การแต่งกายสมัยรัชกาลที่6

Socail Like & Share

รัชกาลที่ ๖ (พ.ศ.๒๔๕๓-๒๔๖๘)
ในสมัยนี้ การติดต่อกับประเทศตะวันตกได้สืบเนื่องมาจากรัชกาลก่อนๆ ความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ จึงค่อนข้างไปทางตะวันตกมากขึ้น ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า  กาญจนาคพันธุ์) ได้บรรยายถึงความเจริญในยุคนี้ ใน “๘๐ ปีในชีวิตข้าพเจ้า” ตอนหนึ่งว่า

“ว่าถึงความเจริญของบ้านเมืองทั่วๆ ไป เริ่มเป็นสมัยใหม่ขึ้น ตั้งแต่เริ่มรัชสมัยสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ถนนหนแต่งกายสมัยร.6ทางส่วนมากเรียบร้อยขึ้นและบางสายเริ่มลาดยางแอสแฟลต์ เรือนไทยที่เคยมีตามถนนทั่วๆ ไป กลายเป็นตึกแถว ๒ ชั้น ๓ ชั้น บ้านไทยกลายเป็นตึกทรวดทรงค่อนไปทางฝรั่ง ร้านค้ามีมากขึ้นแต่เป็นเจ๊กส่วนมาก รถยนต์มีมากขึ้น รถไอ รถราง รถม้า รถเจ๊กยังคงใช้กันมากทั่วๆ ไป ผู้คนพลเมืองหนาตาขึ้น ถนนไม่โล่งๆ เหมือนข้าพเจ้าเป็นเด็ก”

เมื่อได้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองไปตามอารยประเทศในด้านอื่นๆ แล้ว ในด้านการแต่งกายก็ได้มีการปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะการแต่งกายของสตรี ระยะแรกยังคงนุ่งผ้าโจงกระเบน เสื้อยังนิยมใช้ลูกไม้ประดับอยู่ คอลึกกว่าเดิม แขนยาวเสมอข้อศอก แต่แขนเสื้อไม่พองเหมือนแบบสมัยรัชกาลที่ ๕ มีผ้าคาดเอวสีดำ มีผ้าสไบพาดไหล่รวบตอนหัวไหล่ติดด้วยเข็มกลัดรูปดอกไม้ ชายผ้าสไบดังกล่าวรวบไว้ตรงข้างลำตัว สวมถุงเท้ายาว รองเท้าส้นสูง ต่อมาเริ่มนุ่งซิ่นตามพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ (ตามปกติผ้าซิ่นใช้กันทางภาคเหนือและภาคอีสานซึ่งนุ่งกันเป็นประเพณี มักเป็นผ้าซิ่นด้าย แต่ในกรุงเทพฯ ไม่นิยมนุ่งกันเลย จะนุ่งกันแต่โจงกระเบน เมื่อเริ่มนุ่งผ้าซิ่นนั้น ผ้าซิ่นจะเป็นพวกซิ่นไหม และซิ่นเชิงทอด้วยเส้นเงิน เส้นทอง) เกิดเสื้อแบบใหม่ๆ สำหรับเข้าชุดกับผ้าซิ่นขึ้น การสะพายแพรไม่เป็นที่นิยมกันต่อไป นอกจากสตรีผู้มีบรรดาศักดิ์จะแต่งกายเต็มยศ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ยังคงใช้แพรปักตราจุลจอมเกล้าสะพายอยู่เหมือนเดิม (การสะพายแพรยกเลิกในรัชกาลที่ ๗)

ขุนวิจิตรมาตราได้บรรยายถึง การแต่งกายสตรีในสมัยรัชกาลที่ ๖ ไว้ใน “๘๐ ปีในชีวิตข้าพเจ้า” ว่า
“ทางด้านผู้หญิง หญิงสาวทั่วไปเริ่มไว้ผมยาว ไม่ไว้ผมทัดเหมือนที่ข้าพเจ้าเห็นเมื่อเป็นเด็กเว้นแต่สาวใหญ่หรือผู้ใหญ่ยังใช้ผมทัดกันอยู่มาก การแต่งตัวเวลาออกจากบ้านไปในงานหรือจะเรียกว่าออกสังคม หญิงสาวนุ่งผ้าโจงกระเบน ใส่เสื้อแขนพอง (คือ เสื้อแขนยาวพองที่หัวไหล่สองข้าง) ไว้ผมเรียกว่า “ผมโป่ง” (คล้ายญี่ปุ่น) รวบผมข้างหลังที่ต้นคอแล้วปล่อยยาวลงไป สวมถุงเท้า รองเท้า ผู้ใหญ่ชั้นสูงแต่งอย่างเดียวกัน และสะพายแพรทิ้งชายไปข้างหลัง (สาวที่ยังไม่มีสามี ไม่สะพายแพร ต่อมีสามีแล้วจึงสะพายแพร) ส่วนมากมักเป็นผมทัด เวลาแต่งจำลอง ทั้งหมดนุ่งผ้าโจงกระเบน สาวใส่เสื้ออะไรก็ได้ ผู้ใหญ่ห่มผ้าสไบเฉียง หรือห่มสไบมีผ้าห่มทับหรือใส่เสื้ออะไรก็ได้ รองเท้าแตะ

ทางด้านเด็กที่เคยไว้จุกกันแทบจะทั่วไป มาถึงรัชสมัยนี้เริ่มไม่ไว้จุกกันมากขึ้นทุกทีจนถึงไม่ไว้กันเลย ล่วงมาถึงเลยกลางสมัยรัชกาลที่ ๖ ไม่ช้าเกิดมีแฟชั่นใหม่สำหรับสตรีขึ้น คือมีการนุ่งผ้าซิ่นออกมาจากราชสำนัก การนุ่งซิ่นแพร่มาถึงราษฎร เลยเป็นที่นิยมนุ่งกันแพร่หลายทั่วไป การนุ่งโจงกระเบน สำหรับสาวๆ ค่อยหายไป นอกจากผู้ใหญ่ยังคงนุ่งโจงกระเบนอยู่บ้าง

การนุ่งซิ่นสำหรับคนชั้นสูง นุ่งซิ่นเชิงเป็นไหม ใส่เสื้อรัดรูปแบบต่างๆ แขนยาว เกล้าผม สวมรองเท้าส้นสูง

ชาวบ้านแต่งแบบเดียวกัน เป็นซิ่นธรรมดาบ้าง ซิ่นเชิงบ้าง ใส่เสื้อต่างๆ รัดรูป มักใช้รองเท้าแตะที่ใช้ส้นสูงก็มี แปลว่าราชสำนักในสมัยรัชกาลที่ ๖ เป็นบ่อเกิดนำแฟชั่นเครื่องแต่งกายใหม่ๆ ขึ้นให้ประชาชนพลเมืองเดินตามก่อน แล้วต่อนั้นมาหนังฝรั่งอเมริกันจึงเข้ามานำสมัย เริ่มแต่สตรีเปลี่ยนมานุ่งกระโปรงเป็นเริ่มแรก”

การไว้ผมของสตรีในสมัยนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอีก กล่าวคือ ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ เมื่อครั้งงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเชิญบรรดาผู้แทนรัฐบาลและผู้แทนประมุขนานาประเทศมาร่วมงานด้วย จึงโปรดให้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้า วไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ซึ่งต้องออกรับแขกเมืองด้วยไว้พระเกศายาวตามแบบสากล ภายหลังจากนี้ก็มีผู้ไว้ผมยาวตามอย่างบ้าง

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๖๓ เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯ ทรงอภิเษกสมรส ได้โปรดให้สตรีในราชสำนักไว้ผมยาวเกล้ามวยหรือไว้ผมบ๊อบตามแบบตะวันตก ซึ่งสมัยนั้นนิยมใช้เครื่องประดับคาดรอบศีรษะด้วย การแต่งกายตามพระราชนิยมจึงได้แพร่หลายออกสู่ประขาชน สตรีไทยจึงนิยมไว้ผมยาวกันอย่างแพร่หลาย แต่บางคนก็นิยมตัดสั้นแบบที่เรียกว่า ทรงชิงเกิ้ล ยกเว้นคนแก่ยังนิยมนุ่งโจงกระเบนและไว้ผมทรงดอกกระทุ่มและผมทัดต่อไปตามเดิม

ในระยะแรกการแต่งกายไม่นิยมใช้เครื่องประดับมากนัก ต่อมานิยมเครื่องประดับที่เลียนแบบตะวันตก เครื่องสำอางนิยมใช้ของตะวันตกกันมากขึ้น

“เครื่องสำอางหลายอย่างเกิดขึ้นแล้ว ลิ้นจี่ หายไปกลายเป็นรูช เป็นลิปสติค น้ำมันตานี หายไปกลายเป็นครีม นํ้าอบพวกนํ้าดีดพิณ นํ้าดอกไม้เทศหายไป กลายเป็นนํ้าตุ๊กตาทอง นำมะลิป่า (นํ้าตุ๊กตาทองเป็นขวดสี่เหลี่ยมปิดฉลากด้วยกระดาษทองมีรูปตุ๊กตา นํ้ามะลิป่า เป็นขวดแบน ปิดฉลากมีรูปเป็นช่อดอกมะลิ) เป็นของนอกหอมดี นิยมใช้กันมาก ฟันดำหายไป หนุ่มสาวนิยมฟันขาวหมด แต่คนอายุกลางคนหรือคนแก่ยังฟันดำเพราะยังกินหมากอยู่ เครื่องประดับอย่างเก่าแทบจะเรียกได้ว่าไม่แต่งกันเลย ตุ้มหูระย้าเป็นสายยาวๆ ตุ้มหูพวงเต่าร้าง หมดไป ไม่ค่อยใส่ตุ้มหูกัน เพราะมักจะทำผมคลุมลงมาถึงหูแต่ถ้าจะใส่ก็เป็นตุ้มหูห้อยลงมาเป็นตุ้มๆ ก้อนๆ สร้อยคอเป็นเส้นเล็กอย่างเก่าแต่ห้อยล็อคเก๊ต กับมีเป็นแบบลูกประคำ สายสั้นๆ ตอนกลางเม็ดใหญ่แล้วเรียวเล็กออกไปทั้งสองข้าง สร้อยข้อมือสายใหญ่แบบเก่า อย่างที่เรียกว่า สร้อยเอี้ยวหลังหายไป และกำไลอย่างเก่าที่เป็นรูปท้องแบนหลังนูนมีลายสลักต่างๆ (ดูเหมือนเรียกว่า กำไลตะขาบหรืออะไรจำไม่ได้) เลิกใช้กัน เปลี่ยนเป็นกำไลก้านแข็ง และเป็นวงกลมกลึงด้วยงา (แบบกำไลหยกของจีน) ก็มี แหวนงู แหวนแมงปอ แหวนมณฑป ฯลฯ หายไปกลายเป็นพวกแหวนฝังพลอย เพชรนิลจินดาเม็ดเดียว ที่เรียกว่า “แหวนหัว” กำไลตีนที่เรียกกันว่ากำไลก้านบัวเป็นเลิกกันเลยทีเดียว แต่เอาไปใช้สำหรับตัวนางแต่งเครื่องละครรำ ของที่เพิ่มขึ้นใหม่ก็คือ รองเท้าแตะรูปร่างต่างๆ สมัยนุ่งผ้าโจงกระเบนไม่ใช้รองเท้ากันเลย พอเปลี่ยนมานุ่งซิ่นก็ใช้รองเท้าแตะกันทั่วไป….”

ส่วนทางด้านการแต่งกายของชายนั้น ข้าราชการยังคงนุ่งผ้าม่วงโจงกระเบน สวมเสื้อราชปะแตน ตัดผมแบบยุโรป สวมถุงเท้ารองเท้าเช่นเดียวกับรัชกาลที่ ๕ ในระยะต่อมาจึงนิยมกางเกงแพรสีต่างๆ ขุนวิจิตรมาตราได้บรรยายถึงการแต่งกายของชายไทยในสมัยนี้ว่า

“การแต่งกายผู้ชาย ข้าราชการนุ่งโจงกระเบน เสื้อกระดุม ๕ เม็ด ถุงเท้า รองเท้า สวมหมวกอย่างเดิม ถ้าแต่งลำลองก็นุ่งกางเกงแพรเสื้อกระดุม ๕ เม็ด รองเท้าคอตชู สวมหมวก หรือนุ่งกางเกงแพร เสื้อแบบเสื้อกุยเฮง รองเท้าแตะ ผู้ใหญ่อยู่กับบ้านนุ่งกางเกงไทย หรือกางเกงแพรใส่เสื้อชั้นใน แบบเก่าที่นุ่งผ้าลอยชาย ผ้าขาวม้าแตะบ่าอย่างที่ข้าพเจ้าได้เห็นเมื่อเป็นเด็กๆ ทั่วไปแทบไม่มีเลย ผมตัดรองทรงชั้นเดียว หรือรองทรงสองชั้น เว้นแต่หนุ่มๆ นิยมตัดผมทรงแม็กซลินเดอร์  มีหนาตา แฟชั่นของผู้ชายที่ออกมาจากราชสำนักมีอย่างที่หนุ่มๆ นิยมตาม คือ เสื้อกระดุม ๕ เม็ด เป็นแพรมีลายเป็นทางๆ สีเขียวอ่อน นํ้าตาลอ่อน ฟ้าอ่อน…. ตัดใส่กันมากอยู่พักหนึ่ง”

ที่มา:กรมศิลปากร