ความเชื่อทั่วไปในศาสนาพราหมณ์

Socail Like & Share

๑. ความเชื้อเกี่ยวกับเทพเจ้า ความคิดเรื่องเทพเจ้าต่างๆ ของศาสนาพราหมณ์ในสมัยแรกๆ คือ ยุคพระเวท (ประมาณ ๙๐๐-๑,๕๐๐ ปี ก่อนคริสกาล) เกิดจากสภาพธรรมชาติ คือ มนุษย์เกิดจินตนาการว่าเบื้องหลังของธรรมชาติหรือปรากฏการณ์ต่างๆ ต้องมีผู้มีอำนาจบังคับ คือ มนุษย์ใส่ความรู้สึกให้แก่ธรรมชาติ กลายเป็นเทพเจ้าตามธรรมชาติไป เทพเจ้าเหล่านี้เป็นที่มาของเทพนิยายทางศาสนาพราหมณ์ และเป็นพื้นฐานที่สำคัญของลัทธิการบูชายัญในศาสนาฮินดู ในระยะต่อมาเทพที่สำคัญคือเทพประจำทิศทั้งแปด ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยพระเวท และเห็นชัดขึ้นในสมัยพราหมณะ อันเป็นระยะที่มีการทำพิธีการต่างๆ เพื่อบูชายัญ เทพเจ้ามีลักษณะที่มนุษย์บูชาเทพเจ้าองค์ใดเขาก็ยกย่องเทพเจ้าองค์นั้นว่าสูงสุดในขณะนั้น ลักษณะเช่นนี้ได้วิวัฒนาการไปสู่ความคิคเรื่องเอกเทวนิยม เทพที่สำคัญคือ พระอินทร์ พระยม พระวรุณ พระกุเวร
(ท้าวเวสสุวรรณ) พระอัคนี พระสุริยาทิตย์ พระวายุ (มารุต) พระโสมนาถ และยังมีเทพอื่นที่กล่าวถึงอีก คือ พระพิฆเนศวร และพญาพลี
ในยุคพราหมณะ (ประมาณ ๖๐๐-๑,๐๐๐ ปีก่อนคริสตกาล) การบูชาเทพเจ้ามีพิธีกรรมที่พิสดารมากขึ้น มีกฎเกณฑ์มากขึ้น มิฉะนั้นการบูชาจะไร้ผล เครื่องบูชาจะไร้ผล เครื่องบูชาก็อยู่เหนือเหตุผลทางศีลธรรม มีการบูชาด้วยน้ำเมา สัตว์ และคน พราหมณ์เป็นผู้ผูกขาดการประกอบ พิธีกรรม โดยมีคัมภีร์พราหมณะเป็นแม่บทที่สำคัญ พราหมณ์ จึงเป็นผู้มีอำนาจที่แท้จริงในการบูชายัญ ด้วยเหตุนี้ พราหมณ์เองก็คิดว่าพวกตนเป็นผู้มีความสำคัญที่สุด ความคิดเรื่องชั้นวรรณะของพราหมณ์ก็ค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้น
๒. ความเชื่อเกี่ยวกับพระเจ้าสูงสุด แม้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับการยกย่องเทพองค์ใดองค์หนึ่งให้สูงส่งกว่าเทพองค์อื่น จะเริ่มปรากฏในคำอ้อนวอนมาแล้วตั้งแต่สมัยพระเวท และสมัยพราหมณะ แต่ที่ปรากฏชัดแจ้งจริงๆ เมื่อศาสนาพราหมณ์ได้วิวัฒนาการเป็นศาสนาฮินดูอย่างเต็มที่ตั้งแต่สมัยพระเจ้าศุงคะในต้นพุทธศตวรรษที่ ๖ โดยพระองค์ส่งเสริมศาสนาพราหมณ์เพื่อต่อต้านพุทธศาสนา โดยยกย่องพระศิวะ พระวิษณุ และเทพเจ้าดั้งเดิมของพราหมณ์ คือ พระพรหม ให้เป็นผู้สูงสุดรวมกันเรียกว่า “ตรีมูรติ”
๒.๑  พระพรหม เป็นเทพเจ้าดั้งเดิมของพราหมณ์ มีความสัมพันธ์กับพระปชาบดี จนบางท่านเห็นว่าเป็นวิวัฒนาการของพระปชาบดี พระพรหมเป็นหนึ่งในเทพสูงสุดที่มีหน้าที่เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง เนื่องจากการเกิดของพระองค์ เป็นลักษณะการคาดคะเนมากกว่าจะเป็นรูปเคารพทั่วไป ทำ
ให้ในความเป็นจริงพระองค์ไม่ค่อยได้รับความเคารพจากประชาชนมากนัก พระพรหมมีความหมายเป็นสองนัย คือ นัยแรก คำว่า พรหมหรือพรหมัน เป็นคำกลางๆ หมายถึง วิญญาณอันสูงสุดของจักรวาล ดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองเป็นนิรันดร เป็นที่เกิดและเป็นที่รวมของสรรพสิ่ง ไม่มีรูปร่าง ไม่ใช้วัตถุ ไม่สามารถเห็นได้ ไม่เกิด ไม่มีใครสร้าง ไม่มีเบื้องต้นและที่สุด ไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่สามารถเข้าใจได้ โดยประสาทสัมผัส ปรากฏทุกหนทุกแห่ง ทั้งในสิ่งมีชีวิต และไม่มีชีวิต หมายถึงว่า พรหมก็คือต้นเหตุของสรรพสิ่งนั่นเอง นัยที่สอง พระพรหม หมายถึง เทพเจ้าผู้เกิดจากพร¬หมัน ซึ่งเป็นจิตวิญญาณสูงสุด หรืออาจจะกล่าวว่าเป็นภาคบุคลาธิษฐานของพรหมนั่นเอง ลักษณะพระวรกายสีแดง มีสี่เศียร ทรงหงส์เป็นพาหนะ เมื่อพระองค์ได้เกิดจากวิญญาณสูงสุดแล้วก็ได้ทรงสร้างเทพเจ้าขึ้นแล้วรับสั่งให้ประจำตามที่ต่างๆ เช่น พระอัคนีประจำโลก, พระวายุประจำสวรรค์, พระอาทิตย์ประจำท้องฟ้า นอกจากนี้พระองค์ยังได้เนรมิตพราหมณ์จากพระโอษฐ์, กษัตริย์จากพระพาหา, แพศย์จากพระชงฆ์ และศูทรจากพระบาท
๒.๒ พระวิษณุ เป็นหนึ่งในเทพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ ในคัมภีร์พระเวทพระองค์มิใช่เทพสูงสุดแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงสหายสนิทของพระอินทร์เป็นที่มาของพลังสุริยะ คัมภีร์พระเวทและคัมภีร์พราหมณะกล่าวถึงพระองค์ว่าเป็นผู้ครองอาณาเขตของจักรวาล ด้วยการเสด็จเพียงสามก้าวเท่านั้น วิษณุปุราณะกล่าวว่า พระองค์เป็นผู้สร้างผู้รักษา และผู้ทำลาย เป็นผู้มีอำนาจเหนือพระพรหมและพระศิวะ อันแสดงให้เห็นถึงการแก่ง แย่งกันเป็นใหญ่ ระหว่างนิกายต่างๆ ในศาสนาพราหมณ์ที่ได้พัฒนาเป็นศาสนาฮินดู

๒.๓ พระศิวะ เป็นเทพเจ้าดั้งเดิมของพวกทมิฬหรือทราวิฑ หรือดราวิเดียนทางภาคใต้ของอินเดีย ดังปรากฏหลักฐานในคัมภีร์ของพวกทมิฬและหลักฐาน ทางโบราณคดี จากการขุดค้นที่เมืองโมเหโช-ดาโร และเมืองฮารัปปา ซึ่งเชื่อกันว่าเมืองทั้งสองนี้เป็นที่อยู่ของพวกดราวิเดียนมาก่อน คนพวกนี้นิยมบูชาลึงค์ของพระศิวะ หรือศิวลึงค์ พระองค์มักมีชื่อตามสิ่งที่พระองค์ทรงสัมพันธ์ด้วย เช่น สัมพันธ์กับภูเขา โดยเฉพาะภูเขาหิมาลัยจึงได้นามว่า คีรีศะ คือ เป็นใหญ่แห่งภูเขา หรือพระองค์เป็นที่นับถือของพวกผี เป็นผู้เกี่ยวข้องกับความตายจึงได้นามว่า ภูเตศวร เป็นต้น ในคัมภีร์พระเวทไม่ได้กล่าวถึงพระศิวะไว้โดยตรง แต่กล่าวถึงพระรุทระ ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันแล้วว่าเป็นพระศิวะในการต่อมา พระรุทระเป็นที่เคารพของพราหมณ์เสมอด้วยเทพอื่นๆ เมื่อศาสนาพราหมณ์ได้รับการปฏิรูปเพื่อแข่งขันกับพระพุทธศาสนาในต้นพุทธศตวรรษที่ ๖ พระศิวะก็ได้รับการยกย่องเสมอด้วยพระพรหมและพระวิษณุ และเด่นชัดขึ้น เมื่อมีการแบ่งเป็นนิกายต่างๆ เพราะนักปราชญ์ในแต่ละนิกาย ต่างก็แต่งคัมภีร์ยกย่องเทพเจ้าสูงสุดในนิกายของตน ลักษณะเช่นนี้ปรากฏชัดในยุคปุราณะ โดยปกติพระศิวะได้รับการกล่าวถึงในสองลักษณะ คือ ลักษณะแรก ไม่มีรูปร่าง พระองค์เป็นอย่างเดียวกันกับพราหมณ์ หรืออาตมันในกรณีนี้ถ้าต้องการบูชาพระองค์ก็ต้องบูชาส่วนอันละเอียดอ่อนของพระองค์ คือศิวลึงค์ซึ่งมีกำเนิดในลักษณะต่างๆ เช่น เกิดขึ้นเองเรียกว่าสยมภู หรือมีผู้มีศรัทธาสร้างขึ้น หรือภูเขาที่มีลักษณะเหมือนลึงค์ตามธรรมชาติ และลักษณะที่สอง พระศิวะปรากฏเป็นรูปร่างในรูปแบบต่างๆ ในกรณีนี้สามารถบูชารูป เคารพของพระองค์ได้ ในศิวปุราณะได้กล่าวถึงศิวลึงค์ว่า ควรอยู่คู่กับฐานศิวลึงค์ (ซึ่งเรียกว่าโยนิ) อุปมาดังว่าพระศิวะประทับคู่กับพระนางปารวตีฉันใด รูปศิวลึงค์ก็ควรอยู่บนรูปโยนิของพระนางปารวตีฉันนั้น
๓. ความเชื่อเกี่ยวกับอาตมัน อาตมัน หรือ SOUL เป็นลักษณะความเชื่อที่สำคัญในศาสนาพราหมณ์ โดยเชื่อว่าเป้นพลังชนิดหนึ่ง ไม่ใช่วัตถุ ดำรงอยู่ได้อย่างเป็นอิสระ หรืออาจจะอาศัยอยู่กับร่างกายหรือวัตถุก็ได้ แต่ไม่แตกดับ เมื่อวัตถุแตกดับ ดังนั้นอาตมันคือสิ่งที่อยู่ในตนทำให้เป็น บุคคลขึ้น เมื่อร่างกายเน่าเปื่อยแล้ว ยังเชื่อว่าอยู่ต่อไปหรืออาตมัน คือ เจตภูตของบุคคลที่ตาย เชื่อกันว่าได้แยกออกไปจากร่างกายและดำรงอยู่ได้ตามลำพัง เมื่อบุคคลกระทำความดีตายไปแล้วอาตมันย่อมขันสู่สวรรค์ เมื่อบุคคลทำชั่ว ก็จะตกนรก แต่ทั้งสวรรค์และนรกไม่ใช่จุดสุดท้ายของมนุษย์ เพราะทำให้อาตมันต้องเวียนวายเช่นเดียวกัน คือ อยู่ภายใต้กฎแห่งกรรม ซึ่งจะชักนำให้เกิดแล้วเกิดอีก เป็นผู้อยู่ในอำนาจของพญายม คือความตาย
