มหาตมะคานธีผู้ประกาศสงครามอิสรภาพ

Socail Like & Share

คานธี
เมื่อได้ปรากฎว่า รัฐบาลจะไม่ดำเนินตามมติมหาชนตามที่ท่านคานธีได้เสนอไว้ จึงเป็นอันว่าท่านจำต้องเตรียมพร้อมที่จะขัดขืนกฎหมายเนื่องจากท่านให้เวลาแก่ท่านผู้สำเร็จราชการ จนถึงวันที่ ๑๐ เดือนมีนาคม ค.ศ.๑๙๓๐ จึงตกลงว่า จะดำเนินการขัดขืนกฎหมาย ณ วันที่ ๑ เมษายน ๑๙๓๐ เพื่อจะดำเนินการแห่งการขัดขืนกฎหมาย ท่านได้จัดตั้งคณะบริหารขึ้นคณะหนึ่ง เรียกว่าคณะกรรมการสงคราม (War Council) เมื่อคำตอบของท่านผู้สำเร็จราชการมาถึงท่านโดยมีข้อความบ่งว่ารัฐบาลจะไม่แก้ไขนโยบายประการใดๆ ท่านจึงประกาศ “สงครามอิสรภาพ” ต่อรัฐบาลอังกฤาในนามแห่งคองเกรสว่า ประเทศอินเดียจะเริ่มทำสงครามอิสรภาพ แต่วันที่ ๖ เดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๓๐ โดยอาศัยหลักอหิงสาเป็นที่มั่น และการขัดขืนกฎหมายเป็นเครื่องอาวุธ

ดังได้ปรากฎอยู่ในจดหมายของท่านว่า ท่านได้เลือกกฎหมายเกลือเป็นขั้นแรกแห่งการขัดขืน ทั้งนี้โดยอาศัยเหตุผลว่า เกลือเป็นของจำเป็นแม้สำหรับคนอนาถาด้วย ฉะนั้นกฎหมายเกลือจึงนับว่า เป็นกฎหมายที่มีขอบเขตกว้างขวางที่สุด โดยบ่งถึงประชาชนทุกชั้น ทุกวัย ทุกเพศ โดยไม่มีการยกเว้นเลย ฉะนั้น ทุกๆ คนจึงมีโอกาสที่จะขัดขืนกฎหมายได้ ความจริง ไม่มีกฎหมายใดที่มีขอบเขตกว้างขวางดังกฎหมายเกลือ เหระเหตุนี้แหละท่านจึงได้เลือกกฎหมายเกลือเป็นขั้นแรก ตามกฎหมายนี้ประชาชนแม้ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ตามชายทะเล ก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะน้ำทะเลมาทำเกลือเพื่อใช้ส่วนตัวหรือนำเอาไปขายเป็นสินค้าได้ ตามกฎหมายเกลือเป็นสินค้าของรัฐบาลโดยตรง การทำเกลือรัฐบาลลงทุนน้อยมาก แต่ขายโดยอัตราราคาแพงกว่าทุนที่ลงไปนั้นหลายเท่าจำนวนเงินนี้ รัฐบาลถือว่าเป็นภาษีเกลือ ฉะนั้นจึงเป็นอันว่าคำข้าวทุกๆ คำของชาวอินเดียตั้งแต่เด็กอ่อนจนถึงชราผู้จวนจะตาย ต้องเสียภาษีให้แก่รัฐบาล

การขัดขืนกฎหมายเกลือนี้ จึงหมายความว่า คนทุกคนจะพากันไปทะเล นำเอาน้ำทะเลมาทำเกลือโดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาล ท่านได้วางโครงการขัดขืนกฎหมายไว้สามประการคือ

๑. ที่ไหนมีอากส ประชาชนจะมีสิทธิ์ทำเกลือและโดยมิต้องขออนุญาตจากรัฐบาล
๒. ประชาชนจะขนส่งเกลือที่ทำขึ้นแล้วได้ไม่ต้องยอมเสียภาษีให้รัฐบาล
๓. ประชาชนมีสิทธิจะจำหน่ายแจกจ่ายเกลือได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐบาล

มณฑลต่างๆ ที่ประชิดกับฝั่งทะเล ได้รับหน้าที่ให้จัดการงาน ส่วนมณฑลที่ตั้งอยู่ในที่ห่างไกล ก้ได้จัดส่งผู้รับอาสาไปยังที่ทำการขัดขืนกฎหมายเกลือ เพื่อเพิ่มกำลังงานแต่นั้นเป็นเรื่องเกี่ยวแก่ประวัติอินเดียโดยทั่วไป ซึ่งไม่เป็นวิสัยแห่งหนังสือเล่มนี้ ฉะนั้นจึงขอกล่าวถึงพฤติการณ์ของท่านคานธีเฉพาะแต่ผู้เดียวเท่านั้น

เมื่อท่านได้จัดวิธีดำเนินการให้เรียบร้อยแล้ว ท่านได้ประกาศข่าวว่า ณ วันที่ ๑๑ คือ ก่อนวันกำหนดการเดินทางไปดำเนินงานขัดขืนกฎหมาย ท่านจะให้คำขวัญแก่ชนชาวอินเดียทั่วไป ดังนั้นเมื่อถึงวันที่ ๑๑ คนจึงพากันไปชุมนุมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำสวรมติใกล้อาศรมของท่าน ตั้งแต่เช้าตรู่โดยมิรู้จักขาดสาย ซึ่งมีจำนวนนับเป็นพันๆ ครั้งตกเวลาเย็นมหาตมะคานธีก้าวออกจากอาศรมมายังที่ชุมนุมชนที่ประชุมเห็นรูปร่างของท่านผอมแบบบาง แต่ว่าส่อแสดงถึงอำนาจแห่งกำลังใจของท่าน ต่างได้เปล่งวาจาขึ้นเป็นเสียงเดียวกันว่า “วนฺเท มาตรมฺ”  “มหาตมะคานธี กิ ชัย” แล้วเสียงที่ลั่นออกจากลำคอแห่งชนนับเป็นพันๆ นั้น ได้ค่อยๆ หายไปกับกระแสลม ที่ประชุมเงียบสงัดประหนึ่งว่า ไม่มีคนแม้แต่คนเดียว มีแต่เสียงคลื่นในแม่น้ำสวรมติพัดมาตามสายลมกระจายเสียงไปทั่วที่ประชุมนำความเย็นใจสบายกายไปสู่ชุมชนที่กรำความร้อนมาตั้งแต่เช้า มหาตมะคานธีเข้าไปคำนับเหล่าประชาชนด้วยการยิ้ม อันมีประจำอยู่ที่ริมฝีปากของท่านเสมอ ยืนขึ้นบนเวทีที่เขาจัดให้เป็นพิเศษ แล้วให้คำขวัญแก่อาณาประชาราษฎรว่า

“วัตถุประสงค์ของเรามั่นคง อุบายของเราบริสุทธิ์และพระผู้เป็นเจ้าก็ทรงสถิตอยู่กับเรา ผู้ซึ่งยึดมั่นอยู่ในสัจจาเคราะห์ไม่มีการพ่ายแพ้ ขอให้สงครามของเราที่จะเริ่มขึ้นพรุ่งนี้ จงนำมาซึ่งสำเร็จผลเทอญ”

ปัญหาเกิดมีขึ้นกลางคันว่า ถ้าหากท่านคานธีถูกจับเสียแล้วไซร้ก็ใครเล่าจะเป็นผู้นำ ฉะนั้นท่านคานธีจึงได้แนะนำประชาชนให้ดำเนินการขัดขืนกฎหมาย ภายใต้การนำของคองเกรส แต่ถ้าหากในตำบลใดไม่มีคณะคองเกรส ท่านแนะนำว่าให้ถือตนของตนเป็นผู้นำ แล้วกล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อการเฉลยปัญหาแห่งความกล้าหาญอยู่ที่อิสรภาพของประเทศหรือความตายของตน ปัญหาแห่งการเป็นผู้นำจะเกิดขึ้นได้อย่างไรเล่า

มา ณ วันที ๑๒ เป็นวันต้นแห่งการเดินทางเพื่อไปทำสงครามกู้อิสรภาพ ผู้แทนหนังสือพิมพ์ต่างๆ แห่งประเทศอินเดียและต่างประเทส เช่น อเมริกา อังกฤษ เป็นต้น มาคอยอยู่นอกอาศรมตั้งแต่เวลาย่ำรุ่ง ตั้งแต่คืนวานมา ประชาชนพากันมายืนอยู่ตามริมถนนที่ท่านคานธีจะนำกองทัพอหิงสาไปขัดขืนกฎหมาย ณ ฝั่งทะเล คือ เมืองทันที ซึ่งห่างไปจากอาศรมประมาณร้อยไมล์เศษ ท่านตกลงใจจะเดินเท้านำขบวนไปตลอดทางร้อยไมล์เศษ มีแต่แถวมนุษย์ ยิ่งไปกว่านั้นบรรดาต้นไม้ที่มีอยู่ตามริมถนนก็ยัดเยียดไปด้วยผู้คน

เวลาเช้าตรู่ หลังจากที่ท่านคานธีได้ทำการภาวนาแล้วท่านนุ่งผ้าสั้นๆ เพียงท่อนเดียว ใช้ผ้าอีกผืนหนึ่งคลุมตัวถือไม้สักเท้าอันหนึ่ง ออกมาจากบริเวณอาศรมแล้วปฏิญาณตนว่าตราบใดที่ชาวอินเดียทุกคนยังไม่มีเสื้อใส่ ฉันจะไม่สวมเสื้อจะนุ่งผ้าสั้นๆ และห่มผ้าเพียงผืนเดียว ประชาชนเมื่อเห็นท่านคานธีก็ร้องคำว่า “วนฺเทมาตรมฺ” มหาตมะคานธี กี ชัย” เป็นต้นขึ้น แล้วเจิมหน้าผากของท่านเป็นเครื่องหมายการนำมาซึ่งชัยชนะ (คือชัยดีลก) มหาตมะคานธีพร้อมด้วยพวกพรหมจารีย์ ๒๙ คน จึงเริ่มเดินทางต่อไป ฝ่ายทางราชการรัฐบาลมิได้จัดส่งตำรวจออกตรวจตราแม้แต่คนเดียว

มีผู้ส่งข่าวชาวอังกฤษคนหนึ่ง กล่าวถึงคนเดินขบวนของท่านคานธีคราวนี้ว่า “ทัศนียภาพที่ได้เกิดขึ้นก่อนพร้อมกัน และหลังจากเหตุการณ์อันใหญ่หลวงแห่งชาติคราวนี้นับว่าเป็นทัศนียภาพที่เต็มเปี่ยมไปด้วย ความตื่นตัว ความสง่าและทั้งเป็นเครื่องสกิดใจเตือนวิญญาณ ไม่มีภาที่จะบรรยายถึงทัศนียภาพอันนี้ได้ ความแรงกล้าแห่งความรักชาติที่ได้ปรากฎขึ้นในดวงจิตของอินเดีย ณ วันเดินขบวนเพื่อกู้ประเทศให้เป็นอิสระ ความรักชาติอันแรงกล้าเช่นนี้ ไม่เคยมีปรากฎในประวัติศาสตร์แห่งมนุษย์”

ท่านบัณฑิต มติลาลเนหรู ผู้เป็นบิดาของท่านยาวหลาลเนหรุได้กล่าวว่า การเดินขบวนกองทัพของพระรามไปลังกากลายเป็นเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ ทุกๆสถานที่ๆ พระรามเสด็จผ่านไป ได้กลายเป็นปูชนียสถานฉันใด การเดินขบวนของท่านคานธีคราวนี้ ก็เป็นฉันนั้นจะกลายเป็นเรื่องสำคัญในประวัติศาสตร์ และทุกๆ เมืองที่ท่านผ่านไปนั้นจะกลายเป็นปูชนียสถานไปในอนาคต

ในการเดินขบวนคราวนี้ ท่านคานธีมิได้สวมรองเท้าโดยกล่าวว่า ฉันเป็นผู้แทนของพวกคนยากจนผู้ไม่มีผ้าจะนุ่งไม่มีเสื้อจะใส่ และไม่มีรองเท้าจะสวม ฉันจึงไม่ควรสวมรองเท้าเลย เมื่อประชาชนได้ฟังคำพูดดังนั้น ก็พากันไปนำเอาใบไม้อ่อนมาลาดตามถนนที่ท่านจะเดินไป ท่านได้กำหนดไว้ว่าจะเดินทางวันละ ๑๐ ไมล์ ณ สถานที่ๆ หยุดพักแห่งหนึ่ง ท่านได้กล่าวสุนทรพจน์ และนำประชาชนไม่ให้ร่วมมือกับรัฐบาลอังกฤษ เลิกซื้อสินค้าอังกฤษ นุ่งผ้าที่ทำในอินเดีย วันแรกแห่งการเดินทาง ท่านมาถึงเมืองอาสลาลี ณ ที่นั้นท่านแสดงความจำนงใจใจ “ตราบใดที่รัฐบาลจะไม่ยกเลิกกฎหมายเกลือ ฉันจะไม่กลับมาสู่อาศรมอีก คือยอมตายที่กลางถนน”

สิบวันผ่านพ้นไปแล้ว ท่านคานธีได้มาถึงเมืองบอรสาทสุนทรพจน์ที่ท่านแสดงไว้ ณ ที่นั้น มีข้อความสำคัญอยู่หลายข้อดังได้อ้างไว้ในข้างหลัง คือ

“การปกครองของอังกฤษในอินเดีย ได้นำมาซึ่งความเสื่อมทางศีลธรรม ทางวัฒนธรรม ทางจิตใจและทางวัตถุให้แก่มหาประเทศนี้ ฉันจะถือการปกครองนี้ว่าประหนึ่งเป็นคำสาลอินเดีย ฉันดำเนินงานทั้งนี้เพื่อจะทำลายระเบียบรัฐบาลนี้เสีย”

“ฉันเคยร้องเพลง “God save the King” มาแล้ว ทั้งได้สอนคนอื่นให้หัดร้องด้วย ฉันเคยมีความเชื่อถือในหลักการเมือง เช่นการยื่นคำร้อง การเฝ้าและการเจรจา แต่หลักการเหล่านี้มิได้เป็นผลเสียเลย ฉันทราบแลวว่า นี่มิใช่ทางจะเตือนสติรัฐบาลอังกฤษนี้ได้”

“การเผยแพร่ความเกลียดชังต่อรัฐบาลนี้ กลับเป็นธรรมของฉันเสียอีก สงครามของเราคือสงครามอหิงหาเรามิได้กระทำการทั้งนี้เพื่อจะห่าฟันหรือทำรายใคร แต่ฉันเห็นว่าย่อมเป็นธรรมของเราแท้ ที่จะจัดการให้คำสาปคือรัฐบาลนี้หมดฤทธิ์เดชและสิ้นสุดลงโดยพลันทีเดียว

ณ วันที่ ๒๙ ท่านกับคณะเดินทางมาถึงเมืองสุราษฎร์ ณ ที่นั้น ท่านได้แสดงสุนทรพจน์มีข้อความสำคัญที่แสดงความรักชาติที่แท้ดังต่อไปนี้

“เมื่อเช้าวานนี้เอง หลังจากเวลาภาวนา ฉันพูดกับเพื่อนๆ ของฉันว่า บัดนี้เราได้เข้ามาถึงจังหวัดที่เราจะทำการขัดขืนกฎหมาย ฉะนั้นเราควรจะพยายามให้มากขึ้นยิ่งกว่าก่อน เพื่อจะทำจิตใจของเราให้บริสุทธิ์หมดจด ทั้งฉันขอกล่าวคำตักเตือนซ้ำอีกว่า จังหวัดนี้ เป็นจังหวัดที่มีระเบียบเรียบร้อยดี ทั้งมีผู้ร่วมงานของเราหลายท่านด้วย เราคงจะได้รับการต้อนรับและความสรรเสริญมากยิ่ง แต่พวกเราทั้งหลายไม่ควรจะปล่อยตัวให้ลอยเหลิงเพราะคำสรรเสริญนั้น เรามิใช่เทวดา เราเป็นคนอ่อนแอมีช่องทางที่อาจจะถูกล่อลวงให้หลงทางก็ได้ มีโอกาสมากหลายที่จะพลาดจากกรณียกิจของเรา แม้เช้าวันนี้เองก็ปรากฎว่าเราได้หลงทาง กล่าวคือ ผู้ร่วมงานของเราซึ่งประจำสถานที่นี้ ได้จัดส่งนมมาทางรถยนต์มาให้เรารับ ซึ่งนับว่าเป็นการหมดเปลืองค่าใช้จ่ายมิใช่น้อย และซึ่งฉันเห็นว่าเป็นการไม่บังควรยิ่ง ฉันจึงได้คัดค้านอย่างแรงแต่การคัดค้านนี้จะได้บรรเทาทุกข์ของฉันให้สิ้นเชิงไปก็หาไม่ ตรงกันข้ามกลับทำให้เพิ่มความทุกข์ใจขึ้นอีกอย่างใหญ่หลวง โดยมารำพึงเห็นว่า “เมื่อประชาชนกำลังหิวข้าวอยู่ เราก็ยังกล้าทำการเลี้ยงโต๊ะกันได้”

“อาศัยเหตุการณ์เช่นนี้ ฉันจะมีสิทธิอะไรเล่าที่จะกล้าคัดค้านเงินเดือนของผู้สำเร็จราชการ อันมีอัตรา ๕๐๐๐ เท่าของเงินรายได้ของอินเดีย โดยคิดตามส่วนเฉลี่ยของอินเดีย เราจะทนดูความไม่ยุติธรรมเช่นนี้ได้อย่างไร ฉันไม่ติเตียนผู้สำเร็จราชการในฐานะเป็นบุคคล ท่านผู้นี้ไม่ต้องพึ่งเงินเดือนเลี้ยงชีพ พระเจ้าทรงอำนวยความมั่งคั่งให้ท่าน ทั้งแนได้คาดคะเนไว้ในจดหมายฉบับนั้นว่า ท่านคงบริจาคเงินก้อนนี้ทั้งหมดในทางการกุศล ต่อมาฉันก็ได้ทราบว่าความคะเนของฉันเป็นความจริง ถึงกระนั้น ฉันก็ยังคัดค้านเสมอ ไม่ให้ท่านรับเงินเดือนแพงถึงเช่นนี้ ฉันไม่สามารถที่จะให้โว๊ตเพื่อรับเงินเดือนๆ ละ ๒๐,๐๐๐ รูปี แม้เดือนละ ๒,๑๐๐ รูปี ก็ไม่ยอม แต่ฉันคัดค้านได้เมื่อไร ตราบใดที่ฉันยังดำรงชีพอยู่โดยใช้เงินมากไปกว่า ๗ สตางค์ต่อ ๑ วัน ซึ่งเป็นรายได้ของอินเดียโดยคิดเฉลี่ย ฉันไม่สามารถที่จะคัดค้านหลักการรับเงินเดือนแพงเช่นนั้นได้ ฉันคัดค้านได้ต่อเมื่อค่าใช้จ่ายในการดำรงชีวิตไม่สูงกว่ารายได้คิดเฉลี่ยของประเทศ พวกเรากำลังเดินอยู่ในนามของพระเจ้า พวกเราประกาศตนว่ากำลังต่อสู้ในนามของผู้ไม่มีข้าวกิน ไม่มีผ้านุ่ง ไม่มีงานทำ ฉันได้ขอดูบัญชีการใช้จ่ายเงินเพื่อเลี้ยงดูฉัน ฉันจะไม่รู้สึกแปลกใจเลย ถ้าฉันเห็นว่า ท่านทั้งหลายได้จ่ายเงินมากกว่า ๗ สตางค์ ๕๐ เท่า เมื่อฉันต้องการส้มเพียง ๑๒ ผล ท่านนำมาให้ ๑๒๐ ผล เมื่อฉันต้องการนมเพียงขวดเดียว ท่านนำมาให้ ๔ ขวด พวกเราอาจรับทุกๆ สิ่งที่ท่านทั้งหลายนำมาให้ทั้งนี้ก็โดยคิดว่าถ้าเราไม่รับไว้ ท่านทั้งหลายคงรู้สึกเสียใจ แล้วท่านทั้งหลายจงคิดดูว่า ฉันเขียนจดหมายส่งไปยังผู้สำเร็จราชการ โดยใช้ปากกาหมึกซึมที่ท่านเอามาให้เป็นของขวัญ การให้ของขวัญเช่นนี้เหมาะสำหรับท่านหรือของฉัน การเขียนจดหมายด้วยปากกาหมึกซึม จะบังเกิดผลอย่างวิเศษหรือ

ถ้าเราดำรงชีวิตตามแบบนี้แล้วไซร้ ก็ตรงกับภาษิตที่ว่า “อาหารที่ขโมยเอามา คือ ประดุจการรับประทานปรอทสดๆ “ และฉันเห็นว่า การดำรงชีวิตโดยใช้เงินเหนือไปกว่ากำลังของประเทศที่ยากจน ก็เป็นการรับประทานอาหารที่ขโมยมานั่นเอง ถ้าเราดำรงชีวิตเหนือไปกว่ารายได้ ทั้งฉันก็มิได้นำขบวนนี้มา เพื่อว่าจะดำรงชีพเหนือไปกว่าเงินรายได้ของเรา ฉันหวังว่า ผู้รับอาสานับจำนวนพันๆ จะเข้ามาร่วมงาน ถ้าปล่อยให้พวกเขาดำรงชีพอย่างฟุ่มเฟือยเช่นนี้ เขาจะไม่สามารถต่อต้านกำลังต่อสู้ได้ ชีวิตของฉันเต็มไปด้วยธุระมากมาย ถึงกับไม่สามารถที่จะติดต่อเป็นส่วนตัว แม้กับคน ๘๐ คน ที่เข้ามาก่อนได้ ฉะนั้นฉันจึงไม่มีทางใด นอกจากที่จะเปิดเผยความในใจแก่มหาชนทั่วไป ฉันขอร้องให้ท่านทั้งหลายเข้าใจในจุดหมายแห่งคำขวัญของฉัน ถ้าท่านไม่เข้าใจ ก็ไม่มีหวังที่จะบรรลุถึงสุวราช โดยทางที่เราดำเนินอยู่ได้ เราต้องเป็นผู้รับฉันทะของมหาชนที่ถูกปิดปากไว้”

นี่แหละคือจิตใจของผู้นำอินเดีย ผู้ไม่ยอมรับของขวัญหรือของตอบแทน และยังไม่ยอมดำรงชีพโดยใช้จ่ายมากไปกว่ารายได้ในส่วนเฉลี่ยของชาติ ไม่ต้องสงสัยว่า สุนทรพจน์คราวนี้ ได้ก่อให้เกิดอิทธิพลขึ้นอย่างมากมาย พวกผู้รับอาสาได้สำรวมตนเคร่งครัดยิ่งขึ้นไปกว่าก่อน ประชาชนไม่มีใครกล้าให้ของขวัญแก่ท่านคานธีหรือพวกผู้รับอาสา นอกจากที่จะให้สำหรับใช้สอยในการรับใช้ประเทศ แต่ว่าเมื่อท่านคานธีตัดหนทางไม่ให้ของขวัญแก่ท่าน ทั่วอินเดียได้สถาปนาภาพของท่านไว้ในห้วงหทัยเพื่อทำสักการะบูชาตลอดไป

ในที่สุด วันที่ ๕ เดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๓๐ เวลาเช้าท่านกับคณะของท่าน ก็ได้มาถึงเมืองทันทีที่เป็นจุดมุ่งหมาย ตลอดเวลาแห่งการเดินทาง ไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลทำการปราบปรามขัดขวางหรือห้ามแม้แต่ประการไร ความสงสัยจึงเกิดมีขึ้นมาว่า ณ วันที่ ๖ ซึ่งเป็นวันเริ่ม “สงครามอิสรภาพ” โดยการขัดขืนกฎหมายเกลือนี้ รัฐบาลจะดำเนินนโยบายเป็นอย่างไร สถานการณ์แห่งอินเดียถึงความตรึงเครียดจนถึงวาระที่สุด หัวเมืองริมทะเลทุกๆ เมืองต่างเตรียมการขัดขืนกฎหมายเกลือไว้พร้อมสรรพ เป็นแต่คอยท่านคานธีให้เปิดฉากการขัดขืนขึ้นเป็นครั้งแรกก่อน คองเกรสได้จัดเตรียมการล่วงหน้าไว้ก่อนแล้ว เป็นแต่คอยฟังข่าวแห่งการขัดขืนกฎหมาย ซึ่งท่านคานธีเป็นผู้นำ ว่าจะแพร่หลายไปทั่วถึงเมื่อใด สำนักต่างๆ ก็จะได้เริ่มการขัดขืนตามทันทีเมื่อนั้น

