การขุดบ่อเลี้ยงปลา

Socail Like & Share

การเลือกสถานที่และหลักเกณฑ์การขุดบ่อ
การขุดบ่อเลี้ยงปลาต้องเลือกสถานที่ๆ ใกล้กับทางน้ำ เช่น คลอง ลำธาร หรือแม่น้ำ เพื่อสะดวกในการระบายน้ำเข้าออก แต่ไม่ควรให้ใกล้เกินไปนัก อย่างน้อยฐานเชิงการขุดบ่อเลี้ยงปลาลาดไม่ควรใกล้เกิน ๕ เมตร ดินในบริเวณที่จะขุดบ่อควรเป็นดินเหนียวเป็นดีที่สุด ถ้าเป็นดินชนิดอื่นหรือดินทรายไม่สู้ดีนัก

ดินที่ขุดขึ้นจากบ่อให้เสริมเป็นคันบ่อ และให้มีความสูงพอที่จะป้องกันระดับน้ำท่วมในฤดูน้ำด้วย และดินที่ขุดไปเสริมบ่อนี้ ให้ห่างจากบ่อที่ขุดระยะไม่น้อยกว่า ๑-๒ เมตร โดยรอบ เพื่อป้องกันการทรุดตัว และน้ำฝนที่ตกชะดินลงไปก้นบ่อจะทำให้บ่อตื้นเร็วขึ้น การขุดบ่อและการเสริมคันบ่อต้องเป็นเชิงลาดจากระดับดินเดิม ส่วนความลึกของบ่อควรลึก ๑.๕๐ เมตร ถึง ๒.๕๐ เมตร

การที่จะขุดดินมาเสริมเป็นคันบ่อนี้ มีข้อสำคัญที่ควรปฏิบัติ คือที่ๆ จะถมเป็นคันบ่อนี้เป็นพื้นระดับดินธรรมดา ส่วนมากมักจะมีเศษไม้ หญ้าหรือต้นไม้อื่นๆ ขึ้นอยู่ จะต้องจัดการถากถางและถอนทิ้งเสีย เพราะสิ่งเหล่านี้เมื่ออยู่ใต้ดินจะไม่ใคร่ผุ จึงเป็นช่องทางให้น้ำไหลรอดไปภายใต้คันบ่อได้ และจะทำให้เกิดความเสียหายขึ้นภายหลัง การที่จะต้องทำเช่นนี้ประสงค์จะให้ดินเกาะและยึดตัวแน่น ป้องกันการกัดเซาะของน้ำตามที่กล่าวแล้วข้างต้น ฉะนั้นเมื่อได้ทำการถากถางแล้ว จะเริ่มถมดิน ควรจะต้องทำการกระทุ้งดินที่ถมใหม่นี้ให้แน่น เพื่อจะได้เชื่อมดินกับดินถมใหม่ให้ยืดตัวเป็นผืนเดียว หรือจะใช้วัว ควาย ช่วยเหยียบย่ำก็ได้ การที่ต้องให้กระทุ้งดินนั้น ถ้าเป็นดินเหนียวอาจจะมีโพรงได้ ถ้าได้รับน้ำหนักของการกระทุ้งจึงจะยุบตัวไปติดกัน วิธีกระทุ้งให้กระทุ้งพร้อมกับการถม ไม่ใช่ถมจนเสร็จแล้วจึงกระทุ้ง และการถมดินนี้จะต้องถมแผ่หรือเกลี่ยดิน เริ่มแต่ฐานที่พื้นดินเดิมให้เต็มฐาน ส่วนกว้างของคันดินทั้งหมดเป็นระดับขั้นๆ ขึ้นไปจนถึงสันคันดิน

อนึ่ง ดินบางชนิดเมื่อได้เอาดินใหม่ที่ขุดมาถมเป็นคัน บ่อนี้จะไม่สามารถเกาะตัวกับดินเก่าได้ มีวิธีจะป้องกัน คือ ขุดดินเก่าให้เป็นร่องลึกตรงศูนย์กลางที่จะตั้งคันบ่อลึกประมาณตั้งแต่ ๕๐ เซนติเมตร ถึง ๑.๐ เมตร และกว้าง ๕๐ เซนติเมตร ทั้งนี้ให้พิจารณาถึงขนาดของคันบ่อด้วยว่า จะต้องการถมให้กว้างและสูงเท่าใด เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพตามแบบอย่าง

การขุดและถมเป็นเชิงลาด
การขุดบ่อหรือถมคันบ่อให้เป็นเชิงลาดถูกต้องตามหลักเกณฑ์นั้นต้องทราบหลักเกณฑ์บางอย่างเช่นคำว่าลาด ๑:๕ หรือลาด ๑:๒ นี้ จะต้องถือจุดความสูงจำนวน ๑ เป็นระยะของส่วนตั้ง และ ๑.๕ หรือ ๒ เป็นระยะราบ แต่ความสูงของคันบ่อนี้ไม่จำเป็นจะต้อง ๑ เมตรเสมอไป จะต้องการความสูงเท่าใดก็ได้ ซึ่งสูงพอป้องกันระดับน้ำในเมื่อเวลาถึงฤดูน้ำมากตามสภาพของภูมิประเทศนั้น

ตามมาตรฐานพอเหมาะสมที่เคยใช้ทั่วๆ ไป ควรใช้ลาดเพียง ๑:๑๕ (คือ ๑.๕)

วิธีทำเชิงลาด
การทำเชิงลาดให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ว่าประสงค์จะให้ลาดเท่าใดๆ นั้น ควรทำเครื่องมือวัดความลาดไว้ตรวจสอบโดยการสร้างไม้ฉากสามเหลี่ยมตามลาดที่ต้องการ ตั้งบนขอบหรือเหลี่ยมที่จะเริ่มงานและเล็งจากไม้ฉากนั้น ให้เป็นแนวเดียวกันกับที่จะขุดหรือถมให้เป็นเส้นตรงไป จะได้ลาดตามความประสงค์

๑. ตอกหลักหมายเลข ๑ และ ๒ ลงในพื้นดินให้หัวระดับของหลักที่ ๑ และที่ ๒ สูงเท่ากัน

๒. เอาไม้ฉากสำเร็จแล้ววางบนหลัก ๑ และ ๒ ให้ตรงจุดที่จุด ค. คือดินที่จะเริ่มขุด แล้วเล็งจากจุก ก. ข. ค. ให้เป็นเส้นตรงอันเดียวกันขุดลาดลงไปจนเท่ากับความลึกที่ต้องการขุดตลอดแนวระยะกว้างยาว ตามเนื้อที่ก็จะได้ความลึกและลาดของบ่อเท่าที่ต้องการ การปักหลัก ๑ และ ๒ เพื่อเป็นฐานนั้น ควรให้สูงจากพื้นระดับดินธรรมดาประมาณ ๕๐ เซนติเมตร การวางไม้ฉากนี้ ควรวางจากระยะหัวบ่อและท้ายบ่อ และถ้าวางไม้ฉากหลายๆ อันจะเพิ่มความแน่นอนยิ่งขึ้น แต่จะต้องทำให้หัวหลักไม้ฉากนี้มีระดับเท่าๆ กันทุกอันเสียก่อนแล้วจึงวางไม้ฉากลง ฉะนั้นก่อนที่จะขุดจำเป็นต้องวัดและปักหลักที่หมายบนพื้นดินเสียก่อนนอกจากการขุดแล้ว แม้จะทำการถมดินก็ใช้วิธีเดียวกัน

การจัดและวางรูปบ่อ
ก่อนจะขุดควรวางแผนผังของรูปบ่อให้เข้าลักษณะกับภูมิประเทศเพื่อไม่ต้องแก้ไขดัดแปลงให้เป็นการสิ้นเปลือง ฉะนั้นการจัดวางรูปบ่อนี้จึงเป็นหลักสำคัญควรปฏิบัติดังนี้

๑. บ่อที่จะขุดต้องอยู่ใกล้ทางน้ำเพื่อสะดวกในการระบายน้ำเข้าออก
๒. มีช่องหรือประตูระบายน้ำเข้าออกได้
๓. มีท่อระบายน้ำจากประตูระบายให้ติดต่อกันถึงก้นบ่อ และถ้ามีหลายบ่อต้องมีท่อระบายจากบ่อหนึ่งถึงอีกบ่อหนึ่งด้วย

อนึ่ง ผู้ที่จะทำการเลี้ยงปลาเพื่อเป็นอาชีพ ควรจะต้องมีหลายบ่อเช่น บ่อเก็บน้ำ บ่อเพาะพันธุ์ บ่อเลี้ยงลูกปลา และบ่อเลี้ยง

ลักษณะของรูปบ่อและการขุด
ลักษณะของบ่อที่จะขุด ขอแนะนำว่าควรเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าเพื่อสะดวกในการสังเกตตรวจตราดูแลและการใช้เครื่องมือจับปลา ส่วนขนาดกว้างยาวของบ่อสุดแล้วแต่สถานที่ แต่สำหรับผู้ที่มีเนื้อที่ๆ จะจัดวางรูปบ่อได้ตามที่กล่าวแล้ว ขอแนะนำขนาดที่สมควรให้ดังนี้

๑. บ่อขนาดเล็กประมาณเนื้อที่ ๙๖ ตารางเมตร หรือกว้าง ๘ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ขุดลึก ๒.๒๐ เมตร ถึง ๒.๕๕ เมตร

๒. บ่อขนาดกลางประมาณเนื้อที่ ๒๔๐ ตารางเมตร หรือกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๒๐ เมตร ขุดลึก ๒.๐๐ เมตร ถึง ๒.๒๐ เมตร

๓. บ่อใหญ่มีเนื้อที่ตั้งแต่ ๖๐๐ ตารางเมตรขึ้นไป หรือกว้าง ๒๐ เมตร ยาว ๓๐ เมตรขึ้นไป ขุดลึก ๑.๕๐ ถึง ๒.๐๐ เมตร มุมบ่อทุกๆ มุมควรจะแต่งให้เป็นรูปมนเพื่อสะดวกแก่การต้อนจับปลา ส่วนก้นบ่อควรมีส่วนลาดเล็กน้อย อย่าให้มีระดับเท่ากัน เพราะสะดวกในการระบายและรวมปลาในเมื่อต้องการจับขึ้นมาจากบ่อ แต่ส่วนที่ลึกให้ลาดไปทางประตูหรือช่องระบายน้ำ

การวางท่อและประตูระบายน้ำ จุดประสงค์ก็เพื่อจะระบายน้ำถ่ายเทออกและเข้าได้ตามความต้องการ แต่ภูมิประเทศบางแห่งไม่อำนวยความสะดวกในการระบายน้ำเข้าออกได้ จึงจำเป็นต้องแยกตามลักษณะไว้ดังนี้

ก. ภูมิประเทศที่มีระดับน้ำขึ้นลงได้ถึงตามลำคลอง ห้วย ลำธาร คู แม่น้ำ ฯลฯ และขึ้นถึงพื้นที่ๆ จะทำการขุดบ่อ

ข. ภูมิประเทศที่มีระดับน้ำขึ้นไม่ถึงพื้นที่ๆ จะขุดบ่อ

ฉะนั้น การที่จะขุดบ่อและวางท่อระบายน้ำ ถ้าได้ภูมิประเทศ เช่น ข้อ ก. เป็นเหมาะที่สุด ส่วนข้อ ข. ก็จัดทำได้ แต่การสร้างและวางรูปปฏิบัติการต่างกัน

ค. พื้นที่ตามภูมิประเทศดังข้อ ก. นี้ เมื่อได้ทำการขุดบ่อลึกตามหลักเกณฑ์ที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว แต่ความลึกของก้นบ่อยังมีระดับสูงกว่าความลึกของคลองหรือคูที่ทำการส่งน้ำเข้าบ่อนั้นเป็นการสะดวกอย่างยิ่งในการระบายน้ำ คือเมื่อถึงเวลาน้ำลงประสงค์จะระบายน้ำออกก็ได้ง่ายและเร็ว เมื่อจะระบายน้ำเข้าบ่อก็ทำในเมื่อน้ำขึ้นสูงกว่าระดับก้นบ่อแล้ว ฉะนั้นการวางท่อและช่องระบายน้ำติดต่อกับบ่อ ก็ควรจะมีระดับต่ำเท่ากับก้นบ่อ

ง. สำหรับในข้อ ข. ซึ่งมีภูมิประเทศน้ำขึ้นไม่ถึงพื้นที่ๆ จะขุดบ่อ แต่มีข้อสังเกตอยู่อย่างหนึ่ง เมื่อได้ขุดบ่อจนมีความลึกตามหลักเกณฑ์แล้ว ก้นบ่อยังมีความลึกต่ำกว่าระดับน้ำในคลองหรือคูที่ขึ้นสูงที่สุดแล้ว ก็พอจะระบายน้ำเข้าบ่อตามข้อ ก. เมื่อระดับน้ำให้เข้าบ่อเต็มที่แล้ว แต่มีน้ำลึกยังไม่พอแก่ความต้องการ สมมุติว่าจากก้นบ่อถึงระดับน้ำลึกเพียง ๕๐-๖๐ เซนติเมตรเท่านั้น ก็ควรขุดก้นบ่อให้ลึกลงไปอีกได้ แต่ไม่ควรให้ลึกกว่าก้นคลองหรือคู เพื่อสะดวกในการระบายน้ำออกหมดได้ง่าย และการวางท่อและช่องระบายน้ำก็ทำได้ตามข้อ ค.

จ. ในภูมิประเทศบางแห่งเมื่อได้ทำการขุดบ่อลึกตามต้องการแล้ว แต่ความลึกของคลองหรือคูที่ส่งน้ำยังตื้นกว่าก้นบ่อ ลักษณะของภูมิประเทศเช่นนี้ มีทางระบายน้ำเข้าได้อย่างเดียว จะระบายน้ำออกได้น้อยที่สุด หรือระบายน้ำไม่หมดบ่อ น้ำที่เหลือขังอยู่นั้นต้องใช้เครื่องอุปกรณ์ช่วยเหลือเช่นเรื่องสูบน้ำหรือระหัด

ฉ. ในภูมิประเทศบางแห่ง เมื่อได้ทำการขุดบ่อลึกตามต้องการแล้ว แต่ความลึกของก้นบ่อยังตื้นกว่าระดับน้ำในคลองเข้ามาในบ่อได้ นอกจากน้ำฝนหรือน้ำที่ไหลบ่ามาจากที่อื่นท่วมท้นพื้นที่ในฤดูน้ำก็พอจะทำการขุดบ่อเพาะเลี้ยงได้บ้าง แต่เมื่อถึงฤดูดังกล่าวแล้วจึงทำการระบายน้ำและล้างบ่อได้หนหนึ่ง พื้นที่เช่นนี้ไม่ค่อยเหมาะสมในการเพาะเลี้ยง

นอกจากหัวข้อที่กล่าวแล้วผู้ทำการเลี้ยงปลาควรมีอุปกรณ์ต่างๆ ดังข้อ จ. สำรองไว้เพื่อทำการช่วยเหลือเมื่อคราวจำเป็นและต้องการ เช่นเมื่อจัดการทำและขุดบ่อแล้วประสงค์จะระบายน้ำเข้าบ่อ แต่เผอิญในเวลานั้นถึงฤดูน้ำตาย หรือน้ำขึ้นไม่ถึงช่องที่ระบายเข้าหรือเมื่อประสงค์จะวิดบ่อและระบายน้ำออกจากบ่อประจวบกับเวลาน้ำมีระดับขึ้นสูง ซึ่งจะระบายน้ำออกจากบ่อไม่ได้ ตามกรณีเช่นนี้จำเป็นต้องมีเครื่องสูบน้ำหรือระหัดทำการช่วยระบายจึงจะเหมาะสมแก่ความต้องการ

การสร้างประตูหรือช่องระบายน้ำ
การสร้างช่องระบายน้ำนี้ สุดแล้วแต่ผู้ทำการเพาะเลี้ยงจัดทำขึ้นในขั้นทดลองหรืออาชีพ สิ่งของที่ประกอบการสร้างนี้มีตั้งแต่ราคาพอสมควรจนกระทั่งทำเป็นถาวรมั่นคง ซึ่งมีราคาแพงเริ่มตั้งแต่ท่อไม้ที่ใช้ต้นตาลหรือต้นมะพร้าว บานประตูที่ประกอบด้วยไม้จนถึงคอนกรีตและท่อเหล็กกรมประมงได้ทำการทดลองในลักษณะต่างๆ กัน ได้ผลเป็นที่พอใจ เช่น สถานีประมง (บึงบอระเพ็ด) จังหวัดนครสวรรค์ ที่อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ที่อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ และที่สถาบันประมงน้ำจืดแห่งชาติในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน พระนคร และจะได้เริ่มขยายการทดลองในจังหวัดต่างๆ ต่อไปอีกเฉพาะในขั้นทดลองนี้ ขอแนะนำการสร้างที่ต้องลงทุนไม่สู้มากนัก และได้ผลสมกับการลงทุน ซึ่งจะอธิบายถึงหลักการสร้างดังต่อไปนี้

ประตูและท่อระบายน้ำสร้างเป็นคอนกรีตธรรมดา หันหน้าช่องระบายน้ำเข้าหาบ่อความหนาของคอนกรีต ๖ เซนติเมตร มีส่วนกว้างยาวรอบนอกด้านละ ๖๐ เซนติเมตร ภายในหล่อเป็นช่องสำหรับใส่ตะแกรงลวด ด้านหน้าและบานไม้สำหรับวัดน้ำรวม ๒ ช่อง ส่วนกว้างของช่อง ๒ เซนติเมตร ความสูงของช่องระบายสูงถึงบนคันบ่อ (จากระดับก้นบ่อที่เสริมดินแล้ว) หล่อเอ็นยึดหลังท่อระหว่างช่องกับตัวท่อ เพื่อป้องกันกำลังดันของน้ำที่ระบายออก และกำลังของคันดิน ถ้าไม่ทำเอ็นยึดอาจทำให้เอนหรือหักได้เพราะไม่ได้เสริมเหล็ก ขนาดของบานไม้สำหรับอัดน้ำใช้ไม้สัก เมื่อไสกบเรียบร้อยแล้วมีความหนาแผ่นหนึ่ง ๑.๘๐ เซนติเมตร กว้าง ๒๘ เซนติเมตร และยาวพอดีระหว่างช่องที่จะใส่บาน แต่ควรให้สั้นกว่าขอบคอนกรีตข้างละ ๑ มิลลิเมตร ในระหว่างแผ่นที่ต่อกันให้ไสกบและหยักเป็นบังเพื่อกันน้ำรั่ว ติดขอสำหรับดึงขึ้นได้ง่ายแผ่นละ ๒ ตัว และมีฝาปิดเพื่อป้องกันสัตว์น้ำและปลากระโจนลงไปในช่องระบาย ส่วนตรงปากท่อที่จะระบายน้ำลงคลอง ก็มีแผ่นตะแกรงลวดเช่นเดียวกัน ฉะนั้นก่อนที่จะทำการควรมีแนวทางที่จะปฏิบัติดังต่อไปนี้

๑. เมื่อขุดบ่อเรียบร้อยแล้ว ขุดดินจากระดับก้นบ่อทะลุถึงคลองที่จะส่งน้ำตอนที่จะสร้างประตูและท่อระบายน้ำ

๒. ตีเสาเข็มกลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๔ นิ้ว ยาว ๑.๕๐-๒.๐๐ เมตร เรียงรายในระหว่างช่องห่างกันเป็นแนว ๑ เมตร ต่อ ๑ ตัน ตีเป็น ๒ แนว ส่วนที่จะหล่อประตูช่องระบายให้ตีถี่ๆ และถ้ามีอิฐหักหรืออิฐใส่แทรกตามหัวเข็มได้ยิ่งดีมาก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการทรุดตัวโดยน้ำหนักของคอนกรีต ถ้าเป็นดินเหลวการใส่เสาเข็มต้องถี่และมีหินหรืออิฐหักแทรกตามตัวเข็มให้หนาและมากขึ้น

๓. ไม้แบบที่จะหล่อคอนกรีต ถ้าเป็นไม้สักยิ่งดี เพราะไม่แอ่นหรืองอเหมือนไม้ชนิดอื่น

๔. เมื่อวางไม้แบบแล้ว ก่อนจะเทคอนกรีตต้องตรวจสอบด้วยการใช้ดิ่งให้แน่นอนเสียก่อน

๕. ส่วนผสมของคอนกรีตให้ใช้ส่วน ๑:๒:๔ คือปูนซีเมนต์ ๑ ส่วน ทราย ๒ ส่วน หินย่อยหรือกรวด ๔ ส่วน ส่วนผสมตามมาตรฐานนี้เหมาะแก่การก่อสร้างต่างๆ ที่มีแรงกดและแรงดันพอประมาณ

๖. รักษาความสะอาดของทราย หิน และน้ำจืด ก่อนที่จะผสมอย่าให้มีผง เศษไม้ หรือเศษหญ้าปะปน เพื่อรักษาความมั่นคงของคอนกรีต

๗. ควรปิดไม้แบบภายหลัง ๑๒ ชั่วโมง หลังจากเทคอนกรีตเสร็จแล้ว

๘. ประตูและท่อระบายน้ำควรหล่อพร้อมๆ กัน เพื่อจะได้เชื่อมกันสนิทและแห้งพร้อมกัน

๙. เมื่อได้เปิดแบบแล้ว ๒๔ ชั่วโมง จึงจะเริ่มทำการถมดินกลบท่อระบายเป็นคันบ่อได้

การผสมคอนกรีต
ปูนซีเมนต์ที่จะนำมาใช้ผสมคอนกรีตนี้ ถ้าได้ใช้ปูนซีเมนต์ใหม่ผสมจะมีคุณภาพดี ถ้าเป็นปูนที่เก็บไว้นานจะหย่อนคุณภาพ ซึ่งจะทำให้คอนกรีตไม่แข็งแรงพอ ดังจะแสดงสถิติของปูนซีเมนต์ให้ทราบพอสังเขป
ปูนซีเมนต์ใหม่                   มีคุณภาพ ๑๐๐%
ปูนซีเมนต์เก็บไว้ ๓ เดือน   มีคุณภาพ   ๘๐%
ปูนซีเมนต์เก็บไว้ ๒ เดือน   มีคุณภาพ   ๗๒%
ปูนซีเมนต์เก็บไว้ ๑ ปี         มีคุณภาพ   ๖๐%
ปูนซีเมนต์เก็บไว้ ๗ ปี        มีคุณภาพ   ๔๖%

ฉะนั้น ถ้ายังมีความสงสัยอยู่ว่าปูนซีเมนต์ที่ใช้ผสมคอนกรีตนี้จะเก็บไว้นานซึ่งอาจทำให้คอนกรีตไม่มีความแข็งแรงพอก็ควรเพิ่มส่วนผสมให้เป็น ๑:๒:๓ หรือ ๑:๑:๑ ๑/๒ ชนิดของปูนซีเมนต์

บริษัทปูนซีเมนต์ไทยจำกัด ได้ทำปูนซีเมนต์จำหน่ายหลายชนิดคือ ตราช้าง ตราเสือ และซุปเปอร์ ที่ใช้เป็นส่วนมากในการก่อสร้าง คือปูนตราช้างและตราเสือแต่ปูนตราเสือนั้นได้เอาปูนตราช้างมาปนกับทรายละเอียดประมาณ ๓๐% ฉะนั้นถ้าหากจะทำการหล่อคอนกรีตด้วยปูนตราเสือควรเพิ่มส่วนผสมเป็น ๑:๒:๓

การหล่อท่อระบายน้ำ
การหล่อท่อระบายน้ำตามที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นนั้นเป็นการหล่อในพื้นที่อีกแห่งหนึ่ง ไม่จำเป็นจะต้องไปหล่อในพื้นที่ก็ได้ คือ หล่อไว้ก่อนเป็นท่อนๆ แล้วไปสวมต่อกันเป็นท่อนยาว การหล่อเป็นท่อนๆ นี้จะใช้ท่อนขนาดเดียวกันก็ได้ แต่ความยาวท่อนหนึ่งๆ ไม่ควรเกิน ๑ เมตร เพื่อประโยชน์ในการที่จะแยกไปได้ง่าย แต่ด้านหัวและท้ายจะต้องหล่อให้มีบังใบให้เล็กข้างหนึ่งและใหญ่ข้างหนึ่ง เพื่อจะได้สนิทและเมื่อสวมแล้วต้องใช้ปูนซีเมนต์ยาตามแนวทุกๆ แนว เพื่อป้องกันน้ำรั่ว

การระบายน้ำ
เมื่อถึงคราวที่จะทำการระบายน้ำเข้าและออก ให้ทำการตรวจที่ตะแกรงลวดทั้ง ๒ ด้านก่อนเปิดบานไม้อัดน้ำ เพราะในเวลาที่เปิดมักจะมีเศษหญ้าหรือผงต่างๆ มาอุดที่ตะแกรง โดยกำลังดูดของน้ำจะทำให้กำลังน้ำเดินช้าเข้า ถ้าสามารถจะหาตะแกรงชนิดห่างมากั้นไว้หน้าตะแกรงเล็กได้เป็นดี และจำเป็นต้องตรวจตราดูเสมอ ในระหว่างทำการระบายน้ำเมื่อได้กระทำการระบายน้ำพอต้องการให้ใส่บานไม้อัดน้ำ เพราะบานตะแกรงลวดนี้จะทิ้งไว้ในน้ำนานไม่ได้ จะเกิดสนิมและผุต่อเมื่อจะทำการระบายเมื่อใดจึงนำไปใส่ สำหรับบานไม้อัดน้ำนี้จะใช้เป็นแผ่นคอนกรีตก็ได้ ซึ่งมีขนาดให้เท่ากับแผ่นไม้

เมื่อได้ระบายน้ำเข้าบ่อเสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะปฏิบัติต่อไปก็คือการตรวจตราสิ่งก่อสร้างต่างๆ เพื่อจะทำการซ่อมแซมในสิ่งที่ชำรุดเสียหาย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี