ความหมายของวรรณคดี

Socail Like & Share

วรรณคดีไทย
วรรณ ตามพจนานุกรม หมายถึงหนังสือ
คดี, คติ แปลว่าทาง

วรรณคดี จึงหมายถึงทางแห่งหนังสือ หรือการเขียนหนังสือเป็นเรื่องราวขึ้นมา

วรรณคดีต่างๆ ของไทย ในสมัยโบราณ ผู้ที่เขียนหนังสือได้มีจำนวนน้อย และอยู่ในวงจำกัด เช่นในวัด ในราชสำนัก การเขียนหนังสือก็ใช้กระดาษข่อย และใบลาน ทำให้สูญหายได้ง่าย และอีกประการหนึ่ง ไทยต้องต่อสู้เพื่อเอกราชของตน และโยกย้ายถิ่นทำมาหากินอยู่เรื่อยๆ จนถึงกับเสียบ้านเสียเมือง ศิลปและวัฒนธรรม ตลอดจนวรรณคดีต่างๆ ต้องสูญหายไปเป็นอันมาก เหลือเอกสารที่สืบต่อจนบัดนี้น้อยที่สุด และ อย่างเก่ามีอายุประมาณ ๗๐๐ ปี

นักประวัติศาสตร์และโบราณคดี ได้กำหนดระยะเวลา ๑๒๐ ปี ของการตั้งจังหวัดสุโขทัยเป็นเมืองหลวง ราว พ.ศ. ๑๘๐๐ โดยพ่อขุนบางกลางท้าวเป็นกษัตริย์องค์แรก และมีผู้สืบราชสมบัติต่อมาอีก ๕ รัชกาล รวม เวลา ๑๒๐ ปี ก็เสียเอกราชให้แก่กษัตริย์ไทยด้วยกันที่ครองกรุงศรีอยุธยา เมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๐ จึงกำหนดระยะเวลา ๑๒๐ ปีนี้ว่า “สมัยกรุงสุโขทัย”

กษัตริย์ไทยที่ตั้งราชธานีขึ้นที่กรุงศรีอยุธยา เมื่อพ.ศ. ๑๘๙๓ มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าอู่ทอง เมื่อได้เสวยราชสมบัติแล้วทรงพระนามว่า “สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑” ไม่ยอมขึ้นแก่อาณาจักรสุโขทัยฝ่ายเหนือ จึงต่อมากษัตริย์ผู้สืบราชสมบัติในกรุงศรีอยุธยาเป็นพระองค์ที่ ๓ ได้ยกกองทัพไปรบกรุงสุโขทัยได้ และรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันใน พ ศ. ๑๙๒๐ แต่ยังหาได้รวมอาณาจักร ซึ่งอยู่ในความปกครองของกษัตริย์ไทยอีกพวกหนึ่งซึ่งอยู่ทางเหนือที่เรียกว่า “ลานนาไทย” มีเชียงใหม่ เป็นนครหลวง เป็นประเทศเอกราชอยู่อาณาจักรหนึ่ง ซึ่งได้ทำสงครามขับเคี่ยวกันมา บางคราวก็เสียเอกราชไปขึ้นกับพม่า บางคราวก็ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาตลอดเวลาหลายศตวรรษ เพิ่งมารวมเป็นอาณาจักรอันหนึ่ง

อันเดียวกันได้เมื่อราว ๒ ศตวรรษมานี้

กรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงของไทย จนถึง พ.ศ. ๒๓๑๐ รวมเวลา ๔๑๗ ปี มีกษัตริย์สืบราชสมบัติ ๓๓พระองค์ ได้เสียเอกราชแก่พม่า ๒ ครั้ง ครั้งแรกใน พ.ศ. ๒๑๑๒ ครั้งหลังใน พ.ศ. ๒๓๑๐

ครั้งหลังนี้เมืองหลวงถูกทำลายเอกราชต่างๆ เสียหายยับเยิน ผู้คนก็ถูกกวาดต้อนไปเป็นอันมาก

นักประวัติศาสตร์และโบราณคดี จึงกำหนดระยะเวลา ๔๑๗ ปีนี้เรียกว่า “สมัยกรุงศรีอยุธยา”

เมื่อเมืองหลวงเสียให้แก่พม่าครั้งหลังนี้    ต่อมาพระเจ้าตากสินได้รวบรวมกำลังเป็นกลุ่มก้อน ลุกขึ้นก่อกู้อิสรภาพ ภายในเวลา ๓ ปี และได้ย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองธนบุรี ใต้กรุงศรีอยุธยาลงมา ฟากแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันตก ตรงกันข้ามกับกรุงเทพ ฯ เรียกว่า กรุงธนบุรี พระมหากษัตริย์ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี” เป็นระยะเวลา ๑๕ ปี ถึง พ ศ. ๒๓๒๕ นักประวัติศาสตร์โบราณคดี จึงกำหนดระยะเวลา ๑๕ ปี นี้ เรียกว่าสมัยกรุงธนบุรี

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก จึงได้ย้ายราชธานี จากฝั่งตะวันตก ข้ามมาตั้งทางฝั่งตะวันออก หรือฝั่งซ้าย ของแม่น้ำเจ้าพระยา    ทรงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ขึ้นครองราชสมบัติ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี จนกระทั่งทุกวันนี้  นักประวัติศาสตร์ และโบราณคดีจึงกำหนดเรียกว่า “สมัยรัตนโกสินทร์”

ประวัติวรรณคดีไทย ก็จะรวบรวมวรรณคดีไทย แยกออกเป็นสมัยดังกล่าวมาแล้ว

ที่มา:โฆฑยากร