ชนิดของผึ้งไทย

Socail Like & Share

ผึ้งไทยเท่าที่มีการสำรวจพบในปัจจุบัน มีอยู่ด้วยกัน ๓ ชนิดคือ

๑. ผึ้งหลวง, ผึ้งใหญ่, ผึ้งโขดหิน เป็นผึ้งที่มีขนาดโตที่สุดแข็งแรงมาก
สามารถบินหากินได้ไกลๆ และหากินเก่ง จึงสามารถทำผึ้งหลวงน้ำผึ้งได้มากบางรังเคยได้ถึง ๒ ปี๊บก็มี นํ้าผึ้งหลวงมีคุณภาพเข้มข้น มีรสหวาน ชวนบริโภค มีคุณภาพดีกว่าน้ำผึ้งชนิดอื่น

ผึ้งหลวงชอบทำรังอยู่ตามที่สูงๆ ตามต้นไม้ใหญ่ๆ ซึ่งตามภาษาพื้นเมืองเรียกว่า ‘‘ต้นยวนผึ้ง’’ เช่น ต้นยาง, ต้นตะเคียน, ต้นกร่าง บางทีก็พบทำรังอยู่ตามหน้าผาสูงๆ ตามภูเขา โขดหิน ตามชะง่อนผา หรือป่าโปร่ง และบางครั้งเราอาจจะพบผึ้งหลวงมาทำรังอยู่ตามตึกรามสูงๆ หรืออาคารบนเรือนก็มี ผึ้งหลวงจะทำรังกลีบเดียวแต่มีขนาดใหญ่ และ บางรังมีขนาดยาวมาก

ผึ้งหลวงมีความอดทนต่อสภาพดินฟ้าอากากที่แปรปรวนได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากมีนิสัยดุร้ายมาก และไม่เชื่อง จึงไม่มีผู้นิยมนำมาเลี้ยง

๒. ผึ้งมิ้ม ผึ้งแมลงวัน จัดเป็นผึ้งที่มีขนาดเล็กที่สุด ตัวโตเท่าแมลงวัน มักพบทำรังตามกิ่งไม้ พุ่มไม้เตี้ยๆ หรือกอไผ่ ผึ้งมิ้มจะทำรังเดียวเล็กๆ มีขนาดตั้งแต่ฝ่ามือจนถึงขนาดความกว้าง ๑ ฟุต หาน้ำหวานไม่ค่อยเก่ง จึงมีน้ำผึ้งน้อย แต่น้ำผึ้งที่ได้มีรสหวานแหลมเชื่อกันว่ามีสรรพคุณทางยาสูงกว่าน้ำผึ้งชนิดอื่น

ผึ้งมิ้มแม้ว่าจะเชื่อ ไม่ดุร้ายแต่เนื่องจากได้น้ำผึ้งน้อย ชอบอพยพและมีการย้ายรังบ่อยๆ จึงไม่ค่อยนิยมเลี้ยงเช่นเดียวกัน

๓. ผึ้งโพรง ผึ้งหนอกวัว ผึ้งรวง มิ้มโต หรือพรวด(ภาคใต้) ผึ้งโกน(ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ผึ้งโก๋น(ภาคเหนือ) เป็นผึ้งขนาดกลาง คือมีขนาดลำตัวเล็กกว่าผึ้งหลวงแต่โตกว่าผึ้งมิ้ม ผึ้งโพรงชอบทำรังในที่มืด เช่น ตามซอกหิน โพรงไม้ ซอกต้นไม้ หรือตามลำต้นที่กลวง บางครั้งยังพบทำรังตามโพรงดิน ใต้ตู้ ในลิ้นชักตู้โต๊ะ ในลังหรือหีบ รังผึ้งโพรงมีลักษณะเป็นกลีบๆ มักเป็นจำนวนคี่ ตั้งแต่ ๕-๑๕ กลีบ กลีบกลางจะมีความยาวและใหญ่กว่ากลีบอื่นๆ ต่อจากกลีบกลางไปข้างซ้ายและขวา จะมีขนาดเล็กลงตามลำดับ จนถึงกลีบนอกสุดจะเล็กที่สุด

ผึ้งโพรงจัดเป็นผึ้งพันธุ์เอเชียที่ดีที่สุด มีความต้านทานต่อโรคดีกว่าผึ้งพันธุ์ยุโรปไม่ดุร้ายนัก สามารถนำมาเลี้ยงได้ผลดีตามสวนมะพร้าว สวนลิ้นจี่ ลำไย หรือสวนผลไม้ต่างๆ ซึ่งเรื่องการเลี้ยงผึ้งไทย ต่อไปนี้จะกล่าวเฉพาะการเลี้ยงผึ้งโพรงเท่านั้น

ลักษณะทั่วๆ ไปของผึ้ง
ลักษณะทั่วๆ ไปของผึ้งแบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วน คือ (๑) ส่วนหัว (๒) ส่วนอก (๓) ส่วนท้อง ซึ่งส่วนต่างๆ ทั้ง ๓ ส่วนนี้ แยกให้เล็กลงได้ดังนี้ คือ มีตา ๒ ตา หนวด ๒ เส้น เขี้ยว ๑ คู่ งวงดูดน้ำหวาน ขา ๓ คู่ ปีก ๒ คู่ (คู่หน้ายาวกว่าคู่หลัง) และส่วนท้องมี ๙ ปล้อง

ประชากรของผึ้ง
ผึ้งในรังหนึ่งๆ ประกอบด้วยประชากร ๓ พวก คือ
๑. ผึ้งนางพญา หรือผึ้งราชินี มี ๑ ตัว (บางรังอาจพบ ๒-๓ ตัว) ผึ้งนางพญามีลักษณะลำตัวยาวและใหญ่กว่าผึ้งทั้งหมดในรัง มีสีค่อนข้างดำหม่นเล็กน้อย ส่วนท้องมีสีน้ำตาล ปีกทั้งสองข้างจะยาวเพียงครึ่งลำตัว สังเกตได้ง่าย ก้นแหลมไม่มีเหล็กใน จึงต่อยไม่เป็น

๒. ผึ้งพ่อรังหรือผึ้งตัวผู้ มีประมาณ ๒๐๐-๕๐๐ ตัว ใน ๑ รัง ผึ้งพ่อรังมีลักษณะลำตัวสั้นป้อมๆ สีดำเกือบสนิท อ้วนทู่ทู่ ปีกทั้งสองข้างคลุมมิดตลอดท้ายลำตัว ซึ่งสังเกตได้ง่ายเช่นกัน

๓. ผึ้งงานหรือผึ้งตัวเมีย  ในแต่ละรังจะมีจำนวนมากที่สุด มีประมาณ ๕,๐๐๐-๓๐,๐๐๐ ตัว ลักษณะของผึ้งงานลำตัวจะเท่ากับผึ้งพ่อแต่ผอมกว่า ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนแกมดำปนเหลือง ปลายปีกทั้งสองข้างจะยาวเท่าลำตัว

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี