มรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช

Socail Like & Share

ชีวิตความเป็นอยู่ และความเจริญก้าวหน้าของสังคมมวลมนุษยชาติในปัจจุบันล้วนเป็นผลผลิตที่มีวิวัฒนาการมาจากอดีต ความรู้เกี่ยวกับอดีตของมวลมนุษยชาติทุกยุคสมัย ในทุกภูมิภาค จึงเป็นเรื่องน่ารู้และน่าศึกษามาก
บรรพบุรุษของไทยได้สร้างสมมรดกอันล้ำค่าแก่อนุชนไว้มาก ทั้งด้านศิลปะ ภาษา วรรณกรรม ประเพณี และตลอดจนโบราณวัตถุสถาน การศึกษาค้นคว้าทางด้านศิลปวัฒนธรรมในท้องถิ่นต่างๆ ทำให้เราเข้าใจชีวิตและความเป็นอยู่ของบรรพบุรุษชาวไทยสมัยโบราณมากยิ่งขึ้น ความรู้เหล่านี้จะทำให้อนุชนมีทัศนคติที่ดีต่อบรรพบุรุษ รู้จักความเป็นมาของตนเอง เกิดความรักและหวงแหนในศิลปวัฒนธรรมและประเทศชาติ อันเป็นผลให้เกิดการผนึกกำลังกัน รักษาเอกราช และความเป็นไทยของชาติได้ในที่สุด
กล่าวเฉพาะนครศรีธรรมราช จากหลักฐานทางด้านศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะด้านโบราณคดีเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า บรรดาหัวเมืองต่างๆ ในคาบสมุทรไทย หรือภาคใต้ของประเทศไทยในสมัยโบราณนั้น นครศรีธรรมราช เป็นเมืองที่มีความสำคัญมากเมืองหนึ่ง เพราะเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีทำเลที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสม จึงมีชุมชนโบราณ หลักฐานด้านโบราณคดี และมรดกทางศิลปวัฒนธรรมเป็นจำนวนมาก ดังที่นักปราชญ์บางท่านให้สมญานามดินแดนนี้ว่า “เมืองแม่ทางวัฒนธรรม”
ด้วยเหตุนี้ นครศรีธรรมราชจึงเป็นดินแดนที่ควรแก่การศึกษาค้นคว้าทางศิลปวัฒนธรรมมากที่สุดเมืองหนึ่ง
ข้อตกลงเบื้องต้น และขอบข่ายที่ศึกษา
เนื่องจากเนื้อหาที่ศึกษาในบทความนี้ค่อนข้างจะซับซ้อนและยุ่งยากในการทำความเข้าใจทั้งในส่วนของผู้เขียนและผู้อ่าน จึงเห็นสมควรกล่าวถึงข้อตกลง และขอบข่ายในการศึกษาเท่าที่จำเป็นโดยสรุปดังนี้ คือ
๑. วัฒนธรรม หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มนุษย์ที่อยู่รวมกันในรูปขององค์กรทางสังคมสร้างสรรค์ขึ้น เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่รวมกันได้ หรืออีกนัยหนึ่งวัฒนธรรมก็คือวิถีชีวิตของมนุษย์ในสังคมหนึ่งๆ นั่นเอง โดยเหตุที่วัฒนธรรมเป็นเรื่องของกลุ่มชนหรือสังคม วัฒนธรรมจึงมีการอยู่สืบเนื่อง นานกว่าอายุขัยของบุคคลที่เป็นสมาชิกในสังคมนั้นๆ แต่ว่าการอยู่สืบเนื่องของวัฒนธรรมก็ไม่ได้อยู่ในลักษณะที่หยุดนิ่ง อย่างที่แลเห็นว่าเคยเป็นมาอย่างไรก็เป็นอยู่อย่างนั้น หากเป็นการเปลี่ยนแปลงและคลี่คลายอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสภาพชีวิตของบุคคล และการดำรงอยู่ของสังคม การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของ มนุษย์ เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะโดยธรรมชาติมนุษย์เป็นสัตว์โลกที่สร้างวัฒนธรรมจากการเรียนรู้ หาได้เกิดจากสัญชาตญาณที่ถ่ายทอดกันตามกรรมพันธุ์ เช่น บรรดาสัตว์สังคมอื่นๆ ไม่ มนุษย์เมื่อได้เรียนรู้และมีประสบการณ์มากขึ้นก็อาจคิดประดิษฐ์เปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมของตนได้รวดเร็วขึ้น เพื่อความเหมาะสมกับการดำรงชีวิตในสังคม โดยทั่วไปลักษณะทางวัฒนธรรมประกอบด้วยระบบความเชื่อ การเมือง การ ปกครอง เศรษฐกิจ และสังคม สถาบันเหล่านี้มีความหมายต่อกันและกันในอื่นที่จะทำให้สังคมมนุษย์ดำรงอยู่ต่อไป
๒. มรดกทางวัฒนธรรม หมายถึง แบบแผนหรือเนื้อหาของวัฒนธรรมในลักษณะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต คือ การทำมาหากิน การตั้งแหล่งที่อยู่อาศัย การหย่อนใจ การป้องกันรักษาโรคภัยไข้เจ็บ ระบบความเชื่อ เครื่องนุ่งห่ม การคมนาคม การศึกษา และการปกครอง แบบแผนหรือ เนื้อหาของวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในอดีตเหล่านี้บางอย่างก็หมด หน้าที่ความสำคัญไปแล้ว แต่บางอย่างก็ยังคงมีความสำคัญสืบเนื่องอยู่
๓. ศาสนา หมายถึง พฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกเพื่อแก้ปัญหาของชีวิตตนเอง ไม่ว่ามองในแง่ต้องการความคุ้มครอง ต้องการปลอบใจตนเอง ต้องการปรับตัวให้เข้ากับสังคม หรือต้องการเข้าถึงจุดสูงสุด คือพระเจ้า หรือความหลุดพ้น
๔. ศาสนาพราหมณ์ หมายถึง ศาสนาดั้งเดิมแต่สมัยพระเวท (เริ่มขึ้นเมื่อประมาณ ๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล) ซึ่งมีลักษณะเป็นพหุเทวนิยม แล้วเปลี่ยนแปลงไปทีละขั้นจนถึงขั้นเทพองค์เดียวที่เป็นนามธรรม (Monism) ในที่สุดก็ได้วิวัฒนาการมาเป็นศาสนาฮินดู มีพระเจ้าสูงสุดสามองค์ คือ พระพรหม พระวิษณุ (นารายณ์) และพระศิวะ (อิศวร) เรียกว่า “ตรีมูรติ” ในที่นี้ไม่ได้ใช้คำว่า ‘‘ฮินดู” เพราะว่า หากใช้คำนี้ย่อม เน้นเฉพาะศาสนาของชาวอินเดียในปัจจุบน ซึ่งมีลักษณะเป็นชาตินิยมหรือพลังทางสังคม บางช่วงรวมเอาศาสนาพุทธเข้าไปด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ภาพพจน์ทางด้านประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการของวัฒนธรรมไม่ชัดเจน ไม่ได้เน้นสายธารทางศาสนาจากอินเดียที่ได้เข้ามาสู่ภาคใต้ของประเทศไทยและกลายเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมทางศาสนาที่สำคัญ
๕. พราหมณ์ หมายถึง ชาวอินเดียผู้ได้อพยพเข้ามาสู่ประเทศต่างๆ ในคาบสมุทรมลายูมาตั้งแต่สมัยโบราณ และสืบเชื้อสายมาจนถึงปัจจุบัน กรณีในประเทศไทยถ้าพูดตามกฎหมายแล้วพวกพราหมณ์เหล่านี้เป็นคนไทยทั้งเชื้อชาติ และสัญชาติ เป็นแต่ว่าด้านชาติพันธุ์วิทยาเป็นชาวอินเดีย เท่านั้น ในปัจจุบันนี้เราอาจจะกล่าวได้ว่า พวกพราหมณ์ เหล่านี้ก็คือคนไทย บางคนทำหน้าที่ทางศาสนาพราหมณ์ จึงมีคำเรียกว่า “พราหมณ์ไทย (Thai Brahmins)” เป็นผู้ธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมทางศาสนาเหมือนกับพระภิกษุสงฆ์ในทางศาสนา ถึงแม้ว่าหน้าที่จะแตกต่างกันบ้างในรายละเอียดปลีกย่อยก็ตาม พวกพราหมณ์ไทยดังกล่าวย่อมแตกต่างจาก ชาวอินเดียที่ได้เข้ามาสู่ประเทศไทยในปัจจุบันในฐานะผู้นับถือสัญชาติไทย หรือเป็นคนต่างด้าว ชาวอินเดียรุ่นหลังนี้ปฏิบัติกิจทางศาสนาเฉพาะในกลุ่มของตนเอง เป็นตัวแทนของศาสนาฮินดูที่ชัดเจน ไม่มีความสัมพนธ์กับวัฒนธรรมของคนไทยโดยตรง จึงเรียกว่า “พราหมณ์ฮินดู (Hindu Brahmins)

๖. นครศรีธรรมราช หมายถึง ดินแดนบนคาบสมุทรไทยที่กินอาณา บริเวณ ตั้งแต่อำเภอท่าชนะ จังหวัด สุราษฎร์ธานี ถึงตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เพราะว่าบริเวณนี้เป็นอันเดียวกันทางประวัติศาสตร์ การตั้งหลักแหล่งของชุมชน การเกิดพัฒนาการทาง ประวัติศาสตร์ของชุมชนทั้งในระดับสถานีค้าขาย เมืองท่า และรัฐที่มีการจัดระบบการเมือง พัฒนาการเหล่านี้สัมพันธ์ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในอาณาบริเวณซึ่งกลุ่มคนได้พยายามสร้างลักษณะเฉพาะทางศิลปกรรมของตนขึ้น และท้ายที่สุด เราเห็นพัฒนาการทางการเมืองของรัฐ อย่างชัดเจน ปรากฏขึ้นในเขตลิกอร์ ดังนั้นบริเวณนี้จึงควรเรียกว่า “Ligor area” แต่ในที่นี้จะเน้นหนักเฉพาะในเขตจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งถือเอาการแบ่งเขตการปกครองในปัจจุบันเป็นหลักเป็นสำคัญ และอาจจะกล่าวถึงบริเวณอื่น หรือบริเวณที่ใกล้เคียงบ้างในกรณีที่จำเป็น
ความมุ่งหมายในการศึกษา
บทความเรื่องนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะแสดงสาระสำคัญเกี่ยวกับ “มรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช” บางประการ กล่าวคือ
ประการแรก ต้องการแสดงให้เห็นความเข้มข้น รูปแบบ และปริ มาณของมรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ ในนครศรีธรรมราช จนถึงกับที่นักวิชาการบางท่านได้เรียกขานดินแดนนี้ว่า “เมืองแม่ทางวัฒนธรรม”
ประการที่สอง ต้องการแสดงให้เห็นถึงความต่อเนื่อง ของมรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชที่สืบทอดกันมาตามลำดับตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๙-๑๐ ตราบจนปัจจุบันนี้
ประการที่สาม ต้องการแสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้มรดกทางวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่นแต่ละสังคมจะมีผลให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมทางสังคม และเศรษฐกิจตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนได้ดี เป็นพื้นฐานที่จะวางแผนให้มีการพัฒนาวัฒนธรรมไปในทิศทางที่ถูกที่ควรได้ในอนาคต ส่วนคนในชุมชนเองก็จะรู้จักภูมิหลังของตนและเข้าใจตนเองว่าจะดำเนินต่อไปในอนาคตอย่างไร และจะพัฒนาวัฒนธรรมของตนเองไปในทิศทางใดที่จะทำให้การดำรงอยู่ร่วมกันเป็นไปอย่างราบรื่น
ประการสุดท้าย ต้องการให้เห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราช และดำเนินการศึกษาค้นคว้า ศึกษาเปรียบเทียบ ตลอดจนการดำเนินการทางโบราณคคีและวิชาการสาขาอื่นๆ ในเชิงสหวิทยาการโดยถูกหลักวิชา
วิธีการศึกษา
ในการศึกษาครั้งนี้ ผู้เขียนได้พยายามเน้นหนักที่การปฏิบัติการสำรวจภาคสนามทางโบราณคดี และทางมนุษยวิทยาในบริเวณที่เป็นขอบเขตของการศึกษา และบริเวณที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อจะรวบรวมมรดก ทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ที่ปรากฏให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ทั้งในส่วนที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมด้านรูปธรรมและนามธรรมด้วยวิธีการดังกล่าวนี้การสมภาษณ์บุคคลและการสังเกตเกี่ยวกับประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งสำคัญมาก และใช้เวลานานกว่าจะศึกษาได้อย่างทั่วถึง และอันนี้คือขีดจำกัดอย่างหนึ่งในการศึกษาครั้งนี้
นอกเหนือจากวิธีการที่กล่าวมา โบราณวัตถุสถาน จารึก และเอกสารโบราณทึกชนิดย่อมมีความจำเป็นอย่างมาก ต่อการศึกษาครั้งนี้ แต่เครื่องมือเหล่านี้ก็สร้างปัญหาในการตีความไม่น้อยเลย อันอาจจะเป็นเพราะว่ามรดกทางวัฒนธรรมของศาสนาพราหมณ์ในนครศรีธรรมราชมีความซับซ้อน และอายุยาวนานมาก จึงยากที่จะเข้าใจได้ด้วยวิธีการศึกษาที่กระทำหรือใช้อยู่นี้ก็เป็นได้
ที่มาโดย:ปรีชา  นุ่นสุข ศูนย์วัฒนธรรมภาคใต้ วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *