การแต่งกายสมัยรัชกาลที่๑-๓

Socail Like & Share

ขนบธรรมเนียมในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงปัจจุบัน ได้ปรับปรุงแก้ไขกันมาตลอด เช่นการแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์

การแต่งกาย  การแต่งกายในสมัยรัตนโกสินทร์ระยะเริ่มแรกยังคงรับช่วงต่อจากสมัยอยุธยาตอนปลาย เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่สมัยต้นรัตนโกสินทร์มาจากกรุงศรีอยุธยา ฉะนั้น ความรู้ ความคิด ความเชื่อ และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ จึงไม่ผิดแผกแตกต่างจากสมัยอยุธยามากนัก ต่อมาได้วิวัฒนาการไปตามสภาพสังคม สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม การติดต่อกับนานาประเทศ ฯลฯ ซึ่งจำแนกลักษณะเฉพาะของการแต่งกายในแต่ละยุคได้คร่าวๆ ดังต่อไปนี้

รัชกาลที่ ๑-๓ (พ.ศ.๒๓๒๕-๒๓๙๔) นโยบายต่างๆ เจริญรอยตามแบบอย่างสมัยอยุธยาตอนปลายแทบทุกประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยรัชกาลที่ ๑ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการสร้างเมืองใหม่ได้เลียนแบบสมัยเมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยารุ่งเรืองจึงได้วางรากฐานขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ตามสมัยอยุธยาเป็นหลัก การแต่งกายในสมัยนี้จึงยังคงยึดแบบอยุธยาตอนปลายเช่นกัน

ในราชสำนัก  สตรีนุ่งผ้ายกหรือผ้าลายทอง ห่มสไบเฉียงด้วยผ้าปักหรือผ้าแพรที่พับเหมือนอัดกลีบ ผมตัดไว้เชิงสั้น (เนื่องจากในสมัยอยุธยาตอนปลายเกิดสงคราม หญิงต้องตัดผมสั้นเพื่อปลอมตัวเป็นชาย สะดวกในการหนีภัยจากพม่า)

ชายนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบนสีต่างๆ สวมเสื้อคอปิด ผ่าอก แขนยาว แต่โดยปกติไม่นิยมสวมเสื้อ การแต่งกายของขุนนางในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจะสวมเสื้อเข้าเฝ้าในฤดูหนาวเท่านั้น ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ ว่า

“ครั้นทรงความฎีกาแล้ว ขุนนางจึ่งเข้าเฝ้า กรมมหาดไทยก็เข้าทางประตูท้องพระโรงฝ่ายตะวันออก  กรมพระกลาโหมเข้าทางประตูท้องพระโรงฝ่ายตะวันตก นำขุนนางและหัวเมืองเข้าพร้อมกันทั้ง ๒ ฝ่าย ถึงเหลี่ยมลับแลก็กราบถวายบังคม ๓ ครั้งแล้วคลานเข้าไปสู่ที่เฝ้าทุกๆ นาย ถ้าฤดูหนาวเจ้าทรงเสื้อสีชั้นเดียว คาดส่านบ้าง แพรสีบ้าง ขุนนางสวมเสื้อเข้มขาบ อัตลัด แพรสี ๒ ชั้นที่ได้พระราชทาน เสนาบดีคาดส่าน ถ้าวันที่ไม่หนาวหรือฤดูร้อนผู้ใดสวมเสื้อเข้ามาก็ไม่โปรด…”

ราษฎรทั่วไป  สตรีนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อรัดรูป ผ่าอก แขนกระบอก ตามปกติเมื่ออยู่กับบ้านนิยมห่มผ้าแถบ ซึ่งมีวิธีห่ม ๔ แบบ คือ

๑. ใช้คาดนมแล้วเหน็บริมผ้าข้างบนซุกลงไปให้ติดกับส่วนที่คาดนม ปล่อยชายทิ้งลงไปข้างหน้า สตรีที่มีอายุนิยมห่มแบบนี้ ส่วนมากเป็นผ้าแถบธรรมดาไม่มีจีบ
๒. ห่มคาดนม แล้วเอาชายข้างหนึ่งพาดบ่า ทิ้งชายลงไปข้างหลัง เรียกว่า ห่มสไบเฉียง (ไม่เรียกผ้าแถบเฉียง) ห่มแบบนี้ส่วนมากเป็นสไบจีบ หญิงสาวและหญิงกลางคนนิยมห่มแบบนี้ มักเป็นคนชั้นสูงหรือผู้มีฐานะ
๓. ห่มตะแบงมานหรือตะเบงมาน เอาผ้าคาดตัว แล้วเอาชายทั้งสองที่เท่ากันมาคาดนมไขว้ขึ้นไปผูกกันไว้ที่ต้นคอ การห่มแบบนี้ไม่นิยมกัน จะห่มเมื่อทำงานหนักหรืองานที่ต้องยกแขนขึ้นลง เช่น ตำข้าว
๔. คล้องคอ  ให้ชายผ้าห้อยลงมาข้างหน้าเท่ากัน ตรงกันข้ามกับผู้ชายที่ห่มสองไหล่ทิ้งชายไว้ข้างหลัง การห่มแบบนี้ต้องสวมเสื้อด้วย ห่มกันทั้งหญิงสาวและกลางคนขึ้นไปและมักเป็นชาวสวน การห่มชนิดนี้มักจะห่มไปเที่ยวหรือไปงานรื่นเริงต่างๆ

สตรีสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไว้ผมปีก คือ ไว้ผมยาวเฉพาะบนกลางศีรษะ ควั่นผมรอบศีรษะเป็นรอยจนเห็นขอบชัดเจน (คล้ายผมทรง “มหาดไทย” ของผู้ชาย ต่างกันที่ผู้หญิงไม่โกนรอบกลางศีรษะอย่างผู้ชาย) ปล่อยจอนที่ข้างหูยาวลงมา แล้วยกขึ้นทัดหู เรียกว่า “จอนหู” บางครั้งใช้จอนหูเกี่ยวดอกไม้ให้ห้อยอยู่ข้างหู เรียกว่า “ผมทัด” ก็มี ที่เรียกกันว่า “ผมปีก” นั้นเพราะมองเห็นเชิงผมเป็นขอบอย่างถนัดชัดเจน

ชายแต่งแบบเดียวกับสมัยอยุธยา คือ นุ่งผ้าโจงกระเบน ไม่สวมเสื้อ ไว้ผมทรง “มหาดไทย” ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า “ทรงหลักแจว” คือ โกนผมรอบศีรษะ ไว้ผมเฉพาะกลางศีรษะยาวประมาณ ๔ ซม. แล้วหวีแต่งเรือนผมตามแต่จะเห็นงาม ผมมหาดไทยมี ๒ อย่าง คือ มหาดไทยโกนและมหาดไทยตัด มหาดไทยโกนนั้น ใช้โกนผมข้างๆ ให้เกลี้ยง เหลือไว้แต่ตอนกลางเป็นรูปกลมแต่แบบดังแปรง ส่วนมหาดไทยตัด คือ ตัดข้างให้เตียนแทนที่จะโกน และถอนผมที่อยู่รอบๆ ตอนบนออกให้เป็นเป็นรอย เรียกว่า ไรผม ถอนแล้วยังไม่เรียบร้อยดีก็ใช้มีดโกนกันไรเสียอีกที

เด็กชาย-เด็กหญิง ไว้ผมจุกจนอายุ ๑๑ หรือ ๑๓ ปีจึงโกนจุก แล้วไว้ผมตามแบบของผู้ใหญ่ต่อมา

ที่มา:กรมศิลปากร