ชีวิตและคำสอนของจวงจื๊อ

Socail Like & Share

“จวงจื๊อ ฝันไปว่า ตนเป็นผีเสื้อ บินฉวัดเฉวียนไปมา เขารู้สึกอย่างแท้จริงว่า ตนนั้นเป็นผีเสื้อ หาทราบไม่ว่า ผีเสื้อนั้นคือ จวงจื๊อ ทันใดนั้น เขาตื่นขึ้นแล้วกลับเป็น จวงจื๊อ อีกตามเดิม……”
จากจวงจื๊อ บทที่ 2

ถ้าหากว่า ขงจื๊อ เป็นหนี้เรื่องการเผยแพร่คำสอนของตนแก่เม่งจื๊อแล้ว ก็ต้องถือว่าเล่าจื๊อ เป็นหนี้ในเรื่องการเผยแพร่คำสอนของตนแก่จวงจื๊อ นักปรัชญาผู้มีจินตนาการอันลึกลับด้วยเช่นเดียวกัน จวงจื๊อ เป็นบุคคลที่มีบุคลิกภาพน่านิยมและปราดเปรื่องที่สุดคนหนึ่งในบรรดานักปรัชญาทั้งหลายของจีน เขาน่าจะเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากกว่าที่เป็นอยู่ ในปัจจุบันนี้มาก ถ้าหากว่าไม่มีอิทธิพลของปรัชญาขงจื๊ออยู่ จวงจื๊อเป็นผู้ยึดมั่นในคำสอนของปรัชญาเต๋าโดยถือว่าเต๋าเป็นหัวใจของทุกสิ่งทุกอย่าง ยิ่งกว่านั้นเขาได้ขยายปรัชญาเต๋าออกไปอย่างกว้างขวางชนิดที่แม้แต่ เล่าจื๊อก็ไม่เคยคิดฝันมาก่อน ปรัชญาของจวงจื๊อยกย่องสภาพของธรรมชาติเป็นอุดมคติและสนับสนุนความเป็นอิสระของบุคคล โดยไม่ต้องอยู่ในบังคับของสิ่งใด ปรัชญาของเขาต่อต้านกับสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นและสถาบันต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น
และสถาบันต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นทั้งหมดในขั้นสูงสุดแล้ว ปรัชญาของจวงจื๊อ ปฏิเสธผลงานทุกอย่างที่อารยธรรมสร้างขึ้นทั้งหมด

ชีวิตและคำสอน
จวงจื๊อ มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า จวงเจา (Chuang Chou) เกิดประมาณปี 369 และมรณะประมาณปี 286 ก่อน ค.ศ. เป็นนักปรัชญาเต๋าที่ปราดเปรื่องที่สุด ในสมัยต้นของปรัชญาเต๋า เขาได้รับการยกย่องนับถือในเรื่องสติปัญญาอันลึกซึ้ง ลีลาของภาษาอันสวยงามและบุคลิกภาพอันน่ายกย่อง ด้วยเหตุนี้ จึงมีเรื่องนิยายนานาชนิดเกิดขึ้นเกี่ยวกับชีวิตของเขา แม้กระทั่งว่าเขาเป็นผู้ที่สามารถกระทำปาฏิหาริย์ต่างๆ ได้ นิยายอันเหลือเชื่อต่างๆ เกี่ยวกับตัวเขานั้น ดูเหมือนจะเกิดขึ้น จากข้อความที่มีลักษณะขัดแย้งกับความจริง (paradox) ที่มีปรากฏในบทนิพนธ์ของเขา

เรื่องราวในชีวิตของเขาไม่มีผู้ใดรู้เรื่องมากนัก เขาเป็นชาวเมืองของแคว้นเหม็ง (Meng) ซึ่งเป็นแคว้นเล็กๆ อยู่ระหว่างเขตแดนของมณฑลชานตุง (Chantung) และมณฑลโฮนัน (Honan) ในปัจจุบันเขาดำรงตำแหน่งราชการเล็กๆ ในแคว้นกำเนิดของเขาอยู่ชั่วระยะเวลาสั้นๆ ระยะหนึ่ง  แต่เนื่องจากเขามีทรรศนะเป็นนักธรรมชาตินิยม จึงไม่สามารถจะปรับตัวให้เข้ากับชีวิตในทางการเมืองของสังคมได้ เขามีความรังเกียจชีวิตที่ระส่ำระสายของยุคสมัยนั้นเป็นอย่างมากจนเขาปลีกตัวออกไปจากสังคม และดำรงชีวิตอยู่อย่างวิเวกสันโดษ มีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งจวงจื๊อนั่งตกปลาอยู่ที่แม่น้ำผู่ (P’u) มีมหาดเล็กสองคนนำพระราชสาส์นของพระเจ้าแผ่นดินแห่งแคว้นฉู๋ (Ch’u) มาเชิญเขาไปเป็นมหาอุปราชของแคว้นฉู๋ แต่จวงจื๊อปฏิเสธ กล่าวว่า เขาพอใจที่จะเป็นเต่ากระดิกหางเล่นอยู่ในโคลนที่มีชีวิต มากกว่าจะเป็นเต่าตายที่ไร้ชีวิตที่ถูกเก็บอยู่ในหีบทอง อยู่ในปราสาทเทพบิดรของกษัตริย์

จวงจื๊อทิ้งคำสอนของเขาไว้เป็นมรดกสืบต่อมาในบทนิพนธ์ที่มีชื่อตามชื่อของเขา หนังสือเล่มนี้มีลีลาของภาษาเป็นเลิศและเต็มไปด้วยสำนวนภาษาอันงดงาม บทนิพนธ์จวงจื๊อตามที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ประกอบด้วยข้อความสามสิบสามบท ซึ่งรวบรวมขึ้นโดย กว๋อ เซียง (Kuo Hsiang) ซึ่งเป็นอรรถกถาจารย์คนสำคัญของบทนิพนธ์จวงจื๊อ มีชีวิตอยู่ในศตวรรษที่สามของ ค.ศ. เนื่องจากในหนังสือนี้มีข้อความซ้ำๆ กัน และข้อความที่สอดแทรกเข้ามามากแห่ง จึงทำให้เกิดข้อถกเถียงกันอย่างมากมายว่า ข้อความตอนใดเป็นส่วนที่จวงจื๊อเป็นคนเขียน และข้อความใดที่เขาไม่ได้เขียน แต่อ้างว่าเป็นข้อความของจวงจื๊อ แต่ข้อความทั้งหมดในทุกบทแสดงถึงทรรศนะธรรมชาตินิยมของปรัชญาเต๋าทั้งสิ้น ถึงแม้ว่าจะเป็นข้อความที่จวงจื๊อไม่ได้เขียนเองทั้งหมดก็ตาม บทนิพนธ์ของจวงจื๊อนั้นแสดงถึงทรรศนะปรัชญาของจวงจื๊อ ที่พอจะแบ่งออกได้เป็นสามส่วนคือ อภิปรัชญา จริยศาสตร์ และทฤษฎีแห่งความรู้

ที่มา:สกล  นิลวรรณ