วันที่ ๕ เมื่อท่านมาถึงเมืองทันทีแล้ว ท่านได้ให้สัมภาษณ์แก่บริษัทส่งข่าว Associated Press ว่า

“ฉันขอแสดงความขอบคุณพระผู้เป็นเจ้า ในการที่งานขั้นแรกได้สำเร็จไปด้วยดี ทั้งฉันขอแสดงความขอบใจรัฐบาลที่ได้ดำเนินนโยบายการไม่เอื้อมมือเข้ามาเกี่ยวข้อง ตลอดเวลาที่ฉันนำขบวนมา เมื่อเร็วๆ นี้รัฐบาลได้ดำเนินการอย่างเด็กๆ ในการจับกุมท่านวลุลภไภ และท่านเสนคปุตะ ฉะนั้นฉันจึงไม่นึกฝันว่า รัฐบาลจะไม่เอื้อมมือเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ในที่นี้ขอกล่าวว่า ฉันไม่ใช่คนโง่ถึงกับที่จะเข้าใจเอาเองว่า เพราะรัฐบาลหมดความสามารถจึงมิได้ดำเนินนโยบายที่แล้วๆ มา คือยั่วประชาชนให้เกิดความเคืองแค้นก่อน แล้วลงอาญาตามหลัง ฉันปรารถนาจริงๆ ที่จะได้เห็นนโยบายการไม่เอื้อมมือเข้ามาเกี่ยวข้องคราวนี้นั้น สามารถดัดแปลงจิตใจและนโยบายของรัฐบาลให้มั่นคงถาวร แต่ว่ามันไม่มีหวังที่จะเป็นไปได้แน่ เพราะรัฐบาลได้เคยขัดขืนประชามติภายในสภานิติบัญญัติ และทั้งได้ดำเนินนโยบายอย่างข่มขี่เสียด้วยซ้ำ เหตุการณ์เหล่านี้ย่อมส่อให้เห็นชัดว่า นโยบายการแสวงหาประโยชน์ส่วนตัวจากประเทศอินเดียอย่างไร้เมตตากรุณาคงจะดำรงอยู่โดยประการทั้งปวง ฉะนั้นฉันจึงตีความแห่งการไม่ร่วมมือเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังรัฐบาลได้ดำเนินมาในคราวนี้ว่า รัฐบาลอังกฤษถึงจะเป็นมหาอำนาจก็จริง แต่ยังมีความหวาดกลัวต่อมติสากลโลก ที่ไม่เห็นพ้องต้องด้วยนโยบายปราบปรามการผันผวนทางการเมืองที่เป็นไปในทางอหิงสาอยู่”

“ฉะนั้น บัดนี้เราจึงต้องคอยดูต่อไปว่า รัฐบาลจะทนดูการขัดขืนกฎหมายเกลือ ที่ประชาชนมีจำนวนนับไม่ถ้วน จะลงมือกระทำกัน ตั้งแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปอย่างไร ฉันหวังว่าข้อตกลงของคณะบริหารแห่งคองเกรส จะได้รับความนิยมชมชอบจากมหาชนอย่างแพร่หลาย ตามที่ฉันสังเกตมาแล้ว ฉันยังมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องถอนคำประกาศที่ฉันได้ประกาศไว้ก่อนนั้น กล่าวคือ สโมสร สมาคม หรือคณะทุกคณะทั่วอาณาจักรอินเดีย มีอิสระที่จะขัดขืนกฎหมายเกลือ ซึ่งจะเริ่มแต่วันพรุ่งนี้เป็นต้นไปได้  ถ้าพระเจ้าทรงประสงค์แล้วไซร้ ฉันพร้อมด้วยมิตรสหายทั้งปวง จะขัดขืนกฎหมายตั้งแต่พรุ่งนี้ (คือ วันที่ ๖ เดือนเมษายน) เวลาเช้า ๖ น. ๓๐ นาที เป็นต้นไป วันที่ ๖ เดือนเมษายน เป็นวันแสดงอาบัติและชำระตนให้บริสุทธิ์สำหรับเรา เพราะวันนี้เป็นวันที่รัฐบาลทำการฆาตกรรมที่เมืองชาลิยานวาลาวาค ฉะนั้นพวกเราจึงต้อนรับวันนั้นด้วยการภาวนาและสมาทานอุโบสถศีล ฉันหวังว่าทั่วอินเดียจะถือสัปดาห์ๆ หนึ่ง ซึ่งจะเริ่มต้นตั้งแต่พรุ่งนี้ว่าเป็นสัปดาห์แห่งชาติ (National Week) ฉันตั้งใจแน่วแน่ว่า เราทำการเสียสละยิ่งเพียงใด เราทำตนให้บริสุทธิ์ยิ่งเพียงใด ความสำเร็จผลอันประเสริฐยิ่งที่พลเมืองนับจำนวนล้านๆ พยายามจะบรรลุถึงอยู่นั้น จะเข้ามาใกล้เพียงนั้น”

ในที่สุดราตรีกาลอันมืดมนต์ แห่งความไร้อิสรภาพได้ผ่านพ้นไปโดยไม่มีวันจะกลับคืน วันที่ ๖ ได้เบิกอรุณทอแสงแห่งอิสรภาพแผ่ซ่านไปทั่วอาณาเขตอินเดียเบื้องบนมีกลุ่มเมฆเป็นคลื่นซ้อนซับสลับกันเป็นทิวแถว อาบไปด้วยแสงทองแห่งอาทิตย์อุทัย ประหนึ่งเป็นกนกอาส์นสำหรับรับเทพนิกรจะมานั่งคอยดูสงครามอิสรภาพที่จะเริ่มขึ้น ณ บัดนี้ เบื้องหน้ามหาสมุทรอินเดียเต้นเร่าๆ อยู่กับพระพาย บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย คอยต้อนรับผู้นำสงครามอิสรภาพอยู่ ณ ชายฝั่งทะเล ท่านคานธีตื่นขึ้นแต่เช้าตรู่ทำการภาวนารวมด้วยมิตรสหาย แนะนำพวกผู้รับอาสาว่า หากตัวท่านถูกจับ ขอให้ตั้งท่านอาพุพาสตยาพชี เป็นผู้นำแทนต่อไป

แล้วมหาตมะคานธี พร้อมด้วยพรหมจารีย์ ๘๔ คน ค่อยๆ เดินไปยังฝั่งทะเล ประชาชนนับพันๆ กำลังคอยกันอยู่ตั้งแต่วันวาน ผู้แทนหนังสือพิมพ์ในประเทศต่างเตรียมพร้อมที่จะจับปากกาบันทึกเหตุการณ์ทุกประการไว้ อย่างละเอียดละออ แต่ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ณ ที่นั้นไม่มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลอยู่แม้แต่สักคนเดียว

ท่านคานธีเกาะบ่านางสาวอาพุพาสยาพชี ผู้เป็นบุตรีของท่านอาพุพาสตยาพชีอยู่ ผู้นำอื่นๆ และพวกผู้รับอาสาที่เป็นพรหมจารีย์เดินตามหลังลงไปยังชายหาดเพื่ออาบน้ำ เมื่ออาบน้ำสำเร็จเสร็จไปแล้ว ท่านก็ลงมือเก็บเกลือซึ่งมีอยู่กระจัดกระจายอยู่ตามชายฝั่งทะเล โดยทำหน้าที่ในฐานะเป็นผู้นำขัดขืนกฎหมายเกลือ และผู้รับอาสาอื่นๆ ก็ดำเนินตามนางสโรชินี นายดู ผู้ที่เป็นผู้นำอินเดียคนหนึ่ง ได้ต้อนรับท่านคานธีโดยให้สมัญญาว่า “ท่านผู้ละเมิดกฎหมาย”

ครั้นก่อการขัดขืนกฎหมายสำเร็จพิธีแล้ว ท่านได้ประกาสคำแถลงการณ์ลงในหน้าหนังสือพิมพ์ทุกฉบับว่า

“บัดนี้พิธีการขัดขืนกฎหมายเกลือได้กระทำกันแล้ว ฉะนั้นทุกๆ คนที่กล้าเสี่ยงภัยในการถูกฟ้องตามกฎหมายมาตรานี้มีอิสระที่จะทำการขัดขืนกฎหมายทำเกลือได้ในที่ทุกแห่งและทุกเวลา ฉันขอแนะนำว่า พวกผู้รับอาสาจะต้องทำเกลือทุกคน และถ้าเราทำเกลือชนิดบริสุทธิ์ได้ เราควรจะเอาเกลือนั้นไปใช้ และทั้งได้แนะนำพลเมืองให้ช่วยด้วยทั้งพวกผู้รับอาสาก็ควรจะบอกกล่าวแก่พลเมืองเสียด้วยว่า การนำเกลือเถื่อนไปใช้นี้ อาจจะเป็นเหตุให้เขาถูกฟ้องร้องก็เป็นได้ หรืออีกนัยหนึ่งพวกผู้รับอาสาควรจะอธิบายให้ชาวบ้านเข้าใจ ในผลร้ายที่จะสืบเนื่องมาแต่การไม่ยอมเสียภาษีเกลือ และทั้งควรอธิบายถึงวิธีการขัดขืนกฎหมายว่า เขาทำกันเพื่อจะบังคับให้รัฐบาลเลิกภาษีเกลือเสีย”

“สงครามเพิกถอนภาษีเกลือ เราต้องดำเนินกันตลอดสัปดาห์แห่งชาติ คือจนถึงวันที่ ๑๓ เดือนเมษายน ผู้ซึ่งไม่ติดงานอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ต้องช่วยทำการโปรปะกันดา เพื่อบอยค๊อตผ้าต่างประเทศ และให้ใช้ผ้าอินเดียแทนทั้งต้องพยายามทอผ้าให้ได้มากยิ่งขึ้นตามมีตามเกิด ส่วนการยกเลิกการซื้อขายของมึนเมา ฉันกำลังเตรียมคำขวัญสำหรับหญิงอินเดีย ซึ่งฉันมีความไว้วางใจเพิ่มขึ้นทุกทีว่าจะช่วยกู้ประเทสให้เป็นอิสระได้มากกว่าชาย ฉันยังเห็นว่าหญิงจะอธบายความลึกซึ้งแห่งอหิงสาได้ดีกว่าชาย ทั้งนี้มิใช่เพราะเหตุที่หญิงเป็นเพศอ่อนแอ ดังที่ชายพากันเข้าใจ แต่เพราะเหตุที่หญิงมีความกล้าหาญชอบธรรม และมีนิสัยเสียสละยิ่งกว่าชายหลายเท่า”

หลังจากการแสดงสุนทรพจน์ดังข้างต้นนี้ มีคนหนึ่งถามท่านว่าตลอดสัปดาห์แห่งชาตินี้ ท่านจะทำอะไรบ้าง ท่านตอบว่า “ฉันมีธุระที่จะต้องทำมาก” และหัวเราะดังแล้วพูดเพิ่มเติมต่อไปว่า “ฉันจะปลุกใจประชาชนให้ทำเกลือเถื่อน”

การขัดขืนกฎหมายโดยท่านคานธี เป็นเพียงแต่พิธีสัญญาณให้อินเดียดำเนินการขัดขืนขึ้นในทันทีทันใดเท่านั้น ฉะนั้นเมื่อข่าวการขัดขืนได้แพร่สพัดไปทั่วอินเดียโดยทางโทรศัพท์และโทรเลข ประชาชนก็ลุกขึ้นเริ่มดำเนินการขัดขืนกฎหมายเกลือขึ้นหลายร้อยแห่ง ถึงรัฐบาลจะได้รักษานโยบายการไม่เอื้อมมือไปเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของท่านคานธี เฉพาะผู้เดียวก็จริง แต่ส่วนการเคลื่อนไหวในที่อื่นๆ หาเป็นเช่นนั้นไม่ ดังนั้นการจับกุมของรัฐบาลจึงได้ดำเนินไปพร้อมๆ กับการขัดขืนกฎหมายของประชาชน พวกผู้รับอาสาทำเกลือเถื่อนบรรจุเกลือใส่ห่อเล็กๆ พาไปเที่ยวขายตามถนนอย่างเปิดเผย ประชาชนพากันมาซื้อประดุจเป็นของศักดิ์สิทธิ์ บางคนรับซื้อโดยบริจาคเงินราคานับร้อยรูปี พันรูปีก็มี จำนวนเงินเหล่านี้ได้นำไปใช้ในการดำเนินกิจการของคองเกรส ตลอดสัปดาห์แห่งชาติการทำและการซื้อขายเกลือได้ดำเนินไปในทำนองนี้ สมัยนั้นท่านบัณฑิตชวาหัรวาลเป็นประธานของคองเกรส วันที่ ๑๓ เป็นวันสุดท้ายแห่งสัปดห์แห่งชาติ ท่านชวาหัรวาลถูกจับวันนั้น จำนวนผู้ที่ถูกลงอาญาถึงจำคุกตลอดสัปดาห์นั้นมีถึง ๒๐๐ กว่าคน เมื่อสัปดาห์หนึ่งผ่านพ้นไปแล้ว ท่านคานธีมีความพอใจในการดำเนินกิจการของประชาชน จึงกล่าวคำขวัญว่า

“อาศัยข่าวตามที่ฉันได้รับมาจนบัดนี้ ฉันเข้าใจว่าการขัดขืนกฎหมายโดยมหาชน แสดงอานุภาพเหนือรัฐบาลแล้วอย่างมากมาย และทั้งรัฐบาลก็ไม่ยอมปล่อยให้ผู้นำทั้งหลายลอยตัวเป็นอิสระ ฉันขอขอบใจรัฐบาล”

“ถ้ารัฐบาลจะปล่อยพวกขัดขืนกฎหมาย ให้ดำเนินการตามอำเภอใจ ก็คงจะกลายเป็นเหตุการณ์ที่น่าพิศวงมาก แต่ว่าถ้ารัฐบาลจะทำการทรมานตัวพวกผู้ขัดขืนกฎหมาย และริบทรัพย์สมบัติของเขา โดยไม่ดำเนินตามกฎหมาย ก็จะเป็นการกระทำอย่างป่าเถื่อนแท้”

“ส่วนการกล่าวหา และลงอาญาตามกฎหมายนั้นเราไม่ว่าอะไร เพราะนั่นเป็นผลลัพธ์ที่ผู้ขัดขืนกฎหมายจะต้องรับ ผู้ขัดขืนกฎหมายจะบรรลุผลสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อเขาไม่ยอมบิดพริ้วประการไร ทั้งประชาชนที่เขาเป็นผู้แทนก็จะไม่ท้อใจเมื่อเขาถูกจับ นี้เป็นเวลาที่ทุกคนจะต้องดำเนินหน้าที่ ๒ ประการ คือ หน้าที่แห่งผู้นำ กับหน้าที่แห่งผู้ตาม”

“บัดนี้ได้ถูกจำคุกแล้วหลายๆ คน ฉะนั้นถ้าในสมัยนี้พวกนักเรียนและนิสิต ไม่บอยค๊อตโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของรัฐบาล และทั้งไม่ลงมือทำการขัดขืนกฎหมายเพื่อกู้ประเทศแล้วไซร้ ฉันจะรู้สึกเสียใจมิใช่น้อย”

การร้องเรียกนักเรียนและนิสิตคราวนี้ ได้ผลเกิดคาดยิ่งกว่าคราวที่แล้วมา มหาวิทยาลัยกลับเป็นสถานที่ว่างเปล่าอยู่อีกครั้งหนึ่ง ถึงกับทางการจำต้องประกาศหยุดเทอมเป็นพิเศษ คราวนี้มิใช่เฉพาะแต่นิสิต แม้พวกศาสตราจารย์ก็มีหลายท่านที่ได้ทำการบอยค๊อตมหาวิทยาลัยและสมัครเป็นผู้ขัดขืนกฎหมาย มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐบาลก็มีอีกหลายคน พวกทนายความนับจำนวนร้อย ก็ได้ทำการบอยค๊อตรัฐบาลและศาล และมาสมัครเข้าพวกเป็นผู้ขัดขืนกฎหมาย

สัปดาห์แห่งชาติได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยนำกำลังมาสู่คองเกรสอย่างมากมาย รัฐบาลเห็นว่า นโยบายการลงอาญาไม่สามารถจะระงับเหตุการณ์นี้ได้แม้แต่น้อย หากแต่กลับช่วยส่งเสริมให้ทวีขึ้นเท่านั้น จึงเปลี่ยนนโยบายเก่า ดำเนินนโยบายใหม่ คือไม่กล่าวหาผู้ซื้อขายเกลือ แต่แย่งชิงริบเอาเกลือนั้นไปเสีย

ท่านคานธีจึงประกาศคำสั่งแก่พวกผู้ขัดขืนกฎหมายโดยด่วนว่า

“รัฐบาลคงเห็นว่า การจัดการตามกฎหมาย เป็นการยุ่งยากมาก แต่ว่ารัฐบาลได้ตั้งต้นกิจการแล้วเป็นอย่างดี ฉะนั้นขอให้รัฐบาลสำเร็จผลด้วยดี ถ้ารัฐบาลดำเนินนโยบายการขู่เข็ญ รัฐบาลจะเห็นว่าประชาชนอินเดียเตรียมพร้อมอยู่ ขอให้ประชาชนทั้งหลาย จงช่วยกันป้องกันเกลือที่ติดอยู่กับตัวไว้ให้จงดี อย่ายอมให้ใครช่วงชิงเอาไปได้เป็นอันขาด แต่การป้องกันต้องกระทำโดยไม่คิดปองร้าย โดยไม่โกรธเคืองและโดยไม่ใช้ผรุสวาจาตำรวจมีทางง่ายที่สุด ถ้าจะจับเอาเกลือนั้นให้ได้ คือจับตัวผู้ที่มีเกลือไป เมื่อจับตัวเจ้าของเกลือไปได้แล้ว เกลือก็จะต้องตกเป็นของตำรวจอยู่เอง แต่ทว่าการริบเกลือนั้น ตำรวจจะริบได้ก็ต่อเมื่อได้ฟ้องร้องแล้ว ก่อนนั้นเราจะไม่ยอมให้ริบเอาไป”

ผลแห่งคำประกาสนี้ก็คือ ทำให้เรือนจำเต็มไปด้วยพวกขัดขืนกฎหมาย ถึงกับรัฐบาลต้องสร้างเรือนจำชั่วคราวขึ้นหลายแห่ง ประชาชนทั้งหญิงชายถูกจับนับจำนวนมิใช่เป็นพันๆ แต่เป็นหมื่นๆ

แต่ทว่าการจับกุมลงอาญาเช่นว่านี้ หาได้บันดาลผลให้ระงับความตื่นตัวในคราวนี้ลงได้ไม่ ยิ่งรัฐบาลจับกุมมากเพียงใด คนก็เข้ามารับตำแหน่งของผู้ที่ถูกจับไปแทนทันที ใช่แต่ชายเท่านั้น แม้จำนวนหญิงก้ได้เพิ่มทวีคูณขึ้นทุกที ถึงกับท่านคานีเห็นจำเป็นที่จะห้ามหญิงไม่ให้เกี่ยวข้องกับการขัดขืนกฎหมายเกลือ โดยออกคำแถลงการณ์ว่า

“หญิงไม่ควรร่วมมือกับชาย ในการขัดขืนกฎหมายเกลือฉันยังชอบใจรัฐบาลอยู่ โดยคะเนว่ารัฐบาลคงจะไม่ต่อสู้กับเพศหญิง ฉะนั้นถ้าเราจะยั่วรัฐบาลให้ทำเช่นนั้นแล้วไซร้ก็เป็นอันว่านั่นเป็นความผิดของเรานั่นเอง ตราบใดที่รัฐบาลจำกัดอำนาจของตนไว้เพียงภายในพวกเพศชาย ตราบนั้นการขัดขืนกฎหมายเกลือ ก็เป็นเพียงสงครามแห่งพวกชายแต่เพศเดียว แต่ว่าเมื่อใดรัฐบาลกล้าข้ามเขตกำหนดนี้ หญิงจะได้โอกาสที่จะต้องรับความหักหาญของรัฐบาลมากมายทีเดียวขออย่าเปิดโอกาสให้ใครๆ ล่วงพูดได้ว่า พวกชายเราหนีไปแอบอยู่ข้างหลังหญิง ทั้งนี้โดยอ้างว่า ถ้าเอาหญิงออกหน้าในการขัดขืนกฎหมาย รัฐบาลจะไม่หักหาญพวกผู้ขัดขืนตามโครงการที่ฉันได้วางไว้ หญิงมีงานเต็มมืออยู่แล้วจึงไม่จำเป็นที่จะเข้าไปเสี่ยงอันตราย ในการขัดขืนกฎหมายเกลือเลย”

ดังนั้น หญิงจึงได้รับหน้าที่คือ การช่วยปิดการซื้อสินค้าต่างประเทส การซื้อของเมา การเที่ยวสั่งสอนประชาชนเป็นต้น

ในไม่ช้า บรรดาเรือนจำของอินเดีย คับคั่งไปด้วยพวกขัดขืนกฎหมาย ท่านผู้นำทั้งหลายจะได้พ้นไปจากกำมือแห่งอำนาจการทรมานก็หาไม่ นอกจากท่านคานธีคนเดียว ผู้นำอื่นแทบทุกท่านได้เปลี่ยนตำแหน่งเป็นแขกของรัฐบาล พักอยู่ในเรือนจำ แต่รัฐบาลยังไม่กล้าพอที่จะลงมือจับท่านคานธี

เมื่อรัฐบาลเห็นว่า การจับกุมมิได้บังเกิดผลประการไรจึงเลิกการจับกุม และเริ่มใช้วิธีขับไล่โดยการทุบตีพวกผู้ขัดขืนกฎหมาย จากที่ชุมนุมหรือที่ทำเกลือ การขัดขืนกฎหมายทำกันอย่างแรงกล้า ในมณฑลเบงคอลมากกว่ามณฑลอื่นๆ รัฐบาลจึงออกประกาศกฎหมายฉุกเฉินเฉพาะมณฑลเบงคอล ครั้งแรกสำหรับชั่วเวลา ๖ เดือน แล้วต่อมมาให้เพิ่มเวลาอีก ๖ เดือน ส่วนการขับไล่โดยวิธีทุบตีก็ทำกันอยู่ทั่วมณฑล แต่มหาชนมิใช่พระอรหันต์หรืออริยบุคคล ฉะนั้นเมื่อถูกทุบตีเรื่อยๆ ไปโดยไม่รู้จักหยุดหย่อน ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่ในเวลาบางครั้งบางคราวในที่บางแห่ง เขาต้องตีตอบบ้าง เมื่อเหตุการณ์ชนิดนี้ปรากฎขั้น รัฐบาลก็ฉวยโอกาสจากเหตุการณ์นี้ทันที แล้วได้สั่งให้ยิงด้วยปืนแทนการตี รัฐบาลคงหวังว่า ถ้าเริ่มใช้วิธียิงด้วยปืน ท่านคานีคงจะเลิกล้มการขัดขืนกฎหมายดังได้กระทำมาแล้วในคราวก่อนแต่คราวนี้ ความหวังของรัฐบาลได้ผิดความคาดหมายทีเดียวแทนที่จะเลิกการขัดขืนกฎหมายท่านกลับออกแถลงการณ์ว่า “ถ้ารัฐบาลไม่เลิกจับพวกผู้ขัดขืนกฎหมายเกลือหรือไม่ยกเลิกภาษีเกลือ รัฐบาลจะได้เห็นว่า ชาวอินเดียทุกคนยินดีที่จะยอมรับลูกปืน แทนการรับความทรมาน”

ประชาชนจะรักษาความเรียบร้อยสักเท่าไรก็ตาม ท่านคานธีจะออกแถลงการณ์กี่ฉบับก็ตาม รัฐบาลหาได้ยกเลิกการปราบปรามประการไรไม่ ปืนกล รถเกราะ ฯลฯ เดินขบวนไปตามถนนสายใหญ่สายเล็กแทบทุกวัน กลุ่มทหารยืนคอยเฝ้าอยู่ตามมุมและสี่แยกถนน ตลอดวันตลอดคืน การจับกุม การทรมาน การเฆี่ยนตีได้ทวีคูณเพิ่มขึ้นทุกที หนังสือพิมพ์ทุกฉบับลงบทนำ แนะนำมหาชนให้ต่อต้านอำนาจรัฐโดยไม่ยอมถอยหลังแม้แต่ก้าวเดียว ทั้งได้คัดค้านนโยบายของรัฐบาลอย่างแรงกล้า ถึงกับรัฐบาลเห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องปิดปากหนังสือพิมพ์ โดยออกกฎหมายควบคุมการพิมพ์สำหรับการฉุกเฉินชั่วคราว รัฐบาลร้องเรียกเงินประกันจากหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ หนังสือพิมพ์คองเกรสซึ่งถือหลักการว่า จะไม่ยอมเสียเงินให้แก่รัฐบาลไม่ว่าในทางใดทางหนึ่งนั้นตกลงต้องพิมพ์ด้วยเครื่องโรเนียว ในเรื่องการออกกฏหมายควบคุมการพิมพ์คราวนี้ ท่านคานธีออกแถลงการณ์ว่า

“พระราชบัญญัติการพิมพ์ที่ตายมานานแล้ว บัดนี้รัฐบาลได้ปลุกให้ฟื้นขึ้นเป็นกฎหมายสำหรับความฉุกเฉินแต่เราได้คาดไว้แต่ก่อนว่า รัฐบาลจะทำเช่นนั้นกฎหมายฉบับใหม่นี้มีข้อบังคับร้ายแรงกว่าฉบับเก่า”

“เราเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตามที แต่เป็นความจริงที่เวลานี้เราอาศัยอยู่ภายในกฎอัยการศึก ที่จริงกฎอัยการศึกก็คือความชอบใจของผู้บังคับบัญชานั่นเอง ณ บัดนี้ผู้สำเร็จราชการดำรงตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชา และเมื่อท่านเห็นสมควร ท่านจะละเมิดกฎหมายทั้งหมด ทั้งกฎหมายทั่วไปและข้อบัญญัติ (Statute) แล้วออกกฤษฎีกาตามความชอบใจ อย่างไรก็ดี ฉันเห็นว่า สมัยแห่งการนอบน้อมต่อการเผด็จการของรัฐบาลอังกฤษ ได้ผ่านพ้นไปแล้วโดยไม่มีเวลากลับมาอีก”

“ฉันหวังว่า ประชาชนจะไม่คร้ามกลัวพระราชกฤษฎีกานี้เลย ถ้าหากว่าพวกหนังสือพิมพ์สมที่จะได้ชื่อว่าเป็นผู้แทนเสียงมหาชนจริงแล้วไซร้ จะไม่เกรงกลัวต่อพระราชกฤษฎีกาเลย ขอให้พวกเราทั้งหลายจงจำคติของท่านโทโรว่า ภายใต้การปกครองอย่างชนิดกดขี่ ผู้ซื่อสัตย์ไม่สามารถจะทำตัวเป็นคนมั่งมีขึ้นได้เลย เราตั้งใจแล้วว่าจะมอบร่างกายของเราแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาล โดยไม่บ่นรำพันแม้แต่คำเดียว ฉะนั้นขอให้เราตั้งใจอีกครั้งหนึ่งว่า เราเตรียมพร้อมที่จะมอบทรัพย์สมบัติของเราให้แก่รัฐบาลแต่จะไม่ยอมขายจิตใจของเราให้แก่อำนาจอังกฤษ”

“ฉะนั้นฉันจึงต้องขอร้องต่อนักหนังสือพิมพ์ และผู้พิมพ์โฆษณาทั้งหลายว่า อย่ายอมให้เงินประกันแก่รัฐบาล หากเมื่อไรรัฐบาลสั่งให้ท่านไปชำระเงินประกัน ขอให้ท่านทั้งหลายขัดขืนคำสั่งและท้ารัฐบาล โดยการพิมพ์หนังสือพิมพ์หรือมิฉะนั้นหยุดการพิมพ์เสียทีเดียว ขอให้ท่านทั้งหลายจงยอมให้รัฐบาลริบทรัพย์สิ่งของทั้งหมด แต่อย่าให้เงินประกันเป็นอันขาด บัดนี้อิสรภาพได้มาถึงประตูบ้านของเราแล้วและเพื่ออิสรภาพนี้เอง คนนับเป็นพันๆ ได้รับความทรมานมาแล้ว ฉะนั้นจงอย่าเปิดโอกาสให้ใครๆ ต่อว่าได้ว่าในงานสงครามอิสรภาพนี้ คณะหนังสือพิมพ์มิได้มีการร่วมมือด้วย รัฐบาลจะริบตัวพิมพ์และเครื่องพิมพ์ได้ แต่ทว่าปากกาและสิ่งที่ยิ่งไปกว่านั้นคือปากคน รัฐบาลริบเอาไปไม่ได้ ถึงฉันอาจจะยอมรับได้ว่า รัฐคงมีอำนาจทำลายทั้งปากกา และปากคน แต่สิ่งที่รัฐบาลทำลายมิได้และนับว่าเป็นสิ่งสำคัญนั้น คือมติความคิดของชาติ”

เป็นธรรมดาที่เมื่อคำแถลงการณ์ของคานธี ได้ประกาศแพร่หลายทั่วอินเดียแล้ว คณะหนังสือพิมพ์ฝ่ายอินเดียก็ต่างได้ช่วยกันขัดขืนกฎหมายการพิมพ์ฉบับความฉุกเฉิน และไม่ยอมเสียเงินค่าประกัน รัฐบาลจึงสั่งให้ลงมือริบเครื่องพิมพ์ต่างๆ ทันที การปิดปากหนังสือพิมพ์เช่นนี้ ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนขึ้นแม้ภายในคณะรัฐบาลด้วยกันเองด้วย ถึงกับประธานแห่งสภานิติบัญญัติกลางต้องยื่นใบลาออกจากตำแหน่ง โดยอ้างเหตุผลในใบลาที่ท่านเสนอไปยังผู้สำเร็จราชการว่า

“ฉันเห็นว่า ถ้าฉันร่วมมือกับเพื่อนร่วมชาติด้วยกันในงานสงครามอิสรภาพ ฉันคงจะมีโอกาสรับใช้ประเทศได้มากกว่าดำรงอยู่ในตำแหน่งเป็นประธานสภาดังนี้ บัลลังก์แห่งความเป็นประธานดูเหมือนว่า เป็นบัลลังก์อันเต็มเปี่ยาไปด้วยหนาม ฉันขอร้องต่อรัฐบาลให้เลิกการถือเกียรติแล้วหันไปเจรจาปรองดองกับท่านคานธี……ฉันเชื่ออย่างจริงใจว่า ท่านปรารถนาที่จะขบปัญหาแห่งอินเดียให้แตกหักได้ เพราะในอังกฤษท่านมีอานุภาพเหนือคณะพรรคต่างๆ ฉะนั้นขอให้ท่านจงมีจิตใจเป็นผู้กล้าหาญ พอสมกับสถานการณ์ปัจจุบันนี้ ถ้าท่านทำได้เช่นนั้น ท่านจะได้ชื่อว่านำประโยชน์ยิ่งมาสู่ประเทศอินเดีย และอังกฤษทั้งสอง โดยที่ไม่มีใครเคยทำมาแต่ก่อนเลย หากท่านดำเนินการไม่สำเร็จอินเดียจะต้องอำลาอังกฤษเป็นแน่”

เมื่อเหตุการณ์ถึงความตึงเครียดเช่นนี้ ก็ไม่มีปัญหาที่ท่านคานีจะต้องตกเป็นเหยื่อแห่งอำนาจปราบปรามของรัฐบาลอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้น มา ณ วันที่ ๔ เดือนพฤษภาคม ค.ศ.๑๙๓๐ ในเวลาเที่ยงคืน แสงไฟฟ้าอันฉายมาจากมือตำรวจก็ได้ส่องลงบนใบหน้าของท่านคานธี ผู้นอนหลับอยู่ในจังหวัดกราจี เรื่องการถูกจับคราวนี้ นางสาวสเลดหญิงอังกฤษผู้หนึ่ง ซึ่งเรียกท่านคานธีเป็นบิดาและเปลี่ยนชื่เดิม คือ Slade เป็นมีราเทวีได้ประพันธ์โดยใช้สำนวนโวหารอย่างไบเบิลไว้ว่า

“ในยามดึกอันเงียบสงัดนั้น พวกเขาได้ด้อมเข้ามาเหมือนนายโจร เพื่อจะลักเอาท่านไป เพราะว่าเมื่อพวกเขาประสงค์ที่จะจับกุมท่าน ก็เกิดมีความกลัวมหาชนซึ่งบูชาท่านว่า เป็นผู้แทนของพระผู้เป็นเจ้า”

มหาตมะคานธีเห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายที่ตำรวจ ก็เข้าใจในวัตถุประสงค์ของเขาได้ทันที จึงยิ้มแล้วถามว่า

“ฉันขอเวลาชำระฟันหน่อยได้ไหม”

เจ้าหน้าที่ตำรวจตอบว่า “ได้ครับ”
ท่านหยิบเอาแปรงจิ้มลงในเกลือเถื่อน แล้วยกขึ้นสีฟันของท่าน ขณะที่ท่านกำลังสีฟันอยู่นั้น ท่านได้ถามเจ้าหน้าที่ว่า “ฉันขอทราบหน่อยได้ไหมว่า ฉันถูกจับในฐานะอะไรบ้าง

เจ้าหน้าที่จึงอ่านหมายสั่งจับให้ท่านฟังว่า
“เนื่องจากรัฐบาบได้มองเห็นแล้วว่า ความเคลื่อนไหวของ มร.เอม. คานธี เป็นการเคลื่อนไหวที่น่าเกรงกลัวจึงสั่งให้จำกัดอยู่ภายในข้อบัญญัติมาตราที่ ๒๕ แห่ง ค.ศ.๑๘๒๙ และให้ลงอาญาจำคุกตราบเท่าที่รัฐบาลเห็นชอบและบัดนี้ให้ย้ายตัวจำเลย ไปอยู่ที่เรือนจำกลางแห่งจังหวัดยารถทา

ท่านคานธีรู้สึกขอบอกขอบใจเจ้าหน้าที่เป็นอันมาก แล้วรีบเตรียมเนื้อเตรียมตัวไปเป็นแขกของรัฐบาลต่อไป ก่อนเดินทางท่านได้มอบจดหมายฉบับหนึ่ง ซึ่งจ่าหน้าซองถึง ลอร์ดเอิรวิน ผู้สำเร็จราชการให้แก่เจ้าหน้าที่และมอบคำขวัญให้แก่ผู้อาสา แล้วหยิบเอาย่าม ๒ ใบและเครื่องทำด้ายเครื่อง ๑ มา แล้วมอบตัวเองให้แก่เจ้าหน้าที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่จับเอาท่านไปนั้นเป็นเวลา ๑ นาฬิกา ๑๐ นาที เจ้าหน้าที่เชิญตัวท่านไปยังรถยนต์ซึ่งตำรวจเตรียมมาคอยรับท่านอยู่แล้ว รถยนต์ก็พาท่านไปยังเมืองโปริพลิใกล้บอมเบ จากที่นั้นท่านก็ถูกนำขึ้นรถไฟไปยังเมืองยารเวทา ในเวลาขึ้นรถรัฐบาลห้ามไม่ให้ใครไปส่งเยี่ยมเยียน หรือชุมนุมกันที่สถานี แต่ผู้แทนหนังสือพิมพ์ ๒ คน ชื่อว่า มร.อาสมิด บารเลตต์ แห่ง London Telegraphกับ มร.เนคเล แห่งคณะหนังสือพิมพ์อเมริกา ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษให้ไปคอยดู มหาตมะคานธีที่สถานีได้ ในการพรรณาถึงเหตุการณ์นี้ มร.อาสมิด บารเลตต์ได้กล่าวไว้ว่า

“ในขณะที่พวกเรากำลังคอยรถกันอยู่นั้น เรารู้สึกว่ารอบๆ ตัวมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีอานุภาพอย่างน่าแปลกประหลาดที่สุดทีเดียว เพราะเราทุกคนกำลังรู้สึกอยู่ในใจว่า เราเป็นพยานแห่งเหตุการณ์อันหนึ่ง ซึ่งจะปรากฎอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์ชั่วกัลปาวสาน กล่าวคือการับผู้แทนพระเจ้าแท้หรือปลอมก็แล้วแต่เพราะแท้ก็ดี หรือปลอมก็ดี คานธีย่อมได้รับบูชาอย่างเป็นพระอรหันต์ จากพลเมืองอินเดียกันเป็นล้านๆ ใครจะรู้ได้เล่าว่า อีกร้อยปีข้างหน้า พลเมืองอินเดียประมาณ ๔๐๐,๐๐๐,๐๐๐ คน จะไม่บูชาคานธีในฐานะเป็นอวตารของพระเจ้า ในขณะที่เราคอยรถอยู่ เราเห็นว่าเป็นการเหลือวิสัยเหลือเกินที่จะอดนึกคิดเช่นนี้เสียมิได้ จึงรู้สึกว่าการจับกุมท่านผู้วิเศษเช่นนี้ในเวลาเช้าตรู่ นับว่าเป็นการไม่สมควรเลย”

คำขวัญของท่านคานธี
ถ้าเราสามารถดำเนินกิจการ ให้เป็นไปเช่นนี้ได้เสมอก็เป็นอันว่า อิสรภาพอันสมบูรณ์ จะเป็นของเราแน่นอนทั้งอินเดียก็เป็นอันได้แสดงตัวอย่างสมค่าแก่อินเดียให้โลกเห็นอิสรภาพที่เราได้มาโดยไม่มีการเสียสละ จะไม่ดำรงคงอยู่ชั่วกาลนาน ฉะนั้นประชาชนจำต้องเสียสละโดยไม่รู้จักอวสาน การเสียสละที่แท้ย่อมมีแต่การรับความทรมานแต่ฝ่ายเดียวคือเราต้องยอมตายโดยไม่ยังใครให้ตาย ณ บัดนี้เกียรติยศและสิ่งอื่นทุกๆ สิ่งของอินเดียอยู่ที่เกลือเพียงกำมือเดียว เรายอมให้รัฐบาลตีกำมือของเราให้แตกสลาย แต่จะไม่ยอมแบกำมือออก

เมื่อฉันถูกจับแล้ว ท่านทั้งหลายจงอย่าเพิกท้อใจ เพราะผู้นำแห่งสงครามนี้คือพระเจ้า มิใช่ฉัน พระเจ้าทรงสถิตอยู่ในดวงหทัยของเราทุกคน ถ้าเรามีความไว้ใจในตัวเอง พระเจ้าจะทรงนำเราเป็นแน่ ทางเดินของเราได้กำหนดไว้อย่างแน่นอนแล้ว หมู่บ้านทุกหมู่ต้องเก็บและทำเกลือ สตรีทั้งหลายต้องช่วยกันทำการปิดการซื้อของเมาและผ้าต่างประเทศในบ้านทุกหลังทุกเรือน ชายชราและเด็กๆ ต้องทำด้วย ประชาชนต้องช่วยกันเผาผ้าต่างประเทศในสาธารณสถานให้หมดสิ้น ชาวฮินดู อิสลาม ปารสี และคริสตัง ต้องกอดคอซึ่งกันและกัน นักเรียนทั้งหลายต้องออกจากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยของรัฐบาล ข้าราชการทั้งหลายต้องลาออกจากหน้าที่ราชการ มารับใช้ประเทศดังข้าราชการผู้กล้าหาญอื่นๆ ได้กระทำกันอยู่ อาศัยการกระทำเช่นนี้แหละเราจะบรรลุถึงอิสรภาพอันสมบูรณ์โดยง่ายดาย

ที่มา: สวามี  สัตยานันทปุรี