ยาทาแก้ปวดและบวมเมื่อโดนผึ้งต่อย

Socail Like & Share

ปัญหาของผู้เลี้ยงผึ้งก็คือ กลัวผึ้งต่อย ทำให้เจ็บปวด บางคนแพ้เป็นไข้ไปเลยก็มี บางรายถูกผึ้งต่อยบริเวณใกล้ตา ตาจะปิด ต่อยแก้มๆ จะบวมอูม ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตามสำหรับผู้เลี้ยงผึ้งส่วนมากมีเครื่องป้องกันดีอยู่แล้ว หรือเมื่อเลี้ยงไปนานๆ อาจมีความเคยชินกับผึ้งมากขึ้น จะถูกผึ้งต่อยน้อยลง ในกรณีที่มีผึ้งต่อยและแพ้มากๆ ควรใช้ยาดังนี้

๑. ยาแก้ปวดทุกชนิด ใช้รับประทานตามอัตรา แก้ปวด
๒. ลินซิดอน แคปซูล ใช้รับประทานแก้แพ้
๓. แอนตี้ ซานครีม ทาแก้อักเสบบริเวณที่ถูกต่อย และดับกลิ่นสาบนางพญา
๔. หัวหอม หอมแดง ใช้มีดฝานทาแก้ปวดและบวมได้ดี
๕. ยาหม่อง ใช้ทาแก้ปวดและบวมได้ แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะทำให้ร้อนและทาใกล้ตาไม่ได้

เมื่อพูดถึงผึ้งแล้ว มีผู้ยกย่องว่าผึ้งเป็นสัตว์ที่จัดระเบียบความเป็นอยู่ดีที่สุด เพราะผึ้งส่วนมากมีนิสัยขยันขันแข็ง ชอบอยู่รวมกันเป็นหมวดหมู่ จัดระเบียบการงานในสังคมของมันดีไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน ไม่เหมือนอย่างมนุษย์ทุกวันนี้ ที่ต่างคนต่างอ้างว่าตนมีความรู้ความสามารถวิเศษยิ่งกว่าคนอื่น เลยทำให้บ้านเมืองยุ่งเหยิงอยู่ทั่วไปในทุกวันนี้ ผึ้งมีความสามัคคีกลมเกลียว ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีความมุ่งหวังที่จะทำนุบำรุงรังของมันแต่ละรังให้ได้ประโยชน์มากที่สุด มีความกล้าหาญ ไม่ใช่เพียงแต่ทำท่าว่าเก่งกล้า แต่ใครไปรังแกมันมันจะสู้จนสุดใจขาดดิ้นทีเดียว

ผึ้งนั้นมีระเบียบในการจัดสังคมดีมาก มันแบ่งหน้าที่กันทำไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน แต่การที่จะแบ่งหน้าที่กันนี้ ผึ้งได้แบ่งพลพรรคผึ้งหรือพลเมืองผึ้งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

๑. แม่รังหรือราชินีผึ้ง (Queen) หรือนางพญาผึ้ง
๒. พ่อรัง (Drone)
๓. พลรังหรือผึ้งทหารเรือพลรบ (Worker) หรือผึ้งงาน
ผึ้งทั้งสามประเภทนี้แบ่งหน้าที่กันทำไม่ได้ก้าวก่ายกันตลอดชีวิตของผึ้ง มันแบ่งหน้าที่กันดังนี้คือ

ผึ้งแม่รังหรือนางพญาผึ้ง  มีหน้าที่เพาะพันธุ์หรือวางไข่ตลอดจนชีวิต ผึ้งนางพญานี้ในรังหนึ่งจะมีอยู่เพียงตัวเดียวเท่านั้น (ถ้ามีตั้งแต่สองตัวจะกัดกันตาย) สังเกตได้ง่าย คือมีตัวโตมาก ลำตัวยาว แต่ปีกสั้น สีน้ำตาลเหลือง เอวคอด ก้นแหลม ไม่มีเหล็กใน ไต่ไปอย่างเชื่องช้า คล้ายตัวแตนหรือแมลงหมาล่า และที่สังเกตได้ง่ายก็คือไม่ว่านางพญาผึ้งนี้จะบินไปทางไหน ผึ้งตัวอื่นๆ ทั้งผึ้งพ่อรัง และผึ้งทหารจะบินตามไปเป็นพรวน ถ้าเป็นคนก็เห็นจะพอๆ กับนางสาวไทยเดินไปไหนมีคนเดินตามเป็นพรวนนั่นแหละ

ส่วนผึ้งพ่อรังนั้น มีหน้าที่อย่างเดียวในชีวิตก็คือ คอยผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งให้ได้ ผึ้งพ่อรังหรือผึ้งตัวผู้นี้ในรังหนึ่งมีอยู่หลายร้อยตัว แต่วิธีที่จะผสมพันธุ์นั้น ผึ้งตัวผู้หรือผึ้งพ่อรังตัวเดียวเท่านั้นที่จะผสมพันธุ์ได้ แต่ต้องเป็นผึ้งที่แข็งแรงที่สุด จึงจะผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งได้ ตอนที่ผึ้งจะผสมพันธุ์กันนี้ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์  ปราโมช เล่าไว้ในหนังสือเรื่องห้วงมหรรณพของท่านว่า “ผึ้งเมื่อถึงคราวที่จะผสมพันธุ์กันนั้น นางพญาผึ้งหรือผึ้งตัวเมียที่ยังเป็นสาวบริสุทธิ์จะบินด้วยความเร็วสูงขึ้นไปบนฟ้า ขณะนั้นผึ้งตัวผู้จำนวนร้อนจำนวนพันที่อยู่ในละแวกนั้น ก็จะบินตามขึ้นไปด้วยความปรารถนาที่จะเสพเมถุนกับนางพญาผึ้ง แต่ตราบใด ที่ยังมีผึ้งตัวผู้บินตามมากกว่าหนึ่งตัว นางพญาผึ้งจะไม่หยุดบิน แต่จะบินสูงขึ้นไปเรื่อยๆ ผึ้งตัวผู้ที่แก่ไปเรี่ยวแรงไม่มีก็ดี หรือผอมกะหร่องบินไม่ทันก็ดี หรือร่างกายไม่สมบูรณ์ เป็นโรคไต โรคตับแข็ง ความดันโลหิตสูง หรือหัวใจรั่วก็ดี ผึ้งเหล่านี้จะหมดแรงร่วงหล่นตายไปทีละตัวสองตัวจนหมด จะเหลือแต่ผึ้งตัวผู้ตัวสุดท้ายซึ่งบริบูรณ์ล่ำสันแข็งแรงกว่าใครทั้งหมด ถึงตอนนี้นางพญาผึ้งจะยอมให้ผึ้งตัวผู้ตัวสุดท้ายนั้นผสมพันธุ์ เพื่อให้ผึ้งที่จะเกิดต่อไปนั้น สมบูรณ์ที่สุด แข็งแรงผึ้งต่อยที่สุดเพราะมีพ่อที่ได้คัดความสมบูรณ์ความแข็งแรงชนะเลิศแล้ว แต่ผึ้งตัวสุดท้ายที่ชนะเลิศได้ผสมพันธุ์กับนางพญาผึ้งนี้ ก็มิใช่จะรอดตายเสียเมื่อไร เพราะเมื่อผึ้งตัวผู้ใส่องค์เพศเข้าไปในตัวนางพญาๆ ก็จะสลัดตัวหลุด ดังเอาองค์เพศ และอัณฑโคตรของผึ้งตัวผู้นั้นเข้าไปไว้ในท้องของตนจนหมดสิ้น ผึ้งตัวผู้ก็ถึงแก่ความตายในทันที ส่วนอวัยวะเพศที่ติดเข้าไปอยู่ในตัวของนางพญาผึ้งนั้นจะไม่ตาย และจะทำหน้าที่ผสมน้ำเชื้อชีวิตให้แก่ไข่ของนางพญาผึ้งตลอดไป เพราะนางพญาผึ้งนั้น จะออกจากรังผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวในชีวิต เมื่อกลับทำรังหลังจากนั้นแล้ว ก็จะไม่ออกจากรังอีก”

ผึ้งจะทำการขยายพันธุ์ได้รวดเร็วมาก นางพญาผึ้งจะออกไข่ได้ถึงวันละ ๑,๐๐๐ ถึง ๒,๐๐๐ ฟอง และจะฟักออกเป็นตัวผึ้งภายใน ๒๑ วัน ถึง ๒๕ วัน

ส่วนผึ้งพ่อรังที่ไม่ได้ผสมพันธุ์หรือที่ไม่ตายเสียก่อนตอนบินขึ้นผสมพันธุ์นั้น เมื่อกลับมารังแล้ว ก็จะได้รับการเลี้ยงดูอย่างเสียไม่ได้จากพลรัง เพราะถือว่าพ่อรังนี้ไม่มีประโยชน์อะไรแล้ว จะใช้ผสมพันธุ์ต่อไปก็ไม่ได้ เพราะรังหนึ่งมีนางพญาผึ้งเพียงตัวเดียว และนางพญาผึ้งจะไม่ต้องผสมพันธุ์อีกต่อไป ดูแล้วพ่อผึ้งพ่อรัง เห็นจะอาภัพมากที่สุดในบรรดาพลเมืองผึ้ง

ส่วนผึ้งงานหรือผึ้งทหารนั้น เป็นผึ้งตัวเมียเช่นเดียวกับนางพญา แต่ตัวเล็กกว่ามาก ก้นแหลม ลำตัวลายแต่มีอวัยวะสืบพันธุ์ไม่สมบูรณ์ มีรังไข่เล็กมากใช้ผสมพันธุ์ไม่ได้ มีเหล็กในแหลมที่ปลายมีง่ามแหลมเป็นจักรๆ สำหรับต่อย ที่ขาหลังมีถุงสำหรับเก็บละอองเกสรติดอยู่ด้วย มีต่อมสำหรับทำขี้ผึ้งอยู่ที่ใต้ท้องสำหรับสร้างรัง

ผึ้งงานต้องทำงานหนักมาก มีหน้าที่สร้างรัง ทำความสะอาดรัง หาน้ำหวาน หาอาหารให้นางพญาและพ่อรังกิน ป้องกันศัตรู อายุของผึ้งงานจึงสั้นมาก มักจะมีอายุเพียง ๖ เดือนก็ตาย นอกจากนี้เมื่อต่อยอะไรเข้าเหล็กในจะติดอยู่กับสิ่งนั้น แล้วตัวมันก็ตายด้วย จะงอยปากของผึ้งงานยืดหดได้ ดังนั้นมันจึงดูดน้ำหวานได้สะดวก

ผึ้งในรังหนึ่งๆ นั้น นางพญาผึ้งจะผลิตตัวผึ้งออกมา ๓ ชนิดคือ เป็นผึ้งงาน ๑ นางพญาผึ้ง ๑ และผึ้งตัวผู้หรือผึ้งพ่อรัง ๑ นางพญาผึ้งนั้น ในรังหนึ่งจะมีนางพญาผึ้งเพิ่มขึ้นหนึ่งตัว

วิธีการเลี้ยงผึ้งนั้น เขาให้ทำรังผึ้งขึ้นก่อน รังผึ้งนั้นทำด้วยลังไม้ขนาดกว้างสัก ๑ ฟุต ยาวสัก ๑ ฟุต ๔ นิ้ว ลึก ๑ ฟุต แล้วหานางพญาผึ้งมาผูกไว้ในรังนี้ โดยใช้เชือกด้ายหรือเส้นผมคนก็ได้ผูกไว้ให้ติดกับรัง เมื่อผึ้งอื่นๆ เห็นนางพญาผึ้งที่ไหน มันก็จะมาอยู่ที่นั่นแล้วผึ้งงานจะมาทำรัง หาน้ำหวานมาเลี้ยงนางพญาผึ้งและผึ้งพ่อรังต่อไป

สถานที่เลี้ยงผึ้งควรจะเป็นที่ใกล้เคียงกับที่ผึ้งจะไปหาเกสรดอกไม้มาทำน้ำหวานได้สะดวก พวกชาวไร่จึงปลูกดอกไม้เช่นทานตะวันไว้ด้วย เพื่อให้ผึ้งไปหาน้ำหวานได้ง่าย ว่ากันว่าดอกทานตะวันนั้น ส่วนใหญ่มักจะลีบไม่มีเมล็ด ถ้าได้เลี้ยงผึ้งไว้ด้วย ผึ้งจะช่วยผสมให้ดอกทานตะวันมีเมล็ดมากขึ้น เรื่องและวิธีการเลี้ยงผึ้งยังมีรายละเอียดอีกมาก ท่านที่สนใจจะเลี้ยงผึ้งโปรดถามนักวิชาการเกษตรหรือถามผู้ชำนาญดูเถิด คงหาไม่ยากนัก

หลวงสมานวนกิจ เล่าว่าที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการเลี้ยงผึ้งกันเป็นอาชีพได้ กสิกรคนหนึ่งเลี้ยงผึ้งไว้ราว ๒๐๐ รัง ๒ เดือน เก็บน้ำผึ้งได้ครั้งหึ่ง ได้น้ำผึ้งครั้งละ ๑ ขวดแม่โขงต่อ ๑ รัง ครั้งหนึ่งได้น้ำผึ้ง ๒๐๐ ขวด ราคาขวดละ ๓๐ บาท(สมัยก่อน) เก็บครั้งหนึ่ง ได้เงินเท่าไรก็ลองคิดดู น่าเลี้ยงผึ้งเหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม คนไทยโบราณถือว่าสัตว์ที่อยู่ป่านั้น หากบังเอิญเข้าไปในบ้านใครถือว่าเป็นอุบาทว์จัญไร ต้องปัดเป่าสะเดาะเคราะห์กันให้วุ่นไปเหมือนกัน ผึ้งถือเป็นสัตว์หรือแมลงที่อยู่ป่า ถ้าผึ้งไปจับบ้านเรือนใครก็เป็นอุบาทว์เหมือนกันแต่อีกตำราหนึ่งกล่าวว่า แล้วแต่ทิศที่สัตว์เหล่านั้นเข้าไป บางทิศก็ร้ายบางทิศก็ดี ดังในคัมภีร์อธิไทโพธิบาทว์กล่าวว่า “แร้งก็ดี สัปปชาติงูป่าทั้งปวงก็ดี นกเค้านกยางก็ดี เหี้ยจังกวดสุนัขจิ้งจอกและปลวกรุ้งกินน้ำและเนื้อและผึ้ง เต่า ขวานฟ้าและสัตว์ป่าทั้งปวงก็ดี มาจับเรือนขึ้นเรือนเข้าบ้านและตกในบ้านในเรือน ในทิศบูรพา ทรัพย์สมบัติและบุตรจะฉิบหาย ทิศอาคเนย์ไฟจะไหม้เรือน ทิศทักษิณตัวจะตาย มิฉะนั้นจะได้ทุกข์ไข้เจ็บแทบปางตาย ทิศหรดีโจรจะลักและปล้นทรัพย์สมบัติ ทิศปัจฉิม (คือทิศตะวันตก) จะได้ลาภคือภรรยาสามีอันพึงพอใจ ทิศพายัพจะจำเริญสุข ทิศอุดรจะได้ลาภ ทิศอิสานท้าวพระยาจะบูชาและยกย่องแล” เป็นอย่างไรบ้างครับเรื่องความเชื่อถือของคนโบราณ ถ้าคนเราทุกวันนี้ขืนเชื่อถืออย่างนี้ ก็เห็นจะเดินไม่ทันเพื่อนฝูงเป็นแน่ เพราะอุบาทว์มันมากมายเหลือเกิน

กวีโบราณของเรา เปรียบเทียบผู้หญิงเหมือนดอกไม้ซึ่งมีน้ำหวานอยู่ในเกสร และเปรียบผู้ชายเหมือนหมู่ภมรคือตัวผึ้ง ว่าเป็นของคู่กัน ผู้ชายบางคนว่านัยน์ตาของผู้หญิงที่ตนหลงรักนั้นยิ่งกว่าน้ำผึ้งทีเดียว หารู้ไม่ว่าตาหวานๆ นั้น พอมาอยู่กับเรานานๆ เข้า ดุยิ่งกว่าตาเสือเสียอีก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี