ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมกรุงรัตนโกสินทร์

Socail Like & Share

จากประวัติศาสตร์และสภาพเศรษฐกิจสังคมของไทยนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไทยเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองทางด้านศิลปวัฒนธรรมมาช้านาน วัฒนธรรมบ้านเชียงย่อมเป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าทำบุญเลี้ยงพระวัฒนธรรมไทยมีวิวัฒนาการมาโดยลำดับจนกระทั่งเกิดเป็นรูปแบบเฉพาะของตนเองเหมาะสมกับกาลสมัยได้เป็นอย่างดีตลอดมา ด้วยเหตุนี้ขนบธรรมเนียมประเพณีในปัจจุบันจึงมีเค้ามาจากอดีตซึ่งเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นเพื่อประโยชน์อันดีงามแห่งชุมนุมชน ขนบธรรมเนียมประเพณีย่อมมีทั้งความเจริญงอกงามและความเสื่อมเช่นเดียวกับสิ่งทั้งหลายทั่วๆ ไป การปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงประเพณีเก่าๆ นั้นถ้าเปลี่ยนแปลงมากเกินไปจนเสียลักษณะเดิมหรือบุคลิกลักษณะของตน แทนที่จะให้คุณกลับเป็นโทษ เพราะจะสูญเสียลักษณะหรือเครื่องหมายของคนที่อยู่รวมกัน ตลอดจนเครื่องผูกพันในพวกของตน หรือชาติเดียวกัน ฉะนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีใดที่ยังคงอยู่ แสดงว่ายังเป็นสิ่งจำเป็นและมีประโยชน์แก่คนทั้งหลาย ขนบธรรมเนียมประเพณีใดเสื่อมไป ก็หมายความว่าหมดความจำเป็นหรือเสื่อมความนิยมแล้ว

สภาพทั่วไปทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางเกษตรกรรม นับถือศาสนาพุทธ และก็มีอยู่ไม่น้อยที่นับถือคริสต์ศาสนา ศาสนาอิสลาม และลัทธิอื่นๆ อิทธิพลของศาสนา และลัทธิเหล่านี้ส่งผลให้ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยมีลักษณะที่อุดหนุนเกื้อกูลในการประกอบอาชีพ และช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก มีการนับถือเรียก พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา ทั้งๆ ที่มิได้เป็นผู้ร่วมสายโลหิตเดียวกัน เป็นต้น ประเพณีต่างๆ มักมีศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประกอบกับวัฒนธรรมชาติอื่นๆ ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมไทย ทำให้เกิดรูปแบบของการผสมผสานทางขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี และวัฒนธรรมขึ้นมาอีกแบบหนึ่ง

ขนบธรรมเนียมประเพณีเกิดจากการที่มนุษย์อยู่รวมกันเป็นสังคม ย่อมมีเงื่อนไขในเรื่องของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข จึงเกิดข้อตกลงหรือระเบียบแบบแผนขึ้นว่า อย่างนี้ควรประพฤติ อย่างนี้ไม่ควรประพฤติ สิ่งใดผิดสิ่งใดถูก ถ้ามีบทลงโทษความประพฤติ ก็จัดเป็นเรื่องของกฎหมาย สิ่งแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ เป็นตัวกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ ก่อให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ กล่าวคือ ไทยมีภูมิอากาศร้อนชื้นฝนตกชุก พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม คนไทยจึงยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ทำให้ชีวิตชาวไทยมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ให้ความเป็นกันเองช่วยเหลือเกื้อกูลกัน สนใจในเรื่องของกันและกัน รวมกันเป็นกลุ่มเป็นพวกขึ้น ประเพณีที่เกิดจากสังคมลักษณะนี้ได้แก่ประเพณีการลงแขกเกี่ยวข้าว ลงแขกปลูกเรือน ดายหญ้า ในระหว่างฤดูทำนาหรือว่างจากการทำนา จะมีการละเล่นเพื่อความสนุกสนานรื่นเริง ประกอบกับคนไทยมีนิสัยรักสนุก พิธีกรรมหรือประเพณีบางอย่างจึงตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสนุกสนานรื่นเริง เช่นเพลงเกี่ยวข้าว เพลงปรบไก่ สักวา สงกรานต์ ฯลฯ

ความเชื่อของคนไทยในเรื่องของความไม่เข้าใจในปรากฎการณ์ธรรมชาติและอิทธิฤทธิ์ของผีสางเทวดา ทำให้หลงเชื่อว่า ผีสางเทวดามีอำนาจที่จะดลบันดาลให้เป็นไปในทางดีหรือร้ายจึงต้องคอยเอาใจผีสางเทวดาเพื่อจะได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ตน  ความเชื่อเช่นนี้ก่อให้เกิดประเพณีต่างๆ เช่น การขอฝน แห่นางแมว บุญบั้งไฟ การทำขวัญ การตั้งชื่อเด็ก การหาฤกษ์ยาม เป็นต้น แม้ว่าปัจจุบันการศึกษาและวิทยาการจะเจริญก้าวหน้า แต่ประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อของคนโบราณอันเนื่องมาจากความเชื่อในลัทธิพราหมณ์ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาจึงไม่สามารถแยกจากกันได้ ประกอบกับคนไทยมีนิสัยรักสนุก จึงคงประเพณีไว้เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงและการบุญการกุศลด้วย

คนไทยนับถือพุทธศาสนาซึ่งสอนในเรื่องกฎแห่งกรรม ว่าใครทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำให้คนไทยนิยมการทำบุญให้ทานและหวังผลตอบแทนจากการทำบุญ เพราะบางคนเชื่อว่ามีชาติหน้าจึงยอมสละทรัพย์ทำบุญอย่างเต็มที่เพื่อหวังความสุขสบายในชาติหน้า เช่น การทอดกฐิน การสร้างโบสถ์วิหาร ฯลฯ อันที่จริงพระพุทธศาสนาสอนให้ทำดี มุ่งถึงการปฏิบัติธรรมมากกว่า ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นตถาคต” แต่อย่างไรก็ตาม การทำบุญหรือทำความดีโดยไม่คำนึงว่าชาติหน้าจะมีจริงหรือไม่ ก็ส่งผลด้านจิตใจให้กับผู้ทำบุญ ทำให้สบายใจว่าตนได้กระทำดีไว้แล้วโดยไม่เสียทีที่เกิดมาชาติหนึ่ง

การรับวัฒนธรรมชาติอื่นเป็นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งที่ก่อให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีขึ้น เมื่อมีการติดต่อกับนานาประเทศ ย่อมเป็นธรรมดาที่จะมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เช่น การรับอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์ วัฒนธรรมตะวันตก วัฒนธรรมสากล การที่ประเทศไทยใช้วันที่ ๑ มกราคมของทุกปีเป็นวันขึ้นปีใหม่ การตัดขนมเค้กในงานวันเกิดของคนบางกลุ่ม การตั้งศาลพระภูมิ เป็นต้น

นอกจากนี้ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชาติไทยยังก่อให้เกิดขนบธรรมเนียมประเพณีอีกด้วย คือ สมัยสุโขทัยมีการปกครองแบบพ่อกับลูก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นปกครองกับผู้อยู่ใต้ปกครองมีความใกล้ชิดกัน ดังจะเห็นได้จากศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า “เมื่อชั่วพ่อกู กูบำเรอแก่พ่อกู กูบำเรอแก่แม่กู” แสดงให้เห็นว่าลูกกตัญญูต่อพ่อแม่บำรุงบำเรอให้ความสุขไม่ให้เดือดเนื้อร้อนใจ ซึ่งเป็นประเพณีของไทยมาแต่โบราณจนกระทั่งทุกวันนี้ ต่อมาในสมัยอยุธยา สังคมไทยมีระบบไพร่ ทาส ซึ่งเป็นระบบที่เจ้าขุนมูลนายต้องให้ความคุ้มครองดูแลแก่ไพร่ทาส ส่วนไพร่และทาสก็ต้องให้แรงงานแก่เจ้าขุนมูลนาย ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แต่ในทางปฏิบัติพวกมูลนายเหล่านี้จะได้รับประโยชน์มาก อาจใช้แรงงานของไพร่ให้ทำงานส่วนตัว พวกมูลนายเหล่านี้จะมีกำลังไพร่พลมากจนสามารถใช้เป็นเครื่องต่อรองอำนาจทางการเมืองกับรัฐบาลได้ ดังปรากฏหลักฐานในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาหลายครั้ง

ราษฎรโดยทั่วไป ซึ่งเป็นชนชั้นส่วนใหญ่ของสังคมถือว่าเป็นข้าของแผ่นดินหรือเป็นกำลังของทางราชการ ข้าราชการสามารถจะดลบันดาลทุกข์สุข ตลอดจนผลประโยชน์ต่างๆ ได้ ทำให้เกิดความคิดอยากเป็นเจ้าคนนายคน หวังพึ่งราชการ เกิดค่านิยมชมชอบการเป็นข้าราชการมากกว่าอาชีพอื่น ม.ร.ว.คึกฤทธิ์  ปราโมช ได้วิจารณ์สภาพสังคมอยุธยาตอนหนึ่งว่า

“สรุปแล้วราชการกรุงศรีอยุธยาเป็นสิ่งที่มีอำนาจยิ่งใหญ่ครอบคลุมสังคมทั้งหมด โดยไม่มีผู้ใดจะหลีกเลี่ยงได้ ทั้งนี้ย่อมบังเกิดผลสำคัญ คือ ทำให้ใจคนในสังคมผูกมัดอยู่กับราชการแต่อย่างเดียว เมื่อคิดจะหาดีในราชการนั้น เมื่อมีความทุกข์ร้อนหรือเกิดปัญหาอย่างใด สิ่งแรกที่คิด คือ จะให้ทางราชการเข้ามาช่วยเหลือตน ไม่คิดที่จะช่วยตนเองหรือแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นให้ลุล่วงไปด้วยตนเองหรือด้วยปัจจัยอื่นๆ ที่มิใช่ของทางราชการ…”

ดังนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีจึงหมายถึงความประพฤติที่คนกลุ่มหนึ่งกำหนดถือเป็นแบบแผนกันมาอย่างเดียว และปฏิบัติสืบเนื่องกันมาเป็นเวลาช้านานจนเป็นลักษณะเฉพาะของคนกลุ่มนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นส่วนใหญ่ของวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นประเพณีจะมีลักษณะอย่างใด ต้องเนื่องจากสิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีไทยจึงเป็นสิ่งที่คนไทยได้ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมานานและยอมรับในสังคมมาจนปัจจุบัน มีทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับศีลธรรม เรื่องธรรมดาสามัญที่คนไทยกำหนดขึ้นว่าควรหรือไม่ควรประพฤติอย่างไร จำแนกออกได้ดังนี้

๑. จารีตประเพณี (Mores) ได้แก่ประเพณีที่เกี่ยวกับศีลธรรมซึ่งมีค่าแก่ส่วนรวม เช่นลูกต้องเลี้ยงดูพ่อแม่เมื่อท่านแก่เฒ่า ถ้าไม่เลี้ยงดูถือว่าเนรคุณหรืออกตัญญูต่อพ่อแม่ คำว่า จารีต นี้ บางถิ่นเรียกว่า ฮีต หรือ รีต ถ้าทำผิดประเพณีก็เรียกว่า ผิดฮีต ผิดผี

๒. ขนบประเพณี (Institution) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ระเบียบประเพณี ขนบแปลว่าระเบียบแบบแผน เช่น ขนบราชการ คือ ระเบียบแบบแผนของทางราชการ ขนบประเพณีได้แก่ ประเพณีที่วางไว้โดยตรงหรือโดยปริยาย โดยตรงคือวางเป็นระเบียบพิธีการไว้ชัดแจ้ง โดยปริยายคือรู้กันเอง และไม่ได้วางเป็นระเบียบแบบแผนไว้ว่าควรประพฤติปฏิบัติอย่างไร ได้แก่ บวชนาค แต่งงาน การตาย รวมทั้งเทศกาลต่างๆ เช่น ตรุษ สารท ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ การไหว้ครู เป็นต้น

๓. ธรรมเนียมประเพณี (Convention) ได้แก่ประเพณีเกี่ยวกับเรื่องธรรมดาสามัญไม่มีผิดถูกเหมือนจารีตประเพณี หรือไม่มีระเบียบแบบแผนอย่างขนบประเพณี ถ้าไม่ปฏิบัติตามก็ไม่ผิดอย่างไรแต่อาจถูกตำหนิว่าเป็นคนขาดการศึกษาหรือไม่มีมารยาท ได้แก่ เรื่องเกี่ยวกับอิริยาบถ ทั้ง ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน การพูดจา มารยาทในสังคม การแสดงความเคารพเช่นเวลาเดินผ่านผู้ใหญ่ควรก้มหลังเล็กน้อย หรือไม่ควรพูดข้ามศีรษะผู้อื่น การแต่งกายควรให้ถูกกาลเทศะ เป็นต้น

เรื่องของขนบธรรมเนียมประเพณีพอจะสรุปได้ว่า ขนบธรรมเนียม เป็นการปฏิบัติระหว่างบุคคลต่อบุคคลในสังคมเดียวกัน เช่น การทักทายด้วยคำว่า “สวัสดี” การกราบไหว้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ หรือการแสดงกิริยาอาการที่มองดูแล้วรู้ได้ทันทีว่าเป็นคนไทย การนั่งพับเพียบ การหมอบคลาน เป็นต้น ขนบธรรมเนียมนี้เปลี่ยนแปลงได้ง่ายตามกาลเวลาหรือความนิยม ส่วนประเพณีเป็นสิ่งที่สังคมยึดถือเป็นเรื่องของส่วนรวมที่ได้กำหนดขึ้นเป็นแบบแผนและปฏิบัติสืบต่อกันมาไม่ขาดสาย เปลี่ยนแปลงได้ยากกว่าขนบธรรมเนียม
ที่มา:กรมศิลปากร