แท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์

Socail Like & Share

แท่นอีกอย่างหนึ่งซึ่งคนไทยเราได้ยินและซึมซาบกันดี ก็คือแท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์เทพเจ้าแห่งนครไตรตรึงห์หรือดาวดึงส์เมืองสวรรค์ ว่ากันว่าพระแท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์นั้นทำด้วยศิลาเหมือนกัน แต่แปลกประหลาดที่ว่าปรกติแล้ว พระแท่นนี้จะอ่อนนุ่ม คือฟุบลงเมื่อประทับนั่ง และฟูขนเมื่อพระอินทร์ได้ลุกไปแล้วคือมีลักษณะเป็นเหมือนเก้าอี้นวมหรือเก้าอี้มีสปริงแท่นบัณฑุกัมพลอย่างทุกวันนี้นั่นเอง แก่ถ้ามีเหตุการณ์ไม่ปรกติแล้ว พระแท่นนี้ก็จะแข็งกระด้าง เมื่อพระแท่นนี้แข็งกระด้างก็เป็นเหมือนเครื่องวัด หรือเครื่องเตือนสัญญาณให้พระอินทร์รู้ว่าต้องมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นแน่ และเหตุการณ์นั้นจะ สงบได้ก็ต้องโดยพระอินทร์ไปช่วยเหลือ ดังคำกลอนเรื่องสังข์ทองตอนตีคลีของเราตอนหนึ่งได้กล่าวถึงอาสน์ของพระอินทร์ไว้ว่า

“มาจะกล่าวบทไป            ถึงท้าวสหัสนัยไตรตรึงษา
ทิพย์อาสน์เคยอ่อนแต่ก่อนมา    กระด้างดังศิลาประหลาดใจ
จะมีเหตุมั่นแม้นในแดนดิน        อมรินทร์เร่งคิดสงสัย
จึงสอดส่องทิพย์เนตรดูเหตุภัย    ก็แจ้งใจในนางรจนา
แม้นมิไปช่วยจะม้วยมอด        ด้วยสังข์ทองไม่ถอดรูปเงาะป่า
จำจะยกพหลพลเทวา            ลงไปล้อมพาราสามลไว้

ชวนเจ้าธานีตีคลีพลัน            น้ำหน้ามันจะสู้ใครได้
จะขู่ให้งันงกตกใจ            ออกไปหาบุตรสุดท้อง
พระสังข์ครั้งนี้จะถอดเงาะ        งามเหมาะไม่มีเสมอสอง
พ่อตาจะได้เห็นเป็นรูปทอง        ทั้งทำนองเพลงคลีตีต่อยุทธ”

เห็นจะเพราะเรื่องสังข์ทองหรือเรื่องพระแท่นบัณฑุกัมพลของพระอินทร์บอกสา¬เหตุนี้เอง เราจึงมีคำพังเพยหรือสำนวนอยู่สำนวนหนึ่งว่า “ร้อนอาสน์’’ ใช้เมื่อข้าราชการผู้ใดหรือคนใดต้องย้ายตำแหน่งหน้าที่หรือย้ายที่อยู่อาศัยโดยที่จำเป็นไปว่าร้อนอาสน์

ฐานอีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเครื่องรับรองเหมือนกัน เรียกว่ารากฐาน คือการก่อสร้างสิ่งใดก็ตามที่ต้องการความมั่นคงถาวร จะต้องทำรากฐานให้แน่นหนาพอที่จะรองรับสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ได้ ไม่ให้ทรุดจนเกิดเหตุถูกฟ้องกันมีเรื่องมาแล้วทุกสมัย เพราะช่างหรือพวกผู้ควบคุมการก่อสร้างกินฐานเสียจนสิ่งก่อสร้างนั้นๆ ทรงตัวอยู่ไม่ได้ ต้องพังครืนลงมาฟ้องช่างหรือผู้ควบคุมมามากต่อมากแล้ว ยิ่งการก่อสร้างอาคารสมัยนี้ด้วยแล้วต้องก่อสร้างหลายชั้น ถ้ารากฐานไม่แข็งแรงแล้วมักจะพังครืนลงได้ง่ายๆ แต่คนเราก็ยังชอบกินฐานกันจนเกิดเรื่องบ่อยๆ อยู่นั่นเอง คงเห็นว่ากินฐานคนอื่นไม่ค่อยเห็นเพราะฝังลงดินเสียแล้วก็เป็นได้

รากฐานอีกอย่างหนึ่งก็คือรากฐานของเรา คนเราที่จะเป็นใหญ่เป็นโตหรือมีตำแหน่งใหญ่โตหรือมีฐานะดีได้ก็ต้องอาศัยรากฐานที่ดี รากฐานในที่นี้ก็คือการศึกษา การอบรม ความชำนิชำนาญในหน้าที่การงานหรืออาชีพที่ตนทำ ถ้าคนไหนมีรากฐานไม่ดีถึงจะตำแหน่งสูงขึ้นไปก็อาจจะพังครืนลงมาได้สักวันหนึ่ง ผมเคยอ่านเกี่ยวกับพระนิพนธ์ของสมเด็จพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตอนหนึ่งความว่า พระองค์ต้องการจะแต่งตั้งเจ้าเมืองเมืองหนึ่งมีคนเสนอคนนั้นคนนี้แต่พระองค์ท่านไม่ทรงเห็นด้วย พระองค์ว่า คนบางคนนั้นเหมาะที่จะเป็นเพียงนายอำเภอเท่านั้น ถ้าเป็นนายอำเภอก็เป็นนายอำเภอที่ดีมาก แต่ถ้าจะเป็นเจ้าเมืองแล้วคงจะเป็นไม่ได้ดีเท่าที่เป็นนายอำเภอ นี่ก็เป็นอุทา¬หรณ์ให้เห็นว่ารากฐานของคนนั้นสำคัญพอๆ กับรากฐานของการสร้างตึกเหมือนกัน ถ้าเราต้องการตำแหน่งสูง เราก็ต้องสร้างรากฐานให้ดี ให้มั่นคงแข็งแรง ข้อนี้ผมเคยได้ยินว่ารัฐมนตรีคลังสมัยหนึ่ง เป็นคนที่ยึดถือหลักการมากกว่าเรื่องส่วนตัว มีลูกน้องซึ่งเป็นข้าราชการชั้นตรีไปขอตำแหน่งชั้นโทกับท่าน ท่านบอกว่าอย่างข้าราชการผู้นั้นมีพื้นความรู้ความสามารถเป็นชั้นตรีก็เหมาะสมดีอยู่แล้ว ถ้าให้เป็นชั้นโทก็เท่ากับเป็นการให้ไปฆ่าตัวตายนั่นเอง เพราะชั้นโทที่ข้าราชการผู้นั้นต้องการ เป็นชั้นหัวหน้าส่วน ต้องรับผิดชอบมากกว่าชั้นตรีหลายเท่า ท่านบอกว่าถ้าเงินเดือนไม่พอให้ไปเบิกที่ท่านเป็นการส่วนตัว ข้าราชการผู้นั้นเลยอายกลับไป ดังนั้น ชั้นและตำแหน่งที่ได้มาเพราะวิ่งเต้นก็ดี ฐานะความรํ่ารวยที่เกิดขึ้นเพราะโชคลาภบันดาลหรือเพราะความทุจริตก็ดี ย่อมมีรากฐานที่ไม่มั่นคง เผลอไผลเมื่อไรมักจะพังครืน เมื่อนั้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี