วิธีการเลี้ยงผึ้ง

Socail Like & Share

เราอาจแบ่งการเลี้ยงผึ้งออกได้เป็น ๓ แบบ คือ

๑. แบบเลี้ยงปล่อยไว้ตามธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อพบว่ามีผึ้งมาเกาะอาศัยในโพรงตามบริเวณต่างๆ ของบ้านเรือน เช่นหน้าจั่ว เราก็ปล่อยให้ผึ้งอาศัยอยู่เช่นนั้น อย่างไรก็ตาม ผึ้งอาจจะมารบกวนบ้างในเวลาค่ำคืน เมื่อเห็นรังผึ้งแสงสว่างจากดวงไฟจะมาตอม หากในบ้านมีเด็กเล็กควรระมัดระวังบ้าง อาจถูกต่อยเอา แต่โดยปกติแล้วผึ้งจะไม่บินมาต่อยเลย ถ้าหากไม่ตกใจหรือไม่ทำให้มันเจ็บตัวก่อน วิธีป้องกันไม่ให้ผึ้งมาตอมเล่นแสงไฟ ก็คือให้ใช้กระดาษหนาๆ ผ้าพลาสติกสีดำ หรือแผ่นไม้กระดาน ฯลฯ สุดแล้วแต่สะดวก ไปปิดกั้นมิให้เห็นแสงไฟ ก็จะได้ไม่ลงมารบกวน ผึ้งก็จะอยู่กันอย่างปกติสุข เมื่อสังเกตเห็นว่ามีน้ำผึ้งพอสมควรก็สามารถตัดกลีบรังเอาน้ำหวานมาใช้ประโยชน์ได้ แต่การตัดกลีบรังไม่ควรตัดหมด ผึ้งอาจจะอพยพหนีไปเสีย ควรตัดแต่บางส่วนหรือตัดกลีบรังซีกใดซีกหนึ่ง สลับกัน โดยวิธีนี้เราก็จะได้น้ำผึ้งตลอดไปเรื่อยๆ

๒. เลียงแบบกึ่งธรรมชาติ  เป็นวิธีที่เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทยในแถบจังหวัดภาคเหนือและเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทำกันมานานแล้ว กล่าวคือ ช่วยทำรังเลี้ยงให้เพื่อเป็นที่อยู่ของผึ้งและป้องกันแมลงศัตรูมารบกวนทำลายได้ด้วย

ผู้เลี้ยงผึ้งบางราย นิยมใช้ต้นมะพร้าวหรือต้นตาลที่มีขนาดโตพอสมควรมาตัดเป็นท่อนๆ ยาวท่อนละประมาณ ๑ ศอก ทะลวงไส้ในออกให้หมด หาไม้กระดานมาปิดหัวท้ายแล้วเจาะรูให้โตสักขนาดหัวแม่มือ พอผึ้งเข้าออกได้ก็จะเป็นรังเลี้ยงผึ้งได้เป็นอย่างดี หรือบางรายอาจจะใช้ไม้กระดานมาต่อเป็นลังสี่เหลี่ยม ให้มีขนาดกว้างยาวสูงตามสมควร ปิดหัวท้ายให้มิดชิด ด้านหน้าเจาะเป็นรูขนาดโตเท่าหัวแม่มือสัก ๑-๒ รู พอผึ้งเข้าออกได้ ด้านหลังใส่บานพับเพื่อเวลาเลี้ยงผึ้งแล้วจะได้ปิดเปิดออกดูแลได้ง่าย

การหาผึ้งมาเลี้ยงในรังเลี้ยงแบบกึ่งธรรมชาตินี้ อาจจะโดยวิธีหาไขผึ้งบริสุทธิ์มาทาด้านในหีบเสียก่อน แล้วนำไปตั้งล่อไว้ในที่ที่เราเห็นว่าผึ้งน่าจะมาทำรังอาศัยอยู่ คอยสังเกตเมื่อเห็นว่าผึ้งเข้ามาทำรังแล้วจึงค่อยย้ายมาไว้ใต้ถุนบ้าน ในสวนผลไม้หรือตามสถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้ หรืออีกวิธีหนึ่งอาจจะจับผึ้งที่บินสำรวจหาที่อยู่มาขังไว้ก่อนสัก ๑-๒ ชั่วโมง แล้วค่อยปล่อยออก ถ้าพอใจก็จะพาพวกมาทำรังอยู่ หลังจากนั้นคอยดูแลรักษาศัตรูต่างๆ ที่จะมารบกวน พอเห็นว่ามีน้ำผึ้งพอสมควรก็ตัดกลีบรังเอามาใช้ประโยชน์ได้แบบเดียวกับวิธีแรก

๓. แบบเลี้ยงในหีบมีคอน

เป็นวิธีการเลี้ยงสมัยใหม่ เช่นเดียวกับการเลี้ยงผึ้งในต่างประเทศ ซึ่งความจริงก็เป็นการดัดแปลงจากสภาพความเป็นอยู่ตามธรรมชาติของผึ้งนั่นเอง

ผึ้งโพรงปกติชอบอาศัยทำรังอยู่ตามที่มืดๆ เช่นตามโพรงไม้ต่างๆ และจะทำรังเกาะติดอยู่กับส่วนบนของบริเวณนั้นๆ มีลักษณะเป็นกลีบๆ ห้อยลงมาขนานกัน จึงมีผู้คิดดัดแปลงสถานที่เลี้ยงให้ โดยทำเป็น “หีบเลี้ยงผึ้ง” และมี “คอน” วางเรียงขนานอยู่ข้างในเพื่อให้ผึ้งได้ทำกลีบรัง ในคอนแต่ละอันจะสามารถยกออกมาตรวจสอบและดูแลรักษาได้สะดวก

หีบเลี้ยงผึ้งมีลักษณะเป็นหีบทึบ ด้านหน้ามีรูเข้าออกของผึ้งอยู่ส่วนล่าง ด้านบนทำเป็นฝาปิดเปิดได้ ข้างในหีบทางด้านหน้าและด้านหลังใช้ไม้ระแนงตียึดให้ต่ำลงมาจากขอบหีบสัก ๒ เซนติเมตร เพื่อเป็นคานให้สามารถวางคอนได้ในภายหลัง

ส่วน “คอน” นั้น ใช้ไม้ระแนงขนาดหนาครึ่งนิ้ว (หรือมีความหนาประมาณกลีบรังผึ้ง) ทำเป็นกรอบไม้สี่เหลี่ยมคล้ายสะดึงขึงผ้า มีขนาดพอเหมาะวางในหีบเลี้ยงได้ แต่ด้านบนต้องมีปลายเหลื่อมออกมาทั้งสองด้าน เพื่อให้สามารถวางบนสลักในหีบได้พอดี

การทำหีบเลี้ยงผึ้งและคอนแบบนี้ ควรจะมีขนาดเท่าใดจึงจะดีนั้น ยังไม่มีผู้ใดทดลองค้นคว้าออกมา นอกจากกะขนาดแล้วแต่ความเหมาะสม ไม่เล็กหรือโตเกินไป ข้อสำคัญคือควรเลือกใช้ไม้หรือวัสดุที่มีน้ำหนักเบาๆ เพื่อความสะดวกในการเคลื่อนย้าย

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี