บุญกิริยาวัตถุ

Socail Like & Share

คนทั้งหลายที่เกิดเป็นมนุษย์นั้นนับเป็นความดียิ่ง บางคนรํ่ารวย บาง คนได้เป็นใหญ่ บางคนได้เป็นเจ้า เป็นพระยาจักรพรรดิราช เหตุที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะเคยทำบุญไว้อย่างไร เคยบำเพ็ญศีลบำเพ็ญทานไว้อย่างไร

บุญในกามภูมิมีทั้งหมด ๑๗,๒๘๐ ประการ บุญเหล่านั้น คืออะไรบ้าง คือ บุญจำพวกแรกมีแปดประการ (มหากุศล ๘) ได้แก่ ประการแรก คือการรู้จักบุญและบาป ทำบุญบุญกิริยาวัตถุด้วยความยินดี ประการที่สอง คือการรู้จักบุญและบาป แต่ไม่ทำบุญ เมื่อมีคนมาชักชวนก็เกิดความยินดีจึงทำบุญ ประการที่สามคือการไม่รู้จักบุญและไม่รู้จักบาป ไม่มีความยินดีในการทำบาปแต่ยินดีในการทำบุญ ประการที่สี่ คือการไม่รู้จักบุญและไม่รู้จักบาป เมื่อมีผู้ชักชวนให้ทำบุญ ก็เกิดความละอายต่อคำชักชวนจึงทำบุญ ประการที่ห้า คือการรู้จักบุญและบาป และทำบุญด้วยความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ประการที่หก คือการรู้จักบุญและบาป ไม่ปรารถนาทำบุญด้วยตนเอง เมื่อมีคนมาชักชวนจึงทำบุญ ประการที่เจ็ด คือการไม่รู้จักบุญและบาป ไม่ยินดีในการทำบาป แต่ได้ทำบุญด้วย ความรู้สึกนึกคิดของตนเอง ประการที่แปด คือการไม่รู้จักบุญและบาป ไม่ยินดีในการทำบุญ เมื่อเห็นผู้อื่นทำบุญก็ทำตาม

บุญอีกจำพวกหนึ่ง มีสิบประการ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ได้แก่อะไรบ้าง ประการแรกคือ การให้ทาน เป็นต้นว่าให้ข้าวนํ้า หมากพลู ประการที่สอง คือ การรักษาศีล ทั้งศีลห้า ศีลแปด และศีลสิบ ประการที่สาม คือ การภาวนา เป็นต้นว่าสวดมนต์ สวดพระพุทธคุณ (พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ) และระลึกถึงพระคุณของบิดามารดา ผู้หลักผู้ใหญ่และผู้มีบุญคุณแก่ตน คำนึงถึงความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร ประการที่สี่ คือ อุทิศส่วนบุญที่ได้บำเพ็ญแด่เทพยดา มนุษย์และสัตว์ที่มีคุณแก่ตน ประการที่ห้า คือการอนุโมทนาหรือยินดีด้วยทาน ที่ผู้อื่นกระทำ และมีใจยินดีศรัทธาต่อทานนั้นด้วย ประการที่หก คือการปรนนิปติรับใช้บิดามารดา ครูอาจารย์ เช่น การรักษาความสะอาดด้วยการ ปัดกวาดปราบดินบริเวณที่ประดิษฐานพระพุทธรูป สถูป เจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ ประการที่เจ็ด คือการเคารพยำเกรงบิดามารดา ผู้ทรงอาวุโส ครู อาจารย์ ไม่ประมาทล่วงเกินท่าน ประการที่แปด คือการเทศนาสั่งสอนบุคคลอื่น ประการที่เก้า คือการหมั่นฟังพระธรรมเทศนา หากยังสงสัยไม่เข้าใจให้หมั่นถามผู้รู้ ประการที่สิบ คือมีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เชื่อถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ บิดามารดา ครู อาจารย์ ผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้เคยอุปการะเลี้ยงดูตนด้วยความสุจริตใจ

บุญสิบประการ (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ดังกล่าวแล้วนี้ ประกอบด้วย อารมณ์หกอย่างอันเป็นเหตุให้ทำบุญ ได้แก่ หนึ่ง คือการเห็นรูปด้วยตา ก่อให้เกิดเป็นอารมณ์แล้วจึงทำบุญ สอง คือการได้ยินเสียงไพเราะด้วยหู สาม คือ การได้กลิ่นอันหอมด้วยจมูก สี่ คือ การได้รับประทานอาหารสะอาดรู้รส อันโอชาด้วยลิ้น ห้า คือ การได้รับสิ่งสัมผัสที่ดีด้วยกาย หก คือ การคิดคำนึง ในทางที่ชอบธรรม

อารมณ์หกอย่างดังกล่าวแล้วนี้ มีบุญเป็นหลักใหญ่ เป็นเหตุจูงใจให้ ทำบุญอันยิ่งใหญ่ (อธิบดี ๔) ซึ่งแบ่งเป็นสี่ประการ คือ หนึ่ง มีความพอใจ เที่ยงตรงตั้งมั่นแล้วจึงทำบุญ สอง มีความพยายามขวนขวายในบุญ สาม มีความเอาใจใส่ไม่หวั่นไหวในบุญ สี่ มีความพินิจพิจารณาในบุญ

การทำบุญอันยิ่งใหญ่สี่ประการดังกล่าวแล้วนี้ แต่ละอย่างเกิดจากการ กระทำ ๓ ทางซึ่งได้แก่ หนึ่ง การกระทำทางกาย (กายกรรม) สอง การกระทำ ทางวาจา (วจีกรรม) สาม การกระทำทางใจ (มโนกรรม)

การกระทำทั้งสามทางดังกล่าวแล้วนี้ ประกอบด้วยการทำบุญด้วย ความตั้งใจจริงสามประการ ได้แก่ อย่างตํ่า อย่างกลาง และอย่างแรงกล้า ภายในใจได้ตั้งเจตนาปรารถนาจะเกิดในกามภูมิได้บุญ ๑๗,๒๘๐ ประการ

บุญ ๑๗,๒๘๐ ได้จากการนำมหากุศล ๘ ตั้ง คูณด้วย บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คูณด้วยอารมณ์ ๖ คูณด้วยอธิบดี ๔ คูณด้วยกรรม ๓ คือ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม คูณด้วยความตั้งใจจริง ๓ ประการ ก็จะได้ผลลัพธ์ ๑๗,๒๘๐

มีเจตสิกเป็นเพื่อนจิต มาสนับสนุนให้จิตกระทำบุญ ๓๘ จำพวก คือ ๑. ให้เกิดความต้องใจ ๒. ให้เกิดเสวยคือให้ฟังและให้ดู ๓. ให้รู้ ๔. ให้คิด ๕. ให้มั่นคงในบุญ ๖. ให้รักษาเจตสิกอื่นๆ ไว้ ๗. ให้ผูกสัมพันธ์เจตสิกอื่นๆ ไว้ด้วยกันอย่างมั่นคง ๘. ให้คิดถึงบุญ ๙. ให้พิจารณาบุญ ๑๐. ให้ตัดสินใจทำบุญ ๑๑. ให้พยายามทำบุญ ๑๒. ให้ชื่นชมในการทำบุญ ๑๓. ให้พอใจทำบุญ ๑๔. ให้ศรัทธาในการทำบุญ ๑๕. มิให้ลืมการทำบุญ ๑๖. ให้ละอายต่อบาปและทำบุญ ๑๗. ให้กลัวบาปและทำบุญ ๑๘. มิให้มีโลภซึ่งเป็นอุปสรรค ขัดขวางการทำบุญ ๑๙. มิให้มีความโกรธเกลียดซึ่งเป็นเหตุทำลายบุญ ๒๐. ให้มีใจเป็นกลาง ๒๑. ทำกายให้สงบในการทำบุญ ๒๒. ทำใจให้สงบในการทำบุญ ๒๓. ให้กายรีบเร่งในการทำบุญ ๒๔. ใจรีบเร่งในการทำบุญ ๒๕. ทำกายให้อ่อนโยนคล้อยตามการทำบุญ ๒๖. ทำใจให้อ่อนโยนคล้อยตามการทำบุญ ๒๗. ทำกายให้เหมาะสมกับการทำบุญ ๒๘. ทำใจให้เหมาะสมกับการทำบุญ ๒๙. ทำกายให้คล่องแคล่วต่อบุญ ๓๐. ทำใจให้ว่องไวต่อบุญ ๓๑. ทำกายให้ซื่อตรงต่อบุญ ๓๒. ทำใจให้ซื่อตรงต่อบุญ ๓๓. กล่าวถ้อยคำด้วยความซื่อตรง ๓๔. ให้ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ไม่เป็นโทษ ๓๕. ให้ (แสวงหาหรือ) รับประทานอาหารที่ไม่เป็นโทษ ๓๖. ให้มีใจเมตตาต่อสัตว์ทั้งหลาย ๓๗. ให้มีใจกรุณาต่อสัตว์ทั้งหลาย ๓๘. ให้มีความฉลาด

เจตสิก ๓๘ ประการดังกล่าวแล้วนี้ เป็นเพื่อนจิต ให้ทำบุญและบุญนั้น เป็นสิ่งที่ปฏิบัติไม่เพียงแต่ในเมืองมนุษย์นี้เท่านั้น แต่บรรดาเทพยดาสถิตในสวรรค์ชั้นฉกามาพจรภูมิก็ปฏิบัติด้วยเช่นกัน และบุญนั้นมีผลส่งให้ได้เป็นพระอินทร์ในแดนสวรรค์ คือได้ให้สมบัติอันประเสริฐ (ได้แก่ มนุษยสมบัติ สวรรคสมบัติ) ในกามโลก แต่ยังไม่อาจให้สมบัติในพรหมโลกได้ บุญกุศลของบรรดาพรหมจะกล่าวถึงในโอกาต่อไป ส่วนที่กล่าวมาแล้วนี้ เป็นเพียงบุญกุศลของผู้เกิดในกามาพจรเท่านั้น

คณะทำงานโครงการวรรณกรรมอาเซียน