ผ้าอินเดียกับการต่อสู้กับอังกฤษของคานธี

Socail Like & Share

คานธีอาการก่อนที่จะเกิดพายุ
สี่ปีแห่งการเตรียมตัวได้ผ่านพ้นไปแล้ว คองเกรสก็ได้ผ่านเหตุการณ์ไปหลายประการ ถึงกับได้เปลี่ยนวัตถุประสงค์เดิมให้เป็นอิสรภาพโดยสมบูรณาญาสิทธิ์ การค้าขายของอังกฤษตกต่ำลงอย่างอนาถใจ การนุ่งผ้าต่างประเทศ โดยเฉพาะผ้าอังกฤษชาวอินเดียรู้สึกว่า ทำลายเกียรติยศของตนและของชาติ ถึงกับประชาชนพากันไปเที่ยวหาผ้าต่างประเทศจากบ้านต่างๆ มาเผาเสีย เหตุการณ์เช่นนี้มีขึ้นเกือบทุกเวลาเย็น และแทบทุกมณฑล จังหวัด อำเภอ หมู่บ้าน เป็นต้น แต่รายที่นับว่าสำคัญในทางการเมือง คือ รายที่เกิดขึ้น ในเมืองกัลกัตตาเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๒๙ พวกผู้รับอาสาฝ่ายคองเกรส เที่ยวค้นหาผ้าต่างประเทศมากองเป็นพเนินไว้ในสวน ตำบลหนึ่ง ณ เมืองกัลกัตตาหลายกอง แม้พวกเศรษฐีคฤหบดีผู้ที่เคยสะสมผ้ามีราคาสูงไว้ก่อนๆ มานาน ก็ได้นำผ้าเหล่านั้นมาให้คองเกรสเผาสิ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นตัวอย่างแก่มหาชนว่า ผ้าต่างประเทศเป็นผ้าทำลายมนุษยธรรม เป็นผ้าที่เป็นเครื่องขัดขวางในทางกู้อิสรภาพของประเทศ กู้ฐานะของชาติ คือเป็นผ้าที่ไม่บริสุทธิ์ ที่ชาวอินเดียผู้รักชาติและเกียรติยศไม่ควรจะใช้และเก็บงำรักษาไว้

ในการเผาผ้าคราวนี้ ท่านคานธีได้ทำหน้าที่เป็นประธาน และก่อนที่จะจุดไฟขึ้นที่กองผ้านั้น ท่านได้แสดงสุนทรพจน์มีข้อความที่สำคัญว่า

“ผ้าอินเดีย เป็นเครื่องมืออันสำคัญในการต่อสู้กับอังกฤษ ถ้าเราดำเนินหลักการเช่นนี้ได้อย่างจริงจัง เราคงจะไม่ต้องขัดขืนกฎหมายก็ได้ ฉันเองก็ไม่ต้องการที่จะแนะนำให้ประเทศขัดขืนกฎหมายถ้าไม่จำเป็น ถ้ารัฐบาลอยากเล่นงานฉันหวังอย่างแน่นอนว่า เราจะจัดการกับรัฐบาลได้ โดยมหาชนไม่จำเป็นที่จะต้องขัดขืนกฎหมายหรือไม่ยอมเสียภาษี ซึ่งเป็นวิธีการอันหนึ่งแห่งการขัดขืนกฎหมาย ขอให้ท่านทั้งหลายเชื่อฉันเถิดว่า ฉันจะพยายามทุกประการ ที่จะไม่ยอมให้ประเทศตกอยู่ในข่ายอันตรายเช่นนี้”

“ฉันรู้ว่า ฉันต้องรับผิดชอบในนโยบายดังว่านี้ฉันทราบว่าในประเทศอันไพศาลเช่นอินเดีย การดำเนินนโยบายขัดขืนกฎหมาย และการไม่ยอมเสียภาษีจะเป็นเหตุให้เกิดผลร้ายอย่างหนักหนาทีเดียว แต่ผู้ซึ่งต้องการอิสรภาพ จำเป็นจะต้องเสี่ยงอันตรายอย่างใหญ่หลวง จึงจะบรรลุถึงอิสระอันมีค่าล้ำเลิศนั้นได้”

การเผาผ้านี้ เป็นเหตุให้รัฐบาลกล่าวหาท่านว่าเป็นผู้ทำลายความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของมหาชน จึงจับส่งศาล ขอให้ศาลลงโทษ ท่านให้การต่อศาลว่า

“ฉันกล้าพูดว่า ในการตั้งตัวเป็นผู้รักษากฎหมายคราวนี้ ทางการแห่งตำรวจเป็นฝ่ายผิด และควรจะสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่กับฉัน คือ ทางการแห่งตำรวจควรจะเป็นจำเลยและฉันควรจะเป็นโจทก์”

“ฉันขอรับรองว่า มหาชนได้รักษาความสงบเรียบร้อยเป็นอย่างดี ทั้งได้ประพฤติตัวตามหลักศีลธรรมอย่างเรียบร้อย”

“สถานที่ๆ เราเลือกสำหรับเผาผ้านั้น ห่างไกลจากบ้านเรือนมาก ทั้งได้ทำการป้องกันอันตรายไว้แล้วเป็นอย่างดี ฉะนั้นจึงนับว่าเป็นหน้าที่ของตำรวจ ที่ไม่ควรจะกระเสือกกระสนเข้าไปในหมู่ชนที่ทำกิจการอย่างสงบเรียบร้อยอยู่นั้น ตามความเห็นของฉัน การต้องเกี่ยวข้องกับตำรวจคราวนี้ เป็นการไม่สมควร ไม่สุภาพ ไม่พึงปรารถนา และเป็นการข่มขี่อย่างร้ายแรง”

ศาลคงเชื่อตามคำพูดของท่านคานธี มิหนำซ้ำการเผานั้นได้กระทำกันในที่เปิดเผยทั่วกัลกัตตา ตั้งแต่เด็กจนผู้ใหญ่ย่อมทราบกันอยู่ดีแล้วว่า ทางคองเกรสหรือมหาชนได้รักษาความสงบเรียบร้อยโดยมิต้องสงสัยการณ์ชนิดนี้ขึ้น  ฉะนั้นตำรวจจึงต้องจับ และศาลก็ต้องตัดสินว่าท่านคานธีเป็นฝ่ายผิด ทั้งนี้เพื่อจะรักษาหน้าที่ของรัฐบาลไว้เท่านั้น ศาลจึงปรับท่านคานธีเพียง ๑ รูปี แต่นโยบายของคองเกรสมีอยู่ว่า จะไม่ยอมเสียค่าปรับแม้แต่สตางเดียว ท่านคานธีจึงแจ้งให้ศาลทราบว่า ท่านไม่มีเงินที่จะเสียค่าปรับได้ เพราะทรัพย์สมบัติเท่าที่ท่านเคยมีอยู่เป็นของตน ท่านได้มอบให้แก่ชาติหมดแล้ว เวลานี้ท่านไม่มีแม้แต่สตางค์เดียวที่เป็นของตน จึงยินดีที่จะรับโทษอาญาแทนค่าปรับ ศาลตอบว่า ศาลได้รับค่าปรับของท่านไว้แล้ว เป็นที่น่าแปลกใจมิใช่น้อยที่ยังไม่มีใครทราบว่า ใครเป็นผู้เสียค่าปรับแทนท่านคานธีจนบัดนี้ ศาลก็ไม่ยอมเปิดเผยชื่อ แต่มหาชนพากันสงสัยว่า เพื่อเป็นการรักษาหน้ารัฐบาลได้ออกให้เอง”

ตรงกับเวลาทีเดียว สภาปิลิเมนต์มีการเลือกตั้งกันใหม่ คณะพรรคกรรมกร (Labour Party) เข้ามาเป็นคณะรัฐบาล ภายใต้อัครมหาเสนาบดี คือ มร. แรมเซย์แมคโดแนลด์ งานชิ้นสำคัญที่รัฐบาลชุดนี้ได้กระทำขึ้นคือ การทำสนธิสัญญาระหว่างไอยคุปต์กับอังกฤษ มอบอำนาจการปกครองคืนให้แก่ไอยคุปต์ อินเดียเห็นกิจการของรัฐบาลเช่นนั้นจึงหวังว่า รัฐบาลอังกฤษคงจะคืนอำนาจการปกครองเท่าที่สงวนไว้ให้แก่อินเดียเหมือนกัน มีคณะกรรมาธิการชุดหนึ่งภายใต้ความควบคุมของเซอรยอนไซมอน ผู้เป็นประธานมาเยี่ยมอินเดีย เพื่อดูเหตุการณ์ทางการเมืองไว้ แล้วจะได้เสนอรายงานต่อสภาปาลิเมนต์ เพื่อรับไว้พิจารณา

ณ บัดนั้น ลอร์ด แฮลิแฟกส์ (สมัยนั้นท่านมีชื่อว่า ลอร์ด เออร์วิน) ครองตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการอินเดียอยู่ ท่านมีความเอื้อเฟื้อต่อความตื่นตัวของอินเดีย จึงได้รับความนิยมจากอินเดียเป็นอย่างยิ่ง ท่านมีความประสงค์ที่จะให้ชาวอินเดียเข้าเป็นสมาชิก แห่งคณะกรรมการไซมอนด้วย และแนะนำให้รัฐบาลอังกฤษเรียกประชุมโต๊ะกลม เพื่อพิจารณาเรื่องอินเดียให้สิ้นสุดลง อินเดียก็มีความมุ่งหมายที่จะแนะนำให้รัฐบาลอังกฤษเรียกประชุมโต๊ะกลม โดยมีสมาชิกทั้งอังกฤษและอินเดียเช่นเดียวกัน ฉะนั้นท่านจึงรีบกลับประเทศอังกฤษ เพื่อจะจัดการเรื่องนี้ให้สำเร็จเรียบร้อย เมื่อท่านเดินทางกลับมาถึงอินเดียแล้ว ท่านได้ออกแถลงการณ์ถึงการงานที่ท่านได้กระทำมา ให้เป็นที่เปิดเผยแก่อินเดียทั่วไป แถลงการณ์นั้นมีข้อความสำคัญดังต่อไปนี้

“จุดประสงค์แห่งนโยบายของรัฐบาลอังกฤษ ได้กล่าวไว้ในคำประกาศแห่งเดือนสิงหาคม ค.ศ.๑๙๑๗ ว่าจะค่อยๆ ผดุงหลักการอันเกี่ยวแก่การปกครองตัวเอง โดยมีความมุ่งหมายที่จะให้อำนาจการปกครองแก่อินเดีย ในฐานะเป็นส่วนสำคัญแห่งราชอาณาจักรอังกฤษ ดังที่ฉันได้ชี้แจงมาแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ฉันได้รับพระราชดำรัสแนะนำจากพระเจ้าจักรพรรดิ์ ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า พระองค์ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าว่า แผนการณ์ที่สภาปาลิเมนต์ได้กำหนดไว้ใน ค.ศ.๑๙๑๙ นั้น ควรจะเป็นทางนำอินเดียมาสู่สถานะอันสมควร ภายในบริเวณแห่งอาณาเขตของพระองค์ คณะรัฐมนตรีของพระองค์ได้ประกาศแล้วประกาศเล่าว่า ความประสงค์ของรัฐบาลอังกฤษนั้นคือ เมื่อถึงเวลาอันสมควรแล้ว อินเดียจะเป็นภาคีสมาชิกแห่งราชอาณาจักร โดยมีสิทธิเท่าเทียมกับอาณาเขตอื่นๆ แต่เนื่องจากมีความสงสัยเกิดขึ้นในอังกฤษและอินเดียว่า ควรจะตีความหมายแห่งคำว่า ”ความประสงค์ของรัฐบาลอังกฤา” เป็นอย่างไรแน่ รัฐบาลของพระราชาธิราช จึงได้มองสิทธิให้ฉันกล่าวชัดออกมาว่า ตามคำประกาศแห่ง ค.ศ.๑๙๑๗ รัฐบาลเห็นว่า ความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญอินเดีย คือจะผดุงฐานะการเมืองของอินเดียให้เท่าเทียมกับอาณาเขต (Dominion Status)”

“ฉันไม่จำต้องกล่าวว่า การงานของรัฐบาลของพระราชาธิราช จะปลูกความนิยมแห่งคณะพรรคทุกคณะในอินเดียได้ และฉันเชื่อว่า ทุกๆ คนเขาเป็นใครก็ตามหรืออยู่ที่ไหนก็ตาม ผู้ปรารถนาความดีของอินเดีย มีความประสงค์ที่จะกำจัดความไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน ซึ่ง ณ บัดนี้ปรากฎอยู่ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอังกฤษ”

“ฉันแน่ใจทีเดียวว่า ทางดำเนินเท่าที่ได้เสนอไว้แล้วนั้น นับว่าเป็นผลที่สืบเนื่องมากจากความปรารถนาที่แท้จริง ในอันที่จะนำความสุขมาสู่ชีวิตการเมืองของอินเดีย”

คำแถลงการณ์ของท่านผู้สำเร็จราชการอินเดีย ได้รับการต้อนรับจากคณะพรรคต่างๆ และประชาชนโดยทั่วไป เว้นแต่มณฑลเบงคอลมณฑลเดียว ยังยึดมั่นอยู่ในหลักคือการไม่ยอมประนีประนอมกับรัฐบาล ต้องต่อสู้เรื่อยๆ ไป จนกว่าจะบรรลุถึงอิสรภาพอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ดี เพื่อจะพิจารณาคำแถลงการณ์นั้น บรรดาคณะพรรคจึงได้นัดกันมาเปิดประชุมกันที่เมืองเดลลี มหาตมะคานธีได้รับหน้าที่ร่างคำแถลงการณ์ ตอบคำแถลงของท่านผู้สำเร็จราชการ เมื่อท่านร่างคำแถลงการณ์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ได้นำคำแถลงการณ์นั้นไปให้ที่ประชุมพิจารณาดูที่ประชุมเห็นชอบตามข้อความที่ท่านได้แสดงไว้ในคำแถลงการณ์ จึงได้นำมาลงประกาศให้เป็นที่รู้กันโดยทั่วไป คำแถลงการณ์ฉบับนี้ นับว่าเป็นคำแถลงการณ์ฉบับสำคัญยิ่ง เพราะเป็นหลักความเห็นส่วนรวมของคณะพรรคทั้งหมดแห่งอินเดีย มีข้อที่สำคัญระบุไว้ในฉบับนั้นว่า

“เราขอชมความจริงใจ ซึ่งปรากฎอยู่ในคำประกาศทั้งขอชมความประสงค์ของรัฐบาลอังกฤษ ที่จะทำการประนีประนอมกับความเห็นของอินเดีย เราหวังว่าจะร่วมมือกับรัฐบาลของพระราชาธิราชเพื่อจัดวางเค้าโครงแห่งรัฐธรรมนูญ อันเท่าเทียมกับอาณาเขตอื่นๆ (Dominion Constitute) และเหมาะกับความประสงค์ของอินเดีย แต่พวกฉันเห็นว่าเป็นการจำเป็นอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลควรจะดำเนินบางประการ ทั้งต้องชี้แจงถึงข้อความบางข้อ ให้เป็นที่แน่ชัดลงไปเสียด้วย ทั้งนี้เพื่อจะปลูกความไว้วางใจของคณะพรรคนั้นๆ ให้มีความไว้วางใจในรัฐบาล แล้วจะได้เข้ามาร่วมมือกับรัฐบาลด้วย”

“กิจการเบื้องต้นซึ่งพวกฉันเห็นว่า เป็นการจำเป็นอย่างยิ่ง ในการที่จะดำเนินการประชุมโต๊ะกลมให้สำเร็จได้นั้นคือรัฐบาลควร
ก. ดำเนินนโยบายประนีประนอมอย่างที่จะนำความสงบมาสู่ประเทศได้
ข. ควรปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด
ค. ให้คำสัญญาว่าคณะพรรคทุกคณะมีสิทธิที่จะส่งผู้แทนของตนเข้าเป็นสมาชิกในการประชุมโต๊ะกลมได้
ง. ต้องถือผู้แทนฝ่ายคองเกรสเป็นฝ่ายสำคัญเพราะคองเกรสเป็นคณะพรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย”

เมื่อคำแถลงการณ์ของผู้นำทั้งหลาย ได้ถูกนำออกประกาศแล้ว ท่านผู้สำเร็จราชการก็เชิญบรรดาผู้นำแห่งอินเดียมาปรึกษาหารือถึงเรื่องการประชุมโต๊ะกลม การพบปะระหว่างคณะผู้นำกับผู้สำเร็จราชการ ได้เปิดขึ้นที่เมืองเดลลี ณ วังของผู้สำเร็จราชการ เมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ค.ศ.๑๙๒๙ ทั่วประเทศต่างมีหวังกันเป็นอย่างยิ่งว่า ทำอย่างไรเสีย คราวนี้จะต้องมีการประนีประนอมกันอย่างถาวรเป็นแน่ แต่เป็นเรื่องน่าแปลกใจมิใช่น้อยที่หลังจากประชุม ซึ่งกินเวลาตั้ง ๓ ชั่วโมงเต็มนั้น ทั้งฝ่ายรัฐบาลและผู้นำกลับออกคำแถลงการณ์ว่า การประชุมกันระหว่างผู้สำเร็จราชการกับผู้นำทั้งหลาย มิได้ประสพผลสำเร็จเสียแล้ว

ข้อที่ทำให้การประชุมมิได้บรรลุผลสำเร็จนั้น คือคณะคองเกรส เกิดขอร้องให้ท่านผู้สำเร็จราชการให้คำสัญญาว่าการประชุมโต๊ะกลมนั้น จักมีวัตถุประสงค์ คือ ร่างเค้าโครงแห่งรัฐธรรมนูญอันเท่าเทียมกับอาณาเขตอื่นๆ ดังคำประกาศของท่านผู้สำเร็จราชการเอง และว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นเมื่อเข้าสู่สภาปาลิเมนต์แล้ว รัฐบาลจะต้องเป็นฝ่ายสนับสนุน แต่ท่านผู้สำเร็จราชการไม่กล้ายอมให้คำสัญญา ดังที่คองเกรสได้ขอร้อบง โดยอ้างเหตุผลประกอบว่า การให้สัญญาอย่างแน่ชัดตายตัวเช่นว่านี้ หรือการที่รัฐบาลจะรับปากว่าจะสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมเป็นการตัดสิทธิของสภาปาลิเมนต์ จึงเป็นอันว่า การประชุมนั้นได้ปิดลงโดยไร้ผล นี่แหละคือความจริงใจแห่งรัฐบาลอังกฤษ

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี