มหาตมะคานธีผู้นำความสงบสุข

Socail Like & Share

คานธี
ข่าวการถูกจับของท่านคานธีได้แพร่หลายไปทั่วอินเดียและทั่วโลก ทำให้โลกรู้สึกแปลกใจในความโหดร้ายของรัฐบาลอังกฤษที่อ้างตนว่าเป็นอารยชน แต่ลงอาญาท่านคานธีโดยไม่ฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม อย่างไรก็ดี การจับตัวท่านคานธีคราวนี้ ได้เป็นเหตุให้เกิดผล ๒ ประการ กล่าวคือทำให้การต่อสู้ของอินเดียเข้มแข็ง และรุนแรงยิ่งขึ้นกว่าเดิมทำให้อานุภาพของอังกฤษในต่างประเทสลดน้อยลงไปเป็นอันมาก

ในทันใดที่ท่านคานธีถูกจับตัวไปแล้ว ภรรยาของท่านก็ออกแถลงการณ์ลงในหนังสือพิมพ์ว่า

“สามีของแนได้ถูกพรากไปเสียแล้ว แต่การพรากของท่านจะไม่ขัดขวางการกู้อิสรภาพของประเทศ ซึ่งท่านรับเป็นภาระของตนไว้ ถ้าชาติดำเนินตามหลักการของสามีของฉันด้วยความจริงใจแล้ว ก็แปลว่าชาติได้ดำเนินกิจการด้วยกำลังใจอันทวีคูณ สมัยที่พวกทนายความจะต้องบอยค๊อตศาลได้มาถึงแล้ว อนึ่งสามีของฉันมีความไว้วางใจในสมรรถภาพของหญิง ฉะนั้นฉันจึงหวังว่าหญิงทั้งหลายควรจะแสดงตัวให้เห็นว่า พวกเขาสมที่จะได้รับความไว้วางใจจากท่าน ทั้งนี้โดยพยายามทุกลู่ทางในการบอยค๊อตผ้าต่างประเทศ และปิดประตูในการซื้อของเมา ฉันหวังอยู่อย่างแน่ใจว่า ประเทศอินเดียจะแสดงอิทธิเดชของตน โดยเข้าต่อต้านการกระทำอย่างฉุกเฉินของรัฐบาลให้จงได้”

นางสโรชินี นายดู ผู้เคยเป็นประธานแห่งสภาคองเกรสและผู้นำสำคัญคนหนึ่ง ออกแถลงการณ์เรื่องท่านคานธีถูกจับว่า

“รัฐบาลที่ทรงอำนาจรัฐบาลใดก็ตาม ไม่สามารถที่จะรับรองอิทธิพลอันมหึมาไพศาลของมหาตมะคานธีได้ มากไปยิ่งกว่าที่รัฐบาลอังกฤษได้รับรองไว้ โดยการจับตัวในราตรีอันดึกสงัด และลงอาญาด้วยอาศัยอำนาจกฎหมายแบบเผด็จการ ซึ่งไม่ต้องพึ่งศาลเป็นผู้อำนวยความยุติธรรมอันที่จริง ร่างกายอันบอบบางของท่านคานธี จะอยู่ภายในลูกกรงเหล็กแห่งเรือนจำหรือไม่นั้น มิใช่ข้อสำคัญ ความสำคัญของมหาตมะคานธีอยู่ที่คำขวัญของท่าน เพราะเราไม่สามารถที่จะแยกตัวท่านให้ออกจากคำขวัญของท่านได้ และคำขวัญนั้นท่านก็ได้มอบให้เป็นมรดกของชาติ คำขวัญนี้แหละจะแสดงอานุภาพเหนือความคิด และการกระทำของโลกถึงกับรัฐบาลที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจชอบที่สุดของโลก จะไม่สามารถผูกมัดหรือท้าได้แม้แต่น้อย”

มหาตมะคานธีถูกจับตัวไป ณ วันที่ ๕ เวลา ๑ นาฬิกาเวลารุ่งขึ้นเมื่อข่าวได้แพร่สพัดไปทั่วอินเดีย “หัรตา” ก็ได้เริ่มลุกขึ้นยืนเองโดยคองเกรสไม่ต้องชักชวนบรรดาห้างร้านทั้งหลายหยุดการซื้อขาย โรงงานต่างๆ หยุดการงานกันทั้งหมด แม้โรงงานของกรมรถไฟก็ได้ทำการหยุดงานทันที สมาคมพ่อค้าผ้าอินเดียประกาศปิดการซื้อขายเป็นเวลา ๖ วัน ทุกตำบล ทุกเมือง เริ่มมีการประชุม ชุมนุมกันอย่างมโหฬาร รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายมาตรา ๑๔๔ และฝ่ายประชาชนก็พากันขัดขืนกฎหมายนั้น เมื่อกระนั้นรัฐบาลจึงเริ่มใช้วิธียิง ในจังหวัดโสลาปรุ มหาชนที่ไร้การศึกษาได้แห่กันไปเผาสถานีตำรวจเสีย ๖ แห่ง รัฐบาลเรียกระดมพลและสั่งให้เพิ่มการยิงยิ่งขึ้น มีคนตาย ๒๕ คน ได้รับบาดเจ็บ ๑๐๐ กว่าคน ที่สถานีรถไฟปัญจบตลา มหาชนช่วยกันฉุดรถไฟไว้ไม่ให้ออกวิ่ง รัฐบาลสั่งให้ทำการยิ่งอีกคนได้รับบาดแผล ๑๕ คน ที่เมืองกัลกัตตารัฐบาลสั่งให้ยิงกรรมกรที่ทำหัรตาลไม่ยอมเข้าโรงงาน นอกจากการถูกยิงตายและมีบาดแผลนั้นแล้ว ในวันคัดค้านการจับตัวท่านคานธี ก็มีคนถูกจับมีจำนวนนับไม่ถ้วน ที่เมืองบอมเบ มหาชนไปประชุมกันคัดค้านการจับท่านคานธีกว่า ๕๐,๐๐๐ คน ถึงกับทางการคองเกรสต้องสร้างเวทีปาฐกถาขึ้น ๗ เวที ในเมืองกัลกัตตา เดลลี ลาโหร ฯลฯ ก็เป็นเช่นเดียวกัน

ใช่แต่เท่านั้น แม้ในต่างประเทศทั่วไป ก็มีการคัดค้านเช่นเดียวกัน ในปานามาและสุมาตราหยุดงาน ๒๔ ชั่วโมง เพื่อแสดงน้ำใจแก่ท่านคานธี หนัสือพิมพ์ต่างๆ แห่งประเทศฝรั่งเศษก็เสนอคำคัดค้านการจับตัวท่านคานธี คณะบาดหลวงแห่งอเมริกัน รวมกันยื่นเอกสารคำคัดค้านต่อ มร. แรมเซ แมคโดแนลด์ อัครมหาเสนาบดีอังกฤษ

แต่การคัดค้านอันมีขอบเขตอย่างกว้างขวางเช่นว่านี้ หาได้ทำลายความดื้อดึงของรัฐบาลให้หย่อนลงได้ไม่ ลอร์ดเอิรวิน (แฮลิแฟคส์) จึงออกคำแถลงการณ์ว่า

“ความมุ่งหมายของเรามิได้เปลี่ยนแปลงไปเลย รัฐบาลอังกฤษในอินเดีย หรือรัฐบาลอังกฤษของสมเด็จพระบรมราชาธิราช จะไม่ยกเลิกนโยบายที่ฉันได้แถลงไว้ในเดือนพฤศจิกายนที่แล้วมา”

ฝ่ายคองเกรสก็เคร่งครัดในหลักการของท่านคานธีอยู่ดังเดิม ฉะนั้นหลังจากที่ท่านคานธีได้ถูกจับตัวไปแล้ว คณะกรรมการบริหารแห่งคองเกรส ภายใต้อำนวนการของท่านบัณฑิต มติลาลเนหรู จึงได้จัดโครงการลง ๖ ข้อคือ
๑. การขัดขืนกฎหมายต้องดำเนินไปดังเดิม
๒. การบอยคอตผ้าอังกฤษ
๓. เริ่มเตรียมการขัดขืนกฎหมายภาษี (คือไม่ยอมเสียภาษี)
๔. ขัดขืนกฎหมายเกลืออาทิตย์ละครั้ง
๕. บอยค๊อต ธนาคาร บริษัทรับประกันชีวิต บริษัทเดินเรือ และบริษัทอื่นๆ ซึ่งอังกฤษเป็นเจ้าของ
๖. การปิดประตูการซื้อของเมา

คองเกรสดำเนินการด้วยความเพียรอดทนเพียงใด ความรุนแรงของรัฐบาลในการปราบปรามสถานการณ์ ก็ยิ่งเพิ่มทวีคูณขึ้นเพียงนั้น ดังจะได้เห็นจากรายการดังต่อไปนี้
๑. วันที่ ๒๑ เดือนพฤษภาคม ค.ศ.๑๙๓๐ พวกผู้รับอาสาพากันไปขัดขืนกฎหมายเกลือที่เมืองธรสนา มีจำนสย ๒,๕๐๐ คน ตำรวจราบกับตำรวจม้าเข้าโจมตีคณะนี้ โดยใช้ไม้ตะบองยาวเป็นอาวุธ มีผู้ได้รับบาดแผล ๒๙๐ คน ตายคนหนึ่ง
๒. วันที่ ๒๒ ธันวาคม ผู้รับอาสา ๑๐๐ คนและ มหาชน ๒,๐๐๐ คน ไปขัดขืนกฎหมายเกลือที่วาทาลา ผลจากการโจมตีของฝ่ายตำรวจม้า มีผู้ได้รับบาดแผล ๓๕ คน
๓. วันที่ ๑ เดือนธันวาคม มีผู้ไปขัดขืนกฎหมายเกลือที่เมืองวาทาลามีจำนวน ๑๕,๐๐๐ คน มีผู้ได้รับบาดแผล ๑๕๐ คน

วิธีการโจมตีคณะขัดขืนกฎหมาย ณ ตำบลต่างๆ ดังกล่าวมานี้ ตามที่รัฐบาลได้กระทำมาแล้ว มีอยู่อย่างไรบ้าง ขอท่านผู้อ่านทั้งหลายใช้วิจารณญาณของตนเองจากถ้อยคำดังต่อไปนี้ ซึ่งล้วนเป็นถ้อยคำของชาวต่างประเทศผู้ที่ได้พบได้เห็นมาแล้วด้วยตาตนเองทั้งสิ้น

มร.เวพ์มิลเลอรแห่งหนังสือพิมพ์ New Freeman
“ฉันทำหน้าที่ผู้ส่งข่าวมาแล้วราว ๑๘ ปี ตลอดเวลาที่ฉันเคยทำการส่งข่าวมาในประเทศนับได้ ๒๒ ประเทส ทั้งได้เป็นการขัดขืนกฎหมาย การจลาจล การกบฏ เป็นต้น มาแล้วอย่างนับไม่ถ้วน แต่ไม่เคยเห็นเหตุการณ์ข่มเหงที่น่าสลดใจมากยิ่งไปกว่าการข่มเหงพวกขัดขืนกฎหมายเกลือธรุสนบางคราวเหตุการณ์กลายเป็นสิ่งที่น่าสมเพชมาก ถึงกับฉันต้องหันหน้ามากลั้นน้ำตาเสียชั่วคราว ตาสิ่งที่แปลกที่สุดคือวินัยของพวกผู้รับอาสา ดูเหมือนว่าพวกเขาทุกคนเต็มเปี่ยมด้วยอุดมคติแห่งอหิงสาของคานธี”

มร.โสล โคมนฺ แห่งหนังสือพิมพ์ เดลีเฮรัลด์ลอนดอน
“ฉันได้สังเกตเหตุการณือยู่บนเนินเขา ในเมืองวาทาลา
เมื่อฉันยืนอยู่ในท่ามกลางแห่งพวกผู้รับอาสา ผู้มีใจโอบอ้อมอารี มีความมั่นคงมีความเพียรความกล้าหาญทุกคนแสดงความเป็นมิตรต่อแน แล้วได้สังเกตเห็นรัฐบาลผู้ร่วมชาติของฉัน กำลังดำเนินกิจการอันน่าหัวเราะและไร้เกียรติฉันรู้สึกอดสูใจเป็นล้นพ้น

อย่างไรก็ดีการที่ มร. โสลฺ โคมนฺ สังเกตวิธีการดำเนินการของรัฐบาล ย่อมเป็นกรณีแรกที่นำไปสู่การปรองดองระหว่างอังกฤษกับอินเดีย กล่าวคือทุกวันนี้ ถึงแม้งบประมาณของรัฐบาลอินเดียจะขาดไปกว่า ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ รูปี เพราะด้วยใช้เกินตัวในการปราบปรามการขัดขืนกฎหมาย ทั้งอุตสาหกรรมทอผ้าในประเทศอังกฤษก็หยุดชะงักลง โดยทำให้กรรมกรว่างงานนับเป็นหมื่นๆ ก็จริง แต่รัฐบาลก็ดื้อดึงดำเนินนโยบายการรุกรานอยู่เรื่อยไป ทั้งสภาปาลิเมนต์ ก็ไม่ค่อยเอาเรื่องกับอินเดียแม้แต่ประการใด เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ มร. โสลฺ โคมนฺ จึงได้ไปเยียมเยียนท่านคานธี ณ เรือนจำยารเวทา ๒ ครั้ง แล้วเขียนบทอันเกี่ยวแก่เหตุการณ์ในอินเดีย ลงในหนังสือพิมพ์เดลีเฮราลด์ ในบทนำนั้นท่านได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนว่า

“แม้จะตกอยู่ในสมัยอันเข้าด้ายเข้าเข็มเช่นนี้ ก็ยังมีทางที่จะทำการปรองดองกันได้ และท่านคานธีก็เตรียมพร้อมที่จะแนะนำคองเกรสที่ให้งดการขัดขืนกฎหมาย แล้วร่วมมือกับการประชุมโต๊ะกลม โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้ คือ
๑. การประชุมโต๊ะกลม ต้องดำเนินการเพื่อวางร่างรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งต่ออิสรภาพอันสมบูรณ์ของอินเดีย
๒. ต้องการยกเลิกภาษีเกลือ ห้ามการขายของเมาและห้ามผ้าต่างประเทศ
๓. ต้องปล่อยนักโทษการเมือง พร้อมกับเวลาที่คองเกรสเลิกการขัดขืนกฎหมาย

“รัฐบาลเตรียมที่จะทำการประนีประนอมอย่างมีเกียรติกับคานธีหรือ ยังมีโอกาสที่จะดำเนินการเจรจาได้ ฉันได้ไปเยี่ยมท่านคานธีในเรือนจำมา ๒ ครั้ง จึงแน่ใจว่าถ้ารัฐบาลมีความปรารถนาที่จะประนีประนอมจริง
คองเกรสคงยินดีประนีประนอมด้วย แต่ทว่ารัฐบาลดำเนินนโยบายประหัตประหารก็ไม่มีหวังที่จะเกิดความสงบ จนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะถึงความพินาศลง แต่ก็ยังมีช่องทางที่รัฐบาลจะพ้นจากข่ายอันตรายอันร้ายแรงเช่นนี้ได้ นั่นก็คือโดยรับรองอย่างจริงใจว่า มหาตมะคานธีผู้ซึ่งถูกกักขังในเรือนจำนั้น คือดวงวิญญาณของอินเดียโดยทั่วไปนั่นเอง”

พอบทนำของ มร. โสลฺ โคมนฺ นำลงประกาศหน้าหนังสือพิมพ์แล้ว ทำให้นิทรารมณ์ของสภาสามัญแห่งปาลิเมนต์ล้มสลายลงทันที หนังสือพิมพ์ต่างๆ ฝ่าย Tory ก็ได้แสดงความโกรธเคืองต่อความเพิกเฉยแห่งปาลิเมนต์

ส่วนในอินเดีย ผู้นำแห่งพรรค Liberal ๒ ท่านชื่อ เซอรเดชพาหาฑูร สปรู กับ ชยาการ ได้พยายามที่จะทำการประนีประนอม ระหว่างรัฐบาลอังกฤษกับคองเกรสเป็นที่สุดจึงได้ขออนุญาตเป็นพิเศษจากผู้สำเร็จราชการ เพื่อให้ท่านทั้ง ๒ คนเข้าเยี่ยมเยียนพูดจากับท่านคานธี บัณฑิตมติลาล เนหรู และบัณฑิต ยาวหัรลาลเนหรู ในเรือนจำได้ โดยมิให้มีเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจมาคอยเฝ้าอยู่ ท่านผู้สำเร็จราชการไม่ยอมตกลงตามคำขอร้องนี้ ท่านคานธีอยู่ในเรือนจำยารเวทาในมณฑลบอมเบ ส่วนบัณฑิตลาลเนหรูกับชวาหัรลาลเนหรูอยู่ในเรือนจำในนีตาลในสหมณฑลห่างจากกันประมาณ ๑๐๐ ไมล์ ท่าน ๒ คน จำต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่างเรือนจำทั้ง ๒ นี้ ในที่สุดท่านคานีให้ข้อตกลงแก่ท่านทั้ง ๒ นี้ว่า คองเกรสจะทำการประนีประนอมกับรัฐบาบได้ โดยถือหลัก ๓ ประการนี้ คือ
๑. อินเดียจะทรงไว้ซึ่งอำนาจที่จะพ้นจากราชอาณาจักรอังกฤษ
๒. รัฐบาลอินเดียต้องรับผิดชอบต่อชาติอินเดีย
๓. อินเดียมีสิทธิ์ที่จะควบคุมสิทธิพิเศษของอังกฤษ จนกระทั่งหนี้สินแห่งสงครามโลก ซึ่งอินเดียต้องมีสิทธิ์ที่จะไม่ยอมชำระให้

เป็นอันไม่ต้องสงสัยว่า เมื่อท่านผู้สำเร็จราชการเห็นข้อเงื่อนไข ๓ ข้อนี้เข้า การเจรจาเพื่อความประนีประนอมนั้น จะต้องล้มสลายลงทันที

เมื่อความพยายามของเซอรเตชพาหาทูรสัปรู และท่านชยาการ ต้องล้มลงโดยมิเป็นผลเช่นนี้ มร. โฮเลสจิอาเล็กซันเดอร ศาสตราจารย์สอน International Relations ที่มหาวิทยาลัย Selly Dak ก็ได้เดินทางเข้ามาอินเดีย โดยความมุ่งหมายที่จะทำการประนีประนอมกันอีก ความพยายามของท่านผู้นี้ ก็ได้ประสพผลเช่นเดียวกัน

ดังนั้นการประชุมโต๊ะกลมที่ประชุมกันที่ House of Lords ณ วันที่ ๑๒ เดือนพฤศจิกายน ค.ศ.๑๙๓๐ จึงไม่มีผู้แทนคณะพรรคคองเกรสแม้แต่ผู้เดียว มีเฉพาะสองคณะที่ได้เข้าประชุมโต๊ะกลมคราวนั้น คือคณะเจ้ากับคณะ Liberal เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของอังกฤษ ที่องค์พระอธิราชทรงประทับร่วมประชุมด้วย อย่างไรก็ดี รัฐบาลรู้แล้วเป็นอย่างดีว่า ถ้าคองเกรสไม่เข้ามานั่งร่วมประชุมด้วยแล้ว ถึงจะมีการตกลงประการใดก็ตาม จะไม่เป็นที่พอใจของอินเดียเลย ทั้งทราบกันอยู่ดีด้วยว่า รัฐธรรมนูญแบบใดก็ตามที่คองเกรสไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง จะไม่นำมาซึ่งความสงบสันติสุขแก่ประเทศชาติ ลอร์ดเอิรวินจึงได้กล่าวไว้ในงานดินเนอร์ ของสมาคมชาวยุโรปแห่งกัลกัตตาว่า

“เราจะติเตียนนโยบายการขัดขืนกฎหมายแรงสักเพียงไรก็ตาม แต่ถ้าเราตีราคาแห่งความรักชาติที่แท้ และมีอิทธิพลอย่างลึกซึ้ง ซึ่ง ณ บัดนี้กำลังดัดแปลงความคิดเห็นของอินเดียอยู่แล้วไซร้ เราจะรู้สึกได้ทันทีว่าเราได้ดำเนินงานผิดพลาดอย่างร้ายแรงทีเดียว เพราะเหตุนี้เอง ถ้ารัฐบาลดำเนินนโยบายแบบหักหาญ จะแก้ไขความตื่นเต้นดังนี้มิได้เป็นอันขาด”

แม้ มร.แรมเซ แมคโดแนลด์ อัครมหาเสนาบดีอังกฤษก็มีความซาบซึ้งในข้อนี้อยู่เหมือนกัน ฉะนั้น หลังจากที่ประชุมโต๊ะกลมได้เปิดประชุมมาแล้วกว่าสิบอาทิตย์ท่านจึงได้สั่งให้ปิดการประชุมโดยแถลงการณ์ว่า

“เนื่องด้วยการประชุมนี้ เป็นการประชุมที่สำคัญมากทั้งรัฐบาลก็มีเวลาพิจารณาน้อยด้วย รัฐบาลของพระราชาธิบดีจึงเห็นสมควรที่งดการประชุมไว้เพียงแค่นี้ก่อนทั้งนี้ก็เพื่อว่า รัฐบาลจะขอความเห็นของอินเดีย ในกิจการเท่าที่ได้กระทำมาแล้ว……ถ้าหากผู้ซึ่ง ณ บัดนี้ กำลังดำเนินการขัดขืนกฎหมาย มีความประสงค์ที่จะร่วมมือกับรัฐบาล รัฐบาลยินดีที่จะรับประโยชน์จากความช่วยเหลือของคณะพรรคนั้นเสมอ”

นี่คือสัญญาณทางอ้อมที่รัฐบาลหมดหนทาง ไม่สามารถดำเนินการประการใด โดยในที่ขัดขืนมติคองเกรสจึงได้หันมาขอประนีประนอมปรองดองกันอีกที ฉะนั้นไม่เป็นการแปลกเลยที่ ณ วันที่ ๒๖ เดือน มกราคม ค.ศ. ๑๙๓๐ เมื่อมหาตมะคานธีเสด็จจากการเจริญภาวนาประจำวันแล้ว จึงได้รับคำสั่งว่าให้ท่านพ้นจากโทษ ไม่เฉพาะแต่ท่านคานธีผู้เดียวแม้กรรมการทุกคนแห่งคณะบริหารคองเกรสที่ถูกจับไป ก็ได้ถูกปล่อยเป็นอิสระไม่มีเงื่อนไข การปราบปรามก็ยังต้องดำเนินคู่เคียงกันไปตามเคย

เมื่อท่านคานธียังอยู่ในเรือนจำ ท่านได้รับโทรเลขจากคณะผู้แทนอินเดียในประชุมโต๊ะกลม มีข้อความขอร้องให้ท่านพิจารณาคำแถลงการของท่านอัครมหาเสนาบดี ฉะนั้นตามคำร้องนั้น ท่านจึงขอร้องให้พักรอไว้จนกว่าคณะผู้แทนจะกลับมาสู่อินเดียแล้ว จึงจะพิจารณาถึงสถานการณ์และความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับอังกฤษทีหลังเพราะเหตุนี้เอง เมื่อคณะหนังสือพิมพ์ไปสัมภาษณ์ขอความเห็นในเรื่องประชุมโต๊ะกลมท่านจึงตอบว่า

“ฉันยังไม่สามารถที่จะลงมติอย่างเด็ดขาดได้ แต่สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกกระวนกระวายใจนั้นคือ สถานการณ์ปัจจุบันนี้ถ้าที่ประชุมได้มอบอิสรภาพให้แก่อินเดียโดยแท้จริงแล้ว ป่านนี้เราคงจะรู้สึกถึงอิทธิพลแห่งอิสรภาพนั้นบ้าง ตรงกันข้ามฉันยังเห็นการปราบปรามอย่างคนใจดำ กำลังดำเนินไปตามเคย โดยไม่รู้จักหยุดหย่อน การข่มเหงราษฎรที่ไร้มลทิน ยังกระทำอยู่เช่นเคย ทรัพย์สมบัติของราษฎรผู้มีเกียรติและเป็นที่นับถือก็ยังถูกริบอยู่โดยไม่มีการฟ้อง่ร้องประการใด เมื่อเร็วๆ นี้ ทางการใช้อำนาจทำลายการแหของพวกผู้หญิง พวกทหารได้จับผมผู้หญิงเหล่านั้น แล้วเตะด้วยรองเท้าบู้ด ถ้ารัฐบาลดำเนินการปราบปรามตามแบบนี้ คองเกรสไม่สามารถที่จะร่วมมือกับรัฐบาลได้ ฉันเป็นผู้รักความสงบ แต่เหตุการณ์ต่างๆ ได้ทำให้ชีวิตฉันกลายเป็นชีวิตแห่งการต่อสู้ ถึงอย่างไรก็ดี ฉันจะพยายามทุกลู่ทาง เพื่อจะบรรลุถึงความสงบให้จงได้ คนนับหมื่นๆ ไว้วางใจในฉัน ดังที่เด็กไว้ใจมารดา การจับคนเหล่านั้นไปทรมาน ที่มิใช่เรื่องที่ชวนให้ฉันยินดีเลย”

ต่อมาอีกไม่กี่วัน คณะผู้แทนอินเดียที่ไปประชุมโต๊ะกลม คือ เซอรเตชพาหาทูร สัปรู ท่านชยากรเป็นต้น ก็ได้กลับมาถึงอินเดีย อาศัยความพยายามของท่านทั้ง ๒ นี้จึงได้มีการพบปะกันระหว่างท่านคานธีกับลอร์ดเอิรวิน ผู้สำเร็จราชการ คราวนี้รัฐบาลไม่ได้แสดงความดื้อดึงเช่นก่อน ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะเหตุที่รัฐบาลเห็นมาแล้วว่า ถ้าปราศจากความร่วมมือของคองเกรส รัฐบาลจะไม่สามารถขบปัญหาอินเดียให้แตกหักได้

ก่อนที่จะพบปะเจรจากันคราวนี้ ท่านคานธีได้เขียนจดหมายถึงผู้สำเร็จราชการคือ ลอร์ด เอิรวิน ฉบับหนึ่ง โดยขึ้นต้นว่า “เพื่อนที่รักของฉัน ฉันขอพูดกับท่านในฐานะที่ท่านเป็นมนุษย์ มิใช่ในฐานะที่ท่านเป็นผู้สำเร็จราชการ” ในจดหมายฉบับนี้ท่านได้วางหลัก ๖ ประการเป็นเบื้องต้นแห่งการ “สงบศึก” กล่าวคือ
๑. การปล่อยนักโทษการเมือง
๒. การยกเลิกนโยบายปราบปราม
๓. การคืนทรัพย์สมบัติของผู้ถูกริบ
๔. การอนุญาตบรรดาข้าราชการที่ลาออกในสมัยขัดขืนกฎหมาย ให้กลับเข้ารับตำแหน่งเดิมอีก
๕. สิทธิในการทำเกลือ ในการปิดการซื้อของเมาและบอยค๊อตผ้าต่างประเทศ
๖. ตั้งคณะกรรมาธการ สืบและสอบสวนการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

การสนทนาได้เริ่มขึ้นตั้งแต่ ๑๔ น. ๓๐ นาที (วันที่ ๑๗ เดือนกุมภาพันธ์ ๑๙๓๑) จนถึง ๑๘ น. ๑๐ นาที รวม ๓ วันติดๆ กัน แล้วได้เริ่มใหม่อีก ณ วันที่ ๒๗ เท่าที่ล่าช้าไป ๗ วันนั้น คงเป็นเพราะท่านผู้สำเร็จราชการคอยความเห็นรัฐบาลในอังกฤษ

การสนทนาที่เริ่มใหม่ ณ วันที่ ๒๗ และวันที่ ๒๘ เดือนกุมภาพันธ์นั้นได้หยุดชงักลงอีก ๒ อาทิตย์ แล้วเริ่มใหม่อีก ณ วันที่ ๓ เดือนมีนาคม ณ วันนั้นในเวลาเที่ยงคืน ท่านคานธีกับผู้สำเร็จราชการได้ตกลงกันทั้งสองฝ่ายให้สงบศึกทันที ในคืนนี้ รัฐบาลออกแถลงการณ์ว่า

“ท่านผู้สำเร็จราชการกับท่านคานธี มีการตกลงกันให้สงบศึกแล้ว ตามความตกลงนี้ ผู้ที่อาศัยอยู่ตามชายทะเลจะมีสิทธิเก็บทำและขายเกลือได้ นโยบายการปราบปรามจะถูกยกเลิก นักโทษการเมืองจะได้รับอภัยโทษเป็นอิสระทุกคน เว้นแต่ผู้มีความผิดในฐานฆ่าคนตาย คองเกรสจะมีสิทธิทำการปิดการซื้อของเมา และผ้าต่างประเทศได้ โดยไม่กีดขวางประตูห้างร้าน และรัฐบาลจะคืนทรัพย์สมบัติที่ริบไว้ให้กลับคืนทั้งหมด”

“ส่วนการสืบสวนและสอบสวนกิจการของตำรวจนั้น เนื่องจากอาจเป็นเหตุก่อให้เกิดการกล่าวหาแย้งกัน โดยไม่มีสิ้นสุด ท่านคานธีจึงมิได้ย้ำในข้อนี้อีก”

ดังนั้นมา ณ วันที่ ๔ ค.ศ.๑๙๓๑ เวลาเช้า สงครามอิสรภาพเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ ๖ เดือนเมษายน ค.ศ.๑๙๓๐ ได้ถึงความสงบลงโดยนำชัยชนะมาสู่ฝ่ายอหิงสา ฝ่ายสัจธรรม อำนาจอหิงสา อำนาจสัจธรรม จึงได้ล้มลงแทบเท้าของท่านมหาตมะคานธีผู้นำธงแห่งอหิงสา และสัจธรรมอย่างราบคาบ

ณ วันที่ ๖ ข้อตกลงภายใต้การเซ้นชื่อของท่านผู้สำเร็จราชการกับท่านคานธี ได้แผ่แพร่หลายไปทั่วอินเดีย คณะพรรคทุกคณะ ต้อนรับการสงบศึกด้วยความปิติปราโมทย์อย่างล้นเหลือ นักโทษการเมืองประมาณ ๗ หมื่นคน เดินแห่ออกจากเรือนจำ นำความยินดีร่าเริงไปสู่บ้านเมืองของตนหลังจากสงคราม ๑ ปี อินเดียเริ่มยิ้มออกสักหน่อย

ดังนั้น อาศัยความเสียสละ ความพยายามของท่านคานธีเมื่อทุกๆ คนกำลังหวังอยู่ว่า ท้องฟ้าแห่งสถานการณ์ทางการเมืองของอินเดีย คงจะมีแสงฉายแวบวับอยู่ด้วย รัศมีแห่งความสันติสุข ก็มาเกิดมีกลุ่มเมฆขึ้นอีกก้อนหนึ่ง ซึ่งนำความมืดมนต์มาครอบงำสถานการณ์ของอินเดียไว้อีกที

กล่าวคือดังได้กล่าวมาแล้วว่า ในอินเดียมีสมาคมลับสมาคมหนึ่ง ประกอบขึ้นด้วยดรุณชนทั้งนั้น มีวัตถุประสงค์ในอันที่จะกู้ประเทศให้เป็นอิสระด้วยนโยบายการประหัตประหาร การที่อังกฤาออกพระราชบัญญัติเราแลตต์ ก็เพื่อที่จะปราบปรามสมาคมนี้เอง ซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งการดำเนินหลักการไม่ร่วมมือของท่านคานธี อาศัยอำนาจแห่งพระราชบัญญัตินั้นและกฎหมายอาญามาตราอื่นๆ รัฐบาลได้จับกุมนักโทษการเมืองทางประหัดประหารไว้นับจำนวนหลายร้อยคน ทั้งๆ ที่สมาคมนี้และนักโทษการเมืองเหล่านั้น เคยมีความหวังกันอยู่ว่า ถ้ามหาตมะคานธีประนีประนอมปรองดองกันกับรัฐบาลได้จริง คงจะบังคับรัฐบาลให้ปล่อยนักโทษการเมืองทางประหัตประหารด้วย แต่ว่าตรงกันข้ามกับความคาดหมายตามข้อตกลงระหว่างท่านคานธีกับผู้สำเร็จราชการ รัฐบาลได้สงวนไว้ซึ่งสิทธิที่จะจับกุมและปราบปรามนักโทษ และสมาคมการเมืองทางประหัตประหารนั้น

ตลอดเวลาที่ท่านคานธีดำเนินนโยบายการไม่ร่วมมือโดยการขัดขืนกฎหมาย สมาคมนี้หยุดการประหัตประหารทุกประการ ทั้งนี้ก็เพื่อให้โอกาสแก่คานธีในการดำเนินหลักอหิงสากู้ประเทศ เมื่อสมาคมนี้ได้เห็นชัดว่าท่านคานธียอมให้รัฐบาลสงวนไว้ซึ่งสิทธิปราบปรามสมาคมการเมืองทางประหัตประหาร สมาคมนี้ก็หมดหวังที่ว่าหลักการของท่านคานธีจะนำมาซึ่งอิสรภาพอย่างสมบูรณ์ของอินเดีย จึงเริ่มทำการประหัตประหารอีกต่อไป ภายในเวลาไม่กี่เดือน อธิบดีกรมราชทัณฑ์กับอธิบดีกรมสันติบาลถูกยิงตาย ผู้สำเร็จราชการมณฑลเบงคอล กับผู้สำเร็จราชการมณฑลบอมเบก็ถูกยิงแต่ไม่ถึงตาย แคว้นหนึ่งในมณฑลเบงคอลชื่อว่าจตตครามถูกตัดออกจากราชอาณาจักรอินเดีย ประกาศตัวเป็นอิสรภาพอยู่ได้เพียง ๒๔ ชั่วโมง การจับกุมการลงอาญาประหารชีวิตจึงได้ดำเนินไปอย่างเคร่งครัด ในที่สุดสันติบาลพยายามจับสายลับสายหนึ่งแห่งสมาคมนี้ได้ศาลลงอาญาให้ประหารชีวิตหัวหน้าสายนั้นชื่อว่า ภกฺตสิงหะ กับพวกพ้องอีกหลายคน แต่ในการลงอาญาในคราวนี้ ศาลได้อาศัยอำนาจกฎหมาย ซึ่งตามข้อตกลงระหว่างท่านคานธีกับท่านผู้สำเร็จราชการ ลอร์เอิรวิน รัฐบาลได้ให้คำสัญญาไว้ว่าจะยกเลิกทันที

การไม่ดำเนินตามข้อตกลงนั้น เป็นเหตุให้เกิดความไม่สงบสุขขึ้นทั่วอินเดียอีกครั้งหนึ่ง ประชาชนนำศพของภูตสิงหะ ผู้ถูกประหารชีวิตแห่ไปตามถนน อินเดียทั้งประเทศทำการหัรตาลคัดค้านคำพิพากษาของศาลช ประจวบกับเวลานี้เอง ถึงสมัยการประชุมประจำปีแห่งคองเกรส ณ เมืองกราจี ดรุณชนจัดตั้งสมาคมหนึ่งให้ชื่อว่า สมาคมเชิ้ตแดง เชิญท่านสุภาสจันทว สฺ แห่งเบงคอล เป็นประธานทำการคัดค้าน ทั้งนโยบายของรัฐบาลและกิจการของท่านคานธีที่ยังมิได้จักการกับรัฐบาล ดังนั้นเมื่อท่านคานธีเดินทางเข้ามาในคราวการประชุมคองเกรส พวกดรุณชนจึงได้โบกธงดำต้อนรับท่านคานธี และมอบดอกไม้แห้งสีดำให้ เพื่อแสดงถึงความเศร้าใจในกิจการของท่านคานธี ความตึงเครียดได้ก้าวขึ้นสู่ขีดสูงสุด ถึงกับเกิดมีความเกรงกลัวกัน ดรุณชนเหล่านั้นอาจจะพังที่ประชุมคองเกรสเสียก็ได้ ดังนั้น มหาตมะคานธีจึงเรียกคณะดรุณชนมาประชุมทั้งหมด แล้วเปิดการแสดงสุนทรพจน์ขึ้นมีใจความว่า

“การกระทำของดรุณชน มิได้เป็นเหตุให้ฉันโกรธเคืองแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม ฉันรู้สึกยินดีที่ดรุณชนทุกคนแสดงท่าทางอย่างเคารพต่อฉัน พวกท่านจะทำร้ายฉันยิ่งกว่านี้ก็ได้ ทั้งสามารถจะฆ่าฉันเสียได้โดยไม่ต้องวางแผนผังประการใด แต่ตราบใดที่พระเจ้าทรงประสงค์ว่า ฉันยังจะรับใช้อินเดีย ตราบนั้นไม่มีใครสามารถทำร้ายฉันได้ แต่เมื่อวาระที่สุดของฉันมาถึง ก็ไม่มีใครสามารถช่วยชีวิตของฉันไว้ได้”

“การต่อสู้ของอินเดีย จะต้องอาศัยหลักสัจจะและหลักธรรมะ การต่อสู้ตามหลักนี้ คือ คานธีสมฺ (Gandhism) เวลานี้ดรุณชนกำลังค้านคานธีสมฺ แม้ความตายของฉันเองหรือเพื่อนๆ ของฉัน ก็จะไม่สามารถทำลายคานธีสมฺให้ดับสูญไปได้ เพราะคานธีสมฺอาศัยหลักอหิงสาและความสัจจะอินเดียได้ต่อสู้มาแล้ว และต้องต่อสู้ต่อไปตามหลักนี้เอง”

“เพราะฉะนั้น จึงขอร้องให้ดรุณชนทั้งหลายจงสละหลักหิงสา และวิธีการประหัตประหาร และยึดมั่นอยู่ในหลักอหิงสาอย่างถาวรแท้ ถึงดรุณชนทั้งหลายจะทำลายคองเกรสเสีย ก็ยังไม่สามารถที่จะเอาตัวภกฺตสิงหะคืนมาได้ ตรงกันข้ามพวกเขากลับจะถ่วงความเจริญของประเทศให้ล่าช้าไป ฉันมุ่งต่อสุวราช คือแบบการปกครองอย่างพระราม อันเป็นการปกครองด้วยสันติสุข และความรัก ซึ่งเราจะนำมาได้ก็โดยอาศัยอหิงสาเป็นกรณีนั่นแหละ นี่คือความฝันของฉัน ฉันดำรงชีวิต รับประทานอาหาร พูดจาสนทนาเป็นต้น ก็เพราะความฝันนี้เอง แต่ว่าวันไหนเสียงภายใน ฉันอ้าปากกล่าวว่า ประเทศไม่ต้องการฉันอีก และทั้งฉันเองก็แน่ใจว่า ชาติได้เลิกล้มการเชื่อฟังฉันเสียแล้ว วันนั้นแหละฉันจะถืออุโบสถ ทำการอดอาหารจนตาย”

อย่างไรก็ดี ท่านคานธีรับปากที่จะจัดการกับรัฐบาลและเจรจากับท่านผู้สำเร็จการ ความจริงการกระทำของดรุณชน มิได้แสดงความยุติธรรมต่อท่านคานธี เพราะว่าการตกลงระหว่างท่านคานธีกับท่านผู้สำเร็จราชการ มิใช่เป็นการตกลงอย่างเด็ดขาด เป็นเพียงแก่การสงบศึกชั่วคราวเท่านั้น โดยมีความมุ่งหมายเพื่อจะให้คองเกรสส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสภาโต๊ะกลม การสงบศึกย่อมเป็นการกระทำกันในระหว่างฝ่ายที่เข้าทำสงครามกัน ฝ่ายที่ “เข้าสงคราม” นั้นคือฝ่ายอหิงสา มิใช่ฝ่ายที่ดำเนินตามหลักประหัตประหาร ฉะนั้นฝ่ายนี้จึงไม่มีสิทธิที่จะได้รับประโยชน์จากการสงบศึกของอีกฝ่ายหนึ่ง หลังจากการตกลงในที่ประชุมโต๊ะกลม หากท่านคานธีไม่สามารถนำประโยชน์มาสู่อินเดียทั่วไป ดรุณชนฝ่ายที่ถือหลักประหัตประหารก็มีช่องทางที่อาจจะพูดได้ว่า หลักการของท่านคานธีมิสำเร็จผลสมความประสงค์ ฉะนั้นในการคัดค้านกิจการของท่านคานธีคราวนี้ ย่อมแสดงว่าเป็นการกระทำโดยความผลุนผลันใจร้อนเท่านั้น มิได้แสดงเหตุผลอันสมกับลักษณะแห่งนักการเมืองแท้

ฝ่ายรัฐบาลนั้นเล่า ก็มีความผิดเหมือนกัน ถ้ารัฐบาลมีความมุ่งหมายที่จะทำตัวเป็นมิตรกับอินเดีย โดยแท้จริงแล้วไซร้ ก็ไม่ควรดำเนินนโยบายปราบปรามขณะเมื่ออินเดียเพิ่งจะสงบลงใหม่ๆ เปรียบประดุจว่าในเมื่อไฟเกือบจะดับมิดับแหล่ ถ้ากะพือขึ้นในเวลานั้น ก็จะย่อมแสดงความโง่เขลาเต็มที่ มิหนำซ้ำเมื่อรัฐบาลได้ตกลงกันแล้วว่า จะยกเลิกกฎหมายฉุกเฉินทั้งหมดเสีย ก็ไม่ควรจะเอากฎหมายนั้นๆ มาใช้ในทางผิดสัญญาเช่นนี้ ซึ่งนับว่าเป็นการก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นโดยใช่เหตุ

การกระทำของรัฐบาลเท่าที่ได้เป็นไปดังนี้ คงจะเนื่องด้วยเหตุที่การสงบศึกนั้นมาประจวบกับเวลาราชการของท่านลอร์ดเอิรวินสิ้นสุดลง ลอร์ดวิลิงค์ดอนเข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนใหม่ ท่านผู้นี้มีชื่อว่าเป็นบุรุษผู้เคร่งครัดต่อหน้าที่ ดำเนินงานโดยไม่เหลียวแลใครและเห็นอกเห็นใจใครๆ เลย ฉะนั้นเมื่อท่านมาถึง ก็ตั้งต้นเปิดฉากนโยบายแบบเคร่งครัดขึ้นอีกที ความสงบทั้งมวลที่ลอร์ดเอิรวินได้สร้างสมอบรมมา ก็เกือบจะล้มสลายลงสิ้น ถ้าท่านคานธีไม่ประกาศให้คองเกรสยึดมั่นอยู่ในข้อตกลงอย่างมั่นคง งานชิ้นแรกแห่งนโยบายเคร่งครัดของท่านผู้สำเร็จราชการคนใหม่นี้ คือการใช้กฎหมายฉุกเฉินที่ยกเลิกแล้วมาปราบปรามคณะประหัตประหาร และงานชิ้นที่สองคือการไม่ยอมคืนทรัพย์สมบัติที่รัฐบาลสั่งให้ริบไว้ ให้แก่ชาวนาผู้เป็นเจ้าของที่ขัดขืนกฎหมายโดยไม่ยอมเสียภาษี

เมื่อเหตุการณ์ไม่สงบ เกือบจะระเบิดขึ้นเพราะความโง่เขลาของท่านผู้สำเร็จราชการในรัฐศาสโนบาย มหาตมะคานธีจึงต้องประกาศว่า ถ้ารัฐบาลไม่ยอมดำเนินตามข้อตกลงนั้นๆ แล้ว คองเกรสจะไม่ร่วมมือกับการประชุมโต๊ะกลม และตัวท่านก็ไม่หวังที่จะไปลอนดอนแทนคองเกรส ในการประชุมโต๊ะกลม คำประกาศของท่านได้ทำให้เกิดความตื่นเต้นขึ้นทั้งในอินเดียและอังกฤษ คณะพรรคการเมืองทุกคณะแสดงความเสียใจที่เหตุการณ์ได้เปลี่ยนรูปไปเสียเช่นนั้น

ถึงกระนั้นก็ดี ท่านคานธีก็ยังประกาศต่อไปว่าตราบใดที่รัฐบาลยังยอมรับว่าการสงบศึกยังไม่สิ้นสุดลง ตราบนั้นคองเกรสจะไม่ดำเนินนโยบายการขัดขืนกฎหมาย หากรัฐบาลประกาศยกเลิกการสงบศึกเมื่อใด คองเกรสจะเริ่มการขัดขืนกฎหมายสนองอีกครั้งหนึ่ง ถึงกระนั้น ท่านก็ยังหวังอยู่ว่าท่านผู้สำเร็จราชการ คงจะปฏิบัติตามข้อตกลง แล้วจัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นพิจารณาเรื่องราวที่เกี่ยวแก่การไม่คืนทรัพย์สมบัติที่ริบไว้ ด้วยความหวังเช่นนี้ท่านจึงได้ขอสัมภาษณ์กับผู้สำเร็จราชการ ณ เมืองเดลลี

อนึ่ง ระยะเวลาประชุมโต๊ะกลมก็เข้ามาใกล้ผู้แทน่ฝ่ายคณะพรรคอื่นๆ ได้ออกเดินทางไปนานแล้ว เมื่อเที่ยวหรือที่จะออกจากท่าบอมเบอีกลำเดียว ถ้าไม่ทันเรือลำนั้นแล้วก็แปลว่า เป็นอันหมดหวังที่ท่านคานธีจะไปประชุมโต๊ะกลมได้ ฉะนั้นการสัมภาษณ์ระหว่างท่านคานธีกับผู้สำเร้จราชการคราวนี้จึงได้ดำเนินไปในระยะเวลาอย่างกระทันหันเหลือเกิน

ในที่สุด รัฐบาลยอมตามข้อตกลงของท่านคานธีแล้วจัดตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นพิจารณา เรื่องราวอันเกี่ยวแก่การไม่ยอมคืนทรัพย์สมบัติที่ริบไว้

การเจรจาได้สิ้นสุดลง ณ วันที่ ๒๗ เดือนสิงหาคมที่เมืองศิมลาเรือจะออกจากท่าเรือ ณ วันที ๒๙ ฉะนั้นทางการจึงต้องสั่งให้จัดขบวนรถพิเศษนำท่านคานธีไปส่งยังบอมเบให้ทันเวลาเรือออก

ครั้นมา ณ วันที่ ๒๙ เวลาเที่ยงวัน ท่านก็ลงเรือราชปุตานา พร้อมกับผู้แทนคองเกรสอีก ๒ คน คือ บัณฑิตมทนโมหนมาลวย กับ นางสโรชินี นายดู แล้วออกเดินทางไปยังเกาะอังกฤษ เพื่อนำชัยชนะแห่งอหิงสาและสัจธรรมมาสู่อินเดียต่อไป

คำขวัญที่ท่านให้แก่ชาติ ในคราวจะลาประเทศไปชั่วคราวนั้นมีอยู่ดังต่อไปนี้ คือ

“ถึงแม้ฉันจะมองไม่เห็นแววแห่งความหวังจับอยู่ที่ขอบฟ้าแม้แต่น้อยหนึ่งก็จริง แต่ฉันเป็นผู้ที่ชอบมองแต่แง่สุขแง่เดียว จึงถึงแม้จะหมดหวัง แต่ก็ยังหวังอยู่บ้าง ฉันมีศรัทธามั่นในพระเจ้า และดูเหมือนว่าพระองค์ได้ทรงทำลายเครื่องกีดขวางทางของฉันเสียทั้งหมดแล้ว ฉะนั้นฉันจึงหวังอยู่ว่าพระองค์จะทรงบัญชาใช้ฉันในนามของพระองค์ เพื่อให้รับใช้เพื่อนมนุษย์นั่นเอง”

“ถึงแม้คองเกรสจะเป็นเพียงคณะพรรค คณะหนึ่งก็จริง แต่มุ่งหมายที่จะแทนอินเดียทั้งหมด จึงสมที่จะได้รับความไว้วางใจของประเทศทั่วไป ดังที่ฉันได้รับอยู่ ฉันจะพยายามแทนประโยชน์ของคนทุกชั้น ทุกวรรณะที่ไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของพลเมืองจำนวนล้านๆ ซึ่งเป็นพวกที่ไม่รู้จักเรียกร้องสิทธิของตนเองได้ เพราะว่าชีวิตของคองเกรสดำรงอยู่เพื่อคนจำพวกนี้เป็นสำคัญ”

“ฉันหวังว่า รัฐบาลประจำมณฑลต่างๆ เหล่ารัฐบุรุษ บริษัทอังกฤษต่างๆ จะช่วยเหลือคองเกรสให้บรรลุถึงผลสำเร็จแห่งวัตถุประสงค์ที่คองเกรสมุ่งหมายอยู่ คองเกรสเป็นตัวแทนอหิงสาและสัจธรรม จะสำเร็จผลได้ก็โดยอาศัยความสมานไม่ตรีจิตต่อฉันผู้แทนที่อ่อนน้อม เพื่อฉันจะได้นำชัยชนะมาสู่ประเทศให้จงได้”

ผลแห่งการไปเข้าร่วมประชุมโต๊ะกลมคราวนี้ คืออำนาจการบริหาร เว้นแต่การต่างประเทศ กับการทหารได้หลุดจากกำมืออังกฤษ ตกมาเป็นของอินเดียโดยชอบแล้ว และเพราะอำนาจการบริหารของรัฐบาลแห่งคณะคองเกรส ธงอังกฤษ ซึ่งปักอยู่ในแดนที่พระอาทิตย์ส่องแสงไม่รู้จักอวสานต์นั้นได้ล้มลงโดยไม่มีเวลาที่จะกลับโบกสบัดขึ้นในอินเดียได้อีก และธงไตรรงค์แห่งคองเกรสซึ่งได้รับการยินยอมโดยทั่วไปแล้ว ว่าเป็นธงชาติอินเดียได้กลับขึ้นโบกสบัดแทนอยู่ตามหลังคาตึกที่ทำงานรัฐบาล เพลงสรรเสริญบารมี คือ God save the King ได้ดับสูญหายเสียงไปโดยสิ้นเชิง แล้วเพลงชาติคือ วนฺเท มาตรมฺ ได้เริ่มขานเสียงสนั่นอยู่ทั่วทุกบ้านทุกมุม อินเดียทั่วประเทศท่านมหาตมะคานธีผู้ปฏิวัติอินเดียได้เชื้ออัญเชิญสมเด็จพระราชินีนาถ ผู้ทรงเดชานุภาพแห่งวัฒนธรรมเสด็จขึ้นสถิตเหนือรัตนบัลลังก์ พร้อมสรรพแล้ว ณ บัดนี้พระองค์ทรงเปล่งสุรสีหนาทประสาทมิตรภาพภราดรภาพเอื้ออำนวยวัฒนธรรม และอารยธรรมให้แก่ประชาโลกอย่างที่เคยได้เอื้ออำนวยมาแล้วแต่กาลก่อนโน้น

บทปริสิสต์
ระเบียบการย่อแห่งอาศรมสัตยาเคราะห์
วิธีดำเนินรายละเอียดเห็นว่าไม่จำเป็นที่จะเอามาลงในที่นี้ ทั้งนี้เนื่องด้วยเหตุที่ วิธีดำเนินรายละเอียดมักเปลี่ยนแปลงไปตามกาลและ เทศะ

วัตถุประสงค์  การเรียนรู้ซึ่งวิธีรับใช้มาตุภูมิ และการรับใช้มาตุภูมิด้วย
ศีล     ๑. ความตั้งมั่นอยู่ในสัจธรรม
๒. ความตั้งมั่นอยู่ในอหิงสา
๓. ความตั้งมั่นอยู่ในพรหมจรรย์
๔. การสังวรลิ้น
๕. การสังวรอทินทาน
หมายเหตุ  คำว่า อทินทาน กินความถึง การบริโภคสิ่งของที่เกินกว่าความจำเป็น
๖. การไม่ถือตัวเป็นเจ้าของสิ่งไร และไม่แสวงหาสิ่งที่ไม่จำเป็น
พรต หรือ กรณีที่จะต้องบำเพ็ญ
๑. การใช้สิ่งของเฉพาะที่เกิด หรือประดิษฐ์ขึ้นในมาตุภูมิอินเดีย และตั้งมั่นอยู่ในวัฒนธรรมอินเดีย
๒. ความไม่กลัวภัยจากรัฐบาล จนถึงความตาย

ที่มา:สวามี  สัตยานันทปุรี