ทฤษฎีแห่งการปกครองของเล่าจื๊อ

Socail Like & Share

หลักคำสอนเรื่อง หวู เว่ย นั้น เป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินงานด้านการปกครอง เช่นเดียวกันกับเป็นหลักคำสอนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตของบุคคล เล่าจื๊อ เกิดในยุคสมัยที่มีความวุ่นวายในทางการเมืองและทางสังคม ดังที่ได้อภิปรายมาแล้ว  เล่าจื๊อมีความเห็นว่า ความวุ่นวายของสังคมนั้นเนื่องมาจากเหตุสองประการ เหตุประการที่หนึ่งคือ ความสลับซับซ้อนของสถาบันทางการเมืองและทางสังคม เหตุประการที่สองคือ พฤติการณ์ของบุคคลที่เป็นชนชั้นปกครอง เขามีความคิดเห็นอย่างรุนแรงสุดขอบจนถึงกับประณามว่า กฎหมาย กฎเกณฑ์ จารีตประเพณี และแม้กระทั่งหลักจริยธรรมทั้งหลายทั้งปวงนั้น เป็นสิ่งที่เลวทราม เพราะเขาเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คอยกระตุ้นให้ประชาชน เอาแต่จะฝ่าฝืนเท่านั้น

ยิ่งมีความเข้มงวดกวดขันและมีข้อห้ามต่างๆ ในโลกมากขึ้นเพียงไร ประชาชนก็ยิ่งจะยากจนลงมากเพียงนั้น ประชาชนชนก็ยิ่งมีอาวุธที่แหลมคมมากขึ้นเพียงไร บ้านเมืองก็ยิ่งจะมีความยุ่งยากไม่สงบมากขึ้นเพียงนั้น ประชาชนยิ่งมีเหลี่ยมเล่ห์เพทุบายมากขึ้นเพียงไร ประชาชนก็ยิ่งคิดค้นหาทางเบี่ยงบ่ายอันเลวร้ายมายิ่งขึ้น ยิ่งมีกฎหมายและคำสั่งมากขึ้นเพียงไร ขโมยและโจรผู้ร้ายก็ยิ่งมากขึ้นเพียงนั้น

ฉะนั้น การกระทำขั้นแรกของนักการปกครองคือ จะต้องขจัดเหตุทั้งหลายอันเป็นสมุฎฐานของความเสื่อมโทรมในสังคมและความยุ่งเหยิงในทางการเมืองเสียก่อน

จงกำจัดสติปัญญาและละทิ้งความรู้ให้หมด แล้วประชาชนจะได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึงหนึ่งร้อยเท่า กำจัดมนุษยธรรมและละทิ้งความยึดมั่นในศีลธรรมให้หมด แล้วประชาชนจะมีความเคารพในบิดามารดาของตนและในพี่น้องของตน กำจัดความชำนาญและละทิ้งผลกำไรให้หมด ขโมยและโจรผู้ร้ายจะหมดสิ้นไปจากแผ่นดิน

ในทำนองเดียวกัน วิธีการของการปกครองที่ดีที่สุดนั้นคือ

…ทำจิตใจของประชาชนให้ว่าง แต่ทำท้องของประชาชนให้เต็ม ทำจิตใจของประชาชนให้อ่อนลง แต่เพิ่มพลังกระดูกของประชาชนให้แข็งแรงขึ้น
…ทำประชาชนให้ปราศจากความรู้และความอยาก ตลอดทั้งเล่ห์เหลี่ยมนานาประการทั้งปวง

สำหรับเหตุผลที่สนับสนุน ทฤษฎีการเมืองของเขานั้น เล่าจื๊อกล่าวว่า

ประชาชนต้องอดอยาก เพราะผู้ปกครองบ้านเมืองจัดเก็บภาษีมากเกินไป
ประชาชนเป็นคนปกครองยาก เพราะว่าผู้ปกครองบ้านเมืองเข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วยมากเกินไป
ประชาชนมีชีวิตอยู่อย่างเสี่ยงต่อความตาย เพราะว่าประชาชนมีความกังวลเรื่องของชีวิตมากเกินไป

ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ ผู้ปกครองบ้านเมือง ถ้าหากเป็นผู้รอบรู้ในเรื่องเต๋า จะไม่ใช้อำนาจเป็นเครื่องมือสั่งสอนประชาชน แต่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตอยู่ใน “ความไม่รู้” (ในที่นี้ความไม่รู้นั้นเป็นคำแปลมาจากคำภาษาจีนว่า หยู-Yu ซึ่งแปลว่า ความไม่รู้ ในความหมายที่ว่าความมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย และการมีความรู้อันบริสุทธิ์ใจอย่างไร้เดียงสา) ความมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย และการมีความรู้สึกอันบริสุทธิ์ใจอย่างจริงใจนั้น เป็นคุณลักษณะที่มนุษย์ทุกคนควรจะรักษาไว้ เพราะฉะนั้น หยู ตามความหมายของหลักคำสอนของเล่าจื๊อ จึงไม่ใช่ความเลวทรามชั่วช้า แต่เป็นคุณธรรมอันสำคัญอย่างหนึ่ง

ฉะนั้นจะเห็นได้ชัดเจนว่า หลักการปกครองบ้านเมืองอันสำคัญประการเดียวที่สอดคล้องกับคำสอนของเล่าจื๊อนั้น คือ หลักคำสอนเรื่องการมีภาวะอันเสรี (Laissez faire) การมีการจัดการควบคุมและหลักกฎหมายน้อยที่สุด เล่าจื๊อกล่าวว่า

จงปกครองบ้านเมืองที่ใหญ่โต อุปมาดุจดังท่านจะแกงปลาตัวเล็กๆ ฉะนั้น

การแกงปลาตัวเล็กๆ นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก และไม่จำต้องมีความชำนายมากมายในทำนองเดียวกัน การปกครองบ้านเมืองที่ใหญ่โตนั้น เป็นเรื่องง่ายและเล็กน้อยเหมือนกับการแกงปลาตัวเล็กๆ ถ้าหากว่านักการปกครองจะปล่อยให้ประชาชนอยู่ตามลำพังของตน

ด้วยเหตุนี้ ผู้มีปัญหาจึงกล่าวว่า “ตราบใดที่ข้าพเจ้าไม่ทำอะไรเลย ตราบนั้นประชาชนก็จะปฏิรูปตนเอง ตราบใดที่ข้าพเจ้าพิสมัยอยู่ในความเงียบสงบ ตราบนั้นประชาชนจะยึดมั่นอยู่ในศีลธรรมด้วยตนเอง ตราบใดที่ข้าพเจ้าไม่ใช้ความพยายามอันใด ตราบนั้นประชาชนจะมีฐานะมั่งคั่งขึ้นด้วยตนเอง ตราบใดที่ข้าพเจ้าไม่มีความอยากกระทำอันใด ตราบนั้น ประชาชนจะมีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายและมีความซื่อสัตย์ด้วยตนเอง

ถ้าหากยินยอมให้นโยบายแห่งภาวะของเสรีนิยมอย่างนี้ เป็นแบบของการปกครองบ้านเมืองแล้ว สังคมแห่งอุดมคติย่อมจะบังเกิดขึ้นได้ในที่สุด ข้อความต่อไปนี้เป็นข้อความที่แสดงถึงภาพอันงดงามแห่งสังคมคติของเล่าจื๊อ

บ้านเมืองในอุดมคตินั้นเป็นเมืองเล็ก มีประชาชนเพียงเล็กน้อย ประชาชนไม่ใช่เครื่องมือหรืออุปกรณ์ใดๆ ถึงแม้จะมีเครื่องมือและอุปกรณ์ก็ตาม ประชาชนไม่ต้องอยู่อย่างเสี่ยงความตาย และไม่อพยพไปอยู่ต่างเมือง ถึงแม้ว่าจะมีรถม้าและเรือแพแต่ก็ไม่มีบุคคลใดจะขี่ข้ามถึงแม้ว่าจะมีอาวุธ ในการสงคราม แต่ก็ไม่มีผู้ใดนำออกอวดแสดง

ประชาชนมีความพอใจในอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัยอันสงบของตน และพึงพอใจกับวิถีชีวิตของตน บ้านใกล้เรือนเคียงกันตั้งอยู่ใกล้ชิดกันจนได้ยินเสียสุนัขเห่า และเสียงไก่ขันของกันและกันได้อย่างชัดเจน จนกระทั่งถึงวาระที่สุดแห่งชีวิตของตน ก็ไม่มีประชาชนคนใดสนใจว่าใครจะเกิดหรือใครจะตายแต่อย่างใด

นี้คือ นครยูโตเปีย(Utopia) หรือเมืองในอุดมคติในจินตนาการของเล่าจื๊อ

บทวิจารณ์
ดูเหมือนว่า วิธีที่ดีที่สุดที่วิจารณ์คุณค่าอย่างเที่ยงธรรมของเล่าจื๊อนั้น ก็คือการเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างปรัชญาเต๋า กับปรัชญาขงจื๊อ ปรัชญาทั้งสองนี้ เป็นตัวแทนของทรรศนะที่ตรงกันข้ามกัน ในเรื่องของบทบาทของเต๋า ตามความเห็นของเล่าจื๊อนั้น เต๋า คือ “การกระทำโดยไม่กระทำสิ่งอันใด” ที่เกินวิสัยของธรรมชาติ ในการที่จะ “กระทำโดยไม่กระทำสิ่งอันใด” ที่เกิดวิสัยของธรรมชาตินั้น เล่าจื๊อปฏิเสธการกระทำทุกอย่างที่เป็นการฝืนธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้ เขาจึงประณามอารยธรรมและความรู้ และยกย่องสภาพความเป็นอยู่แบบธรรมชาติ และตามสัญชาตญาณ สำหรับทรรศนะของขงจื๊อนั้น ขงจื๊อถือว่า เต๋า คือ “การกระทำที่ไม่หวังผลอันใด” ในการกระทำนั้น เราจะต้องมีความสำนึก การกระทำของเราไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์อันใด เราต้องชื่นชมอยู่กับการกระทำนั้นเอง ด้วยเหตุนี้ ในขณะที่เล่าจื๊อยกย่องธรรมชาติ และถือว่าความชั่วร้ายทั้งปวงนั้นเกิดขึ้นจากการสร้างสรรค์และมีขนบธรรมเนียมต่างๆ ของมนุษย์ทั้งสิ้น ส่วนขงจื๊อนั้น ย้ำความสำคัญของคุณค่าของวัฒนธรรม ถึงแม้จะสอนให้แสวงหาธรรมชาติก็ตาม กล่าวโดยย่อแล้ว ในปรัชญาของเล่าจื๊อไม่มีอะไรเลยนอกจากการยกย่องคุณค่าของเต๋า และขจัดหลี หรือจารีตประเพณีที่ปรัชญาขงจื๊อ เป็นผู้เผยแพร่สนับสนุนให้หมดไป

ประการที่สอง  ปรัชญาทั้งสองตีความหมายของความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อสรรพสิ่งต่างๆ แตกต่างกัน เล่าจื๊อไม่มีทรรศนะที่จะแบ่งแยกมนุษย์กับสิ่งต่างๆ ทั้งหลาย ทรรศนะของเล่าจื๊อเป็นเอกภาวะนิยม และพยายามจะอธิบายถึงความสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของสิ่งที่เป็นส่วนย่อยกับสิ่งที่เป็นส่วนรวมทั้งหมด ทรรศนะนี้อาศัยหลักการที่ว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงหลอมรวมกันเข้าไปสู่ส่วนรวมที่เป็นส่วนเต็ม คือ เต๋า ฉะนั้นความแตกต่างระหว่างมนุษย์กับสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จึงไม่มี เพราะว่าทุกสิ่งทุกอย่างรวมทั้งคนนั้น ต่างเกิดขึ้นมาจาก หนึ่ง คือ เต๋า นั้นเอง

ขงจื๊อนั้น ยอมรับเอาไม่แต่เฉพาะการแบ่งแยกระหว่างสิ่งต่างๆ ทั้งหลายกับมนุษย์เท่านั้น แต่ยังถือว่า ความเป็นมนุษย์นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งที่สุด ปัญหาที่ขงจื๊อเพ่งพิจารณานั้นไม่ใช่ปัญหาของโลกจักรวาล แต่เป็นปัญหาของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ปรัชญาของ
เล่าจื๊อจึงมีลักษณะเป็นจิตนิยม มีประโยชน์ทางด้านปฏิบัติจริงน้อย ส่วนปรัชญาของขงจื๊อนั้นเป็นมนุษย์นิยม มีประโยชน์ทางด้านปฏิบัติจริงมาก

ประการที่สาม ปรัชญาทั้งสองนี้แตกต่างกันในเรื่องความคิดเกี่ยวกับสวรรค์ เล่าจื๊อนั้นมีความเห็นว่า เต๋า นี้มีมาก่อนสวรรค์ เพราะว่าเต๋า เป็นหลักปฐมมูลที่ครอบคลุมสรรพสิ่งทั้งปวงในโลกจักรวาล แต่ขงจื๊อนั้น ดูเหมือนจะแสดงทรรศนะเกี่ยวกับสวรรค์ออกมาไม่แน่ชัดนัก ถึงแม้ว่าขงจื๊อไม่ได้มีความคิดว่าสวรรค์นั้นเป็นผู้สร้าง แต่เขาก็ยอมรับว่าสวรรค์นั้นเป็นสิ่งที่มีอำนาจอันสูงสุด ในบรรดาสิ่งทั้งหลายที่ขงจื๊อมีความเกรงกลัวอยู่เป็นปกติวิสัยนั้น สิ่งแรกที่สุดคือโองการแห่งสวรรค์ ขงจื๊อถือว่าสวรรค์เป็นพลังงานที่เคลื่อนไหว เข้ามายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์

เล่าจื๊อ และขงจื๊อ มีความเหมือนกัน ในลักษณะที่สำคัญอยู่ประการเดียว นักปรัชญาทั้งสองท่านต่างยึดมั่นในหลักของการปฏิบัติแต่เพียงพอดี (The Golden mean) และใช้กฎธรรมชาติอันถาวร มาเป็นเหตุผลสนับสนุนหลักปฏิบัติเพียงพอดีนี้ กล่าวคือ ถ้าการเคลื่อนไหวอันใดดำเนินไปจนถึงที่สุดของการพัฒนาของมันแล้ว การเคลื่อนไหวนั้นก็จะย้อนกลับมาสู่จุดที่สุดซึ่งอยู่ตรงกันข้าม “อย่ากระทำสิ่งใดมากเกินพอดี” นี้คือคติของนักปรัชญาทั้งสอง

ปรัชญา หวูเว่ย ของเล่าจื๊อนั้น มีกำเนิดมาจากกฎธรรมชาติอันถาวรกฎนี้ หวู เว่ยนั้น ไม่ใช่เป็นกฎฝ่ายนิเสธ ในความหมายที่ว่าไม่มีการเคลื่อนไวแต่ประการใดทั้งหมด ก็หาไม่ ความหมายที่แท้จริงของหวู เว่ยนั้นคือ “อย่ากระทำมากเกินความพอดี” โดยการกระทำที่มากเกินความพอดีนั้น จะทำให้บุคคลต้องเสี่ยงกับผลตรงกันข้ามกับที่ตนมุ่งหวังเอาไว้ ในทำนองเดียวกัน ปรัชญาของ เล่าจื๊อนั้นสอนว่า เราจะต้องอ่อนโยนถ่อมตนและมีความพอใจในสันโดษอย่างง่ายๆ ความพอใจในสันโดษนั้นคือ วิธีการพิทักษ์พลังของตนเอง และรักษาตนเองให้แข็งแรง

ถึงแม้ว่าความหมายของหวู เว่ย จะมีลักษณะที่เข้าใจง่ายเช่นนี้ก็ตาม แต่การนำเอาหลักของหวู เว่ย ของปรัชญาของเล่าจื๊อมาใช้นั้นเป็นเรื่องที่ยากอย่างยิ่ง เราจะนำความสุขความสงบมาสู่ชีวิตและความสัมพันธ์ของมนุษย์ทั้งหลายได้อย่างไร ถ้าหากเราไม่ได้ทำงานเพื่ออุดมการของหวู เว่ย อะไรจะบังเกิดขึ้นกับโลกถ้าหากเราจะเลิกทิ้ง สถาบันทางสังคมและการเมืองทั้งหมดที่เรามีอยู่ในขณะนี้หมดสิ้น เราไม่สามารถจะรื้อทิ้งอารยธรรมที่เรามีอยู่ในปัจจุบันให้หมดไปเสียก่อน แล้วสถาปนาภาวะแห่งความเป็นอยู่สามัญธรรมดาแบบธรรมชาติดั้งเดิมขึ้นมาได้ยิ่งไปกว่านั้น การที่จะกล่าวว่ารัฐแห่งอุดมสุขหรือ ยูโตเปียของมนุษย์นั้นคือ การมีชีวิตอยู่อย่างสามัญธรรมดาแบบสมัยอดีตกาลนั้น เป็นความคิดเห็นที่ผิดพลาดอย่างยิ่ง ด้วยความเชื่อมั่นในความเจริญ มนุษย์เราได้ยึดมั่นในความเห็นว่า สังคมในอุดมคตินั้น เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ในอนาคตอันแจ่มใสที่รอคอยอยู่ข้างหน้า หาใช่อยู่ที่ซากปรักหักพังของอดีตที่ตายไปแล้วไม่ ถึงแม้เราจะมีทรรศนะทั้งหมดนี้อยู่ก็ตาม แต่เราก็เห็นพ้องด้วยกับเล่าจื๊อที่ว่า การปกครองที่ใช้อำนาจมากเกินไปนั้น เป็นสิ่งที่มีอันตราย และการมีชีวิตอยู่อย่างสามัญธรรมดานั้น แม้แต่ในวงการของการเมืองก็ตาม คือ อุดมคติของชีวิตที่ควรแก่การแสวงหา ถึงแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่จะหาได้ยากอย่างยิ่งก็ตาม

เล่าจื๊อ มีสิ่งที่ดีงามมากมายให้แก่เรา เขาแสดงให้เราเห็นถึงความโง่เขลาของการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง ตลอดทั้งคุณประโยชน์อันยิ่งใหญ่ของหวู เว่ย ที่เป็นสิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์อันดีงามของมนุษย์ดำเนินไปอย่างสามัญธรรมดาตามแบบธรรมชาติ และเล่าจื๊อได้ให้ภาพของสังคมในอุดมคติแก่เรา ทรรศนะแห่งการดำรงชีวิตอย่างสามัญธรรมดาเช่นนี้ จะเหมาะกับการปฏิบัติในชีวิตหรือไม่อย่างไร ทฤษฎีปรัชญาแห่งหวู เว่ย นั้น จะเป็นทฤษฎีที่มีเหตุผลใช้ประโยชน์ได้หรือไม่อย่างนั้น เป็นปัญหาที่ยังคงจะต้องแสวงหาคำตอบกันต่อไป โดยไม่เป็นที่ยุติ

ที่มา:สกล  นิลวรรณ