การเลี้ยงปลานิล

Socail Like & Share

ความเป็นมา
ตามที่เจ้าอากิฮิโต มกุฎราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้จัดส่งปลานิลจำนวน ๕๐ ตัว ความยาวเฉลี่ยตัวละประมาณ ๙ เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ ๑๔ กรัม มาทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๐๘ นั้น ในระยะแรกได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปล่อยลงเลี้ยงในบ่อดินเนื้อที่ประมาณ ๑๐ ตารางเมตร ในบริเวณสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ปลานิลเมื่อเลี้ยงมาได้ ๕ เดือนเศษ ปรากฏว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่สวนกุหลาบขุดบ่อขึ้นใหม่อีก ๖ บ่อ มีเนื้อที่เฉลี่ยบ่อละประมาณ ๗๐ ตารางเมตร ซึ่งในโอกาสนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงย้ายปลาด้วยพระองค์เอง จากบ่อเดิมไปปล่อยในบ่อใหม่ทั้ง ๖ บ่อ เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๐๘ ต่อจากนั้นทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ มอบให้กรมประมงจัดส่งเจ้าหน้าที่วิชาการมาตรวจสอบการเจริญเติบโตเป็นประจำทุกเดือน

โดยที่ปลาชนิดนี้เป็นปลาจำพวกกินพืช เลี้ยงง่าย มีรสดี ออกลูกดกเจริญเติบโตได้รวดเร็ว ในเวลา ๑ ปี จะมีน้ำหนักประมาณครึ่งกิโลกรัมและมีความยาวประมาณ ๑ ฟุต จึงได้มีพระราชประสงค์ที่จะให้ปลานี้แพร่ขยายพันธุ์ อันจะเป็นประโยชน์แก่พสกนิกรของพระองค์ต่อไป

ดังนั้น วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๙ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่มกุฎราชกุมารแห่งญี่ปุ่นได้จัดส่งพันธุ์ปลามาทูลเกล้าถวาย และทรงเลี้ยงไว้ที่ในบริเวณสวนจิตรลดาเป็นเวลาเกือบครบ ๑ ปี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” และได้พระราชทานปลานิลขนาดยาว ๓-๕ เซนติเมตร จำนวน ๑๐,๐๐๐ ตัว ให้แก่กรมประมงนำไปเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ที่แผนกทดลองและเพาะเลี้ยง ในบริเวณเกษตรกลางบางเขน และที่สถานีประมงต่างๆ ทั่วพระราชอาณาจักรอีกจำนวน ๑๕ แห่ง เพื่อดำเนินการเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์พร้อมกัน ซึ่งเมื่อปลานิลนี้แพร่ขยายพันธุ์ออกไปได้มากเพียงพอแล้ว จะได้แจกจ่ายให้แก่ราษฎรนำไปเพาะเลี้ยงตามความต้องการต่อไป

รูปร่างลักษณะ
ปลานิลเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่งอยู่ในตระกูล (Eichlidac) มีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอาฟริกา พบทั่วไปตามหนอง บึง และทะเลสาบในประเทศซูดาน อูกานดา แทนแกนยีกา โดยที่ปลาชนิดนี้เจริญเติบโตเร็ว และเลี้ยงง่ายเหมาะสมที่จะนำมาเพาะเลี้ยงในบ่อได้เป็นอย่างดี จึงได้รับความนิยมและเลี้ยงกันอย่างแพร่หลายในภาคพื้นเอเชีย แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็นิยมเลี้ยงปลาชนิดนี้

รูปร่างลักษณะของปลานิลคล้ายกับปลาหมอเทศ แต่ลักษณะพิเศษของปลานิลมีดังนี้คือริมฝีปากบนและล่างเสมอกัน ที่บริเวณแก้มมีเกล็ด ๔ แถว ตามลำตัวมีลายพาดขวางจำนวน ๙-๑๐ แถบ นอกจากนี้ลักษณะทั่วไปมีดังนี้ ครีบหลังมีเพียง ๑ ครีบ ประกอบด้วยด้านครีบแข็งและก้านครีบอ่อนเป็นจำนวนมาก ครีบก้นประกอบด้วยก้านครีบเช่นกัน มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างตัว ๓๓ เกล็ด ลำตัวมีเขียวปนน้ำตาล ตรงกลางเกล็ดมีสีเข้ม ที่กระดูกแก้มมีจุดสีเข้มอยู่จุดหนึ่ง บริเวณส่วนอ่อนของครีบหลังครีบก้นและครีบหางนั้น จะมีจุดสีขาวและเส้นสีดำตัดขวาง และดูคล้ายลายข้างตอกอยู่โดยทั่วไป

นิสัย
ตามธรรมชาติปรากฏว่า ปลานิลเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูงตามแม่น้ำ ลำคลอง หนองบึง และทะเลสาบ เป็นปลาที่อยู่ได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำกร่อย มีความอดทนและสามารถปรับปรุงตัวให้เข้ากับธรรมชาติได้ง่าย นับว่าเป็นปลาที่เหมาะที่จะนำมาเลี้ยงในบ่อได้เป็นอย่างดี

การสืบพันธุ์
๑. ลักษณะเพศ  ตามปกติแล้วรูปร่างลักษณะภายนอกของปลานิลตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก แต่จะสังเกตลักษณะเพศได้ก็โดยการดูอวัยวะเพศที่บริเวณใกล้กับช่องทวารโดยตัวผู้จะมีอวัยวะเพศในลักษณะเรียวยาวยื่นออกมา แต่สำหรับตัวเมียจะมีลักษณะเป็นรูค่อนข้างใหญ่และกลม ขนาดปลาที่จะดูเพศได้ดีนั้นจะเป็นปลาที่มีขนาดยาวตั้งแต่ ๑๐ เซนติเมตรขึ้นไป สำหรับปลาที่มีขนาดโตเต็มที่นั้น เราจะสังเกตเพศได้อีกวิธีหนึ่งด้วยการดูสีที่ลำตัว ซึ่งปลาตัวผู้ที่ใต้คางและลำตัวจะมีสีเข้มต่างกับตัวเมีย ยิ่งเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์สีจะยิ่งเข้มขึ้น

๒. การผสมพันธุ์ และการวางไข่  การผสมพันธุ์ของปลานิลนี้ในขณะที่ปลายังไม่โตได้ขนาดผสมพันธุ์ หรือสภาพสิ่งแวดล้อมไม่เหมาะที่จะวางไข่ ปลาจะอยู่รวมกันเป็นฝูง แต่ภายหลังเมื่อปลาโตได้ขนาดที่จะสืบพันธุ์ได้และมีสภาพสิ่งแวดล้อมเหมาะสมแล้ว ปลาตัวผู้ก็จะแยกออกจากฝูงแล้วเริ่มสร้างรัง โดยเลือกเอาบริเวณชานบ่อที่ตื้นๆ น้ำลึกประมาณ ๓๐-๕๐ เซนติเมตร วิธีการสร้างรังนั้นปลาจะปักหัวลง โดยที่ตัวของมันจะอยู่ในระดับตั้งฉากกับพื้นดิน แล้วใช้ปากพร้อมกับการเคลื่อนไหวของลำตัวเขี่ยดินตะกอนออก จากนั้นจะอมดินตะกอนกับเศษสิ่งของต่างๆ ออกไปทิ้งนอกรังปฏิบัติอยู่เช่นนี้จนกว่าจะได้รัง ซึ่งมีลักษณะเป็นหลุมที่มีขนาดตามต้องการหลังจากสร้างรังสิ้นสุดลงแล้วมันจะพยายามขับไล่ปลาตัวอื่นๆ ให้ออกไปนอกบริเวณรังและว่ายวนเวียนเป็นรัศมี ๒-๓ เมตรรอบๆ รัง ในระหว่างที่มีการเฝ้าดูแลรักษารังนี้ตัวผู้จะแผ่ครีบหลัง อ้าปากกว้างอยู่ตลอดเวลาในขณะที่ตัวเมียว่ายเข้ามาใกล้ อาการเช่นนี้เป็นการเชิญชวนให้เข้ามาที่รังซึ่งตนได้สร้างไว้ เท่าที่ได้มีผู้สังเกตพบปรากฏว่าปลาตัวเมียบางตัวจะผ่านเข้าไปยังลังถึง ๓ รังก่อน จึงจะพบรังที่ถูกใจ

เมื่อต่างได้คู่ที่ถูกใจแล้วก็จะแสดงอาการจับคู่โดยว่ายน้ำเคล้าคู่กันไปต่างจะใช้หางดีดและกัดกันเบาๆ หลังจากเคล้าเคลียกันแล้วปลาก็ผสมพันธุ์กัน โดยตัวผู้จะใช้บริเวณหน้าผากดุนที่ใต้ท้องของตัวเมียเพื่อเป็นการกระตุ้นและเร่งเร้าให้ตัวเมียวางไข่ ซึ่งตัวเมียจะวางไข่ออกมาครั้งละ ๑๐ หรือ ๑๒ ฟอง แล้วตัวผู้จะว่ายไปเหนือไข่พร้อมกับปล่อยน้ำเชื้อลงไป ทำเช่นนี้อยู่จนกว่าการผสมพันธุ์จะแล้วเสร็จ ซึ่งทันทีทันใดนั้นตัวเมียจะเก็บไข่ที่ได้รับการผสมกับน้ำเชื้อแล้วอมเข้าไว้ในปากแล้วว่ายออกจากรังไปยังบริเวณก้นบ่อที่ลึกกว่า ส่วนตัวผู้ก็จะคอยหาโอกาสเคล้าเคลียกับตัวเมียอื่นต่อไป

ขนาดของพ่อแม่ปลาที่จะทำการผสมพันธุ์วางไข่ได้นั้น เป็นปลาที่มีขนาดยาว ๑๐ เซนติเมตร และมีอายุประมาณ ๔ เดือนขึ้นไป ปริมาณไข่แต่ละครั้งจะมากน้อยตามขนาดของแม่ปลาคืออยู่ในระหว่าง ๕๐-๖๐๐ ฟอง

๓. การฟักไข่และการแพร่ขยายพันธุ์ การฟักไข่ของปลานิลนี้เป็นหน้าที่ของตัวเมีย โดยการอมไข่ไว้ในปาก ซึ่งจะเป็นที่เก็บรักษาไว้ให้พ้นจากศัตรู และช่วยให้ไข่นั้นได้รับน้ำที่สะอาดโดยแม่ปลาจะคอยทำหน้าที่ถ่ายเปลี่ยนน้ำอยู่ตลอดเวลา ไข่จะฟักออกเป็นตัวระยะเวลา ๔-๕ วัน

ลูกปลาที่ฟักออกเป็นตัวใหม่ๆ จะยังไม่กินอาหารเพราะในระยะนี้ลูกปลาจะอาศัยอาหารจากถุงอาหารธรรมชาติ ซึ่งติดอยู่ที่ท้อง ขณะเดียวกันแม่ปลาก็คงทำหน้าที่อมลูกปลาอยู่ต่อไปจนกระทั่งถุงอาหารธรรมชาติยุบหายไปหลังจากฟักออกเป็นตัว ๓-๔ วัน พร้อมกันนั้นลูกปลาเหล่านี้ก็จะเจริญเติบโตขึ้นสามารถกินอาหารจำพวกพืชและไรน้ำเล็กๆ ซึ่งมีอยู่ในน้ำ ถึงแม้ว่าลูกปลาจะเจริญเติบโตขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังจัดอยู่ในวัยอ่อน ดังนั้นจึงต้องคอยหลบหลีกอันตรายโดยว่ายวนเวียนอยู่ที่บริเวณหัวของแม่ปลา และเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปาก โดยเข้าทางปากหรือทางช่องเหงือกระยะเวลาที่ลูกปลาเล็กๆ จะอยู่ในความดูแลรักษาของแม่ปลานี้ขึ้นอยู่กับแม่ปลา และลูกปลาแต่ละตัว โดยหลังจากลูกปลาอายุได้ ๓-๔ วัน ลูกปลาจะไม่พยายามเข้าไปหลบซ่อนภายในช่องปากของแม่ และจำนวนของตัวที่จะหลบภัยจะค่อยๆ ลดลง หลังจากอายุได้ ๑ สัปดาห์แล้ว จะไม่มีลูกปลาเข้าไปหลบซ่อนอยู่ในช่องปากของแม่ปลาอีกเลย แต่แม่ปลาก็จะคอยระวังศัตรูโดยว่ายวนเวียนอยู่ใกล้บริเวณที่ลูกของมันหาอาหารกิน ลูกปลานิลจะเลี้ยงตัวเองรอดเมื่อมีอายุได้ ๓ สัปดาห์ และมักจะว่ายขึ้นกินอาหารรวมกันเป็นฝูง

การแพร่ขยายพันธุ์ของปลานิลนั้นตามปกติรังไข่ของปลานิลจะประกอบด้วยไข่ขนาดต่างๆ กัน หากเมื่อสภาพสิ่งแวดล้อมเหมาะสมในการวางไข่ ไข่บางส่วนก็จะขยายตัวออก และเมื่อไข่สุกเต็มที่จะถูกขับเคลื่อนออกสู่ภายนอกขณะเมื่อปลาทำการวางไข่แต่ละครั้งปริมาณไข่เท่าที่พบจะมีมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับขนาดของแม่ปลาและฤดูกาล แม่ปลาเริ่มวางไข่ครั้งแรกจะให้ลูกปลาจำนวนน้อย แล้วปริมาณไข่จะเพิ่มมากขึ้นตามขนาดของแม่ปลาที่โตขึ้น การวางไข่ของแม่ปลาตัวหนึ่งจะสามารถวางไข่ได้ตลอดปี ในระยะ ๒-๓ เดือน ต่อครั้ง ถ้าหากบ่อเลี้ยงปลามีสภาพดี และให้อาหารพอเพียงในเวลา ๑ ปี แม่ปลาตัวหนึ่งจะแพร่พันธุ์ได้ ๓-๔ ครั้ง

การเลี้ยง
ถึงแม้ว่าปลานิลจะเป็นปลาที่เลี้ยงง่ายก็ตาม แต่ในการเพาะเลี้ยงเพื่อให้ได้รับผลดี เป็นที่น่าพอใจนั้น ก็จำเป็นจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักวิธีการเพาะเลี้ยงเป็นขั้นๆ ไป ดังต่อไปนี้

๑. บ่อ บ่อที่จะใช้เลี้ยงปลานิลนั้นควรจะเป็นบ่อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าและเนื้อที่ประมาณ ๑ งาน ทั้งนี้เพื่อจะได้ใช้เลี้ยงปลาที่มีขนาดโตและสำหรับเพาะลูกปลาไปด้วยกัน เพราะถ้าเป็นบ่อที่มีขนาดเล็กแล้ว ลูกปลาที่เกิดขึ้นมาจะแน่นบ่ออย่างรวดเร็วทำให้ลูกปลาเหล่านั้นมีขนาดไม่โต โดยที่ปลานิลเป็นปลาที่วางไข่โดยการขุดหลุมตามก้นบ่อ ดังนั้นการขุดบ่อจึงควรจะมีชานบ่อไว้บ้าง หรือมิฉะนั้นตอนขอบบ่อก็ควรให้มีลาดเทมากๆ ซึ่งจะเป็นแหล่งตื้นๆ สำหรับให้ปลาวางไข่ ส่วนตอนกลางๆ บ่อก็ควรให้ลึกประมาณ ๑ เมตร ก็เป็นการเพียงพอ เพื่อที่ปลาจะได้อาศัยเป็นที่เลี้ยงตัวให้เจริญเติบโตได้ขนาดที่เราจะใช้รับประทานกันได้

ถ้าบ่อนั้นอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำ เช่น คู คลอง แม่น้ำ ก็จะเป็นการสะดวกในการใช้น้ำและไม่จำเป็นต้องทำการวิดน้ำเข้าออก เพียงแต่ทำท่อระบายน้ำแล้วกรุด้วยตะแกรงตาถี่เพื่อป้องกันมิให้ปลาที่เลี้ยงหลบหนีออกไป และเป็นการป้องกันมิให้ศัตรูของปลาจากภายนอกเล็ดลอดเข้ามาได้ แต่ถ้าบ่อนั้นไม่สามารถจะทำท่อระบายน้ำได้ก็จำเป็นที่จะต้องทำการสูบน้ำเข้าเมื่อเวลาน้ำลดลงและเปลี่ยนน้ำเมื่อเวลาน้ำเกิดเสีย

๒. การเตรียมบ่อ
ก. กำจัดพันธุ์ไม้น้ำ บ่อเลี้ยงปลาต้องรักษาไม่ให้รกด้วยพืชที่ไม่ต้องการ เช่นผักตบชวา จอก บัว และหญ้าต่างๆ ควรจะเก็บออกจากบ่อเลี้ยงปลาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะพันธุ์ไม้น้ำเหล่านี้จะปกคลุมผิวน้ำเป็นอุปสรรคต่อการหมุนเวียนของอากาศ เป็นที่อยู่อาศัยของศัตรูได้เป็นอย่างดี และเป็นการจำกัดเนื้อที่ที่ปลาจะอยู่อาศัยด้วย

ข. กำจัดศัตรู ศัตรูของปลานิลได้แก่ปลาจำพวกกินเนื้อ เช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาบู่ และปลาดุก นอกจากนี้ก็มีสัตว์จำพวก  เต่า กบ เขียด งู เป็นต้น ฉะนั้นก่อนปล่อยปลานิลลงเลี้ยงในบ่อ จึงจำเป็นต้องกำจัดศัตรูเหล่านี้เสียก่อน โดยวิธีระบายน้ำออกให้แห้ง แล้วจับขึ้นให้หมด แต่ถ้าหากบ่อนั้นไม่อยู่ใกล้ทางน้ำ ซึ่งไม่สะดวกแก่การระบายน้ำออกก็ควรจะใช้โลติ๊น โดยใช้อัตราส่วนโลติ๊นสดหนัก ๑ กิโลกรัม ต่อปริมาณของน้ำในบ่อ ๑๐๐ ลูกบาศก์เมตร วิธีทำคือทุบหรือบดโลติ๊นให้ละเอียดนำลงแช่น้ำสัก ๑ หรือ ๒ ปีบ ขยำโลติ๊นเพื่อให้น้ำสีขาวออกมาหลายๆ ครั้งจนหมด นำไปสาดให้ทั่วบ่อ ศัตรูปลาจำพวกดังกล่าวก็จะตายลอยขึ้นมาหมดต้องเก็บออกทิ้งอย่าปล่อยให้เน่าอยู่ในบ่อ เพราะจะทำให้น้ำเสียได้ และก่อนที่จะปล่อยปลาลงเลี้ยงควรทิ้งระยะไว้ประมาณ ๗-๑๐ วัน เพื่อให้ฤทธิ์ของโลติ๊นสลายตัวไปหมดเสียก่อน

ค. การใส่ปุ๋ย  ตามปกติโดยทั่วๆ ไปแล้วปลาจะกินอาหารจากธรรมชาติและจากที่ให้สมทบ เมื่อคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วจะมีจำนวนเกือบเท่าๆ กัน ดังนั้นในบ่อเลี้ยงปลาควรให้มีอาหารธรรมชาติเกิดขึ้นอยู่เสมอ จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีการใส่ปุ๋ยลงไป ปุ๋ยที่ใช้ได้แก่มูลวัว มูลควาย มูลหมู มูลเป็ดและมูลไก่ นอกจากปุ๋ยที่ได้จากมูลสัตว์ดังกล่าวแล้วก็มีปุ๋ยหมักและปุ๋ยพืชสดต่างๆ อีกเป็นต้น

อัตราการใส่ปุ๋ยในระยะแรกนั้นควรใส่ประมาณ ๒๕๐-๓๐๐ กิโลกรัมต่อไร่ ส่วนในระยะหลังๆ ควรใส่ในอัตราครั้งละครึ่งหนึ่งของระยะแรก

วิธีใส่ปุ๋ย ถ้าหากเป็นปุ๋ยคอกคือปุ๋ยที่ได้มาจากมูลสัตว์ต่างๆ ควรตากให้แห้งเสียก่อนเพราะถ้าเป็นปุ๋ยที่สดแล้วจะทำให้น้ำในบ่อมีแก๊สจำพวกแอมโมเนียละลายอยู่ในน้ำมาก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อปลา การใส่ปุ๋ยคอกก็ใช้วิธีโยนลงไปในบ่อให้ละลายไปทั่วๆ อย่าโยนให้ตกอยู่ในที่เดียว ส่วนปุ๋ยพืชสดนั้นควรเทสุมเป็นกองไว้ตามมุมบ่อ ๑ หรือ ๒ แห่ง โดยมีไม้ไผ่ปักล้อมเป็นคอกรอบกองปุ๋ยไว้ เพื่อป้องกันมิให้ส่วนที่ยังไม่สลายตัวกระจัดกระจาย

บ่อที่มีอาหารธรรมชาติมากหรือน้อยนั้นจะสังเกตได้จากสีของน้ำ ถ้าน้ำมีสีเขียวจะมีอาหารจำพวกพืชเล็กๆ มาก แต่ถ้าน้ำในบ่อมีสีค่อนข้างคล้ำ มักจะมีอาหารจำพวกไรน้ำมาก ซึ่งพวกพืชเล็กๆ และไรน้ำเหล่านี้ นับว่าเป็นอาหารธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อการเลี้ยงปลาเป็นอย่างมาก

การปล่อยปลาลงเลี้ยง
ก. จำนวนปลาที่ปล่อย  เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่ขยายพันธุ์ได้เร็วคือ แม่ปลาตัวหนึ่งจะออกลูกได้ ๓-๔ ครั้งในเวลา ๑ ปี ดังนั้นจำนวนปลาที่จะปล่อยลงเลี้ยงในบ่อครั้งแรกจึงไม่จำเป็นต้องปล่อยให้มากนัก สำหรับบ่อขนาดเนื้อที่ ๑ งาน (๔๐๐ ตารางวา) ควรใช้พ่อแม่ปลานิลเพียง ๕๐ คู่ หรือถ้าเป็นขนาดลูกปลาก็ควรปล่อยเพียง ๔๐๐ ตัว นับว่าพอเหมาะ

ข. เวลาปล่อยปลา เวลาที่เหมาะที่สุดสำหรับปล่อยปลาควรจะเป็นเวลาเช้าหรือเวลาเย็น ซึ่งอุณหภูมิของน้ำไม่ร้อนเกินไป ก่อนที่จะปล่อยปลาควรเอาน้ำในบ่อใส่ปนลงไปในภาชนะที่บรรจุปลา ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ ๒-๓ นาที เพื่อให้ปลาคุ้นกับน้ำใหม่เสียก่อน จากนั้นจึงค่อยๆ จุ่มปากภาชนะที่บรรจุปลานิลลงบนผิวน้ำพร้อมกับปล่อยปลาออกช้าๆ

การให้อาหาร
เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่กินอาหารได้ทุกชนิด ดังนั้นปลานิลนี้จึงเป็นปลาที่ให้ผลผลิตสูง โดยเฉพาะพวกอาหารธรรมชาติที่มีอยู่ในบ่อ เช่น ไรน้ำ ตะไคร่น้ำ ตัวอ่อนของแมลง และสัตว์ตัวเล็กๆ ที่อยู่ในบ่อตลอดจนสาหร่ายและแหน แต่เพื่อเป็นการเร่งให้ปลาที่เลี้ยงอยู่นี้เจริญเติบโตเร็วขึ้น จึงควรมีการให้อาหารสมทบด้วย เช่น รำ ปลายข้าว กากถั่วลิสง กากมะพร้าว แหนเป็ด และปลาป่นเป็นต้น อาหารสมทบเหล่านี้ควรเลือกเอาชนิดที่หาได้สะดวกและมีราคาถูก ส่วนการให้ก็ไม่ควรให้มากเกินไป โดยกะให้พอเหมาะแก่ความต้องการของปลา ส่วนมากควรเป็นน้ำหนักราว ๔ เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาเลี้ยง เพราะถ้าให้อาหารมากเกินไปปลาก็จะกินไม่หมด ซึ่งจะเกิดผลเสีย ๒ ประการด้วยกันคือ เสียค่าอาหารไปโดยเปล่าประโยชน์และทำให้น้ำเน่าเสีย ซึ่งจะเป็นอันตรายแก่ปลาได้

การเจริญเติบโต
ปลานิลเป็นปลาที่มีการเจริญเติบโตเร็ว แต่ด้วยเหตุที่ปลานิลมีการขยายพันธุ์เร็วด้วย ดังนั้นการเลี้ยงปลาก็ไม่ควรจะปล่อยให้มีปลาแน่นเกินไป ถ้าหากว่ามีลูกปลาเกิดขึ้นมากแล้วก็ควรจะจับลูกปลาแบ่งออกไปเลี้ยงยังบ่ออื่นบ้าง เพราะถ้าปล่อยให้อยู่กันอย่างแน่นหนาเกินไป ปลาก็จะไม่เจริญเติบโตและจะทำให้การแพร่พันธุ์ไม่ดีอีกด้วย

การเจริญเติบโตของปลานิล

อายุปลา(เดือน) ความยาว(ซ.ม.) หนัก (กรัม)
๑๐ ๓๐
๒๐ ๒๐๐
๒๕ ๓๕๐
๑๒ ๓๐ ๕๐๐

การจับ
เนื่องจากปลานิลเป็นปลาที่แพร่พันธุ์ได้เร็ว พ่อแม่ปลาที่โตเต็มที่ เมื่อปล่อยลงเลี้ยงในบ่อจะเริ่มวางไข่ภายใน ๒-๓ สัปดาห์ และลูกปลาที่เกิดจากพ่อแม่ชุดนี้จะเริ่มวางไข่ได้เมื่อมีอายุประมาณ ๓-๔ เดือน เพราะฉะนั้นถ้าหากไม่มีการจับปลาขนาดใหญ่ออกเสียบ้าง ก็จะทำให้ปลาแน่นบ่อ สิ่งที่สำคัญคือ อาหารธรรมชาติของปลาที่เกิดขึ้นภายในบ่อย่อมมีจำกัดตามเนื้อที่ของบ่อ ฉะนั้น ปลาที่เลี้ยงไว้จะมีอาหารกินโดยจำกัดไปด้วย และเมื่อปลาเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างหนาแน่น ย่อมทำให้ในบ่อมีอาหารไม่พอเพียง เป็นเหตุให้ปลาเติบโตช้า ไม่สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้

ฉะนั้นเมื่อสังเกตเห็นว่า ปลามีปริมาณมากหรือแน่นบ่อเกินไป ก็จำเป็นต้องหมั่นจับปลาที่มีขนาดโตออกเสียบ้างเป็นครั้งคราว เพื่อให้โอกาสให้ลูกปลาเจริญเติบโตได้เร็วขึ้นและสามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ในโอโอกาสต่อไป

ประโยชน์
ปลานิลเป็นปลาที่มีเนื้อมากและรสดี สามารถที่จะใช้เป็นอาหารได้หลายอย่าง เช่น ทอด ต้ม แกง ตลอดจนทำน้ำยาได้ดี เท่าเนื้อปลาช่อน นอกจากนี้ยังสามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดต่างๆ ได้เช่นเดียวกับปลาชนิดอื่น โดยทำเป็นปลาเค็มตากแห้งแบบปลาสลิด ทำเป็นปลากรอบ ปลาร้า ปลาเจ่า ปลาจ่อมหรือปลาส้ม และประกอบเป็นอาหารได้อีกมากชนิด ผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นนี้สามารถเก็บไว้ใช้ได้นาน ทั้งสามารถนำไปจำหน่ายเป็นรายได้เพิ่มขึ้นตามความต้องการได้อีกด้วย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี