จวงจื๊อกับอภิปรัชญา

Socail Like & Share

จวงจื๊อ มีความเห็นว่า เต๋า เป็นพลังแห่งชีวิตของสรรพสิ่งทั้งปวง

เต๋า มีสภาพที่แท้จริงและมีปรากฏการณ์ เป็นการแสดง แต่ไม่มีการกระทำและรูปธรรม เต๋าเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดได้ แต่ถือเอาเป็นเจ้าของไม่ได้ เต๋ามีอยู่ก่อนสวรรค์และแผ่นดิน และคงอยู่ชั่วเวลาตลอดกาล เต๋าเป็นสิ่งที่ทำให้เทวดาและพระเจ้า มีความเป็นทิพย์และเป็นสิ่งที่ทำให้สวรรค์และแผ่นดินถูกสร้างขึ้น เต๋าอยู่สูงกว่าจุดสูงสุดในท้องฟ้า แต่ก็ไม่อยู่สูงจนเกินไป เต๋าอยู่ต่ำกว่าจุดต่ำของแผ่นดิน แต่ก็ไม่อยู่ต่ำสุดจนเกินไป เต๋ามีมาก่อนสวรรค์และแผ่นดิน แต่เต๋าก็ไม่มีอายุขัย

แต่เต๋าทำให้เทวดาและเทพเจ้ามีความเป็นทิพย์ และทำให้สวรรค์และแผ่นดินถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร? ที่จริงแล้ว เต๋ามิได้ทำและไม่สามารถจะทำให้เทวดา และเทพเจ้ามีความเป็นทิพย์ขึ้นมา แต่เทวดาและเทพเจ้ามีความเป็นทิพย์ขึ้นมาด้วยตัวของเทวดาและเทพเจ้าเอง เช่นนี้ หมายความว่า เต๋า เป็นเหตุให้เทวดาและเทพเจ้ามีความเป็นทิพย์ แต่เต๋าไม่ได้ทำให้เทวดาและเทพเจ้ามีความเป็นทิพย์ขึ้น และข้อความอีกตอนหนึ่งว่า เต๋า ไม่ได้สร้างสวรรค์และแผ่นดิน สวรรค์และแผ่นดินเป็นผู้สร้างคนขึ้นมาเอง เต๋าสร้างสวรรค์และแผ่นดินขึ้น โดยที่เต๋าไม่ได้สร้างสิ่งทั้งสองขึ้น นี้คือ หลักแห่ง เว่ย หวู เว่ย (Wei Wu Wei) การกระทำทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่กระทำอะไร

ประการต่อไป เต๋า มีอยู่ในรูปของทุกสิ่งทุกอย่าง
เต๋า ไม่ใช่สิ่งที่เล็กเกินไป สำหรับสิ่งที่ใหญ่ที่สุด
เต๋า ไม่ใช่สิ่งที่ใหญ่เกินไป สำหรับสิ่งที่เล็กที่สุด ด้วยเหตุนี้ สรรพสิ่งทั้งปวงจึงมี เต๋า แฝงอยู่ในรูปธรรมของตน
ความจุของ เต๋า กว้างขวางหาขอบเขตที่สุดไม่ได้
ความลึกของ เต๋า สุดที่จะหยั่งลึกได้
ยิ่งไปกว่านั้น
เต๋า ไม่มีจุดเริ่มต้น เต๋า ไม่มีจุดจบ

ประโยคสุดท้ายนี้ แสดงถึงลักษณะอันลึกซึ้งของเต๋า จวงจื๊อสนใจในเรื่องสภาพของโลกที่ปรวนแปรไม่แน่นอน แสดงผลออกมาเป็นความพยายามที่จะแสวงหาสิ่งที่นิรันดร จากท่ามกลาวงสิ่งที่ไม่แน่นอน แสวงหาสิ่งที่คงทนถาวรในท่ามกลางสิ่งที่เปลี่ยนแปลง เต๋า ในฐานะที่เป็นสิ่งที่คงที่เป็นนิรันดร นั้นคือ คำตอบของจวงจื๊อ

ยิ่งไปกว่านั้น เต๋า เป็นสิ่งที่มีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง จวงจื๊อกล่าวว่า “ไม่มีที่ใดที่จะไม่มี เต๋า” จากทรรศนะของเต๋า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นหนึ่งไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบวกหรือฝ่ายลบ ฝ่ายนามธรรมหรือรูปธรรม ฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว ฝ่ายชีวิตหรือฝ่ายความตาย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่ไม่แตกต่างกันเลย เป็นเหมือนน้ำที่อยู่ในน้ำ หรือพูดอีกนัยหนึ่ง โดยการไม่สนใจในเรื่องของความแตกต่างของสิ่งที่ตรงกันข้ามกัน สิ่งทั้งหลายก็จะรวมกันอยู่ใน เต๋า ทั้งหมด

ประการสุดท้าย เต๋า เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ฟังไม่ได้ยิน สัมผัสไม่ได้

เต๋า เป็นสิ่งที่ฟังไม่ได้ยิน ถ้าเป็นสิ่งที่ได้ยิน ก็ไม่ใช่เต๋า
เต๋า เป็นสิ่งที่มองดูไม่เห็น ถ้าเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ก็ไม่ใช่เต๋า
เต๋า เป็นสิ่งที่พูดออกมาไม่ได้ ถ้าเป็นสิ่งที่พูดออกมาได้ก็ไม่ใช่เต๋า

สาระสำคัญของการปฏิบัติตาม เต๋า คือ การไม่มองดูอะไร การไม่ฟังอะไร การไม่ทำอะไร ถ้าพูดให้สั้น ความว่างเปล่าหรืออภาวะ คือหัวใจของเต๋า นี้คือหลักคำสอนของจวงจื๊อ และหลักคำสอนของ เล่าจื๊อ

ในการนำเอาความคิดเรื่องของ เต๋า อันเป็นสิ่งนิรันดรและสิ่งที่มีอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่งมาใช้กับการวิวัฒนาการของโลกจักรวาลนั้น มีสิ่งที่จะต้องพิจารณาอยู่สามประการ คือ

ประการที่หนึ่ง ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในโลก เป็นของที่ไม่แน่นอน เป็นมายาสัจจภาวะอันสูงสุดอย่างแท้จริงนั้นไม่มี จวงจื๊อกล่าวว่า

ถ้าเก็บเรือพายไว้ในช่องเขา ที่มีทะเลสาบล้อมรอบทุกด้าน และคิดว่านั้นเป็นสิ่งที่ปลอดภัยที่สุดแล้ว แต่ในตอนกลางคืน ก็ยังมีคนที่แข็งแรงมาแบกเรือพายหนีไปได้ มนุษย์นั้นมองไม่เห็นว่าแม้ตนเองจะซ่อนสิ่งทั้งหลายไว้เป็นอย่างดีประการใดก็ตาม โอกาสที่จะสูญเสียสิ่งนั้นไปก็มีได้อยู่เสมอ

ฉะนั้น สิ่งที่คิดว่าปลอดภัยนั้น ก็หาเป็นสิ่งที่ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลาไม่ ความปลอดภัยอย่างแท้จริงนั้นไม่มี ซึ่งก็เป็นอย่างเดียวกันกับการกล่าวว่า สิ่งที่ปรากฏแก่ประสาทสัมผัสของเรานั้นเป็นแต่เพียงภาพลวงตา สัจจะภาวะอันแท้จริงอย่างยิ่งนั้นไม่มี

ประการที่สอง  โลกจักรวาลประกอบด้วยสิ่งที่ตรงกันข้ามประกอบกันเป็นคู่ ดังเช่นสิ่งที่เป็นฝ่ายบวกกับสิ่งที่เป็นฝ่ายลบ สิ่งที่เป็นนามธรรมกับสิ่งที่เป็นรูปธรรม สิ่งที่เป็นภาวะกับสิ่งที่เป็นอภาวะ ชีวิตกับความตาย เช่นนี้เป็นต้น แต่ถ้ามองในแง่ของ เต๋า แล้ว สิ่งที่ตรงกันข้ามกันเป็นคู่เหล่านี้ มีความเกี่ยวข้องซึ่งกันและกันเป็นกระบวนการอันไม่มีที่สิ้นสุด ฉะนั้นในกระบวนการของวิวัฒนาการ ปรากฏการณ์ทุกอันจะต้องมีภาวะที่ขัดแย้งกับปรากฏการณ์นั้นอยู่เสมอ

ที่ใดมีชีวิต ที่นั้นก็ต้องมีความตาย ที่ใดมีความตายที่นั้นก็ต้องมีชีวิต ที่ใดมีลู่ทางที่จะเป็นไปได้ ที่นั้นก็มีลู่ทางที่จะเป็นไปไม่ได้ ที่ใดมีลู่ทางที่จะเป็นไปไม่ได้ ที่นั้นก็มีลู่ทางที่จะเป็นไปได้ เพราะว่ามีสิ่งที่ถูกต้อง ฉะนั้นจึงมีสิ่งที่ผิด เพราะว่ามีสิ่งที่ผิด ฉะนั้นจึงมีสิ่งที่ถูกต้อง

ตามทรรศนะของจวงจื๊อ สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเป็น วัฏจักรของการเปลี่ยนแปลง จากภาวะที่มีมาก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงนั้นเหมือนดังเช่นฤดูกาลเกิดขึ้นและทำลายกันและกัน สืบเนื่องกันไปไม่มีที่สิ้นสุดฉันนั้น
ประการที่สาม ดังที่ได้กล่าวถึงแล้ว สิ่งทั้งปวงในโลกนั้นรวมกันอยู่ใน อนันตภาวะทั้งสิ้น อนันตภาวะนี้คือ ภาวะแห่งวัฏจักรของชีวิตเป็นกระบวนการที่ทวนวิถีของวิวัฒนาการที่ “สรรพสิ่งทั้งปวงเกิดขึ้นจากอนันตภาวะแล้ว กลับคืนไปสู่อนันตภาวะอย่างเดิม” การสืบเนื่องของการทวีขึ้นและการลดลงนั้น ดำเนินไปเป็นวัฏจักร วาระที่สุดของภาวะหนึ่ง คือการเริ่มต้นใหม่ของภาวะอีกอันหนึ่ง

ที่มา:สกล  นิลวรรณ