ฐานพระพุทธรูป

Socail Like & Share

ฐานที่เป็นเครื่องรองรับ เท่าที่เรารู้จักกันดีก็คือฐานรองรับพระพุทธรูป เพราะทุกแห่งที่มีโบสถ์วิหารจะต้องมีพระพุทธรูป และเมื่อมีพระพุทธรูปขนาดใหญ่ก็ต้องมีฐานไว้รองรับพระพุทธรูปอีกทีหนึ่ง การสร้างฐานรองรับพระพุทธรูปนั้นเป็นศิลปอย่างหนึ่งพอๆ กับการหล่อหรือสร้างพระพุทธรูปที่เดียวExif_JPEG_PICTURE

ที่ว่าการสร้างฐานพระพุทธรูปต้องมีศิลปพอๆ กับการสร้างพระพุทธรูปนั้น บางท่านอาจจะสงสัย เพราะไม่ได้คิดว่าฐานเป็นสิ่งสำคัญ ขอให้ท่านนึกถึงหัวแหวนกับวงแหวนก็แล้วกัน หัวแหวนนั้นเปรียบเหมือนพระพุทธรูป ส่วนวงแหวนนั้นเปรียบเหมือนฐานที่รองรับพระพุทธรูป ถึงหัวแหวนจะสวยงามสักเพียงใดก็ตาม ถ้าเรือนแหวนไม่งามไม่มีศิลปใน การทำเสียแล้ว ก็จะทำให้หัวแหวนหมดสง่าราศีไปมากทีเดียวเหมือนเทพธิดาหรือดอกฟ้าไปตกอยู่ในมือโจรอย่างไรก็อย่างนั้นฉันใดเรื่องแหวน ฉันนั้นเรื่องพระพุทธรูป

ท่านเคยสังเกตบ้างไหมว่า ฐานพระพุทธรูปนั้นเขาสร้างสูงต่ำโดยอาศัยหลักอะไร การสรางฐานพระพุทธรูปสูงต่ำขนาดไหน ก็ต้องอาศัยองค์พระพุทธรูปนั่นเองเป็นหลัก คือ ถ้าองค์พระพุทธรูปใหญ่เขาจะสร้างฐานให้ต่ำ เพื่อผู้ที่จะกราบไหว้บูชาจะได้มองเห็นพระพักตร์ หรือความมีสง่าของพระพุทธรูปได้ชัดเจน ถ้าพระพุทธรูปขนาดเล็ก เขาก็สร้างฐานพระพุทธรูปให้สูง ดูเหมือนพระพุทธรูปจะลอยเด่นอยู่กลางท้องฟ้านภากาศ ฉะนั้น ท่านที่เคยไปนมัสการพระพุทธชินราชจำลองที่วัดเบญจมบพิตรก็ดี หรือพระพุทธชินราชองค์เดิมที่จังหวัดพิษณุโลกก็ดี หรือไปนมัสการพระพุทธรูปที่วัดพนัญเชิง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาก็ดี คงจะเห็นว่าฐานพระพุทรรูปขนาดใหญ่เหล่านี้ล้วนแต่เตี้ยๆ ทั้งนั้น หรือถ้าท่านไปนมัสการพระแก้วมรกต ที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามในพระบรมมหาราชวังแล้ว ท่านจะเห็นว่าฐานที่รองรับพระแก้วมรกตนั้นสูงเด่น ดูเหมือนพระแก้วมรกตจะลอยอยู่ฉะนั้น ทั้งนี้ก็เพราะพระแก้วมรกตเป็นพระพุทธรูปขนาดเล็กนั่นเอง ถ้าสร้างให้ฐานต่ำก็จะหมดความเป็นสง่าลงไปมาก คือคนจะมองไม่ค่อยเห็นองค์พระนั่นเอง

พูดถึงรูปแบบของฐานก็มีอีกหลายแบบ ซึ่งผมเองก็ไม่ใช่ช่างจึงไม่สามารถที่จะอธิบายให้ท่านผู้อ่านฟังเข้าใจแจ่มแจ้งได้ แต่ฐานนั้นท่านผู้รู้อธิบายไว้ว่ามีอยู่ ๓-๔ อย่างคือ ฐานเขียง ได้แก่ฐานรองชั้นล่างสำหรับรองฐานอื่น มีหน้ากระดานและลวดท้องไม้ ฐานเชิงบาตร
คือฐานรูปเชิงบัวหน้ากระดาน ฐานปัทม์คือฐานบัวหน้ากระดานบัวควํ่าบัวหงาย ฐานปัทม์นี้ ท่านสุนทรภู่พรรณนาไว้ในนิราศพระบาทตอนชมมณฑปพระพุทธบาทตอนหนึ่งว่า

“พื้นผนังหลังบัวที่ฐานปัทม์    เป็นครุฑอัดยืนเหยียบภุชงค์ขยำ
หยิกขยุ้มกุมวาสุกรีกำ        กินนรรำรายเทพประนมกร

ใบระกาหน้าบันบนชั้นมุข    สุวรรณสุกเลื่อมแก้วประภัสสร
ดูยอดเยี่ยมเทียมยอดยุคนธร    กระจังซ้อนแซมใบระกาบัง
นาคสะดุ้งรุงรังกระดึงห้อย        ใบไพธิ์ร้อยระเรงอยู่เหง่งหงั่ง
เสียงประสานกังสดาลกระดึงดัง    วิเวกวังเวงในหัวใจครัน

ฐานอีกอย่างหนึ่งเรียกว่าฐานสิงห์    คือฐานรูปสมมุติจากสิงห์แบก ฐานแบบนี้ เข้าใจว่าเดิมทีจะทำเป็นรูปสิงห์แบกจริงๆ แต่ต่อมาเพื่อความสวยงามช่างจึงทำแต่เพียงเท้าสิงห์ หรือมีลักษณะของเท้าสิงห์เท่านั้น

ฐานที่ใช้เรียกแท่นนั้น ที่เก่าแก่ที่สุดก็เห็นจะได้แก่พระแท่นมนังคศิลาบาตรของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ซึ่งพระองค์ได้ให้ช่างทำขึ้นวางไว้ในดงตาลที่เมืองสุโขทัย ถ้าเป็นวันพระก็นิมนต์พระมานั่งเทศนาบนพระแท่นนี้ ถ้าไม่ใช่วันพระ พ่อขุนรามคำแหงก็ออกประทับให้ลูกเจ้าลูกขุนถือบ้านถือเมืองกัน ความในศิลาจารึกตอนนี้มีว่า

“๑๒๑๔ ศก ปีมะโรง พ่อขุนรามคำแหง เจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยนี้ ปลูกต้นไม้ตาลนี้ได้สิบสี่เข้า จึงให้ช่างฟันขะดารหินตั้งหว่างกลางไม้ตาลนี้ วันเดือนดับเดือนออกแปดวัน วันเดือนเต็มเดือนบ้างแปดวัน ฝูงปู่ครูเถรมหาเถร ขึ้นนั่งเหนือขะดารหินนี้สวดธรรมแก่อุบาสกฝูงท่วยจำศีล มิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัยขึ้นนั่งเหนือขะดารหิน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุนฝูงท่วยถือบ้านถือเมืองกัน………..ขะดารหินนี้ชื่อ มะนังคศิลาบาตร” พระแท่นมนังคศิลานี้เดี๋ยวนี้ประดิษฐานอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี