การทำขวด

Socail Like & Share

ทีนี้เรามาพูดกันถึงขวดต่อไป จากหลักฐานที่มีผู้ค้นพบเขียนไว้ในที่แห่งหนึ่งได้ความว่า “การใช้แก้วทำขวดมีมาแต่สมัยโบราณเช่นขวดไอคุปต์ ซึ่งเชึ่อกันว่าทำขึ้นเมื่อ ๓๕๐๐ ปีมาแล้ว และเชื่อกันว่าขวดสมัยไอคุปต์นั้นทำโดยวีธีพันเส้นแก้วรอบๆ แบบ ตัวแบบประกอบด้วยท่อนโลหะกลมเรียวไปทางปลายหนึ่งเป็นแกน และมีทรายปั้นเป็นรูปขวดติดอยู่ หุ้มด้วยผ้าและมัดด้วยเชือก  เมื่อหย่อนลงไปในเตาร้อนโดยใช้ท่อนโลหะเป็นด้ามถือเส้นแก้วก็ละลายและรวมตัวติดกัน พอเย็นลงท่อนโลหะหดตัวมากกว่าปากขวดแก้ว จึงดึงออกมาได้เมื่อเอาทรายออกหมดแล้วจึงได้ขวดกลวง”OLYMPUS DIGITAL CAMERA

“ต่อมาเมื่อสมัยโรมันราว ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว จึงมีการทำขวดและภาชนะแก้วอย่างอื่น โดยวิธีเป่าแก้วเหลวใครเป็นผู้ริเริ่มวิธีนี้ยังไม่ทราบกันแน่ แต่ผู้รู้บางท่านว่า ชาวฟินีเซียน เป็นผู้คิดขึ้นก่อน (ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น) อย่างไรก็ตาม วิธีนี้ใช้กันแพร่หลายในสมัยโรมัน และทำให้แก้วกลายจากเครื่องประดับราคาสูง ซึ่งใช้แทนพวกมณีมาเป็นของใช้สามัญสำหรับใส่ของต่างๆ โดยเฉพาะนํ้าหรือเครื่องดื่ม”

การทำขวดด้วยวิธีเป่าด้วยปากนั้น เดิมก็ไม่ใช้แบบพิมพ์ วิธีนี้ก็ยังใช้อยู่ เมื่อต้องการทำขวดรูปร่างพิเศษราคาแพงเท่านั้น แต่ขวดทั่วไปใช้แม่พิมพ์ การใช้แม่พิมพ์ช่วย ทำให้ได้ขวดรูปร่างเท่าๆ กัน เช่นขวดน้ำหอมยี่ห้อหนึ่งๆ ต้องการมากๆ ก็ต้องทำแม่พิมพ์ให้มีรูปร่างอย่างเดียวกัน พวกขวดน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ขวดสุรา ขวดน้ำปลา ก็ใช้แม่พิมพ์ ทั้งนั้น แต่แม้กระนั้นก็ยังทำได้น้อย เพราะต้องอาศัยผู้ชำนาญเป็นพิเศษเป็นจำนวนมาก ดังนั้น จึงมีผู้พยายามคิดเครื่องทำขวดอัตโนมัติขึ้น เมื่อพุทธศักราช ๒๔๓๐ ชาวอังกฤษชื่อนายแอชลีย์ คิดเครื่องขึ้นได้เครื่องหนึ่งทำงานกึ่งอัตโนมัติ แต่ไม่มีผู้นิยมกัน ต่อมาชาวอเมริกันชื่อนายโอเวนส์ คิดเครื่องอัตโนมัติได้สำเร็จเมื่อพุทธศักราช ๒๔๔๒ การทำขวดโดยวิธีอัตโนมัติจึงเริ่มแพร่หลาย และมีผู้คิดเครื่องอัตโนมัติขึ้นมาเรื่อยๆ จนในปัจจุบัน นอกจากขวดพิเศษราคาแพงที่ทำขึ้นเป็นจำนวนน้อยแล้ว ขวดแก้วที่ใช้กันอยู่ทั่วไปทำด้วยเครื่องอัตโนมัติทั้งสิ้น

ขวดนั้นนอกจากจะทำเป็นสีขาวแล้ว ยังทำเป็นสีต่างๆ อีกด้วย ทั้งนี้นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ถ้าท่านเคยสังเกต ท่านจะเห็นว่าขวดเบียร์และขวดบรรจุยาบางชนิดจะเป็นสีน้ำตาล ทั้งนี้ก็เพราะว่า เบียร์นั้นถ้าถูกแสงสว่างมากจะทำให้เสื่อมคุณภาพ ยาบางชนิด บางขนานก็เช่นเดียวกัน ขวดสีนํ้าตาลจะกรองแสงมิให้เข้าไปทำลายเบียร์หรือยาในขวดให้เสื่อมคุณภาพได้ง่าย

เพราะเหตุที่ขวดได้สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ต่างๆ กันดังได้กล่าวแล้ว ขวดจึงมีรูปร่าง ลักษณะและคุณภาพแตกต่างกันหลายสิบชนิด ดังนั้น จึงมีนักสะสมบางคนคิดเก็บขวดสะสมไว้มากมาย จนถึงกับตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ขวดไว้ให้คนได้ชมกันทีเดียว ท่านที่สนใจจะลองเก็บขวดรูปร่างแปลกๆ ไว้ดูเล่นก็คงไม่เสียหายเท่าไรนัก

ที่มา:วิชาภรณ์  แสงมณี