การผสมเทียมปลาตะเพียนขาว

Socail Like & Share

ปลาตะเพียนขาวเป็นปลาน้ำจืดที่เลี้ยงง่าย โตเร็ว ให้ผลผลิตสูง กินพืชผักเป็นอาหาร เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงในบ่อ แต่ปัจจุบันพันธุ์ปลาจากแหล่งน้ำธรรมชาติหาได้ยาก สมควรจะได้เร่งผลิตลูกปลา โดยวิธีการผสมเทียม ซึ่งมีขั้นตอนตามลำดับ ดังนี้

การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
พ่อแม่พันธุ์ มีความสำคัญต่อการผสมเทียมมาก ถ้าพ่อแม่พันธุ์ไม่มีความสมบูรณ์พอ การเพาะขยายพันธุ์จะไม่ได้ผลหรือได้แต่น้อยมาก ควรมีการขุนปลาไว้ก่อนถึงฤดูปลาตะเพียนขาวผสมพันธุ์ประมาณ ๒-๓ เดือน ให้อาหารที่มีคุณค่าและมีการถ่ายเทน้ำบ่อยครั้ง พ่อปลากับแม่ปลาควรแยกเลี้ยงกันคนละบ่อ อัตราการปล่อย ตารางเมตรละ ๑-๒ ตัว

ลักษณะภายนอกของปลาตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกันมาก แต่เมื่อใกล้ผสมพันธุ์จะสังเกตได้ง่ายขึ้น คือตัวเมียจะมีท้องอูมเป่ง พื้นท้องนิ่มและรูก้นกว้างกว่าปกติ ส่วนตัวผู้ท้องจะแบนพื้นท้องแข็ง ถ้าเอามือลองบีบเบาๆ ที่ท้อง จะมีน้ำสีขาวขุ่นคล้ายน้ำนมไหลออกมา

อุปกรณ์ที่ใช้
๑. พ่อแม่พันธุ์ที่จะใช้ผสมเทียม ตัวผู้ ๑๐ ตัว เมีย ๕ ตัว
๒. ปลาที่จะผ่าเอาต่อมใต้สมอง
๓.ขวดเก็บต่อมพร้อมน้ำยาอะซีโตน
๔. มีด เขียง
๕. สวิงหรือเปลผ้า
๖. เครื่องมือผ่าตัด
๗. หลอดบดต่อม น้ำกลั่น สำลี
๘. หลอดฉีดยาพร้อมเข็ม
๙. อ่างพลาสติก ขนไก่
๑๐. เครื่องชั่ง

การเก็บต่อมใต้สมอง

นำปลาที่จะเก็บต่อมใต้สมองมาชั่งน้ำหนักและวัดขนาดไว้ วางปลาบนเขียงจับส่วนท้องและกดให้ท้องปลาติดกับเขียงให้มั่น ให้มีดถากตรงส่วนของกะโหลกให้เอียงไปทางตาเลยไปถึงมุมปาก แล้วเปิดกะโหลกออก ใช้สำลีเช็ดไขมันและเลือดออกให้หมด ใช้ปากคีบดึงเอามันสมองออก จะเห็นต่อมกลมๆ ขาวๆ อยู่ใต้สมอง นั่นคือต่อมใต้สมองที่ต้องการ

การเตรียมฮอร์โมน
นำต่อมใต้สมองมาบดในหลอดบดต่อมให้ละเอียด เติมน้ำกลั่นและบดซ้ำอีก แล้วใช้เข็มฉีดยารูดเอาแต่น้ำใสๆ ไปใช้เพื่อนำไปฉีดปลาตะเพียนขาวตัวเมียที่ต้องการจะเพาะ

การฉีดฮอร์โมน
บริเวณที่ฉีดคือบริเวณกล้ามเนื้อใต้ครีบหลัง แทงเข็มเข้าใต้เกล็ดทะแยงเล็กน้อย อย่าให้ลึกนัก ค่อยๆ เดินน้ำยาให้ครบตามที่กำหนด แล้วนำปลาที่ฉีดแล้วไปไว้ที่เดิม การฉีด ฉีด ๒ ครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สองห่างกัน ๖ ชั่วโมง หลังจากฉีดครั้งที่ ๒ แล้ว ประมาณ ๕ ชั่วโมง ไข่จะสุก จึงทำการรีดไข่ผสมกับน้ำเชื้อ

ปริมาณน้ำยาที่ใช้
ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแม่ปลา ได้แก่ขนาด น้ำหนักและลักษณะกับสภาพของไข่ด้วย ปกติครั้งแรกจะใช้ต่อมใต้สมองครึ่งต่อม ครั้งที่สองประมาณ ๓-๖ เท่าของครั้งแรก ปริมาณการใช้น้ำยา ปกติใช้หน่วนเป็นโดส มีหลักเกณฑ์การคำนวณ ดังนี้

โดส = น้ำหนักปลาที่จะเก็บต่อ
น้ำหนักแม่ปลา

การผสมไข่และน้ำเชื้อ
นำปลาตัวเมียและตัวผู้มารีดไข่และน้ำเชื้อลงในอ่างพลาสติก ใช้ขนไก่คนเบาๆ ให้คลุกเคล้ากันจนทั่ว แล้วใส่น้ำให้ท่วมทิ้งไว้ประมาณ ๑-๒ นาที จึงถ่ายน้ำทิ้ง ทำอย่างนี้ประมาณ ๒ ครั้ง ทิ้งไว้ประมาณ ๒-๓ นาที แล้วจึงนำไข่ไปเพาะฟักในที่ที่เตรียมไว้ในเปลหรือกรวยเพาะฟัก ให้น้ำไหลผ่านตลอดเวลาเพื่อช่วยพยุงให้ไข่ลอยและป้องกันการทับถมของไข่ ทิ้งไปประมาณ ๑๔-๑๖ ชั่วโมง ลูกปลาจะฟักเป็นตัว

การอนุบาลลูกปลาวัยอ่อน
ลูกปลาที่ฟักออกมาใหม่ๆ จะมีถุงไข่ติดอยู่ ไม่จำเป็นต้องให้อาหาร เมื่ออายุได้ ๔ วัน จึงให้อาหารพวกไข่แดงต้มสุกบดละเอียดละลายน้ำแล้วใช้นิ้วดีด หรือพ่นให้เป็นฝอยให้กินประมาณ ๔ วัน แล้วย้ายลูกปลาไปเลี้ยงในบ่อดิน ที่มีน้ำลึกประมาณ ๗๐ เซนติเมตรในอัตรา ๕๐๐ ตัวต่อตารางเมตร ระยะนี้ให้อาหารพวกไข่ตุ๋นละลายน้ำสาดให้ทั่วบ่อ เมื่อเลี้ยงครบ ๑๐ วัน ให้เปลี่ยนอาหารเป็นรำละเอียด

การเลี้ยง
บ่ออนุบาล ควรเป็นบ่อดินที่เตรียมไว้ให้สะอาด ขนาด ๒๐๐-๔๐๐ ตารางเมตร น้ำลึกประมาณ ๗๐ เซนติเมตร ใช้เลี้ยงลูกปลาวัยอ่อนจนถึงขนาดยาว ๕-๗ เซนติเมตร ปล่อยให้อัตรา ๑๕ ตัวต่อตารางเมตร อาหารให้พวกไรน้ำ รำละเอียด ปลายข้าว กากถั่วเหลือง ควรให้ในลักษณะที่เป็นผง โปรยให้กินตามข้างบ่อ ในตอนเช้าและเย็น ระวังแมลงในน้ำที่เป็นศัตรูของปลา

บ่อเลี้ยง ควรเป็นบ่อดินขนาด ๔๐๐ ตารางเมตรขึ้นไปจนถึงขนาด ๑ ไร่ หรือมากกว่านั้น น้ำลึกประมาณ ๑ เมตรตลอดปีใช้เลี้ยงลูกปลาที่มีความยาว ๕-๗ เซนติเมตรขึ้นไปจนมีขนาดใหญ่ปล่อยในอัตรา ๒-๓ ตัวต่อตารางเมตร อาหารควรใช้อาหารสมทบ พวกแหนเป็ดและไรน้ำ โปรยให้กินสดๆ ส่วนเศษผักบุ้ง ผักกาดขาว จอกแหน กากถั่วเหลือง กากถั่วลิสง ใช้แขวนหรือใส่กระบะ และอาหารจำพวกสัตว์ เช่น ตัวไหม เลือดสัตว์ เครื่องในสัตว์บดให้ละเอียด ใช้ผสมกับอาหารดังกล่าว ให้อาหารวันละ ๑ ครั้ง เช้าหรือเย็นประมาณ ๕ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาที่เลี้ยง ถ้าให้มากเกินไป เศษอาหารที่เหลือจะทำให้น้ำในบ่อเสียและเป็นอันตรายต่อปลาได้

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี