การแต่งกายสมัยรัชกาลที่ ๔

Socail Like & Share

รัชกาลที่ ๔ (พ.ศ.๒๓๙๔-๒๔๑๑) ระยะนี้เป็นช่วงของการเปิดประเทศติดต่อกับชาวตะวันตก ซึ่งกำลังแสวงหาอาณานิคม พระบาทสมเด็ดพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมองเห็นแนวความคิดของชาวตะวันตก จึงทรงดำเนินการแต่งกายสมัยรัตนโกสินทร์1นโยบายทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนปรับปรุงเปลี่ยนแปลง ขนบธรรมเนียมประเพณีบางอย่างให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของต่างประเทศ เพื่อป้องกันมิให้ประเทศต่างๆ ยกปัญหาเหล่านี้ขึ้นมาอ้าง เพื่อแทรกแซงกิจการภายในของประเทศ

ด้านขนบธรรมเนียมประเพณี โดยเฉพาะการแต่งกายนี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ข้าราชการสวมเสื้อเข้าเฝ้าเป็นครั้งแรก ด้วยทรงพระราชดำริว่า การไม่สวมเสื้อนั้นดูล้าสมัย และชาวต่างประเทศจะมองว่าคนไทยเป็นพวกชาวป่า ดังปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ ว่า
“เวลาวันหนึ่ง ข้าราชการเข้าเฝ้าที่พลับพลาโรงแสงพร้อมกัน ครั้งนั้นยังไม่มีธรรมเนียมที่จะสวมเสื้อเข้าเฝ้า จึงดำรัสว่า ดูคนที่ไม่สวมเสื้อเหมือนเปลือยกาย ร่างกายจะเป็นเกลื้อนกลากก็ดี หรือเหงื่อออกมาก็ดี โสโครกนัก ประเทศอื่นๆ ที่เป็นประเทศใหญ่รู้ขนบธรรมเนียมมากอยู่แล้ว ไม่ควรจะถือเอาอย่างโบราณที่เป็นชาวป่ามาแต่ก่อน ขอท่านทั้งหลายจงสวมเสื้อเข้ามาในที่เฝ้าจงทุกคน ตั้งแต่นั้นมาเจ้าและขุนนางก็สวมเสื้ออย่างน้อยอย่างน้อยเข้าเฝ้าทุกคน ครั้นนานมาเห็นว่า เสื้ออย่างน้อยนั้นจะคาดผ้ากราบก็มิได้ จึงยักย้ายทำเป็นเสื้อกระบอกเหมือนเสื้อบ้าบ๋า (เสื้อผ่าอก คอแหลมตื้น ไม่มีปก แขนยาวตรง) บุตรจีนที่เมืองปัตตาเวีย ก็เป็นธรรมเนียมติดมาจนทุกวันนี้…”

การไว้ผมของชายไทยในสมัยนี้ ยังคงไว้ทรงมหาดไทยอยู่ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ส่งทูตไปยุโรป ให้คณะทูตเลิกไว้ผมมหาดไทย เปลี่ยนเป็นไว้ผมทั้งศีรษะและตัดยาวอย่างฝรั่ง แต่เมื่อคณะทูตกลับมาถึงกรุงเทพฯ ก็ตัดผมมหาดไทยตามเดิม อย่างไรก็ตาม เราต้องยอมรับว่ารัชกาลที่ ๔ ทรงริเริ่มการไว้ผมสมัยใหม่แบบฝรั่ง ดังปรากฏหลักฐานจากพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์และพระราชโอรส ซึ่งเริ่มมีผู้ปฏิบัติตามกันต่อๆ มา

สตรีในราชสำนัก นุ่งผ้าจีบลายทอง ห่มสไบปัก ใช้เครื่องประดับต่างๆ เช่น ทับทรวง (เครื่องประดับอก) พาหุรัด(เครื่องประดับแขนหรือทองต้นแทน) สะอิ้ง(สายรัดเอว) สร้อยสังวาล(สร้อยยาวใช้คล้องสะพายแล่งที่เรียกว่าสร้อยตัว) ตุ้มหูเพชร แหวนเพชร ฯลฯ และยังคงไว้ผมปีกเหมือนรัชกาลต้นๆ

ราษฎรทั่วไป  สตรีนิยมสวมเสื้อคอกลม ปิดคอ แขนยาวทรงกระบอก รัดรูป นุ่งผ้าลาย โจงกระเบนทับเสื้อ คาดแพรหรือห่มสไบเฉียงทับตัวเสื้ออีกทีหนึ่ง สวมกำไลที่ข้อเท้า (การสวมกำไลข้อเท้านี้ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยว่า ผู้สวมกำไลข้อเท้าเป็นหญิงที่ยังไม่ได้แต่งงาน) ไม่สวมรองเท้า บางพวกนิยมห่มสไบจีบ ส่วนผมยังคงไว้ผมปีก ถอนไรผม ไว้เล็บ ผัดหน้าด้วยแป้งนวลหรือกระแจะจันทน์และยังคงทาขมิ้นให้ผิวเหลืองเหมือนรัชกาลต้นๆ ตามปกติเมื่ออยู่กับบ้านก็ห่มผ้าแถบ ถ้าทำงานกลางแจ้งกลางแดดจึงจะสวมเสื้อแขนกระบอกแขนลีบยาวถึงข้อมือ ผ่าอก ติดกระดุม บางทีเมื่อทำงานที่ต้องยกแขนขึ้น-ลง ก็ห่มตะแบงมานเช่นเดียวกับสมัยก่อน ส่วนการห่มผ้าแถบ (คาดอก) ยังคงมีเรื่อยมาจนกระทั่งคนรุ่นเก่าหมดไปและภายหลังเห็นว่าไม่สุภาพ การห่มผ้าแถบจึงหมดไปในที่สุด

เด็กยังนิยมไว้ผมจุก ถ้าเป็นเด็กหญิงใส่เสื้อคอกลมระบายลูกไม้ที่คอ แขน ฯลฯ หากเป็นผู้มีฐานะ บรรดาพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่มักมีเครื่องประดับทองเงินแต่งตัวให้เด็ก เป็นเหตุให้เด็กถูกฆ่าตายอยู่เนืองๆ เพราะคนร้ายต้องการชิงเครื่องประดับ กรณีดังกล่าวนี้มีมาแต่สมัยรัชกาลก่อนๆ แม้จะลงโทษถึงขั้นประหารชีวิตก็ตาม คนร้ายก็ยังไม่เกรงพระราชอาญา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงโปรดให้ออกหมายประกาศในปี พ.ศ.๒๔๐๙ ห้ามไม่ให้เอาเครื่องประดับทองเงินแต่งกายให้เด็กที่ยังไม่รู้จักหลีกหลบโจรผู้ร้าย และประกาศห้ามไม่ให้แต่งตัวเด็กด้วยเครื่องทองเงินแล้วล่อยไปเที่ยวโดยลำพัง  หากเด็กได้รับอันตรายถึงตายด้วยเหตุนี้ นอกจากคนร้ายจะได้รับโทษแล้ว ผู้นำเครื่องประดับมาแต่งให้ก็จะมีความผิดด้วย

ที่มา:กรมศิลปากร