ตำนานของพระนารายณ์

Socail Like & Share

พระนารายณ์

นารายณ์, พระ
นาหราย นารายณ์
ถ้าใครดูหนังแขกพากย์ไทย เราก็จะได้ยินคำนี้อยู่เสมอละ
พระนารายณ์ หรือพระวิษณุ เป็นหนึ่งในพระเป็นเจ้าทั้งสมม อันได้แก่ พระพรหมา พระศิวะ และพระวิษณุ แต่เทพองค์ใดจะเป็นใหญ่กว่ากันนั้นสับสนจริงๆ ครับ พลอยทำให้เรื่องอื่นๆ เช่นเรื่องกำเนิดของพระเป็นเจ้าทั้งสามแตกกอไปเยอะ เรื่องนี้ผมจะขอนำไปกล่าวไว้ในเรื่อง พระพรหมา นะครับ แต่ก็เล่ายาวหน่อยละ ให้สมกับความสำคัญของพระเป็นเจ้าทั้งสาม คุณต่วยคงอนุญาตนะครับ ถ้าเขียนสั้นๆ สรุปเอาก็ไม่สมกับหนังสอื ต่วย’ตูน เท่านั้น แล้วก็เรื่องนี้เป็นเรื่องน่ารู้ น่าศรัทธา ทั้งในวรรณคดีไทยก็นำมากล่าวถึงบ่อยด้วยนะ
“โอมสิทธิสรวงศรีแกล้ว แผ้วมฤตยู เอางูเป็นแท่น แกว่นกลืนฟ้ากลืนดิน บินเอาครุฑมาขี่ สี่มือถือสังข์จักรคทาธรณี ภิรุกอวตาร อสูรแลงบาญทัก ททัคนีจรนาย”

เป็นบทสรรเสริญพระนารายณ์ ผมคัดมาจากลิลิตโอบการแช่งน้ำ ใจความบอกบุคลิกลักษณะของพระนารายณ์ได้ชัดเจนทีเดียวละ
ในหนังสือรำพันพิลาป ของสุนทรภู่ ก็มีว่า
“ขอเดชะพระนารายณ์อยู่สายสมุทร     พระโพกภุชงค์เฉลิมเสริมพระเศียร
มังกรสอดประสานสังวาลย์เวียน    สถิตเสถียรแท่นมหาวาสุกรี
ทรงจักรสังข์ทั้งคทาเทพาวุธ        เหยียบบ่าครุฑเที่ยวทวาทศราศี
ขอมหาอานุภาพปราบไพรี        อย่าให้มีมารขวางระคางระคาย”

ครับ ก็พรรณาถึงองค์พระนารายณ์เช่นเดียวกัน

คำว่า “นารายณ์” ท่านว่ามาจาก “นร” แปลว่า น้ำ “อายน” แปลว่า กระดิก สนิกันเป็นนารายณ์แปลว่า ผู้กระดิกในน้ำ ที่ได้ชื่อเช่นนี้ก็เพราะว่าพระนารายณ์เวลาทรงสร้างโลกก็สร้างในน้ำ บรรทมก็บรรทมในน้ำ ที่ว่าสร้างโลกนั้นที่จริงก็ยังเป็นปัญหาอยู่ ผมจะกล่าวในเรื่องพระพรหมาอีกทีครับ เพราะเทพทั้ง ๓ องค์นั่นแหละ ไม่ทราบแน่ชัดหรอกว่าเทพองค์ใดเป็นผู้สร้างโลกกันแน่

ถึงแม้ผมคิดจะเล่าเรื่องความเป็นเลิศ ของพระเป็นเจ้าทั้ง ๓ ไว้ในเรื่องพระพรหมา แต่จำเป็นต้องเอ่ยถึงตรงนี้สักนิด บรรดาผู้ที่นับถือพระนารายณ์เป็นใหญ่นั้น เรียกว่า ไวษณพนิกาย และถ้าจะว่าไปพระนารายณ์เป็นที่นับถือว่าเป็นใหญ่ในหมู่ชาวอินเดียกันมาก จะเห็นว่าที่ประเทศอินเดีย เทวสถานอันเป็นที่บูชาพระนารายณ์นั้นมีมากกว่าเทวสถานที่บูชาเทพองค์อื่นๆ ผู้ที่ศรัทธาแห่งองค์พระนารายณ์จะได้กุศลสำคัญอย่างหนึ่งดังข้อความในลิลิตโองการแช่งน้ำที่ผมคัดไว้ตอนต้น คือ “แผ้วมฤตยู” ก็หมายถึงผู้ที่มีความศรัทธามั่นอยู่ในพระนารายณ์นั้น จะพ้นจากอำนาจของพระยม คือรอดพ้นจากความตาย ก็มีใครอยากตายบ้างล่ะครับ ผมเองเขียนเรื่องนี้ก็พยายามเลี่ยงภาษาที่จะเป็นกันเองกับผู้อ่านอยู่เหมือนกัน กลัวเหมือนกันนี่นา

หน้าที่ของพระนารายณ์คือพิทักษ์โลก สงวนโลกปราบทรชนเหมือนรัฐมนตรีมหาดไทย เมื่อโลกเกิดยุคเข็ญพระนารายณ์ก็จะเสด็จลงมาปราบ ซึ่งเรียกว่า “อวตาร” อย่างที่เราทราบก็เรื่องรามเกียรติ์ ก็เป็นเรื่องพระนารายณ์อวตารลงเป็นพระรามปราบทศกัณฐ์ละ การอวตารแต่ละครั้งเรียกว่า “ปาง” ส่วนจำนวนปางในคัมภีร์ปุราณะต่างๆ ก็ไม่แน่นอน บ้างก็ว่า ๑๐ ปาง บ้างก็ว่า ๒๔ ปาง บ้างก็ว่านับไม่ถ้วน แต่ที่สำคัญๆ ก็มี ๑๐ ปางที่เราเรียกว่า “นารายณ์สิบปาง” เทียบกับพุทธศาสนาก็เห็นจะตรงกับคำว่า “ชาดก” ซึ่งก็หมายถึงเรื่องราวของพระพุทธองค์ในพระชาติต่างๆ ที่ทรงบำเพ็ญเพียรบารมีต่างๆ ก่อนที่จะทรงตรัสรู้ ชาดกนั้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายร้อยเรื่อง แต่เรื่องที่สำคัญก็มี ๑๐ เรื่อง เรียกว่า “ทศชาติชาดก” ใน ๑๐ ปางของพระนารายณ์นั้น ปางที่สำคัญก็คือปางที่อวตารเป็นพระราม ส่วนใน ๑๐ ชาดกของพระพุทธเจ้านั้น ชาดกที่สำคัญที่สุดก็ตอนที่เสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร
นารายยณ์ ๑๐ ปาง จะขอกล่าวเฉพาะปางต่างๆ ไว้เท่านั้น
๑. มัตสยาวตาร เป็นปลา
๒. กูรมาวตาร เป็นเต่า
๓. วราหาวตาร เป็นหมู
๔. นรสิงหาวตาร เป็นนรสิงห์ (ครึ่งคนครึ่งสิงห์)
๕. วามนาวตาร เป็นพราหมณ์เตี้ย
๖. ปรศุรามาวตาร  เป็นพราหมณ์ถือขวาน
๗.  รามาจันทราวตาร  เป็นพระราม
๘.  กฤษณาวตาร  เป็นท้าวกฤษณะ
๙. พุทธาวตาร  เป็นพระพุทธเจ้า
๑๐. กัลกยาวตาร  เป็นพระกัลกิ (ซึ่งจะมาในตอนปลายกลียุค)

พระนามของพระนารายณ์กล่าวกันว่ามีถึงพัน ในที่นี้ขอนำมากล่าวเฉพาะที่หาได้
ไวกูณฐนาถ แปลว่า จอมไวกูณฐ์
เกศวะ  แปลว่า มีผมอันงาม
มัธวะ  แปลว่า ประกอบด้วยน้ำผึ้ง หรือเกิดแต่มธุ
สวยยมภู แปลว่า เกิดเอง
ปิตามวร, ปิตามพร แปลว่า นุ่งเหลือง
ชนรรทนะ แปลว่า ผู้ทำให้คนไหว้
วิษวัมวร, วิษวัมพร  แปลว่า ผู้คุ้มครองโลก
หริ แปลว่า ผู้สงวน
อนันตะ แปลว่า ผู้ไม่มีที่สุด
มุกุนทะ แปลว่า ผู้ช่วย
บุรุษ แปลว่า ชาย
บุรุโษตตม, บุรุโษตม แปลว่า ยอดชาย
ยัญเญศวร  แปลว่า เป็นใหญ่เหนือการบูชา
อัจยฺต, อจุตตะ  แปลว่า ไม่มีเสื่อม
อนันตะไศยนะ แปลว่า นอนบนหลังอนันตนาค
จัตุรภุช  แปลว่า สี่แขน
ชลไศยิน  แปลว่า นอนในน้ำ
ลักษมีปติ  แปลว่า สามีพระลักษมี
มธุสูธน  แปลว่า  ผู้สังหารมธุ (อสูร)
ปัญจายุธ, ปัญจาวุธ  แปลว่า  ผู้ถืออาวุธ ๕ อย่าง
ปัทมนาภ  แปลว่า  สะดือบัว
ศารนคิน, ศารนคิปาณี  แปลว่า  ผู้ถือศรศารนาคะ
จักรปาณี  แปลว่า  ถือจักร
นระ  แปลว่า  คน

พระนารายณ์มี ๔ กร ทรงถือสิ่งต่างๆ ๕ อย่าง จึงได้นามว่า “ปัญจาวุธ” ดังที่ลิลิตโองการแช่งน้ำว่า “สี่มือถือสังข์จักรคทาธรณี” ซึ่งนับได้ก็มี ๕ อย่าง คือ
๑. สังข์ สังข์นี้ชื่อว่า “ปาญจะชันยะ”
๒. จักร มีชื่อว่า สุทรรศนะ หรือ วัชรนาภ
๓. คทา มีชื่อว่า เกโมทที
๔. ธรณี มักทำเป็นดอกบัว เพราะพราหมณ์มักเปรียบแผ่นดินดังดอกบัวหลวง

นอกจากอาวุธ ๔ อย่างนี้แล้ว พระนารายณ์ยังมีธนูและพระขรรค์อีก ธนูชื่อ ศารนคะ (แปลว่าทำด้วยเขาสัตว์) พระขรรค์ชื่อว่า นนทกะ (แปลว่าชื่นใจ)

พาหนะของพระนารายณ์ก็คือครุฑ เรื่องนี้มีประวัติครับ แล้วก็สนุกด้วย ขอเก็บมาเล่าย่อๆ ก็แล้วกันนะ

ครั้งหนึ่งนางกัทรุซึ่งเป็นแม่นางนาค กับนางวินตาซึ่งเป็นแม่ของครุฑ ทั้งสองนี้เป็นชายาของพระกัศยปเทพบิดร นางทั้งสองได้พนันกันในเรื่องสีของม้าของพระอาทิตย์ว่าเป็นสีอะไรแน่ นางกัทรุว่าสีดำ นางวินตาว่าสีขาว (บางตำนานว่าสีแดง และบางตำนานก็ว่าพนันกันในเรื่องสีของม้าที่ผุดขึ้นจากเกษียรสมุทร เมื่อครั้งเทวดากวนน้ำอมฤต) นัยว่านางกัทรุใช้เล่ห์กลให้นาค บุตรของตนไปพ่นพิษใส่ม้าพระอาทิตย์จนเป็นสีดำ นางวินตาจึงตกเป็นทาสของนางกัทรุตามกติกาที่พนันกัน ครุฑต้องการช่วยเหลือแม่ของตนก็ต้องไปเอาน้ำอมฤตที่อยู่ในพระจันทร์ ระหว่างทางที่ครุฑบินไปยังพระจันทร์นั้นมีเรื่องฝอยไปอีก แต่จะเก็บมาย่อเฉพาะตอนเดียวเพื่อให้เห็นว่าครุฑนี่เก่งจริงๆ คือ ครุฑเห็นเต่ากับช้างต่อสู้กัน เต่าตัวยาว ๘๐ โยชน์ ช้างยาว ๑๖๐ โยชน์ ครุฑใช้เท้าคีบช้างและเต่าไปกินได้อย่างสบาย

เอาเป็นว่าในที่สุดครุฑก็ได้น้ำอมฤตสมใจ แต่ว่าตอนกลับนี่สิ ครุฑต้องต่อสู้กับเทวดาอีก แต่ก็เอาชนะได้จนในที่สุดต่อสู้กับพระนารายณ์ เสมอกันครับ มีข้อตกลงกันว่า เมื่อพระนารายณ์เสด็จไปไหน ครุฑจะต้องให้ขี่ไป เมื่อพระนารายณ์เสด็จประทับที่ใด ครุฑจะต้องเกาะอยู่ใกล้ๆ

นี่ละครับ ประวัติพาหนะของพระนารายณ์ละ

ตรงนี้ แทรกความรู้รอบตัวสักนิด อดไม่ได้ครับ ตามคติพราหมณ์นั้นถือว่าพระนารายณ์อวตารลงมาเป็นกษัตริย์ เพื่อปราบยุคเข็ญแผ่นดิน บำรุงสุขประชากร เป็นอย่างไตรภูมิพระร่วงซึ่งเป็นคติทางศาสนา ก็แบ่งเทพเป็นสามคือ
๑. สมมุติเทพ ได้แก่ พระมหากษัตริย์

๒. วิสุทธิเทพ ได้แก่ พระอรหันต์
๓. อุบัติเทพ ได้แก่ เทวดาทั้งหลาย

ฉะนั้นเราจะเห็นว่า เมื่อพระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปที่ใดหรือประทับที่ใด ก็ต้องอัญเชิญธงมหาราช และธงมหาราชนี่ก็มีรูปครุฑอยู่ด้วย

ในข้อสัญญาระหว่างครุฑกับพระนารายณ์นั้น คือพระนารายณ์ประทานน้ำอมฤตให้ และประทานพรให้จับนาคกินเป็นอาหารได้ ในวรรณคดีไทยหลายเรื่องละครับ พรรณนาถึงครุฑจับนาคอยู่เสมอ

“เรือครุฑยุดนาคหิ้ว ลิ่วลอยมาพาผันผยอง”

จากกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้ากุ้ง ซึ่งเป็นแบบเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ก็เลยขอฝอยเรื่องนี้ให้สนุกกันหน่อยละ เพราะวิธีครุฑจับนาคกินมีเชิงไหวเชิงพริบดีแท้ คือครุฑน่ะตัวใหญ่ออก ในไตรภูมิพระร่วงบอกว่าตัวหัวหน้า ตัวโต ๕๐ โยชน์ แผ่หางกางปีกวัดได้ข้างละ ๕๐ โยชน์ ปากยาว ๙ โยชน์ ตีนยาว ๑๒ โยชน์ แรงลมจากปีกก็เหมือนพายุเข้าไปแล้ว น้ำจึงเป็นรอยบุ๋ม ข้างๆ นูนขึ้น ครุฑก็เห็นนาคลอยอยู่ ครุฑก็ใช้เท้าจับหัวนาคไปกิน นาคก็เกือบจะสูญพันธุ์ ก็ต้องพากันสัมมนากันเรื่องมหาภัยนี้ มีมติว่า เมื่อจะไปไหนก็ให้คาบก้อนหินโตๆ ไว้ เมื่อครุฑกระพือปีก แล้วจับหัวนาค ตอนนี้หัวนาคก็หนักซิครับ ครุฑก็ไม่สามารถที่จะพานาคบินสู่เบื้องบนนภากาศได้ทันท่วงที น้ำที่ไหลนูนอยู่ช้าๆ ก็ไหลกลับมาตามเดิม ครุฑว่ายน้ำไม่เป็นก็จมน้ำตาย ครุฑก็ทำท่าจะสูญพันธุ์ ก็จัดให้มีการสัมมนากันบ้าง แก้ปัญหาได้ครับ คือแทนที่จะใช้เท้าจับหัวนาคก็มาจับที่หางนาค ก็นาคตัวออกยาวนี่ แม้น้ำจะไหลกลับ ครุฑก็อยู่พ้นน้ำแล้วนี่ นาคเองก็กลายเป็นลำบากเพราะแรงดึงแรงถ่วง แรงดึงจากครุฑแรงถ่วงจากก้อนหินที่หัวห้อยคาบอยู่ สายตัวแทบขาดละ ในที่สุดก็ต้องปล่อยก้อนหิน ครุฑจึงจับนาคไปกินได้อย่างสบาย ในเรื่องพระอภัยมณีของสุนทรภู่จึงให้นาคไปอยู่ในทะเลไกลพู้น

“ทะเลนี้มิใช่แคว้นแดนมนุษย์ ปรอทแร่แม่เหล็กก็มีมาก ชื่อว่า นาควารินสินธุ์สมุทร ฝูงนาคมาอาศัยด้วยไกลครุฑ”

ส่วนครุฑได้น้ำอมฤตไปนั้น นาคก็ไม่ได้กินหรอกครับ คือครุฑ พระอินทร์และพระแม่ธรณีนัดแนะวางอุบายกัน คือครุฑเอาน้ำอมฤตไปวางไว้บนหญ้าคา แล้วรับแม่ของตนไป บรรดานาคก็เลื้อยไปหวังจะดื่มน้ำอมฤต พระอินทร์ซึ่งหายตัวอยู่ก็ปัดน้ำอมฤติหก แม่พระธรณีก็รีบดูดจนหมด ฝูงนาคยังเสียดาย ก็เลยใช้ลิ้นเลียหญ้าคา หญ้าคาก็บาดลิ้นจนกลายเป็นลิ้นสองแฉก ฉะนั้นบรรดางูซึ่งถือกันว่ามีบรรพบุรุษเป็นนาคก็เลยมีลิ้นเป็น ๒ แฉก อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่นี่ละครับ

เป็นอันว่าพระนารายณ์มีครุฑเป็นพาหนะ มีพระยาอนันตนาคราชเป็นบัลลังก์ มีที่สถิตเรียกว่า ไวกูณฐ์ (ซึ่งโดยปกติพระวิษณุทรงบรรทม ณ ที่ประทับนี้อยู่เป็นนิจ) ณ เกษียรสมุทร (ทะเลน้ำนม) รูปพระนารายณ์เขียนกันเป็นบุรุษหนุ่ม พระวรกายเป็นสีดำ (เรื่องสีเดี๋ยวจะกล่าวต่อครับ) เครื่องประดับอย่างกษัตริย์ เสื้อทรงสีเหลืองมีสี่กร ทรงศัตราวุธต่างๆ ดังที่กล่าวแล้ว มีแก้วทับทรวงชื่อ เกาสตุ๊ก มีวลัยแก้วชื่อ สยมันตก

พระยาอนันตนาคราชเป็นใหญ่ในแคว้นบาดาล มีศีรษะ ๑ พัน ท่านว่าเป็นผู้หนุนโลกไว้ เมื่อพลิกตัวหรือกระดิกหางจะทำให้แผ่นดินไหว (บางตำนานว่าปลาอนนต์หนุนโลก และพลิกตัวทำให้แผ่นดินไหว) ส่วนไวกูณฐ์นั้นเป็นทองทั้งแผ่น กว้างแปดหมื่นโยชน์ วิมานล้วนแล้วไปด้วยรัตนะ เสาและช่อฟ้าใบระกาเป็นเพชรพลอย ส่วนพังพานแห่งพระยาอนันตนาคราชนั้นเรียกว่า มณีทวีป กล่าวกันว่าเมื่อสิ้นกัปสิ้นกัลป์ พระยาอนันตนาคราชนี่แหละที่พ่นไฟล้างโลก

พระลักษมีชายาแห่งพระนารายณ์นั้น ประทับอยู่เบื้องขวาแห่งวิมานไวกูณฐ์ นัยว่าพระกายของพระลักษมีนั้นมีกลิ่นหอมดังดอกบังหลวง และหอมฟุ้งไปไกลได้ถึงแปดร้อยโยชน์

สีพระกายของพระนารายณ์นั้นเปลี่ยนไปตามยุคครับ เรื่องยุคนี่ผมเห็นจะต้องเล่าอีกแล้วละครับ เพราะศัพท์นี้ปรากฎในวรรณคดีไทยหลายต่อหลายเรื่องรู้ไว้บ้างจะเป็นไรไป เผื่อผู้อ่านเป็นนักเรียนจะได้พลอยเข้าถึงวรรณคดีที่ต้องอดทนเรียนอยู่

กำหนดยุคของโลกตามลัทธิพราหมณ์นั้นมี ๔ ยุค ในยุคหนึ่งๆ มีเวลาซึ่งเรียกว่า “สนธยา” (พลบ) กับ “สนธยางศะ” (ส่วนแห่งพลบ) ยุคทั้ง ๔ มีดังนี้
๑. กฤตยุค      ๔,๐๐๐ ปีสวรรค์
สนธยา                ๔๐๐ ปีสวรรค์
สนธยางศ์            ๔๐๐ ปีสวรรค์
รวม                 ๔,๘๐๐ ปีสวรรค์

๒. ไตรดายุค (หรือเตรดายุค)
สนธยา            ๓,๐๐๐ ปีสวรรค์
สนธยางศ์           ๓๐๐  ปีสวรรค์
รวม                ๓,๖๐๐ ปีสวรรค์

๓.  ทวาปรยุค    ๒,๐๐๐ ปีสวรรค์
สนธยา                  ๒๐๐ ปีสวรรค์
สนธยางศ์              ๒๐๐ ปีสวรรค์
รวม                    ๒,๔๐๐ ปีสวรรค์

๔.  กลียุค           ๑,๐๐๐ ปีสวรรค์
สนธยา                   ๑๐๐ ปีสวรรค์
สนธยางศ์               ๑๐๐ ปีสวรรค์
รวม                     ๑,๒๐๐ ปีสวรรค์

ปีสวรรค์กับปีมนุษย์ต่างกันนะครับ เห็นจะต้องใช้มาตราแล้วเทียบบัญญัติไตรยางศืตามวิชาเลขคณิตแล้วละครับ

มาตราส่วนนั้นมีดังนี้ครับ
๑ ปีมนุษย์ = ๑ วันวรรค์
๑ ปีมนุษย์นั้นมี ๓๖๐ วัน นี่นับทางจันทรคตินะครับ โบราณเขานับทางจันทรคติกันมาก ฉะนั้นอย่าไปถือว่า ๑ ปีมี ๓๖๕ วัน อย่างที่นักเรียนท่องๆ กันอยู่ เพราะนี่เป็นการนับทางสุริยคติ

ทีนี้ลองคิดเลขกันเองก็แล้วกัน ผมจะสรุปเลยว่า
กฤตยุค มี ๔,๘๐๐ ปีสวรรค์ = ๑,๗๒๘,๐๐๐ ปีมนุษย์
ไตรดายุค มี ๓๖,๐๐๐ ปีสวรรค์ = ๑,๒๙๖,๐๐๐ ปีมนุษย์
ทวาปรยุค มี ๒,๔๐๐ ปีสวรรค์ = ๘๖๔,๐๐๐ ปีมนุษย์
กลียุค มี ๑,๒๐๐ ปีสวรรค์ = ๔๓๒,๐๐๐ ปีมนุษย์
สี่ยุครวมกันได้ ๑๒,๐๐๐ ปีสวรรค์ หรือ ๔,๓๒๐,๐๐๐ ปีมนุษย์ เรียกว่า ๑ มหายุค

๑,๐๐๐ มหายุค เป็น ๑ วันของพระพรหมา หรือคืนหนึ่งของพระพรหมา คือกลางวันและกลางคืนนานเท่ากัน

๑ วันของพระพรหมา เรียกว่า ๑ กัลป์ หรือ ๑ กัป ซึ่งหมายความว่า พระพรหมาสร้างโลก แล้วก็บรรทมหลับไปคืนหนึ่งของพระพรหมา แล้วก็ตื่นซึ่งก็เป็นเวลาที่ดลกสิ้นสลาย พระพรหมาก็สร้างอีกนั่นแหละ

ก็เห็นแล้วนะครับ ว่า ๑ กัลป์นานเท่าไร สองคูณกันเองเถอะ
เรื่องนี้ก็มีในพุทธศาสนา ซึ่งมีอยู่ในเรื่อง ไตรภูมิพระร่วง ซึ่งแน่นอนเนื้อเรื่องออกจะมีคติทางพราหมณ์เข้าไปเคล้าด้วย แล้วก็เรื่องไตรภูมิพระร่วงนี้ อ่านเข้าใจยากชะมัด ภาษาสำนวนลีลาเก๋ากึ๊กจริงๆ ผมต้องอาศัยเล่าเรื่องไตรภูมิพระร่วงของเสถียรโกเศศช่วย พอจะจับเค้าได้อยู่หรอก

เริ่มกันตั้งแต่คำว่า มหากัป ซึ่งถือว่ามีความนานเหลือที่จะนั่งนับหรือนอนนับได้ ถือเป็นระยะเวลาระหว่างที่ดลกธาตุหรือสากลจักรวาลเกิดและทำลายไปคราวหนึ่งๆ นี่ก็เหมือนคติทางพราหมณ์ ทีนี้มหากัปนั่นแหละ แบ่งออกเป็น ๔ อสงไขย (แปลว่าเหลือที่จะนับ) อสงไขยที่ ๑ คือระยะเวลาตอนที่โลกถึงแก่ความประลัยไปเพราะไฟน้ำลมมาล้างให้หมดสิ้นไป อสงไขยที่ ๒ ถึงระยะเวลาที่โลกธาตุทลายพินาศแล้ว ยังมีแต่ความว่างเปล่าอยู่ อสงไขยที่ ๓ เป็นระยะเวลาที่โลกธาตุเกิดใหม่ อสงไขยที่ ๔ คือ ระยะเวลาที่โลกธาตุมีขึ้นจนกว่าจะถึงเวลาทลายอีก

เวลานานของ ๑ มหากัป ท่านเล่นวิธีอุปมาให้เรานึกเอาเอง คือกล่าวว่าภูเขาลูกหนึ่งสูงได้โยชน์หนึ่ง วัดโดยรอบได้ ๓ โยชน์ “ถึงร้อยปีเอาผ้าทิพย์อันอ่อนบางดังควันมากวาดภูเขาแต่ละคาบ เมื่อใดภูเขานั้นราบดังแผ่นดินจึงเรียกว่ามหากัปหนึ่งแล” เรื่องเล่นเทียบกันเชิงให้นึกเอาเองนี่ของฝรั่งก็มี เช่นกล่าวว่า “สูงไกลไปทางทิศเหนือ ในแดนแห่ง Svithjod มีภูเขาหินอยู่เขาหนึ่ง สูงได้ ๑ ร้อยไมล์ กว้างได้ ๑๐๐ ไมล์ ทุกระยะพันปีมีนกน้อยตัวหนึ่งเอาจงอยปากมาลับที่เขานี่ครั้งหนึ่ง ถ้าหินนั้นสึกหรอไปจนหมดสิ้น ก็เท่ากับวันหนึ่งของกัปหนึ่ง (single day of eternity)”

แต่ก็มีนักบรมปราชญ์ช่างเล่น มานั่งคิดเป็นจำนวนปีเหมือนกัน นัยว่าได้ ๑ อสงไขยกัป = เลขหนึ่ง ๑ ตัว มีเลขศูนย์ตาม ๑๗ ตัว แต่ก็ยังมีคนอุตส่าห์ไม่เห็นด้วยอีกแน่ะ บอกว่าต้องตามด้วยเลขศูนย์อีก ๙๗ ตัว และบางคนก็ว่าตามด้วย ๑๖๘ ตัว จึงจะถูกต้องถ่องแท้ ส่วนในปทานุกรม ภาษาบาลี-อังกฤษของชิลเดอร์ว่า มีเลขศูนย์พ่วงถึง ๑๔๐ ตัว

ก็แปลกันดื้อๆ ว่า นานเหลือคณานับกันเท่านั้นเอง เมื่อมีใครกระซิบเสียงกระเส่าว่า ฉันรักเธอชั่วกัปชั่วกัลป์ จะเชื่อไหวหรือ หมอนั่นตายแล้วเกิดไม่รู้กี่ชาติกันละ

นอกจากนี้ ในทางพุทธศาสนาตามไตรภูมิพระร่วงน่ะ ยังว่าแปลกไปอีกวิธีหนึ่ง คือมี
สุญกัป คือ กัปว่างไม่มีพระพุทธเจ้ามาตรัส และ พุทธกัป คือกัปที่มีพระพุทธเจ้ามาตรัส และในพุทธกัปนี่เองมีดังนี้
สารกัป มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๑ องค์ คือ พระพุทธโกณฑัญญ
มัณฑกัป มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๒ องค์ คือ พระติสสสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระพุทธปุสส
วรกัป  มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๓ องค์ คือ พระพุทธอโนมทัสสี พระธรรมทัสสี และพระปิยทัสสี
สารมณฑกัป  มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๔ องค์ คือ พระตัณหังกร พระเมธังกร พระสรณังกร และพระทีปังกร
ภัทรกัป  มีพระพุทธเจ้ามาตรัส ๕ องค์ มีพระพุทธเจ้ามาตรัสแล้ว ๔ องค์ คือ พระกกุสันโธ พระโกนาคมน์ พระกัสสป พระสมณโคดม (คือในปัจจุบันนี้) และจะมาตรัสภายหน้าคือ พระศรีอาริยเมตตรัย

ภัทรกัปน่ะ มีความนานถึง ๒๓๖ ล้านปี แต่นี่ก็ล่วงมาแล้ว ๑๕๑ ล้านปี (ภัทรกัปก็ต้องหมายถึงระยะเวลาของพระพุทธเจ้าทั้ง ๕ พระองค์นะ เฉพาะพระสมณโคดม ทางคัมภีร์ว่ามีระยะเวลา ๕,๐๐๐ ปีเท่านั้น)

ว่าถึงลัทธิพราหมณ์ต่อไป เทียบกันไปเทียบกันมาด้วยตัวเลขให้หัวหมุนเล่นดู ตอนนี้เป็นตอนภัทรกัป และเป็นสมัยพระสมณโคดมตามพุทธศาสนา ซึ่งตรงกับกลียุคในลัทธิศาสนาพราหมณ์ กลียุคนี้ ท่านว่าเริ่มตั้งแต่ ๒๕๖๐ ปีก่อนพุทธศักราชแล้ว ปีพุทธศักราชนี้ คือ พ.ศ. ๒๕๒๙ ก็แปลว่ากลียุคล่วงไปแล้ว ๒,๕๖๐+๒,๕๒๙=๕,๐๘๙ ปี กลียุคมี ๔๓๒,๐๐๐ ปี เพราะฉะนั้นก็เหลือเวลาอีก ๔๓๒,๐๐๐-๕,๐๘๙=๔๒๖,๙๑๑ ปี ซึ่งก็เป็นเวลาสิ้นโลกละครับ พระพรหมาก็สร้างโลกใหม่ ก็เหลือเวลาอีกหลายปีละครับ ประเทศไทยก็ยังคงอยู่ อย่าได้ห่วงกันนักเลยครับ

ที่ผมกล่าวถึงเรื่องยุคน่ะ ที่จริงก็มุ่งแทรกเกร็ดไว้เพราะในวรรณคดีไทยหลายสิบเรื่องพรรณนาเรื่องนี้แทรกอยู่เสมอ ผู้ที่เป็นนักเรียนอ่านเรื่องนี้จะได้ร้อง “อ๋อ” หรือ “โอย” ก็ไม่รู้ละ แต่ก็เกี่ยวข้องกับพระนารายณ์ครับ เพราะฉวีวรรณของพระนารายณ์เปลี่ยนไปตามยุคครับ คือเป็นดังนี้
๑. ยุคที่ ๑ กฤตยุค คนทำความดี มีศีลธรรม ถือความสัตย์ พระวรกายของพระนารายณ์มีสีขาวเพราะความบริสุทธิ์ย่อมจับพระฉวีวรรณ
๒. ยุคที่ ๒ ไตรดายุค ความดีของมนุษย์ลดลงไป ๑ ใน ๔ สีพระกายของพระนารายณ์จึงเป็นสีแดง
๓. ยุคที่ ๓ ทวาปรยุค ความดีของมนุษย์ลดไป ๒ ใน ๔ สีพระกายของพระนารายณ์จึงเป็นสีเหลือง
๔. ยุคที่ ๔ กลียุค ความดีของมนุษย์จะเหลือ ¼ สีพระกายของพระนารายณ์จึงเป็นสีดำ หรือสีดอกอัญชัน
ก็ปัจจุบันนี้ อยู่ในกลียุค สีพระกายของพระนารายณ์จึงมีสีดำอย่างที่ว่าไว้ละครับ
เป็นอันว่าก็ขอจบเรื่องเทพพระนารายณ์ละ

ที่มา:รองศาสตราจารย์ประจักษ์  ประภาพิทยากร