๔. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องกรรม กรรมแปลว่าสิ่งค้ำจุนหรือสนับสนุน คือ เป็นกฎของจักรวาลและกฎศีลธรรมของสังคม ต่อมาในยุคที่มีการเซ่นสรวงบูชาเฟื่องฟู คำนี้มีความหมายถึงยัญพิธีอันเป็นลักษณะเด่นของการบูชาเทพเจ้า ในสมัยนั้น แนวคิดเรื่องกรรมสัมพันธ์กับการเกิดใหม่ คือ หากบุคคลมีกิเลส หรืออวิชชาเขาก็ต้องทำกรรม กรรมย่อมผลักดันให้เขาเกิดแล้วเกิดอีก กรรมในอดีตเป็นตัวกำหนดชีวิตในปัจจุบัน กรรมในปัจจุบันชาติเป็นตัวกำหนดชีวิตมนุษย์ในชาติหน้า หากบุคคลใดเกิดมาแล้วร่ำรวย ยากจน หรือต่ำต้อย เขาก็ต้องรับสภาพเช่นนั้น เพราะการให้ผลของกรรมแบบที่มีชะตากำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว เช่นเดียวกับ พรหมลิขิต เป็นสภาพที่ทุกคนต้องจำยอม แก้ไขไม่ได้ วิถีชีวิตถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว ส่วนเรื่องวรรณะนั้น ตอนแรกเป็นการรังเกียจกันในแง่ของเชื้อชาติและวัฒนธรรม คือเป็นการรังเกียจชนพื้นเมืองของชาวอารยัน เพราะคิดว่าชนพื้นเมืองมีผิวดำและด้อยวัฒนธรรมกว่าตน จากความรู้สึกนี้จึงกีดกันในเรื่องหน้าที่การงานที่ดีไว้สำหรับพวกอารยันด้วยกัน ในเวลาต่อมาเรื่องวรรณะกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับว่า พระพรหมเป็นผู้กำหนดไป กลายเป็น กรอบ หรือเป้าที่กำหนดรูปแบบของคนไป คือ ถ้าเป็นบุคคลก็จะอยู่ในวรรณะเดิม ไม่สามารถออกไปได้ในชั่วชีวิตนี้
๕. ความเชื่อเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ไสยศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับการใช้เวทย์มนต์คาถาทุกรูปแบบ การยอมรับอำนาจที่เกิดจากการใช้เวทย์มนต์คาถาต่างๆ ดังนั้น จึงประกอบด้วยเวทย์มนต์คาถา ยันต์และโชคลาง แต่เดิมการร่ายเวทย์มนต์คาถาเป็นการอ้อนวอนพระเจ้า ต่อมาค่อยๆ กลายเป็นว่าพิธีกรรมต่างๆ นั่นเองมีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง คาถาที่ใช้ก็ศักดิ์สิทธิ์มีอำนาจลึกลับในตัวอักษรแล้ว ไม่ขึ้นอยู่กับอำนาจของเทพเจ้า เพราะสามารถบังคับเทพเจ้าให้ปฏิบัติต่างๆ ได้ เทพจึงเป็นสื่อให้การประกอบพิธีเกิดสัมฤทธิ์ผลเท่านั้น บางท่านจึงเห็นว่าลักษณะนี้เป็นสาระที่แท้จริงของศาสนาพราหมณ์ หลังพุทธกาล ศาสนาพราหมณ์ได้พัฒนาเป็น ศาสนาฮิดูอย่างเต็มที่ในสมัย ศุงคะ และคุปตะ ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๖-๑๓ การแสดงความเคารพต่อเทพเจ้าในยุคนี้เรียกว่าลัทธิภักดี คือ การมอบกาย และใจต่อพระเจ้า อุทิศตนต่อพระเจ้า แสดงความรัก ความเชื่อมั่นต่อพระเจ้า วิธีแสดงความภักดี คือเปล่งคำนมัสการ และสรรเสริญจนกลายเป็นเวทย์มนต์คาถา ซึ่งเจริญรุ่งเรืองมากในยุคปุราณะทั้งในไวษณพนิกาย และไศวนิกาย และในคัมภีร์ตันตระของลัทธิตันตระ ซึ่งเจริญในเบงกอลตะวันออกตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ เป็นต้นมา ส่วนยันต์อันเป็นแผนภูมิอันลึกลับซึ่งมีอำนาจพิเศษ ได้เจริญขึ้นในยุคตันตระเช่นกัน เพราะมีการกล่าวถึงการใช้ยันต์เป็นเครื่องมือ เข้าถึงอำนาจของพระศิวะได้ทางหนึ่ง โดยปรากฏในคัมภีร์ตันตระหลายแห่ง หากพิจารณาให้ดีจะพบว่าผู้อยู่เบื้องหลัง ที่สำคัญของไสยศาสตร์ คือ พวกพราหมณ์ เพราะพราหมณ์ เป็นผู้เชี่ยวชาญในพิธีกรรม ยิ่งพิธีกรรมสลับซับซ้อนมากขึ้น เท่าใดก็ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญมากขึ้นเท่านั้น พวกพราหมณ์เองก็มีรายได้ สูงขึ้นก็เป็นธรรมดาที่จะผูกขาดหน้าที่อันนี้ไว้ สำหรับตน หรืออีกนัยหนึ่งจักรวาลทั้งหมดอยู่ใต้อำนาจของเทพเจ้า เทพเจ้าทั้งหมดอยู่ใต้อำนาจของเวทย์มนต์คาถา เวทย์มนต์คาถาอยู่ใต้อำนาจของพวกพราหมณ์ เพราะฉะนั้นพวกพราหมณ์เป็นเทพเจ้าที่แท้จริงของเรา
๖. ความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งสูงสุด ความเชื่อเกี่ยวกับ สิ่งสูงสุดหรือความจริงแท้แน่นอนว่ามีสิ่งเดียวได้ มีมาแล้วตั้งแต่สมัยพระเวท หรือในศตปกะ พราหมณะ กล่าวถึงพระพรหมว่าเป็นผู้ไม่มีเพศ เป็นต้นเหตุของสรรพสิ่ง แม้แต่เทพเจ้าทั้งหลายก็เกิดจากพรหม แนวคิดเกี่ยวกับ สิ่งสูงสุดได้ถึงจุดสุดยอดในสมัยอุปนิษัท บรรยายธรรมชาติของสิ่งสูงสุดสองระดับ กล่าวถึงสิ่งสูงสุดที่ไม่สามารถกำหนดได้ด้วย ลักษณะทางปรากฏการณ์ บางครั้งก็กล่าวถึงสิ่งสูงสุดว่า เหมือนกับบุคคลผู้สูงสุดที่เราต้องเซ่นสรวงบูชา
กล่าวโดยสรุปแนวคิดของศาสนาพราหมณ์ เป็นการยอมรับอำนาจคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่ไม่มีตัวตน หรือมีอำนาจที่มีตัวตน คือ เป็นวิญญาณร้ายต่างๆ เป็นรุขเทวดา หรือเป็นเทพเจ้า จนกระทั่งเป็นพระเจ้าผู้สูงสุดและยังคิดว่าพลังต่างๆ ที่ออกไปจากบุคคลสามารถก่อให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการอ้อนวอนหรือบวงสรวง อำนาจนั้นโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง แม้ว่าระยะหลังจะถูกมองว่า ความคิดนี้เป็นเรื่องของพราหมณ์ผู้ประกอบพิธีกรรมนั่นเอง ที่สามารถเรียกอำนาจต่างๆ ได้ หรืออำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ผู้กระทำพิธี แต่การยอมรับอำนาจเหนือมนุษย์ยังมีอยู่
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *