คานธีกับพายุแห่งสงครามอหิงสา

Socail Like & Share

คานธี
เมื่อการพบปะกันระหว่างผู้นำทั้งหลายกับท่านผู้สำเร็จราชการ มิได้เป็นผลสำเร็จดังกล่าวแล้ว ก็มิเป็นการแปลกเลย ที่อินเดียจะต้องตื่นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง พอดีกับเวลานี้เองถึงเวลาประชุมประจำปีแห่งคองเกรส ณ เมืองลาโหร ท่านบัณฑิตยาวหรัลลาเนหรู ได้รับเลือกเป็นประธาน เนื่องจากการประชุมคราวนี้ได้กระทำกัน หลังจากการเจรจาระหว่างท่านคานธีกับผู้สำเร็จราชการ คองเกรสจึงเต็มไปด้วยความตื่นเต้นเป็นอันมาก ถึงกับเกิดมีเสียงทั่วไปว่า ต่อไปนี้คองเกรสควรจะวางหลักการอย่างที่เป็นไป เพื่อตัดความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับอินเดียโดยเด็ดขาดทีเดียว ความจริงตราบเท่าเวลานั้น คองเกรสยังยึกวัตถุประสงค์คือ อิสรภาพโดยไม่ยึดถือเอาอำนาจอังกฤษเป็นสำคัญ ซึ่งแสดงว่าคองเกรสยังไม่พึงปรารถนาที่จะตัดความสัมพันธ์อังกฤษลงโดยเด็ดขาด ในการประชุมแห่ง ค.ศ.๑๙๒๘ ฝ่ายเบงคอลเสนอญัตติให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์เดิมเป็นอิสรภาพสมบูรณ์ คือ โดยไม่มีส่วนเกี่ยวข้อกับอังกฤษ แต่ท่านคานธีขอร้องให้เป็นเพียงการฝากญัตติไว้ก่อน โดยท่านยังคงมีความไว้วางใจในความจริงใจของรัฐบาลอังกฤษ มาในคราวนี้เมื่อท่านเห็นว่ารัฐบาลไม่ยอมรับสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญอย่างที่เท่าเทียมกับอาณาเขตอื่นๆ ท่านจึงได้เสนอญัตติต่อสภาคองเกรส ให้เปลี่ยนวัตถุประสงค์เดิมเป็นอิสรภาพสมบูรณ์ทีเดียว ในการเสนอญัตินี้ท่านได้แถลงความเห็นว่า

“คองเกรส ขอรับรองการกระทำของคณะบริหารในอันที่เกี่ยวแก่คำแถลงการณ์ของคณะผู้นำ แห่งบรรดาคณะพรรคการเมือง ซึ่งตอบคำประกาศของท่านผู้สำเร็จราชการอันเกี่ยวแก่ Dominion Status ประกาศมา ณ วันที่ ๓๑ เดือนตุลาคม ทั้งขอชมเชยความพยายามของท่านผู้สำเร็จราชการที่ท่านได้กระทำความตื่นเต้นแห่งชาติ เพื่อสุวราช ผการปกครองด้วยตนเอง) ให้สิ้นสุดลงด้วยความสงบเรียบร้อย แต่ว่าคองเกรสได้ตริตรองถึงผลแห่งการพบปะกันระหว่างท่านผู้สำเร็จราชการปัจจุบันนี้ ถ้าคองเกรสจะส่งผู้แทนไปเข้าประชุมโต๊ะกลมจะมิได้รับผลอะไรเลย”

“อนึ่ง ตามญัตติที่ได้เสนอต่อสภาคองเกรส ณ เมืองกัลกัตตาในปีที่แล้วมานั้น บัดนี้คองเกรสขอประกาศว่าในวัตถุประสงค์ของคองเกรส คำว่า สุวราชจะหมายถึงอิสรภาพสมบูรณ์…และดังนั้น คองเกรสจึงหวังว่าฝ่ายต่างๆ ในสภาคองเกรสจะพยายามโดยประการทั้งปวง ในการบรรลุถึงอิสรภาพอย่างสมบูรณ์”

“และเพื่อเป็นก้าวแรกในการจัดกำลัง เพื่อกู้อิสรภาพและการวางนโยบายแห่งคองเกรสให้สมกับการเปลี่ยนวัตถุประสงค์ สภาคองเกรสจึงได้ประกาศขอให้บอยค๊อต สภาผู้แทนราษฎรกลางและสภาผู้แทนราษฎรประจำมณฑลและประกาศให้บรรดาสมาชิกแห่งคองเกรสทราบกันโดยทั่วไปว่า ตั้งแต่นี้ไปสมาชิกคองเกรสจะไม่เกี่ยวข้องกับงานฝ่ายนิติบัญญัติ โดยทางตรงก็ดี หรือทางอ้อมก็ดี และทั้งสมาชิกคองเกรสผู้ซึ่ง ณ บัดนี้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่แล้ว จะต้องยื่นใบลาออกทันทีด้วย”

“ทั้งสภาคองเกรสก็ได้ขอร้องให้ชาติดำเนินตามวิธีการที่คองเกรสได้วางไว้ เพื่อทำการปฏิสังขรณ์ตนเอง และมอบอำนาจให้แก่คณะกรรมการคองเกรสแห่งอินเดียทั่วไปว่า เมื่อใดคณะนั้นเห็นควรจะมีสิทธิในการที่จะแนะนำให้คองเกรสใช้นโยบายการขัดขืนกฎหมาย โดยราษฎรรวมทั้งการไม่ยอมเสียภาษี เฉพาะในที่ใดที่หนึ่งหรือในอินเดียทั่วไป แล้วแต่จะเห็นสมควรตามกาละและเทศะ”

เหล่าสมาชิกสภาคองเกรส ก็ได้เห็นพ้องตามญัตติและหลักการ ดังที่ท่านคานธีได้เสนอมานั้น วัตถุประสงค์ของคองเกรส จึงเปลี่ยนมาเป็นอิสรภาพอย่างสมบูรณ์ตราบเท่าทุกวันนี้

อนึ่ง ได้กล่าวแล้วว่า เมื่อท่านคานธียังต้องโทษอยู่ในเรือนจำยารเวทา สมาชิกคองเกรสฝ่ายที่ดินดำเนินนโยบายข้างที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แล้วดำเนินหลักการไม่ร่วมมือขึ้นภายในสภานั้นด้วย ครั้นมาในคราวประชุมคองเกรสครั้งนี้ เมื่อท่านคานธีได้เสนอหลักการให้บอยค๊อตสภา ผู้แทนราษฎรตามที่ปรากฎในสุนทรพจน์ข้างต้น บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นฝ่ายด้านคณะคองเกรส จึงได้ยื่นใบลาออกจากสมาชิกสภาแทบทุกคน สภาผู้แทนราษฎรเปิดประชุมใหม่เมื่อวันที่ ๒๕ เดือนมกราคม ๑๙๓๐ ในการเปิดสภา ท่านผู้สำเร็จราชการได้แสดงสุนทรพจน์ใส่ร้ายหลักการของท่านคานธี โดยอ้างเหตุผลว่าการกระทำอย่างที่ท่านคานธีแนะนำอยู่นั้น จะเกิดผลคือความไม่สงบเรียบร้อยขึ้นทั่วประเทศอินเดีย ท่านจึงได้แนะนำให้คณะพรรคคองเกรสเลิกรับหลักการไม่ร่วมมือแล้วทำการประนีประนอมกับรัฐบาลอีกที มหาตมะคานธีแสดงวิจารณ์สุนทรพจน์ของท่านผู้สำเร็จราชการ นำลงประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์ Young India ว่า

“ท่านผู้สำเร็จราชการสมควรที่ได้รับความขอบคุณจากสมาชิกคองเกรสทุกคน เพราะท่านได้ทำฐานะของรัฐบาลกับฐานะของเราให้กระจ่างชัดขึ้น”

“ท่านผู้สำเร็จราชการคงไม่เดือดร้อน ที่เราต้องคอย Dominion Status จนกว่าพวกเศรษฐีทั้งหลายจะลงมาถึงระดับแห่งพวกกรรมการ ซึ่งมีรายได้คิดเฉลี่ยวันละ ๗ สตางค์ หากคองเกรสมีอำนาจ คองเกรสจะต้องยกฐานะของพวกชาวนาผู้ยากจนเหล่านี้ ให้สูงขึ้นพอที่จะเลี้ยงชีพได้ด้วยความสะดวก พยายามให้สูงขึ้นสู่ระดับเดียวกับพวกเศราษฐีทั้งหลาย คองเกรสจะแนะนำพวกชาวนาให้เข้าใจซาบซึ้งดีว่าความตกต่ำแห่งฐานะของเขามิได้เกิดมีขึ้นเพราะโชคชะตาของตนเอง แต่เกิดขึ้นเพราะการปกครองดังที่ดำเนินอยู่ ณ บัดนี้ เมื่อชาวนาเกิดมีความเข้าใจขึ้นเช่นนี้ ถ้าจะไม่มีใครเข้าไปช่วยเหลือพวกเขาแล้วไซร้ พวกเขาอาจจะก่อการปฏิวัติขึ้นโดยไม่เลือกเฟ้นว่า ทางไหนผิดทางไหนถูก ทั้งจะไม่เลือกเฟ้นว่า ทางไหนอาศัยหลักอหิงสาและทางไหนอาศัยหลักปองร้าย แต่คองเกรสยังหวังอยู่ว่าจะนำพวกชาวนาไปในทางที่ถูกเสมอ”

พร้อมกับคำวิจารณ์คราวเดียวกันนี้ ท่านเสนอข้อเงื่อนไข ๑๑ ข้อแก่ผู้สำเร็จราชการ โดยบันทึกความเห็นว่า ถ้ารัฐบาลมีความประสงค์ ที่จะทาการประนีประนอมกับคองเกรส รัฐบาลต้องดำเนินตามข้อเงื่อนไขเหล่านี้ คือ
๑. ห้ามไม่ให้ขายของมึนเมาแก่ประชาชนทั่วไป
๒. ลดอัตราแลกเปลี่ยนเงินเป็น ๑ ชิลลิง ๔ เพนนี
๓. ลดภาษีที่ดินลง ๕๐ เปอร์เซนต์ และมอบอำนาจการขึ้นลงภาษีให้เป็นสิทธิของสภาผู้แทนราษฎร
๔. เลิกการเก็บภาษีเกลือ
๕. ลดการใช้จ่ายในทางการทหาร ๕๐ เปอร์เซนต์ก่อน
๖. ลดเงินเดือน ข้าราชการชั้นสูงลง ให้เหลือไว้เพียงครึ่งหนึ่งของเงินเดือนที่เคยได้
๗. พิกัดอัตราผ้าต่างประเทส เพื่อบำรุงผ้าอินเดีย

๘. ออกพระราชบัญญัติวางเขตจำกัดรักษาฝั่งทะเล
๙. ปล่อยนักโทษการเมือง
๑๐. ล้มเลิกตำรวจสันติบาลแผนกการเมือง
๑๑. ออกใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนไว้ป้องกันตัวได้

ข้อเงื่อนไขเหล่านี้ ท่านได้ส่งไปยัง มร. แรมเซย์ แมกโนแนลด์ อัครมหาเสนาบดีอังกฤาในสมัยนั้น แต่ทั้งผู้สำเร็จราชการ และอัครมหาเสนาบดี หาได้เอาใจใส่ต่อคำขอร้องของท่าน หรือคองเกรส หรือประเทศชาติ แม้แต่ประการใดไม่

ดังนั้น ท่านคานธีกับคองเกรส จึงลงมือเตรียมการเพื่อประกาศนโยบายการขัดขืนกฎหมายทั่วประเทศอินเดีย

การดำเนินนโยบายการขัดขืนกฎหมายโดยมหาชนทั่วไปดังกล่าวนี้ ท่านให้สมัญญาว่า “สงครามอิสรภาพ” (War of Independence) แต่ก่อนที่ท่านจะประกาศ “สงครามอิสรภาพ” ต่อรัฐบาลอังกฤษ ท่านได้ยื่นคำขาด คือ Ultimatum ต่อท่านผู้สำเร็จราชการ ในการส่งคำเด็ดขาดนี้ ท่านได้เลือกชาวอังกฤษผู้เป็นศิษย์ของท่านคนหนึ่ง ชื่อว่า เรยิแนลด์ เรบอลด์ เป็นผู้ถือจดหมาย ทั้งนี้ท่านได้อ้างเหตุผล คือเพื่อจะแสดงให้โลกเห็นว่า การต่อสู้ของอินเดียกับอังกฤษนี้ มิได้บ่งถึงชาวอังกฤษเป็นจุดหมาย หากบ่งถึงรัฐบาลอังกฤษเท่านั้นเอง อินเดียไม่ได้ถือว่าชาวอังกฤษเป็นศัตรูของตนเลย แต่ว่าเพื่อจะทำลายรัฐบาลอังกฤษให้สิ้นสุดลงไปจากอินเดีย อินเดียจึงต้องต่อสู้ตราบใดที่ยังมีโลหิตแม้แต่หยดเดียว

ข้อความในคำเด็ดขาด ที่ท่านคานธียื่นต่อท่านผู้สำเร็จราชการนี้ ประดุจเป็นเข็มทิศในการหาความเข้าใจในมติของท่านคานธี ซึ่งผู้อ่านจะเห็นได้ชัดเมื่อได้อ่านถ้อยคำเหล่านั้นแล้วอย่างดี กล่าวคือ

“เหตุไฉนฉันจึงถือการปกครองของอังกฤษเป็นคำสาปอินเดียเล่า”

“เพราะการปกครองแบบนี้ ทำให้พลเมืองนับล้าน ซึ่งถูกปิดปากพูดไม่ออก กลายเป็นคนยากจนเข็ญใจ ทั้งนี้ด้วยอาศัยกรณี คือการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัว การใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย ในทางการทหารและตำรวจ”

“ในทางการเมือง การปกครองแบบนี้ ทำให้เรากลายเป็นทาสไป การปกครองแบบนี้ ได้เจาะรูที่ใต้พื้นฐานแห่งวัฒนธรรมของเรา และอาศัยนโยบายคือการไม่ยอมให้ถืออาวุธ การปกครองแบบนี้ ทำให้เราเสื่อมลงในทางใจ….”

“ถ้าอินเดียต้องการที่จะดำรงอยู่ในฐานะเป็นชาติ ถ้าเราต้องการที่จะกำจัดความตายของประชาชน เพราะเหตุขาดอาหาร เราต้องหาทางแก้ไขโดยด่วน การประชุมโต๊ะกลมที่รัฐบาลดำริอยู่นั้น มิใช่ทางแก้ไขเป็นแน่ การแก้ไขนี้มิใช่เรื่องการทำความเข้าใจกันด้วยการโต้เถียง เรื่องนี้เกี่ยวแก่กำลังที่สามารถแข่งขันกันได้ กล่าวคือ ทำความเข้าใจกันหรือไม่ก็แล้วแต่ แต่อังกฤษจะต้องสงวนการพานิชและผลประโยชน์ของตนในอินเดีย ด้วยอาศัยกำลังตามมีตามเกิด ฉะนั้นอินเดียจึงต้องปลูกกำลัง พอที่จะช่วยตัวเองให้พ้นจากกำมือของมฤตยูไว้”

“และทุกๆ วัน ฉันมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นทุกทีว่ากำลังที่จะสามารถต่อต้านกำลังปองร้ายของรัฐบาลอังกฤษได้นั้น คือกำลังอหิงสา-ความไม่ปองร้าย หลายคนเห็นว่าอหิงสามิใช่กำลังชนิดที่ว่องไว ความชำนาญของฉันถึงจะไม่กว้างขวางมากนักก็จริง แต่ได้แสดงให้เห็นมาแล้วว่ากำลังอหิงสาสามารถที่จะเปลี่ยนรูปเป็นกำลัง ชนิดว่องไว้อย่างร้ายแรงขึ้นได้ ฉันจึงตั้งใจที่จะปล่อยกำลังอหิงสาชนิดนี้ ให้คณะพรรคต่างๆ ที่มุ่งจะกู้ประเทศด้วยอำนาจการปองร้ายด้วย ถ้าเรามัวนั่งอยู่เฉยๆ แปลว่า ยอมปล่อยให้อำนาจหิงสากำเริบเสิบสานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากฉันมีความเชื่อถืออย่างแน่วแน่ ในความสำเร็จผลแห่งกำลังอหิงสา ฉันจึงเห็นว่าถ้าฉันยังจะมัวคอยโอกาสอยู่อีกโดยไม่รีบเร่งกระทำอะไรแล้ว ฉันก็จะต้องรับบาปกำลังอหิงสานี้จะปรากฎขึ้นทางการขัดขืนกฎหมาย โดยมหาชนซึ่งเป็นการกระทำเฉพาะชั่วคราว โดยพวกพรหมจารีย์ในอาศรมสัจจาเคราะห์เป็นผู้ขัดขืน แต่ในที่สุดบรรดาคนผู้ซึ่งปรารถนาที่จะสมัครขัดขืนกฎหมายจะต้องรวมกัน”

“แต่ว่าความจริงไม่เคยมีใครบรรลุชัยชนะ โดยไม่เสี่ยงอันตราย บางคราวถึงกับต้องเสี่ยงอันตรายชนิดร้ายแรงที่สุด แต่ทว่า ก็การที่จะดัดสันดานของชาติซึ่งกินเลือดเนื้อของชาติที่เก่าแก่กว่า มีพลเมืองมากกว่า และมีวัฒนธรรมสูงกว่าตนนั้นได้ เราย่อมต้องเสี่ยงอันตรายทุกประการ”

“แต่ถ้าพณะท่านเห็นว่า ไม่มีทางใดที่จะจัดการกับความชั่วร้ายเหล่านี้ได้ และทั้งจดหมายของฉันก็ไม่สามารถสบใจพณะท่านได้ ภายในวันที่ ๑๑ เดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๓๐ ฉันพร้อมด้วยพรหมจารีย์ผู้ร่วมงานแห่งอาศรม จะละเมิดสิทธิที่รัฐบาลสงวนไว้ ด้วยอาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัติเกลือฉันเห็นว่า ตามแง่ของพวกยากจน การเก็บภาษีเกลือนับว่าเป็นการที่ไร้ยุติธรรมมากที่สุด เนื่องจากความเคลื่อนไหวเพื่อกู้ประเทศให้เป็นอิสระ บ่งถึงการกำจัดความยกาจนเป็นของสำคัญ ฉันจึงเริ่มดำเนินการขัดขืนกฎหมาย ด้วยการขัดขืนกฎหมายอันนี้ก่อน เป็นการแปลกมิใช่น้อย ที่พวกเราได้นอบน้อมต่อการผูกขาดเช่นนี้ มาแล้วนานนัก ฉันทราบว่า พณะท่านมีสิทธิที่จะทำลายโครงการของฉันเสียด้วยการจับกุมตัวฉัน แต่ฉันหวังอยู่ว่า คนนับจำนวนหมื่นๆ จะมารับหน้าที่แทนฉันทั้งยินดีที่จะยอมรับอาญาทุกประการ เพราะการขัดขืนกฎหมายเกลือ”

ไม่ต้องสงสัยว่า คำตอบของท่านผู้สำเร็จราชการจะต้องเป็นคำตอบอย่างสั้นๆ และขาดน้ำใจเอื้อเฟื้อต่อประเทศอินเดียที่กำลังตกอยู่ในข่ายแห่งความวิบัติ ในคราวตอบจดหมายฉบับนี้ ท่านผู้สำเร็จราชการได้แสดงความเสียใจที่ “ท่านคานธีกำลังคิดนโยบาย ซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดการขัดขืนกฎหมายขึ้น และเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน”

ท่านคานธีวิจารณ์คำตอบของท่านผู้สำเร็จราชการลงในหนังสือพิมพ์ Young India ว่า

“ฉันได้ยอมคุกเข่าลง เพื่อขอข้าวเพียงก้อนเดียว สำหรับอินเดียวที่ยากจน แต่พวกฉันกลับได้รับก้อนหินแทนก้อนข้าว เมื่อใดถามปัญหาโดยใช้กำลังอาวุธช่วย เมื่อนั้นแหละชาติอังกฤษให้คำตอบเป็นอย่างดี ฉะนั้นฉันจึงไม่แปลกใจในคำตอบของท่านผู้สำเร็จราชการ มีความสงบเรียบร้อยแต่อย่างเดียวซึ่งชาติ(อินเดีย) รู้จัก คือความสงบเรียบร้อยแห่งเรือนจำ ประเทศอินเดียคือเรือนจำอันไพศาลหลังหนึ่ง ฉันไม่ยอมนับถือกฎหมายของอังกฤษ ตรงกันข้ามฉันถือว่าเป็นหน้าที่อันศักดิ์สิทธิ์ของฉัน ที่จะทำลายความสงบเรียบร้อยซึ่งเป็นไปในเชิงการบังคับ และซึ่งกำลังจะบีบหัวใจของชาติให้สลายลง เพราะขาดลมหายใจ”

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี