม้แต่อาณาเขตด้านทิศเหนือก็จะดูไม่ได้อยู่แค่เขตเมืองชุมพร หากแต่ขึ้นมาถึงภาคกลางในลุ่มแม่น้ำแม่กลองด้วยก็อาจจะเป็นได้ เพราะในจดหมายเหตุจีนสมัยราชวงศ์ซ้อง (พ.ศ. ๑๕๐๓- ๑๖๗๐) กล่าวว่าอาณาเขตของตามพรลิงค์ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือจดเขตหลอหู (ละโว้)
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เมืองตามพรลิงค์มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจและสังคมมาแต่โบราณ คือ ประการแรก มีความอุดมสมบูรณ์ทางสินแร่ เครื่องเทศ ของป่า และสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น การบูร กานพลู ไม้จันทน์ ลูกจันทน์ ไม้กฤษณา ไม้มะเกลือ ไม้ฝาง เครื่องงาช้าง และดีบุก เป็นต้น ประการที่สอง ตำแหน่งที่ตั้ง เป็นจุดศูนย์กลางของการเดินเรือทะเลนานาชาติ โดยเฉพาะในการเดินทางติดต่อกันระหว่างจีน อินเดีย และประเทศต่างๆ ทางอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งแหลมมลายูตอนเหนือเป็นจุดศูนย์กลางหรือสายใยที่สำคัญที่สุดในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม เมืองตามพรลิงค์ จึงเป็นเมืองท่าค้าขายสำคัญ มีเศรษฐกิจมั่นคง เพราะอยู่ท่ามกลางทะเลเปิด ซึ่งการดำรงสภาพการณ์เช่นนี้มีอยู่ตลอด ประวัติศาสตร์ทางการค้า ไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย อาหรับ และประเทศต่างๆ ในอาเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยเหตุนี้ทำให้เมืองในเขตของตามพรลิงค์เป็นชุมชนทางการค้าอีกหลายแห่ง เช่น ไทรบุรี และตะกั่วป่า ทางฝั่งตะวันตก และทางฝั่งตะวันออก คือ ไชยา สทิงพระและปัตตานี อันเป็นชุมชนที่เจริญขึ้นในพุทธศตวรรษที่ ๑๓-๑๘
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *