ชีพจักรของผึ้ง

Socail Like & Share

ผึ้งนางพญาจะมีอยู่ได้ประมาณ ๒ ปี ในขณะที่ผึ้งพ่อรังและผึ้งงานจะมีอายุเพียง ๖๐ วันเท่านั้น ระยะในการกำเนิดจากไข่เป็นตัวของนางพญาก็เร็วกว่าผึ้งชนิดอื่น ซึ่งพอจะเปรียบเทียบชีพจักรตั้งแต่ไข่จนถึงออกจากหลอดรังให้เห็นได้ดังนี้
silapa-0285 - Copy
การทำงานของผึ้ง
ผึ้งจัดได้ว่าเป็นสัตว์สังคมชนิดหนึ่ง ในแต่ละรังจะมีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบกันทำงานและประสานงานเป็นอย่างดี ในระหว่างนางพญา ผึ้งพ่อรัง และผึ้งงาน ดังนี้คือ

๑. ผึ้งนางพญา  มีหน้าที่ในการวางไข่และเป็นหัวหน้ารัง คุณสมบัติพิเศษของนางพญาคือ ในตัวเองมีสารชนิดหนึ่ง มีกลิ่นที่เรียกว่ากลิ่นสาบนางพญา (Queen substacl Pheromone) จะถูกปล่อยออกมาเพื่อเป็นตัวผึ้งควบคุมระบบสังคมของผึ้ง กระตุ้นให้ผึ้งทำงานซึ่งเราจะสังเกตเห็นว่า ผึ้งนางพญาจะเดินเข้าออกไปทางโน้นทางนี้ตลอดเวลา เพื่อตรวจดูแลการทำงานของผึ้งงาน และกระจายกลิ่นเพื่อให้ผึ้งงานทำรังอย่างเป็นปกติสุข หากไม่มีนางพญาผึ้งตัวอื่นๆ จะบังเกิดความกระวนกระวายใจและพยายามค้นหา หากไม่พบอาจจะทิ้งรังไปก็ได้ หรือไม่เช่นนั้นจะต้องมีการสร้างนางพญาตัวใหม่ขึ้นมาแทน นอกจากผึ้งนางพญาจะมีกลิ่นสาบที่คอยกระตุ้นให้ผึ้งงานทำงานแล้ว ยังมีกลิ่นสาบอีกชนิดหนึ่ง ที่ปล่อยออกมาเพื่อล่อผึ้งตัวผู้ให้ทราบเมื่อถึงเวลาที่จะผสมพันธุ์อีกด้วย

นางพญาเป็นผึ้งที่ซึ่งเจริญเติบโตมาจากไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิของพ่อรัง ในหลอดรังนางพญา และได้รับการเลี้ยงดูด้วยอาหารพิเศษ ที่เรียกกันว่าอาหารหลวง (Royal Jelly) ตลอดชั่วชีวิต ก่อนนางพญาตัวใหม่จะออกจากหลอดรัง (ส่วนมากนางพญาตัวเก่าย้ายในวันที่นางพญาตัวใหม่ออกจากหลอดรัง) นางพญาตัวเก่าก็จะอพยพพาผึ้งงานที่สมัครใจจำนวนหนึ่งแยกรังออกไป พร้อมกับนำน้ำผึ้งไปด้วย เพื่อไปสร้างรังใหม่ ซึ่งหลังจากเป็นไข่ได้ประมาณ ๑๕ วัน ผึ้งนางพญาก็จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย ออกจากหลอดรังได้ ในกรณีที่มีหลอดรังหลายอันเกิดนางพญาขึ้นมาพร้อมกันหลายๆ ตัว ก็จะเกิดมีศึกชิงรังกันขึ้น กัดกันจนตาย จนเหลือนางพญาที่ชนะเพียงตัวเดียวเท่านั้น และหลังจากนั้นมันจะคอยตรวจดูว่ายังมีนางพญาตัวอ่อนหลงเหลืออยู่อีกบ้างหรือไม่ ถ้าหากพบมันก็จะกัดจนตายไปอีก หลังจากที่ปราบนางพญาตัวอื่นหมดแล้ว นางพญาตัวที่ชนะก็จะทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารังต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม บางกรณียังปรากฏว่า นางพญาที่เกิดขึ้นมาไม่ฆ่ากันก็อาจจะอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นปกติ หรืออาจจะมีการแยกรังออกไปเป็นครั้งที่ ๒ หรือครั้งที่ ๓ ก็มี

ภายหลังจากทำหน้าที่เป็นหัวหน้ารังโดยสมบูรณ์แล้ว หลังจากนั้น ๒-๓ วัน นางพญาผึ้งตัวใหม่ก็จะขยับปีกส่งกลิ่นสาบให้สัญญาณแก่ผึ้งพ่อรัง แล้วบินออกจากรังขึ้นไปในอากาศสูงๆ ผึ้งพ่อรังทั้งหลายก็จะบินติดตามขึ้นไป ตัวไหนมีกำลังแข็งแรงสามารถบินติดตามไปทันก็จะได้รับผสมกับนางพญาตามลำดับก่อนหลัง อสุจิจะถูกเก็บไว้ในถุงในช่องท้องของนางพญาจนเต็มจนนางพญาพอใจ ต่อจากนั้นก็จะบินกลับรัง และเริ่มวางไข่ต่อไป นางพญาตัวหนึ่งๆ จะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดชีวิต

การที่นางพญาจะวางไข่เป็นผึ้งชนิดใดนั้น จะสังเกตจากหลอดรังที่ผึ้งงานได้สร้างไว้คือ ถ้าเป็นหลอดวางไข่ของผึ้งงาน จะอยู่ถัดจากบริเวณที่เก็บน้ำหวานลงมา มีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยมขนาดหลอดกาแฟ หลอดวางไข่ของผึ้งพ่ออยู่ถัดจากหลอดวางไข่ของผึ้งงานลงมา มีลักษณะเป็นรูปหกเหลี่ยมเช่นเดียวกัน แต่โตกว่าหลอดรังของผึ้งงาน ส่วนหลอดรังนางพญา โดยปกติจะพบห้อยเป็นติ่งอยู่ตามส่วนล่างหรือริมขอบของกลีบรัง มีลักษณะคล้ายเมล็ดถั่วลิสงที่ยังไม่ได้กะเทาะเปลือก สังเกตได้ง่ายมาก ในระยะแรกๆ นางพญามักจะวางไข่ผึ้งงานก่อนเพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนประชากรทำงานในรังให้มากขึ้น จนเมื่อมีจำนวนพลรังเหลือเฟือจึงจะเริ่มวางไข่ผึ้งพ่อและวางไข่นางพญาตัวใหม่ เพื่อเตรียมการแยกรังต่อไปอีกด้วย วิธีการเช่นนี้ตามธรรมชาติผึ้งจะเพิ่มจำนวนได้มากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประมาณว่าวันหนึ่งๆ นางพญาจะสามารถวางไข่ได้ ๒๐๐-๑,๐๐๐ ฟอง และสามารถวางไข่ได้เรื่อยๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน จนตลอดชีวิต

๒. ผึ้งพ่อรังหรือผึ้งตัวผู้  เจริญเติบโตมาจากไข่ของนางพญาอย่างเดียว ไม่ได้รับการผสมกับอสุจิและอยู่ในหลอดรังของผึ้งพ่อ มีหน้าที่ในการผสมพันธุ์เพียงอย่างเดียวไม่ต้องทำอะไรทั้งหมด ส่วนอาหารจะได้รับจากผึ้งงานที่หามาป้อนให้ นอกจากขาดแคลนอาหารจริงๆ จึงจะออกหากินเองเหมือนกัน

เมื่อถึงเวลาที่นางพญาออกจากรังมาใหม่ๆ และโตพอที่จะผสมพันธุ์ได้ ก็จะปล่อยกลิ่นสาบและให้สัญญาณแก่ผึ้งพ่อรับ พากันบินออกไปผสมกันในอากาศ ผึ้งพ่อตัวไหนที่แข็งแรงบินเร็วถึงตัวนางพญาก่อนก็จะได้รับการผสมพันธุ์ก่อนหลังตามลำดับ จนนางพญาพอใจจึงจะบินกลับรังผึ้งพ่อตัวใดที่ได้ผสมกับนางพญาแล้วอวัยวะเพศจะติดไปกับถุงน้ำเชื้อนางพญาและอ่อนเพลียมากจนตายไปในที่สุด ส่วนผึ้งพ่อตัวที่ไม่ได้ผสมพันธุ์ บางส่วนจะหมดแรงตายไป บางส่วนกลับรังไม่ถูกก็จะหายไป ส่วนที่เหลือบินกลับรังก็จะไม่ได้รับความเอาใจใส่และไม่ได้อาหารจากผึ้งงานอีกก็จะตายไปในที่สุด ในระยะแรกๆ นางพญาจะไม่วางไข่เป็นผึ้งพ่อเลย จนใกล้จะถึงเวลาแยกรังแล้วเท่านั้น เพื่อเตรียมผึ้งพ่อรังให้กับนางพญาตัวใหม่ต่อไป

๓. ผึ้งงานหรือพลรัง คือ ผึ้งเพศเมีย เจริญเติบโตมาจากไข่ที่ได้รับการผสมกับอสุจิของผึ้งพ่อเช่นเดียวกับนางพญา ในระยะที่ยังเป็นตัวอ่อน ๓ วันแรกจะได้รับอาหารหลวง (Royal Jelly) เช่นเดียวกับนางพญา หลังจากนั้นผึ้งพี่เลี้ยงก็จะให้อาหารธรรมดาพวกน้ำผึ้ง เรณูเกสรดอกไม้ จนเข้าดักแด้ ทันทีที่เติบโตเป็นตัวเต็มวัย มันก็จะรีบหาน้ำผึ้งและเรณูเกสรที่พวกพี่ๆ เก็บสะสมไว้เป็นอาหาร ร่างกายก็จะแข็งแรงพร้อมที่จะทำงานได้

ผึ้งงาน ทำหน้าที่เกือบทุกสิ่งทุกอย่างภายในรัง จะแบ่งหน้าที่กันทำงานตามลำดับอาวุโส เช่น ในตอนวัยสาว ต้องคอยรักษาความสะอาดรัง เป็นพี่เลี้ยงให้อาหารลูกอ่อนเป็นทหารเฝ้ารัง กลั่นน้ำหวานให้เป็นน้ำผึ้ง ผลิตขี้ผึ้งเพื่อทำรังและซ่อมแซมรัง เป็นต้น จนกระทั่งย่างเข้าสัปดาห์ที่ ๓ ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของชีวิต ก็จะเริ่มมีหน้าที่บินออกไปหาน้ำหวานและเกสรดอกไม้มาเลี้ยงพรรคพวก ส่วนที่เหลือก็จะสะสมไว้เป็นน้ำผึ้ง ผึ้งงานตัวใดที่อ่อนแอเกียจคร้านก็จะถูกพรรคพวกกำจัดออกไปอยู่ในรังไม่ได้

ตามปกติผึ้งงานจะมีอายุประมาณ ๔-๘ สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับชั่วโมงบิน แต่ในฤดูหนาวอาจมีอายุนานหลายเดือน โดยเฉพาะในประเทศเขตหนาวและเขตอบอุ่น ที่มีอากาศหนาวเย็นและมีหิมะตลอดฤดู ผึ้งงานจะจับเจ่าอยู่แต่ในรัง ไม่ต้องออกไปหาอาหาร ไม่ต้องใช้พลังงานมากก็จะมีอายุยืนนานขึ้นไป

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี