การแบ่งมนุษย์ทางชาติพันธ์ุวิทยา

Socail Like & Share

เรื่องของคนเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก โดยเฉพาะประเทศที่ใหญ่ๆ อย่างอินเดีย ซึ่งแตกต่างเรื่องศาสนาและภาษาและมีการแบ่งชั้นวรรณะกันออกเป็น ๔ เหล่าแล้ว ยิ่งยุ่งยากมาก ในอเมริกาซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจ ก็ยังมีการถือผิว พวกผิวขาวเหยียดหยามพวกผิวดำ จนเกิดเรื่องรบราฆ่าฟันกันเองบ่อยๆ แต่ในประเทศของเรานั้นเราไม่ได้แบ่งชั้นวรรณะอย่างประเทศอินเดียไม่ได้ถือผิวอย่างประเทศอเมริกา การรบราฆ่าฟันกันเพราะเรื่องเหล่านี้จึงไม่มีชาติพันธุ์มนุษย์

คนเรานั้น แบ่งพวกแบ่งเหล่าออกเป็นประเทศต่างๆ นับเป็นร้อยประเทศ และแบ่งโดยภาษาพูดนับได้หลายร้อยภาษา สมัยก่อนนี้คนไทยเรารู้จักคนว่ามีเพียง ๑๒ ภาษาเท่านั้นก็เพราะการคมนาคมไปมาหาสู่กันลำบาก เราจึงรู้จักเพียงเท่านั้น ๑๒ ภาษาก็นับว่ามากพออยู่แล้ว

เมื่อพูดถึงคนแล้ว ทำให้นึกถึงคำที่เกี่ยวกับการแบ่งแยกคนออกเป็นพวกและประเทศชาติ คือคำว่าเชื้อชาติ คนในประเทศหนึ่งอาจจะประกอบด้วยชนชาติหลายเชื้อชาติได้ เช่น คนไทยอาจจะมีคนเชื้อชาติจีน เชื้อชาติญวนและเชื้อชาติพม่ารวมอยู่ด้วยกับคนเชื้อชาติไทย ประเทศอื่นๆ ก็ทำนองเดียวกันนี้

คำว่าเชื้อชาติในที่นี้หมายถึงคนหมู่หนึ่งพวกหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะรูปพรรณผิดแปลกเป็นเฉพาะไปจากคนหมู่อื่นพวกอื่น ในทางวิชาชาติพันธุ์วิทยา ท่านแบ่งมนุษย์ชาติออกเป็น ๔ พวกใหญ่คือ
๑. พวกคอเคเซียน
๒. พวกมงโกเลียน
๓. พวกนิโกร
๔. พวกออสตรัลลอยด์

ชนชาวไทยมีเชื้อชาติรวมอยู่ในพวกมงโกเลียน นอกจากชนชาวไทยแล้ว ยังมีชาติอื่นอีก เช่น จีน ธิเบต พม่า ญวน ชวา มลายู ฟิลิปปินส์ เพราะฉะนั้น หน้าตา และรูปร่างของคนชาติต่างๆ เหล่านี้จึงดูละม้ายคล้ายกันมาก บางคนดูกันไม่ออกทีเดียว

เมื่อพูดถึงเชื้อชาติแล้วก็ยังมีคำอีกคำหนึ่งซึ่งเราใช้กันมากนั้นคือคำว่า สัญชาติ แต่เดิมคำนี้เราใช้คำว่าอยู่ในบังคับ คำว่าสัญชาติหมายถึงผู้ที่อยู่ในบังคับของประเทศชาติเดียวกัน คนไทยย่อมมีสัญชาติไทย แต่คนที่มีสัญชาติไทยนั้น ไม่จำเป็นต้องมีเชื้อชาติไทยเสมอไป คนที่ไม่ใช่เชื้อชาติไทยก็มีสัญชาติไทยได้ และเราถือว่าเป็นคนไทย ซึ่งมีสิทธิและเสรีเท่ากันตามกฎหมาย

เรื่องของคนนั้นนอกจากแบ่งแยกกันโดยเชื้อชาติดังกล่าวมาแล้ว ยังแบ่งออกโดยภาษาอีกว่าเฉพาะชนชาวต่างๆ ในแหลมอินโดจีน ท่านแบ่งออกเป็นพวกๆ ตามภาษา ๔ พวกใหญ่ คือ

๑. ตระกูลภาษาออสเตรเนเซียน หรืออินโดเนเชียนพวกหนึ่ง มีพวกชวาและมลายูซึ่งเป็นชนหมู่ใหญ่ในตระกูลภาษานี้ และมีชนหมู่น้อยเช่นพวกจาม และพวกที่เรารวม เรียกว่าข่า ในลางพวก

๒. ตระกูลภาษามอญ-เขมร มีมอญและเขมรเป็นพวกใหญ่ นอกนี้ยังมีชนหมู่น้อยซึ่งรวมอยู่ด้วยคือ พวกปะหล่อง (มีแต่ในประเทศพม่า) ละว้า กุย ชอง แสก โซ่ เนียกุล เป็นต้น อยู่ในประเทศไทย

๓. ตระกูลภาษาไทย-จีน มีจีน ไทย และลาวเป็นพวกใหญ่ และมีพวกลื้อ ผู้ไทย ลาวพวน ลาวโซ่ง เป็นต้น เป็นชาวไทยหมู่น้อยในประเทศไทย

๔. ตระกูลภาษาธิเบต-พม่า มีธิเบต พม่า กะจิ่น จิ่น เป็นพวกใหญ่ นอกนี้ก็มีชนหมู่น้อยเช่น ยะไข่ มูเซอ ก้อ ลีซอ เป็นต้น

๕. ตระกูลภาษากะเหรี่ยง มีกระเหรี่ยงหรือยาง ปะหล่อง และต้องสู้ เป็นต้น ล้วนเป็นชาวเขาทั้งนั้น

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี