ขงจื๊อในฐานะนักปรัชญา

Socail Like & Share

ในความคิดทั้งหมดของข้าพเจ้านั้น ข้าพเจ้ามีความคิดที่เป็นหัวใจอันสำคัญอยู่อย่างเดียวเท่านั้นเอง

ในบรรดาความรู้ทั้งหลายทั้งปวงที่ขงจื๊อสอนนั้น หัวใจอันสำคัญของความคิดทั้งหมดของขงจื๊อ คือ ทฤษฎีแห่งเหยิน (Jen) หรือ ความมีจิตใจเป็นมนุษย์ ส่วนคติความคิดอื่นๆ ของเขานั้นต่างเป็นข้ออนุมานมาจากทฤษฎีแห่งความคิดนี้เท่านั้น หลักจริยธรรม หลักการเมือง อุดมคติของชีวิตทั้งหมดไหลหลั่งออกมาจากทฤษฎีแห่งเหยินนี้เท่านั้นเอง

เหยิน แสดงถึง อุดมคติของขงจื๊อเกี่ยวกับการปลูกฝังมนุษยธรรม การพัฒนาคุณสมบัติของมนุษย์ ยกระดับบุคลิกภาพของมนุษย์ และเทิดทูนยกย่องสิทธิของมนุษย์ จู ซี่ (Chu His) ค.ศ. 1130-1200 ซึ่งเป็นนักปราชญ์ผู้มีชื่อเสียงในวิทยาการของขงจื๊อในสมัยราชวงศ์ซุง (Sung Dynasty) ได้นิยามความหมายของคำว่า เหยิน ว่าหมายถึง “คุณธรรมของวิญญาณ” หลักการแห่งความรัก” และ “ศูนย์กลางแห่งสวรรค์และแผ่นดิน” ตัวอักษรของคำว่า เหยินประกอบด้วยอักขระสองตัว คือ “คน” กับ “สอง” แสดงถึงว่า ความสำคัญนั้นมิใช่อยู่ที่คน แต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ที่คนมีต่อเพื่อนมนุษย์ของตน ขงจื๊อถือว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์นั้นควรจะตั้งอยู่บนฐานของความรู้สึกทางจริยธรรมเรื่อง
เหยินอันเป็นตัวนำไปสู่ความพยายามทั้งสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นคุณประโยชน์แก่บุคคลอื่น ขงจื๊อกล่าวว่า “เหยิน ประกอบด้วยความรักที่มีต่อบุคคลอื่น” ที่จริงแล้วขงจื๊อถือว่า เหยิน นั้นไม่แต่เป็นคุณธรรมชนิดพิเศษเท่านั้น แต่เป็นคุณธรรมทั้งหมดผสมกัน ฉะนั้นเหยินอาจนิยามได้ว่าเป็น “คุณธรรมอันสมบูรณ์”

คติความคิดเรื่อง เหยิน นี้อาจแสดงออกใน ความคิดเรื่องเซี่ยว (Hsiao) หรือความรักในบิดามารดา และ ตี่ (ti) หรือความรักในความเป็นพี่น้องกัน ความคิดในเรื่องความรักทั้งสองแบบนี้แสดงถึงความรู้สึกของมนุษย์ที่ปราศจากความเห็นแก่ตัวเหมือนกัน-ความรักที่มีต่อบิดามารดา แสดงถึงภาวะของสายสัมพันธ์ทางจิตใจในอนันตภาวะ แห่งกาลเวลาและความรักในความเป็นพี่น้องกัน  แสดงถึงภาวะของสายสัมพันธ์ทางจิตใจในอนันตภาวะแห่งเทศะมิติ

คนหนุ่ม เมื่ออยู่บ้านควรมั่นในความรักที่มีต่อบิดามารดาเมื่ออยู่ต่างแดน ควรยึดมั่นในความรักของความเป็นพี่น้องกัน เขาควรจะมีความสุจริตใจอย่างจริงจัง ให้ความรักแก่บุคคลทุกคนและยึดมั่นอยู่ใน เหยิน

ขงจื๊อ ด้วยสายตาอันแหลมคมในความรู้สึกด้านปฏิบัติ ได้ถือเอาคุณธรรมแห่งความรักที่มีต่อบิดามารดา และความรักฉันท์พี่น้องนี้เป็นหลักอันสำคัญของโครงสร้างของสังคม โดยการแผ่ขยายคุณธรรมทั้งสองประการนี้ในทางมิติของเวลาและของเทศะ และโดยการแผ่ขยายอิทธิพลของคุณธรรมทั้งสองประการนี้ไปสู่คุณธรรมทั้งสองประการนี้ไปสู่คุณธรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วยทั้งหมด ขงจื๊อได้สร้างคุณธรรมทั้งสองนี้ให้เป็นพันธะที่สร้างความมั่นคงให้แก่สังคม และเป็นเครื่องเชื่อมโยงบุคคลรุ่นต่างๆ ที่เกิดสืบต่อกันมา ในขอบเขตที่กว้างขวางที่สุดแล้วความรักในบิดามารดา และความรักฉันท์พี่น้องนี้ คือ เหตุผลมูลฐานของความรักที่มนุษย์พึงมีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ในบทนิพนธ์ เรื่องปกิณกะนิพนธ์ของขงจื๊อ ได้มีการกล่าวถึงคติความคิดสองประการที่คล้ายคลึงกันนี้ คือ ความคิดเรื่อง จุง (Chung) หรือความซื่อตรงต่อกันและกัน และ ซู่ (shu) หรือการเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม คติความคิดเรื่องจุงนั้นหมายถึงภาวะของจิตใจเมื่อบุคคลมีความซื่อตรงต่อตนเองอย่างสมบูรณ์ ส่วนคติความคิดเรื่องซู่ นั้นหมายถึงภาวะของจิตใจเมื่อบุคคลมีความเข้าใจและมีความเห็นอกเห็นใจอันสมบูรณ์ต่อโลกภายนอก ตัวอักษรในภาษาจีนของคำว่า จุงประกอบด้วยคำว่า “กลาง” กับ “หัวใจ” ด้วนหัวใจของคนอยู่ในตรงกลาง บุคคลจะมีความซื่อตรงต่อตนเองก็โดยการมีความเห็นอกเห็นใจบุคคลอื่น ขงจื๊อกล่าวเป็นถ้อยคำว่า

บุคคลผู้มีเหยิน นั้น คือบุคคลที่ปรารถนาจะผดุงตนเองไว้โดยการผดุงบุคคลอื่น และปรารถนาจะพัฒนาตนให้เจริญโดยการพัฒนาบุคคลอื่นให้เจริญ

จุงเป็นการปฏิบัติธรรมของเหยิน ในวิถีทางที่สร้างสรรค์

อักษรจีนของคำว่า ซู่ มีความหมายว่า “ประดุจดังหัวใจของตน” กล่าวคือ ปฏิบัติต่อคนอื่นเหมือนดังที่หัวใจของตนปรารถนาจะให้ทำ สำหรับความสำคัญของ ซู่นี้ ขงจื๊อกล่าวว่า

อย่ากระทำต่อบุคคลอื่นในสิ่งที่ตนเองไม่พึงปรารถนา

นี้เป็นการปฏิบัติธรรมะของเหยินในวิถีทางที่ปฏิเสธ คติความคิดเรื่อง จุงและซู่ เป็นคติความคิดอันเดียวกันกับคติความคิดเรื่อง เซี่ยวและ ตี่ เพียงแต่ว่าคติความคิดเรื่องเซี่ยวและตี่นี้ อ้างถึงความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นสำคัญ ในขณะที่คติความคิดเรื่อง จุง และ ซู่ นั้น อ้างถึงขอบเขตที่กว้างขวางกว่า และมีความหมายที่กว้างขวางกว่า ในคติความคิดทั้งสองแบบนี้ ย้ำความสำคัญอยู่ที่ภาวะของจิตใจที่มีความรักอันแท้จริงที่ปราศจากความเห็นแก่ตัวเป็นหลักแห่งพลัง

หลักการเรื่อง เหยิน กลายเป็นองค์ประกอบอันสำคัญในการสืบช่วงและถ่ายทอดวัฒนธรรมของจีน และเอกลักษณ์ของจีน หลักการเรื่องเหยินยังไม่เคยเผชิญกับระบบความคิดอันใดที่สามารถจะต่อต้านพลังแห่งคติธรรมของเหยินได้เลย บทเรียนของหลักการเรื่องเหยินในเรื่อง ความยุติธรรม ความเป็นธรรม การมีจิตใจประกอบด้วยทรรศนะอันกว้างขวาง และการมีความรักใคร่ในเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนั้น ยังคงเป็นปรัชญาที่ได้ประโยชน์จนกระทั่งทุกวันนี้ เหมือนดังที่ได้เคยมาแล้วแต่อดีต ไม่เฉพาะแต่ในดินแดนแห่งอาณาจักรจีนเท่านั้น แต่ทั่วทั้งโลกทั้งหมดด้วย

ที่มา:สกล  นิลวรรณ