ขงจื๊อในฐานะนักการศึกษา

Socail Like & Share

ในการศึกษา ไม่มีการแบ่งชั้นวรรณะ
ความใฝ่ฝันทะเยอทะยานของขงจื๊อนั้นอยู่ที่เรื่องการเมือง แต่ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของขงจื๊อนั้นอยู่ที่เรื่องการศึกษา ขงจื๊อเป็นนักการศึกษาที่มีความชำนิชำนาญอย่างสูงและมีชื่อเสียงอย่างยิ่ง มีกลุ่มคนหนุ่มที่มีลักษณะแตกต่างกันมากมายทุกชนิด ผู้กระหายความรู้ รุมล้อมเขาอยู่ตลอดเวลาพร้อมกับสิ่งที่มีจำนวนเล็กน้อยที่สุดเท่ากับเนื้อแห้งสักมัดหนึ่งเป็นค่าสอน คนหนุ่มเหล่านี้มาหาขงจื๊อเพื่อขอรับการศึกษาในเรื่องของ หลี (Li) หรือจารีตประเพณี รวมทั้งศิลปะต่างๆ ที่เกี่ยวพันกับจารีตประเพณี การศึกษาแบบนี้เป็นของใหม่อันสำคัญอย่างยิ่งที่เกิดขึ้นในโลกแห่งสมัยราชวงศ์โจวก่อนหน้าสมัยนี้ การศึกษาทุกสาขาวิชาอยู่ในการดูแลของพวกคนชั้นสูง ซึ่งถ่ายทอดกันมาตามสายสกุล ไม่มีบุคคลใดแต่ลำพังที่จะทำการสอนวิชาความรู้ แก่สามัญชนโดยทั่วไปแต่อย่างใดเลย ฉะนั้นขงจื๊อจึงเป็นครูคนแรกของจีนที่ทำให้การศึกษาแพร่หลายไปถึงบุคคลทั่วไป ขงจื๊อยืนยันว่าข้าพเจ้าไม่เคยปฏิเสธที่จะสอนวิชาความรู้ให้แก่บุคคลใดที่กระหายอยากจะศึกษาเลย ถึงแม้ว่าเขาจะมีแต่เนื้อแห้งมัดเดียวมาให้ข้าพเจ้าเป็นค่าสอนก็ตาม

เงื่อนไขของเขามีอย่างเดียวเท่านั้น คือจะไม่สอนบุคคลที่ไม่กระหายอยากรู้ หรือจะไม่สอนบุคคลที่ไม่สามารถสร้างความคิดเห็นของตนเองได้ เขากล่าวต่อไปว่า

ข้าพเจ้าจะไม่สอนอีกต่อไป ซึ่งบุคคลที่หลังจากข้าพเจ้าบอกแง่หนึ่งของเรื่องให้แล้ว ก็ยังไม่สามารถอนุมานเรื่องที่เหลืออีกสามแง่ได้

ความสำคัญของขงจื๊อนั้น พิสูจน์ได้จากข้อเท็จจริงที่ว่านับตั้งแต่สมัยขงจื๊อเป็นต้นมา การศึกษาได้กลายเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนหนุ่มผู้มีสติปัญญาทั้งหลาย ซึ่งโดยอาศัยการศึกษาและความมานะพยายามของตนสามารถจะเจริญเติบโตจากฐานะอันต่ำต้อยของตนไปสู่ความมียศศักดิ์สูงขึ้นได้

เมื่อขงจื๊อลาออกจากราชการไปสู่ชีวิตส่วนตัวตามลำพังนั้น ขงจื๊อได้ดึงดูดคนหนุ่มผู้มีหน่วยก้านดีจากแว่นแคว้นต่างๆ ของจีนให้มาศึกษากับเขา ในบรรดาคนหนุ่มเหล่านี้ มีหลายคนเป็นผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในเรื่องคุณธรรม อักษรศาสตร์และการเมือง เมื่อขงจื๊อถูกเรียกให้กลับไปยังแคว้นมาตุภูมิของตน เขาได้ชักชวนพระมหาอุปราชแห่งแคว้นหลู ให้รับเอาสานุศิษย์ของเขาเข้ามาทำราชการด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นการกล่าวที่ค่อนข้างจะเกินความเป็นจริงไปบ้างก็ตาม กล่าวกันว่า สานุศิษย์ของขงจื๊อนั้นมีไม่น้อยไปกว่าสามพันคน อย่างไรก็ตาม สานุศิษย์ของขงจื๊อที่เราสามารถจะรู้จักชื่อได้อย่างแน่นอนนั้นมีอยู่เพียงเจ็ดสิบสองคนเท่านั้น และมีเพียงยี่สิบห้าคนเท่านั้นที่มีรายชื่อปรากฏอยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติจีน

สานุศิษย์ที่ติดตามเขาไปในการพเนจร และได้รับการศึกษาจากขงจื๊อด้วยตนเองนั้น แบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่ง คือ บุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านของคุณธรรม กลุ่มที่สองเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในด้านศิลปะของการพูด กลุ่มที่สามเป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในด้านของการปกครองบ้านเมือง กลุ่มที่สี่เป็นบุคคลผู้มีชื่อเสียงในด้านวรรณคดี สานุศิษย์อาวุโสเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นนักปราชญ์และนักคิดที่มีชื่อเสียงขึ้นมาด้วยความสามารถของตนหลายคน  โดยผ่านสานุศิษย์เหล่านี้เองที่ขงจื๊อมีอิทธิพลต่อการสร้างวัฒนธรรมของจีนขึ้น และทำให้ขงจื๊อได้รับฉายานามว่าเป็น “ซู่หวั่ง Su wang” หรือ “กษัตริย์ผู้ปราศจากคธา” ซึ่งมีผู้เคารพนับถือในสติปัญญาของท่านตลอดมาทุกยุคทุกสมัย

โดยทั่วไปแล้ว การศึกษาที่ขงจื๊อให้แก่ประชาชนนั้น เป็นการศึกษาในด้านจริยธรรมและด้านศิลปะ ในด้านศิลปะนั้นมีจารีตประเพณี ดนตรี กวีนิพนธ์เป็นวิชาพื้นฐาน ตามทรรศนะของขงจื๊อนั้น จารีตประเพณีในฐานะที่เป็นสถาบัน มีส่วนควบคุมจิตใจและนำทางของความปรารถนาให้ไปในทางที่ดีงาม ดนตรีในฐานะที่เป็น “พลังจริยธรรม” เป็นสิ่งกล่อมเกลาธรรมชาติของคน และบันดาลใจให้เกิดความรู้สึกด้านจริยธรรมขึ้น เพราะฉะนั้นศิลปะนั้นจึงมีความสำคัญในตนเองและเป็นพื้นฐานของการศึกษาด้านจริยธรรมด้วย ขงจื๊อกล่าวว่า

อุปนิสัยของเรานั้นปลูกฝังขึ้นได้โดยกวีนิพนธ์ สถาปนาให้มั่นคงได้ด้วยจารีตประเพณี และให้สมบูรณ์ได้ด้วยดนตรี

นอกจากกวีนิพนธ์ จารีตประเพณีและดนตรีแล้ว ซู่-Shu หรือประวัติศาสตร์หยี-Yi หรือการเปลี่ยนแปลง และ ซุนชิว หรือฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วง ก็มีส่วนด้วย ทั้งหมดนี้ประกอบกันเข้าเป็นวิทยาการชั้นสูงหกประการ (Six Classics) อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งอดีต และต่อมากลายเป็นถ้อยคำสามัญ หมายถึง เนื้อหาสาระของการศึกษาวิทยาการชั้นสูงดังกล่าว ในบทนิพนธ์เรื่อง จวงจื้อ-Chuang Tzu ของปรัชญาเต๋า นี้ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของวิทยาการเหล่านี้แต่ละวิชา ดังนี้

กวีนิพนธ์ คือ เพื่อสอนอุดมคติ
ประวัติศาสตร์ คือ เพื่อสอนเหตุการณ์
จารีตประเพณี คือ เพื่อสอนความประพฤติ
ดนตรี คือ เพื่อสอนความประสานสัมพันธ์
การเปลี่ยนแปลง คือ เพื่อสอนพลังงานคู่ที่มีอยู่ในโลกจักรวาล

ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงนั้น เพื่อสอนหลักอันสำคัญแห่งเกียรติยศและหน้าที่

ตามที่ได้กล่าวแล้วเป็นข้อสังเกตในการใช้ศิลปะเพื่อประโยชน์ทางด้านปฏิบัติในชีวิตจริงนั้น การศึกษานั้นย้ำความสำคัญเรื่องการพัฒนาบุคลิกภาพของบุคคลมากกว่าการแสวงหาความรู้หรือประโยชน์ของความรู้แต่อย่างเดียว เกี่ยวกับวิธีการของการศึกษานั้น ขงจื๊อกล่าวว่า

ศึกษาโดยไม่มีความคิดเป็นของไร้ประโยชน์
มีความคิด แต่ไม่มีการศึกษาเป็นของอันตราย

ขงจื๊อ มีความคิดเห็นต่อไปว่า เหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวงนั้น บุคคลควรจะมีความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในสภาพของความจริงของข้อจำกัดของตนเอง ครั้งหนึ่งขงจื๊อกล่าวแก่ จื้อหลู ว่า

ขอให้ข้าพเจ้าสอนหนทางแห่งความรู้ให้แก่ท่าน
จงกล่าวว่า ท่านรู้ เมื่อท่านรู้จริงๆ และจงยอมรับว่าท่านไม่รู้ ในสิ่งที่ท่านไม่รู้ นี้คือหนทางไปสู่ความรู้

องค์ประกอบขั้นมูลฐาน ที่แฝงอยู่ภายใต้ความกระตือรือร้นของขงจื๊อที่จะให้การศึกษาแก่บุคคลทั่วไปนั้น คือ ความเห็นของเขาที่ว่า มนุษย์นั้นส่วนใหญ่แล้วมีลักษณะเหมือนกัน เมื่อกำเนิดแต่มาแตกต่างกันเพราะนิสัยและความแปลกปลอมต่างๆ ที่ได้ทีหลัง กล่าวคือ โดยความรู้นั้นเอง สิ่งที่ขงจื๊อสนใจเป็นอย่างยิ่งนั้นคือ ต้องการประกันว่าความรู้ที่บุคคลได้รับเอาภายหลังจากกำเนิดว่าจะเป็นเครื่องชักนำให้บุคคลเลือกสรรเอาแต่สิ่งที่ดีงามของชีวิต ด้วยเหตุนี้ ขงจื๊อจึงมองดูหน้าที่ของตนในฐานะนักการศึกษานั้น ว่าเป็นนักจริยธรรม และนักจริยศาสตร์ วัตถุประสงค์ของงานของเขาคือให้การศึกษาแก่บุคคลเพื่อว่าบุคคลจะได้เลือกสรรเอาแต่สิ่งที่ดีงาม โดยการที่บุคคลเลือกเอาแต่สิ่งที่ดีงามนั้น จะเป็นการปรับปรุงชีวิตของตนและของมนุษย์ชาติโดยส่วนรวมไปด้วยในตัว

ประการสุดท้าย สำหรับตัวของเขาเองนั้น ขงจื๊อกล่าวว่า
มีบางคนกระทำโดยไม่รู้ว่าทำไมเขาจึงกระทำเช่นนั้น แต่ข้าพเจ้าไม่เหมือนบุคคลเหล่านั้น ข้าพเจ้าได้ยินได้ฟังมามาก แล้วเลือกปฏิบัติแต่สิ่งที่ดีงาม ข้าพเจ้าได้เห็นได้รู้มามาก แล้วข้าพเจ้าศึกษาและจดจำไว้นี้ ทำให้ข้าพเจ้าเข้าไปใกล้กับความรู้ที่แท้จริง

และอีกครั้งหนึ่ง เขาอธิบายลักษณะของเขาในฐานะที่เป็นครูผู้มีหน้าที่ คือ

…บันทึกสิ่งทั้งหลายด้วยอาการอันสงบ
เทิดทูนคุณค่าของความรู้แม้จะได้ศึกษารู้มากมายประการใดก็ตาม และไม่เคยเบื่อหน่ายในการถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่บุคคลอื่นเลย

นี้คือ บุคลิกลักษณะของบุคคลผู้เป็นครูคนสำคัญยิ่งที่สุดในประวัติศาสตร์ของจีน ซึ่งเป็นธรรมดาที่ วันเกิดของท่านได้รับการยกย่องว่าเป็น “วันครูของชาติ”

ที่มา:สกล  นิลวรรณ