ภาษาเกิดขึ้นได้อย่างไร

Socail Like & Share

ตัวอักษรไทย
ภาษา (สันสกฤต-ภาษ)
แปลว่า พูด เป็นคำนามแปลว่า คำพูด หรือถ้อยคำที่ใช้พูดกัน คำว่าภาษานี้มิใด้จำกัดวงเพียงแค่นี้ก็หาไม่ ยังหมายไปถึง “ลักษณะใดๆ ที่ใช้เป็นสื่อติดต่อ ให้เข้าใจความหมายกันด้วย เช่น ภาษาใบ้ ภาษาตา ภาษาคำพูด ภาษาหนังสือ ฯลฯ ซึ่งทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจความหมายของกันและกัน เรียกว่า “ภาษา”

ถ้าจะถามว่า ในโลกนี้ใครเป็นคนพูดก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาโลกแตก ไม่มีใครอ้างอิงหลักฐานได้ว่า ใคร ชื่ออะไร อยู่ที่ไหน เป็นผู้พูดก่อน นอกจากจะตอบว่า คนที่เกิดก่อนใครในโลกนี้เป็นผู้พูดก่อน

ภาษาเกิดได้อย่างไร
ภาษามีต้นเหตุให้เกิดขึ้นได้ ๔ ประการ คือ

๑. ภาษา เกิดจากการเลียนเสียงธรรมชาติ เป็นต้นว่า เสียงสัตว์ร้อง เสียงลมพัด เสียงเกิดจากธรรมชาติต่างๆ

๒. ภาษา เกิดจากเสียงอุทาน ได้แก่ เสียงของมนุษย์ที่เปล่งออกมาโดยไม่รู้ตัว เมื่อได้รับความตกใจ ดีใจ และเสียใจ ฯลฯ

๓. ภาษา เกิดจากเสียงเด็กเริ่มสอนพูด ได้แก่ เสียงของมนุษย์ที่เริ่มสอนพูดในเยาว์วัย เป็นการเรียนจากเครือญาติ

๔. ภาษา เกิดจากลักษณะ ขนาด รูปร่าง ของสิ่งของที่ปรากฏ ได้แก่ เสียงที่เกิดขึ้นเมื่อมนุษย์ได้เห็นลักษณะ ขนาด รูปร่าง สี ฯลฯ ของสิ่งต่างๆ หรือสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทำให้เกิดภาษาแปลกกันออกไป

การจำแนกภาษา
การจำแนกภาษา แบ่งได้หลายอย่าง เช่น

๑. จักษุภาษา ได้แก่ภาษาที่เกิดโดยอาศัยตาเป็นเครื่องมือ เมื่อดูด้วยตาก็สามารถเข้าใจได้ เช่น การทำภาษาใบ้ ตัวหนังสือ เครื่องหมาย รอยขีด เขียน ฯลฯ

๒. โสตภาษา ได้แก่ภาษาที่ฟังแล้วเข้าใจ คือ อาศัยฟังด้วยหู ภาษาชนิดนี้ส่วนมากเป็นเสียง เช่น การพูด วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ

๓. สมผัสภาษา ได้แก่ภาษาที่เข้าใจโดยอาศัยการสัมผัส เช่น อักษรที่ทำให้นูนขึ้นมา ใช้มือสัมผัส เป็นภาษาที่ใช้ในหมู่คนตาบอด

หลักภาษา
คือวิชาที่ว่าด้วยหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับภาษา การที่เราต้องเรียนรู้หลักภาษา เพื่อที่จะเขียนอ่านและพูดให้ถูกต้องตามความนิยม วิชาหลักภาษาก็คือ วิชาไวยากรณ์นั่นเอง

ไวยากรณ์ (บาลี-เวยฺยากรณ) แปลว่า “ระเบียบแห่งภาษา” หรือ “กฎเกณฑ์แห่งภาษา” ซึ่งรวมถึงระเบียบตัวหนังสือด้วย

ไวยากรณ์ไทย แบ่งออกเป็น ๔ แขนงคือ
๑. อักขรวิธี ว่าด้วย แบบแผนของตัวอักษร
๒. วจีวิภาค ว่าด้วย การจำแนกถ้อยคำ
๓. วากยสัมพันธ์ ว่าด้วยการเกี่ยวข้องของคำพูด

๔. ฉันทลักษณ์    ว่าด้วยการประพันธ์ โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ต่างๆ

อักขรวิธี
อักขร แปลว่า รอยขีดเขียน หรือเครื่องหมาย แทนคำพูด ที่เราเรียกกันทั่วไปว่า “อักษร” นั่นเอง
วิธี แปลว่า “ระเบียบแบบแผน” รวมอักขรวิธี แปลว่า “ตำราว่าด้วยอักษร”

การที่จัดเอาอักขรวิธีมาอยู่ในวิชาไวยากรณ์ ก็เป็นด้วยอักขรวิธีเป็นวิชาที่ว่าด้วยเครื่องหมาย ใช้แทนภาษา ส่วนไวยากรณ์นั้นเป็นวิชาว่าด้วยแบบแผนของภาษา ซึ่งย่อมจะมีการเกี่ยวข้องถึงกันอยู่บ้าง

กำเนิดตัวอักษรไทย
ชาติไทย เดิมตั้งอยู่ทางทิศใต้ของประเทศจีน ในระหว่างนั้น ทางดินแดนสุวรรณภูมิซึ่งเป็นดินแดนของชาติไทย เข้ามาตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่งอยู่ในปัจจุบันเป็นถิ่นที่อยู่ของชาติละว้า ขอม และมอญ

ชนชาติทั้งสามนี้ ได้รับอิทธิพลอารยธรรม วัฒนธรรม และภาษา จากชาวอินเดียฝ่ายใต้ จึงได้นิยมตัวอักษรของอินเดียฝ่ายใต้เป็นอักษรประจำชาติ

อักษรอินเดียฝ่ายใต้นั้น เป็นภาษาสันสกฤต มีมูลรากสืบเนื่องมาแต่อักษร “ฟินิเซียน” เพราะอักษร ฟินิเซียนนี้ เป็นแบบอย่างของอักษรพราหมณ์ ซึ่งใช้กันอยู่ในอินเดียฝ่ายใต้ อักษรนี้เป็นอักษรเก่าสุดที่ค้นพบได้ เป็นอักษรบนหลักศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชทรงจารึกไว้

เมื่อไทยเรา ได้อพยพลงมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิภายหลังที่ขอมเสื่อมอำนาจลง ราว พ. ศ. ๑๘๐๐ พ่อขุนบางกลางท้าว เจ้าเมืองบางยาง และพ่อขุนผาเมือง เจ้าเมืองราด ได้ยกกองทัพเข้าขับไล่ ขอมยึดกรุงสุโขทัยไว้ได้แล้ว พ่อขุนบางกลางท้าวได้ขึ้นครองราชสมบัติในเมือง สุโขทัย ทรงพระนามว่าพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ ต่อมาพ่อขุนบาลเมืองก็ได้ครองราชสมบัติแทน เมื่อพ่อขุนศรีอินทราทิตย์สวรรคตแล้ว

เมื่อพ่อขุนบาลเมืองสวรรคตแล้ว พ่อขุนรามคำแหงได้ขึ้นครองราชสมบัติแทน พ่อขุนรามคำแหงนี้เอง เป็นผู้ประดิษฐ “ลายสือไทย” ขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ โดยการดัดแปลง อักษรขอมหวัดเป็นอักษรไทย และได้ทรงประดิษฐ์เพิ่มเติมขึ้นบ้าง และใช้กันมาทุกวันนี้ เนื่องจากขอม ละว้า มอญ ได้รับอารยธรรมและภาษาจากชาว อินเดียฝ่ายใต้ อักษรไทยจึงมีมูลรากมาจากอักษรอินเดียด้วย โดยข้ออ้างดังนี้

๑. ตัวอักษรของชาติต่างๆ ที่ถ่ายแบบออกมา จากภาษาบาลีและสันสกฤตด้วยกัน เช่น เขมร ลาว ไทย มอญ มีความคล้ายคลึงกันที่ผิดกันบ้างเล็กน้อยก็เปลี่ยน แปลงไปตามความนิยม

๒. วิธีจัดลำดับตัวอักษรคล้ายกัน เช่น เอาสระไว้หน้าพยัญชนะ และแบ่งวรรคเรียงไปตามลำดับ

มีฐานที่เกิดเสียงคือ คอ เพดาน ปุ่มเหงือก ฟัน ริมฝีปาก ตามลำดับ

๓. วิธีประสมอักษร เอาสระไว้หน้าบ้าง หลังบ้าง บนบ้าง ล่างบ้าง เหมือนกัน

เสียงภาษา
เสียงภาษาไทยที่พูดจากันมีอยู่ ๓ อย่างคือ

๑. เสียงแท้ ได้แก่เสียงที่เปล่งจากลำคอ โดยเฉพาะไม่ต้องใช้ส่วนใดๆ ของปากช่วยเหลือ หรือช่วยบ้างก็เพียงเล็กน้อย แทบไม่รู้สึก เช่น เสียงเด็กเมื่อแรกสอนพูด อ้อแอ้ เป็นต้น

๒. เสียงแปร ได้แก่เสียงแท้นั่นเอง  แต่ใช้ส่วนต่างๆ ของปากเข้าช่วย ให้เสียงปรวนแปรไปต่างๆ  ปรากฏเป็นเสียงแปร เช่น ก. จ. อ. ต. ป. ฯลฯ

๓. เสียงดนตรี ได้แก่เสียงแท้ หรือเสียงแปร นั่นเอง แต่เปล่งเสียงนั้นให้สูงๆ ต่ำๆ ผิดจากเสียงเดิม ไปเป็นเสียงของเครื่องดนตรี

อาศัยหลักของเสียงดังกล่าวมานี้ ท่านจึงได้บัญญัติชื่ออักษรแทนเสียงแท้ว่า สระ อักษร แทน เสียงแปรว่า พยัญชนะ และอักษรแทนเสียงดนตรีว่า วรรณยุกต์

ที่มา:โฆฑยากร